Quiet Quitting: หมดใจ ไฟมอด เพราะโอบกอดตัวเองไม่เพียงพอ
ในสมัยกาลก่อน มีคำกล่าวว่า ‘ค่าของคน อยู่ที่ผลของงาน’ และการจะวัดประสิทธิภาพ กับค่าตอบแทนภายใต้ระบบการทำงาน ไม่ว่าจะในหน่วยงานหรือองค์กรใด ก็ขึ้นกับว่า คนคนหนึ่ง จะสามารถสร้างผลผลิตสุดท้ายได้มากน้อยแค่ไหน แนวคิดเกี่ยวกับการ ‘ทำมาก ได้มาก’ ก็มักจะตามมาเป็นลำดับขั้นที่สองของการวัดผลอยู่เสมอๆ
… แต่เป็นในทางทฤษฏี เพราะในความสลับซับซ้อนของสังคม การทำงาน และการวัดประสิทธิภาพนั้น ไม่ได้สมบูรณ์แบบเต็มร้อย และการ ‘ทำมาก ได้มาก’ ก็เป็นเพียงอุดมคติในช่วงแรกเริ่มหรือ ‘Honeymoon Period’ ของวัยทำงานตอนต้น ที่เมื่อถูกเบียดบังด้วยความเหนื่อยล้าสะสม ความกดดันจากการคาดหวัง และการรับผิดชอบเกินกว่าหน้าที่ที่ได้รับแล้วนั้น
ไฟและใจที่เคยมีให้ ก็เริ่มจะดับมอด และกลายเป็นอาการ ‘Quiet Quitting’ ที่กลายเป็นปัญหาในโลกการทำงานในขณะนี้
Quiet Quitting นั้น ไม่ใช่การเขียนใบลาออกไปยื่นฝ่ายบุคคล แล้วจากไปแต่เงียบๆ ไม่บอกใคร แต่มันคือกระบวนการของคนทำงานในยุคสมัยปัจจุบัน ที่เมื่อถูกความกดดันทับถม เกิดสภาวะความเครียดอย่างหนักหน่วง ได้ตัดสินใจ ‘ทำตามแต่เฉพาะขอบเขตที่ได้รับ’ และจะไม่ทำอะไรนอกเหนือไปกว่านั้น เข้าทำนอง ถ้าระเบียบให้ทำจาก A ถึง Z ก็จะเป็นตามนั้น ถ้าให้ตอกบัตร 9 โมงเช้าออก 5 โมงเย็น ก็จะตรงเวลาไม่มีขาดเกิน
คนที่มีอาการ Quiet Quitting ไม่ได้มีประสิทธิภาพในการทำงานที่ลดลง หลายคนยังมี Performance ในระดับที่ดีเสมอต้นเสมอปลาย …. และจะไม่เพิ่ม ไม่ลด ไม่ให้อะไรมากไปกว่าที่ขอ ไม่รับงานอะไรที่นอกเหนือขอบข่าย และบ่ายเบี่ยงสิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่หรือธุระปะปังใดๆ ของตนเอง เพื่อตัดปัญหาและเรื่องรำคาญใจให้พ้นตัว
ฟังดูเผินๆ เหมือนจะเป็นสิ่งที่ดีและเหมาะสม อะไรที่ไม่เกี่ยวกับเนื้องานของตนเอง ก็ไม่ควรไปรับมาให้เกิดความยุ่งยากกับชีวิต แต่ในทางหนึ่ง เมื่อทุกอย่างดำเนินไปแบบ ‘อย่างที่เคยเป็น’ ไม่มาก ไม่น้อยไปกว่านั้น นั่นก็หมายถึงการเดินย่ำอยู่กับที่ ไม่มีการพัฒนาในทักษะการทำงาน เพียงแค่ทำให้ได้ตามขอบเขตที่ทำ
การปล่อยให้ชีวิตผ่านไปในวันหนึ่งๆ เช่นนี้ ส่งผลร้ายกับตัวเองอย่างคาดไม่ถึง เพราะมันจะค่อยๆ กัดเซาะความนับถือในตัวเอง ความเคารพในงานที่ทำ และเกิดเป็นคำถามและความกังขาในใจ ว่าสิ่งที่ทำอยู่นี้ ใช่ทางของเราจริงๆ หรือไม่ (แม้มันจะยังให้ผลตอบแทนในรูปตัวเงินที่เหมาะสมก็ตาม…)
นี่คือข้อน่ากังวลอย่างยิ่ง เพราะมันได้สะท้อนถึงความไม่สมดุลในวัฒนธรรมการทำงานของยุคปัจจุบันที่ขาดประสิทธิภาพ การประเมินผลงานที่เหมาะสม การบำรุงรักษาบุคลากร และการแจกจ่ายเนื้องานที่มีกระบวนการที่ดี และปรากฏการณ์นี้ เกิดขึ้นทั่วโลก และมากขึ้นในทุกขณะ
ถ้าคุณเป็นหัวหน้างานหรือผู้บังคับบัญชา หากจับสัญญาณบางอย่างที่ส่งผ่านออกมาจากคนในทีมที่มีแนวโน้มจะ Quiet Quitting ทางแก้ที่ดีที่สุด คือการพูดคุย สอบถาม สืบหาสาเหตุความติดขัดคับข้องใจ เพื่อแก้ไขในจุดที่จะสามารถทำให้กระบวนการทำงาน มีความสุขได้ทั้งสองฝ่าย และมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นได้ โดยไม่ต้องทำให้ใครลำบากใจ
แต่ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังตกอยู่ในอาการ Quiet Quitting แบบสั่งมาเท่าไหร่ ก็ทำให้เท่าที่ขอแล้วนั้น อยากให้คุณหายใจลึกๆ แล้วกลับมาโอบกอดตัวเองแน่นๆ อีกสักครั้ง จากนั้นก็ถามใจลึกๆ ว่า สิ่งที่คุณต้องการ ปัญหาที่คุณกำลังเผชิญ และสิ่งที่ติดขัดอยู่ในการทำงาน คืออะไร หากเป็นสิ่งที่แก้ไขได้ การเปิดอกคุยกับหัวหน้างานอย่างตรงไปตรงมา ก็อาจจะช่วยให้สามารถปรับความเข้าใจ และหาจุดที่จะสามารถแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเหมาะสม
อย่างไรก็ดี เมื่อมีเทรนด์อย่าง Quiet Quitting แล้ว ดูเหมือนหน่วยงานหรือบริษัทบางแห่ง ก็เริ่มจะเล่นเกมแบบใกล้เคียงกันนั่นคือ ‘Quiet Firing’ อันหมายถึง การโยนงานและความรับผิดชอบอย่างหนักหนาสาหัส และไม่ประเมินคุณค่าจากประสิทธิผลที่พนักงานคนหนึ่งทำได้ โดยมีจุดมุ่งหมายให้คนทำงานคนนั้น หมดใจ และยอมลาออกไปเอง เพื่อลดค่าใช้จ่าย หรือหาคนที่หมายตาเข้ามาในตำแหน่งแทน
ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น และถ้าคุณมั่นใจว่าได้ทำเต็มที่อย่างสุดความสามารถ และเปิดอกคุยอย่างตรงไปตรงมาถึงความต้องการที่จะแก้ปัญหา แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง บางที …. มันอาจจะถึงเวลาที่คุณควรจะ ‘Quitting’ ไปแบบไม่ต้อง ‘Quiet’ ให้กลายเป็นความรู้สึกผิดติดตัว เพราะเอาเข้าจริง เมื่อเดินออกมาจากเวลางาน ทุกคนก็เท่ากัน ไม่ได้เป็นหัวหน้า ไม่ได้เป็นลูกน้อง หัวโขนใดๆ ที่มีก็ถูกถอดออก และที่เหลือคือมิตรภาพกับความรู้สึกที่หลงเหลือให้แก่กัน
ที่สิ่งเหล่านั้น มันปกปิด หลีกหนี หรือทำให้เงียบเสียงไปไม่ได้…