ตรวจชีพจรอสังหาฯ ไทย…หลังโควิด-19 จาง
นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทย ก็ได้รับผลกระทบจากการที่ยอดโอนกรรมสิทธิ์ของผู้ซื้อต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนที่ลดลงอย่างมาก
แน่นอนว่าเศรษฐกิจที่ซบเพราะผลกระทบจากโควิด-19 ย่อมส่งผลต่อตลาดอสังหาฯ แบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยรายงานจาก Economic Intelligence Center หรือ EIC ของธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ประเมินเศรษฐกิจโลกปี 2563 ว่าจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และ GDP น่าจะหดตัวจนถึงขั้นติดลบที่ 5.6% ซึ่งมาจาก 4 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่
1. เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย
2. จำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงมากกว่าคาด
3. ผลกระทบต่อการบริโภคจากการประกาศปิดเมือง
4. ผลจากมาตรการการเงินและการคลังล่าสุด รวมถึงมาตรการอัดฉีดเพิ่มเติมของภาครัฐผ่าน พ.ร.ก. กู้ฉุกเฉิน ที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินเพิ่มเติมอีกประมาณ 2 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หากการแพร่ระบาดจบเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ จีดีพีของไทย มีโอกาสหดตัวลดลงอยู่ที่ 3.2% แต่ถ้าหากสถานการณ์รุนแรงและยืดเยื้อมากกว่าที่คาดไว้ ก็อาจทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวและภาคส่งออกของไทยปรับลดลงมากกว่าเดิม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังภาคเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน จึงมีแนวโน้มทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2563 หดตัวได้มากถึง 7.2%
เศรษฐกิจซบกระทบอสังหาฯ
จากเดิมที่ช่วงต้นปี พิษโควิด-19 กระทบตลาดอสังหาฯ ในกลุ่มลูกค้าต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีน แต่เมื่อเหตุการณ์ลากยาวเป็นเวลาหลายเดือนจึงส่งผลกระทบต่อทั้งกลุ่มตลาดในประเทศด้วย เนื่องจากมีการลดค่าแรงไปจนถึงเลิกจ้างงานเกิดขึ้น จึงมีผลต่อกำลังซื้อภายในประเทศ
โดยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ คาดว่าเหตุการณ์นี้จะส่งผลรุนแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศในปี 2563 อาจทำให้ภาพรวมหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ฯ ลดลงประมาณ 333,000-312,000 หน่วย หรือลดลง 11.1% ถึง 16.7% และมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ฯ ลดลง 755,000-726,000 ล้านบาท หรือลดลง 13.8% ถึง 17.1% ซึ่งจะมีหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ฯ ในรอบ 5 ปี แม้ว่ายังคงมีนโยบายกระตุ้นภาคอสังหาฯ ในการลดค่าธรรมเนียมการโอนและค่าจดจำนองให้เหลือประเภทละ 0.01% อยู่ถึงปลายปี 2563 ก็ตาม
ผู้ประกอบการอสังหาฯเร่งปรับตัว
นับตั้งแต่มีการขอความร่วมมือในการสร้าง Social Distancing มาจนถึง Physical Distancing เพื่อความปลอดภัย ทำให้การออกมาดูโครงการถึงสถานที่จริงลดลงไปมาก ดังนั้นผู้ประกอบการอสังหาฯ หลายรายจึงได้ปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์
โดยมีการนำแพลตฟอร์มออนไลน์มาช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าเข้าชมโครงการได้ในทุกรายละเอียดโดยใช้ VDO Streaming หรือ Virtual Reality โดยไม่ต้องมาถึงสถานที่จริงหรือสำนักงานขาย และสามารถเลือกเวลาเข้าชมได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไปจนถึงการพูดคุยกับฝ่ายขายผ่าน VDO Call หรือ Live Chat ได้สะดวกรวดเร็วและปลอดภัย ซึ่งรองรับการขายได้ทั้งลูกค้าคนไทยรวมถึงลูกค้าต่างชาติที่ไม่สะดวกในการเดินทางก็สามารถซื้อได้เช่นกัน
นอกจากการเข้าชมเว็บไซต์ของผู้ประกอบการหรือของโครงการเองโดยตรงแล้ว ยังมีการนำโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คและช่องทางอีคอมเมิร์ซมาปรับใช้เพราะตอบโจทย์พฤติกรรมลูกค้าในภาวะวิกฤตินี้ที่เลือกซื้อสินค้าทางออนไลน์เป็นหลัก
เป็นไปได้ว่าในอนาคตหลังจากที่สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 จบลง เราจะเห็นพฤติกรรมการซื้อ-ขายอสังหาฯ ที่เปลี่ยนไปจากเดิมมากขึ้น ช่องทางออนไลน์จะมีบทบาทสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อกว่าที่ผ่านมาอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม จากเดิมที่ก่อนหน้านี้ช่องทางขายอสังหาฯ ผ่านอีคอมเมิร์ซอาจเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของแผนทางการตลาดสำหรับผู้ประกอบการเท่านั้น
บทสรุปตลาดอสังหาฯหลังวิกฤติโควิด-19
จากรายงาน DDproperty Thailand Market Index Q2 2563 พบว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทยในปี 2563 มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยมีสัญญาณมาตั้งแต่ปลายปี 2562 ที่ราคาและกำลังซื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง จากสภาพเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว หนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง และการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
นอกจากนี้ ในรายงานยังพบอีกว่า ราคาและกำลังซื้อในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2563 ยังคงลดลง โดยตัวชี้วัดด้านราคาลดลง 1% จากไตรมาสก่อนหน้า และลดลงถึง 9% ในรอบ 1 ปี ส่วนตัวชี้วัดกำลังซื้อลดลงมาอยู่ระดับชะลอตัวจากไตรมาสก่อนหน้า
สัญญาณดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า จำนวนโครงการใหม่ของผู้ประกอบการ และโครงการบ้านมือสองจากฝั่งผู้บริโภคต่างลดน้อยลงในตลาด เนื่องจากมีการชะลอการนำสินค้าออกมาขาย เพื่อรอผลตอบแทนที่ดีกว่าหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย
ส่วนโครงการที่มีออกมาขายในตลาดแล้วต่างแข่งขันกันด้วยโปรโมชั่นลด แลก แจก แถมต่างๆ จึงเป็นโอกาสทองของผู้ซื้อที่มีความพร้อมที่จะได้บ้าน ทาวน์เฮ้าส์ หรือคอนโดมิเนียมราคาไม่แพงมาไว้ครอบครอง หรือขยายพอร์ตการลงทุน เพื่อรับผลประโยชน์จากมูลค่าของสินทรัพย์ที่มีโอกาสเพิ่มขึ้นในอนาคต
แต่ถ้ามองในภาพรวมตลาดอสังหาฯ คงไม่สามารถกลับมาคึกคักได้อย่างรวดเร็ว เพราะต้องใช้เวลาปรับตัวเพื่อฟื้นฟูทั้งสภาพจิตใจ เศรษฐกิจ และกำลังซื้อให้กลับมาดังเดิม
ที่มา: Ddproperty
#GMLive #Vision #อสังหาริมทรัพย์ #เศรษฐกิจไทย