fbpx

ผศ.ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์ กับแนวคิดใหม่เพื่อเมือง

เรื่อง: บุญรัตน์ ศักดิ์บูรณพงษา

หลายปีมานี้เมืองไทยเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง (คาดไม่ถึง) รอบด้าน ไม่ว่าความผันผวนของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ประเภทฝนตก-น้ำท่วม-รถติด, โรคระบาดที่เกิดพร้อมกันทั้งโลก (โควิด-19), การขยายตัวของเมืองเนื่องจากการหลั่งไหลเข้ามาของผู้คนตามความเจริญของเมือง นี่ยังไม่รวมปรากฏการณ์ดิจิทัล ดิสรัปชั่น ที่เป็นตัวเร่งให้ต้องปรับเปลี่ยนก้าวกระโดดในทุกมิติ

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ก่อให้เกิดประเด็นฉุกคิดถึง ‘ความพร้อมของเมือง’ ที่จำเป็นต้องปรับตัว เพื่อมารับมือต่อการเปลี่ยนแปลงให้ครบทุกด้าน ทั้งสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

เพราะที่ผ่านมา อาจไม่ทันนึกมาก่อนเลยว่า ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ l ค่าครองชีพ l การขนส่ง l การพัฒนาเมือง l ผังเมือง l โครงสร้างพื้นฐาน แท้จริงแล้วทั้งหมดนี้เกี่ยวโยงกันไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

นอกจากหน่วยงานภาครัฐผู้รับผิดชอบโดยตรงแล้ว หน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมือง แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Urban Futures and Policy Research Unit) ยังเป็นฟันเฟื่อนเล็กๆ ที่มาช่วยขับเคลื่อนให้เกิดเมืองพลวัต (Resilient City) โดย ผศ.ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมืองมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าหน่วยวิจัยฯ จะมาแชร์การทำงานที่นำไปสู่การปรับตัวของเมือง ตลอดจนข้อเสนอแนะเพื่อให้เมืองสามารถตั้งรับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ดีขึ้น

“หลักๆ แล้วหน่วยงานฯ ทำงานวิจัย เพื่อสนับสนุนให้เกิดการปฏิบัติจริงได้ โดยการวิจัยจะเน้นการลงพื้นที่จริงและเข้าถึงคนที่ได้รับผลกระทบจริงๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีผลต่อการพัฒนาเมืองในอนาคต ส่วนที่สองจะเป็นการทำโครงการเชิงสร้างความร่วมมือ ไม่ใช่แค่วิจัยแล้วจบไป แต่ต้องการให้เกิดการปฏิบัติจริง ฉะนั้นเราจึงมี Global Collaboration ซึ่งหัวข้อที่ทำส่วนใหญ่เป็นประเด็นขับเคลื่อนในระดับสากลที่ต้องลงมาทำงานในระดับท้องถิ่น จึงต้องมีความสอดคล้องกัน”

“ดังนั้นหน่วยวิจัยฯ ของเราจึงมีบทบาทคล้ายๆ ศูนย์กลางการขับเคลื่อนเรื่องเมืองให้ได้อย่างยั่งยืน ไม่ใช่ศูนย์รวมความรู้” อาจารย์วิจิตรบุษบาเล่าถึงการทำงานที่เน้นให้เกิดการนำไปใช้งานได้จริง

เป็นเวลากว่า 6 ปีแล้ว ที่หน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมืองฯ ก่อตั้งขึ้น เพื่อเป็นหน่วยวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนของเมืองและการปรับตัว (Urban Sustainability) เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเมืองรอบด้าน (Global Change) มีเป้าหมายหลักยกระดับคุณภาพชีวิตคนในเมืองทุกระดับ ผ่านการนำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและตีพิมพ์ผลงานวิจัย ตลอดจนส่งเสริมกระบวนการพัฒนาเมืองอย่างมีส่วนร่วม รวมถึงเชื่อมโยงเครือข่ายนักวิจัยด้านเมืองยั่งยืนทั้งในระดับประเทศและระดับโลก

แต่ถ้านับจุดเริ่มต้นของหน่วยงานนี้ ต้องย้อนกลับไปพ.ศ. 2554 ปีที่คนไทยต่อสู้กับอุทกภัยครั้งใหญ่ ขณะที่กระแสสังคมส่วนใหญ่มองการแก้ปัญหานี้เพียงการบริหารจัดการน้ำ แต่มองข้ามบริบทของเมืองที่ไม่ได้ออกแบบมาให้รับมือกับน้ำท่วม นั่นจึงเป็นก้าวแรกนำไปสู่ไอเดียในการริเริ่มหน่วยงานนี้

“ตอนนั้นเมืองไทยยังไม่มีหน่วยงานทำงานแนวนี้ ส่วนใหญ่เน้นงานออกแบบหรือการวางผังมากกว่า คือมีคนออกแบบ-คนวางผัง แต่ไม่มีข้อมูลเชิงพื้นที่ที่จะมาปรับตรงนี้ และไม่ใช่แค่ข้อมูลเชิงเทคโนโลยีจากแผนที่ดาวเทียมเท่านั้น แต่ต้องมีข้อมูลคนในพื้นที่ด้วย เพราะเขาคือคนได้รับผลกระทบตรง”

ที่ผ่านมาหน่วยงานฯ ขับเคลื่อนงานพัฒนาเมืองมาหลากหลายประเด็น ปัจจุบันมีโครงการน่าจับตาอย่างโครงการ The Global Future Cities Programme ที่ทำงานร่วมกับรัฐบาลอังกฤษ UK Foreign, Commonwealth Office (FCO) และบริษัทที่ปรึกษาของอังกฤษ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเมืองยั่งยืนใน 19 ประเทศทั่วโลก โดยหน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมือง ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร ดำเนินการในส่วนงาน Transit-Oriented Development (TOD) : คลองบางหลวง บริเวณสถานีบางหว้า เน้นชูแนวคิด Equitable TOD เพื่อส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดความเท่าเทียม ทั้งกับผู้อยู่อาศัยเดิมและผู้อยู่อาศัยใหม่อย่างยั่งยืน

สำหรับ TOD เป็นแนวคิดสากลที่ว่าด้วยการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนสาธารณะ มีต้นกำเนิดมาจากอเมริกา ซึ่งประเทศไทยก็มีการนำมาใช้ในหลายพื้นที่

แต่ถ้ายกตัวอย่างโมเดลที่หยิบแนวคิดนี้มาประยุกต์ใช้ได้เกิดประโยชน์ที่สุด ต้องยกให้ ‘ญี่ปุ่น’ เนื่องจากญี่ปุ่นมีข้อจำกัดทางพื้นที่ ทำให้การมิกซ์ยูสพื้นที่รอบสถานีขนส่งสาธารณะ (Transit node) ได้เสมือนเป็นเมืองย่อมๆ แบบ One Stop Service ทั้งแนวราบและแนวตั้ง รวมทั้งดีไซน์ตัวบทกฎหมายอื่นๆ เข้ามาสนับสนุนด้วย เช่น FAR Bonus (Floor Area Ratio Bonus : การเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน)

อย่างถ้าเอกชนต้องการสร้างอาคารสูงเกินกว่าที่ผังเมืองอนุญาตในพื้นที่ TOD กฏหมายจะมีเงื่อนไขให้ทำโครงการกลับคืนสู่สังคมเป็นการชดเชย เช่น ที่จอดรถ, บ้านพักคนชรา เป็นต้น

“การใช้แนวคิด TOD ไม่ใช่เรื่องใหม่ เมืองไทยเองก็มีการใช้ TOD ในหลายพื้นที่ แม้แต่การกำหนด FAR Bonus มีการนำไปใช้กับ TOD แล้วด้วยตามผังเมืองรวม เพียงแต่อาจไม่แพร่หลายและไม่ได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับสาธารณะเป็นรูปธรรมเท่าไหร่ แต่ถ้าพูดถึงมิติการสร้างความเท่าเทียมในพื้นที่แบบ Equitable TOD เมืองไทยยังไม่เคยมี และจะเป็นประเด็นสำคัญที่จะนำมาใช้ในโครงการที่จะทำร่วมกับหน่วยงานอังกฤษ โดยใช้ร่วมกับกลไกทางการเงินอื่นๆ ด้วย”

“อย่างแนวทาง TOD ที่ทำให้คนในพื้นที่ได้ประโยชน์ ไม่ใช่แค่ช่วยเรื่องเดินทางสะดวกเท่านั้น แต่คนในพื้นที่เดิมต้องไม่ถูกไล่ออกไปด้วยไม่ว่าทางตรงทางอ้อม ยกตัวอย่างมูลค่าที่ดินเดิมอาจไม่ได้สูง พอรถไฟฟ้ามาถึงพื้นที่จะกลายเป็นย่านที่แพงขึ้น ที่ดินราคาสูงขึ้นตามกลไกตลาด คนในพื้นที่เดิมจะได้รับอิทธิพลตรงนี้ จากเดิมเคยเช่าบ้านในราคาเท่านี้ แต่ทุกอย่างถีบตัวขึ้น เขาจำใจต้องออกไป เพราะจ่ายค่าครองชีพที่สูงขึ้นไม่ไหว”

ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่าการปรับตัวของเมืองเกี่ยวข้องกับค่าครองชีพอย่างแยกกันไม่ได้ แต่การพัฒนาเมืองในไทยทุกวันนี้กลับสวนทางกับคุณภาพชีวิตของผู้คนในอนาคต โดย ผศ.ดร.วิจิตรบุษบา วิเคราะห์ว่า ผังเมืองมักนำศักยภาพที่ดิน เส้นทางถนนหรือการวางโครงสร้างพื้นฐานเป็นตัวตั้ง แล้วที่ดินก็เจริญไป แต่ให้คนไปปรับตัวกันเองว่าจ่ายไหวที่ตรงไหนก็อยู่ตรงนั้น โดยไม่ได้นำความต้องการของคนในพื้นที่เป็นตัวตั้ง

เมื่อเมืองไม่ปรับตัว-ไม่รองรับการเปลี่ยนแปลงจะเกิดอะไรขึ้น?

“ในอนาคตคนที่อยู่ในเมืองจะไม่ใช่ผู้สูงวัย แต่เป็น Gen Z ซึ่งจะเป็นแรงงานหลัก คนกลุ่มนี้มีพฤติกรรมการบริโภคต่างจากเจนฯ อื่น คือ เลือกเมืองก่อนงาน ไม่ลงทุนอสังหาริมทรัพย์ นี่คือดีมานด์ที่เปลี่ยนไป ในขณะที่เมืองไม่ได้ปรับตัว ฉะนั้นคนที่อยู่ในเมืองกลุ่มนี้จะลำบาก กระทบค่าครองชีพของเขา เพราะคนกลุ่มนี้ไม่ได้มีกำลังขนาดนั้น และเมืองไม่ได้ดึงดูดเขา”

“นี่แค่มิติเมืองไม่ปรับตัว ยังไม่ได้พูดถึงปัจจัยภายนอกอื่นๆ เช่น น้ำท่วม น้ำแล้ง ซึ่งเมืองไม่ได้คิดเรื่องนี้ในการวางแผนพัฒนา เพราะคิดอยู่บนพื้นฐานเดิม คือแค่มีโครงสร้างพื้นฐานแล้วคิดว่าเศรษฐกิจจะดีตาม” ผู้เชี่ยวชาญคนเดิมฉายภาพปัญหาอนาคต ถ้าเมืองไม่ปรับตัว

มาถึงจุดนี้ต้องเคลียร์มายด์เซ็ตก่อนว่า ประเทศไทยยังมีผังเมืองอยู่ เพียงแต่การพัฒนาเมืองกับผังเมืองไม่เหมือนกัน ผังเมืองเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งของรัฐในการพัฒนาเมือง แต่การพัฒนาเมืองเป็นการทำงาน ให้เกิดการลงทุนและพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติ

“พูดภาพรวมในเชิงผังเมืองมีเครื่องมือหลากหลาย ถือว่าเป็นข้อดี ทั้งการจัดรูปที่ดิน การวางและจัดทำผังหลายระดับ มีกฎหมายที่จะพยายามปรับปรุงผังเมืองให้ดีขึ้น เพียงแต่มีข้อจำกัดในการนำไปใช้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาเมืองที่ดี แต่ในเชิงการแก้ไขต้องยอมรับว่าจะไปรื้อทุกอย่างไม่ได้ แต่ควรมองในเชิงการปรับ Strategic Urban Planning ที่ผังเมืองต้องนำเอามาคิดเพื่อตอบโจทย์อนาคตที่ไม่รู้จะเป็นอย่างไร”

สรุป 3 แนวทางการวางผังเมืองเชิงกลยุทธ์ โดย ผศ.ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์

  • 1.Housing : ต้องคิดเรื่องที่อยู่อาศัยเป็นตัวตั้ง และต้องเป็นที่อยู่อาศัยที่คนเข้าถึงได้ ควรคิดเป็นจำนวนยูนิตในแต่ละย่าน ที่สำคัญต้องเป็นที่อยู่อาศัยที่คนเข้าถึงได้ ไม่เช่นนั้นผู้คนก็ต้องเดินทางต่อไป
  • 2.Climate Change : นำประเด็นนี้มาโจทย์ในการวางแผนด้วย ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัว, การใช้พลังงาน, การมีพื้นที่สาธารณะ, การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือคิดไปถึงการสำรองพื้นที่เผื่อรองรับน้ำที่ต้องนำมาปรับใช้ควบคู่ไปกับการวางผังเมืองโซน เพราะย่านแต่ละย่านมีความเสี่ยงไม่เหมือนกัน
  • 3.Transportation : ทำอย่างไรให้ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวให้มากที่สุด อย่างที่รู้กันว่าการใช้รถยนต์ส่วนตัวส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตคน อย่างในต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศสมี 15 minute city concept แล้ว คือสามารถใช้ชีวิตทุกอย่างได้ระยะ 15 นาทีในย่าน หมายความว่าย่านที่ดีต้องเป็นย่านที่มีทุกอย่างตอบโจทย์ชีวิต
Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ