‘Reciprocal Tariff: กำแพงภาษีทรัมป์ 2.0 กับระเบียบโลกใหม่ที่น่ากังขา’

สถานการณ์โลกที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เชื่อว่าคงไม่มีอะไรสั่นไหวต่อทุกองคาพยพของโลกยุคใหม่ได้เท่ากับ ‘การขึ้นกำแพงภาษี’ ของรัฐบาล ‘ทรัมป์ 2.0’ อีกแล้ว และเป็นสิ่งที่มีนัยสำคัญอย่างยิ่ง เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ตัดสินใจขึ้นภาษีนำเข้ากับประเทศต่างๆ เป็นขนานใหญ่ ความสัมพันธ์ของสหรัฐอเมริกากับนานาประเทศใน ‘ระเบียบโลกใหม่’ ก็กลายเป็นที่กังขาไปโดยปริยาย
การขึ้นภาษีของทรัมป์ในครั้งนี้ มีการยกอ้างเหตุผลเพื่อปรับระดับความสัมพันธ์ของสหรัฐอเมริกากับนานาประเทศ ให้กลับเข้ามา ‘สวามิภักดิ์’ ต่อกฏระเบียบที่มีอเมริกาเป็นคนกำหนด เฉกเช่นเดียวกับที่เคยเป็นมาเมื่อสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
แน่นอนว่า มันเป็นศึกที่สู้รบและเข้าเนื้อ บาดเจ็บกันทุกฝ่าย ประเทศที่ถูกขึ้นภาษีก็ตกอยู่ในที่นั่งลำบาก และต้องพิจารณาแนวทางในการตอบโต้การขึ้นภาษีอย่างบ้าคลั่ง ทางฝั่งอเมริกา ก็จะประสบกับปัญหาเงินเฟ้อ ตลาดหุ้นสั่นไหวไม่แน่นอน และการถอนตัวของภาคการผลิตต่างประเทศ ที่จะไปหาตลาดใหม่ที่เหมาะสมยิ่งกว่า
แนวคิดของทรัมป์นั้นเป็นแนวทางเก่า ที่เชื่อเรื่องการแยกตัวเป็นเอกเทศ (Isolationist) และมั่นใจในกำลังการผลิตภายในประเทศ ว่าจะสามารถทดแทนและชดเชยการขาดไปของภาคการผลิตและการลงทุนจากต่างประเทศ และจะสามารถกำหนดที่ทาง ไปจนถึงสามารถ ‘ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้’ กับประเทศอื่นๆ ได้อย่างใจ
แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือการ ‘จัดระเบียบโลกใหม่’ ที่ไม่เพียงแต่จะเกิดขึ้นกับสหรัฐอเมริกา แต่รวมถึงนานาประเทศ ที่จะทบทวนจุดยืนความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาใหม่ เมื่อพวกเขาพบว่า พี่ใหญ่สหรัฐฯ อาจไม่ใช่เพื่อนที่ดีที่เชื่อถือได้เฉกเช่นในอดีตที่เคยเป็นมา
ในจังหวะนี้ ประเทศใหญ่ในฟากตะวันออกอย่างจีนแผ่นดินใหญ่ก็จะเริ่มขยับ และแผ่อิทธิพลไปยังประเทศอื่นๆ โดยอาศัยสถานการณ์ที่ความสัมพันธ์นานาประเทศกับอเมริกามีความไม่แน่นอน ไปจนถึงสหภาพยุโรป ที่อาจจะปรับท่าทีกับอเมริกา เมื่อพิจารณาว่า ความช่วยเหลือทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ที่เคยได้รับในอีกฟากฝั่งของมหาสมุทรแอตแลนติก อาจจะน้อยลง จนถึงไม่มีในอนาคตภายภาคหน้า
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ได้รับผลกระทบที่ไม่แตกต่างกัน ด้วยกำแพงภาษีที่ขึ้นสูงระดับ 30-35 เปอร์เซ็นต์ สหรัฐอเมริกาหวังอย่างยิ่ง ว่าจะสามารถหมุนมือเด็ก ให้ทำตามได้อย่างใจ เวียดนามเป็นชาติแรกที่แบไต๋ ลดกำแพงภาษีสินค้าอเมริกาลงเหลือ 0 เปอร์เซ็นต์ ที่นักวิเคราะห์ต่างมองว่า ยอมแพ้และสวามิภักดิ์เร็วเกินไป และอาจจะกระทบต่อความสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่ในมิติต่างๆ อย่างมีนัยสำคัญ
แต่ไม่ใช่ทุกประเทศที่จะยอมอ่อนข้อไปง่ายๆ สิงคโปร์ประกาศชัดเจนกับประชาชน ให้เตรียมรับ ‘แรงกระแทก’ ที่จะตามมาเป็นระลอก ในการขึ้นกำแพงภาษีใหม่ เป็นการประกาศว่าจะไม่ยอมอ่อนข้อให้ง่ายๆ และเมื่อมองว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านทรัพยากรมนุษย์และเทคโนโลยี ภาพที่จะออกมาในอนาคตยิ่งน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
เอาเข้าจริงแล้ว การขึ้นกำแพงภาษีอย่างสุดโต่งของทรัมป์ เป็นไปเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดดุลและปัญหาเศรษฐกิจที่สะสมค้างคามาจากยุครัฐบาลก่อนหน้า หากแต่มันอาจจะเป็น ‘คำตอบที่ผิด ในคำถามที่ถูก’ เพราะเมื่อมองว่า ระบบเศรษฐกิจแบบโลกาภิวัฒน์ ได้สร้างเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่จำเป็นต้องมีความร่วมมือร่วมใจของนานาประเทศ การประกาศแนวทาง ‘กำปั้นทุบดิน’ เช่นนี้ จึงเป็นความสุดโต่ง ที่น่าติดตามอย่างยิ่ง ว่าจะนำเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ถอยกลับไปไกลเพียงใด
ในตอนนี้ การประท้วงของประชาชนชาวสหรัฐฯ ที่มีต่อทรัมป์ กำลังขยายวงกว้างไปตามเมืองต่างๆ แต่เมื่อพิจารณาว่าคนอย่างทรัมป์นั้น หาความแน่นอนไม่ได้ และเป็นสาย ‘โบราณ’ ด้านเศรษฐกิจ พยายามจะเอาชนะคะคาน และเดินตามแนวทาง ‘America Great Again’ การยอมถอยให้กับเรื่องกำแพงภาษีจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก จนถึงเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะกับจุดยืนที่ต้องรักษาเอาไว้ เพื่อให้ยังคงมีฐานคะแนนเสียงกลุ่มเดิมคอยติดตามอยู่
เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา และเศรษฐกิจโลก ไปจนถึงระเบียบโลกใหม่ จะมีการเปลี่ยนโฉมหน้าอย่างมีนัยสำคัญในระยะเวลา 5-10 ปีถัดจากนี้อย่างแน่นอน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งล่าสุด ที่ทรัมป์ขึ้นกำแพงภาษีจีนแผ่นดินใหญ่ทะยานไปถึง 104 เปอร์เซ็นต์ ก็ยากที่ยักษาสองตัวจะยอมวางมือกันง่ายๆ ประเทศใหญ่น้อยแวดล้อมรอบด้าน ก็คงต้องเตรียมรับแรกกระแทกที่จะตามมากันให้ดีๆ
ไม่ว่าคลื่นที่ว่า จะเป็นแรงกระแทกด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรือวัฒนธรรมเองก็ตาม
