fbpx

รัฐนาวาประยุทธ์ 2เมื่อเจอ ‘ฤทธิ์’ นักการเมืองยังไม่ทันเริ่มก็จะเละเสียแล้ว

เมื่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ สมัยที่สอง ยังไม่ทันเริ่มดีก็มีท่าทีและสัญญาณบ่งบอกมากมายว่าไม่ง่าย และ เอ่อ… ดีไม่ดีอาจถึงขั้นเละ!!

บทความ : พีรภัทร์ เกื้อวงศ์

Reason to Read

  • รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ เมื่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง ยังไม่ทันเริ่มดีก็มีท่าทีและสัญญาณบ่งบอกมากมายว่าไม่ง่าย และ เอ่อ… ดีไม่ดีอาจถึงขั้นเละ สัญญาณดังกล่าวได้แก่อะไรบ้าง ติดตามอ่านได้ในบทวิเคราะห์ชิ้นนี้กัน

ในช่วง 5 ปีของ คสช. การทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผู้นำรัฐบาลประยุทธ์ 1 ถือได้ว่าเป็นช่วงที่การเมืองราบเรียบ เพราะการใช้อำนาจของ คสช. ที่ควบคุมความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเด็ดขาด ประกอบกับประชาชนก็เบื่อหน่ายกับภาวะความขัดแย้งที่ออกมาชุมนุมตามท้องถนนซึ่งเกิดต่อกันหลายรอบในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้ และการทำงานอำนาจเต็มของ พล.อ. ประยุทธ์ก็เรียบร้อยด้วยการใช้อำนาจแบบทหาร ที่ต้องการอะไรก็สามารถสั่งการได้ทันที มีสภานิติบัญญัติที่มีท่าทีไปในทางเดียวกัน แต่ในครั้งนี้ เหตุการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้วเมื่อ พล.อ. ประยุทธ์เป็นนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง กลายเป็นนักการเมืองที่ต้องประสานผลประโยชน์กับนักการเมืองที่สนับสนุน

แต่แค่ภายหลังการเลือกตั้ง ที่… เอ่อ… พักใหญ่ๆ ก็ได้รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำมากที่จำนวน ส.ส. ห่างจากฝ่ายค้านไม่ถึงหลักสิบ และเราก็เห็น ‘ความไม่น่าจะมีเสถียรภาพ’ ของรัฐบาลจากข่าวต่างๆ จนบางคนอาจคิดว่า “ยังไม่ตั้ง ครม. ยังขนาดนี้ แล้วไปรอดหรือ?”

ปัญหาที่ทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ และรัฐบาลจะ ‘อยู่ยาก’

1. ไม่ได้เก้าอี้ที่อยากได้

ในความเป็นรัฐบาลผสมแถมเสียงปริ่มน้ำ ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลมีอำนาจต่อรองสูงมาก โดยเฉพาะพรรคขนาดกลางที่ได้ ส.ส. 50 คนขึ้นไป อย่างพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเมื่อทาบทามสองพรรคมาร่วมรัฐบาล ก็เล่นตัวเล่นใหญ่ได้อีก ได้ถึงขั้นสุด จนฉกเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงสำคัญที่คนพรรคพลังประชารัฐต้องการมาเป็นของตัวเองได้ พรรคประชาธิปัตย์หยิบชิ้นปลามันเอาเก้าอี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์มาได้ ขณะที่พรรคภูมิใจไทยได้เก้าอี้กระทรวงคมนาคมไป และไม่มีท่าทีว่าจะยอมถ้าพรรคพลังประชารัฐจะต่อรอง

พลังประชารัฐจะไม่ยอม อ้างว่า พรรคจำเป็นต้องถือเก้าอี้กระทรวงเศรษฐกิจสำคัญเหล่านี้เอาไว้ เพราะเป็นกระทรวงที่ต้องใช้ทำผลงานจากนโยบายต่างๆ ที่ประกาศออกไป โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรฯ นั้นถือว่าสำคัญที่สุด เพราะเป็นกระทรวงที่ดูแลเรื่องราคาสินค้าเกษตร และจัดสรรที่ดินทำกิน ซึ่งเป็นตัวสร้างคะแนนเสียงที่สำคัญที่สุด ขนาดที่แกนนำพรรคเองก็เคยออกมาให้ข่าวในทำนองว่า ถ้าไม่ได้เก้าอี้กระทรวงพวกนี้ไว้เลยจะเป็นการยากต่อการทำคะแนนเสียงเลือกตั้งในครั้งหน้า ซึ่งการพูดเช่นนี้ก็ดูเหมือนจะส่งสัญญาณไปยัง พล.อ. ประยุทธ์ ผู้เคาะรายชื่อคนสุดท้ายกลายๆ  

แต่ในคืนก่อนการโหวตเลือกนายกฯ ก็มีข่าว ‘ปิดดีล’ ทำพรรคพลังประชารัฐอกหัก  มีรายงานข่าวว่า มี ‘ผู้มีอำนาจที่ไม่ได้อยู่ในพรรค’ เข้าไปยืนยันข้อตกลงตามที่สองพรรคเสนอมา เพื่อไม่ให้หักหลังตั้งตัวเป็นขั้วที่สามในการโหวตเลือกนายกฯ แล้วอาจดึงเอาขั้วเพื่อไทยเข้ามาสนับสนุนก็ได้ เพราะขั้วนั้นคือ “ทำอย่างไรก็ได้ให้ พล.อ. ประยุทธ์ไม่ได้เป็นนายกฯ อีกสมัย” ทำให้เหลือกระทรวงสายเศรษฐกิจไว้ปลอบใจพลังประชารัฐคือคลัง พลังงาน และอุตสาหกรรม เมื่อไม่ได้กระทรวงที่ต้องการนำมาทำผลงาน ในการบริหารงานต่อจากนี้ไป หากมีการปรับคณะรัฐมนตรี เรื่องการชิงเก้าอี้ก็อาจถูกยกมาต่อรองซ้ำแล้วซ้ำเล่าได้อีก กลายเป็นภาพการเมืองที่ไม่นิ่ง ส่งผลถึงเสถียรภาพรัฐบาล และการไม่ได้กระทรวงที่ต้องการสร้างผลงานก็จะส่งผลกระทบที่จุดขายว่าพรรคว่าเคยทำอะไรได้จริง การขอเสียงประชาชนในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะหายไปบางส่วน เวลาเกิดกระแสลบก็ไม่มีผลงานอะไรไปสู้  

2. แห่ขู่ทบทวนท่าที

ก่อนการเลือกตั้งนั้น พรรคพลังประชารัฐถูกเรียกว่าเป็น ‘พรรคพลังดูด’ เพราะไปเจรจาต่อรองเอา ส.ส. กลุ่มต่างๆ จากพรรคการเมืองที่มีอยู่เดิมให้มาเป็น ส.ส. ของพลังประชารัฐ และแน่นอนว่า ในการเสนอต้องมีการต่างตอบแทน ซึ่งเมื่อโผรายชื่อคณะรัฐมนตรีออก บางกลุ่มบางมุ้งก็ได้เก้าอี้ไป เช่น กลุ่ม กปปส. เก่า อย่าง นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อาจได้เก้าอี้ รมว. ศึกษาธิการ , นายพุทธิพงษ์ ปุณกันต์ อาจได้เก้าอี้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กลุ่มชลบุรี นายอิทธิพล คุณปลื้ม อาจได้ตำแหน่ง รมว. วัฒนธรรม หรือแบ่งเก้าอี้ตามโควตาภาค

แต่เมื่อโควตาเก้าอี้ถูกแบ่งไปยังพรรคร่วมจำนวนมากแล้ว เก้าอี้ในพรรคไม่พอก็ต้องมี ‘คนอกหัก’ ที่ออกมาฟาดงวงฟาดงาจัดใหญ่แสดงอาการไม่พอใจไปจนถึงขู่ทบทวนท่าทีร่วมรัฐบาล คืออาจตั้งตัวเป็นฝ่ายค้านอิสระ ตรวจสอบและไม่ยกมือโหวตให้กฎหมายรัฐบาล ซึ่งไม่เป็นผลดีอย่างยิ่งในภาวะรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำเช่นนี้  ล่าสุดคือนายเอกราช ช่างเหลา ส.ส. บัญชีรายชื่อ ซึ่งระบุว่าเป็นแกนนำในการหาเสียงของภาคอีสาน ทำให้พลังประชารัฐได้ ส.ส. ร่วม 19 ที่ (คือ ส.ส.เขต 2 ที่ และคะแนนรวมในภาคได้เป็นหลักล้านตีเป็นบัญชีรายชื่อได้ 17 ที่) แต่กลุ่มนี้กลับไม่ได้ ส.ส. ซึ่งมีการแสดงความไม่พอใจว่า “อย่ามองกันเป็น ส.ส.ตลาดล่าง ที่เวลาให้โควตารัฐมนตรีก็ให้แต่ฝั่ง กทม. ไปเสวยสุขกัน มันทำให้คนทำงานท้อ”

ไม่เพียงแต่นายเอกราชที่ออกมาแสดงความไม่พอใจ กลุ่ม ส.ส. ภาคใต้ก็ออกมาเคลื่อนไหว คือ ‘กลุ่มด้ามขวานไทย’ ก็ออกมาพูดเรื่องสามารถทำพื้นที่เจาะยางพรรคประชาธิปัตย์มาได้ถึง 13 เก้าอี้ ก็ควรได้รับตำแหน่งใน ครม. และได้เสนอชื่อ พ.อ. สุชาติ จันทรโชติกุล ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคชิงเก้าอี้ ส.ส. แต่สุดท้ายก็อกหัก ทำให้นายนิพนธ์ ศิริธร ส.ส. ตรัง พรรคพลังประชารัฐ ออกมาขู่จะทบทวนท่าทีอีกคน โดยอ้างว่า พรรคร่วมมีโควตา ส.ส. ภาคใต้ได้เป็นรัฐมนตรี ถ้า ส.ส. ใต้ของพลังประชารัฐไม่ได้มีตำแหน่งในฝ่ายบริหารจะสู้เขาไม่ได้ และจะสูญพันธุ์ที่ภาคใต้แน่นอน

ก็ยังไม่รู้ว่าจะมีกลุ่มไหนออกมาขู่ทบทวนท่าทีอีก เมื่อมีการโปรดเกล้าฯ รายชื่อคณะรัฐมนตรีก็อาจมีความไม่พอใจอีก ภายนอกพรรคก็จะเอากับเขาบ้าง อย่างกรณีกลุ่มพรรคเล็ก 10 พรรค ที่อยู่ๆ นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ เปิดหน้าคนแรกว่า กลุ่มพรรคเล็กควรได้โควตาเก้าอี้รัฐมนตรีอย่างน้อย 2 เก้าอี้ ควรจะเป็น รมช. ศึกษาธิการ หรือ รมช. คลัง (แถมยังแสดงวิสัยทัศน์ด้านการศึกษาโชว์ด้วย) แต่สุดท้ายทาง ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส. พะเยา แกนนำภาคเหนือในพรรคก็เข้าไปสยบแรงกระเพื่อมเอง

แค่นี้ยังไม่จบ อยู่ๆ นายดำรงค์ พิเดช หัวหน้าพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย ก็ออกมาขู่ทบทวนท่าทีกับเขาด้วย เพราะไม่พอใจที่พรรคพลังประชารัฐไม่ได้ดูกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เอง หากเป็นชาติไทยพัฒนามาดูแล ก็จะทำให้ตำแหน่งข้าราชการการเมืองต่างๆ อย่างที่ปรึกษาหรือผู้ช่วยรัฐมนตรีตกเป็นของพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งจะทำให้นายดำรงค์ไม่มีโอกาสทำงานด้านทรัพยากรธรรมชาติอย่างที่ต้องการ

เรื่องเหล่านี้กลายเป็นความลำบากใจที่ตกอยู่กับ พล.อ. ประยุทธ์ในฐานะผู้คัดเลือกตัวรัฐมนตรีคนสุดท้าย และสร้างความลำบากใจในพรรคพลังประชารัฐ ที่ต้องแบ่ง ‘สมบัติผลัดกันชม’ ให้ได้ลาภยศสรรเสริญกันถ้วนทั่วป้องกันก่อหวอด  เช่น หาตำแหน่งพวกผู้ช่วยหรือที่ปรึกษารัฐมนตรีให้คนอกหัก ไปจนถึงตำแหน่งกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎร ที่มีข่าวว่าต้องการเพิ่มจำนวนคณะกรรมาธิการเป็น 38 คณะด้วย แต่ก็มีเสียงค้านว่าทุกวันนี้บางกรรมาธิการก็ซ้ำซ้อนอยู่แล้ว และถ้าแบ่งกันไม่ดีพอก็มีปัญหา หรือให้เก้าอี้เอาใจก็อาจได้คนที่มีภาพลักษณ์ไม่ดี ไม่เหมาะกับงานที่ทำ ก็จะโดนครหาว่าสุดท้ายก็เป็นรัฐบาลต่างตอบแทน ขัดกับที่เคยพูดว่าต้องเอาคนดีคนเหมาะสมมาทำงาน

3. พลังต่อต้านจากขั้วตรงข้าม

เสียงฝ่ายค้านนั้นเรียกว่าค่อนข้างเข้มแข็งในการปะฉะดะกับรัฐบาลอยู่แล้ว เพราะฝ่ายค้านเองรู้สึกว่า ‘ตัวเองถูกปล้นอำนาจ’ บวกกับความรู้สึกต้องการล้มล้างรัฐบาล คสช.

ขณะที่รัฐบาลยังตกลงผลประโยชน์กันไม่เสร็จ ฝ่ายค้านเดินหน้าเล่นเกมจัดการรัฐบาลแล้ว ตั้งแต่ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ที่ไปยื่นต่อประธานรัฐสภา ให้ส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า ส.ส. ขั้วรัฐบาล 41 คน มีลักษณะถือหุ้นสื่อทำให้ขาดคุณสมบัติความเป็น ส.ส. หรือไม่ ซึ่งถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับไว้วินิจฉัย อาจเป็นการรับทีละคน หรือรับทั้งหมดก็ได้ หรือกระทั่งจะสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวเหมือนกรณี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ก็ต้องรอดูมติของศาล แต่ถ้าขั้วรัฐบาลถูกพักงาน 41 คน จะพลิกกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยทันที ยิ่งทำให้การผ่านกฎหมายอะไรต่างๆ ยากขึ้นจนอาจต้องไปหางูเห่าเอาข้างหน้า

ซึ่ง นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เคยเสนอไว้ว่า หากเอาผิด ส.ส. ถือหุ้นจริง อาจมี ส.ส. ที่หายไปมากกว่า 40 คนด้วยซ้ำ เพราะก็มี ส.ส. ในขั้วฝ่ายค้านที่มีปัญหา ซึ่งคดีนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้เคยเพิกถอนสิทธิ์การลงสมัคร ส.ส. ของนายภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้สมัคร ส.ส. สกลนคร พรรคอนาคตใหม่ ดังนั้น ก็ใช้วิธีให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีการ่วมกันพิจารณาวินิจฉัยว่า “จะเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานหรือไม่” โดยอาจตัดสิทธิ์แค่ผู้ถือหุ้นในบริษัทสื่อที่ผลิตสื่อสารมวลชนจริงๆ ไม่ใช่บริษัทที่จดบริคณห์สนธิไว้ครอบคลุมแต่ไม่ทำกิจการ  

นอกจากการยื่นตรวจสอบคุณสมบัติ ส.ส. เชื่อได้ว่าการเดินเกมรุกของฝ่ายค้านไม่จบ หากมีการประกาศรายชื่อคณะรัฐมนตรีชุด ‘ประยุทธ์ 2/1’ มา เราอาจเห็นการยื่นให้ตรวจสอบคุณสมบัติของรัฐมนตรีอีก โดยเฉพาะ ‘นักร้องอาชีพ’ อย่าง นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้นำร่องร้องค้าน นายนิพนธ์ บุญญามณี จากโควตาพรรคประชาธิปัตย์ไปก่อนแล้วว่ามีเรื่องร้องเรียนมากในช่วงปฏิบัติหน้าที่เป็นนายก อบจ. สงขลา และนายศรีสุวรรณยังเกริ่นไว้อีกว่า มีว่าที่รัฐมนตรีอีก 2-3 คนที่มีปัญหาและกำลังรวบรวมหลักฐาน   

ฝ่ายค้านชุดนี้ต้องการเดินเกมนอกสภาฯ กดดันการทำงานของรัฐบาลอีกด้วย ในการประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน 7 พรรค เมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา มีมติตั้ง ‘คณะทำงานพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน’ โดยระบุว่า เพื่อเป็นการทำงานระหว่าง ส.ส. กับประชาชนในการตรวจสอบการใช้อำนาจของ คสช. และรัฐบาล ไปจนถึงการรณรงค์ให้เกิดกระแสเรียกร้องกดดันให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเริ่มจากบางมาตราเพื่อหวังผลไปสู่การทำประชามติให้แก้ไขทั้งฉบับได้

ซึ่งเชื่อได้ว่า แนวทางที่สำคัญคือการสร้างกระแสเคลื่อนไหวในโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก อย่างที่พรรคอนาคตใหม่เคยมีท่าทีก่อนหน้านี้ว่า “ไม่ต้องการให้เกิดการเมืองบนท้องถนนอีก” แต่ยังไม่รู้ว่าการเคลื่อนไหวจะเป็นไปถึงระดับไหน เพราะก็ยังมีการสร้างกระแสต่อเนื่องว่า “รัฐบาลยังคงลิดรอนเสรีภาพการแสดงความเห็นของประชาชน” และมีการเผยแพร่ภาพการประท้วงกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่ฮ่องกงมา ‘ปลุกใจ’ กันซ้ำอีก

ทางออกของ พล.อ. ประยุทธ์

ภาวะความวุ่นวายที่สำคัญของรัฐบาลเกิดจากการต่อรองผลประโยชน์ สภาฯ เสียงปริ่มน้ำกลายเป็นไพ่ตายที่กลุ่มต่างๆ งัดมาเล่น และยังมีภาวการณ์ ‘เจาะยาง’ จากขั้วฝ่ายค้านที่เข้มแข็งอีก ซึ่งนี่แค่ฉากแรกของรัฐบาล จากนี้ พล.อ. ประยุทธ์ก็จะได้รู้ถึงการทำงานร่วมกับนักการเมืองอย่างชัดเจนเพราะไม่ใช่สภาฯ หรือรัฐมนตรีที่สั่งได้อีกต่อไป จะใช้อำนาจพิเศษอะไรก็ไม่ได้แล้ว เพราะ ม.44 ใช้ได้ด้วยอำนาจหัวหน้า คสช. แต่ คสช. จะสิ้นสภาพหลัง ครม. ใหม่เข้าถวายสัตย์ฯ

ในการสยบแรงกระเพื่อมในพรรคพลังประชารัฐ หรือพรรคร่วมรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์อาจต้องใช้ท่าทีที่แข็งกร้าวมากขึ้นในการสยบการจัดการนักการเมือง เป็นผู้เด็ดขาดชี้ขาดข้อพิพาทต่อรองอะไรเอง ซึ่งก็เคยมีข่าวในเชิงโยนหินถามทางว่า จะให้ พล.อ. ประยุทธ์เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐเองเพื่อความเป็นเอกภาพ และอาจมีการใช้สัมพันธ์ภาพกับกองทัพเข้ามาหนุนหลังการใช้อำนาจ อย่างที่เราเห็นว่า เมื่อมีข่าวต่อรองกันเยอะๆ พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ก็ช่วยสยบกระแสโดยอยู่ๆ ก็แนะนำให้ไปฟังเพลง ‘กิเลสมนุษย์’ เพลงเก่าของ ธานินทร์ อินทรเทพ โดยกล่าวว่า “แม้ย้อนยุคก็เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน” ซึ่งเนื้อเพลงก็พูดถึงเรื่องกิเลสของคนที่แม้ใจแข็งแค่ไหนก็แพ้เงินฟาด

การจัดการกับสภาฯ ที่เสียงปริ่มน้ำนั้น เป็นหน้าที่หนักของคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ที่จะควบคุมไม่ให้การโหวตแหกมติพรรคร่วม และเรียกเกณฑ์ ส.ส. เข้าร่วมประชุมให้มากที่สุดในทุกการพิจารณากฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายตัวแรกที่สำคัญอย่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นกฎหมายการเงินที่ถ้าไม่ผ่านรัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบโดยการลาออกทันที และยังต้องคุมเสียง ส.ส. จัดตั้งนักโต้ตอบประท้วงในการอภิปรายนัดสำคัญอย่างการแถลงนโยบายรัฐบาล ซึ่งจะต้องทำใน 15 วันหลัง ครม. ถวายสัตย์ปฏิญาณฯ

ในขั้วของพรรคพลังประชารัฐเอง ก็มีนักการเมืองรุ่นเก๋าที่เดินเกมเจรจาผลประโยชน์เป็นอยู่มาก ก็ไม่แน่ว่า ในช่วงประชุมสภาฯ เราอาจเจอการเจรจาต่อรองหา ‘งูเห่า’ อีกครั้งก็ได้ เพื่อให้เสียงรัฐบาลมีเสถียรภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะเป็นเกราะคุ้มภัยรัฐบาลที่ดีที่สุด คือการทำผลงานให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ขณะนี้ผลงานที่เป็นจุดขายสำคัญของพรรคพลังประชารัฐคือบัตรคนจน รัฐบาลอาจต้องทำผลงานอะไรเพิ่มขึ้นที่เข้าถึงกลุ่มชนชั้นกลางที่ใช้สื่อโซเชียลมีเดีย เพื่อให้ช่วยเผยแพร่แสดงความพอใจ ซึ่งการดำเนินงานต่างๆ จะเกิดขึ้นภายหลังการแถลงนโยบาย และที่สำคัญต้องไม่เกิดข่าวประเภทรัฐบาลละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือเสรีภาพในการแสดงความเห็นเหมือนยุครัฐบาลทหาร ภาพลักษณ์ของรัฐบาลที่ไม่ดีไม่ใช่แค่กระแสต้านจากภายนอก ‘งูเห่า’ ก็ไม่กล้าเสี่ยงตายมาร่วม

แต่ถ้าในอนาคตมีปัญหาหนัก จะใช้สูตรไม่ยุบสภาฯ แต่ให้นายกฯ ลาออกแล้วให้ ส.ว. โหวตกลับมาใหม่ ระวังจะกลายเป็นความไม่ชอบธรรมที่ปลุกกระแสม็อบข้างถนนได้อีกครั้ง

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ