ขยล ตันติชาติวัฒน์: AI CCTV อนาคต Smart Security Thailand
เรื่อง: บุญรัตน์ ศักดิ์บูรณพงษา
ความเป็น ‘เมืองอัจฉริยะ’ (Smart City) ของประเทศไทย เริ่มตั้งแต่มีกำเนิดนโยบายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579 ) และโมเดลไทยแลนด์ 4.0
ล่วงมา 5 ปี ความเป็นเมืองอัจฉริยะของประเทศไทยเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง และค่อยๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมากขึ้นทุกที โดยไม่ได้เป็นแค่แผนในกระดาษ ยิ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยิ่งเร่งให้ผู้คนใส่ใจการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ไม่ใช่แค่พึ่งพาเรื่องความสะดวก แต่ต้องช่วยเรื่องประหยัดพลังงานมากขึ้น ปลอดภัยขึ้น เพื่อนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
เมื่อเมืองกำลังไปสู่การเปลี่ยนผ่าน คำถามสำคัญที่เกี่ยวโยงโดยตรงกับวิถีชีวิตผู้คนยุคใหม่ คือ ระบบรักษาความปลอดภัยเพื่อมารองรับเมืองอัจฉริยะจะเป็นอย่างไร?

คงไม่มีใครฉายภาพความปลอดภัยแห่งอนาคตนี้ได้ดีไปกว่าหนุ่มGM Club ท่านนี้ ขยล ตันติชาติวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการตลาด บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) หรือ SKY ICT ผู้นำการพัฒนานวัตกรรมการให้บริการ Digital Platform และ AI Solutions ซึ่งเชี่ยวชาญเทคโนโลยีความปลอดภัยอัจฉริยะ (Smart Security) โดยเป็นผู้วางระบบรักษาความปลอดภัยจากกล้องวงจรปิดอัจฉริยะให้กับองค์กรสำคัญอย่างสนามบินสุวรรณภูมิ กรมศุลกากร เป็นต้น
และเมื่อไม่น่ามานี้ SKY ICT ได้พลิกโฉมนิยามใหม่ของกล้อง CCTV ที่จะไม่ใช่แค่อุปกรณ์มอนิเตอร์อีกต่อไป จากการเปิดตัวระบบรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะ ในชื่อสุดเก๋ว่า ‘TOSSAKAN’ (ทศกัณฐ์) แพลตฟอร์มที่พัฒนาเทคโนโลยี AI ซึ่งทำงานร่วมกันกับระบบกล้องวงจรปิด (AI CCTV) มาผสมผสานกับอุปกรณ์ IoT เข้ากับศูนย์สั่งการด้านความปลอดภัย (Security Operation Center) และโมมายแอปพลิเคชั่น เพื่อช่วยยกระดับมาตรฐานคุณภาพความปลอดภัย
(ดูประกอบได้เพื่อความเข้าใจได้ทางhttps://www.youtube.com/watch?v=NtE5rVzMfA0)
“จุดเปลี่ยนของสมาร์ทซิตี้อยู่ที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ดี นั่นจึงจะเกิดเมืองสมาร์ซิตี้จริงๆ ซึ่งมุมที่ประเทศไทยสามารถเป็นสมาร์ทซิตี้ได้จริงในเวลาอันใกล้นี้ คือความปลอดภัยในเชิงการใช้กล้องวงจรปิดอัจฉริยะ ที่สามารถเชื่อมเมืองทั้งหมดเข้าหากันได้” คุณขยล กล่าวจากประสบการณ์ที่คลุกคลีอยู่กับเทคโนโลยีความปลอดภัย ทำให้มองเห็นว่าประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานส่วนนี้รองรับอยู่แล้ว จึงมีโอกาสพัฒนาในมิตินี้ได้ก่อน
จากการขับเคลื่อนภาคธุรกิจชั้นนำมาหลากหลายทั้งโฆษณา การเงิน ค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ และเทคโนโลยี ส่วนใหญ่ทางคุณขยลจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการเป็นผู้ Disrupt & Transform และสร้าง Innovation Platform ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เมื่อครั้งอยู่ AP Thailand เขาคือผู้บริหารยุคแรกๆ ที่ริเริ่มสร้างทีมการตลาดเพื่อสร้าง Platform Ecosystem ออนไลน์มาร์เก็ตติ้ง การทำงานใกล้ชิดกับระบบ AI นับตั้งแต่ยุคที่คนทั่วไปยังไม่คุ้นชินกับคำๆ นี้กันนัก ทำให้เห็นความทรงพลังของเทคโนโลยีนี้และมั่นใจว่าสิ่งนี้จะมาพลิกโฉมโลกในอนาคต
“ถ้าเราไม่ดิสรัปต์ก่อน เราจะถูกโลกดิสรัปต์” นี่คือประโยคที่ผู้ชายคนนี้ใช้เป็นแนวทางพัฒนาตัวเอง และเป็นแนวคิดที่ผลักดันให้เขาตัดสินใจเปลี่ยนสายงานมาสู่งานเทคที่ SKY ICT

ที่นี่..คุณขยลได้ทรานฟอร์มองค์กรจาก SI (SYSTEM INTEGRATOR) ซึ่งทำหน้าที่เป็นเพียงตัวกลางจัดหาเทคโนโลยีส่งมอบให้ตามความต้องการ มาสู่ผู้สร้างอินโนเวชั่นในฐานะ Tech Company เต็มรูปแบบ โดยให้บริการภาคธุรกิจที่ต้องการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคดิจิทัล
และเมื่อให้เขาฉายภาพเทรนด์ระบบความปลอดภัยเมืองอัจฉริยะที่ไม่ต้องรอถึงทศวรรษหน้า แต่เป็นปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ ภาพที่คุณขลยนำมาบอกเล่า คือระบบ AI CCTV และการใช้ใบหน้ายืนยันตัวตนจะเข้ามามีบทบาทสำคัญ (Face Recognition : ระบบจดจำใบหน้า) ในการรักษาความปลอดภัย โดยอธิบายให้ฟังว่า
“AI สแกนหน้ามนุษย์เป็นพิกเซล มองเป็นเมทริกซ์ ทุกวันนี้ AI และซอฟต์แวร์มีความแม่นยำสูงมาก ต่อให้เป็นใบหน้าฝาแฝดก็แยกได้ ขึ้นอยู่กับความแม่นยำของซอฟต์แวร์แต่ละแบรนด์ ระบบ Face Scan สามารถตั้งค่าความแม่นยำในระบบหลังบ้านได้ว่าใบหน้านี้ถูกต้องตรงกับฐานข้อมูลกี่เปอร์เซ็นต์ และการตั้งค่าความแม่นยำสูงมีข้อดีข้อเสียต่างกัน ถ้าตั้งสูงมากจะใช้งานยาก นั่นต้องพิจารณาว่านำไปใช้กับธุรกรรมใด ต้องการความปลอดภัยระดับไหน”
แม้เป็นระบบความปลอดภัยที่ล้ำสมัยและสะดวกสบาย แต่เทคโนโลยีกลับไปแตะต่อมการละเมิดความเป็นส่วนตัวหรือไม่? ซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหวที่โลกยุคใหม่ให้ความสำคัญ เมื่อผู้คนอยู่ในสถานะ ‘เลือกได้’ ว่าจะยินยอมให้ข้อมูลส่วนตัวหรือไม่?
คุณขลยเปรียบเทียบเรื่องนี้ไว้อย่างน่าคิดว่า เทคโนโลยีนี้ไม่ต่างจากการยื่นข้อมูลสมัครงาน หรือแม้แต่การสมัครแอพฯ บางประเภทที่ต้องสแกนใบหน้าและถ่ายรูปบัตรประชาชนในการสมัคร หรือเวลาไปธนาคารเจ้าหน้าที่จะถ่ายรูปหน้าของผู้ใช้บริการอยู่ดี นั่นหมายความว่าหน่วยงานนั้นๆ มีฐานข้อมูลใบหน้าของผู้ใช้บริการอยู่แล้ว

“ถ้ามองในมุมนี้จะไม่ใช่เรื่อง Data Privacy เพราะคุณมอบข้อมูลให้เขาไปตั้งแต่ตอนสมัครหรือขอใช้บริการนั่นเอง ดังนั้นหน้าที่ Face Recognition หรือ Face ID จะทำหน้าที่ช่วยยืนยันอีกครั้งก่อนที่คุณเข้าใช้งานใดๆ เป็นการช่วยป้องกันด้วยซ้ำ ยกตัวอย่างง่ายๆ เวลาโจรกรรมบัตรเครดิตแค่มีเลขหน้า-หลังบัตรก็นำไปใช้งานได้แล้ว แต่ถ้ามีระบบ Face Scan มาช่วยยืนยันตัวตนอีกครั้ง จะมีเจ้าของคนเดียวที่ใช้งานบัตรนั้นได้”
พูดง่ายๆ ในอนาคตสังคมจะใช้ Face Scan System หรือ Face Recognition แทนการใช้บัตรประชาชนยืนยันตัวตน อยู่ที่การใช้งานว่าจะนำเทคโนโลยีนี้ไปประยุกต์เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลใด? เพื่อวัตถุประสงค์ใด?
ยกตัวอย่างประเทศเกาหลีมีการใช้ใบหน้ายืนยันประวัติการรักษาพยาบาล แยกแยะบุคคลนั้นๆ เคยเป็นโรคอะไร, แพ้ยาอะไร, ได้รับการรักษาอะไรมาก่อน ช่วยให้บุคคลนั้นได้รับการรักษาที่ถูกต้องยิ่งขึ้น ในเบื้องต้น SKY ICT มีการใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้ามาใช้กับแพลตฟอร์ม TOSSAKAN ยืนยันตัวบุคคลสำหรับเข้า-ออกอาคารสำนักงานต่างๆ
หรือกรณีที่เมืองมิวนิกหรือที่ประเทศดูไบพลเมืองของประเทศใช้ระบบ Face Scan ยืนยันตัว (Verify) เช็คอินขึ้นเครื่องแทนการใช้บัตรประชาชนหรือพาสสปอร์ต
แค่เรื่อง Face ID หรือ Face Recognition ก็นำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลายแล้ว แต่ระบบรักษาความปลอดภัยที่ซับซ้อนไปอีกขึ้นบนฐานแนวคิดเทคโนโลยีเดียวกัน คือ เทคโนโลยีตรวจจับวัตถุ (Object Recognition) ซึ่งปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในต่างประเทศแล้ว หรือในกรณีทางแอฟริกาใต้ที่มีการก่อการร้ายสูง ระบบรักษาความปลอดภัยไม่เพียงใช้ Face Scan แต่ยังเพิ่ม Object Recognition เข้ามาด้วย เพียงป้อนระบบ AI CCTV สแกนจับวัตถุประเภทปืน เมื่อมีภาพคนถือปืนปรากฏใน CCTV ระบบ AI จะทำการแจ้งเตือน (Intrusion Alert) ไปยังศูนย์สั่งการส่วนกลาง

หรือที่นครลอสแอนเจลิส ในพื้นที่ซึ่งมีตัวเลขอาชญากรรมสูง CCTV ของพื้นที่ไม่เพียงบันทึกภาพ แต่มี AI วิเคราะห์การรวมตัวของกลุ่มคน ที่เรียกว่า Monitor Behavior ประเมินพฤติกรรมว่าถ้ามีการรวมตัวลักษณะนี้จะมีแนวโน้มก่อเหตุทะเลาะวิวาท CCTV จะทำการแจ้งเตือนไปยังศูนย์สั่งการส่วนกลางส่งเจ้าหน้าที่มาในพื้นที่
“การเซ็ตระบบ AI ให้จับวัตถุ (Object Recognition) เป็นเทคโนโลยีที่นำไปใช้ได้หลายแบบ SKY ICT เองก็ใช้ในการจับสีวัตถุ สมมติมีผู้ต้องสงสัยเข้ามาในอาคารสำนักงาน เขาสะพายกระเป๋าสีเหลือง เราสามารถสั่งการให้เสิร์ชหาวัตถุกระเป๋าสีเหลืองในระบบส่วนกลาง CCTV ทุกตัวในอาคารจะทำการค้นหากระเป๋าสีเหลืองที่ปรากฏอยู่ในกล้องทุกตัว และส่งภาพนั้นๆ มาแสดงที่ศูนย์สั่งการ ทำให้รู้ว่าผู้ต้องสงสัยอยู่ตรงไหน”
เช่นเดียวกันกับแพลตฟอร์ม TOSSAKAN ของไทย ตัวระบบไม่ใช่แค่สแกนใบหน้าเพื่อแมทช์กับฐานข้อมูลเท่านั้น แต่สามารถดึงภาพย้อนหลัง มีซอฟต์แวร์ดึงข้อมูลจากกล้องหลายหมื่นหลายพันตัวมารวมไว้ที่ศูนย์สั่งการความปลอดภัยได้ หรือเก็บไว้ในคลาวน์ได้ โดยศูนย์สั่งการไม่จำเป็นใช้แรงงานคนมอนิเตอร์ตลอดเวลา แต่ระบบจะมอนิเตอร์แทน มนุษย์ทำหน้าที่แค่ตัดสินใจตอนระบบแจ้งเตือน (Intrusion Alert) ถึงความไม่ปกติ ระบบจึงช่วยย่นระยะเวลาในการค้นหาแทนที่จะใช้คนมานั่งมอนิเตอร์กล้องนับพันๆ ตัว
“นี่คือเทรนด์ระบบรักษาความปลอดภัยของ Smart City เพราะเมืองๆ หนึ่ง ย่อมมีกล้องติดเป็นหมื่นๆ ตัว เป็นไปไม่ได้ที่จะใช้คนมามอนิเตอร์”

ทั้งหมดนี้เป็นก้าวแรกของระบบความปลอดภัยเมืองอัจฉริยะ ซึ่งเชื่อมั่นได้ว่าในอนาคตอันใกล้ ประเทศไทยจะได้ใช้ AI ที่แม่นยำขึ้น ฉลาดขึ้น ตอบโจทย์ความปลอดภัยได้หลากหลายขึ้น คาดการณ์ได้จากเบื้องหลังการทำงานของ TOSSAKAN ซึ่งผู้บริหารหนุ่มไฟแรงคนเดิมแชร์ให้ฟังว่า หลังการเปิดตัวของ TOSSAKAN ได้รับการตอบรับที่ดี ซึ่งมาพร้อมความท้าทายใหม่ๆ จากโจทย์ของลูกค้า เมื่อรูปแบบธุรกิจแตกต่างกัน Pain Point ก็ต่างกัน ทำให้ความต้องการด้านความปลอดภัยแตกต่างกันด้วย ไม่ว่าจะเป็นความต้องการ AI CCTV แจ้งเตือนคนขโมยรถในที่จอดรถ, แจ้งเตือนคนโดดตึกในศูนย์การค้า เป็นต้น ล้วนเป็นความซับซ้อนที่ต้องอาศัยการเก็บดาต้ามอนิเตอร์ในเชิงพฤติกรรมอีกมากเพื่อให้ AI เรียนรู้และนำมาพัฒนาระบบต่อไปได้
“นี่คือความท้าทายที่เจอ เพราะลูกค้าเคยเห็นเทคโนโลยีแบบนี้ในระดับโลก แต่ผมกลับคิดว่าโปรเจ็คต์ AI CCTV ตรวจจับคนโดดตึกเหมาะกับภาครัฐมากกว่า ในประเทศเกาหลีทำได้แล้ว โดยสั่ง AI CCTV มอนิเตอร์พฤติกรรมคนบนสะพาน ถ้ามีใครยืนคนเดียวโดยไม่ขยับตัวหรือขยับร่างกายลักษณะนี้เป็นระยะเวลาภายในกี่นาที จะมีความเป็นไปได้ที่จะกระโดดสะพาน ระบบจะทำการเตือนไปที่ศูนย์สั่งการ ก่อนที่เหตุจะเกิดขึ้น”
ตอนนี้ SKY ICT ยังไม่ได้เริ่มโปรเจ็คต์ลักษณะนี้ แต่ความท้าทายทำให้เริ่มเก็บเป็นข้อมูลว่า นี่คือ Pain Point ของภาคธุรกิจ เพื่อในอนาคตนำมาพัฒนาว่าโซลูชั่นไหนถึงจะตอบโจทย์รูปแบบความปลอดภัยให้เป็นคอมมอนยูส มากขึ้น
“ท้าทายตัวเองในสิ่งที่ทำได้และเป็นไปได้ สุดท้ายทุกสิ่งจะเชื่อมต่อกันเป็นเน็คเวิร์ค เพื่อเป็นสมาร์ทซิตี้ในอนาคต”
