fbpx

Soft Power กับ Obama พลังสายอ่อนสะท้อนขั้วการเมือง

เรื่อง : สุกฤษฏิ์ บูรณสรรค์

ในตอนนี้ ดูเหมือนว่าประธานาธิบดี Donald Trump กำลังตกที่นั่งลำบาก…

ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา เขาต้องเจอกับการไต่สวนเพื่อถอดถอน (Impeachment) จากฝั่งตรงข้ามอย่างหนักหน่วง ในกรณีการใช้อำนาจไม่ถูกต้อง และแม้ว่าจะยังไม่มีความคืบหน้าใด และโอกาสที่เขาจะหลุดจากเก้าอี้ก็ยากเต็มทน (เพราะในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐอเมริกา ยังไม่มีประธานาธิบดีคนใดโดนถอดถอนมาก่อน…) แต่ก็เป็นวาระอันแสนยุ่งยาก ที่จะทำให้การเลือกตั้งประธานาธิบดีในช่วงปลายปีนี้ เต็มไปด้วยขวากหนาม ถนนการเมืองของ Trump คงไม่หมูแล้วละ

ขณะที่ประธานาธิบดี Trump ต้องสู้กับอุปสรรคทางการเมืองอันหลากหลาย แต่ในอีกด้าน อดีตประธานาธิบดี Barack Obama กลับค่อนข้างจะเพลิดเพลินในสถานะใหม่ของตนเอง

ล่าสุด ทั้งตัวเขา และ Michelle Obama ภริยา กลายมาเป็นงานศิลปะร่วมสมัย จากปลายพู่กันของ Kehinde Wiley และ Amy Sherald ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ Smithsonian และจะเดินสายจัดแสดงในอีกห้าเมืองตลอดช่วงปี 2020 ไม่นับรวมทั้งคู่จัดตั้งบริษัท Higher Ground Productions เพื่อสร้างเนื้อหาอันหลากหลาย และปิดดีลกับ Netflix ผู้ให้บริการระบบความบันเทิง Streaming ยักษ์ใหญ่ นั่นยิ่งจะทำให้สถานะของทั้งคู่เลื่อนไปสู่ความเป็น ‘เซเลบริตี้’ มากยิ่งกว่าเคย

Soft Power: อำนาจอ่อน สั่นคลอนโลกวัฒนธรรม

นิยามของ Soft Power เป็นแนวคิดที่พัฒนาโดย Joseph Nye จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ที่สร้างความเปลี่ยนแปลง มีอิทธิพลต่อความคิดของสังคมและประชาชนภายในประเทศ โดยมีทรัพยากรพื้นฐานสำหรับพลังดังกล่าวอยู่ 3 ประการ คือ …

  • วัฒนธรรม (Culture)
  • ค่านิยมทางการเมือง (Political Values)
  • นโยบายต่างประเทศ (Foreign Policies)

ทั้งสามแนวทางไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่ผ่านมาเราคุ้นและได้เห็นการใช้ Soft Power ในการกรุยทางให้กับวัฒนธรรมของประเทศอย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นมาแล้วผ่านสื่อบันเทิง ซึ่งทั้งหมดสอดคล้องกับค่านิยมของประเทศในภูมิภาคเอเชียอย่างมีนัยสำคัญ แน่นอน, มันไม่ใช่ความบังเอิญ แต่เป็นวาระแห่งชาติของทั้งเกาหลีใต้และญี่ปุ่นเลยด้วยซ้ำในการแผ่กระจายและใช้วัฒนธรรมเป็นอาวุธ เห็นชัดจากเด็กๆ และเยาวชน รวมถึงตัวเราเองด้วยซ้ำที่ชื่นชอบและยอมรับใน K-pop และ J-pop เป็นต้น

แนวทางของ Barack และ Michelle Obama นั้นไม่ต่างกัน ทั้งคู่เลือกใช้ถนนแห่ง Soft Power เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมในทรัพยากรพื้นฐานอย่างละมุนละม่อม การสร้างภาพของทั้งคู่ให้เป็นตัวแทนหรือทูตทางวัฒนธรรม การเชิดชูคุณค่าในแนวคิดทางการเมืองแบบเดโมแครต และการยืนหยัดในนโยบายที่เป็นมิตรกับนานาประเทศในช่วงที่ยังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและสตรีหมายเลขหนึ่ง คือการฟูมฟัก Soft Power ที่จะยิ่งทรงพลังมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อทั้งคู่มีอิสระที่จะกระทำการใดๆ โดยไม่ถูกผูกยึดกับหัวโขน และเลือกเดินสายดาวเด่นเป็นเซเลบริตี้ผ่านสื่อบันเทิงยักษ์ใหญ่เช่น Netflix และการออกหนังสือ Becoming ของ Michelle Obama ที่หลายคนยกให้เป็นสุดยอดหนังสือสร้างแรงบันดาลใจ ติดอันดับเบสท์เซเลอร์อย่างต่อเนื่อง

Soft Power ปะทะ Hard Power: คู่หยินหยางในทางการเมือง

ถามว่า Soft Power นั้นมีพลังมากพอในวาระนี้หรือไม่ เราอาจต้องย้อนกลับไปดูแนวทางของประธานาธิบดี Trump ในรอบปีที่ผ่านมา นั่นเพราะ Trump เป็น Hard Power สายเหยี่ยว เขามาด้วยแนวคิดแข็งกร้าวแบบ ‘American First’ และสร้างความกดดันให้กับนานาประเทศมาโดยตลอด ไม่นับรวมกรณีอื้อฉาวที่เขากดดันให้ต่างประเทศช่วยสนับสนุนการเลือกตั้งประธานาธิบดี และการใช้อุปกรณ์อย่าง Social Media เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมในสายแข็ง หากแต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น กลับสะท้อนและลดทอนพลังแห่ง Hard Power ลงไป ทั้งจากปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม จนถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ไม่สู้ดีนัก

ขณะที่การเดินสายของ Obama ในทาง Soft Power ให้ผลตรงกันข้าม มันเกิดปรากฏการณ์ทวีพลังของพรรคเดโมแครต ที่น่าจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญกับการเลือกตั้งช่วงปลายปีที่จะถึง ประกอบกับการไต่สวนเพื่อถอดถอนไม่ไว้วางใจ ที่แม้โอกาสที่จะเกิดขึ้นนั้นยากเย็นเต็มทน (เพราะต้องผ่านกระบวนการของวุฒิสมาชิก ซึ่งยังไม่เคยมีใครได้รับการตัดสินจนถึงที่สุดมาก่อน…) แต่ภาพของ Trump กับสิ่งที่สะท้อนออกมาในทางลบ นั่นกลายเป็นแต้มต่อสำหรับฝั่งเดโมแครตอย่างไม่อาจปฏิเสธ

มีโอกาสแค่ไหนที่ Soft Power จะสะท้อนกลับ?

แม้การใช้ Soft Power จะมีพลังแบบ ‘ซึมลึก’ ค่อยเป็นค่อยไป แต่ต้องไม่ลืมว่ามันเป็นพลังที่ยืนอยู่บนสามทรัพยากรหลักที่สำคัญคือ วัฒนธรรม, ค่านิยมทางการเมือง และนโยบายต่างประเทศ โดยไม่อาจขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปได้ การใช้ Soft Power จะเกิดประสิทธิผลเมื่อทั้งสามคุณค่าดำเนินไปในทางเดียวกัน ซึ่งเราอาจต้องมองย้อนกลับมาที่สังคมอเมริกันในปัจจุบัน การเลือกตั้งที่ส่งประธานาธิบดี Trump ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำสูงสุด เป็นภาพสะท้อนค่านิยมทางการเมืองของผู้คน มันจะไม่มีประโยชน์อันใดเลย ถ้าหากนานาประเทศขานรับต่อพลังสายอ่อนของ Obama แต่ประชาชนโดยทั่วไป ‘ไม่เล่นด้วย’ ไม่นับรวมท่าทีของเดโมแครตที่ค่อนข้างออกไปทาง ‘เล่นการเมือง’ ที่ห่างไกลจากผู้คนมากเข้าไปทุกทีๆ

สิ่งนี้ ไม่ใช่เรื่องที่พูดเกินจริง เพราะตั้งแต่ Barack และ Michelle ปิดดีลกับ Netflix ข่าวนี้ส่งให้ยอดถอนสมาชิกจากระบบบอกรับสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ไม่แน่, มันอาจสะท้อนถึงความไม่พร้อมของประชาชนที่มีต่อ Soft Power ที่เกิดขึ้น และอาจกลายเป็นดาบสองคมที่สะท้อนกลับไปยังพรรคเดโมแครตในศึกการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง และการ Impeachment ของ Trump ก็อาจเป็นพลังในทางบวก ที่ทำให้เขายังสามารถรั้งเก้าอี้ประธานาธิบดีเอาไว้ได้อีกวาระ

บ่มเพาะด้วยเวลา ในคุณค่าแห่ง Soft Power

ในขณะนี้ ทั้ง Barack และ Michelle Obama กำลังเพลิดเพลินอยู่กับสถานะใหม่ของตนเอง แต่ในฐานะที่เป็นอดีตประธานาธิบดีและสตรีหมายเลขหนึ่ง ทุกการกระทำของทั้งคู่ย่อมส่งผลต่อเวทีการเมืองอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และเส้นทางของ Soft Power เองก็ยังต้องการการ ‘ซึมลึก’ และ ‘บ่มเพาะ’ กันต่อไป

มันน่าสนใจอยู่ไม่น้อย ว่าท่ามกลางสถานการณ์โลกที่คุกรุ่น และเต็มไปด้วยปัญหา ไม่ว่าจะด้วยภัยพิบัติธรรมชาติ โรคระบาด และความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง Soft Power สายอ่อนจะสามารถทำงานของมันได้ดีแค่ไหน แต่เราคงไม่อาจปฏิเสธว่าพลังสายอ่อนย่อมมีช่วงเวลาของมัน และเมื่อถึงวันนั้น มันจะสำแดงอำนาจของตัวเองอย่างที่ไม่มีอะไรเทียบเคียงได้

ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับเวลา และความพร้อม ว่าสามทรัพยากรพื้นฐานสำคัญของพลังสายอ่อน จะมาประสานรวมกันได้เมื่อใด…สายแข็งระวังตัวไว้ก็ดี

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ