วัคซีนสังคม 2563 สู่ความปกติใหม่ (New Normal)
เรื่อง : ดร.วิชยุตม์ ทัพวงษ์
ภาวะโรคระบาดร้ายแรงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ขึ้นปีใหม่ ปี พ.ศ. 2563 มาแล้วนั้น ถ้าเราจะมองว่ามันสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง อาจมองได้ตั้งแต่จุดที่เล็กที่สุด ไปหาจุดที่ใหญ่ขึ้นมาตามลำดับเลยก็ว่าได้
ถ้ามองจากเหตุ เพื่อให้เข้าใจก่อนว่าที่มาของปัญหาระดับโลก ณ เวลานี้ มาจากสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ตัวหนึ่ง นั่นคือไวรัส ที่มีชื่อทางการแล้วว่า COVID-19 เนื่องจากไวรัสนี้เป็นไวรัสกลุ่มที่มีรูปร่างเป็นมงกุฎ (Corona) ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงในระดับโมเลกุล และเกิดเป็นสายพันธุ์ก่อโรคขึ้นมาใหม่ ทำให้ก่อโรคถึงขนาดเสียชีวิตได้ มีความจำเพาะต่ออวัยวะ ปอดของผู้สูงอายุ (หรือแม้แต่ผู้ที่มีอายุไม่มาก ก็มีรายงานการเสียชีวิตอยู่ด้วย)
ทีนี้ มันก็มีเรื่องสอดคล้องที่เราอาจคุ้นเคยมา เช่นว่า เมื่อมีโรคติดต่อ บุคลากรทางการแพทย์ก็จะต้องพยายามหาทางรักษาด้วยการหายา หรือวิธีการต่างๆ ถ้าการรักษาได้ผลดี ผู้ที่ติดเชื้อก็จะหายจากโรคและมีภูมิคุ้มกัน ในทางเดียวกันก็จะมีผู้ที่พ่ายแพ้ต่อไวรัส โดยร่างกายถูกโจมตีอย่างรุนแรง เช่นกรณี COVID-19 นั้น ผู้เสียชีวิตหลายรายเกิดจากการที่ปอดติดเชื้อรุนแรงมาก ในส่วนลึกที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนอากาศ โดยเป็นไปในลักษณะที่ไวรัสเข้าไปรบกวนบริเวณแลกเปลี่ยนอากาศ ทำให้เลือดไม่สามารถได้รับออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้
ทีนี้อะไรใน COVID-19 ทำให้เกิดความแตกต่างในโลกใบนี้ของเราได้บ้าง
อย่างแรกเลยคือ พบชัดเจนว่าเชื้อมีต้นกำเนิดมาจากจุดใดในโลก
อย่างต่อมาคือ เชื้อมีการเดินทางจากจุดแรกไปสู่จุดต่างๆ แห่งอื่นๆ ในโลกได้อย่างรวดเร็วด้วยความก้าวหน้าทางการขนส่งบุคคลทางอากาศ
นอกจากนั้น เทคโนโลยีก้าวหน้าทางพันธุกรรม ทำให้สามารถทราบข้อมูลลักษณะทางพันธุกรรมของ COVID-19 ว่ามันพร้อมจะเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเล็กน้อยทางลักษณะพันธุกรรม (กลายพันธุ์) ในแต่ละที่บนโลก ในแต่ละกลุ่มบุคคลที่มีความแตกต่างทางเชื้อชาติ และลักษณะการเจ็บป่วยที่มีอยู่เดิม ซึ่งการที่เชื้อไวรัสตัวนี้มีความแตกต่างกันในรายละเอียดสายพันธุ์ ก็เป็นอีกปัจจัยที่ท้าทายการออกแบบวัคซีนต่อโรคนี้ด้วยเช่นกัน
เชื้อจาก COVID-19 ถือเป็นโรคติดต่อ ซึ่งโดยหลักการที่สำคัญของโรคติดต่อนั้นจะรุนแรงเชิงจำนวนผู้ติดเชื้อ หรือความรุนแรงในจำนวนผู้เสียชีวิต ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยมาก เช่น
จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ถ้าปล่อยให้ผู้คนมีกิจกรรมที่ต้องติดต่อกัน
ความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับว่าผู้ติดเชื้อได้รับเชื้อสายพันธุ์แบบใด (เหมือนที่มีข้อมูลบอกว่า สายพันธุ์จากสนามมวย ค่อนข้างมีความรุนแรงต่อคน มากกว่าสายพันธุ์ที่พบจากกลุ่มในผับ สถานบันเทิง)
ความรุนแรงของอาการยังขึ้นกับลักษณะของผู้ที่ติดเชื้อด้วย ว่ามีความแข็งแรงเป็นพื้นฐานอยู่มาก-น้อยแค่ไหน ถ้าร่างกายแข็งแรงมากก็จะทำให้อาการรุนแรงน้อยกว่าคนที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว (เรื่องนี้มีข้อยกเว้น ยกตัวอย่างผู้ที่ติดเชื้อจากสนามมวยที่เป็นบุคคลในอายุเสี่ยงต่ำ แต่เจอเชื้อที่เป็นสายพันธุ์รุนแรง อาการของโรคก็ถือว่ารุนแรง)
วัคซีนทางการแพทย์ ทางรอดของโรคอุบัติใหม่
ส่วนในประเด็นที่ว่า ทำไมวัคซีนถึงใช้เวลานานนัก คำตอบหลักๆ อยู่ที่กระบวนการของการผลิตวัคซีน วัคซีนที่สำเร็จและใช้จริงแล้วนั้น เป็นกระบวนการที่นำเอาเชื้อโรคที่อ่อนแอ (หรือถูกทำให้อ่อนแอ) มาใส่ (ฉีด) ในร่างกายมนุษย์ แล้วให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เกิดการเรียนรู้ จำได้ จนกระทั่งสร้างภูมิคุ้มกัน (แอนติบอดี้-Antibody) ขึ้นมาในที่สุด
ในเวลาปัจจุบันเชื่อว่ามีมากกว่า 50 ทีมวิจัยทั่วโลกแล้ว ที่กำลังค้นคว้า และอยู่ในช่วงทดลองให้วัคซีน COVID-19 นั้น มีความน่าเชื่อถือ (ทำให้ผู้รับวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันได้จริง) รวมถึงมีความปลอดภัย (นั่นคือวัคซีนที่ฉีดเข้าไปนั้นต้องไม่เป็นตัวทำให้ก่อโรค หรือทำให้โรคอื่นๆ กลับขึ้นมาทำอันตรายต่อผู้ได้รับวัคซีนนั้นได้) และมีความเหมาะสมคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจ (นั่นคือราคาวัคซีนต้องเป็นที่จับต้องได้ของคนทั่วไป โดยได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐ ไปสู่ผู้คิดค้นวิจัย และมีการอุดหนุนค่าวัคซีน ถ้ารัฐจะดำเนินการจัดหาให้คนในประเทศของตนเอง)
กระบวนการการทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ ปลอดภัยนั่นเองเป็นสิ่งที่ควบคุมทำให้วัคซีนยังไม่สามารถออกมาได้อย่างรวดเร็วในระดับครึ่งปีแรกของปีนี้ และอาจต้องใช้เวลารวมๆ ประมาณหนึ่งปี หรือหนึ่งปีครึ่ง นับจากการพบเจอเชื้อ เพื่อให้ได้วัคซีนที่มีคุณสมบัติครบที่จะป้องกันการติดเชื้อได้จากความแตกต่างในแต่ละสายพันธุ์ และปลอดภัยเมื่อนำไปใช้
คราวนี้กลับมามองมุมกลับ ในแง่วัคซีนชีวิต ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนเราจากผลกระทบจาก COVID-19 นี้
วัคซีนสังคม 2563
สิ่งนี้จะเกี่ยวข้องกับโลกขณะที่มี COVID-19 และยังไม่มีวัคซีนทางการแพทย์ใช้จริง
สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของโรคติดต่อคือการติดต่อ เราเคยได้ยินอาจารย์แพทย์ออกมาพูดชัดเจนว่า “โรคติดต่อจะไม่ติดต่อ หากเราไม่ติดต่อกัน” นั่นจึงเป็นที่มาของมาตรการการเว้นระยะห่างกันทางสังคม ซึ่งมีหลักการง่ายๆ โดยอาศัยความเข้าใจว่า เชื้อโรคจะติดต่อกันได้ยากขึ้น ถ้าเรามีการป้องกันตัวโดยใช้หน้ากาก และการเว้นระยะห่างกันในทุกๆ กิจกรรมตั้งแต่ 1.5-2 เมตรขึ้นไป ดังนั้น การเว้นระยะต่อกันในการทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ต่อแถว พูดคุยกัน การทำธุรกรรม การติดต่อเจรจา แม้กระทั่งการนั่งเรียนหรือรับฟังการแถลงข่าวในห้องต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง
เริ่มจากเรา สิ่งละอันพันละน้อย ที่สามารถทำได้ตั้งแต่ตัวเราเอง เพื่อเป็นการป้องกันการติดต่อของโรคติดเชื้อ ได้แก่ การรักษาอนามัยส่วนบุคคล การล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล การออกไปในสถานที่ที่มีคนอยู่เยอะ เฉพาะเวลาที่จำเป็นเท่านั้น และสิ่งที่เป็นความปกติแบบใหม่ที่ชัดเจน นั่นคือหน้ากากอนามัย
สำหรับความปกติแบบใหม่ (New Normal) ต่อจากนี้ไป นอกจากการสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ข้างนอก (จนกว่าจะมีการคิดค้นวัคซีนได้) ก็คงมีเรื่องการล้างมือ และรวมถึงการจัดการให้มีการเว้นระยะห่างเมื่อมีการจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวกัน
มนุษย์เราซึ่งเป็นสัตว์สังคมจะหลีกเลี่ยงการพบปะกันด้วยระยะเวลานานๆ ไม่ได้ ดังนั้นกิจกรรมทางสังคมจะเป็นไปในแนวทางที่ต้องมองว่าจำเป็นจะต้องเข้าไปเสี่ยงมากหรือน้อยเพียงใด ถ้ามีมาตรการป้องกันที่ดี เช่น มีการเตรียมการทางสุขอนามัย การลงทะเบียนผู้เข้าร่วม ซึ่งเรื่องนี้เป็นประโยชน์อย่างมาก หากเกิดอะไรขึ้น จะได้ติดตามตัวทุกๆ ท่านที่เข้าร่วมกิจกรรมนั้น เพื่อเฝ้าระวังโรคด้วยความรวดเร็วที่สุด
การดำเนินธุรกิจ ควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีการประเมินความเสี่ยง หากเกิดมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมขึ้นมาอีก ซึ่งเกิดขึ้นได้ในกรณีมีการอนุญาตให้ผ่อนปรนมาตรการทางสังคมแล้วก่อให้เกิดตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่กลับมาอีก
การเดินทางระหว่างประเทศ จะลดน้อยลงอย่างมาก ราคาค่าเดินทางอาจปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ด้วยเหตุผลของสายการบินที่จะไม่รับผู้โดยสารเต็มความสามารถของการเดินทาง เพราะยังต้องเว้นระยะระหว่างที่นั่ง มีมาตรการป้องกันทางสุขอนามัย ซึ่งเป็นต้นทุนเพิ่มที่ต้องไปอยู่ในภาระของค่าโดยสารอย่างแน่นอน เรื่องนี้ยังเกี่ยวข้องกับการคบค้ากับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศด้วยเช่นกัน หากจำเป็นต้องพบกับผู้ที่มาเยือนจากต่างประเทศ และยังไม่พ้นเวลาในการกักกันตัวนาน อย่างน้อย 14 วัน ก็ควรอย่างยิ่งในการดำเนินการตามมาตรการระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด
การออกแบบก่อสร้างสถานที่ต่างๆ ในแบบ New Normal อาจคำนึงถึงสุขอนามัยส่วนบุคคลเป็นสิ่งแรกๆ การออกแบบให้มุมล้างมืออยู่ด้านหน้าของอาคาร โรงเรียน ศูนย์ประชุม วัด ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต จะเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของสถาปนิก หรือนักออกแบบอาคารสถานที่
การรักษาสุขภาพส่วนบุคคล จริงๆ แล้ว เป็นที่รู้กันมาก่อนแล้วว่า การรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ทำได้ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ แต่มีเรื่องง่ายๆ ที่ทำกันได้ยากในยุคนี้ก็คือการพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ ซึ่งนั่นนอกจากทำให้สมองและร่างกายได้พักผ่อน ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอแล้ว Growth Hormone ที่ได้จากการนอนหลับอย่างเพียงพอและเหมาะสมมีส่วนอย่างมากต่อการเสริมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ให้สู้กับโรคภัยได้มากกว่าปกติอีกด้วย
การรักษาความมีวินัยด้านการเงิน ก็เป็นอีกเรื่องที่จำเป็นต่อการเตรียมตัวรองรับวิกฤติ เราควรใช้เวลาเช่นนี้ในการประเมินความเสี่ยงกระแสเงินสดของเราและครอบครัว นั่นอาจรวมถึงการเตรียมปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้พร้อมต่อการเก็บตัว รักษาอนามัยอยู่เสมอ มีความสมดุลทั้งเรื่องการเงิน สังคม และสุขภาพ ก็จะทำให้เราอยู่รอดได้ในวิกฤติได้อย่างราบรื่นอย่างยิ่ง
สังคมก็คล้ายๆ กับร่างกายของคนเรา ถ้ามองให้ดีๆ จะเห็นว่า แนวทางปฏิบัติในการป้องกันการติดเชื้อที่ดำเนินกับสังคมใดสังคมหนึ่ง ก็คล้ายกับเป็นวัคซีนที่ฉีดให้กับสังคมแห่งใดแห่งหนึ่งด้วย เพราะระบบภูมิคุ้มกันที่ตอบสนองในแต่ละร่างกาย ในแต่ละสังคม มีการตอบสนองในบริบทที่แตกต่างกันไป สองเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นสังคมหรือร่างกาย มองดีๆ เป็นมุมมองที่ต่างกัน หากเพียงสังคมนั้นจะแข็งแรงหรือไม่ ขึ้นกับความมีวินัยของคนในชาติ การบังคับใช้กฎหมาย ระบบสังคม เศรษฐกิจ และรวมถึงระบบการปกครอง เหล่านี้ทำให้การปรับใช้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง เห็นผลแตกต่างกันในบริบทที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ประเทศหรือร่างกายที่จะชนะได้นั้น ต้องมีวินัย มีเป้าหมาย มีการกำกับการกระทำอย่างเคร่งครัด จึงจะทำให้ชนะวิกฤติโรคติดเชื้อได้มากกว่า
จะเห็นว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในโลกจากโรคภัยนั้น สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับตัวเราเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ วัคซีนทางการแพทย์ที่ได้มา ก็แลกมาจากผู้ที่เสียสละชีวิต โดยการติดเชื้อเป็นคนแรกๆ ของโลก ทำให้นักวิจัยได้เข้าใจกลไกการเกิดโรคและพัฒนาการของโรค วัคซีนก็เกิดจากนักวิจัยที่ทุ่มเทศึกษาค้นคว้า เพื่อให้รู้จักเชื้อไวรัสนี้อย่างจริงจังจึงจะได้มา ขอให้อดทนรอ และขอให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ทุกท่านที่อุทิศชีวิตเพื่อสุขภาพที่ปลอดภัยของทุกคน
ส่วนชีวิตของพวกเรา วัคซีนสังคม 2563 ที่ต้องรีบรับมา คือ การปรับพฤติกรรมไปสู่ New Normal ให้เร็วที่สุด ควรใช้เวลาในการทบทวน เรียนรู้ และสร้างนิสัยใหม่ๆ ที่จะใช้ในทุกวันเพื่อการเดินไปข้างหน้าได้อย่างปลอดภัยและมั่นคง