มุมมองและแนวคิดของครูภาษาไทย ระพีร์ ปิยจันทร์ เจ้าของนามปากกา วิญญ์รวี เมื่อภาษาไทยอยู่ในบริบทยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
แม้ว่า ภาษาไทย ซึ่งได้ชื่อว่าเป็ภาษาประจำชาติของเรานั้นจะมีมาตั้งแต่ยุคพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ที่ทรงประดิษฐ์ ตัวอักษร “ลายสือไทย” ขึ้นเป็นครั้งแรกในราวปีพ.ศ.1826 และกลายเป็นภาษาประจำชาติไทยอันเป็นเอกลักษณ์และวัฒนธรรมรากเหง้าของชาติที่ทรงคุณค่าต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ แต่การกำหนดให้ วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปีเป็น “วันภาษาไทยแห่งชาติ” นั้น เพิ่งจะเริ่มขึ้นเมื่อปีพ.ศ 2542 นี่เอง
ซึ่งวันภาษาไทยแห่งชาตินี้ในความรู้สึกของใครหลายๆ คนอาจจะไม่ได้สลักสำคัญอะไร แต่ในสายวิชาชีพหนึ่งที่เปรียบเปรยกันว่าเป็นเสมือนเรือจ้าง…เรือจ้างในเส้นทางนาวาภาษาไทยนั้นเป็นวันที่ทัชใจ (สัมผัสเข้าไปถึงจิตใจ) มากๆ โดยเฉพาะกับ ระพีร์ ปิยจันทร์ เจ้าของนามปากกา วิญญ์รวี ผู่ที่อุทิศทั้งชีวิตให้กับการเป็นครูสอนภาษาไทย แม้ว่าในวันนี้ความเป็นครูในทางนิตินัยจะสิ้นสุดลงแล้ว และในทางพฤตินัยยังคงทำหน้าที่ต่อไปด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครู
“ครูเป็นครูภาษาไทย สอนภาษาไทยในระบบโรงเรียนต่อเนื่องมาเป็นเวลา 40 ปี และเกษียณอายุราชการตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งวันที่ 1 ตุลาคม 2566 นี้ก็จะครบ 3 ปีเต็มค่ะ”
แต่ด้วยความที่มีจิตวิญญาณของความเป็นครูอย่างเต็มเปี่ยม ปัจจุบันครูระพีร์ยังรับเป็นวิทยากรอิสระด้านพัฒนาเด็กและเยาวชน /ฝึกการใช้ภาษาและพัฒนาภาวะผู้นำ /การสอนภาษาอังกฤษโดยใช้ภาษาไทยเป็นฐาน /และพาคิด /พาทำ เพื่อพัฒนาบุคลากรตามวัตถุประสงค์ขององค์กรที่ติดต่อมา
ความสนใจและความมุ่งมั่น
ครูระพีร์นั้นมีความสนใจในภาษาไทยมาตั้งแต่เด็กจนกลายเป็นแรงบันดาลใจในการมุ่งมั่นที่จะเดินเข้าสู่เส้นทางสายอาชีพครู โดยเท้าความระลึกถึงวันวานในวัยเยาว์ที่เต็มไปด้วยกิจกรรมและวีรกรรมถึงการมาเป็นครูในทุกวันนี้
“ทักษะและความสามารถพิเศษของครูมีมาตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะเป็นการพูดจาฉาดฉาน การเขียน โดยเฉพาะการเขียนกลอนสุภาพ เขียนได้ตั้งแต่ยังไม่เคยเรียน ความกล้าแสดงออกต่อที่ประชุมชน โดยครูเป็นประชาสัมพันธ์โรงเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา และการใช้ภาษาไทยในโอกาสต่าง ๆ สามารถทำได้ง่าย ๆ เรียกว่ามีความโดดเด่นด้านนี้มาตั้งแต่เด็ก และนั่นส่งผลให้มีความมุ่งมั่น ตั้งใจในการเป็นครูภาษาไทยค่ะ”
เสน่ห์ที่ซ่อนอยู่ในภาษาไทย
นอกจากความสามารถเฉพาะตัวแล้ว เสน่ห์ของภาษาไทยเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เด็กหญิงระพีร์ในวันนั้นหลงรักและกลายเป็นครูระพีร์ของเด็กอีกนับร้อยนับพันคน
“เสน่ห์ของภาษาไทย อยู่ที่เสียงในภาษา โดยเฉพาะเสียงวรรณยุกต์ 5 ระดับ ที่เราสามารถใช้เทียบเคียงกับภาษาต่าง ๆ เพื่อออกเสียงให้ถูกต้องหรือใกล้เคียงกับเจ้าของภาษามากที่สุด รวมถึงความหมายของคำที่หลากหลาย ปรับแปรไปตามบริบทของสารที่ต้องการส่งและหรืออารมณ์ที่ต้องการสื่อ”
แนวทางการสอนที่สนุกและไม่น่าเบื่อ
แน่นอนว่าการเป็นครูภาษาไทยไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า วิชาภาษาไทย เป็นอีกหนึ่งวิชาที่นักเรียนทุกยุคสมัย รู้สึกว่าน่าเบื่อและไม่สนุก แต่สำหรับครูระพีร์แล้วการสอนไม่ใช่แค่ให้ความรู้ แต่ต้องมุ่งเน้นพัฒนาทักษะ และนั่นคือเทคนิคหรือถ้าจะเรียกให้ถูกคือแนวทางในการสอนที่ทำให้นักเรียกสนุกและไม่เบื่อ
“สำหรับครูมีแนวทางในการสอนภาษาไทยให้เด็กสนุกและไม่น่าเบื่อ โดยใช้รูปแบบ “การสอนภาษาไทยแบบมุ่งพัฒนาทักษะ” https://www.youtube.com/watch?v=unMnnfWwY9A ซึ่งเป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนได้แสดงศักยภาพทางภาษาของตนได้อย่างอิสระ ไม่กดดันเรื่องการถูกหรือผิด ดีหรือไม่ดี เน้นให้ใช้ทักษะในชั้นเรียนครบทุกทักษะ คือฟัง พูด อ่าน เขียน คิดวิเคราะห์ พร้อมทั้งนำเสนอและปฏิบัติอย่างต่อเนื่องทุกครั้งที่เข้าสอน ส่งต่อเด็กที่มีความสามารถพิเศษ ด้วยการเสริมประสบการณ์ในกิจกรรมต่างๆ นอกชั้นเรียนและโรงเรียน เสริมทักษะเด็กๆ ที่มีความสามารถในระดับดีเพื่อต่อยอดให้ดียิ่งขึ้น ซ่อม เด็กที่มีความพร่องทักษะให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้น และสร้าง เยาวชนต้นแบบให้ปฏิบัติหน้าที่ทั้งในโรงเรียนและชุมชน เพื่อเป็นต้นแบบการใช้ภาษาไทยที่ดีในอนาคตค่ะ”
ภาษาไทยในบริบทยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
มีคำเปรียบเปรยว่า “ภาษาไทยคือรากเหง้าของชาติ” แน่นอนว่าประโยคนี้หรับคนเป็นครูภาษาไทยย่อมมีความหมายมากกว่านั้น
“ภาษาไทยคือรากเหง้าของชาติ เป็น “รากร่วม” ทางวัฒนธรรมที่แตกแขนงไปในแต่ละภาค แต่ละท้องถิ่น โดยใช้ “ภาษาไทยกลาง” ในภาษาราชการ อักษรภาษาไทย เสียงในภาษาไทย คลังคำในภาษาไทย ล้วนสะท้อนเอกลักษณ์และวัฒนธรรมไทยไว้ทุกแขนง เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยที่มีภาษาเป็นของตนเอง”
และเมื่อได้ชื่อว่าเป็น รากเหง้า การใช้ภาษาไทยคำ อังกฤษคำ นั้นครูระพีน์มองว่าอยู่ที่เจตนาว่าเป็นไปในทิศทางไหน
“สำหรับการสื่อสารไทยคำ อังกฤษคำ นั้น เราจะพบในวงสนทนา หรือในบางเวที ต้องดูที่เจตนาในการส่งสาร ของแต่ละกลุ่ม เช่น คนที่มีคลังคำในภาษาไทยไม่เพียงพอในการสื่อสาร เนื่องจากอยู่ต่างประเทศมานาน หรือใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันมากกว่าภาษาไทย จึงเกิดความเคยชินและติดใช้คำภาษาอังกฤษที่เขารู้สึกว่าง่ายกว่าภาษาไทย ถ้าการแสดงออกของเขา ไม่ได้เป็นไปเพื่อ “อวดภูมิภาษาเพื่อกดทับภาษาแม่” ผู้รับสารจะสามารถเข้าใจ ท่าทีของผู้ส่งสารโดยไม่เกิดอคติใดใด
ส่วนคนที่ พูดไทยคำ อังกฤษคำ” ด้วยท่าที “อวดภูมิภาษา เพื่อให้ตนเองดูดี” เป็นสิทธิของเขาที่จะแสดงออกแบบนั้น ไม่ว่าเขาจะรู้สึกถึง “อคติของผู้รับสาร” หรือไม่ก็ตาม ครูมีความเชื่อว่า “เมื่อเขามีวุฒิทางภาษาและสติในการแสดงออกในระดับรับรู้ได้ว่า “ท่าทีการใช้ภาษาแบบเหยียดข่ม” นี้ทำให้ภาพลักษณ์ของเขาดูไม่ดี เขาก็จะพัฒนาได้ด้วยความคิดของเขาเองค่ะ“
และเมื่อยุคสมัยที่เปลี่ยนไปการใช้ภาษาย่อมมีการเปลี่ยนตามไปด้วย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้นั้นในมุมของคนเป็นครูที่เปิดกว้างด้านความคิดและเปิดรับความคิดของเด็กรุ่นใหม่มีแนวคิดต่อเรื่องนี้ได้อย่างน่าสนใจ
“ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้ครูเห็นการใช้ภาษาของคนแต่ละกลุ่มจากสื่อต่างๆ ในวงที่กว้างขึ้น เห็นการใช้ภาษา “ระดับกันเอง” และ “การใช้ถ้อยคำเฉพาะตน เฉพาะกลุ่ม” โดยไม่คำนึงถึง “คนนอกวงสนทนา” และเมื่อการใช้ภาษาลักษณะนี้ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อ ผู้รับสารก็จะเกิดความคุ้นเคย จนเห็นเป็นเรื่องธรรมดาและใช้ตามกันไปจนทำให้กลายเป็น “ภาษาระดับกันเอง”และมีการใช้ถ้อยความที่ไม่เหมาะสม” ปะปนอยู่ในเหตุการณ์ต่างๆ และบ่อยครั้งที่ไม่สอดคล้องกับระดับสถานการณ์ทางสังคม เช่น ระดับกึ่งทางการ และระดับพิธีการ ซึ่งครูมองว่าภาษาเขียนของเด็กรุ่นใหม่นั้น ครูมองเห็นทั้งกลุ่มที่มีทักษะการใช้ภาษาเขียนและภาษาพูดที่ดี ในระดับที่เป็นแบบอย่างได้ ซึ่งยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก
ส่วนในกลุ่มที่มีความพร่องทางภาษา ซึ่งเมื่อได้รับคำแนะนำ ผ่านการฝึกฝน ก็จะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นตามลำดับ และกลุ่มที่มีความรู้เรื่องการใช้ภาษาที่ดี แต่ต้องการที่จะใช้ภาษาในแบบของตน โดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสมกับสถานการณ์ เด็กกลุ่มนี้ ครูมองว่าทำอะไรไม่ได้ ถ้าเขาไม่ได้อยู่ในมือครู คือ ไม่ได้เป็นลูกศิษย์ หรือลูกหลาน เพราะถือเป็นสิทธิในการแสดงออก ผู้ใหญ่อย่างครูก็ได้แต่นั่งดู และคอยจนกว่าเขาจะเห็นภาพการแสดงออกนั้นส่งผลต่อตนเองอย่างไร เรื่องแบบนี้เขาต้องรู้สีกด้วยตนเองถึงจะปรับระดับการใช้ภาษาของเขาให้เหมาะสม เพราะย่อมรู้อยู่แล้วว่า “การใช้ภาษาที่ดีต้องทำอย่างไรแต่เขาเลือกที่จะไม่ใช้แบบนั้น”
และเมื่อการวิวัฒน์ของภาษาที่เปลี่ยนไปในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมานั้น ครูภาษาไทยท่านนี้มองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้และ หากเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้นนั่นย่อม เป็นประโยชน์ต่อสังคมและยังคงเป็น รากร่วมทางวัฒนธรรมที่งดงาม สะท้อนความเป็น “เอกลักษณ์ของชาติไทย”
“การวิวัฒน์ หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง การคลี่คลายไปในทางเจริญ ปัจจุบันนี้ ภาษาไทยเป็นภาษาหนึ่งที่ชาวต่างชาตินิยมเรียนเป็นจำนวนมาก โดยเหตุผลที่สำคัญ คือต้องการสื่อสารกับคนไทย ครูมองว่าเป็นทิศทางที่ดี ทำให้เห็นแนวทางในการพัฒนาการศึกษา เศรษฐกิจและสังคมให้สอดคล้องกัน แต่ในส่วนความเปลี่ยนแปรไปของภาษานั้น เป็นธรรมชาติของภาษาที่เกิดขึ้นได้ หากเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น เป็นประโยชน์ต่อสังคมและยังคงเป็นรากร่วมทางวัฒนธรรมที่งดงาม สะท้อนความเป็น “เอกลักษณ์ของชาติไทย” นับว่าเป็นความภาคภูมิใจร่วมกันของพวกเราชาวไทย
แต่การเข้ามาของสื่อ Social Media ก็ส่งผลต่อการวิวัฒน์ของการใช้ภาษามาก เพราะความรวดเร็ว ทำให้ประหยัดเวลาในการติดต่อสื่อสาร การบันทึกร่องรอย ทุกการสื่อสารบน Social Media เราสามารถติดตาม สืบค้น แหล่งที่มาและข้อเท็จจริงได้ และสามารถแก้ไขได้กรณีเกิดความผิดพลาดในการใช้ภาษา ทั้งนี้โครงข่ายข้อมูลจำนวนมากบน Social Media ทำให้สามารถพัฒนาตนเอง ศึกษา แลกเปลี่ยน เรียนรู้ได้ในทุกที่ ทุกทาง และทุกเวลาตามความต้องการ มีตัวอย่างการใช้ภาษาที่ดีมากมาย หลายแหล่ง บนSocial Media ขึ้นอยู่กับสำนึกและรสนิยมของแต่ละคนที่จะเลือกนำไปใช้”
แต่เมื่อเอ่ยถามถึงมุมมองต่อบริบทของคำว่า ‘ภาษาวิบัติ’ คำตอบที่ก็เป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจ
“ภาษาวิบัติ เป็นคำเรียกของการใช้ภาษาไทยที่เปลี่ยนแปลงไป หรือไม่ตรงกับหลักภาษาด้านการเขียน ได้แก่ การสะกดคำ หรือการใช้คำพูดที่ความหมายของคำเพี้ยนไปจากเดิม โดยสาเหตุที่ทำให้การใช้ภาษาเขียนในภาษาไทยเปลี่ยนแปลงไป จนถูกมองว่าเป็น “ภาษาวิบัติ” นั้น มีหลายสาเหตุ ส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่แม่นยำในการสะกดคำและพิมพ์หรือเขียนผิด โดยไม่รู้ตัว กรณีนี้ ถ้าอยู่ในบริบทที่มีผู้ชี้แนะก็จะแก้ไขได้และเกิดการเรียนรู้เพิ่มขึ้น
อีกส่วนหนึ่งการลอกเลียนนำมาใช้ บนโลก Social Media จะพบ “การสะกดคำผิด” และ “การใช้คำผิด” อยู่บ่อยๆ จนติดตาโดยผู้สื่อสารและผู้รับสารไม่รู้ว่าผิด ความผิดนั้นๆ ก็จะกระจายไปทั่ว ในส่วนนี้ครูมองว่าเด็กๆ ควรได้รับการพัฒนาทักษะการสะกดคำให้แม่นยำและมีพื้นฐานทางภาษาที่มั่นคงเพียงพอที่จะ “จับผิดภาษา” บน Social Media ได้ เพื่อช่วยกันยุติการใช้ภาษาที่ไม่ถูกต้องและไม่ทำตามความผิดแบบนั้น
แต่ในอีกมุมหนึ่งจะเห็นว่า บางกลุ่มมีความตั้งใจที่จะให้ผิดเพื่อให้สะดุดตา ให้เห็นความแปลกและเกิดการจดจำ คนกลุ่มนี้จะใช้ทั้งๆ ที่รู้ว่าผิด แต่ก็จะถูกจำกัดอยู่ในระดับการใช้ภาษาแบบเขียนคุย แบบกันเอง เมื่อเขียนงานวิชาการหรือภาษาในการทำงานก็จะเขียนแบบถูกต้อง แต่ก็บ่อยครั้งที่ความเคยชินในการเขียนแบบผิดๆ นั้นกลับมากระทบกับงานที่เขาทำ แต่จะเกิด “ความตระหนักในการใช้ภาษาที่ถูกต้อง” และหันกลับมาแก้ไข ปรับปรุงในที่สุดหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับตัวเขาเองค่ะ“
ภาษาไทยมีลำดับชั้นทางสังคม
ต่อคำกล่าวที่ว่า ‘ภาษาไทยมีลำดับชั้นทางสังคม’ ทบซ้อนเป็น Layers อยู่ภายใน ซึ่งในมุมนี้ครูระพีร์อธิบายเพิ่มเติมว่า
“ภาษาไทยมีลำดับชั้นทางสังคมที่ งดงาม สะท้อนภาพความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมอย่างเด่นชัด มีความลด หลั่นชั้นเชิง ตามลำดับ ตามสภาพสังคม ได้แก่
ระดับพิธีการ : เป็นภาษาระดับสูงสะท้อน ขนบธรรมเนียม ประเพณี ที่มีมาอย่างต่อเนื่องและยังคงความขลังในทุกพิธีการที่ประกฏต่อสังคมไทยและสังคมโลก
ระดับทางการ : เป็นการใช้ภาษาในงานราชการ หรืองานที่มีระบบ เป็นไปตามลำดับขั้นของการปฏิบัติงานเพื่อให้เกิดความชัดเจนและไม่คลาดเคลื่อนไปตามการสื่อสารแบบไม่ระมัดระวัง ไม่เกิดปัญหาในการส่งสารไปตามระบบ
ระดับกึ่งทางการ :เป็นภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้ติดต่อกิจธุระกับคนที่ไม่สนิท คุ้นเคย ซึ่งการใช้คำสุภาพเป็นการรักษามารยากับบุคคลทั่วไป
ระดับไม่เป็นทางการ : เป็นภาษาพูดคุยในวงสนทนาที่ “ไม่ใช่ส่วนตัว” ยังคงมีความระมัดระวังในการใช้ถ้อยคำที่เหมาะสม
ระดับกันเอง :เป็นการพูดคุยกับคนคุ้นเคย มีความเป็นส่วนตัว ใช้ “ภาษาปาก” สื่ออารมณ์ได้อย่างตรงไป ตรงมา ตามเจตนาและอารมณ์ของผู้พูด
โดยทั้ง 5 ระดับ ของภาษาไทย สะท้อนวัฒนธรรมความเป็นอยู่ เชื่อมโยงกับทุกสถาบัน เป็น “ความงามของภาษาไทย” ที่ลุ่มลึกกว่าหลายชาติในสังคมโลก เป็นโครงสร้างทางภาษาที่ทำให้ “คนไทย” มีคลังคำ สำนวน สามารถนำไปใช้ได้อย่างเหมาะสมตามบริบทของมนุษยสัมพันธ์
ความรู้สึกต่อวันภาษาไทยแห่งชาติ
ในฐานะของความเป็นครูภาษาไทย ที่จิตวิญญาณไม่ได้ปลดเกษียณจากสายอาชีพไปตามวัยที่กำหนดไว้ตามกฎระเบียบราชการ วันภาษาไทยแห่งชาติ จะส่งผลต่อความรู้สึกต่อครูระพีร์หรือไม่เป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
“หากดูตามวัตถุประสงค์ของการกำหนดความสำคัญ ของวันภาษาไทยแห่งชาติ ไว้ดังนี้
1. เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์ และนักภาษาไทย รวมทั้งเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ได้ทรงแสดงความห่วงใย และพระราชทานแนวคิดต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย ซึ่งครูรู้สึกว่า กิจกรรมที่สะท้อนวัตถุประสงค์ข้อนี้ เบาบางลงไปตามกาลเวลา แต่ยังคงปรากฏอยู่เสมอในคำกล่าวรายงานนับเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณชองพระองค์ได้ในระดับหนึ่ง และจะเข้ม ขลัง ยิ่งขึ้นเมื่อผู้ดำเนินพิธีสามารถดึงสติและกำกับพฤติกรรมผู้ร่วมงาน โดยเฉพาะนักเรียนให้มีความพร้อมในการรับฟังคำกล่าวรายงานและคำกล่าวเปิดด้วยความเคารพในพิธีการ
2. เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2542 โดยข้อนี้น่าจะบรรลุวัตถุประสงค์ไปแล้ว และเป็นเพียงข้อมูลสำหรับการอ้างอิง เท่านั้น
3. เพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกของคนไทยทั้งชาติให้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือร่วมใจกันทำนุบำรุงส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และเป็นสมบัติวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป ซึ่งการกระตุ้นและปลุกจิตสำนึก ให้เกิดความตระหนักและเห็นคุณค่าของภาษาไทย และการร่วมกันทำนุบำรุงส่งเสิรมและอนุรักษ์ ควรทำอย่างต่อเนื่อง แทรกในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ทุกกิจกรรมของทุกรายวิชา ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของครูภาษาไทยและโรงเรียนเท่านั้น หากแต่บุคลากรทุกคน ทุกองค์กร เมื่อพบการใช้ภาษาไทยที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนควรชี้แนะให้มีการแก้ไขอย่างทันท่วงที เพื่อให้มีตัวอย่างที่ดีเผยแพร่สู่สังคมไทยในทุกภาคส่วน เกิดความภาคภูมิใจและเห็นแง่งามของการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง สั่งสมเป็นประสบการณ์ทางภาษาและเกิดความรอบคอบในการนำไปใช้ จนกลายเป็นสำนึกอัตโนมัติในการนำสมบัติของชาติไปใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
4. เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการใช้ภาษาไทย ทั้งในวงวิชาการและวิชาชีพ รวมทั้งเพื่อยกมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาไทยในสถานศึกษาทุกระดับให้สัมฤทธิผลยิ่งขึ้น การเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการใช้ภาษาไทย ทั้งในวงวิชาการและวิชาชีพ ประเด็นนี้ไม่น่าห่วง แต่การยกมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาไทยในสถานศึกษาทุกระดับให้สัมฤทธิ์ผลยิ่งขึ้นนั้น ครูภาษาไทยบางกลุ่มยังเน้นด้านความรู้มากกว่าทักษะที่เด็กควรมี การวัดผลสัมฤทธิ์มุ่งเน้นทางวิชาการมากกว่าทักษะที่มีในตัวเด็ก และการประเมินทักษะควรประเมินเส้นพัฒนาของเด็กแต่ละคน มากกว่าการประเมินทักษะปลายทางที่เห็นว่าเก่งและดีแล้วอย่างเด่นชัด เช่น เด็กที่มีพัฒนาการด้านทักษะภาษาไทยที่ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด ควรมีคะแนนพัฒนาการเพิ่มให้เขา แม้ว่าทักษะที่เห็นจะไม่ได้ดีเท่าเด็กที่เก่งและดีอยู่แล้ว แต่ถ้าเขาทำได้ดีกว่าเดิมเราต้องเพิ่มให้ ทั้งนี้ ผู้สอนควรทำความเข้าใจกับผู้เรียนทั้งสองกลุ่มให้กระจ่าง และมีเกณฑ์การวัดและประเมินที่ชัดเจน
5. เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชนทั่วประเทศมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อเผยแพร่ความรู้ภาษาไทยในรูปแบบต่างๆ ไปสู่สาธารณชนทั้งในฐานะที่เป็นภาษาประจำชาติ และในฐานะที่เป็นภาษาเพื่อการสื่อสารของทุกคนในชาติ ข้อนี้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ สะท้อนจากกิจกรรมที่แต่ละหน่วยงานจัดขึ้น
ซึ่งความรู้สึกโดยรวมที่เกี่ยวกับวันภาษาไทยแห่งชาตินี้ ครูเห็นภาพกิจกรรมที่คลาดเคลื่อนจากวัตถุประสงค์ ที่ผู้ร่วมกิจกรรมให้ความสำคัญมากกว่าแก่นของภาษา เช่น การจัดขบวนเทิดพระเกียรติ การจัดการแสดง ที่ทุ่มทุน ทุ่มเวลาไปกับเครื่องแต่งกาย ฉาก อุปกรณ์การแสดง นำเสนอความสวยมากกว่าความงามของภาษา ทั้งภาษาเสียง ภาษาถ้อยคำ ภาษาสัญลักษณ์ สิ่งเหล่านี้ ไม่สามารถดึงดูด หรือสร้างความประทับใจให้ผู้ชม (ในโรงเรียน) ได้เลย เพราะจุดเน้นของการแสดงนำเสนอในส่วนที่เป็นเปลือก มากกว่าแก่น หากโรงเรียนให้ความสนใจ ฝึกฝนทักษะทางภาษาไทยและสะท้อนให้เห็นความงามของภาษาได้มากกว่าที่เป็นอยู่ ก็นับได้ว่าเป็นการ สืบสาน รักษา ต่อยอด ภาษาของชาติได้งดงามอย่างแท้จริง”
เติมเต็มความฝันผลงานภายใต้นามปากา “วิญญ์รวี”
ในวัยที่ผ่านพ้นเกษียณอายุ หลายคนใช้ชีวิตไปตามวิถีที่พึ่งเป็น หลายคนมองว่าเป็นเวลาแห่งการพักผ่อน แต่สำหรับครูภาษาไทยคนนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการเติมเต็มความฝันที่จะมีหนังสือ ซึ่งเป็นผลงานของตัวเองที่เก็บเกี่ยวจากการเดินทางในรูปแบบของบทกลอนนิราศเฉกเช่น ท่านสุนภรภู่ ซึ่งเป็นไอดอลของครูระพีร์ โดยใช้นามปากกาว่า “วิญญ์รวี” ซึ่งนักเลงกลอนท่านนี้มองว่าไม่มีคำว่า…เชย…ไม่ว่าจะนามปากกาและผลงานกลอนนิราศ
“วิญญ์รวี” ไม่เชยหรอกค่ะ ร่วมสมัยเสียด้วยซ้ำ ลองสังเกต สืบค้นการตั้งชื่อคนในยุคสมัยนี้ จะเห็นว่า มีการใช้คำ การเชื่อมคำ อย่างหลากหลาย สมัยก่อนจะพบชื่อในวงคำไม่กี่วง และส่วนมากใช้คำประสมจากคำไทยแท้ เช่น วงคำ “สม” ได้แก่ สมหญิง สมชาย สมหมาย สมคิด สมจิต สมใจ เป็นต้น
วงคำ “ดวง” ได้แก่ ดวงใจ ดวงจิต ดวงสมร ดวงเดือน ดวงตะวัน ดวงฤดี เป็นต้น หรือ
วงคำ “ประ” ได้แก่ ประโยชน์ ประวิทย์ ประเดิม ประพาส
วงคำที่เกิดจากธรรมชาติ เช่น ภูผา แม่นำ ทะเล ขุนเขา สายลม เป็นต้น
คนสมัยนี้ พิถีพิถันในการใช้คำตั้งชื่อ บางชื่อ เรียกยาก อ่านยาก และมากตัวอักษร การใช้วงคำเดิมจะค่อย ๆ ลดน้อยลง
“วิญญ์รวี” เป็นการ “สมาสคำ” ที่สะท้อนการ “สมานใจ” เพราะเป็นชื่อที่หลอมรวมจากชื่อของ “คู่รัก” ที่กลายมาเป็น “คู่ชีวิต” คือ วิญญู กับ ระพีร์ (ระวี ระวิ แปลว่าพระอาทิตย์) เพื่อให้เกิดการสัมผัสอักษร เราจึงเลือกช้ำคำว่า “วิญญ์รวี” ประการสำคัญ สิ่งใดที่หลอมรวมด้วยรัก สิ่งนั้นมีค่าเป็นนิรันดร์และไม่มีวันเชยแน่นอน
และการบันทึกการเดินทางในรูปแบบของกลอนนิราศ ถ้าไม่มี “วิญญ์” เราจะไม่สามารถเขียนนิราศได้เลย เพราะ วิญญู เป็นสารถีนำทางเราไปในทุกที เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดผลงานต่างๆ มากมาย เพราะ นิราศ คือบันทึกการเดินทางในรูปแบบของคำประพันธ์ ถ้าไม่มี “คนขับรถ” เราก็สร้างสรรค์ผลงานไม่ได้ ดังนั้น “วิญญ์รวี” จึงเป็นชื่อที่เรา “สุขใจ” ที่ได้ใช้ เพราะสะท้อนภาพการเดินทางไปด้วยกันของเรา“