ทำไม? ช็อกโกแลตสวิสขึ้นชื่อที่สุดในโลกทั้งที่ปลูกโกโก้เองไม่ได้
BUSINESS
เ รื่ อ ง : กิ ต ย า ง กู ร ผ ดุ ง ก า ญ จ น์
Lindt & Sprüngli, Cailler, Toblerone, Frey, Teuscher, Nestlé
ใครที่เป็นสาวก Chocoholic คงไม่ต้องบอกว่า ชื่อเหล่านี้คือผู้ผลิตช็อกโกแลตหวานมัน
ระดับโลก ที่ทั้งหมดเป็นแบรนด์สัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ แหล่งผลิตช็อกโกแลตที่ขึ้นชื่อแห่งหนึ่งของโลก
แต่สงสัยมั้ยว่าคนสวิสเขามีเคล็ดลับอะไรถึงผลิตช็อกโกแลตที่มีคุณภาพระดับโลก ทั้งที่ประเทศนี้อยู่บริเวณที่ไม่สามารถปลูกโกโก้ได้เองเลยแม้แต่ต้นเดียว
ส่วนผสมลับเฉพาะของ Swiss Chocolate ช็อกโกแลตโดยทั่วไปจะมีส่วนประกอบหลักๆ คือ โกโก้ นม และน้ำตาล แต่สำหรับช็อกโกแลตสวิสแล้ว จะมีส่วนประกอบพิเศษเพิ่มคือ โกโก้ นม น้ำตาล และความพยายามของคนสวิสความพยายามของคนสวิสนี่เองที่ทำให้ช็อกโกแลตสวิสขึ้นชื่อว่าอร่อยที่สุดในโลก แม้ส่วนประกอบหลักๆ อย่างโกโก้และน้ำตาลที่เป็นวัตถุดิบหลักนั้น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ไม่สามารถผลิตเองได้ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะนำเข้าโกโก้จากประเทศในแอฟริกา อย่าง โกตดิวัวร์ (ไอวอรีโคสต์), กานา หรือ อินโดนีเซีย และน้ำตาลจากประเทศไทย รวมไปถึงบราซิล
ซึ่งเหตุผลที่ยืนยันถึงความพยายามของคนสวิสในการเอาดีทางช็อกโกแลตก็คือ
มาทีหลัง แต่จริงจังกว่า
จากอารยธรรมโอลเมค จนถึงชาวมายา การดื่มน้ำโกโก้ร้อน เปรียบเสมือนดั่งเครื่องดื่มจากทวยเทพมานานหลายพันปี แต่พอชาวสวิสที่ชื่อ ฟร็องซัว-หลุยส์ กาเย ได้ลิ้มรสช็อกโกแลต เครื่องดื่มที่แปลกใหม่ สุดแสนอร่อยที่อิตาลีแล้วเกิดติดใจความหวานปนขมของเครื่องดื่มสุดพิเศษนี้ เขาได้ใช้เวลาฝึกวิชาอยู่ที่เมืองตูรินเพียง 4 ปี ก็กลับมาเปิดโรงงานช็อกโกแลตในปี 1819 ที่เมืองกอร์ซีเย แล้วได้สร้างนวัตกรรมโดยเป็นชายคนแรกในโลกที่คิดค้นช็อกโกแลตแท่ง!!! จากเดิมที่ปั้นเป็นก้อนๆ หลังจากนั้นเขาได้ขยายโรงงานแห่งที่สองในปี 1826 ซึ่งต่อมาโรงงานนี้ได้ แดเนียล ปีเตอร์ ที่เป็นลูกเขยมาดูแลกิจการต่อ
ช็อกโกแลตเหมือน เพิ่มเติมคือใส่นม
หนึ่งในส่วนประกอบที่ทำให้ช็อกโกแลตอร่อยมาจากนมสด หากย้อนกลับไปในช่วงแรก ช็อกโกแลตที่ใส่นมยังคงจำกัดแค่เป็นเครื่องดื่มร้อนเท่านั้น จนกระทั่ง แดเนียล ปีเตอร์ ลูกเขยของ ฟร็องซัว-หลุยส์ กาเย ที่เคยเป็นช่างทำเทียนไขมาก่อน ได้ซุ่มคิดค้นวิธีผสมนมสดเข้ากับช็อกโกแลตแท่งอยู่นานถึง 7 ปี จนกระทั่งยูเรก้า กลายเป็นช็อกโกแลตแท่งผสมนมอย่างที่เราคุ้นเคยในทุกวันนี้ แต่ว่าการคิดค้นครั้งสำคัญของเขาอาจจะไม่สำเร็จเลยก็ได้ ถ้าบังเอิญเขาไม่มีเพื่อนบ้านที่ชื่อ อ็องรี เนสท์เล่ ใช่แล้วครับ เนสท์เล่คนนั้นแหละที่เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทเนสท์เล่ บริษัทขนมอันดับหนึ่งของโลก เจ้าของเดียวกับคิทแคทที่เราติดกันงอมแงมทั่วบ้านทั่วเมือง ทำให้ในปี 1879 ทั้งสองคนได้จับมือเป็นพันธมิตรกัน แล้วควบรวมโรงงานเข้าไปกับบริษัทเนสท์เล่ แน่นอน รวมถึงผลงานชิ้นโบแดงคือช็อกโกแลตนมในตำนานด้วย
ละลายในปาก ไม่ละลายในมือ
ไขมันช็อกโกแลตมีความมหัศจรรย์อย่างหนึ่งคือละลายที่อุณหภูมิใกล้เคียงกับร่างกายมนุษย์ คือประมาณ 35-36.5 °C ทำให้ช็อกโกแลตไม่ละลายตอนถือในมือ (หมายถึงตอนถือที่สวิตเซอร์แลนด์ ไม่ใช่อากาศร้อนๆ ของประเทศไทย) แต่ช็อกโกแลตจะค่อยๆ เริ่มละลายต่อเมื่อสัมผัสอุณหภูมิร่างกายตอนเอาเข้าปาก แล้วปลดปล่อยความหวานมันให้เราได้สัมผัสอย่างช้าๆ ซึ่งในปี 1879 ชาวสวิสคนหนึ่งได้คิดค้นวิธีการที่เรียกว่า Conching ขั้นตอนที่ทำการนวดช็อกโกแลตให้มีเนื้อเนียนละเอียด เพิ่มกลิ่นรส รวมถึงไล่กรดเปรี้ยว ลดความขมต่างๆ ที่เกิดจากขั้นตอนการหมักเมล็ดโกโก้ สรุปง่ายๆ เลยว่า มันคือวิธีการที่ทำให้ช็อกโกแลตเดิมๆ นั้นอัพเลเวลความอร่อยขึ้นอีกหลายเท่าตัว ชื่อของเขาคนนั้นคือ รูดอล์ฟ ลินด์ ผู้ก่อตั้งโรงงานช็อกโกแลต ลินด์ (Lindt) ที่หลายคนชอบซื้อมาไว้ติดบ้านนั่นเอง
ความละเมียดในแบบสวิส
กลไกแม่นยำสุดสลับซับซ้อนของนาฬิกาทำมือ ความคมทนทานของมีดพกแบบ Swiss Made นี้คงเป็นเครื่องชี้ถึงความประณีตของคนสวิสได้เป็นอย่างดี ไม่แน่ว่าดีเอ็นเอนี้ถูกส่งต่อมายังการทำช็อกโกแลต เพราะดูจากการที่เขาพิถีพิถันทุกขั้นตอน ละเมียดละไมจนได้ขนมรสเลิศที่อร่อยจนใครๆ ต่างติดใจ ไม่แปลกเลยที่จากการจัดอันดับของ ranker.com จะมีช็อกโกแลตจากสวิตเซอร์แลนด์ขึ้นทำเนียบอยู่จำนวนมาก และมี Lindt & Sprüngli รั้งตำแหน่งอันดับ 1 ช็อกโกแลตที่ได้รับความนิยมที่สุดในโลก
สวิสทำ สวิสกิน สวิสรวย!!!
สิ่งการันตีความอร่อยเหาะของช็อกโกแลตสวิสคือ ปริมาณการบริโภคช็อกโกแลตภายในประเทศที่สูงถึง 12 กิโลกรัมต่อคนต่อปี หรือเทียบง่ายๆ คือ กินช็อกโกแลตขนาด 100 กรัม 120 แท่ง หรือกิน 3 วัน 1 แท่ง นั่นเพียงพอที่จะทำให้สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่บริโภคช็อกโกแลตมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลกมาหลายปีซ้อนได้ง่ายๆ โดยข้อมูลจาก chocosuisse ในปี 2016 ระบุว่า
- สวิตเซอร์แลนด์มีบริษัทช็อกโกแลต 18 บริษัท
- มีพนักงานทั้งหมด 4,542 คน
- ปริมาณการบริโภคภายในประเทศ 63,605 ตัน มูลค่า 890 ล้านเหรียญสหรัฐ
- ปริมาณการส่งออก 122,034 ตันมูลค่า 874 ล้านเหรียญสหรัฐ
จากตัวเลขจะเห็นว่าปริมาณการบริโภคภายในประเทศน้อยกว่าส่งออก แต่มูลค่ากลับใกล้เคียงกัน นั่นเพราะว่าคนสวิสเป็นคนช่างเลือก คัดสรรกินแต่ช็อกโกแลตเกรดดี คุณภาพเยี่ยม ที่มีราคาสูงเท่านั้น ไม่แปลก เพราะของดี ใครๆ ก็อยากเก็บไว้กินเอง
จากความพยายามของคนสวิส ทำให้ประเทศสวิตเซอร์แลนด์สามารถเพิ่มมูลค่าจากโกโก้และน้ำตาลให้กลายเป็นช็อกโกแลตที่มีมูลค่าสูงขึ้นได้ โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย การเพิ่มมูลค่าด้วยการทำการตลาดจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา รวมไปถึงวัตถุดิบชั้นดีในประเทศอย่างน้ำนมคุณภาพสูงจากเทือกเขาอัลไพน์ ที่เป็นหนึ่งในนมที่ดีที่สุดในโลก
โดยในปี 2017 สวิตเซอร์แลนด์มีมูลค่าการนำเข้า
- น้ำตาล 58 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1,800 ล้านบาท
- โกโก้ 613 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 19,000 ล้านบาท
พอนำมาแปลรูปเป็นช็อกโกแลต มีมูลค่าการส่งออก
- ช็อกโกแลต 851 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 27,606 ล้านบาท
- โกโก้แมส และอื่นๆ 81 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2,600 ล้านบาท
วิธีการเพิ่มมูลค่าแบบสวิสนี้ อาจเป็นแนวคิดให้กับประเทศผู้ผลิตวัตถุดิบต้นน้ำอย่างประเทศไทยของเรา ที่มีทั้งยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย และข้าว ที่ขึ้นชื่อว่าดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก น่าจะนำไปเป็นแนวทางในการเพิ่มมูลค่าสินค้าจากวัตถุดิบตั้งต้นราคาไม่แพงที่เราผลิตเองได้ ให้กลายเป็นสินค้าคุณภาพสูงที่มีราคาเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว
ที่มา
https://www.trademap.org
https://tradingeconomics.com
https://www.cbi.eu
http://www.worldsrichestcountries.com
https://houseofswitzerland.org
https://www.ranker.com
https://www.worldatlas.com
https://en.wikipedia.org