“มหากาพย์พระราม 2” ล่วงเลย 55 ปีแล้วยังไม่จบสิ้น !
ถนนเพชรเกษมเส้นทางมุ่งสู่ภาคใต้

ถึงวันนี้ก็ครบหนึ่งอาทิตย์แล้ว สำหรับอุบัติเหตุคานสะพานก่อสร้างถล่มที่ถนนพระราม 2 ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ที่ผ่านมา ทาง GM Live ต้องขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้สูญเสียและผู้บาดเจ็บไว้ ณ ที่นี้
เรียกได้เลยว่าเป็นมหากาพย์มากๆ “มหากาพย์พระราม 2” ล่วงเลย 55 ปีแล้วยังไม่จบสิ้น ! กับการสร้างและขนายถนนเพชรเกษมเส้นทางมุ่งสู่ภาคใต้
ซึ่งทุกครั้งที่ต้องเดินทางผ่านถนนพระราม 2 เพื่อมุ่งลงใต้ ในใจอดตั้งคำถามถึงถนนเส้นนี้ว่า “เมื่อไหร่จะสร้างเสร็จสักที” ! แต่คำตอบนั้นก็ล่องลอยอยู่ในสายลม การก่อสร้างยังคงดำเนินต่อไป เรื่อยๆ ยืดเยื้อยาวนานเพราะมีถึง 4 โครงการที่อยู่บนถนนเส้นนี้ ขับรถผ่านมาทีไร สยอง กลัวจะเป็น “เหยื่อ” รายใหม่คนต่อไป ! รีบขับรถด้วยความระมัดระวัง ไปให้พ้นถนนเส้นนี้ เพราะกลัวสิ่งก่อสร้างด้านบนจะถล่มลงมา
และยิ่งสลดหดหู่กับข่าวรับอรุณ เมื่อวันเสาร์ที่ 15 มีนาคม 2568 จากเหตุการณ์ “คานเหล็กสะพานพระราม 2 ถล่ม ! ชีวิตสูญเสียอีกแล้ว ! เมื่อไม่มีหลักประกันความสูญเสียซ้ำซากที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกวัน ทุกเวลา
ทางออกของประชาชนคืออะไรหรือ ? หรือจะมีแต่ “เจ้าประคู้ณ” ขอพร “เจ้าแม่งูจงอางและลูก” (ศาลที่พระรามสอง ซอย 48) ขอให้รอดชีวิตจากการใช้บนถนนเส้นนี้ด้วยเถอะ
ถนนสายนี้มีการก่อสร้างยาวนานมาถึง 55 ปีก็ยังไม่แล้วเสร็จ จนได้รับฉายาว่า “ถนนเจ็ดชั่วโคตร” เริ่มต้นจากการสร้างถนน 2 เลนในยุคแรกเมื่อปี 2513 และเกิดปัญหาซ้ำซากเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เช่น แผ่นปูนถล่ม, เครนพังทลาย, รอยแตกร้าวบนสะพาน และพื้นถนนทรุดตัว ทั้งหมดล้วนเป็นสัญญาณเตือนที่ชัดเจนว่า เส้นทางนี้กำลังแปรเปลี่ยนจากถนนหลวงกลายเป็น “เส้นทางมรณะ”
ตั้งแต่ปี 2561-2567 พบว่า บริเวณถนนพระราม 2 เป็นพื้นที่อันตรายที่มีอุบัติเหตุจากการก่อสร้างเกิดขึ้นถึง 2,242 ครั้ง คร่าชีวิตประชาชน 132 คน และบาดเจ็บอีก 1,305 คน สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาขนผู้สัญจรไปมา และคนงานต้องสูญเสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนไม่น้อย
ตาม GM Live มาดูในรายละเอียดบางส่วนระหว่างปี 2564-2568 กัน
ปี พ.ศ. 2568 (ล่าสุด)

วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม 2568 เวลา 01.48 น. เกิดอุบัติเหตุ โครงสร้างทางยกระดับ บริเวณหน้าด่านฯ ดาวคะนอง ของโครงการพิเศษสายพระราม 3 ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก สัญญาที่ 3 ทรุดตัวลงมา (ใกล้เคียงกับซอยพระราม 2 ซอย 25 ถนนพระรามที่ 2 แขวงบางมด เขตจอมทอง) ที่เกิดเหตุ เป็นตอม่อสะพานที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ถล่มต่อเนื่องเป็นทางยาว ตั้งแต่ซอย 17 ถึง 25 ส่งผลให้มียอดผู้เสียชีวิตทั้งหมด 5 ราย เป็นคนไทย 3 คน ชาวเมียนมา 2 คน ส่วนผู้บาดเจ็บทั้งสิ้น 22 ราย แบ่งเป็นคนไทย 8 คน ชาวเมียนมา 11 คน และชาวกัมพูชา 3 คน (บางแห่งว่า มากกว่านั้นถึง 27-30 คน)
ปี พ.ศ. 2567
วันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 “คานก่อสร้างถล่ม” (บริเวณถนนพระราม 2 ต. คอกกระบือ จ. สมุทรสาคร) มีคนงานเสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บ 10 ราย และสูญหาย 1 ราย เหตุการณ์นี้ ต้องใช้รถเครนขนาด 400 ตัน 1 คัน และ 200 ตัน 2 คัน ในการเคลียร์พื้นที่
ปี พ.ศ. 2566
วันที่ 7 พฤษภาคม 2566 แท่งปูนถล่มทับคนงานเสียชีวิต 1 ราย รถยนต์เสียหายหลายคัน ( โครงการพิเศษสายพระราม 3 ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก )
วันที่ 7 มีนาคม 2566 รถเคนของโครงการก่อสร้างทางยกระดับล้มขวางถนนพระราม 2 ฝั่งขาออกกรุงเทพฯ ตำบลนาดี อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 น้ำปูนหล่นใส่ ทำให้เกิดคราบปูนบริเวณกระจกรถและบริเวณของรถหลายคันจนมองไม่เห็นทาง
วันที่ 22 มกราคม 2566 เศษปูนจากการก่อสร้าง ร่วงใส่รถประชาชน บริเวณถนนคู่ขนานสะแกงามมุ่งหน้าพระราม 2 ย่านแสมดำ เขตบางขุนเทียน
ปี พ.ศ. 2565

วันที่ 31 กรกฎาคม 2565 สะพานกลับรถถล่มเสียชีวิต 2 ราย บริเวณทางหลวงหมายเลข 35 ถนนพระราม 2 จังหวัดสมุทรสงคราม โดยแผ่นปูนน้ำหนัก 5 ตัน ถล่มลงมาทับรถยนต์หลายคันที่วิ่งอยู่ด้านล่าง มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 3 ราย
วันที่ 16 กรกฎาคม 2565 เหล็กก่อสร้างร่วงใส่รถกระบะ บริเวณถนนพระราม 2 ฝั่งขาเข้ากรุงเทพฯ โดยมีแท่งเหล็กจากการก่อสร้าง หล่นเฉียดหน้ารถกระบะ ทำให้รถเสียหลักและเกือบพลิกคว่ำ
ปี พ.ศ. 2564
วันที่ 21 สิงหาคม 2564 คนงานหล่นจากคานยกระดับพระราม 2 บริเวณทางยกระดับพระราม 2 ช่วง กม.19 และเสียชีวิต
พัฒนาการถนนเส้นนี้
ปี พ.ศ. 2513-2516 : เริ่มก่อสร้างถนนพระราม2 เป็นถนน 2 เลน สวนทางกัน เปิดให้บริการเมื่อ วันที่ 1 เมษายน 2516
ปี พ.ศ. 2532-2537 : ขยายจากถนน 2 เลนเป็น 4 เลน พร้อมก่อสร้างทางแยกต่างระดับ 4 แห่ง ได้แก่ บางขุนเทียน, สมุทรสาคร, สมุทรสงคราม และวังมะนาว
ปี พ.ศ. 2539-2543 : ขยายถนนช่วงสามแยกบางปะแก้ว ถึงแยกต่างระดับบางขุนเทียน เป็น 14 เลน
ปี พ.ศ. 2544- 2546 : ขยายช่องจราจรจาก 4 เป็น 8 และ 10 เลน ระหว่างแยกต่างระดับบางขุนเทียน-นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร ความยาว 22 กิโลเมตร
ปี พ.ศ. 2549-2552 : ก่อสร้างโครงการส่วนต่อขยายจนถึงแยกต่างระดับวังมะนาว จาก 4 เป็น 6-8 เลน
ปี พ.ศ. 2561-2563 : ขยายถนนพระราม 2 ระหว่างแยกต่างระดับบางขุนเทียน-แยกเอกชัย จาก 10 เป็น 14 เลน
ปี พ.ศ. 2562- 2565 : เริ่มก่อสร้างทางยกระดับบางขุนเทียน-มหาชัย
ปี พ.ศ. 2563-2567 : ก่อสร้างทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกตะวันตก
4 โครงการกับหน่วยงานรับผิดชอบ

- โครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) สายพระราม 3 – ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก สัญญาที่ 1,2,3,4 (งานโยธา) – ทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) รับผิดชอบ
- โครงการทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ (ถนนพระราม2) ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย ทางยกระดับตอน 1,2,3- กรมทางหลวง (ทล.) รับผิดชอบ
- โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษ มอเตอร์เวย์ หมายเลข52 (M82)ทางแยกยกระดับบางขุนเทียน- บ้านแพ้ว ตอน เอกชัย-บ้านแพ้ว ตอนที่ 1-5,5,8-10 – กรมทางหลวง (ทล.) รับผิดชอบ
- โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ได้มอบหมายให้ทางหลวง(ทล.) และการทางพิเศษ (กทพ.) ไปดำเนินการเร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2568 แต่ในส่วนของช่องทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ตอนที่ 4 และ 6 คาดว่าจะเสร็จตามสัญญาในเดือนธันวาคม 2568
ทางออกอยู่ที่ “ศาลเจ้าแม่งู” งั้นหรือ ?

ตราบใดที่ยังไม่ถอดบทเรียนและหาทางแก้ไขอย่างจริงจัง “ความวิบัติ” ก็จะยังเกิดขึ้นอีก
แน่นอน ถามว่า ประชาชน และเหล่าคนงานจะเอาหลักประกันอะไรมารับรองในสวัสดิภาพของตน และ ภาพซ้ำซากของถนนเส้นนี้ กลายเป็นเรื่องราว ตำนาน เล่าขาน จนมีการตั้งศาล “ศาลเจ้าแม่งูจงอางและลูก” (แม่ขวัญ) บริเวณริมถนนพระราม 2 ซึ่งมีมูลเหตุจากการก่อสร้างบนถนนเส้นนี้แหละ แม้จะไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่แท้จริง แต่ยามนี้ สถานที่แห่งนี้คือ ที่พึ่งหนึ่งเดียวที่แท้จริง !?

ย้อนกลับไปราวๆเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว คนงานชายซึ่งทำงานก่อสร้างที่ถนนพระราม 2 แห่งนี้ ฝันไปว่า เขากำลังเดินทำงานในไซต์ก่อสร้าง ก็ไปเจองูจงอางตัวหนึ่งที่เลื้อยมาหยุดตรงหน้า งูไม่ได้เข้ามาฉกกัด หรือทำอันตรายแก่เขา แต่เขาได้ยินเสียงผู้หญิงนางหนึ่ง ขอความช่วยเหลือจากเขา ให้เขาไปช่วยบอกหัวหน้าคนงานว่า ขอเวลาอีก 7 วัน รอให้นางคลอดลูกก่อน แล้วจะย้ายรังไปที่อื่น อาจจะดูไร้สาระ แต่เขาก็ไปบอกหัวหน้าตามที่รับปากแม่งูตัวนั้นไว้ ปรากฏว่า หัวหน้าไม่เชื่อ สั่งเร่งงานเหมือนเดิม เขานำความฝันไปเล่าให้หมู่เพื่อนคนงานฟัง … และ 3 วันต่อมา เพื่อนคนงานคนหนึ่งที่กำลังขับรถเกลี่ยพื้นดิน … ถอยรถไปทับรังงู พ่อแม่ ลูกงูจงอางตายเรียบทั้งครอบครัว ไม่รอดสักตัว
“ฝันที่เป็นจริง” เรื่องนี้ ปากต่อปาก ขยายความ โด่งดังมากในหมู่คนงานมาก นับแต่นั้น จากอุบัติเหตุเล็กๆน้อยๆ ก็ดูจะใหญ่ขึ้นตามลำดับ ถึงขนาดมีภาคแยกว่า คนงานผู้นั้น วันหนึ่งขับรถถอยหลังไปทับลูกเมียเสียอีกด้วย..ซึ่งเป็นการเล่าต่อกันมาแบบนี้ …

จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น มีการตั้งศาลไม้เพื่อบูชางู เรียกว่า “ศาลเจ้าแม่งู” ต่อมาก็ได้ขยับขยายจนใหญ่โตขึ้น เป็นศาลถาวร “ศาลเจ้าแม่งูจงอางและลูก” (แม่ขวัญ) ในปัจจุบันอยู่ที่พระราม 2 ซอย 48) โดยห่างออกไป ก็มีศาลเจ้าพ่องู ถือศีล เรียก “ศาลเจ้าพ่องูจงอาง” (แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร) ซึ่งไปมาลำบากหน่อย ทั้ง 2 แห่ง ล้วนแต่หุ่นจำลอง และมีผู้นำรูปปั้นงูมาแก้บนเป็นจำนวนมาก ของแก้บนที่นิยมกันคือ ไข่ไก่ ! ซึ่งศาลงูทุกชาติที่นับถืองู ไม่ว่าจะเป็นเป็นชาวจีน (แชเล่งเอี้ย-มังกรเขียว), อินเดีย (มนสาเทวี เทวีแห่งงู) , ไทย (เจ้าแม่งูจงอาง) ล้วนแก้บนและเลี้ยงงูด้วยสิ่งนี้ … สนุกๆ อย่าคิดมาก มี ล้วงไหเสี่ยงโชค ขอเลขเด็ดได้อีกต่างหาก
ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของ “มหากาพย์บนถนนพระราม 2” ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวความจริง ที่ยังไม่ได้แก้ , การสูญเสีย และ ความเชื่อ ! เพราะถนนเส้นนี้มากับฉายา “ถนนเจ็ดชั่วโคตร” หรือ “เส้นทางมรณะ” !
ขอบคุณภาพ : โดรนกู้ภัย สดพ .ดาวคะนอง (1-2-3)
: อินเทอร์เนต
