fbpx

Sustainable Development and The Future of ‘Energy’ :เมื่ออนาคตเคลื่อนเข้าหา และการมาของเทรนด์ ‘พลังงาน’ ที่เปลี่ยนไป

พลังงาน จัดได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญในทุกภาคส่วนของทุกกิจกรรมบนโลก ไม่ว่าจะตั้งแต่ยุคบุรพกาลที่มนุษยชาติได้ค้นพบ ‘ไฟ’ กองแรก จนถึงการค้นพบ ‘น้ำมันดิบ’ บ่อแรก ทั้งหมด ถูกแปรเปลี่ยน ประยุกต์ และนำมาปรับใช้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต รวมถึงเร่งอัตราความก้าวหน้าทางด้านวิทยาการให้เป็นไปในระดับทบเท่าทวีคูณ เพราะทุกครั้งที่มีการค้นพบพลังงานชนิดใหม่ มันจะตามมาด้วยสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ และวิถีชีวิตของมนุษยชาติก็จะเปลี่ยนไป ง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

หากแต่ในยุคปัจจุบัน ความจำเป็นด้านพลังงาน อาจจะไม่ใช่มิติเพียงด้านเดียวที่ต้องถูกนำมาพิจารณา ในฉากทัศน์ของโลกภายภาคหน้า นั่นเพราะสิ่งที่การปฏิวัติอุตสาหกรรมและพลังงานเชื้อเพลิงสายเก่าอย่างน้ำมันดิบได้ทิ้งเอาไว้ คือปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ยากจะแก้ไข รวมไปถึงแหล่งพลังงานที่ค่อยๆ ร่อยหรอหมดไป ในอัตราเร่งที่เชื่อกันว่า หากไม่แสวงหาหนทางที่แตกต่างไปจากเดิม วิกฤติทางด้านพลังงาน บวกกับจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มสูงขึ้น จะทำให้สถานการณ์ต่างๆ ดิ่งไปสู่ทิศทางที่เลวร้ายมากยิ่งขึ้น

ความกังวลดังกล่าว ไม่ได้ถูกปล่อยผ่านไปกับสายลม หากแต่มีการพูดถึงและพิจารณากันอย่างจริงจัง นับตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 21 และมีความพยายามที่จะแก้ไข รวมถึงค้นหา ‘ทางเลือก’ ที่จะมาทดแทนพลังงานยุคเก่า เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานสายใหม่ ที่สะอาด ปลอดภัย หมุนเวียนได้ และไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม

และดอกผลของความพยายาม ก็เริ่มกลายเป็น ‘เทรนด์’ ที่กำลังเป็นที่กล่าวถึงในห้วงเวลาขณะนี้

GM Magazine ขอนำทุกท่าน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการหาหนทางสำหรับความมั่นคงทางด้านพลังงานยุคใหม่ ที่กำลังจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันใกล้ตัว (…และบางส่วนก็ได้เข้ามาแล้ว) รวมถึงทิศทางที่องค์กรระดับโลกอย่างสหประชาชาติ ได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ สำหรับทิศทางของพลังงานในอนาคตภายภาคหน้า กับนโยบายระยะยาว ที่ได้เริ่มปฏิบัติแล้วท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาด COVID-19 ซึ่งเป็นตัวเร่งความจำเป็นดังกล่าวให้เข้ามาเร็วกว่าที่หลายคนคาดคิด

และปิดท้ายด้วยความคิดเห็นของตัวแทนจากภาครัฐไทย ที่เกี่ยวข้องกับการวางนโยบายทางด้านพลังงาน ว่ามีความตื่นตัวมากเพียงใด มีทิศทางที่ตั้งใจไว้อย่างไร และมีข้อติดขัดส่วนไหน ในการนำพาประเทศไทยไปสู่ความมั่นคงทางพลังงานสายใหม่ ที่จะยกระดับให้แวดวงพลังงานไทย มีประสิทธิภาพ และทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

  • เสาหลักแนวทางนโยบายแห่งสหประชาชาติ เพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงาน

ปัญหาทางด้านวิกฤติพลังงาน จัดได้ว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในความใส่ใจขององค์กรระดับสากลอย่างสหประชาชาติมาเป็นระยะเวลาใหญ่ๆ ที่มีการติดตามและให้ความใส่ใจ รวมถึงการพิจารณาในปัจจัยด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นด้านความทั่วถึงของพลังงาน ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม จนถึงการขาดแคลนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตภายภาคหน้า

จากรายงาน SDG Indicators ของสหประชาชาติพบว่า แม้ประชากรโลก 9 จาก 10 คน สามารถเข้าถึงไฟฟ้าในระดับพื้นฐาน แต่ก็อยู่ในระดับที่ ‘คาบเส้น’ และต้องมีพลังงานไฟฟ้าสำรองที่มากขึ้น จึงจะเพียงพอต่อความต้องการที่จะทำให้ยกระดับคุณภาพชีวิตขึ้นไปได้ อีกทั้งเชื้อเพลิงสำหรับการหุงต้ม ซึ่งเป็นปัจจัยระดับต่ำสุดที่ประชากรโลกควรจะได้รับนั้น กลับพบว่ามีประชากรถึง ‘สามพันล้านคน’ ที่ไม่แม้แต่จะเข้าถึงแหล่งพลังงานดังกล่าว โดยส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคแอฟริกาใต้

และแน่นอนว่า การขาดแคลนเชื้อเพลิงหุงต้ม ย่อมนำมาซึ่งปัญหาด้านสุขภาวะ และสิ่งแวดล้อมในระยะยาว อันเป็นปัจจัยสัมพันธ์ที่ไม่อาจแยกขาด และเป็นโจทย์ที่ยังไม่สามารถหาทางออกได้ในขณะนี้

อีกทั้งในปีค.ศ.  2019 – 2020 ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019 หรือ COVID-19 นั้น ทำให้ขีดความสามารถในการผลิตภาคพลังงานทั่วโลกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งพลังงานต่างๆ คือปัจจัยที่จำเป็น สำหรับสาธารณูปโภคเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาด ทั้งสถานพยาบาล การสำรองน้ำสะอาด การจัดการด้านสุขอนามัย ไปจนถึงการติดต่อสื่อสารและโทรคมนาคมในช่วงเวลาที่เกิดการ Lockdown และต้องใช้นโยบายเว้นระยะห่างทางสังคมหรือ Social Distancing ของภูมิภาคที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนักหน่วง

อย่างไรก็ดี ในเวลานี้ อันเป็นไตรมาสสุดท้ายของปี 2021 ทางองค์การสหประชาชาติ ยังคงตั้งเป้าหมายทางด้านพลังงาน ที่จะไปถึงให้ได้ภายในปี 2030 ทั้งหมด 3 ข้อใหญ่ด้วยกัน คือ

  • ต้องมีพลังงานสะอาดที่ทันสมัย หมุนเวียนได้ และสามารถเข้าถึงได้กับคนในทุกระดับอย่างเท่าเทียมกัน
  • ต้องมีการประสานกันระหว่างพลังงานหมุนเวียน เข้ากับพลังงานแบบเก่า ในอัตราส่วนที่มากขึ้น เพื่อก่อให้เกิดความมั่นคงทางพลังงาน
  • ต้องยกระดับประสิทธิภาพทางด้านพลังงานขึ้นเป็นสองเท่า ทั้งในด้านกำลังการผลิต และคุณภาพของพลังงาน

โจทย์สามข้อนี้  นับว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับองค์การสหประชาชาติในด้านความมั่นคงทางพลังงาน เพราะเหลือเวลาอีกเพียง 9 ปี ท่ามกลางสถานการณ์ที่ความจำเป็นจากการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ยังคงอยู่กับประชากรโลกต่อไปอีกในระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งยิ่งทำให้ความยากลำบากในการไปให้ถึงเป้าหมายของปี 2030 นั้นทวีสูงขึ้น และเป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนจะต้องให้ความใส่ใจอย่างจริงจัง

  • การตอบสนองทางด้านพลังงานของประเทศมหาอำนาจ

ปัญหาทางด้านวิกฤติพลังงาน คือปัญหาที่กระทบกับประชากรทุกคนบนโลก แต่แน่นอนว่า Key Player สำคัญในเวทีโลกย่อมเป็นประเทศมหาอำนาจ ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และมีความต้องการด้านพลังงาน รวมถึงได้รับและสร้าง ผลกระทบอันเกิดจากพลังงานอย่างมีนัยสำคัญ

อนึ่ง แม้ว่าจะมีการเข้ามาของพลังงานทดแทนเช่น พลังงานลม พลังงานน้ำ และพลังงานแสงอาทิตย์ แต่ยังเป็นส่วนที่ ‘น้อยมากๆ’ เมื่อเทียบกับความต้องการเชื้อเพลิงแบบฟอสซิส หรือเชื้อเพลิงน้ำมันดิบ โดยเฉพาะกับภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และยังคงต้องการเวลาอีกสักระยะ สำหรับการเปลี่ยนผ่าน หรือ ‘Energy Transition’ จะสามารถทำได้อย่างหมดจด สมบูรณ์แบบ (จากปัจจัยด้านราคา เทคโนโลยี จนถึงการสนับสนุนของภาครัฐและเอกชน)

เช่นนั้นแล้ว สิ่งที่ประเทศมหาอำนาจพอจะทำได้ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ คือการ ‘ชะลอ’ ความเสียหายที่จะเกิดกับสิ่งแวดล้อม และ ‘เร่งกำลัง’ ผลิตทางด้านพลังงาน ให้เพียงพอต่อความต้องการ อันเป็นเป้าหมายระยะสั้นและระยะกลาง ที่หลายประเทศ ได้ลงนามตามข้อตกลงปารีส เรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานน้ำมันดิบ ไปสู่พลังงานทดแทนหมุนเวียนที่สะอาด และยั่งยืนขึ้นกว่าเดิม

ตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นโต้โผใหญ่ ที่ได้กลับเข้าสู่การลงนามอีกครั้ง หลังผละจากเวทีการลงนามในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็พร้อมที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และจะปรับปรุงโรงงานที่มีเป็นจำนวนมาก ให้เป็นโรงงานที่ใช้พลังงานไฟฟ้า เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งในข้อนี้ น่าจะเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน เพราะสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศผู้บริโภคน้ำมันดิบรายใหญ่ การเปลี่ยนผ่านจะก่อให้เกิดปลายทางและความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างชัดเจน

หรือประเทศเกาหลีใต้ ที่ลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดภายในปี 2022 และสร้างงานในหลายแสนตำแหน่งภายใต้ข้อตกลงสีเขียวใหม่ ที่จะแปรเปลี่ยนเป็นภาคการผลิต และสินค้าที่ทันสมัยมากขึ้น อาทิ โรงงานพลังงานไฟฟ้า กังหันลม แผงพลังงานแสงอาทิตย์ จนถึงรถยนต์ไฟฟ้า และถ้าวัดจากความตื่นตัวของประเทศเกาหลีใต้ในการเป็นผู้นำเทรนด์ด้านเทคโนโลยีเป็นลำดับต้นๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกแล้ว ก็น่าจะได้เห็นสิ่งใหม่ๆ ที่น่าตาตื่นใจไม่น้อย

แต่ที่น่าสนใจที่สุด คือประเทศญี่ปุ่น ซึ่งประสบความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อม และการจัดการด้านพลังงานมาโดยตลอด แต่วิกฤติเศรษฐกิจ และภัยธรรมชาติที่โหมกระหน่ำซ้ำเติมในรอบหนึ่งทศวรรษ บวกกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ภาครัฐของญี่ปุ่นต้องพิจารณาทิศทางและนโยบายในแบบใหม่ที่แตกต่างจากการเป็นสังคมการทำงานแบบรวมกลุ่ม สู่ยุคแห่งดิจิทัลและการติดต่อสื่อสารทางไกลด้วยเทคโนโลยีมากขึ้น รวมถึงการยกระดับพลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ที่จะได้แผนแม่บทจากศูนย์กลาง ก่อนกระจายเป็นแนวทางให้กับท้องถิ่นอย่างคร่าวๆ เพื่อปรับและประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมตามบริบทของแต่ละท้องที่

ที่กล่าวไปนี้ คือตัวอย่างของประเทศมหาอำนาจ ที่เริ่มมีความตื่นตัวและเริ่ม ‘เร่งเครื่อง’ ปรับปรุง ยกระดับขีดความสามารถทางด้านพลังงาน ให้เปลี่ยนผ่านไปสู่สภาวะ Energy Transition ของพลังงานสะอาด ที่ราคาถูก ทั่วถึง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แม้ว่าจะต้องใช้เวลาอีกสักพัก แต่เมื่อมีการขยับตัวจากประเทศหลักๆ ก็น่าจะเป็นแรงกระเพื่อมที่ส่งต่อให้กับประเทศอื่นในภูมิภาค ต่อยอดออกไปเป็นลูกโซ่ได้เช่นเดียวกัน

  • ภาคธุรกิจเอกชน กับการขานรับกับทิศทางด้านพลังงานสายใหม่

เมื่อภาครัฐเริ่มขานรับกับทิศทางของพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดที่กำลังจะเข้ามาเปลี่ยนฉากทัศน์ของความมั่นคงทางพลังงานในอนาคต อีกหน่วยทางสังคมที่จะเริ่มขยับและมีอิทธิพลในระดับกลางจนถึงระดับย่อย คือ ‘ผู้ประกอบการ’ เช่น บรรดาบริษัท ห้างร้าน และหน่วยงานเอกชน ที่จะมองทิศทางของพลังงานสะอาด และคำนวณความเป็นไปได้ ที่เกิดเป็นผลิตภัณฑ์กับสินค้าเพื่อตอบสนองกับแนวทางดังกล่าวมากยิ่งขึ้น

สิ่งแรกที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ ‘รถยนต์พลังงานไฟฟ้า’ … นั่นเพราะรถยนต์ คือประดิษฐกรรมที่เกี่ยวพันกับพลังงานและเชื้อเพลิงสายเก่าอย่างน้ำมันดิบมากที่สุด และการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มต้นจากสิ่งพื้นฐานจำเป็นในชีวิตประจำวัน ย่อมต่อยอดไปได้ไม่ยาก

ในปัจจุบัน คงเริ่มเห็นรถยนต์ไฟฟ้าที่แพร่หลายและใช้งานได้ดีขึ้น ในราคาที่ถูกลง กระนั้นแล้ว ในส่วนประสิทธิภาพ อาจยังเป็นที่น่ากังขา ซึ่งผู้ผลิตรายใหญ่ๆ ที่ตบเท้าเข้ามา ก็ยังไม่ได้ Shift ไปสู่การเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบบเต็มตัว แต่เป็นในสาย ‘Hybrid’ หรือ สายผสมระหว่าง ไฟฟ้า-น้ำมันดิบ และมีอยู่น้อยราย ที่จะเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ เช่น Tesla หรือ Hyundai เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่จะผลักดันการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าก็เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นทาง Hyundai ที่เพิ่มกำลังการผลิตและพัฒนาประสิทธิภาพ รวมถึงสถานีเติมไฟฟ้าทั่วเกาหลีใต้, สหราชอาณาจักรที่มีนโยบายลดอัตราภาษีนำเข้า และสนับสนุนให้คนใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น, เดนมาร์กที่ต้องการจะให้มีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้ได้อย่างน้อย 775,000 คันภายในปี 2030 (ซึ่งตรงกับเป้าหมายของทางสหประชาชาติด้านความมั่นคงทางพลังงาน) จากปัจจุบันที่มีอยู่เพียง 20,000 คัน

ในด้านของผู้ผลิตเชื้อเพลิงและน้ำมันดิบ ก็เริ่มหันเหความสนใจ พร้อมเริ่มทำการปรับตัวเพื่อรองรับกับ Energy Transition ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และเริ่มสนใจธุรกิจด้านพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียนทดแทน และพลังงานราคาถูกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ซึ่งน่าจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนขึ้นได้ในช่วงปี 2022 ที่จะมาถึงนี้

สำหรับภาคธุรกิจอื่นๆ ที่แม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับพลังงานโดยตรง ก็มีความตื่นตัวกับการเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงาน และพลังงานสะอาดหมุนเวียนไม่ต่างกัน บริษัทเอกชนหลายราย ต่างมีความตระหนักรู้เรื่องการลดคาร์บอนให้ต่ำที่สุด เช่น บริษัท Apple ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์รายใหญ่ ก็มีนโยบายที่จะลดคาร์บอนที่ออกจากโรงงานผลิต และใช้กระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

แน่นอนว่า การพิจารณาทางด้านสิ่งแวดล้อม การลดคาร์บอน และพลังงานสะอาดสำหรับภาคธุรกิจ มีราคาและต้นทุนที่ต้องจ่าย และทำให้สินค้าและผลิตภัณฑ์มีราคาที่สูงขึ้น แต่ถ้ามองด้วยสายตาของยุคสมัยใหม่ นั่นคือการลงต้นทุนที่คุ้มค่า ในยุคที่ผู้คนต่างแสวงหาการบริโภคที่ไม่ได้เป็นแค่การสะท้อนแบรนด์ แต่สะท้อน ‘คุณค่า’ ที่ยึดถืออยู่

และแบรนด์ที่ให้ความใส่ใจกับสิ่งแวดล้อม พลังงาน และการอนุรักษ์โลก ย่อมให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า และกลายเป็น ‘เทรนด์’ ที่หลายบริษัทอาจจะต้องพิจารณา เพราะในอนาคตข้างหน้า การไม่ใส่ใจกับสิ่งเหล่านี้ จะกลายเป็น ‘ต้นทุนแฝง’ ที่ทำให้การดำเนินกิจการยากยิ่งกว่าที่ควร (ไม่นับรวมนโยบายภาครัฐที่อาจมีการผ่อนปรนด้านภาษี ในการอนุญาตตั้งโรงงาน และการให้สิทธิประโยชน์สำหรับแบรนด์ที่ใส่ใจกับปัจจัยดังกล่าวอีกด้วย)

  • หนทางสู่ความมั่นคง และยั่งยืนทางด้านพลังงาน

ท้ายที่สุดนี้ เหลือเวลาอีกเพียงสองเดือนเท่านั้นน.. ปี 2021 ก็จะสิ้นสุดลง และปี 2022 จะเดินทางเข้ามาถึง ความต้องการทางด้านพลังงานจะยิ่งสูงขึ้น เมื่อพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ทั้งการเพิ่มของประชากรโลก การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในภูมิภาคห่างไกล และเหนือสิ่งอื่นใด คือการใช้พลังงานน้ำมันดิบที่จะยังไม่หายไปจากความคุ้นเคยในเร็ววัน

แต่ก็เฉกเช่นเดียวกับช่วงเปลี่ยนผ่านจากถ่านหินมาสู่น้ำมันดิบ นั่นมีระยะเวลาในการเปลี่ยนผ่าน มีช่วง Transition ที่ต้องการบ่มเพาะอยู่เสมอ และนั่นคือสัจธรรมสำหรับทุกสิ่ง ไม่ใช่แต่กับด้านพลังงาน

และสิ่งหนึ่งที่โลกหลังศตวรรษที่ 21 ได้พิสูจน์ให้เห็นมาแล้วโดยตลอดนั่นคือ การเปลี่ยนผ่านที่ว่าจะเป็นไปในอัตราที่ ‘เร็วขึ้น’ กว่าครั้งก่อนๆ ในระดับทบทวีคูณ จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี จากการสื่อสาร จากความทั่วถึง และแนวคิดของโลกที่ไร้พรมแดน ยิ่งเทรนด์ของพลังงานสะอาด พลังงานทดแทน คาบเกี่ยวกับวิถีชีวิตและ ‘แนวคิด’ ที่สะท้อนตัวตนด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้หลายสิ่งกระจายตัวออกไปในระดับไม่จำกัด

เป้าหมายปลายทางของปี 2030 ยังคงรอคอยอยู่ พร้อมกับยังคงเฝ้าหวังว่า เมื่อปีนั้นเดินทางมาถึงโฉมหน้าของโลกและทิศทางของพลังงาน จะถูกยกระดับไปสู่ความทันสมัย สะอาด ปลอดภัย หมุนเวียนได้ และทั่วถึงอย่างเท่าเทียม อันจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรโลกโดยรวมอย่างแท้จริง

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ