รัฐสภา มหาชน: พาไปพายตามสายน้ำเลื่อนไหล พายไปตามหัวใจนำทาง
สำหรับประเทศไทย หากจะนับปริมาณลำคลองและแม่น้ำใหญ่หลากสาย ที่พาดผ่านตามส่วนต่างๆ ของภูมิภาคแล้วนั้น ก็นับได้ว่าเป็นประเทศที่มีวิถีชีวิตที่ ‘ติดริมน้ำ’ มาตั้งแต่ยุคสมัยเก่าก่อน จากบันทึกและเรื่องเล่าขานที่สืบทอดต่อกันมา วิถีชีวิตชาวไทยไม่เคยออกห่างจากน้ำ และสายน้ำก็เลื่อนไหล นำพาชีวิต การค้าขาย และส่งผ่านประเพณีต่างๆ อันเป็นที่จดจำแก่คนรุ่นเก่าก่อนอยู่ไม่น้อย
กระนั้นแล้ว การพัฒนาเมืองในยุคปัจจุบัน ทำให้ช่องทางของแม่น้ำลำคลองที่เคยเชื่อมต่อถึงกัน ต้องขาดสะบั้น แทนที่ด้วยถนนหนทาง เพื่อตอบสนองต่อปัจจัยการเดินทางด้วยการขนส่งยานยนต์ที่เพิ่มเข้ามา และทำให้ชีวิตของผู้คน ออกห่างจากสายน้ำ มากขึ้นไปทุกขณะ
แต่สำหรับ รัฐสภา มหาชน หรือ ‘พี่เขียด’ เจ้าของเพจ ‘พาไปพาย’ ผู้พร้อมนำผู้สนใจ กลับมาสู่วิถีแห่งสายน้ำ ด้วยการ ‘พายเรือ’ อันเป็นกิจกรรมที่ค่อยๆ ได้รับความนิยมสำหรับผู้ชื่นชอบการผจญภัย และอยากสัมผัสกับชีวิตแบบเก่าก่อน ที่มาร่วมพูดคุยกับ GM Live ถึงที่มาที่ไป แง่มุมของการพายเรือ แนวคิดเบื้องหลัง และเสน่ห์ของสายน้ำจากการปล่อยใจให้ล่องลอยตามเส้นทางแห่งแม่น้ำลำคลองกันในครั้งนี้
GM Live จะค่อยๆ พาคุณผู้อ่านไปพูดคุยกันแบบสบายๆ เหมือนการพัดพายไปตามสายน้ำ ปล่อยใจให้สงบ แล้วร่วมรับชมบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ไปพร้อมกัน
จากไตรกีฬา สู่การพายแห่งสายวารี
หากดูจากบุคลิกที่ได้พูดคุยกับ พี่เขียด รัฐสภา มหาชน แล้วนั้น เสียงที่นุ่มทุ้มและอ่อนโยน ทำให้เผลอคิดไปว่า เขาต้องเป็นคนที่อยู่กับโลกแห่ง ‘การพายเรือ’ ตามสายน้ำมาอย่างเนิ่นนาน ปล่อยใจให้ไหลผ่านกระแสโดยไม่เร่งร้อน ซึ่งนั่นเป็นความจริง แต่เป็นความจริงแค่เพียงครึ่งหนึ่ง เพราะในอีกครึ่งสำหรับจุดเริ่มต้น อาจจะเรียกได้ว่า ‘ทรหด’ ยิ่งกว่านั้น
‘ส่วนตัวเป็นคนชอบเล่นกีฬากลางแจ้งอยู่แล้วครับ เมื่อประมาณ 7-8 ปีก่อน จะหนักไปทางไตรกีฬา’ พี่เขียดกล่าวถึงจุดเริ่มต้น ‘ลงแข่งทั้ง Ironman ทั้ง Marathon ทั้ง Trail ผมจัดหนักๆ แล้วว่ายน้ำ 7 กิโลเมตรไปกลับเกาะเสม็ด’
และจากจุดเริ่มต้นนั้นเอง ที่พี่เขียด ได้สัมผัสกับ ‘การพายเรือ’ เข้าอย่างจริงจัง
‘ตอนนั้น ได้มีโอกาสลงแข่ง Adventure Race ที่ต้องเปลี่ยนชนิดกีฬาไปเรื่อยๆ แล้วหนึ่งในนั้น คือการพายเรือครับ’ พี่เขียดอธิบาย ‘ตอนผมพายนี่ ผมไม่ได้พายเก่งอะไร แรงแทบหมดเลย แต่รู้สึกดีมาก เพราะไม่ได้พายเรือมานานจริงๆ’
เมื่อได้สัมผัสกับสายน้ำ และโลกแห่งการพายเรือครั้งหนึ่ง ย่อมมีครั้งที่สองตามมา และเป็นจุดที่ย้ำชัดว่า การพายเรือ จะไม่ห่างออกจากชีวิตของพี่เขียดไปอีกนับจากนี้ในหลายปีให้หลัง
‘ผมได้ลงมาสัมผัสการพายเรือแล้วรู้สึกติดใจ ช่วงน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2554 คนอื่นๆ หลบไปต่างจังหวัด แต่บังเอิญว่ามีรุ่นพี่ท่านหนึ่ง ชวนให้ผมมาพายเรือที่ถนนบรมราชชนนี เพื่อช่วยแจกของบรรเทาสาธารณภัย คือส่วนตัวคิดว่า น่าลองนะการได้พายเรือในเส้นถนนเมือง ผมพายจากพุทธมณฑลสาย 1 ไปจนถึงพุทธมณฑลสาย 7 เลย เรียกว่าน่าจะเป็นประสบการณ์ครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตจริงๆ’
สำหรับประสบการณ์ที่น่าประทับใจ กับการเลื่อนไหลของสายน้ำ ทิวทัศน์ที่งดงาม และการกำหนดจังหวะได้ตามที่ต้องการนั่น คงมากเพียงพอที่ทำให้พี่เขียดกระโจนเข้าสู่โลกแห่งการพายเรือเต็มตัว ที่จะต่อยอดออกไปสู่สิ่งที่กว้างยิ่งกว่า มากยิ่งกว่า ในเวลาที่จะมาถึง
จากบอกเล่า สู่การเข้า เพจ ‘พาไปพาย’
ถ้าคุณได้ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วเกิดความประทับใจ คุณจะทำอะไรถัดมา? เชื่อว่าคำตอบน่าจะหนีไม่พ้นการ ‘บอกเล่าชักชวน’ และอธิบายถึงความรู้สึกที่ได้รับให้กับผู้ฟัง และอยากเห็นคนมาร่วมสัมผัสความรู้สึกเหล่านี้ด้วยกัน และสำหรับพี่เขียด การพายเรือที่เป็นเหมือนประสบการณ์ใหม่เปิดโลก ทำให้เขาอยากที่จะส่งผ่านความรู้สึกนั้นออกไป
อันเป็นที่มาของเพจ ‘พาไปพาย’ ซึ่งเป็นเพจหลักของพี่เขียดในการบอกเล่ากิจกรรมการพายเรือให้กับผู้ติดตามและผู้สนใจให้ได้รับทราบกัน
‘ตอนช่วงที่เริ่มพายตามเส้นทางต่างๆ ก็ยังไม่ได้จริงจังอะไรนะครับ’ พี่เขียดกล่าวถึงที่มาของเพจ ‘ผมแค่ลงเรื่องราวและบทความส่วนตัวเกี่ยวกับเส้นทางต่างๆ ที่ได้ไปพายมา เสน่ห์ของเส้นทางนั้นๆ บางเส้นทางก็ท้าทายจนอยากนำมาเผยแพร่’
และเมื่อเผยแพร่มากเข้า ความสนใจของผู้ติดตามก็มากขึ้น จนนำไปสู่การสอบถามเรื่อง ‘การจัดทริป’ เส้นทางพายเรือ ซึ่งเป็นสิ่งที่พี่เขียดคิดไว้เป็นอย่างสุดท้าย และพิจารณาอย่างถี่ถ้วนพอสมควร
‘จริงๆ ผมไม่ได้คาดหวังอะไรใหญ่โต หรือปัจจุบันทันด่วน ว่าคนจะต้องมาสนใจการพายเรือ หรือกิจกรรมพายเรือจะต้องเป็นกระแสยอดฮิตในทันทีอะไรแบบนี้นะครับ’ พี่เขียดกล่าวถึงจุดประสงค์ของเพจพาไปพาย และการจัดทริป ‘อย่างที่บอก ผมแค่อยากจะแชร์ประสบการณ์ และเส้นทางที่ได้ผ่านมา และกระตุ้นให้คนที่สนใจได้ “ลอง” ว่า ทำได้นะ ลองดูสิ หลายอย่างที่อาจดูเหมือนยาก เช่น ถ้าจะมาพาย จะจอดรถที่ไหน จะแวะหาอะไรทานที่ไหน จะทำได้หรือเปล่า ซึ่งเอาเข้าจริงๆ แล้ว ทุกอย่างไม่ได้ยากเลยนะ สามารถหาได้ระหว่างทางทั้งนั้น’
กิจกรรมที่หลากหลาย ไม่จำกัดเฉพาะสายอนุรักษ์
หลายคนที่เริ่มรู้จักกับกิจกรรมพายเรือ หรือค้นเจอเพจ ‘พาไปพาย’ ของพี่เขียด อาจจะนึกไปว่า นี่เป็นกิจกรรมในเชิง ‘อนุรักษ์’ จากหลากหลายสิ่งที่มีให้เห็น แต่ทั้งนี้ พี่เขียดได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การพายเรือเอง ก็มีหลากหลายรูปแบบ หลากหลายจังหวะ ตามความชื่นชอบที่แตกต่างกัน
‘ถ้าเป็นการพายแบบเชิงอนุรักษ์ ที่ประทับใจมากๆ ก็เป็นครั้งที่ไปร่วมพายเก็บขยะกับกลุ่มมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ของอาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล เป็นกิจกรรมสิบวัน จากนครสวรรค์ถึงอ่าวไทย คือพายไปด้วย เก็บขยะไปด้วย ให้ความรู้ไปด้วย พายกันมาตั้งแต่นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ไล่ลงมาเรื่อยๆ มีสองครั้ง ครั้งแรกเราไปสองวัน ครั้งที่สองเราไปครบสิบวัน’
นี่เป็นตัวอย่างของการเที่ยวเชิง ‘อนุรักษ์’ ที่พี่เขียดได้ไปร่วมมา อันเป็นช่วงก่อนที่จะดำเนินการเปิดเพจ ‘พาไปพาย’ อย่างจริงจัง แน่นอนยังมีทริปการพายที่ให้อารมณ์และความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไป
‘โดยส่วนตัวเป็นคนชอบเที่ยวแบบแบกเป้อยู่แล้ว ก็อยากจะรู้จักเมืองไทยให้มากขึ้น ทีนี้พอได้มาพายเรือ ได้เห็นมุมที่ไม่เคยเจอมาก่อน ผมก็รู้สึกเลยว่า เมืองไทยนี่สวยนะ เส้นทางหลายทริปคือสวยมาก อย่างพายจากราชบุรีมากรุงเทพฯ ตามรอบเสด็จประพาสของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 หรือพายตามคลองภาษีเจริญ คลองดำเนินสะดวกที่ลันเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 มีดำริให้ขุดไว้ หรือเส้นทางที่ไม่เคยเห็นมาก่อน อย่างพายตามแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าก่อนที่จะมีการขุดคลองเพื่อย่นย่อเส้นทางออกอ่าวไทย อย่างเส้นศิริราชไปถึงวัดตรงพระราชวังเก่าของพระเจ้าตากสิน คลองบางกอกใหญ่ ซึ่งจะอ้อมมากๆ’
และในหลายครั้ง การพายเรือ ก็สามารถทำการ ‘Mix’ รูปแบบกิจกรรม ให้เป็นแบบผสมผสานกันได้
‘คือไม่ได้จำกัดว่าทริปนี้จะต้องอนุรักษ์ ทริปนื้จะต้องท่องเที่ยว คือผมสามารถผสมผสานได้ครับ อย่างทริปนี้ผมบอกว่าไปเก็บขยะ แต่ก็เลือกเส้นทางที่สวยงาม มีชุมชนอยู่ หรือบางทริปที่ลุยๆ หน่อย แต่ถ่ายภาพสวยด้วย หรือบางทริป ผสมความท้าทายเข้าไป แบบพายวันละหนึ่งร้อยกิโลเมตร ผมไม่ได้จำกัดตัวเองว่า ทริปนี้จะต้องเป็นแบบนี้แบบนั้น แต่ใช้การอนุรักษ์เป็นสื่อกลางในการพาย และนำเสนอสิ่งอื่นๆ ที่น่าสนใจเพิ่มเติม ก็จะได้ประโยชน์หลายต่อ ทั้งได้ผ่อนคลาย ท่องเที่ยว และช่วยเหลือชุมชนไปพร้อมกัน’
หรือแม้แต่ ‘อุปกรณ์’ ที่ใช้ ก็ให้ประสบการณ์การพายที่แตกต่างกัน แม้จะเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย แต่ก็มีความสำคัญอย่างที่มองข้ามไม่ได้
‘มีผลครับ เพราะเรือหรืออุปกรณ์แต่ละชนิดให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน อย่างเรือคายัค ที่คล้ายๆ เรือแจวบ้านเรา ก็จะมีข้อดีที่สนุก ทำความเร็วได้ดี แล้วพายสบายๆ ดูแลรักษาง่าย แต่ถ้าเป็นกระดานยืนพายหรือ Stand Up Paddle Board (SUP) อันนี้วัยรุ่นจะชอบกัน เพราะดูคล่องตัวและแฟชั่นกว่า ผู้หญิงพายยืนถ่ายรูปแล้วสวยอะไรแบบนี้ รวมถึงเวลาพายแล้วได้เห็นมุมมองจากที่ไกลๆ แต่ถ้าถามว่าส่วนตัวเลือกอันไหน อันนี้ตอบยากจริงๆ เพราะก็เลือกทั้งคู่เลย’ พี่เขียดกล่าว
เตรียมทางอย่างเข้าใจ ก่อนพายไปในทุกครั้ง
แต่แน่นอน ทุกทริปของเพจ ‘พาไปพาย’ ที่พี่เขียดจัดขึ้น ต้องผ่านการเตรียมพร้อมและทำการบ้านด้านข้อมูลมาเป็นอย่างดี เพราะความปลอดภัย รวมถึงการ ‘บอกเล่าเรื่องราว’ ให้เกิดความน่าสนใจ เป็นสิ่งที่จะทำให้ผู้มาร่วมกิจกรรมเกิดความประทับใจ
‘ไม่ใช่ว่าผมนึกอยากจะพายไปที่ไหนก็ไปนะครับ โชคดีที่ยุคนี้มีอุปกรณ์อย่าง Google Map ที่บอกรายละเอียดกับข้อมูลที่ต้องการได้ครบถ้วน อย่างผมอยากจะพายไปลพบุรี ไปฉะเชิงเทรา ก็จะมีข้อมูลว่าร้านอาหารตรงไหนบ้าง สถานที่เที่ยวอยู่ตรงไหน ช่วยให้สามารถจัดการกับเส้นทางที่ต้องการได้’
อย่างไรก็ตาม แม้จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทาง และกิจกรรมที่จะจัดขึ้นอย่างครบถ้วน แต่ก็ยังมีบางส่วน ที่พี่เขียด ‘ละไว้’ ให้ผู้มาร่วมกิจกรรมได้เกิดความรู้สึกประทับใจ และประหลาดใจ
‘เพจ “พาไปพาย” นอกจากจัดทำกิจกรรมการพายเรือแล้ว ยังเป็นฐานข้อมูลที่สามารถบอกต่อสำหรับคนที่สนใจนะครับ แต่บางทีผมก็บอกไม่หมดนะ ละบางส่วนไว้ ค่อยๆ เล่าไปเรื่อยๆ ค่อยๆ ให้ไปถึงจุด Climax ของเนื้อหาเรื่อยๆ’ พี่เขียดกล่าว
นอกจากนี้ พี่เขียดยังเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่สนใจอีกว่า อาจจะยังไม่ต้องลงมาจริงจังทั้งหมด แต่ให้มาลองดูก่อน ว่าชอบหรือไม่กับกิจกรรมในรูปแบบนี้
‘ลองดูก่อนได้ครับ ว่าชอบหรือเปล่า ข้อมูลสมัยนี้มีอยู่เยอะสามารถหาได้ง่าย ส่วนเรื่องการจัดทริป ในส่วนนี้ สามารถจัดให้ได้ในรูปแบบที่ต้องการ อย่างถ้ามาเป็นครอบครัว ช่วงปิดเทอม ก็จัดทริปพายเข้าคลอง ดูวัด ให้เด็กๆ ได้เห็นธรรมชาติ เป็นประสบการณ์ใหม่ๆ หรือถ้าอยากออกกำลังกาย พายเรือนี่เป็นการออกกำลังช่วงท่อนบนที่ดีมาก แบบไม่ต้องเข้ายิมเลย หรือใครอยากท่องเที่ยวพักผ่อนสบายๆ ยืนมองที่โล่งๆ การพายเรือในแม่น้ำก็ตอบสนองในจุดนี้อยู่แล้วครับ’
สายน้ำ สะท้อนวิถีชีวิตและวัฒนธรรม
อย่างที่กล่าวไปในบทนำ สายน้ำ คือวิถีชีวิตของคนไทยจากรุ่นเก่าก่อน สะท้อนผ่านเรื่องราวและการบอกเล่าต่างๆ นานา และจะมีวิธีใดที่จะชื่นชมและรับรู้วิถีดังกล่าว ได้เท่ากับการ ‘พายเรือ’ เพื่อสัมผัสกับรูปแบบอย่างที่มันเคยเป็น…
‘การพายเรือทำให้ได้เห็นสิ่งที่น่าประทับใจจากเส้นทางสายน้ำนะครับ’ พี่เขียดกล่าวเกริ่นนำ ‘ที่ประทับใจมากๆ ก็อยุธยา เพราะส่วนตัวชอบไปเที่ยวที่นั่นอยู่แล้ว มีโอกาสก็จะไปไหว้พระ ไปดูพิพิธภัณฑ์เก่า ทีนี้ พอได้มาพายเรือรอบเกาะ เริ่มจากวัดกษัตราธิราช เข้าไปตามคลองเล็กๆ ผ่านวัดพนมยง ไปถึงท่าเรือตลาดหัวรอ จากนั้น ออกแม่น้ำป่าสัก ไปวัดพนัญเชิงวรวิหาร แล้วอ้อมไปป้อมเพชร ถัดจากนั้นล่ะครับ ทีเด็ดล่ะ’
ทีเด็ดที่ว่าของพี่เขียดคือ ‘ทิวทัศน์’ วัดไชยวัฒนาราม ในแบบ ‘ดั้งเดิม’ ที่ทำให้ได้สัมผัสความยิ่งใหญ่แห่งสถาปัตยกรรมของยุคสมัยกรุงศรีอยุธยาที่แท้จริง
‘ปกติ ถ้านั่งเรือเอี่ยมจุ๊น ก็สวยอยู่ แต่พอได้พายเรือ ได้อยู่ในระดับที่ต่ำสุดเท่าระดับน้ำในแม่น้ำจนต้องแหงนหน้ามองขึ้นไป ทำให้ผมเห็นวัดไชยวัฒนารามใหญ่ขึ้นไปอีก ทำให้รู้สึกเลยว่าสิ่งก่อสร้างนี้ยิ่งใหญ่มาก และนี่คือสิ่งที่คนในสมัยนั้นได้เห็น และอยู่ร่วทกัน ได้สัมผัสอารมณ์ของคนเมื่อสองถึงสามร้อยปีก่อน ทำให้รู้สึกว่าเป็นแบบนี้เอง ยิ่งใหญ่จนต้องกราบจริงๆ’
มาถึงจุดนี้ GM Live อดถามพี่เขียดไม่ได้ว่า เมื่อกิจกรรมการพายเรือเริ่มเป็นที่นิยม ส่งผลต่อภาค ‘เศรษฐกิจ’ ของริมฝั่งน้ำหรือไม่ ซึ่งพี่เขียดก็เล่าให้ได้เห็นภาพที่ชัดเจนของคนที่ผ่านริมน้ำมาอย่างโชกโชน
‘ที่บอกว่า การพายเรือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ได้หมายถึงเรื่องของการมีกิจการริมฝั่งน้ำเพิ่มขึ้นหรืออะไรนะครับ’ พี่เขียดอธิบาย ‘แต่เป็นเรื่องของ “การใช้เวลา” ในสถานที่หนึ่งๆ คือผมไปพายเรือในสถานที่นั้น ต้องใช้เวลากแน่นอนว่าผมต้องซื้อของกิน ซื้อของฝาก นี่ต่างหากที่เกิดการใช้จ่ายแน่ๆ ตอนไปถึง นี่ไม่ได้ข้ามจากกระบวนการพายเรือเลย เพราะการพายเรือมันเป็นกิจกรรมแบบ Slow-Life เป็นเพียงจุดเล็กๆ ที่ผู้สัมผัสได้ใช้ประสบการณ์กับสถานที่นั้น และทำให้กระจายรายได้จากตรงนั้นมากขึ้นด้วย’
การพัฒนาเมือง: ความจำเป็น ที่ต้องแลกกับสายน้ำที่หายไป
แม้ว่าวิถีแห่งสายน้ำ จะเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับคนไทยมาเป็นเวลานาน แต่การพัฒนาเมืองเพื่อตอบสนองต่อยุคสมัย ก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจเลี่ยง และทำให้ผู้คนออกห่างจากแม่น้ำลำคลอง จนเกือบจะกลายเป็นสิ่งแปลกหน้า รวมถึงเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อเส้นทางการสัญจรทางน้ำอีกด้วย
‘เคยบอกไปเหมือนกันว่า ไม่อยากให้มองกรุงเทพฯ เป็นเวนิสตะวันออกน่ะครับ’ พี่เขียดเกริ่นนำ ‘ปัญหาการพัฒนาระบบคลองในปัจจุบัน คงโทษใครไม่ได้นอกจากตัวเอง เพราะผมก็เป็นคนที่อยู่ในชุมชน ในสังคม ส่วนเรื่องการสร้างระบบบางอย่าง มองว่าเมื่อถึงวันหนึ่งกลับไม่ตอบโจทย์คนในมิติอื่นๆ น่ะครับ’
และตัวอย่างของการ ‘ไม่ตอบโจทย์’ ของการพัฒนาระบบคลอง ที่ไม่สอดคล้องกับคนในมิติอื่นที่ว่านั้นคือ … ประตูกั้นระบายน้ำ
‘เคยไปพูดคุยสอบถามผู้เชี่ยวชาญมาบางท่าน ก็ได้รับทราบว่า ประตูกั้นน้ำ ทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยน แต่ถูกสร้างเพื่อจัดการภาพใหญ่บางอย่าง แต่ละเลยในภาพปลีกย่อย’ พี่เขียดเสริม ‘ในจุดนี้ คงต้องกันในหลายส่วนนะ อาจจะเป็นเรื่องของการดูแลรักษาท้องถิ่น เรื่องของงบประมาณ ก็อยากจะฝากไปถึงผู้เกี่ยวข้องให้มาช่วยดูแลในจุดนี้ด้วย’
และอย่างที่สองที่พี่เขียดมอง น่าจะช่วยในเรื่องของระบบนิเวศ และภาพรวมของเศรษฐกิจในพื้นที่ได้ก็คือ สะพานเปิดปิด (Land bridge)
‘ส่วนตัวมองว่า การมี Land Bridge น่าจะช่วยส่งเสริมเรื่องการเชื่อมโยงผู้คนกับการท่องเที่ยวได้ค่อนข้างดีครับ อย่างเช่น ทำสะพานให้มีทางลาดที่เหมาะสมสำหรับผู้ใช้รถเข็นหรือคนชราเดินได้ แล้วทำให้สามารถเปิดปิดพอให้ SUP ข้ามไป การไหลเวียนของระบบนิเวศและการสัญจรจะกระตุ้นให้เกิดภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจได้มากขึ้น’
พี่เขียดทิ้งท้ายกับปัญหาที่ใหญ่ที่สุด คือ เรื่องของสิ่งของเน่าเสียจากบ้านเรือน ที่ถูกเทลงแม่น้ำลำคลอง จากการหันหลังให้กับแหล่งน้ำของที่พักอาศัย ก็เป็นอีกประเด็นที่ต้องให้ความใส่ใจ
‘ในจุดนี้ ส่วนตัวที่ทำทริปเก็บขยะต่างๆ รวมถึงให้ข้อมูลความรู้กับผู้พายเรือที่สนใจก็ทำมาโดยตลอดครับ ทำให้เกิดความตื่นตัว แต่ก็อยากฝากถึงหน่วยงานราชการอีกเช่นกันว่า อยากให้ช่วยลงมาดูแลอย่างสม่ำเสมอ และต่อเนื่องเป็นรูปธรรมครับ’
ก่อนตะวันลาลับ กับการปล่อยใจกับสายน้ำ
ก่อนจากลากันในครั้งนี้ การพูดคุยกับ รัฐสภา มหาชน หรือ ‘พี่เขียด’ แห่งเพจ ‘พาไปพาย’ ก็เป็นอีกครั้งที่เต็มไปด้วยบรรยากาศที่ค่อนข้างรื่นรมย์ ทั้งมุมมอง แง่คิด จนถึงตัวกิจกรรมที่พี่เขียดได้ประชาสัมพันธ์และบอกกล่าวอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานับสิบปี เหลือคำถามสุดท้าย ก่อนที่ตะวันจะลับขอบฟ้า ณ สายน้ำข้างหน้า ว่าสิ่งที่พี่เขียดได้รับ จากการ ‘พายเรือ’ ที่สำคัญที่สุด บทเรียนจากสายน้ำที่ไหลเอื่อยผ่านวันและเวลา ยุคและสมัย คือสิ่งใด?
‘ส่วนตัวคิดนะครับ ว่าในท้ายที่สุด เวลาผมทำกิจกรรมอะไร นอกจากตัวเราเองแล้ว เมื่อได้รับมากพอ ผมจะเกิดความรู้สึกอยาก “ส่งต่อ” ให้กับผู้อื่น’ พี่เขียดกล่าว ‘จากที่ได้ไปร่วมกิจกรรมกับผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่าน ก็คิดไม่ต่างกัน ผมพายเรือ ผมทำเพจ “พาไปพาย” ผมก็เกิดความรู้สึกที่อยากส่งมอบประสบการณ์ ฝึกสอนผู้สนใจ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และที่สำคัญที่สุดเลยคือ ทำให้ได้เห็นความหลากหลายของประเทศไทย ในมุมที่ต่างออกไป และนั่นยิ่งตอกย้ำความรู้สึกที่อยากจะส่งมอบสิ่งดีๆ ไปให้มากขึ้น ไกลขึ้นครับ’
และแม้การสนทนาจะจบลง ตะวันจะลับขอบฟ้า แต่สายน้ำของพี่เขียน รัฐสภา มหาชน ในเช้าวันใหม่ กับการพายเรือและเพจ ‘พาไปพาย’ ก็ยังคงพร้อมสำหรับครั้งต่อไป เสมอๆ