สุทธิชัย หยุ่น
GOOD JOURNALISM IS GOOD BUSINESS
• หลังจากความเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างผู้บริหารและผู้ถือหุ้น เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เนชั่นกรุ๊ป และสุทธิชัย หยุ่น ในฐานะประธานกรรมการคนใหม่ ก็มีความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองมากมาย
• เนชั่นกรุ๊ปกำลังปรับตัวในทุกมิติ เพื่อปะทะกับ The Perfect Storm ครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีการสื่อสาร
รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม ที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นๆ
• ในฐานะคนรุ่นใหม่อาจจะมองว่านี่เป็นช่วงเวลาที่หนักหนา แต่สำหรับ สุทธิชัย หยุ่น เขาบอกว่าตลอดระยะเวลา 42 ปีของเนชั่นกรุ๊ป เขาเจออะไรๆ
มาหนักกว่านี้มากมาย
เมฆฝนเคลื่อนผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ทำให้การปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ของมหาวิทยาลัยเนชั่น ที่จังหวัดลำปาง ติดขัดบ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่ทุกอย่างก็จบลง อย่างชุ่มชื่นหัวใจ GM จึงค่อยได้มีโอกาส นั่งคุยกับ สุทธิชัย หยุ่น ใต้ร่มไม้บริเวณริมสระน้ำของมหาวิทยาลัย เขาตอบทุกคำถามอย่างสบายๆ และใส่อารมณ์ขัน ให้กับทุกเรื่องเล่า
เรื่องการบริหารกองบรรณาธิการข่าวแบบใหม่ ที่เรียกว่า Convergent News- room เรื่อยมาจนถึงเรื่องการบริหารธุรกิจ ให้บรรดาผู้ถือหุ้นและนักการตลาด ไม่มาแทรกแซงการทำงานข่าว
เรื่องรายการแนวคุยข่าวของเนชั่นกรุ๊ปที่เพิ่งถูกปลดมาจากช่องฟรีทีวี มาจนถึงสถานีทีวีดาวเทียมช่องใหม่เอี่ยมที่เพิ่งเปิดตัว คือกรุงเทพธุรกิจทีวี
เรื่องจรรยาบรรณของนักหนังสือ-พิมพ์ ให้ทำคอนเทนต์แบบ Long-term Journalism มาจนถึงจรรยาบรรณของนักทวีต ที่ต้องกระชับ ฉับไว แต่ต้องไม่โหมกระพือความขัดแย้งและข่าวลือ
เรื่องอุดมการณ์ร้อนแรงของคนหนุ่มสาว ที่ต้องยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิ่งที่ตนเองเชื่อ มาจนถึงการหันมาปฏิบัติธรรมตามแนวเซนแบบสบายๆ เพื่อรับมือกับปัญหาชีวิตได้อย่างรื่นรมย์เรื่องการใช้เครื่องพิมพ์ดีดในสมัยหนุ่มๆ มาจนถึงการใช้ไอโฟนเพื่อเขียนบล็อกในทุกวันนี้และท้ายที่สุด เขาเล่าเรื่องการดำเนินชีวิตเป็นนักสื่อสารมวลชนที่อยู่ในร่องในรอย ตั้งแต่วันแรก มาจนถึงวันนี้ ที่เขาเริ่มพูดว่า “ถ้าพรุ่งนี้หายไปจากโลกเลย ก็จะไม่มีอะไรที่เป็นห่วง”เนชั่นกรุ๊ปลงรากหยั่งลึกมาตลอด 42 ปี และมันจะดำเนินต่อไปได้ ถึงแม้ไม่มี สุทธิชัย หยุ่น จริงๆ หรือ ?
GM ได้ถามละเอียดยิบ ถึงสิ่งที่เขากำลังลงมือทำในตอนนี้
GM : มีสัญญาณว่ารายได้จากสื่อสิ่งพิมพ์มีแนวโน้มลดลงแล้วใช่ไหม เนชั่นกรุ๊ปจึงเตรียมออกหารายได้จากธุรกิจอื่นๆ เช่น ทีวี นิวมีเดีย และธุรกิจการศึกษา มาเปิดมหาวิทยาลัยถึงที่จังหวัดลำปาง
สุทธิชัย : ตอนนี้แนวโน้มยังไม่ได้ลดลง เพียงแต่อัตราการเติบโตไม่เพิ่มขึ้นอย่างแต่ก่อนแล้ว สื่อดิจิตอลก็จะก้าวเข้ามาค่อนข้างแรงและเร็ว เนชั่นไม่ได้
เพิ่งเตรียมการ เราแอบๆ ติดตามกระแสนี้มาเป็นสิบปีได้แล้วมั้ง ถ้าคุณทำงานในบริษัทเราตั้งแต่เมื่อสิบกว่าปีก่อน จะเห็นว่าเราเริ่มไปดิจิตอลกันทีละน้อยๆ ในฐานะที่เป็นคนที่ต้องรับผิดชอบองค์กร ก็ต้องมาเขย่าคนของเราก่อน นี่นะ ฟังนะ สิ่งพิมพ์ไม่ได้อยู่ตลอดไปหรอก ใหม่ๆ นักข่าวไม่มีใครยอมใช้ แต่ผมก็พยายามตื๊อต่อ พยายามบอกว่ามันก็ต้องดีขึ้น ลองใช้ดูน่า ถึงแม้มันจะตะกุกตะกักอยู่บ้าง แต่อย่างน้อยมันก็ดีกว่าไม่มีเลย อย่างไอโฟนเราก็เป็นเจ้าแรกที่ให้นักข่าวใช้ คนของเราแรกๆ ก็บ่นว่าไม่มีเงินซื้อ จำได้ว่าตอนนั้นไอโฟนมันฮิตขึ้นมาพร้อมกับบีบี เราก็ให้นักข่าวเลือกได้เลยว่าจะใช้อะไร เพราะมันทำงานได้สูสีกัน เราซับซิไดซ์ไปเลยสี่พันบาท บริษัทจ่ายให้ก่อนสี่พันบาท ที่เหลือก็ขอให้คุณช่วยผ่อน ไม่มีดอกเบี้ยนะ ผ่อนตามกำลังของแต่ละคน จะกี่ปีก็ว่าไป นั่นเป็นการตัดสินใจลงทุนครั้งใหญ่สำหรับบริษัทเราเลย เพราะเราขี้เหนียวมาตลอด (หัวเราะ) พอเขาได้เครื่องปั๊บ ก็เริ่มสนุกกับมัน ถ่ายวิดีโอก็ได้ ถ่ายรูปก็ได้ กลายเป็นเรื่องสนุก และทุกคนสมัครใจ
GM : ตลอดเวลาสิบกว่าปี มันต้องมีเทคโนโลยีบางอันที่คุณกะเก็งพลาดไป ลงทุนพลาดไป
สุทธิชัย : มีแน่นอน อย่างพวกโฟนลิงค์ แพ็คลิงค์ คุณจำได้ไหม นั่นเราก็ใช้ก่อนคนอื่นเหมือนกัน สมัยนั้นนักข่าวเราทุกคนมีปี๊บๆ ทุกคนตื่นเต้นใหญ่เลย ไม่ใช่โทรศัพท์ด้วยซ้ำ แต่เราถือว่าเราต้องใช้ก่อน ผมก็ยอมหน้าแตก แต่ว่าถ้ามา 10 อย่าง เราใช้ได้ดีสัก 3 อย่าง ผมว่าก็โอเคแล้ว นี่คือทัศนคติที่เราพยายามสร้างให้เห็นว่า ทุกคนต้องลองดู ใช้ได้หรือไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้ทุกคนรักษาทัศนคติแบบนี้เอาไว้ อย่างเฟซบุ๊ค เรายังไม่รู้ว่าจะอยู่อีกนานไหม ไปถามใคร ก็ไม่มีใครรู้ เมื่อก่อน hi5 ก็มา แต่มาได้พักหนึ่งก็ไป แต่โชคดีที่ผมไม่ได้บอกให้คนเนชั่นเล่น hi5 (หัวเราะ) เพราะเท่าที่เห็นตอนนั้นมีแต่พวกเด็กๆ เขาเล่นกัน ไอซีคิวก็ด้วย ผมเห็นตั้งแต่แรกๆ ก็รู้แล้วว่ามันคงไม่ยั่งยืนเท่าไร สำหรับเรื่องบล็อก ตอนนั้นที่เกาหลีมีเว็บไซต์ ชื่อ OhmyNews มีลักษณะเป็นบล็อกนี่แหละ มีสโลแกนว่า ‘Every Citizen is a Reporter’ คือให้คนเกาหลีทั่วประเทศ ทุกจังหวัด เขียนรายงานข่าวเข้ามา แล้วเขาก็เอาขึ้นเป็นข่าว มีงานสัมมนา ผมก็ไปฟังเขาพูด สุดยอดไปเลยคอนเซ็ปต์เรื่อง Citizen Reporting พอกลับมาก็มานั่งประชุมกัน เรียก Editorial Board มานั่งกินข้าวกัน ผมก็เล่าสิ่งที่ไปเห็นให้พวกเขาฟัง มันมีเว็บไซต์แบบนี้นะ ให้คนทั่วไปเขียนข่าว เลือกข่าวเอง อยากให้ลองทำดู พอดีมีบล็อกมา คุณอดิศักดิ์ (ลิมปรุ่งพัฒนกิจ) ก็มาบอกว่า เราตั้งบล็อกของเราดีกว่า ให้นักข่าวเราเขียนบล็อกก่อน พวกคอลัมนิสต์เราก็ชวนเขามาเขียนบล็อกของเรา หรืออย่างพวกช่างภาพก็มาเขียนบล็อกได้ เพราะเขาทำงานแล้วเบื่อไง ได้ลงแต่ภาพข่าวอาชญากรรม แต่จริงๆ เขาถ่ายรูป ประเภทอื่นมาตั้งเยอะแยะ แต่ไม่มีที่ลง หรือบางทีถ่ายมา 20 รูป แต่ได้ลงรูปเดียว พอมีบล็อก พวกช่างภาพก็จะได้มีที่ระบายของ นักข่าวอยากเขียนอะไรก็เขียนได้ ก็เลยเปิดบล็อกขึ้นมา คนก็จะพูดว่าเนชั่นทำไมเร็ว เพราะมันมีการพูดกันอยู่ตลอดในออฟฟิศว่าจะทำไม่ทำอะไร ก็เปิดบล็อกโอเคเนชั่น (http://www.oknation.net)
OhmyNews เว็บข่าวออนไลน์ ก่อตั้งโดย โอ ยุน โฮ ชาวเกาหลีใต้ เปิดให้ผู้ใช้ทุกคนเขียนข่าวเอง และอ่านข่าวของกันและกัน
GM : ตอนนี้สถานการณ์ของบล็อกโอเคเนชั่นเริ่มเฟดลงแล้วใช่ไหม เพราะมีไมโครบล็อกอย่างทวิตเตอร์ขึ้นมาแทน
สุทธิชัย : ยอดผู้ใช้โอเคเนชั่นยังเสถียรอยู่นะ แต่ที่โตเร็วก็คือทวิตเตอร์ ผมเห็นว่าเขียนบล็อกมันได้เนื้อหาดีกว่า อย่างไปเที่ยวเมืองจีนก็มาเขียนเล่าเป็นตุเป็นตะ มีคนอ่านพันคนก็แฮปปี้แล้ว ตอนหลังคุณอดิศักดิ์คิดว่าดึงเนื้อหาดีๆ จากบล็อกมาพิมพ์หนังสือ เรียกว่า From Blog to Book คอนเทนต์มันย้ายไปมาได้ อย่างตอนนี้ที่มีคนบอกว่าคอนเทนต์จากพริ้นต์ไปดิจิตอลกันหมดแล้ว ผมคิดว่าคอนเทนต์จากดิจิตอลก็ย้อนกลับมาพริ้นต์ได้ เราก็วนอยู่อย่างนี้ จะไม่หนีไปจากพริ้นต์ เพราะพริ้นต์ยังอยู่อีกหลายปีในเมืองไทย
แต่ทวิตเตอร์นี่เป็นสุดยอดของการสื่อสารกับกลุ่มคนจริงๆ นะ ผมถือว่าในเนชั่นทุกคนที่เป็นคนข่าวต้องทวีต กระทั่งอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเนชั่นทุกคน ยังถูกขอร้องให้ทวีตเลย ผมมาที่นี่ก็บอกว่าอาจารย์ต้องทวีตกันนะครับ และถ้าจะประชุมอะไรกันเป็นการภายใน เราก็ให้ใช้ Yammer คือคุณตั้งเป็นวงในได้ คนภายในคุยกันเอง ถ้ามีเรื่องอะไรเล็กๆ น้อยๆ ก็จะได้ไม่ต้องเรียกประชุม อาจารย์คุยตกลงกันในแยมเมอร์ได้เลย แก้ปัญหาเรื่องเวลาได้เยอะ แถมยังเป็นประชาธิปไตย ขึ้นด้วย เพราะทุกคนมีสิทธิ์บ่นได้ โวยวายได้ แต่ก่อนนี้เขาไม่กล้ามา ขอพบอธิการไม่ใช่เรื่องง่าย แต่นี่เขียนเลย
Yammer.com คือโซเชียลเน็ตเวิร์กที่มีลักษณะคล้าย Twitter หรือ Micro-blogging แต่ใช้เพื่อการสื่อสารภายในองค์กร โดยการเชื่อมโยงพนักงานทั้งหมดในบริษัทวงเครือข่ายที่มีความเป็นส่วนตัวและปลอดภัย
GM : แนวคิดในการทำมหาวิทยาลัยที่นี่เริ่มมาได้อย่างไร
สุทธิชัย : ผมและคนในเนชั่นอยากจะถ่ายทอดความรู้ของเรามานานแล้ว เราพยายามไปจับมือกับคณะนิเทศศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ มาแล้ว ผมก็ไปคุยกับทุกมหาวิทยาลัยเลย จะครบทั่วประเทศไทยแล้วมั้ง ราชภัฏฯ ด้วย พยายามให้เขาปรับหลักสูตร ให้มีภาคปฏิบัติมากขึ้น แต่ไม่สำเร็จ ทุกมหาวิทยาลัยก็คงมีปัญหาเหมือนๆ กัน คืออาจารย์มีอีโก้เยอะ เราเข้าไปก็ล้มเหลว ยกตัวอย่างเรื่องภาษาอังกฤษ ผมคุยกับอาจารย์คนหนึ่ง ว่าเด็กของคุณเรียนจบไปแล้ว คุณคิดว่าภาษาอังกฤษเขาดีหรือยัง เขาก็ส่ายหน้า แบบนี้ก็ต้องเปลี่ยนวิธีการกันได้แล้วนะ แต่ที่ไม่เปลี่ยนกันก็เพราะติดกรอบที่เปลี่ยนไม่ได้ ยากมาก เราก็พยายาม
วันดีคืนดี คุณเสริมสิน สมะลาภา (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหาร เนชั่นกรุ๊ป) ก็มาบอกผม คุณสุทธิชัย มหาวิทยาลัยโยนกเขาจะขายนะ ผมก็เหรอๆ สนใจมากนะ แต่ผมจะทำก็ต่อเมื่อเนชั่นเข้าไปทำนะ เพราะผมคนเดียวไม่ไหวหรอก เขาบอกว่าไปมัดจำไว้แล้ว เพราะอาจารย์นิรันดร์ จิวะสันติการ ซึ่งเป็นคนก่อตั้ง ขายมหาวิทยาลัยให้กับคอม-ลิงค์ ของคุณศิริธัช โรจนพฤกษ์ ซึ่งคุณศิริธัชก็รันที่นี่อยู่ 2-3 ปีก็เบื่อ ทำธุรกิจแบบนี้นะ ถ้าไม่มีใจกับมันจะไม่สนุก คุณต้องรักมัน ต้องอยากทำ ถ้าคุณเป็นเจ้าของ เป็นผู้บริหาร ทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ มันไม่มีทางหรอก เขาก็ขาดทุน ออกข่าวว่าจะขาย มีหลายเจ้าที่สนใจ คุณเสริมสินได้ยินก็เข้าไปคุย แล้วจ่ายมัดจำไว้ก่อนเลย แล้วถึงมาคุยกับเนชั่น ผมบอกว่าต้องเอาเนชั่นเข้าไปทำนะ ต้องมาทำที่กรุงเทพฯ ได้ด้วยนะ เพราะว่าถ้ามาทำอยู่ที่ลำปางอย่างเดียวคงเบื่อ ก็เลยต้องขึ้นๆ ล่องๆ แล้วเราไม่ชินกับลำปาง ใจเราอยากจะทำมาตั้งนาน พอมาดูก็ชอบที่นี่มาก มันสวย ความเขียวนะ แล้วใบอนุญาตทำให้เราไปตั้งวิทยาเขตได้ทั่วประเทศ ถ้าเราเน้นนิเทศศาสตร์ที่เราชำนาญ ถ้าบริหารจัดการคณะไม่กี่คณะ ผมว่าเราทำได้ดีแน่ๆ
GM : เกิดอะไรขึ้นมา ทำไมคุณอยากสอนหนังสือเด็ก
สุทธิชัย : ผมทำงานมาหลายสิบปี เห็นคุณภาพเด็กรุ่นแล้วรุ่นเล่า ประเทศไทยคงไปไหนไม่ได้ ถ้าเด็กที่จบมาคิดได้แค่นี้ แม้แต่อาจารย์เองยังยอมรับ ว่าภาษาอังกฤษยังพูดไม่ได้เลย ไม่ต้องพูดถึงทัศนคติเรื่องชีวิต ความอึด อดทนต่อสู้ มุมมองว่าอะไรถูกผิด มันไม่ได้มาตรฐานที่เราต้องการ ยิ่งเราเป็นคนทำสื่อด้วย และเหตุผลที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การเปลี่ยนแปลงของสื่อในยุคดิจิตอล ทำให้ผมเห็นว่าช่วงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญที่สุดของคนในอาชีพนี้เลย ความจริงถ้าโลกนี้ไม่มีความเปลี่ยนแปลง ไม่มีเทคโนโลยีดิจิตอล ถ้ามันยังเป็นแบบเก่า เขียนคอลัมน์เดียวอยู่ในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ผมก็เกษียณไปสบายแล้ว ตอนนี้ก็ไปนั่งอยู่บ้านเขียนคอลัมน์ แต่พอสื่อเปลี่ยนเนี่ย ผมว่า หนึ่ง, มันเป็น Perfect Storm เลย เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์โลกเลยนะ ไม่ใช่เฉพาะไทย สอง, ทั้งเนชั่นกรุ๊ปเราจะฟันฝ่าสิ่งนี้ไปได้อย่างไร แม้เราจะปูทางให้คนเนชั่นพร้อมจะปรับตัวก็ตาม แต่มันเหมือนน้ำเชี่ยวมาก ถ้าเราอยู่บนเรือลำนี้ แล้วกระโดดลงเสียก่อน ก็อาจสบายได้ แต่มันก็ไม่แฟร์สำหรับคนรุ่นต่อไป ฉะนั้นเลยคิดว่า การศึกษาในทางนิเทศศาสตร์กับการปฏิบัติต้องมาอยู่ที่เดียวกัน ผมยังมองว่าต้องสอนเด็กตั้งแต่ ม.ปลายด้วยซ้ำนะ ต้องให้เขาเข้าใจเรื่องสื่อตั้งแต่ตอนนั้น เพราะขนาดแท็บเล็ตยังแจกกันตั้งแต่ ป.1 เลยใช่ไหม ถ้าเราเข้าไปตั้งแต่ปีหนึ่งแล้วสอนมาตลอด มันจะไหลลื่นกว่า สอนให้เขาเข้าใจเรื่องการปฏิวัติดิจิตอลเลย เลยตัดสินใจเข้าไปทำ เลยไปชวนอาจารย์พงษ์อินทร์ รักอริยะธรรม ซึ่งเป็นรองอธิการบดีอยู่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มารัน เพราะเราไม่มีความเข้าใจเรื่องกฎ กติกาต่างๆ ของมหาวิทยาลัย พวกเราทำสื่อไม่มีใครเข้าใจหรอก
GM : คงจะมีถ้อยคำอีกมากมายที่คุณอยากจะบอกกับเด็กนักศึกษาในวันปฐมนิเทศ ถ้าไม่ติดขัดว่าฝนตกลงมาเสียก่อน
สุทธิชัย : การเรียนของเขาไม่ใช่แบบเก่า ความคิดของเขาก็ต้องไม่ใช่แบบเก่า ผมอยากบอกพวกเขา ว่า เฮ้ย! โลกดิจิตอลเปิดให้คุณสามารถจะทำอะไรได้เองมากมายมโหฬาร คุณอยากจะทำอะไรก็ต้องได้ทำ สมัยผมไม่กล้าคิดเป็นเถ้าแก่ ตอนแรกพอจบมาก็เป็นลูกจ้างก่อน กว่าจะถึงวันนี้ก็ต้องค่อยๆ ไต่เต้าขึ้นมา แต่ว่าคุณอยู่ปีหนึ่ง ปีสอง ปีสาม คุณคิดได้เลย มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ก็คิดตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยนะ บิล เกตส์ ก็ใช่เหมือนกัน อยู่บ้าน อยู่ในโรงรถ ก็สร้างอะไรออกมาได้แล้ว เด็กรุ่นนี้ต้องกล้าคิด โอกาสมันมี ยิ่งสังคมไทยไปช้า เด็กรุ่นนี้ยิ่งมีโอกาส นี่ผมพูดถึงความสามารถในเชิงเปรียบเทียบนะ เพราะถ้าคนอื่นยังไปเรื่อยๆ แต่คุณกระตือรือร้น คุณจะไปได้เร็วกว่า ถ้าในมหาวิทยาลัยมีแรงผลักดัน คุณก็จะตื่นเต้น จะรู้ว่ามันมีโอกาส และรู้ว่าโอกาสไม่ได้มีแค่ในไทยด้วย โอกาสมันมีทั่วโลก ในอาเซียนที่กำลังจะเปิดเสรี โอกาสที่จะทำสื่อทีวีดาวเทียมออกมา เคเบิลทีวีออกมา ทีวีอินเตอร์เน็ตออกมา มือถือออกมา โอกาสมโหฬารของคนรุ่นคุณ ผมอยากจะบอกเขาว่า เฮ้ย! อย่าคิดว่าแค่เรียนหนังสือให้จบเท่านั้นนะ ปีหนึ่งปีสองมีงานแล้วนะ สนใจอะไรก็โฟกัสเสีย พุ่งไปซะ
GM : Success Story พวกนี้เป็นเรื่องฝันเฟื่องเกินไปหรือเปล่า ดูเหมือนว่าคุณธรรมของคนในยุคนี้จะเปลี่ยนไป เราให้คุณค่ากับไอเดียหรือแรงบันดาลใจอะไรนิดหน่อย ว่ามันสำคัญและจะนำไปสู่สิ่งที่ยิ่งใหญ่ เทียบกับคนรุ่นก่อนๆ ที่เราเชื่อในการทำงานหนัก อดทน อดออม เหนื่อยยาก ดูประวัติชีวิตของคุณเอง หรือคนรุ่นเดียวกับคุณ ก็ต้องต่อสู้อะไรมามากมาย ไม่เหมือนประวัติชีวิตของคนสมัยนี้ ที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่ยังอายุน้อยๆ
สุทธิชัย : ผมยังเชื่อในเรื่องของการทำงานหนัก เพื่อนที่ดีที่สุดของโชคดีก็คือการทำงานหนัก ผมเชื่อว่าไม่ว่าจะไอเดียดีแค่ไหน แรงบันดาลใจ
ดีแค่ไหน ท้ายที่สุดนี่นะ คุณต้องทำงาน ไม่มีฟลุคหรอก ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ หรือฟรีๆ หรอก ที่คุณเห็นมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก หรือ บิล เกตส์ หรือสตีฟ จ็อบส์ คนพวกนี้ทำงานหนักเป็นบ้าเป็นหลัง ความสำเร็จที่เห็นทั้งหมดไม่ได้มีอะไรอยู่ดีๆ เกิดฟลุคได้มา ถ้าคุณอ่านหนังสือของสตีฟ จ็อบส์ อย่างละเอียด คุณจะรู้ว่าชีวิตเขาลำบากขนาดไหน เกิดมาพ่อแม่ก็ทิ้งแล้ว ต้องดิ้นรนยังไง มันไม่ได้เป็นเพราะว่าเขาเกิดมาเป็นจีเนียส จีเนียสนั้นเกิดมาจากการทำงานหนัก ค้นหา ต่อสู้ และต้องผ่านการล้มเหลวมาก่อนทั้งนั้น บางคนอาจดูหนัง The Social Network แล้วเห็นว่าหนุ่มคนนี้ทำอะไรบ้าๆ บอๆ แป๊บเดียวก็รวยได้ ถ้าเรื่องรวย ใครก็คิดอยากรวย แต่คนที่คิดเปลี่ยนโลกนี่มันต้องคิดหนักกว่าคนที่คิดจะรวย คนคิดจะรวยมันง่าย แต่คิดเปลี่ยนโลก มันต้องคิดมากกว่า
GM : จำได้ว่าในหนังเก่าเมื่อ 40 กว่าปีก่อน The Graduate ที่ ดัสติน ฮอฟฟ์แมน แสดงเป็นบัณฑิตจบใหม่หมาดๆ มีคนมากระซิบข้างหูว่าให้เขาลงทุนในธุรกิจพลาสติก เพราะจะเป็นอนาคตของโลก ถ้าเป็นทุกวันนี้ล่ะ คุณจะกระซิบข้างหูบัณฑิตไทยว่าอะไร
สุทธิชัย : กระซิบคำเดียวเลยนะ คือ ‘ดิจิตอล’ ดิจิตอลจะนำเราไปสู่ทุกอย่างได้ พวกน้องต้องเข้าไปสู่ดิจิตอลโดยเร็วที่สุด อย่าลังเล อย่าเรื่องเยอะ อย่าเงื่อนไขเยอะ กระโจนลงไปเลย เชื่อพี่! (หัวเราะ) เพราะพี่ก็โดนมาแล้ว เห็นมาเยอะแล้ว ตอนนี้อนาคตนั้นได้มาถึงแล้ว อย่าไปคิดเลยว่าอันนี้เป็นไปไม่ได้ อันนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะผมผ่านมาแล้ว สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปได้อย่างที่ตีลังกากี่รอบก็ยังไม่เข้าใจ รุ่นพวกคุณมันจะยิ่งกว่ารุ่นผมอีก เพราะเทคโนโลยี การแข่งขันให้เร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ยิ่งจะผลักดันให้วิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปหมด
The Graduate (1967)
Director : Mike Nichols
GM : ยังมีคนระดับอาวุโสในเนชั่น
กรุ๊ป ที่ยังตามไม่ทันบ้างไหม
สุทธิชัย : มีบ้างนะ แต่ถ้าเทียบกับคนในสื่ออื่นๆ ถ้าในเนชั่นกรุ๊ปว่าล้าหลัง ไปเทียบกับข้างนอก ผมว่าเราไม่ล้าหลังนะ อย่างคุณแคน สาริกา (บรรณาธิการบริหาร เนชั่นสุดสัปดาห์) โบราณที่สุด ผมไม่ได้ไปบอกให้เขาเล่นทวิตเตอร์เลยนะ แต่เขาดูจากคนอื่น จากเด็กรุ่นใหม่ ผมเคยพูดในที่ประชุม พวกเรารุ่นเก่าๆ อายุสี่สิบ สี่สิบห้า ถ้าไม่ปรับตัวจะไม่ทันเด็กรุ่นใหม่ แล้วผมสงสัยว่าจะทำอย่างไรกับพวกคุณ ถ้าเด็กรุ่นใหม่ทำได้ทุกอย่าง เงียบหมด แต่ผมพร้อมจะเทรนให้นะ ไปเทรนว่าอัพโหลดข่าวในเว็บไซต์ยังไง ตัดต่อได้นะ ภาพเสิร์ชในกูเกิลได้ วันดีคืนดีผมก็เห็นทวิตเตอร์ @can_nw ก็ย่อมาจากแคน สาริกา แห่งเนชั่นสุดสัปดาห์นั่นแหละ จุดแข็งของแคนคือเป็นแหล่งเก็บสะสมข้อมูลที่คนอื่นไม่มี คนรุ่นใหม่ไม่มี เขาไม่ต้องใช้ความเร็ว แต่ใช้ความเก๋า ผมพูดประโยคหนึ่งว่า พวกเราที่อยู่มานานมีข้อได้เปรียบเด็กรุ่นใหม่อยู่ข้อเดียวคือประสบการณ์ แคนก็ไปถามเด็กๆ ว่ามันทวีตยังไงวะ ทุกวันนี้มีคนฟอลโลว์เขาเยอะ เฟซบุ๊คของเขาก็มีคนแอดเฟรนด์เยอะ เขาปรับเพราะฉลาด ถ้าไม่ปรับกูโง่แน่ เด็กหัวเราะเยาะแน่
ยกตัวอย่างอีกคนคือคุณทนง ขันทอง (บรรณาธิการ เดอะเนชั่น) เป็นคนที่ต่อต้านมาก (เน้นเสียง) บล็อกก็ต่อต้าน ทวิตเตอร์ก็ต่อต้าน ผมบอก เฮ้ย! ทนง ยูก็ลองดูสิ ไม่เสียหายนี่นา ลองเขียนบล็อกภาษาอังกฤษดู จะมีคนเข้ามาอ่านหรือเปล่า ถ้าเขียนแล้วไม่มีคนอ่าน ก็เลิกเขียนไปสิ ไปเล่นอย่างอื่นแทนเยอะแยะ เขาก็ลองๆ ทุกวันนี้เขาถูกเชิญไปพูดเรื่องโซเชียลมีเดียด้วย (หัวเราะ) กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญไปแล้ว เขายังบอกเลยว่าเมื่อก่อนคุณสุทธิชัยเคยบังคับผมเริ่มเล่น แต่ถ้าวันนี้มาห้ามให้ทวีต ผมจะประท้วงด้วย กลับกลายเป็นอย่างนั้นไปแล้ว ถ้าผมห้ามนักข่าวในกองไม่ให้ทวีต เพราะบอกว่ามันเสียเวลางาน เขาต้องประท้วงผมแน่นอน ไม่ยอมผมแน่ ภาพมันคนละอย่างกันกับเมื่อ 4-5 ปีก่อน ที่ผมบอกให้ทุกคนทวีต นักข่าวก็มาแล้ว อิดๆ ออดๆ จะบอกว่าไม่ได้หรอก งานวันหนึ่งก็เยอะแล้ว ที่สำคัญกว่านั้น ถ้าผมทวีตแล้วเงินเดือนจะขึ้นหรือเปล่า คำนี้กลายเป็นคำอมตะไปแล้วสำหรับทุกองค์กร
GM : ทำไมเราไม่เก็บงำข้อมูลดีๆ ไว้ขายล่ะ ทำไมเปิดให้คนอ่านฟรีๆ ในโซเชียลมีเดีย อย่างที่แคน สาริกา ทวีตเล่าถึงนักการเมืองคนนั้นคนนี้ แบบนี้เอามาลงทีละตอนๆ เอ็กซ์คลูซีฟเฉพาะในเนชั่นสุดสัปดาห์ก็ได้
สุทธิชัย : ประเด็นคือการสร้าง Audience เราต้องสร้าง Audience ให้ได้เสียก่อน ถ้าเรามัวไปมองว่ามันจะทำเงินได้เท่าไร มันจะทำเงินได้อย่างไร เราคงไม่ทำมาถึงทุกวันนี้ คนก็จะไม่รู้จักเนชั่นในฐานะอย่างนี้ แบรนดิ้งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เริ่มต้นผมก็บอกทุกคน ว่าที่เราทำอยู่นี้ ไม่ใช่เพราะว่าหาเงินได้ ฉะนั้นอย่าถามว่าผมจะจ่ายเงินเดือนเพิ่มไหม (หัวเราะ) เพราะผมเองก็ยังหารายได้มาจากตรงนี้ไม่ได้เหมือนกัน แต่เราทำเพื่อสร้างกลุ่มผู้ชมเราขึ้นมา และผมก็คอยขู่ว่าจะมีการประเมินผลงานของพนักงานทุกคน จะมีคะแนนเกี่ยวกับการใช้โซเชียลมีเดียด้วย ว่าพวกคุณใช้โซเชียลมีเดียแค่ไหน แหย่ไปเรื่อยๆ เฮ้ย! ปีนี้ผมเอาจริงแล้วนะ จะประเมินว่าใครใช้โซเชียลมีเดียบ้าง 4-5 ปีที่แล้ว เราจัดเนชั่น โซเชียล มีเดีย เดย์ เรียกทั้งหมดมาประชุม สร้างอีเวนท์ขึ้นมา ก่อนประกาศเคพีไอปีก่อนหน้าก็บอกว่าจะทำ กล้าเหรอ ทำจริงเหรอ พอปีต่อมาก็ทำจริง ให้หัวหน้าเตือนลูกน้องว่าปีนี้จะมีประเมินแล้วนะ จนตอนนี้เป็นนโยบายทางการแล้ว 30 เปอร์เซ็นต์ของคะแนนทั้งหมดที่ประเมินให้กับเรื่องการใช้โซเชียลมีเดีย
ตอนนี้เรามีคนทวีตในเนชั่น 400 กว่าคน มี Follower รวมทั้งหมด 1.6 ล้านคน นี่คือ Audience มหาศาล หมายความว่า Message อะไรก็ตาม
ที่คนในเครือเราส่งไป มีคนได้รับเป็นล้านคน เวลามีข่าวใหญ่อะไรเกิดขึ้นมา ทีมเนชั่นเราแทบจะยึดไทม์ไลน์ทวิตเตอร์เลย ตอนนี้ในเมืองไทย พูดถึงโซเชียลมีเดียก็ต้องนึกถึงเนชั่นก่อน โดยทางอ้อม มันก็สร้างรายได้ คือมีคนเชิญให้เราไปสอนบ้าง ไปอบรม เวลาไปขายโฆษณา เซลส์จะเอาโซเชียลมีเดียพ่วงไปด้วย คือเราจะแจ้งกิจกรรมในโซเชียลมีเดียมากกว่า เช่นพรุ่งนี้มีงานนั้นงานนี้นะ แต่ไม่ทำแบบฮาร์ดเซลส์ กิจกรรมที่ลงโฆษณาในเล่มของเรา ก็จะได้รับการพีอาร์ทางทวิตเตอร์ของเรา เงินไม่ได้มากอะไรหรอก แต่ได้แบรนดิ้ง ทำให้เรา Establish ตัวเราเองให้เป็นสื่อที่เข้าไปอยู่กับโซเชียลมีเดียเต็มที่ในทุกรูปแบบ
GM : ทุกวันนี้ เวลาคนได้รับข่าวครั้งแรก จะได้รับทางโซเชียลมีเดียทั้งนั้น เราไม่ได้รอดูทางทีวีกันแล้ว
สุทธิชัย : นักข่าวเนชั่นจะเป็นมัลติมีเดียจริงๆ หนึ่ง, ข่าวเบรกกิ้งนิวส์ในที่เกิดเหตุจะทวีตก่อน สอง, อัพขึ้นเฟซบุ๊ค สาม, โทรฯ เข้ามารายงานทางทีวี นักข่าวเนชั่นทำได้ทุกอย่าง ถ้าทำสื่อสิ่งพิมพ์ด้วย เขาก็ต้องเขียนข่าวเพื่อจะตีพิมพ์ด้วย และที่เขียนเข้ามาก็จะอัพขึ้นเว็บไซต์ด้วย ความคล่องตัวของนักข่าวเนชั่นมาจากการที่เราใช้วิธีการต่างๆ สอนให้เขา 80-90 เปอร์เซ็นต์ของนักข่าวเนชั่นจะ Multi-skilled เราทำแบบนี้กันมานาน และเราเริ่มเชี่ยวชาญมากขึ้นเรื่อยๆ จนเรามีในคู่มือจริยธรรมของเรานะ นอกจากในสื่อสิ่งพิมพ์และทีวี เราจะมีจริยธรรมการทวีต ประสบการณ์จากปี 2553 คนของเราก็พลาด เราก็เอามาเบรนสตรอมกันใหม่ พลาดตรงไหน การรีทวีตผิดยังไง เราเขียนจากประสบการณ์จริงๆ เพราะมันไม่มีตำรา
GM : เฟซบุ๊คและทวิตเตอร์มีผลทำให้รูปแบบการต่อสู้ทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไปมากไหม ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา
สุทธิชัย : สำหรับนักการเมืองนี่เยอะมาก เพราะเขาใช้สื่อทั้งสองอย่างนี้ต่อสู้กัน โดยไม่ผ่านสื่อมวลชนแบบเก่าแล้ว สู้กันในสนามที่ตั้งขึ้นมาเองได้เลย สื่อก็จะทำงานยากขึ้น ตรงที่ว่าแต่ก่อนเราสามารถเป็นคนกำหนดว่าใครพูดได้มากน้อยแค่ไหน ฉันสัมภาษณ์คนนั้น ฉันเขียนยาวก็ได้ ฉันสัมภาษณ์คนนี้ ฉันเขียนสั้นก็ได้ เลือกเอาใครเป็นพาดหัวก็ได้ แต่พอมีทวิตเตอร์ เจ้าของเรื่องสามารถพาดหัวได้ด้วยตัวเองแล้ว เมื่อก่อนเราเคยเป็น Gatekeeper สื่อเป็นผู้เฝ้าประตู เป็นผู้อีดิทให้ เป็นผู้คัดเลือก ตัดทอน เรียบเรียง ตัดสินให้ว่าคนอ่านควรอ่านอะไร บทบาทนั้นหายไปหมด บทบาทสื่อเปลี่ยนไป แทนที่จะเป็นเอดิเตอร์ กำหนดว่าคนอ่านควรอ่านอะไร เราต้องกลายเป็นคิวเรเตอร์ ที่ทำให้ทุกอย่างมันอยู่ในสัดส่วนที่ดี ทำให้ทุกอย่างเรียบร้อย ฉะนั้นหน้าที่ของสื่อ ณ ปัจจุบันที่มีโซเชียลมีเดีย ต้องเป็นคิวเรเตอร์มากกว่า คือออกไปตรวจดูว่ามีอะไรเกิดขึ้น แล้วก็ประเมินเอา รวบรวมบ้าง ลิงค์ให้ไปอ่านตรงนั้นตรงนี้บ้าง ทำให้คนได้เห็นภาพรวมว่ามีอะไรอยู่ที่ไหน แล้วหลังจากนั้นให้เขาไปอ่านเอง หน้าวอลล์เฟซบุ๊คของเรา ไทม์ไลน์ทวิตเตอร์ของเรา คืองานนิทรรศการศิลปะที่เราจัดได้เอง คิวเรเตอร์โดยความหมายแล้วคือผู้บริหารมิวเซียม คุณก็เอารูปมาวาง คุณไม่ได้มีหน้าที่บอกคนอื่นว่ารูปนี้ดีนะ ฉันแปะไว้แล้วคุณก็ดูเอง แต่ฉันบอกได้นะว่ามันมีกี่รูป ใครเขียน เขียนเมื่อไร แต่คุณเดินดูเอง ตัดสินเอง
GM : ในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา มีการพูดถึงทวิตเตอร์ ว่าทำให้คนร้อนขึ้น เดือดขึ้น แรงขึ้น
สุทธิชัย : ไม่หรอก ถ้าเราทำตามกติกา ทวีตที่เป็นข่าวเท่านั้น ไม่ทวีตข่าวลือให้คนตีกัน ไม่เข้าข้างคน ทำให้คนรู้ข้อมูลหลายด้านมากขึ้น ควรจะมีเหตุผลมากขึ้น แต่ที่ผ่านมาผมว่าคนในโซเชียลมีเดียร้อนขึ้น เพราะว่านักการเมืองเข้ามาทวีตเอง เสื้อแดงเสื้อเหลืองอัดกันใหญ่ บางทีนักข่าวไปเอามาโควทขยายความ ซึ่งความจริงไม่ผิด เพราะเราได้อ้างอิงแล้วว่าใครพูด พูดที่ไหน คนดูต้องตัดสินเอาเองว่าเห็นด้วยไม่เห็นด้วย ในสังคมโซเชียลมีเดียของไทยยังใหม่ คุณรีทวีตสิ่งนี้ แสดงว่าคุณเห็นด้วยกับสิ่งนี้ใช่ไหม ซึ่งอาจจะไม่ใช่ก็ได้นี่นา ผมว่าต้องใช้เวลา เราต้องรู้ว่าการไปรีทวีต ไม่ได้หมายความว่าเราเห็นด้วย เพียงแค่เราจะบอกว่าข้อความนี้น่าสนใจ
GM : เทียบกับรายการคุยข่าว อย่างรายการ ‘ข่าวข้น คนข่าว’ที่ถูกถอดออกจากช่อง 9 ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าอ่านข่าวไปแสดงความเห็นไป
สุทธิชัย : เป็นเรื่องสำคัญมากระหว่างการเล่าข่าวกับการออกความเห็น บางทีเป็นเส้นบางๆ เท่านั้นเอง แต่เป็นเส้นบางๆ ที่ตัดสินว่าใครเป็นมืออาชีพ บางทีอาจไม่ต้องการอธิบายข่าวให้ละเอียดเลย เอ่ยชื่อพาดหัวเสร็จก็ใส่ความเห็นของตัวเองไปเลยก็มี ทำให้คนดูไม่ได้รู้ว่าเรื่องราวเป็นมาอย่างไร ผิดกับฟอร์แมตการเล่าข่าวที่ผมยึดถือคืออธิบายให้ลึก ว่าเบื้องหลังข่าวเป็นอย่างไร ไม่ใส่ความเห็น เล่าทั้งสองฝ่ายสองข้าง ฝั่งนี้คิดอย่างนี้ อีกฝั่งคิดเห็นอย่างนั้นนะ ผู้ชมฟังจากเราก็จะเอาไปคิดเอง ผู้ชมชอบเพราะแต่ละวัน เขาอาจอ่านหนังสือพิมพ์แค่เพียงฉบับเดียว เราอ่านเยอะกว่า ก็ไปเล่าให้เขาฟัง
บางครั้งอารมณ์ของคนที่อยู่กับข่าวก็ต้องมีบ้าง ผมว่าส่วนใหญ่เขาไม่ตั้งใจจะใส่ความเห็น แต่พอข่าวนั้นกำลังอยู่ในกระแส เขาก็มีหางเสียงออกมาบ้าง ผมต้องเตือนกันว่าต้องระวัง ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับข่าว ไม่จำเป็นที่จะต้องชักนำคนดู แต่เรื่องอย่างนี้คนรุ่นผมจะระวังมากกว่า เพราะเราแคร์คนดูว่าต้องไม่ยัดเยียดความเห็นส่วนตัวให้กับเขา คนรุ่นนี้กลับรู้สึกว่าเขาต้องมีความเห็นบ้างสิ เพราะเป็นสิ่งที่แฟนประจำต้องการ สังคมมันเปลี่ยนไป แฟนประจำก็คาดหวังว่าคุณต้องอย่างนั้นอย่างนี้ คุณไม่ชัดเจนเลย แรงกดดันจากคนดูก็มี ส่วนสำคัญคือเราต้องไม่โดนแฟนคลับดึงไป ไม่เช่นนั้นจะเสียจุดยืน ไม่ทำหน้าที่แบบมืออาชีพ เหมือนเราเป็นคนขับรถแท็กซี่ รถติดไฟแดง ผู้โดยสารบอกซ้าย-ขวาไม่มีรถเลยวิ่งไปสิ ก็ต้องบอกว่า ไม่ได้ครับ เราต้องเคารพกฎจราจร เราต้องยอมรับว่าเขาอาจไม่พอใจเฉพาะช่วงนั้น แต่เขาจะนับถือเรา ทำสื่อบางครั้งคนอาจไม่ชอบ ไม่ใส่สีใส่ไข่ คนดูแล้วไม่มัน เขาอาจไม่ชอบ แต่ยี่ห้อเรา แบรนด์เรา เราต้องทำอย่างนี้
GM : คุณจัดการกับอีโก้ตัวเองอย่างไร ไม่ให้แฟนคลับมามีอิทธิพลเหนือจรรยาบรรณ
สุทธิชัย : เสียงวิจารณ์ของคนที่ไม่เห็นด้วยกับคุณ จะทำให้อีโก้คุณลดลง นี่คือความจำเป็นว่าทำไมเราต้องฟังทั้งสองฝ่าย เดี๋ยวนี้มีโซเชียลมีเดีย คนจะวิจารณ์คุณได้มากขึ้น ทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมากันหมด คนชอบคุณมีจำนวนหนึ่ง ขณะเดียวกันคนที่ไม่ชอบก็มี เหตุผลเขาก็น่าฟังทั้งสองฝ่ายนะ ขึ้นอยู่กับว่าคุณลำเอียงหรือเปล่า คนของเราก็รู้ว่าต้องฟังเสียงคนดูทั้งฝ่ายที่ชอบและไม่ชอบเรา สมัยก่อนต้องรอจดหมายถึงจะรู้ฟีดแบ็คจากคนดู สมัยนี้ง่าย พูดประโยคไม่เข้าหูคนดู แป๊บเดียวขึ้นมาในทวิตเตอร์เลย ช่วยให้สื่อต้องระวังในการนำเสนอมากขึ้น
GM : ถ้าแฟนของเนชั่นกรุ๊ปมองว่าคุณเป็นสีเหลือง คุณคิดอย่างไรกับเสียงสะท้อนแบบนี้
สุทธิชัย : เรายืนยันตลอดเวลา ดูจากพฤติกรรม เราก่อตั้งมา 42 ปี แล้ว พอเกิดเหตุการณ์อะไรก็มักถูกโยงไปว่าอยู่ฝั่งนั้นฝั่งนี้ ถ้าคุณเป็นขวา จะมองเราว่าอยู่ซ้าย ยิ่งเราพยายามอยู่ตรงกลางมากเท่าไร ก็จะยิ่งถูกวิจารณ์จากทั้งสองฝ่ายมากเท่านั้น แบบนี้ถ้าจะให้เซฟ ต้องไปอยู่ข้างใดข้างหนึ่งเลย แต่เราไม่เอาหรอก การดำรงตนให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายว่าเราเป็นมืออาชีพ มันไม่ง่าย ไม่ว่าจะเป็นสีเหลืองสีแดง เราก็ต้องทำหน้าที่รายงานตามมาตรฐานที่ควรจะมี ให้โอกาสทั้งสองฝ่าย ใหม่ๆ สีเหลืองมองว่าเราเป็นพันธมิตรเหมือนเขา ตอนนั้นเราก็ไม่สบายใจ ตอนนี้สีแดงบอกว่าเราเป็นสีเหลือง เราก็ไม่สบายใจ ตอนหลังๆ สีเหลืองด่าเราว่าไม่อยู่กับเขา แบบนี้ไม่เป็นไร แล้วสีแดงก็เคยมาล้อมที่นี่ สมัยก่อนการเมืองน่ากลัวกว่านี้เยอะ ปลดหรือถอดรายการกันเดี๋ยวนั้นเลย ผมเลยชิน ได้บทเรียนว่าต้องสร้างฐานของเราเอง ท้ายที่สุดไปยืมจมูกคนอื่นหายใจไม่ได้ แต่ที่เราไปทำช่อง 9 ช่อง 5 ช่อง 3 เราไม่ได้ไปขอเขานะ เขาต่างหากที่มาขอให้เราไปช่วยทำ เพราะเชื่อว่าจะมีคนดู เป็นรายการที่ดี อยู่ดีๆ เราไปขอเขาไม่ให้ เราไม่ได้แสวงหาที่จะไปทำช่องต่างๆ เขามาเสนอให้เราทำรายการร่วมกัน จะถอดหรือจะอยู่ก็มีความหมายเดียวกัน เพราะคนของเรามีเวทีอยู่ที่นี่อยู่แล้ว กลายเป็นว่าคนดูมากขึ้น พอถูกถอดออกมาจากช่อง 9 เราก็มาปรับรายการให้คึกคักขึ้นในเนชั่นแชนเนล เราเรียกว่าโซเชียลทีวี มีทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ค ทำให้คึกคักมากยิ่งขึ้น ทุกครั้งที่รายการถูกถอดจากฟรีทีวี เรารู้สึกดี เพราะโซเชียลทีวีของเราจะคึกคักขึ้น คุณกลับมา ไม่ต้องไปเสียเวลาทำช่องข้างนอกแล้ว ทำที่นี่ฟูลไทม์เลย
GM : ตอนนี้รัฐบาลก็มีทีวีของตัวเอง ฝ่ายค้านก็มีทีวีของตัวเอง เขามีช่องทางของตัวเองหมด แล้วสื่อมวลชนทำอะไร
สุทธิชัย : สมัยก่อนก็เหมือนกัน รัฐบาลมีหนังสือพิมพ์ของเขาเองนะ สมัยก่อนโน้น คุณสมัคร สุนทรเวช จำได้ไหม มีหนังสือพิมพ์เจ้าพระยา หรืออะไรสักอย่าง รัฐบาลออกเอง รัฐมนตรีเขียนคอลัมน์เลย เขาบอกว่ารัฐบาลออกหนังสือพิมพ์เองดีกว่า ต่อไปนี้ หนังสือพิมพ์ของเอกชนเจ๊งแน่ เพราะข่าวเอ็กซ์คลูซีฟทั้งหลายจะมาลงของเขา เพราะเขารู้เอง ประชุม ครม. เอง ไม่ให้ข่าวเอกชน สุดท้ายก็อยู่ไม่ได้ เพราะเป็นสื่อที่ไม่ใช่สื่อ มีคนเอามาล้อเลียน ว่าขนออกไปวางด้วยรถตุ๊กตุ๊ก แต่ตอนขนกลับต้องใช้รถสิบล้อ ไม่มีที่ไหนหรอกครับที่สื่อที่รัฐทำแล้วมีความน่าเชื่อถือ สังคมก็ตัดสินเอง อย่าลืมว่าสื่อที่เจ้าของเป็นรัฐบาล จะไม่เรียกว่าสื่อสาธารณะ ไม่เรียกแมสคอมมูนิเคชั่น แต่เรียก พร็อพพาแกนดา มันคือโฆษณาชวนเชื่อ
เช่นเดียวกัน ช่องแดง-ช่องฟ้า ทุกคนก็รู้ว่านี่เป็นช่องของเขา ไม่ต่างจากช่องของป้าเช็ง คุณอาจเปิดดูเพราะมันขำดีนะ แต่ดูๆ ไปแล้วคุณก็รู้ว่ามันเชื่อถือได้แค่ไหน ที่สุดแล้วก็ต้องมาดูช่องปกติอยู่ดี ที่วิพากษ์วิจารณ์ในฐานะสื่อมวลชน เป็นอาชีพที่ถูกต้อง รักษาจริยธรรม อยู่ได้นาน อาจจะเหนื่อยหน่อย โดนแรงกดดันมากหน่อย แต่จะยั่งยืน เราทำมา 40 กว่าปี รัฐบาลเปลี่ยนไปเท่าไร เราก็อยู่ได้ สมัยก่อนมีแต่คนอื่นบอกว่าตายแน่ๆ เขายกเลิกคุณเมื่อไรก็ได้ นั่นเราเสี่ยงกว่าปัจจุบันเยอะ ตอนนี้ยิ่งเหนื่อยมากขึ้น เพราะไม่ได้มีช่องทางหากินง่ายๆ เหมือนช่องป้าเช็งที่มีคนดูเป็นล้านๆ ของคุณอาจจะมีคนดูแค่หลักแสน ทำอย่างไรล่ะ ให้แสนคนเหล่านี้อยู่กับคุณให้ได้ตลอดไป
GM : อย่างช่องกรุงเทพธุรกิจทีวีที่เพิ่งเปิดตัวมา มันจะแตกต่างจากช่องที่เนชั่นมีอยู่อย่างไร มีความจำเป็นมากแค่ไหนที่ต้องขยายทีวีเพิ่มขึ้นมาอีก
สุทธิชัย : กรุงเทพธุรกิจตั้งมา 25 ปี เป็นหนังสือพิมพ์แนวธุรกิจที่ถือว่าประสบความสำเร็จค่อนข้างดี เรามองเห็นว่าในอนาคตบรอดคาสติ้ง นิวมีเดียจะมีความสำคัญเพิ่มขึ้น ดังนั้นเนื้อหาจากทีมข่าวของเรา น่าจะออกไปสู่สื่อโทรทัศน์และสื่อดิจิตอลทั้งหลาย จึงปรับโครงสร้างให้การทำงานที่เป็นสิ่งพิมพ์สามารถป้อนข้อมูลและวิธีการนำเสนอเข้าไปในทีวีได้ด้วย คล้ายกับเรามีกรุงเทพธุรกิจเป็นไฟแนนเชียล ไทมส์, วอลล์สตรีทเจอร์นัล ที่กระโดดไปสู่บรอดคาสติ้งแบบซีเอ็นบีซี หรือบลูมเบิร์กทีวี เรามองเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว แต่ปีนี้จังหวะดี เพราะดาวเทียมขึ้นง่ายขึ้น คนดูสามารถเข้าถึงดิจิตอลมีเดีย โซเชียลมีเดียได้ง่ายขึ้น เช่น เข้ายูทูบก็ดูคลิปจากกรุงเทพธุรกิจทีวีได้
GM : ในแง่ธุรกิจ เจ้าของสินค้ายังมีงบมากพอที่จะโฆษณาในทีวีซึ่งตอนนี้มีมากมายหลายช่องอยู่เหรอ
สุทธิชัย : ถ้าทีวีมีคุณภาพ โฆษณาก็จะมาหาเอง อาจเห็นว่าตอนนี้ดาวเทียมมีออกมามากมาย แต่สุดท้ายจะเหลือรอดแค่ไม่กี่ช่อง ซึ่งเป็นช่องที่คนต้องการดูจริงๆ มีมากเพราะตอนนี้การทำทีวีดาวเทียมมันง่าย และถูก คุณอาจจะคิดว่ามันเฝือมาก แต่ไม่เฝือด้านคุณภาพ ใครมีสตางค์ก็เปิดช่องของตัวเองได้แล้ว แต่คนดูเยอะไหม นั่นอีกเรื่องหนึ่ง ต้องขึ้นกับความเป็นมืออาชีพด้วย
GM : คนสร้างคอนเทนต์ในเมืองไทยมีมากพอที่จะป้อนข้อมูลที่เป็นคอนเทนต์เข้าไปในสื่อต่างๆ ที่มากขึ้นเรื่อยๆ ไหม
สุทธิชัย : เราสร้างคนเหล่านี้มาตลอด เริ่มสร้างจากพื้นฐานสิ่งพิมพ์ เราให้คนเหล่านั้นฝึกมัลติมีเดียก็สามารถทำได้ทั้งสิ่งพิมพ์ ทีวี วิทยุ ไม่มีปัญหา เพราะเราอยู่กับมันมาตลอด ไม่ใช่ว่ามาจากไหนก็ไม่รู้ อยู่ดีๆ ก็ตั้งช่องทีวีของตัวเองขึ้นมา อันนี้จะยากหน่อย
GM : เวลาคุณดูรายการคุยข่าวหรือรายการสัมภาษณ์ เห็นพิธีกรรุ่นใหม่แล้วรู้สึกขัดใจไหม
สุทธิชัย : มีบ้าง มันไม่ได้อย่างใจ แต่ที่เป็นเช่นนี้เพราะมีแนวโน้มว่าเขาไม่อยากซักไซ้ไล่เลียงมากเกินไป ด้วยวัฒนธรรมแบบไทยๆ จึงเกรงใจ กลัวว่าคนที่ถูกซักจะไม่พอใจ หรือบางครั้งอาจไม่ทำการบ้านมามากพอ เพราะถ้าทำการบ้านมาพอ ถามไปเขาตอบมามันไม่หยุดแค่นั้นไง อย่างเตรียมคำถามมา 10-20 คำถาม พอเขาตอบมาก็ถามคำถามต่อไปเลย ไม่ได้ฟังคำตอบ นี่เป็นวิธีการทำทีวีที่ไม่มีคุณภาพ เพราะจริงๆ จะไม่ได้แค่อ่านคำถามเรียงตามลำดับที่ตัวเองต้องการ จะต้องฟังคำตอบก่อน แล้วต้องตามคำตอบของเขา ทำไมตอบไปอีกอย่างล่ะ เบี้ยวไปทางซ้ายเราก็ต้องตบกลับมาด้านขวา คนดู
คาดหวังนะ ช่วงหลังๆ มีน้อยที่ทำอย่างนี้ ซึ่งน่าผิดหวัง อาจเป็นเพราะฝึกมาน้อย หรือนโยบายสถานีบางช่องไม่อยากให้มีการซักถามมาก
เกินไปจนกระทั่งคนที่เป็นนักการเมือง ผู้มีอิทธิพล มีบารมีต่อสถานีไม่พอใจ แต่ถ้าเป็นเนชั่นแชนเนลหรือช่องต่างๆ ของเรา พิธีกรจะถูกสอนให้ต้องถาม การเป็นนักการเมืองยุคนี้จะสบายขึ้นกว่าแต่ก่อน เมื่อสื่อซักถามน้อยลง หรือเลือกไปออกช่องที่ป้อนคำถามเอาใจ รู้ว่าเป็นพวกเดียวกัน แต่ก็มีฟรีทีวีที่ไม่ประกาศตัวว่าเข้าข้างฝ่ายไหน ซึ่งยังคงทำหน้าที่นี้อยู่ เพราะคนดูคาดหวัง คนดูช่องสีก็คาดหวังอย่างหนึ่ง คนดูช่องฟรีทีวีที่ประกาศตัวว่าเป็นมืออาชีพก็ต้องคาดหวังสูงกว่าปกติ
GM : ช่วงก่อนหน้านี้ ตอนมีผู้ถือหุ้นเป็นคนในครอบครัวนักการเมือง คุณบริหารอย่างไรให้ในเนชั่นกรุ๊ปยังสามารถเสนอข่าว ซึ่งสมัยนั้นตรงข้ามกับอีกฝั่ง
สุทธิชัย : ตลอดชีวิตของการทำสื่อ ผมทำเหมือนกัน ต้องรักษามาตรฐานของความเป็นสื่อ ไม่มีใครมาสั่งเราได้ ไม่ว่าคุณจะถือหุ้นมากหรือน้อย หรือไม่ต้องถือหุ้นเลย ถ้าคุณอยู่ในอำนาจ คุณหาเรื่องสั่งปิดเราได้ทั้งนั้นแหละ สมัยก่อนสั่งปิดเราได้เลย หรือยกเราออกจากรายการทีวีก็ได้ ยกออกจากวิทยุก็ได้ อิทธิพลไม่ได้มาจากเฉพาะจากผู้ถือหุ้น มันมาทุกด้าน แล้วทำยังไงล่ะ เราก็ดำรงตนว่าเราทำหน้าที่ของเรา สมัยก่อนที่ทหารเป็นใหญ่มาก ใหญ่กว่านักการเมืองอีก และที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นคือตำรวจ สมัยก่อนก็สั่งปิดหนังสือพิมพ์ได้เลย แต่คนเหล่านี้ไม่สามารถมาบอกเราว่า เรื่องนี้ขอนะ เรื่องนี้อย่าลงนะ หรือเชียร์กันหน่อยสิ เพราะนโยบายเราชัดเจนตั้งแต่บรรณาธิการไปจนถึงนักข่าวทุกคน ก็คือไม่มี แม้กระทั่งผมเองก็ไม่เคยไปสั่งนักข่าวหรือ
คนเขียนบทความว่าแนวของหนังสือต้องเอียงไปทางนั้นทางนี้ ลองถามนักข่าวได้เลยว่า ผมเคยไปสั่งพวกเขาไหม ถ้าผมสั่งไม่ได้ คนอื่นก็สั่ง
ไม่ได้เหมือนกัน ผมเลยไม่ไปกินข้าวกับนักการเมืองตัวต่อตัว เพราะไม่อยากให้นักข่าวของเราลำบากใจ สมมุติมีนักการเมืองชวนผมไปกินข้าว พอนักข่าวไปสัมภาษณ์นักการเมืองคนนี้ เขาอ้างได้แล้ว เฮ้ย! ผมเพิ่งไปกินข้าวกับเจ้านายคุณมานะ นักข่าวก็จะลำบากใจ
GM : อย่างในงานเลี้ยง 42 ปีเนชั่น บนโต๊ะของคุณต้องกำหนดที่นั่งของนักการเมืองแต่ละคนไว้เลยใช่ไหม
สุทธิชัย : (หัวเราะ) ใช่ๆ ต้องกำหนดเลย ฝั่งนี้ใครนั่งกับใคร ไม่อย่างนั้นถ้าฝ่ายไหนมาถึงก่อน ก็จะมานั่งติดๆ กันจนเต็ม ถ่ายรูปออกมาคนก็สงสัยแล้วว่า เนชั่นมันเป็นพวกนี้แน่ๆ วงการนี้มันเป็นแบบนี้ ไม่ว่าจะเขียนข่าว คบหาคน ก็ต้องรักษาระยะห่าง เป็นคำศักดิ์สิทธิ์มากสำหรับพวกเรา ต้อง Keep Proper Distance กับแหล่งข่าว กับกลุ่มผลประโยชน์ให้เหมาะสม ไม่ใกล้เกินไปและไม่ห่างเกินไป ไม่ได้บอกว่าเป็นกลางแล้วไม่ไปหาใคร ไม่คบใครเลย
GM : การเป็นคนทำงานข่าว แล้วต้องมาเป็นผู้บริหาร มีความขัดแย้งกันบ้างไหม ระหว่างผลประโยชน์กับจรรยาบรรณ
สุทธิชัย : ไม่เลย เราพูดกันตลอดว่า Good journalism is good business ถ้าคุณทำงานสื่อให้ดี มีคุณภาพดี จริยธรรมต้องดีด้วย มีจุดยืนของตัวเองชัดเจน มันก็จะเป็น Good Business เอง แต่ถ้าคุณคิดแต่จะ Business ก่อน Journalism มาทีหลัง แบบนี้คุณอยู่ไม่ได้ หลักของเนชั่นเป็นอย่างนี้มาตลอดอยู่แล้ว ว่าต้องไม่ไปก้าวก่ายสิทธิเสรีภาพของฝ่ายกอง บ.ก. ให้เขาทำอย่างเต็มที่ แล้วผลประโยชน์ทางธุรกิจก็จะมา แต่ถ้าคุณกลับหัวกลับหาง ต้องเอากำไรก่อน แล้วกำไรมาจากไหนล่ะ คุณก็ต้องไปรีดไถเขา ไปขอเขา ทั้งที่คุณภาพคุณยังไม่มีเลย สุดท้ายก็ต้องไปพึ่งนักการเมือง นักธุรกิจ แปลว่าคุณให้เรื่องผลประโยชน์ธุรกิจ มาเหนือความศักดิ์สิทธิ์ของการทำเนื้อหา คุณจะอยู่ไม่ได้อย่างยั่งยืน เนชั่นทำมา 42 ปี เน้นคอนเทนต์ ถ้าคอนเทนต์ไม่ดีเราอยู่ไม่ได้มาถึงวันนี้ เพียวๆ สดๆ แต่ทุกวันต้องมีคนอ่านหนังสือพิมพ์ของคุณนะ คนที่มาทำงานต้องพิสูจน์ด้วยงานสื่อจริงๆ เท่านั้น
GM : อาจจะเพราะบริษัทของคุณมีความเก่าแก่ คุณจึงพูดแบบนี้ได้ แต่ถ้าเป็นสื่อหัวใหม่ ในทุกวันนี้ถ้าจะเริ่มต้น อดทนทำคอนเทนต์ที่ดี If you build it, he will come. จริงหรือ
สุทธิชัย : ยังมีอยู่ มันอยู่ที่เนื้อหาของคุณ ถ้าคุณสามารถทำสื่อที่แปลกแหวกแนว คนก็ต้องการ แต่คุณต้องคิดอะไรที่มันดึงดูดคนได้จริงๆ จะเอาตลาดวัยไหน อายุเท่าไหร่ วัยรุ่นต้องมองอีกอย่าง คนทำงานก็อีกอย่าง คนวัย 50 ก็ชอบอีกอย่าง แต่ละช่วงวัยมีความต้องการที่ต่างกันไป ยุคหนึ่งบอกว่า คนวัย 50 ขึ้น ไม่มีอำนาจซื้อ ไม่สนใจตลาด แต่เดี๋ยวนี้กลับกันแล้วนะ คน 50-60-70 ขึ้นไป สุขภาพดีขึ้น ซื้อของมากขึ้น อายุยืนขึ้น คนอายุ 50 ขึ้นไปเข้าเฟซบุ๊คมากกว่าวัยรุ่นอีกนะ เริ่มมีบทวิเคราะห์ใหม่ เราอยู่ในวงการต้องสนใจตลอดเวลา พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปหรือเปล่า
GM : สังคมไทยเราจะเป็นสังคมผู้สูงอายุแล้ว
สุทธิชัย : อันนี้จริงเลย รุ่นผมเป็นตัวอย่างเลย เมื่อก่อนบอกคนเหล่านี้ไม่ซื้อของแล้ว ไม่อ่าน ไม่เสพอะไร ไม่เล่นอินเตอร์เน็ตหรอก แต่ไม่จริงนะ คนวัยนี้เดี๋ยวนี้เริ่มมีเวลาว่างมากขึ้น ใช้เงินใช้ทองมากขึ้น กินไวน์ อ่านหนังสือ เล่นอินเตอร์เน็ต คนเหล่านี้ช่วยร้านหนังสือไว้ให้คุณนะ อีกตัวอย่างคือเราประชุมกันในกองบรรณาธิการ บางคนบอกว่าหมดสมัยการเขียนอะไรยาวๆ ต้องหันมาเขียนอะไรที่สั้นกระชับ ผมบอกไม่ใช่ๆ หัวข้อนี้เราเถียงกันประจำ ผมว่า Long-form Journalism ยังอยู่ได้ แต่ก่อนเราคิดว่าอะไรที่ยาวๆ คนคงไม่อ่านแล้วมั้ง อย่างพวกอีบุ๊ค หรืออีแมกกาซีน คนไม่อ่านหรอก มันยาว แต่ถ้าลองติดตามแนวโน้มในอเมริกาหรือยุโรป พบว่าอีบุ๊คขายดีกว่าฮาร์ดคัฟเวอร์ ใครซื้อล่ะ? ปรากฏว่าคนอายุมากซื้อ เพราะมีเวลามากขึ้น ไปไหนก็พกคินเดิลไว้อ่าน แต่ก่อนอ่านหนังสือเป็นเล่มๆ หนา พกไม่สะดวก อ่านตอนรอหมอฟัน ยืนรอคิวธนาคารก็อ่าน นั่งหน้าทีวีตอนโฆษณาก็อ่าน เดี๋ยวนี้ผมอ่านมากกว่าแต่ก่อนอีก Long-form Journalism จึงไม่หายไปนะ ผมคิดว่าอีก 5-10 ปี หนังสือพิมพ์อาจจะหายไป แต่ Long-form Journalism จะยังอยู่ มันอยู่ในรูปของคินเดิล อีบุ๊ค อีแมกกาซีน ในแอพฯ เพราะคนมีไอแพด มีแท็บเล็ตจะเปิดอ่าน เขาอ่านนะ ไม่ใช่ไม่อ่าน ไม่ใช่อ่านเฉพาะทวิตเตอร์
สั้นๆ เท่านั้นด้วย เบบี้บูมเมอร์อย่างพวกผมจะอยู่นาน ไม่ต้องห่วง
GM : อย่าง GM ตอนนี้มีแอพฯ อยู่บนไอแพด ก็มีประเด็นถกเถียงกันอยู่ ว่าเราต้องเขียนให้สั้นลงหรือเปล่า เพื่อจะเลย์ได้สวย มีลูกเล่นอะไรเยอะๆ
สุทธิชัย : ที่นี่เราไม่ยอมให้เทคโนโลยิสต์ พวกคนเขียนโปรแกรมจะมาบีบบังคับเราให้เขียนสั้นๆ แบบนี้ไม่ได้ คุณลองเข้าไปไอแพด แล้ว Subscribe นิตยสาร The New Yorker ในนั้นเป็นเรื่องยาวๆ หมดเลย เขียนละเอียด เขียนสนุก แต่ยาว เขาประสบความสำเร็จมาก เป็นแอพฯ หน้าตาเลย์เอาต์เหมือนในตัวเล่มแมกกาซีนนั่นแหละ กาตงการ์ตูนมีเหมือนกันหมด ผมก็ซื้อแอพฯ นี้ทั้งปีเลย วันจันทร์ดาวน์โหลดได้เลย รอประมาณ 3 นาที เมื่อก่อนผมเคยซื้อเป็นเล่ม แต่นานๆ ทีซื้อนะ เล่มละ 200 กว่าบาท ปรากฏว่าพอทำเป็นแอพฯ ผมได้อ่านของเขามากกว่าที่เป็นแมกกาซีนด้วยซ้ำ พอมีเวลาว่างก็หยิบขึ้นมาอ่าน เปิดค้างไว้ตรงไหน มันก็อยู่ที่นั่นอย่างนั้น วันนี้คุณกลับออฟฟิศไป คุณต้องไปบอกกับโปรแกรมเมอร์ของคุณ มันไม่เสมอไปหรอก ที่คนอ่านจะชอบที่มีรูปเยอะๆ เนื้อน้อยๆ
GM : ภาษาเขียนขนาดยาวมันน่าอ่านตรงไหน
สุทธิชัย : ความสละสลวย ความสวยงามของภาษา ผมเคยคุยกับพวกอาจารย์มหาวิทยาลัย เขาบอกว่าเด็กสมัยนี้เขียนอะไรสั้นๆ แบบทวิตเตอร์ เพราะเขียนอะไรยาวๆ ไม่เป็นเลย ผมบอกเขาไปว่าที่ฮาร์วาร์ดมีวิชาบังคับคือ Writing เด็กไฮสคูลจบออกมาก็มีปัญหาเรื่องการเขียนไม่เป็นเหมือนกัน เขียนเรียงความกันไม่เป็น พอเข้าฮาร์วาร์ดปีแรก วิชาบังคับทุกคนต้องเรียนคือการเขียน กลับไปสู่เบสิก เขียนเรียงความเลยนะ ผมบอกว่าของเด็กเราก็ต้องบังคับเหมือนกัน วันนั้นมีบรรณาธิการเซกชั่นวรรณกรรมของกรุงเทพธุรกิจ คุณนิรันดร์ศักดิ์ บุญจันทร์ บอกอย่างนี้ เราเชิญนักเขียนดังๆ นักเขียนซีไรต์มาสอนเด็กนักศึกษาของเราดีกว่า มาสอนเรื่องความสุขจากการอ่านอะไรยาวๆ ละเมียดละไม สละสลวยเป็นอย่างไร อารมณ์สุนทรีย์ของภาษาเป็นอย่างไร ผมบอกเอาเลย
GM : โดยส่วนตัว คุณเขียนอะไรยาวขึ้นไหม
สุทธิชัย : เดี๋ยวนี้คอลัมน์ ‘กาแฟดำ’ ของผมยาวขึ้นไปอีกนะ ผมอึดอัดที่ต้องเขียนในทวิตเตอร์สั้นๆ ถือว่าทวิตเตอร์เราใช้สำหรับตะโกนเรียกแขกบ้าง หรือว่าทำหน้าที่เป็นเบรกกิ้งนิวส์ หรือจะเรียกว่าเป็นคิวเรเตอร์ คือเป็นผู้รวบรวมอะไรดีๆ แล้วก็เผยแพร่ออกไปให้คนได้รับรู้ คนที่ตามเราก็ได้รู้ว่าลำดับเรื่องเป็นอย่างไร แต่ว่าพื้นที่ในบล็อกหรือในคอลัมน์หนังสือพิมพ์ คือพื้นที่ที่เราบรรยายความรู้สึกได้จริงๆ ให้เหตุให้ผลได้จริงๆ ผมเขียนหนังสือมาสี่สิบกว่าปี ผมว่ามันไม่มีทางอื่นนอกจากการเขียนยาว ที่จะสะท้อนถึงความรู้สึกเราได้ อย่างอื่นเป็นเพียงน้ำจิ้มที่เราไปกระตุ้น ไปเรียกให้คนหันมาสนใจเท่านั้นเอง ทวิตเตอร์ 140 ตัวอักษรมันได้แค่ข่าวด่วน มันไม่ได้อารมณ์ ไม่ได้เนื้อหา ถึงบอกเลยว่าเราต้องเอาคอนเทนต์มาก่อน เราต้องรักษาสไตล์การเขียนแบบนี้
เรื่องพวกนี้เราต้องถกเถียงกันเยอะๆ ต้องดีเบตกัน หนังสือพิมพ์รายวันก็ต้องเถียงกับรายสัปดาห์ให้ได้ ผมถึงเริ่มต้นทำ Convergent Newsroom กำลังจะสมบูรณ์ในปีนี้ เราเรียกว่าเป็นโต๊ะ บ.ก. หลอมรวม คือบรรณาธิการจากทุกสื่อของเรามาหมด มานั่งอยู่ตรงโต๊ะกลาง ขุนพลข่าวของเรามาอยู่รวมกันหมด เดอะเนชั่น กรุงเทพธุรกิจ คมชัดลึก ทีวีทุกช่อง มาอยู่ด้วย นั่งทำงานร่วมกัน พอมีข่าวใหม่ไหลเข้ามาปั๊บ จะผ่านการกลั่นกรอง การครีเอท คิดวางแนวทางโดยทีมบรรณาธิการ ให้พวกเขาถกเถียงกัน กดดันด้วย
GM : อยากให้คุณอธิบายเรื่อง Convergent Newsroom
สุทธิชัย : เราตกลงกันว่าข่าวทั้งหมดไหลมาที่นี่ที่เดียว แล้วครีเอทร่วมกัน เช่นวันนี้หน้า 1 คมชัดลึกจะพาดหัวอย่างไร เอาขึ้นจอเลย จากนั้นบรรณาธิการทุกคนจะนั่งแล้ววิจารณ์ แต่ละเล่ม แต่ละสื่อ เขามีคนอ่านของเขาก็ต้องไปแบบนั้น เรารวบรวมขุนพลจากแต่ละเล่ม แต่ละคนอยู่มา 20 กว่าปีทั้งนั้น เมื่อก่อนเขาแยกกัน แต่เราต้องการรวมพลังเข้ามา ประสบการณ์เยอะแยะ พอมีเรื่องระเบิดที่ภาคใต้ ปฏิกิริยาแรกสุดคือตามกันว่าขึ้นเฟซบุ๊คหรือยัง ขึ้นทวิตเตอร์หรือยัง ต่อมาก็จะมีคนที่เคยทำข่าวภาคใต้มาก่อนจะบอกว่ามันเคยเกิดขึ้นแล้วนะ 2-3 ปีก่อน โรงแรมซีเอสนี่แหละ ไปค้นมา นักข่าวต่างจังหวัดมาหรือยัง เอาขึ้นจอจะอยู่ตรงนั้นเป็นการรวมพลังกันให้เนื้อหาแน่นมาก
ผมเปรียบเทียบให้พวกเราฟังอยู่ตลอดเวลา ว่านักข่าวก็เหมือนกับคุณออกไปซื้อกับข้าวตอนเช้าซื้อผัก ปลา หมู ซึ่งสดที่สุดมาจากตลาด จากนั้นส่งเข้ามาปรุงที่โต๊ะกลางของเรา พ่อครัวแต่ละคนจะเอาวัตถุดิบจากตรงกลางนี้มาปรุง ปลาแซลมอนมีไหม วัตถุดิบแพงหรือถูกมีหมด กรุงเทพธุรกิจจะเอาไปปรุงอย่างไร ส่วนถ้าเป็นคมชัดลึกเขาแมสหน่อย อาหารที่คุณปรุงต้องเผ็ดหน่อยนะ ครัวกลางมีทุกอย่างให้หมด แต่การผลิตออกไปแต่ละสื่อ ลูกค้าของเขาไม่เหมือนกัน ระบบนี้พอข่าวเข้ามา มันเดินเครื่องเลย ข่าวเข้ามา 6 โมงเย็นก็รู้ได้ทันที ไม่ใช่รอเอาเข้าห้องประชุมอีกวันหนึ่ง มันจะช้า โต๊ะข่าวรวมจะเป็น Collective Intelligence 40 กว่าปีของเรา มันมีคนที่เก่งหลายด้าน มีเยอะด้วย บางทีเราไม่รู้เพราะเขานั่งอยู่มุมไหนก็ไม่รู้ มารู้ทีหลังว่าเชี่ยวชาญเรื่องนี้มาก แต่ตอนนี้เราดึงมาไว้ตรงนี้หมดแล้ว เกิดข่าวอะไรขึ้นมา อย่างเบียร์ช้างไปชนกับไฮเนเก้นที่สิงคโปร์ ก็มีคนรู้เรื่องนี้ มีห้องนี้ทุกสื่อก็รู้พร้อมๆ กันหมด
GM : แนวโน้มในตอนนี้ คอนเทนต์จะถูกนำไปใช้ในสื่อที่แตกแขนงออกไปเรื่อยๆ คุณตอบแทนผู้สร้างคอนเทนต์อย่างไรให้เป็นธรรม
สุทธิชัย : ถ้าสื่อใหม่ทำเงินได้เมื่อไร คุณก็มีสิทธิ์ได้เงิน หลักการก็ง่ายๆ เนื้อหาที่นักข่าวแต่ละคนผลิตขึ้น ถ้าเอาไปใช้ทำอะไรที่มันได้เงิน เขาก็ต้องได้รับส่วนแบ่ง ต่อไปนักข่าวจะไม่ไส้แห้ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะร่ำรวย องค์กรก็ต้องให้ความมั่นใจว่ามีผลตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อ พวกบรรณาธิการมักถามผม ว่าทำงานมากขึ้น เงินจะได้มากขึ้นไหม? ผมก็ตอบไป ช่วงแรกๆ เราไม่รู้ว่าจะเป็นยังไง ก็บอกว่าช่วยๆ กันก่อน แต่อย่างกรณีให้ทวีตกัน หรือให้ช่างภาพนิ่งหัดถ่ายวิดีโอด้วย ตอนเริ่มต้นเราไม่มีเงินเพิ่มให้นะ เพราะตอนนั้นเรายังไม่มีรายได้ แต่ที่ขอร้องให้ทำ เพราะจะเป็นการเพิ่มพูนทักษะส่วนตัวของพวกคุณเอง แล้ววันหนึ่งมันจะเป็นประโยชน์กับตัวคุณเอง ผมบอกพวกเขาว่าเราจะขี่คลื่น เราจะไม่อยู่ใต้คลื่น เวลาคลื่นไปทางไหน เราไม่กลัว เพราะอยู่เหนือคลื่น แต่เราไม่เพิ่มพูนทักษะอะไรเพิ่มเลย เราจะอยู่ใต้คลื่น เมื่อคลื่นขยับนิดหน่อย เราก็จมแล้ว ผมยังพูดเล่นๆ ว่า ผมต้องคิดตังค์พวกคุณด้วยซ้ำ ที่ให้คนมาสอนถ่ายวิดีโอยังไง ตัดต่อยังไง 2-3 ปีแรกไม่ทำทั้งหมดหรอก แต่ตอนนี้ทำทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว เพราะพอถึงจุดหนึ่ง คนของเราก็เห็นคุณค่า พอเอาขึ้นเว็บไซต์ พอมีรายได้ของเว็บไซต์ เราก็เบิกค่าแรงให้ ที่ผ่านมา มันไม่ใช่ว่าพอผมสั่ง ทุกคนต้องทำตามโดยไม่มีเงื่อนไข ไม่สามารถโต้แย้งได้ ผมไม่ใช่นายทุน ผมก็เป็นนักข่าวคนหนึ่งเหมือนกัน อีกไม่กี่ปีก็จะ 70 แล้ว อยู่นี่อีกไม่กี่ปีก็จะไปแล้ว คุณไม่ต้องกลัวผมหรอก ที่ผมให้ทำนี่คือผมขอร้องคุณนะ และผมคิดว่ามันดีต่ออนาคตของพวกคุณ ซึ่งพวกคุณจะต้องอยู่กันไปอีกนาน
GM : Convergent Newsroom และการบริหารความเปลี่ยน แปลงทางเทคโนโลยีต่างๆ คือแผนงานเตรียมเกษียณของคุณใช่ไหม
สุทธิชัย : (หัวเราะ) เกษียณก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ที่เตรียมทำอย่างนี้ เพราะผมจะได้มีเวลาไปทำอย่างอื่นที่ผมชอบมากกว่าการบริหารวันต่อวัน ถามว่าชอบไหม ก็ตอบว่าไม่ได้ชอบเป็นพิเศษ ถามว่าต้องทำไหม ตอบว่าต้องทำ แต่ถ้าต่อไปโครงสร้างมันเดินได้ด้วยตัวมันเอง แล้วจากนั้นผมก็อยากเขียนหนังสือของผม เดินทางไปทำสารคดีสัก 3 เดือน นี่คือสิ่งสุดยอดที่หวังไว้ว่าวันหนึ่งจะได้ทำ
GM : ตอนนี้ที่คุณต้องเข้ามาบริหาร รับหน้าที่ต่อจากคุณธนาชัย ธีรพัฒนวงศ์ เรื่องอะไรยากสุด เรื่องข่าวหรือเรื่องธุรกิจ
สุทธิชัย : เรื่องการบริหารความเปลี่ยนแปลง ในช่วงเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีสื่อ สำหรับผมเทคโนโลยีสนุก แต่คนอื่นอาจกดดัน เราคุยกันบ่อยว่าจะปรับอย่างไร 4-5 ปีที่ผ่านมาปรับเยอะ เทคโนโลยีปรับอย่างไรเราก็ต้องปรับตาม มันเปลี่ยนทุก 6 เดือน จะเห็นว่า 3 ปีก่อน บีบียังเฟื่องอยู่เลย ตอนนี้บีบีหาย เริ่มมาเป็นไอโฟนละ เมื่อ 3 ปีก่อน คนที่เล่นบีบีอาจไม่เชื่อว่ามันจะหายไป พอ สตีฟ จ็อบส์ ตายไปแล้ว มันเหมือนไม่มีอะไรประกันได้เลยว่า ไอโฟน ไอแพด จะอยู่แบบนี้ต่อไป ซัมซุงจะมาชนะแอปเปิ้ลแล้ว เราก็มารอดูต่อไปว่าซัมซุงจะทำอย่างไรอีก เหมือนกับบริหารสื่อเลย เราต้องปรับตลอดเวลา
GM : หลังจากคุณเกษียณแล้ว ใครจะเป็น ทิม คุก ของเนชั่นกรุ๊ป
สุทธิชัย : ก็มีหลายคน คุณอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ คุณดวงกมล โชตะนา คุณพนา จันทรวิโรจน์ คุณต่อบุญ พ่วงมหา เป็นทีมใหญ่มาก ทุกอาทิตย์ที่ผมกินข้าวด้วยก็จะมี 20 คนได้ ทุกวันอังคารจะประชุมกับ Executive Committee ทุกวันพุธผมจะกินข้าวกับ Editorial Board ส่วนฝ่ายขายและฝ่ายการตลาด ผมจะกินข้าวด้วยเดือนละครั้ง จะเจอหมดทุกคน ทิม คุก ของเราจะมีเยอะแยะมาก ที่ผมยังยุ่งกับพวกเขาในทุกวันนี้ก็เพราะอยากช่วยพวกเขาให้หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ให้ฝ่ายอื่นกับฝ่ายข่าวเดินไปในทิศทางเดียวกันได้ จากนี้ไประดับกรรมการบริหารจะถือหุ้นมากขึ้น มีหุ้นของบริษัทมากขึ้น จะรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด ผู้ถือหุ้นจากภายนอกก็เป็นรายย่อย จะไม่มีใครมาเทกโอเวอร์ได้ เพราะมืออาชีพมาเป็นเจ้าของร่วมกัน ตอนนี้ผมกับ
คุณเสริมสิน ถือหุ้นเป็นส่วนใหญ่ แล้วก็ทยอยกระจายให้ผู้บริหาร เป็นข้อตกลงของผม คุณเสริมสิน และกรรมการบริหารว่า จะค่อยๆ โอนถ่ายหุ้นไปให้เขา ถึงจุดหนึ่งเขาก็คือเจ้าของ
GM : คุณเสริมสินจะเป็นนักลงทุนอย่างเดียวใช่ไหม
สุทธิชัย : มีตำแหน่งเป็นรองประธาน ไม่มายุ่งกับเรื่องข่าวเลย เป็นความเข้าใจร่วมกันตั้งแต่ต้นก่อนที่เขาจะมา
GM : คุณเสริมสินเคยมีข่าวเกี่ยวกับการปั่นหุ้น คนเนชั่นคิดกันอย่างไร
สุทธิชัย : มีเยอะ เขามาซื้อหุ้นจากคุณสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งตอนคุณสมพรถือหุ้น ก็มีปัญหาอีกอย่างหนึ่ง ตอนนั้นคุณสมพรถือหุ้นเยอะนะ 20-30 เปอร์เซ็นต์เลย กองบรรณาธิการก็ถามแล้วว่าจะได้เหรอ ถ้ามาปั๊บ แล้วยึดเนี่ย กองบรรณาธิการจะทำงานได้อย่างไร ผมว่าไม่เป็นไร ผมไปคุยกับคุณสมพรเองว่าถือหุ้นได้ มาลงทุนได้นะ แต่ความอิสรเสรีของสื่อสำคัญมาก ถ้าคุณเข้ามายุ่งเมื่อไร หุ้นคุณจะตกทันที แกก็เข้าใจ แล้วก็ไม่ได้เข้ามายุ่ง พอตอนนี้คุณสมพรประกาศขายหุ้น คุณเสริมสินได้ข่าวก็รวบรวมพรรคพวกจะมาซื้อ แต่ก่อนจะซื้อหุ้น คุณเสริมสินก็มาคุยกับผมเอง ว่าถ้าเขาซื้อหุ้นของคุณสมพร คนในเนชั่นจะว่าอะไรไหม ผมบอกว่าไม่มีปัญหา ถ้าเป็นการลงทุนเฉยๆ ไม่มาก้าวก่ายทางด้านเนื้อหา เพราะเนชั่นจะยังมีค่าอยู่ ก็เพราะคนลงทุนไม่มายุ่ง คุณเสริมสินยอมรับไหม เขาก็ยอมรับ และเข้าใจว่านี่เป็นเพียงการลงทุนเท่านั้น จึงตกลงกันในหลักการนั้น ข่าวก่อนหน้านี้ว่า คุณเสริมสินก็มีเรื่องหุ้น N-Park ใช่ไหม โดนคนด่าว่ามาหลอกคนอื่นไปลงทุน เขาก็พยายามอธิบายนะ เขาเล่าเบื้องหลังให้ผมฟัง ซึ่งสลับซับซ้อนพอสมควร พวกนักข่าว พวกบรรณาธิการ พอได้ยินชื่อเสริมสิน ก็มาหาผมแล้ว เพราะที่นี่ไม่มีใครบังคับใครไม่ให้พูดได้นะ ข่าวพวกนี้ถ้าคุณรู้ นักข่าวเนชั่นก็ต้องรู้อยู่แล้ว เขามาบอกผมว่าคุณเสริมสินมีประวัติเรื่องปั่นหุ้น ใช่, ผมรู้ แต่คุยแล้ว เขายอมรับแล้วว่าเคยมีภาพที่ไม่ค่อยดี แต่ยืนยันว่าไม่ได้ทำอะไรที่ไม่ถูก จึงคิดว่าถ้ามาทำงานให้เนชั่นจริง เพื่อพิสูจน์ว่าตัวเองเป็นมืออาชีพในการลงทุน และเขาก็ไม่มาก้าวก่ายฝ่ายบริหาร ทุกคนก็รู้ เพราะผมปิดบังไม่ได้ สมมุติเสริมสินทำอะไรไม่ถูกแล้วทีมเนชั่นรู้เข้า ไม่มีทางรอดหรอก
GM : ถ้าหุ้นตัวอื่นมีผลตอบแทนดีกว่าเนชั่น สักวันเขาก็จะย้ายออกไป
สุทธิชัย : ก็เป็นไปได้ หุ้นก็จะกระจายมาสู่พวกเรา คุณเสริมสินบอกกับผม ถ้าเขาจะขายหุ้นให้ใคร เขาจะบอกพวกเราก่อน เราก็พยายามกระจายให้พวกเรากันเองก่อนที่คุณเสริมสินจะเอาไปขายให้คนข้างนอก การเป็นบริษัทมหาชนมีแง่ดีส่วนหนึ่ง แต่ส่วนที่อันตรายก็มี ถ้าสื่ออยากมีโครงสร้างที่อิสระ ไม่ต้องการให้ใครมาครอบงำ ผมว่าการเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ก็โอเค ช่วยได้ในระดับหนึ่ง
GM : ชีวิตประจำวันของคุณเป็นอย่างไรบ้าง
สุทธิชัย : อายุมากขึ้น ออกกำลังกายมากขึ้น ทุกเช้าจะปั่นจักรยาน ช่วงหลังน้ำหนักลดไป 2-3 กิโลฯ เพราะลดพวกแป้ง เพราะไม่อยากอ้วน ต้องการรักษาสุขภาพ วันนี้เพิ่งไปตรวจร่างกายประจำปีมา ทุกอย่างก็เรียบร้อย ผมไปวิ่งสายพานทุกปีเพื่อตรวจหัวใจ มีอยู่ปีหนึ่งวิ่งแล้วหมอบอกว่ามันผิดปกติ ถามหมอคิดว่าควรจะทำอย่างไร หมอบอกลองสวนหัวใจดู คือฉีดสีเข้าไปเพื่อดูว่ามีตรงไหนตันไหม ก็ปรากฏว่าไม่มีอะไร หมอบอกยิ่งผมนี่ยิ่งกว่าถูกลอตเตอรี่อีกนะ เพราะว่าคนส่วนใหญ่ก็ตันบ้าง 1-2 เส้น อย่างปีก่อนๆ ผมไม่เคยตรวจสมอง พอมาปีนี้หมอก็ท้าว่าลองตรวจดูไหม เข้าเครื่อง MRI ปรากฏไม่มีอะไรเหมือนกัน ตอนเข้าไปในอุโมงค์กลัวนะ (หัวเราะ) แต่เนื่องจากผมไม่มีอาการ ไม่ปวดหัว ไม่มึน ซึ่งปกติคนอายุเท่านี้มักมีอาการมึนๆ หน้ามืดบ้าง ซึ่งผมไม่มี ผมเล่นบาสเกตบอลกับเพื่อนอายุเกิน 60 ทุกวันจันทร์กับพุธ รู้เลยว่ายังไหว
GM : ความฉับไวในการจับประเด็น การเขียน การประชุมข่าว ยังดีเท่ากับสมัยเป็นหนุ่มๆ ไหม
สุทธิชัย : ไม่รู้สึกลดน้อยถอยลง เป็นเพราะว่าสุขภาพโอเค สุขภาพตอนนี้ดีกว่าตอนอายุ 40-50 เพราะพักผ่อนเพียงพอ พยายามไม่เครียด เล่นกีฬา หมดเวลางานก็พักผ่อนได้ ไม่ไปคิดฟุ้งซ่าน คิดหนักอะไรต่างๆ นานา
GM : เป็นผลจากการที่คุณสนใจเรื่องเซน และการปฏิบัติธรรมด้วยใช่ไหม
สุทธิชัย : เกี่ยวมากครับ เพราะผมทำสมาธิด้วย ศึกษาเรื่องเซน อ่านหนังสือพุทธเกี่ยวกับวิธีคิด ผมไม่ได้มองศาสนาว่าเป็นเรื่องพิธีกรรม หรือเรื่องการต้องเข้าวัดเข้าวา แต่ศึกษาในแง่ของการฝึกธรรมะ คิดปล่อยวางแบบเซน ทำให้เราไม่เป็นห่วงในสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องห่วง สมมุติเกิดจู่ๆ เป็นอะไรไป ตาย! กลัวตายไหม? ไม่กลัวแล้ว ชีวิตนี้อยากทำอะไร ก็ได้ทำหมดแล้ว เลยไม่ห่วง เรื่องครอบครัวก็เรียบร้อย ลูกก็โตแล้ว เรื่องที่คนวัยนี้จะห่วง คือลูกเรามันจะไหวมั้ยวะ ลูกมีงานมีการทำไหม ตอนหนุ่มๆ มีลูก ก็ห่วงเรื่องลูกจะได้เข้าโรงเรียนได้ไหม ตอนนี้ทุกอย่างมันเรียบร้อยหมดแล้ว ลูกโตพร้อมดูแลตัวเองได้หมดแล้ว เราไม่ต้องห่วง งานการทุกคนก็มี ปัญหาครอบครัว ปัญหาญาติพี่น้องก็ไม่มี ผมพยายามบริหารชีวิตมาตั้งแต่ต้น แยกแยะว่าอะไรควร อะไรไม่ควร ดังนั้นจึงไม่มีปัญหาส่วนตัว เรื่องที่ต้องคอยมาปวดหัว ทำให้งานการเสีย เรื่องงานการก็เหมือนกัน ผมเป็นอะไรไปงานมันก็เดินได้อยู่ ผมมั่นใจว่าเดินได้ เดินได้อย่างสบายด้วย
GM : ถือว่าเป็นวัย 60 กว่าที่เบาสบายมากเลยนะครับ
สุทธิชัย : เพราะเราบริหารชีวิตเราอย่างตั้งใจ ว่าต้องไม่มีภาระยามแก่ ถ้ามีภาระยามแก่ เราจะล้มเหลวมากเลย ตอนอายุ 40 ผมนั่งคิดแล้วนะ
ว่าลูกจะจบมหาวิทยาลัย ไม่มีภาระทางการเงินว่าเราต้องส่งเสียเขาอีกแล้ว พออายุ 50 ลูกเรียนจบ มีงานทำ งานเราก็ทำได้อย่างที่เราอยากทำ ที่เหลือเป็นกำไรชีวิตแล้ว ไม่มีอะไรมาเครียด ไม่เป็นหนี้เป็นสิน หรือไปทำอะไรเอาไว้แล้วแก้ไม่ได้ ไม่ได้หลงไปเล่นการเมือง เมื่อก่อนก็มีเพื่อนชวนไป เพื่อนไปแล้วก็ไปติดกับดักอยู่ตรงนั้น เสร็จเลยนะนั่น (หัวเราะ) หรือไปลงทุนอะไรซึ่งตัวเองทำไม่ค่อยเป็น อยากจะรวยเลยไปทำ ไปทำสนามกอล์ฟ ผมไม่เอาเลย เพราะคิดว่าอนาคตมันจะเป็นภาระแน่ๆ เลย รวยไปก็ไม่มีความสุข เพราะ 60 แล้วเรายังต้องปวดหัวกับเรื่องเหล่านี้อยู่ ไม่เอาเลยนะ ตัดๆ เหลืออย่างเดียวคือเรื่องงานหนังสือพิมพ์ นอกนั้นไม่มีอะไรที่จะมาเป็นภาระสมองผม ได้ทำงาน ได้เล่นกีฬา เขียนหนังสือ คือความสุขของผม อีกอย่างหนึ่งคือการได้สร้างองค์กรนี้มา ให้เดินหน้าไปได้ คนทำมีความภูมิใจ มีผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมบ้าง เป็นองค์กรที่ทุกคนมาทำแล้วรู้สึกว่าคุ้มกับชีวิตเขา โอเคแล้ว พรุ่งนี้หายไปจากโลกเลยก็จะไม่มีอะไรที่เป็นห่วง ไม่มีอะไรให้กังวลว่าเรายังไม่ได้ทำ
GM : 42 ปีที่แล้วตอนเริ่มทำ The Voice of the Nation คิดว่าจะมาถึงวันนี้ไหมครับ
สุทธิชัย : ตอนนั้นไม่คิด ไม่คิดว่าอนาคตจะเป็นยังไง ทำเพราะต้องการทำ จะเป็นยังไงก็ต้องทำ ไม่ได้ตั้งความหวังไว้ว่าจะต้องมียศถา-บรรดาศักดิ์
เริ่มต้นที่ 1 กรกฎาคม 2514 ก่อเกิด ‘The Voice of the Nation’ หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษฉบับเดียวของประเทศ ถือหุ้นโดยคนไทยเป็นส่วนใหญ่ ประกอบด้วย ม.ร.ว.สุนิดา กิติยากร นายสุทธิชัย หยุ่น นายธรรมนูญ มหาเปารยะ และนายเชวง จริยะพิสุทธิ์ ปี 2519 ตั้งบริษัท บิสซิเนส รีวิว จำกัด จัดทำหนังสือพิมพ์ The Nation Review ซึ่งต่อมาคือหนังสือพิมพ์ The Nation
ข้อมูลจาก ‘จากวันนั้นถึงวันนี้…สู่ปีที่ 42 เนชั่นกรุ๊ป’ จากบล็อก OK NATION
GM : คุณยังห่วงประเทศชาติไหม ว่าเราจะไปในทิศทางไหน ห่วงเด็กรุ่นหลังไหม ที่สังคมมันแย่ลง ห่วงโลกไหม ที่สิ่งแวดล้อมแย่ลง
สุทธิชัย : ห่วงสิ ห่วงในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม เราทำหน้าที่ของเราไป หนึ่ง, เราไม่ทำตัวเป็นปัญหาเสียเอง ไม่ไปสร้างปัญหาให้มากไปกว่านี้ เช่นไม่ไปเพิ่มความขัดแย้ง สร้างเงื่อนปมที่เป็นปัญหามากมายให้กับสังคม สอง, หน้าที่เราในฐานะสื่อทำอะไรได้บ้าง ในการนำเสนอ
การอธิบาย ชี้แจงส่งเสริม เช่นที่เข้าไปทำมหาวิทยาลัย ถือเป็นส่วนหนึ่งของการได้ช่วยแก้ปัญหา อย่างน้อยเด็กที่มาเรียนจะได้เรียนในสิ่งที่
ถูกต้อง สิ่งที่ทำให้เขาคิดอะไรกว้างไกล วิเคราะห์สิ่งต่างๆ ได้ และโตขึ้นมาเป็นสมาชิกของสังคมที่ดี แต่จะไม่เป็นห่วงถึงขั้นที่ต้องเข้าไปมีบทบาทด้านการเมือง เข้าไปเล่นเรื่องนั้นเรื่องนี้เสียเอง ไม่ต้อง เป็นห่วงและช่วยแก้ปัญหาในขอบเขตของการเป็นสื่อก็พอ
GM : แล้วสำหรับคนหนุ่มสาวล่ะ คุณเห็นด้วยไหม ว่าคนหนุ่มสาวยุคนี้ต้องยืนหยัดต่อสู้เพื่อความถูกต้อง
สุทธิชัย : เห็นด้วยสิ เราต้องอยู่ในข้างของคนที่เสียเปรียบ ถ้าไปอยู่ข้างผู้ที่มีอำนาจ ผู้ได้ชัยชนะ ผู้อยู่เหนือคนอื่นแล้ว เราจะไม่ได้ช่วยอะไรกับสังคม ไม่ว่าจะเป็นแค่นักเขียนหรือเป็นแค่สื่อมวลชน ผมว่าเรามีหน้าที่อย่างหนึ่งคือช่วยเป็นปากเสียงให้ผู้ที่ด้อยโอกาส ผู้ที่ถูกกระทำ มากกว่าเป็นฝ่ายกระทำ ในเรื่องการปกป้องสิทธิ ในการเป็นกระบอกเสียงให้คนยากไร้ คนเสียเปรียบ หรือคนที่ถูกรังแก ผมว่าถูกต้อง คนรุ่นใหม่ต้องทำ ต้องต่อสู้ในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ คนหนุ่มคนสาวต้องมี Conviction คือต้องมีการตัดสินในความเชื่อบางอย่าง เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เขาต้องเชื่อในอะไรบางอย่าง และเขาต้องต่อสู้ตาม Conviction นั้น ไม่ใช่ว่าอะไรก็ได้ เพราะนั่นคือความไม่รับผิดชอบของคนยุคใหม่ สิ่งที่เชื่อมาจากพื้นฐานอะไรก็ตาม ความถูกต้อง ความยุติธรรม ความเป็นธรรม หลักการชีวิตของมนุษย์ส่วนใหญ่มันอยู่ไม่กี่เรื่องนี้แหละ คุณเชื่อแล้วก็ต้องปกป้องมัน
GM : คนหนุ่มสาวต้องสู้เพื่อสิ่งเหล่านี้ไปจนถึงอายุเท่าไร ถึงจะทำตัวเบาสบายได้แบบคุณ
สุทธิชัย : ต้องสู้ไปตลอด ทุกวันนี้ผมก็ยังสู้อยู่นะ แต่สู้กันคนละแบบ ถ้าเป็นผมตอนอายุ 20 กว่า ก็อาจไปร่วมเดินขบวน สมัย 14 ตุลา ผมก็ไป แต่ผมไม่ได้ไปเป็นหัวหน้า คนนำ แต่ไปให้กำลังใจ ก็ส่งเสริมในฐานะเป็นนักเขียน นักข่าว เราก็รายงานข่าวของพวกเขาออกไป พอมาอายุเท่านี้ ความรับผิดชอบเท่านี้ ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง เวลาประชุมข่าว ประชุม บ.ก. เราก็บอก เรื่องนี้เนชั่นเราต้องมีจุดยืนนะ อยู่เฉยๆ ไม่ได้ ให้คนเห็นว่าเราผลักดันให้มันเกิดขึ้นนะ
GM : คุณมีความคิดเห็นอย่างไรกับความคิดเห็นและการเคลื่อนไหวทางการเมืองของปราบดา หยุ่น
สุทธิชัย : สิ่งที่ปราบดาทำเป็นเรื่องปกติของคนหนุ่มที่เชื่อว่ากฎหมายตรงนี้ไม่ถูกต้อง อันนี้ควรจะแก้ไข เป็นเรื่องธรรมดา แต่บังเอิญเขาชื่อปราบดา หยุ่น เลยเป็นข่าวมากกว่าคนอื่น ซึ่งผมว่าคนอื่นก็พูดมากกว่าเขาด้วยซ้ำไป สิ่งที่เขาทำและพูด ไม่ได้แปลกกว่าคนอื่นอีกมาก ที่พูดและแสดงออกเรื่องเดียวกันนี้ ผมไม่ได้เข้าไปห้ามปรามหรือแทรกแซง ตั้งแต่เด็กแล้ว ครอบครัวเราสอนกันมาอย่างนี้ ว่าเขาต้องคิดเอง ใช้วิจารณญาณเอง นอกเหนือจากว่าเราเห็นว่ามันผิดจริงๆ อย่างเช่นตอนที่เขาไปเรียนเมืองนอกใหม่ๆ ผมขอเขาเพียง 2 เรื่อง เรื่องยาเสพติดไม่เอานะ และเรื่องตุ๊ดก็ไม่เอานะ เพราะว่าไปอยู่โรงเรียนประจำ
GM : แต่เรื่องรักร่วมเพศเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมไทยไปแล้วนะ
สุทธิชัย : ยุคของผมนั่นคือ 20-30 ปีก่อน ผมก็ยังเชยอยู่ ค่านิยมของผมช่วงนั้นเป็นอย่างนั้น ตอนนี้ผมอาจจะเปลี่ยนความคิดแล้วก็ได้
ผมว่าตอนนั้นสังคมอเมริกันก็ยังไม่ได้ยอมรับนะ ส่วนเรื่องอื่นๆ ผมไม่เคยยุ่ง แต่เขาจะบอกตลอดเวลาว่าอ่านหนังสืออะไรบ้าง ผมดีใจเพราะเขาอ่านหนังสือเยอะ แนวปรัชญา หนังสือแนววิเคราะห์
GM : ผลงานของสำนักพิมพ์ไต้ฝุ่นของเขา ก็พิมพ์หนังสือดีออกมาเป็นจำนวนมาก วรรณกรรมเก่าๆ หนังสือปรัชญาดีๆ เขายังอุตส่าห์เอามาแปลขาย
สุทธิชัย : ก็คือเอาคอนเทนต์มาก่อนกำไร ก่อนธุรกิจ เขาก็คิด
เหมือนผม ผมเคยบอกว่าอิจฉาคุณมากเลยนะ อยากพิมพ์หนังสืออะไรก็พิมพ์ได้ พออยู่ได้ แค่นี้ก็พอแล้ว แต่พ่อเองตอนเป็นหนุ่มๆ ตอนพ่ออายุเท่าคุณ พ่อทำไม่ได้แบบนี้ เพราะต้องต่อสู้ เจอเรื่องการเมือง เขาจะมาปิดหนังสือพิมพ์ เขาก็หัวเราะ เรามันคนละยุคคนละสมัย นี่คือสิ่งที่ผมต้องการส่งเสริมเขา ทำอะไรให้มันมีความสุขนะ อย่าฝืนทำ
GM : คุณห่วงไหมว่าสังคมไทยกำลังจะมุ่งไปสู่การนองเลือดครั้งใหญ่
สุทธิชัย : ห่วง ในฐานะสื่อต้องมีจุดยืน เราทำหน้าที่ตลอดเวลา ที่ยืนยันว่าต้องไม่มีเรื่องของการเผชิญหน้าและความรุนแรง เราจะนำเสนอ
ความเห็นนี้ออกไป ถ้าต่างฝ่าย ฝ่ายที่ขัดแย้งด้านผลประโยชน์ ต่างคนต่างยึดเอาผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก ไม่มองว่าต้องเสียสละเพื่อให้ระดับความขัดแย้งมันลดลง
GM : เดี๋ยวนี้ไม่เห็นมีใครพูดคำว่าผลประโยชน์ ทุกคนพูดคำว่า ‘อุดมการณ์’
สุทธิชัย : มันก็เรื่องผลประโยชน์นั่นแหละ อุดมการณ์จริงๆ ต้องไม่พูดถึงตัวเอง อุดมการณ์คือการเสียสละ แต่ต่างฝ่ายต่างอยากให้อีกฝ่ายหนึ่งเปลี่ยน เพราะคิดว่าตัวเองถูก นี่แหละยาก ก่อนจะแก้ได้ อย่าให้ถึงกับต้องฟาดฟันกันในสงครามนองเลือด แต่ตัวอย่างที่เห็นในต่างประเทศ อย่างที่อาเจะห์ กว่าจะไปถึงจุดที่ยอมมาแก้ไข หรืออย่างที่ไอร์แลนด์เหนือ ที่นั่นก็ขัดแย้งกันนานและรุนแรง คนตายเยอะ แต่ท้ายสุดก็แก้ได้นะ เมื่อแนวคิดเปลี่ยน หรือระดับนำเปลี่ยน แล้วก็คิดออกว่าไม่ได้แล้วนะ มันต้องเปลี่ยน ผมคิดว่ามันจะถึงจุดหนึ่งที่ฝ่ายต่างๆ ที่ขัดแย้งกันอยู่ได้เห็นประเด็น ว่าถ้าไม่ถอย คุณก็ชนะไม่ได้
เหมือนกัน แล้วคุณชนะไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะไม่เหลืออะไรให้คุณชนะ ชนะแล้วก็กลายเป็นผืนแผ่นดินที่ว่างเปล่า มีแต่ความทุกข์ระทม ในฐานะสื่อเราก็พยายามชี้ให้เห็นตรงนี้
GM : แม้แต่เรื่องธรรมะ ในตอนนี้ก็กลายเป็นเรื่องที่โต้เถียง ปะทะกันได้ง่าย
สุทธิชัย : เวลาคนไทยพูดเรื่องธรรมะจะคิดถึงแต่ตัววัตถุ ไม่ได้คิดถึงตัวเนื้อหาจริงๆ ถ้าธรรมะคือการไปไหว้พระ ไปสวดมนต์
GM : อยากให้อธิบายเรื่องเซนว่ามันช่วยอะไรกับชีวิตเราจริงไหม
สุทธิชัย : เซนจะช่วยมากเลยครับ เป็นธรรมะที่ตรงๆ ง่ายๆ ไปถึงก้นบึ้งของคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา เซนเชื่อเรื่องการพุ่งตรงไปที่ประเด็นของเรื่อง คือเรื่องปล่อยวาง เรื่องไม่ยึดถือ เรื่องใช้ชีวิตง่ายๆ เรื่องไม่สร้างความคาดหวังที่ผิดไปจากปกติ ที่สำคัญที่สุดคือการมีอารมณ์ขันกับตัวเองได้ ปกติเรามองพุทธศาสนาจะเครียดมาก ต้องสวดมนต์ ห้ามยิ้ม ห้ามร้องเพลง แต่เซนปกติเขาจะธรรมชาติมาก ผมถึงชอบ และเชื่อว่าถ้าพระพุทธเจ้ายังอยู่ จะอธิบายว่านี่คือสิ่งที่ท่านต้องการจริงๆ ไม่ใช่พระพุทธรูป สวดมนต์ ถ้าอ่านคำสอนจริงๆ จะรู้เลยว่าพระพุทธเจ้าง่ายมาก อย่างคำว่านิพพาน พระพุทธเจ้าบอกเลยว่านิพพานใครก็เข้าถึงได้ ไม่ใช่นิพพานแล้วคุณต้องเก่งมาก ต้องเข้าสวด ทำสมาธิกี่ชั้น กี่ขั้น โน !
ผมเคยสัมภาษณ์ท่านทะไลลามะ และท่านติช นัท ฮันห์ ทั้งสองท่านนี้ก็ง่ายเหมือนกันเลย ยิ่งสูงสุดเท่าไหร่ ก็มักจะยิ่งง่าย เซนก็คืออยู่เฉยๆ คำว่า ‘ซาเซน” การทำสมาธิของเซน แปลตรงตัวคือ Just sit there. นั่งเฉยๆ ไม่ต้องไปเครียดกับมัน ไม่ต้องหลับตาแล้วคิดว่าเราต้องทำสมาธิแล้ว นั่งแล้วไม่ต้องห่วงว่ามันจะถึงหรือไม่ถึง ทำสมาธิจะได้กี่นาที ผมถามท่านทะไลลามะ ถามจริงๆ เถอะท่าน เวลาผมพยายามนั่งสมาธิ 5-10 นาทีก็วอกแวกแล้ว วันนี้ถ้าบอกให้ทำสมาธิสักครึ่งชั่วโมง ให้นิ่งๆ ผมทำไม่ได้เลย ท่านมีเคล็ดลับอย่างไร ท่านตอบว่าอย่างไรรู้ไหม? ท่านก็ตอบว่า ท่านก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน (หัวเราะ) ท่านติช นัท ฮันห์ ก็สอนว่า เวลาทำสมาธิให้คิดว่าเมฆมา รับรู้ว่ามันมาก็ปล่อยมันไป เมฆมารับรู้ว่ามันมีก็ปล่อยมันไป ไม่เครียดแล้วอย่าไปตามมัน อย่าไปมองตามเมฆนะ มันไปถึงไหน ไม่ต้องแล้ว ไม่เครียดแล้ว ฉะนั้น ในทุกวันนี้ผมมาทำงาน เจอหนักขนาดไหน มีประชุม มีเรื่องต้องเขียนส่ง ก็ไม่เครียด
GM : ถึงเดดไลน์แล้วยังเขียนไม่ออก คุณจะเครียดไหม
สุทธิชัย : (หัวเราะ) ไม่มี ไม่มี ผมเขียนคอลัมน์ประจำทุกวัน ตั้งแต่อายุสัก 18 คุณเชื่อไหมตลอดกว่า 40 กว่าปีมานี้ ผมเขียนทุกวัน ยกเว้นวันอาทิตย์ ไม่ว่าฝนตกฟ้าร้อง มีปฏิวัติ ก็มีคำถามนี้มาเสมอ ไม่มีวันไหนคิดไม่ออกเลยเหรอ มันก็มีนะ ไอ้วันที่คิดไม่ออก แต่เดดไลน์มาถึงมันต้องเขียนให้เสร็จ สมัยก่อนหนุ่มๆ เริ่มเขียนใหม่ๆ ผมเขียนส่งไปที่สยามรัฐ กลางคืนยังกินเหล้ากับเพื่อนอยู่เลย นอนก็ดึก ตื่นก็สาย เมียต้องมาปลุก ตอนนั้นเมียต้องเป็นคนไปส่งต้นฉบับให้ ผมยังใช้พิมพ์ดีดอยู่ เขียนเสร็จเมียต้องนั่งรถเมล์ไปส่งให้ที่ออฟฟิศของสยามรัฐ อยู่แถวราชดำเนิน ทุกๆ 10 โมงครึ่ง เมียผมต้องไปส่งต้นฉบับให้ผมที่นั่น สมัยนั้นไม่มีแฟ็กซ์ ไม่มีอีเมล ทำงานเสร็จตี 2 กินเหล้าต่อ แล้วกลับมานอนตี 4 ตื่นไม่ทัน ยังไม่ได้ เขียนเลย เมียก็ปลุก เธอตื่นได้แล้ว ฉันต้องไปส่งต้นฉบับ แต่กินเหล้ามันดีอย่างนะ สมัยหนุ่มๆ มันได้ไอเดียค้าง แต่ไม่ได้ปะติดปะต่อกัน เมื่อคืนคุยกับเพื่อนเรื่องนี้ ก็เลยมานั่งเขียน เมียเคาะประตู เหลืออีก 20 นาทีนะ เวลาโดนจี้อย่างนี้มันลื่นไหลมากเลยนะ เหมือนสมองถูกบังคับ ก่อนเดดไลน์ยังเปล่าว่างอยู่เลย พอใกล้เดดไลน์มันจะมาของมันเอง
GM : ใครเป็นผู้อ่านในอุดมคติของคุณ เวลานั่งเขียนงานอยู่
หน้าคอมพ์ คุณนึกถึงใคร
สุทธิชัย : เมีย (นันทวัน หยุ่น อดีตบรรณาธิการนิตยสารลลนา) เขาจะเป็นคนคอมเมนต์อะไรต่างๆ นานา นอกจากหน้าที่ส่งต้นฉบับยังมีหน้าที่ต้องฟังคนอื่นคอมเมนต์งานเขียนของผมแล้วมาบอกให้ฟัง เขาเป็นเอดิเตอร์ส่วนตัวผมด้วย
GM : คนหนุ่มสาวสมัยนี้ ยังต้องต่อสู้เพื่อ Conviction เราจึงยังศึกษาเซนไม่ได้ใช่ไหม
สุทธิชัย : ได้สิ อย่างท่านติช นัท ฮันห์ วิจารณ์การเมืองบ่อยมาก ไม่ได้แปลว่าการเป็นเซนแล้วต้องไม่มายุ่งกับการเมือง หรือเป็นกลางทางการเมือง คุณต้องอยู่ข้างผู้เสียเปรียบ ข้างผู้ถูกทำร้าย ท่านก็วิจารณ์เรื่อง บิน ลาเดน เรื่องอะไรต่างๆ คุณมีความคิดที่ผิดนะ เหมือนว่าถ้าคุณเป็นพุทธศาสนิกชน คุณต้องขี้เกียจสิ เพราะพระท่านสอนให้กินวันละมื้อ ไม่ต้องมีความกระตือรือร้น ผมบอกเลยว่าไม่จริง การเป็นพุทธ การเป็นเซน ไม่ใช่ต้องละทิ้งความกระตือรือร้นต่อชีวิต เพียงแต่วิถีชีวิต วิธีคิดของคุณจะง่ายขึ้น มีเหตุมีผล แต่ไม่ใช่คุณไม่ต้องต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ คนหนุ่มคนสาวของไทยเราเมื่อเรียนเซน เข้าถึงธรรมะแล้วจะต้องมีความเป็นห่วงเป็นใยต่อบ้านเมือง
GM : อย่างพระพม่าที่ท่านแสดงมรณสักขี แบบนี้ถือว่าเป็น
การแสดงธรรมะหรือเปล่า
สุทธิชัย : เป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อ ถ้าเป็นธรรมะ ก็ต้องเชื่อในสิ่งที่ถูกต้อง เชื่อในการต่อสู้เพื่อสิ่งที่ถูกต้อง เมื่อเป็นพระแล้วได้เห็นความไม่ถูกต้องเต็มไปหมดในบ้านในเมือง แล้วจะให้ท่านนิ่งเฉยได้อย่างไร แบบนั้นก็ไม่เป็นธรรมะอีกเช่นกัน พระพุทธเจ้าก็สอนว่าคุณต้องอยู่ข้างธรรมะ ผมเชื่อว่าหนุ่มสาวสมัยใหม่ศึกษาธรรมะเยอะ อย่างน้อยพิธีกรรมเยอะ ทำอย่างไรให้เขาศึกษาเนื้อหามากขึ้น และเอาเนื้อหามาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น
GM : ถ้ามีรถถังออกมาอีกครั้ง คนหนุ่มสาวต้องออกมายืนกั้น ยอมให้รถถังบดขยี้ใช่ไหม
สุทธิชัย : ถ้าผมยังหนุ่มๆ อยู่ ผมจะทำ และจะชักชวนพรรคพวกไปยืนคัดค้าน ไปประท้วงกัน เพราะว่าอันนี้ไม่ถูกต้องแน่นอน และผมว่ามันคงไม่เกิดอีก ถ้ามีทหารโง่ทำสิ่งนี้ ต้องมีเสียงคัดค้านในสังคม มีมากมายในเรื่องประท้วงคัดค้านที่ไม่ใช้ความรุนแรงแล้วได้ผลกว่าด้วย เป็นศิลปะของสังคมที่ต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ ไม่ต้องตะโกนปะทะกัน ไม่ต้องออกมาชี้หน้าด่ากัน ปัญหาสังคมแก้ได้ด้วยวิธีการสุภาพ นิ่มนวล มีศิลปะ แล้วได้ผลด้วย