งานพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค
ศาสตร์และศิลป์คู่แผ่นดินไทย
เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๗๒ พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม กำหนดทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในวันอาทิตย์ที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๗ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
ความงดงามตระการตาของขบวนเรือพระราชพิธีพยุหยาตราทางชลมารค พร้อมกับการเห่เรือและฝีพายอันพร้อมเพียงไปบนลำน้ำเจ้าพระยาในครั้งนี่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกองทัพเรือ โดยมีจำนวนเรือทั้งสิ้น ๕๒ ลำ ความยาว ๑,๒๐๐ เมตร กว้าง ๙๐ เมตร และใช้กำลังพลประจำเรือในขบวนเรือพระราชพิธีรวมทั้งสิ้น ๒,๒๐๐ นาย
ในส่วนขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค ๕๒ ลำ ประกอบด้วย
เรือพระที่นั่ง ๔ ลำ
เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นเรือพระที่นั่งเอกสำหรับในหลวงและพระราชินีเสด็จพราะราชดำเนินประทับ
เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ หรือ เรือสุพรรณหงส์ สร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยอยุธยา ลำปัจจุบันสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) แล้วเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) เมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๔ โขนเรือรูปหัวของหงส์ ลำตัวเรือทอดยาวคือส่วนตัวหงส์ จำหลักไม้ลงรักปิดทองประดับกระจกมีพู่ห้อย ปลายพู่เป็นแก้วผลึก ตอนกลางลำเรือมีประทับเรียกราชบัลลังก์กัญญา สำหรับพระเจ้าอยู่หัว หรือพระราชวงศ์ชั้นสูงเรือสุพรรณหงส์ ได้รับรางวัลยกย่องเป็นเรือมรดกโลก จาก “World Ship Trust” เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๕
เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่ ๙ เรือ (เป็นเรือพระที่นั่งรอง)
เป็นเรือพระที่นั่งกิ่งประเภทเรือรูปสัตว์ หนึ่งในเรือพระราชพิธี ในกระบวนพยุหยาตราชลมารค จัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาส พระราชพิธีกาญจนาภิเษก แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๙ โดยกองทัพเรือ ร่วมกับ กรมศิลปากร ได้นำโขนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ ที่สร้างขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ ๓ และ รัชกาลที่ ๔ มาเป็นต้นแบบ ซึ่งกองทัพเรือ สร้างในส่วนที่เป็นโครงสร้างเรือ พาย และคัดฉาก ส่วนกรมศิลปากร ดำเนินการในงานที่เกี่ยวกับ ศิลปกรรมของเรือทั้งหมด โขนเรือจำหลักรูปพระนารายณ์ ๔ กร ทรงเทพศาสตรา ตรีศูล คทา จักร และสังข์ ทรงเครื่องภูษิตาภรณ์ ใต้ครุฑเป็นช่องสำหรับปืนใหญ่ กลางลำเรือทอดบัลลังก์กัญญาและมีแท่นประทับ
เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช (อัญเชิญผ้าพระกฐิน)
เป็นเรือพระที่นั่งบัลลังก์ในขบวนพยุหยาตราชลมารค สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ลำปัจจุบันมีการสร้างใหม่ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) สำเร็จเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๗ โขนเรือเป็น “พญาอนันตนาคราช” หรือนาค ๗ เศียร โดยปกติจะใช้เป็นเรือพระที่นั่งรอง หรือเรือเชิญผ้าพระกฐิน หรือประดิษฐานบุษบกสำหรับพระพุทธรูปสำคัญ นับเป็นเรือพระที่นั่งที่มีความงดงามอีกลำหนึ่ง อนึ่ง เคยมีการพิมพ์รูปเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชด้านหลังธนบัตร ๒๐ บาท โดยจัดพิมพ์และใช้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๔ ซึ่งปัจจุบันเลิกพิมพ์แล้ว
เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ (เป็นเรือพระที่นั่งรอง)
สร้างขึ้นใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) แล้วเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕)
โขนเรือจำหลักปิดทองเป็นรูปนาคเล็ก ๆ จำนวนมาก ตอนกลางลำเรือมีราชบัลลังก์กัญญา เป็นที่ประทับเปลื้องเครื่องหรือเปลื้องพระชฎามหากฐินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เรือรูปสัตว์ ๘ ลำ เรืออสุรวายุภักษ์ เรืออสุรปักษี เรือกระบี่ปราบเมืองมาร เรือกระบี่ราญรอนราพณ์ เรือครุฑเหินเห็จ เรือครุฑเตร็จไตรจักร เรือพาลีรั้งทวีป และเรือสุครีพครองเมือง
เรือสุครีพครองเมือง เป็นเรือรูปสัตว์ในประเภทเรือเหล่าแสนยากร โขนเรือเป็นรูปสุครีพ (ลิงมีฤทธิ์กายสีแดง ตัวละครจากรามเกียรติ์ เป็นน้องชายของพาลี) ปิดทองประดับกระจก ภายในเรือมีสีแดง ภายนอกทาสีดำ เขียนลวดลายดอกพุตตานสีทอง หัวเรือมีช่องสำหรับติดตั้งปืนใหญ่ ๑ กระบอก สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ ซ่อมแซมอีกครั้งในรัชกาลที่ ๙ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔งานพระราชพิธีเมื่อน้ำเชี่ยว หรือต้องการให้เรือแล่นเร็วขึ้น ตลอดจนในกรณีที่ฝีพายไม่เพียงพอ ด้านข้างเรือทั้ง ๒ ลำวาดลวดลายเป็นตัวเหรา สัตว์ในป่าหิมพานต์ที่มีรูปร่างส่วนบนเป็นนาค ส่วนล่างเป็นมังกร
เรือพาลีรั้งทวีป เป็นเรือรูปสัตว์ในประเภทเรือเหล่าแสนยากร โขนเรือเป็นรูปพาลี (ลิงมีฤทธิ์กายสีเขียว ตัวละครจากรามเกียรติ์เป็นพี่ชายของสุครีพ) ปิดทองประดับกระจก ภายในเรือมีสีแดง ภายนอกทาสีดำ เขียนลวดลายดอกพุตตานสีทอง หัวเรือมีช่องสำหรับติดตั้งปืนใหญ่ ๑ กระบอก สร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๑
เรือครุฑเตร็จไตรจักร เป็นเรือรูปสัตว์ในประเภทเรือเหล่าแสนยากร โขนเรือเป็นรูปครุฑยุดนาคมีกายสีชมพู หัวเรือมีช่องสำหรับติดตั้งปืนใหญ่ ๑ กระบอก สร้างครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๑ ก่อนถูกระเบิดชำรุดซึ่งกรมศิลปากรเก็บหัวเรือและท้ายเรือไว้ โดยลำปัจจุบันสร้างใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๑
เรือครุฑเหินเห็จ เป็นเรือรูปสัตว์ในประเภทเรือเหล่าแสนยากร โขนเรือเป็นรูปครุฑยุดนาคมีกายสีแดง หัวเรือมีช่องสำหรับติดตั้งปืนใหญ่ ๑ กระบอก เดิมเรียกกันว่า “เรือครุฑเหิรระเห็จ” สร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๑ และบูรณะใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๙ เมื่อปี ๒๕๐๕
เรือกระบี่ราญรอนราพณ์ เป็นเรือรูปสัตว์ในประเภทเรือเหล่าแสนยากร โขนเรือเป็นวานรกายสีดำ เครื่องประดับกาย และผ้านุ่งลงรักปิดทองประดับกระจก หัวเรือมีช่องสำหรับติดตั้งปืนใหญ่ ๑ กระบอก
เรือกระบี่ปราบเมืองมาร เป็นเรือรูปสัตว์ในประเภทเรือเหล่าแสนยากร โขนเรือเป็นวานรกายสีขาว เครื่องประดับกายและผ้านุ่งลงรักปิดทองประดับกระจก หัวเรือมีช่องสำหรับติดตั้งปืนใหญ่ ๑ กระบอก สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ ก่อนจะถูกระเบิดเสียหายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ เหลือเพียงโขนเรือ โดยซ่อมแซมโขนและสร้างตัวเรือขึ้นใหม่ใน พ.ศ. ๒๕๑๐
เรืออสุรปักษี เป็นเรือรูปสัตว์ในประเภทเรือเหล่าแสนยากร โขนเรือเป็นรูปครึ่งยักษ์ครึ่งนก ส่วนบนเป็นยักษ์ ส่วนล่างเป็นนก มีองค์เป็นสีเขียว ปิดทองประดับกระจก ภายนอกทาสีดำ เขียนลวดลายดอกพุตตานสีทอง หัวเรือมีช่องสำหรับติดตั้งปืนใหญ่ ๑ กระบอก สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ และได้รับการซ่อมแซมในสมัยรัชกาลที่ ๙
เรืออสุรวายุภักษ์ เป็นเรือรูปสัตว์ในประเภทเรือเหล่าแสนยากร โขนเรือเป็นรูปครึ่งยักษ์ครึ่งนก ส่วนบนเป็นยักษ์ ส่วนล่างเป็นนก มีองค์เป็นสีม่วง หัวเรือมีช่องสำหรับติดตั้งปืนใหญ่ ๑ กระบอก สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ และถูกระเบิดทำลายลงในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก่อนจะสร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๙
เรือพิฆาต ๒ ลำ เรือเสือทยานชล และเรือเสือคำรณสินธุ์
ทั้ง ๒ ลำ หัวเรือเป็นรูปเสือ มีปืนจ่ารง ๑ กระบอก จัดเป็นเรือรบโบราณประเภทเรือพิฆาต ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ทั้ง ๒ ลำจะแล่นส่าย โดยเรือเสือทยานชลแล่นส่ายนอกด้านขวา และเรือคำรณสินธุ์แล่นส่ายนอกด้านซ้าย มีลักษณะคล้ายคลึงกับรูปวาดเรือพิฆาตในริ้วกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
เรือคู่ชัก ๒ ลำ เรือเอกไชยเหินหาว และเรือเอกไชยหลาวทอง
เป็นเรือคู่ชัก สำหรับใช้ช่วยชักลากเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ในงานพระราชพิธีเมื่อน้ำเชี่ยว หรือต้องการให้เรือแล่นเร็วขึ้น ตลอดจนในกรณีที่ฝีพายไม่เพียงพอ ด้านข้างเรือทั้ง ๒ ลำวาดลวดลายเป็นตัวเหรา สัตว์ในป่าหิมพานต์ที่มีรูปร่างส่วนบนเป็นนาค ส่วนล่างเป็นมังกร
เรือประตู ๒ ลำ เรือทองขวานฟ้า และเรือทองบ้าบิ่น
เป็นเรือประตูหน้าคู่แรกในขบวนพยุหยาตราชลมารค ตัวเรือได้รับความเสียหายจากระเบิดในสงครามโลกครั้งที่ ๒ กรมศิลปากรได้เก็บหัวเรือและท้ายเรือรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ ก่อนที่จะสร้างตัวเรือขึ้นใหม่ใน พ.ศ. ๒๕๐๗ โดยใช้หัวเรือเดิมและได้แกะสลักลวดลาย คาดหัว-ท้ายเรือ ปิดทองประดับกระจก พร้อมกับจัดทำเครื่องตกแต่งเรือใหม่
เรือกลอง ๒ ลำ เรืออีเหลือง และเรือแตงโม
จัดเป็นเรือกลองในขบวนพยุหยาตราชลมารค มีปี่ชวาและกลองแขกสำหรับบรรเลงลำละ ๖ นาย โดยเรืออีเหลืองจะอยู่หน้าสุดของริ้วสายกลาง เป็นเรือสำหรับรองผู้บัญชาการของขบวนเรือ ส่วนเรือแตงโม อยู่ในริ้วกลางหรือริ้วที่ ๓ หน้าเรือพระที่นั่ง เป็นเรือสำหรับผู้บัญชาการของขบวนเรือ
เรือตำรวจ ๓ ลำ
มีลักษณะคล้ายเรือแตงโมและเรือดั้ง มีพระตำรวจหลวง ชั้นปลัดกรม หรือข้าราชการในพระราชสำนักที่ทำหน้าที่เป็นองครักษ์ นั่งประจำ ๓ ลำ
เรือดั้ง ๒๒ ลำ
ทำหน้าที่ป้องกันกระบวนเรือหน้า เป็นเรือไม้ทาสีน้ำมัน ไม่มีลวดลาย ปัจจุบันหัวเรือปิดทอง ชื่อเรียกตามลำดับตั้งแต่ เรือดั้ง ๑ ถึงเรือดั้ง ๒๒
เรือแซง ๗ ลำ
คือเรือกราบ เป็นเรือเล็กและเร็ว จัดเป็นเรืออารักขาพระมหากษัตริย์ ไม่พบหลักฐานที่สร้าง มี ๗ ลำ มีชื่อเรียกตามลำดับตั้งแต่ เรือแซง ๑ ถึงเรือแซง ๗
สำหรับการจัดรูปขบวนเรือพระราชพิธี แบ่งออกเป็น ๕ ริ้ว ๓ สาย ดังนี้
ริ้วสายกลาง เป็นเรือสายสำคัญประกอบด้วยเรือพระที่นั่ง ๔ ลำ มีเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์
นอกจากนี้มีเรืออีเหลืองเป็นเรือกลองนอก เรือแตงโมซึ่งเป็นเรือของผู้บัญชาการขบวนเรือเป็นเรือกลองใน พร้อมด้วยเรือตำรวจนอก และเรือตำรวจ รวมทั้งสิ้น ๑๐ ลำ
ริ้วสายในขนาบข้างสายเรือพระที่นั่ง มีเรือทองขวานฟ้าและเรือทองบ้าบิ่นเป็นเรือประตูหน้า เรือเสือทยานชล และเรือเสือคำรณสินธุ์เป็นเรือพิฆาต เรือรูปสัตว์ ๘ ลำ และปิดท้ายริ้วสายในด้วยเรือเอกไชยเหินหาวและเรือเอกไชยหลาวทองซึ่งเป็นเรือคู่ชัก รวมทั้งสิ้น ๑๔ ลำ
ริ้วสายนอกประกอบด้วยเรือดั้งและเรือแซง สายละ ๑๔ ลำ รวมทั้งสิ้น ๒๘ ลำ
เส้นทางขบวนขบวนพยุหยาตราทางชลมารค
สำหรับเส้นทางเสด็จพระราชดําเนิน เริ่มต้นจากท่าวาสุกรี โดยจะมีการจอดเรือตั้งแต่หน้าสะพานกรุงธน ไปถึงหลังสะพานพระราม ๘ เรือจะเริ่มออกจากสะพานพระราม ๘ ผ่านป้อมพระสุเมรุ สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า โรงพยาบาลศิริราช กรมอู่ทหารเรือ ราชนาวิกสภา พระบรมมหาราชวัง หอประชุมกองทัพเรือ ถึงวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เป็นระยะทาง ๔.๒ กิโลเมตร
ในส่วนของกาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๗ ในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวราราม วันอาทิตย์ที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๗ ประพันธ์โดย พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย ประกอบด้วย ๔ บท ได้แก่ บทสรรเสริญพระบารมี บทชมเรือกระบวน บทบุญกฐิน และบทชมเมือง
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของภาพประวัติศาสตร์ พร้อมชื่นชมความงดงามของขบวนเรือพระราชพิธี อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมทั้งศาสตร์และศิลป์คู่แผ่นดินไทย ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งเดียวในโลกที่ปรากฏสู่สายตาอีกครั้ง
ขอขอบคุณภาพและข้อมูลจาก
: พระลาน
: กรมประชาสัมพันธ์ : https://www.prd.go.th/
: สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ The Royal Photographic Society of Thailand (RPST
: กองทัพเรือ Royal Thai Navy
#GMLive
#พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา๖รอบ
#ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค
#พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน