“ประเพณีสงกรานต์ไทย” สู่ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ
สงกรานต์ 2568 สงกรานต์บ้านฉัน สีสันแบบไทย สุขไกลทั่วโลก

เป็นอีกหนึ่งเทศกาลของไทยที่โด่งดังไปทั่วโลกและนักท่องเที่ยวหลากหลายเชื้อชาติต่างปักหมุดที่จะมาสัมผัสความสนุกสนานแบบชุ่มฉ่ำกับประเพณีสงกรานต์ไทย ที่ก้าวสู่มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ
ย้อนกลับไป เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ทาง ทางยูเนสโก(UNESCO) ยังได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) เป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ หรือRepresentative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity ลำดับที่ 4 ของประเทศไทย ในการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 18 ณ เมืองคาเซเน สาธารณรัฐบอตสวานาอีกด้วย

โดยก่อนหน้านี้ทางยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้แก่ “โขน” (Khon, masked dance drama in Thailand) ในปี 2561, “นวดไทย” (Nuad Thai, Traditional Thai Massage) ในปี 2562 และ “โนรา” ของภาคใต้ (Nora, Dance Drama in Southern Thailand) ในปี 2564 มาแล้ว
และเมื่อปีที่แล้ว พศ. 2567 ยูเนสโกได้มอบประกาศนียบัตรอย่างเป็นทางการให้ “สงกรานต์ไทย” เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ให้แก่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งนั้นทำให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้จัดงาน “World Songkran Festival : ประเพณีสงกรานต์ไทย หมุดหมายนักท่องเที่ยวทั่วโลก” ผ่านเครือข่ายวัฒนธรรม 76 จังหวัดทั่วประเทศ และ 50 เขต ในกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 1 – 21 เมษายน 2567

สำหรับปีนี้ พ.ศ. 2568 สงกรานต์ไทย มาภายใต้แนวคิด “สงกรานต์บ้านฉัน สีสันแบบไทย สุขไกลทั่วโลก” ยกระดับเทศกาลไทยสู่ระดับสากล
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2568 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้ออกมาแจ้งว่า ทางฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง ประกาศสงกรานต์ พุทธศักราช 2568 ดังนี้
“ปีมะเส็ง (มนุษย์ผู้ชาย ธาตุไฟ) สัปตศก จุลศักราช 1387 ทางจันทรคติ เป็น อธิกวาร ทางสุริยคติ เป็น ปกติสุรทิน”

วันที่ 14 เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์ ทางจันทรคติ ตรงกับวันอาทิตย์ แรม 1 ค่ำ เดือน 5 เวลา 04 นาฬิกา 28 นาที 28 วินาที นางสงกรานต์ ทรงนามว่า ทุงสะเทวี ทรงพาหุรัด ทัดดอกทับทิม อาภรณ์แก้ว ปัทมราค ภักษาหารอุทุมพร (มะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จไสยาสน์หลับเนตรมาเหนือหลังครุฑเป็นพาหนะ
วันที่ 15 เมษายน เวลา 08 นาฬิกา 27 นาที 36 วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่ เป็น 1387 ปีนี้ วันศุกร์ เป็น ธงชัย, วันศุกร์ เป็น อธิบดี, วันพฤหัสบดี เป็น อุบาทว์, วันอาทิตย์ เป็น โลกาวินาศ ปีนี้ วันพุธ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 600 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 60 ห่า ตกในมหาสมุทร 120 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 180 ห่า ตกในเขาจักรวาล 240 ห่า นาคให้น้ำ 5 ตัว เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ 6 ชื่อ ลาภะ ข้าวกล้าในภูมินาจะได้ผล 9 ส่วน เสีย 1 ส่วน ธัญญาหาร พลาหาร มัจฉมังสาหาร จะบริบูรณ์ อุดมสมบูรณ์ ประชาชนทั้งหลายจะเป็นสุขสมบูรณ์แล เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีอาโป (น้ำ) น้ำมาก
ประวัตินางสงกรานต์

นางสงกรานต์ของไทยมีด้วยกัน 7 นาง ซึ่งเป็นธิดาของท้าวกบิลพรหม ซึ่งเส้นรื่องของตำนานเริ่มจากท้าวกบิลพรหมได้พ่ายแพ้ต่อพระธรรมบาลกุมาร โดยมีข้อตกลงกันว่าใครแพ้ต้องตัดเศียรตัวเอง
แต่เนื่องจากเศียรของท้าวกบิลพรหมเป็นที่รวมแห่งความไม่ดีทั้งปวง ถ้าตกบนแผ่นดินไฟจะไหม้โลก หรือหากโยนขึ้นไปบนอากาศฝนจะแล้ง และถ้าทิ้งลงในมหาสมุทรน้ำจะแห้ง ดังนั้นก่อนจะตัดเศียรตัวเองท้าวกบิลพรหม จึงได้เรียกธิดาทั้ง 7 มาสั่งเสียให้เอาพานมารองรับเศียร ซึ่งในทุกหนึ่งปีแต่ละนางต่างทำหน้าที่เป็นผู้เชิญเศียรท้าวกบิลพรหม เวียนรอบเขาพระสุเมรุเป็นเวลา 60 นาที ก่อนจะนำเศียรนั้นไปไว้ในถ้ำคันธูลี ณ เขาไกรลาส โดยธิดาทั้ง 7นาง มีนามดังนี้
1. นางสงกรานต์ทุงษเทวี : ประจำวันอาทิตย์ ทัดดอกทับทิม มีปัทมราค (แก้วทับทิม) เป็นเครื่องประดับภักษาหารคืออุทุมพร (มะเดื่อ) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือสังข์ เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์ครุฑ
2. นางสงกรานต์โคราดเทวี : ประจำวันจันทร์ ทัดดอกปีป มีมุกดาหาร (ไข่มุก) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือเตละ (น้ำมัน) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า เสด็จประทับเหนือพยัคฆ์ (เสือ)
3. นางสงกรานต์รากษสเทวี : ประจำวันอังคาร ทัดดอกบัวหลวง มีโมรา (หิน) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือโลหิต (เลือด) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายถือธนู เสด็จประทับเหนือวราหะ (หมู)
4. นางสงกรานต์มัณฑาเทวี : ประจำวันพุธ ทัดดอกจำปา มีไพฑูรย์ (พลอยสีเหลืองแกมเขียว) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือนมและเนย อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือเหล็กแหลม พระหัตถ์ว้ายถือไม้เท้า เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์คัสพะ (ลา)
5. นางสงกรานต์กิริณีเทวี : ประจำวันพฤหัสบดี ทัดดอกมณฑา (ยี่หุบ) มีมรกตเป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือถั่วและงา อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือปืน เสด็จไสยาสน์เหนือปฏษฎางค์ชสาร (ช้าง)
6. นางสงกรานต์กิมิทาเทวี : ประจำวันศุกร์ ดัดดอกจงกลนี มีบุษราคัมเป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือกล้วยและน้ำ อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือพิณ เสด็จประทับยืนเหนือมหิงสา (ควาย)
7. นางสงกรานต์มโหทรเทวี : ประจำวันเสาร์ ทัดดอกสามหาว (ผักตบชวา) มีนิลรัตน์เป็นเครื่องประดับภักษาหารคือเนื้อทราย อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือตรีศูล เสด็จประทับเหนือมยุราปักษา (นกยูง)
ภาพวาด “นางสงกรานต์” โดย อาจารย์สมภพ บุตราช
