fbpx

พระราชพิธีสมมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระชนมายุได้ ๒๖,๔๖๙ เท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ 

ราชประเพณี

ด้วยวันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๘ เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมายุได้ ๒๖,๔๖๙ ถือเป็น สมมงคล (สะ – มะ – มง – คน) พระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑  สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ นับเป็นมหามงคลสมัยพิเศษยิ่ง

ความสำคัญของพระราชพิธีสมมงคล การบําเพ็ญพระราชกุศลถวายแด่สมเด็จพระบรมราชบูรพการี เป็นราชประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบกันมาช้านาน พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์จะทรงอนุสรณ์คํานึงถึงพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบรมราชบูรพการีในวาระต่าง ๆ เช่น ในวันที่ตรงกับการครองราชย์ มีทั้งโอกาสที่เวียนมาเป็นครั้งแรกมักเรียกว่า “สมมงคล” หมายถึง เสมอกัน หรือ “สมภาคา”  ถ้าเวียนมาเป็นครั้งที่สองก็เรียกว่า “ทวิภาคา” หรือ “ทวีธาภิเษก”  จะปรากฏแนวปฏิบัติเกี่ยวกับพระราชพิธีลักษณะนี้ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕

พระราชกุศลที่บําเพ็ญถวายแด่สมเด็จพระบรมราชบูรพการีของพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ นอกจากโอกาสวันดํารงสิริราชสมบัติเวียนมาพ้องกับวันสําคัญดังที่กล่าวมาแล้ว ยังมีพระราชประเพณีที่ทรงถือปฏิบัติในอีกหลายวาระ และวาระหนึ่งที่สําคัญ คือ วันที่พระชนมพรรษาเวียนไปเสมอเท่ากัน และ วันที่พระชนมพรรษามากกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งในรัชกาลที่ล่วงไปแล้ว ด้วยถือเป็นภาพลักษณ์ แสดงวัฒนธรรมที่ดีงามของพระมหากษัตริย์ของชาติไทยในการที่ทรงสร้างแบบอย่างความกตัญญูกตเวทิตา แสดงความเคารพรําลึกถึงบรรพชนปู่ย่าตายายที่ประกอบคุณความดีไว้แก่บ้านเมือง

และเนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุ ๒๖,๔๖๙ วัน เท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี ในวันอังคารที่ ๑๔ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๘ นี้ นอกจากพระราชพิธีสำคัญและกิจกรรมต่างๆ แล้ว สิ่งหนึ่งที่ต้องกล่าวถึงคือ ตราสัญลักษณ์

ความหมายของตราสัญลักษณ์

โดยเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๘ ที่ผ่านมาทาง กรมประชาสัมพันธ์ ได้เผยแพร่ตราสัญลักษณ์การจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี พุทธศักราช ๒๕๖๘ ซึ่งแบบตราสัญลักษณ์และความหมายประกอบด้วย

พระบรมราชสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พื้นสีน้ำเงิน ประดิษฐานคู่กับอักษรพระปรมาภิไธย ว.ป.ร. (มหาวชิราลงกรณ ปรมราชาธิราช) ในกรอบพุ่มเข้าบิณฑ์ พื้นสีน้ำเงิน ระหว่างเบื้องบนดวงพระตราทั้งคู่ มีพระแสงจักร – ตรี หมายถึง ทรงเป็นสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราช ในพระบรมราชจักรีวงศ์

ด้านล่างมีรูปเศียรนาคด้านอัด หมายถึง พระนักษัตรปีมะโรง อันเป็นปีพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ว่าทรงเจริญพระชนมพรรษาเสมอกัน ดวงพระตราทั้งสองนั้นประดิษฐานอยู่ในปทุมอุณาโลม อันเป็นพระบรมราชสัญลักษณ์แห่งปฐมบรมราชวงศ์บนพื้นสีเขียว อันเป็นวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ขนาบด้วยฉัตรขาวแบบโบราณอันเนื่องด้วยตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาลปัจจุบัน

เบื้องบนสุดประดิษฐานพระมหาพิชัยมงกุฎ เบื้องล่างเป็นแพรแถบเศียรนาคสื่อถึงพระนักษัตรปีพระบรมราชสมภพของทั้งสองพระองค์ มีอักษรสีทองความว่า “พระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช” บนพื้นสีน้ำเงินแสดงสีขัตติยชาติ

เบื้องล่างสุด เป็นกรอบลายนาคมีอักษรสีเงินความว่า “๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๘” บนพื้นสีหงชาด (ชมพู) อันเป็นสีซึ่งเป็นอายุแห่งวันพระบรมราชสมภพ

ผู้ออกแบบ  : นางสาวเพ็ชสุภา รัตนเพชร

ที่มา :  พระลาน

           กรมประชาสัมพันธ์

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ