POWER OF THAILAND GM ROUND TABLE
ร่วมวงถก ‘ศักยภาพประเทศไทย’ !
ในวาระครบรอบ 26 ปี GM เราเชื่อว่าคนไทยจำนวนมากอยาก ‘ก้าวไปข้างหน้า’ เพื่อให้ประเทศอันเป็นที่รักของเรานี้มั่นคงอยู่ในท่ามกลางกระแสเชี่ยวกรากของการแข่งขันอีกไม่นาน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนก็จะเป็นจริงขึ้นมา ณ บัดนั้น สังคมไทยจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ คำถามก็คือเมื่อมองดู ‘วิสัยทัศน์ประเทศ’ หรือถามกันเองว่าอีก 10-20 ปีข้างหน้า สังคมไทยจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร,เรามักพบว่าเราจนต่อคำตอบ !
ไม่ใช่เฉพาะคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมไทยเท่านั้น แม้กระทั่งผู้มีอำนาจ หรือผู้ที่อยู่ในวังวนแห่งการแย่งชิงอำนาจ-ก็ตอบให้คนตัวเล็กตัวน้อยฟังไม่ได้ ว่าสังคมนี้มีการ ‘วางแผน’ จะ ‘เดินหน้า’ ไปในทิศไหนทอดตามองบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างมาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม หรือแม้กระทั่งกัมพูชา ลาว และพม่า ที่ไทยเคยคิดว่านำหน้า บัดนี้เรากล้ากล่าวเต็มปากอยู่หรือว่าหากอยู่ในลู่แห่งการแข่งขัน-ไม่ว่าในมิติไหน, เราจะคว้าเหรียญมาได้สักเหรียญ, อย่าว่าแต่เหรียญทองเลยด้วยเพราะ GM ตระหนักดีว่า สังคมไทยกำลังอยู่ในภาวะหัวเลี้ยวหัวต่อหลายชั้นซ้อนทับกันอยู่ ทั้งแนวโน้มระดับโลก ระดับภูมิภาค ปัญหาความขัดแย้งภายใน ซึ่งไม่ได้มีเพียงเรื่องการเมือง แต่ยังรวมไปถึงความขัดแย้งทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ชนชั้น คนในเจเนอเรชั่นต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เกิดจากการที่เราไม่มี ‘หลัก’ เอาไว้ให้ ‘ตั้ง’ เพื่อจะใช้ในการทำความเข้าใจกับโลกที่กำลังเปลี่ยนผันนี้หลักเก่านั้นซวนเซจวนเจียนจะล้ม-แต่ไม่จำเป็นที่ใครต้องไปผลักให้มันรีบล้ม เพราะหลักใหม่ที่มั่นคงกว่ากันก็ยังไม่มีดังนั้น GM จึงเห็นว่านี่คือวาระแห่ง ‘การประชุมโต๊ะกลม’ อันเร่งด่วน เราจึงได้ออกเทียบเชิญผู้คนหลากหลาย เพื่อมาร่วมพูดคุยกันถึง POWER OF THAILAND หรือ ‘ศักยภาพ’ ของประเทศอันเป็นที่รักแห่งนี้ เริ่มต้นด้วยการมองสภาพความเป็นจริงเสียก่อน ว่าปัญหาที่เราเผชิญหน้าอยู่คืออะไรบ้าง เรายัง ‘เหลือ’ อะไรอยู่บ้างที่พอจะเป็นความหวัง รวมทั้งเราจะ ‘ก้าว’ ไปข้างหน้าได้อย่างไรโต๊ะกลมที่มีชื่อเสียงที่สุด คือโต๊ะกลมของกษัตริย์อาร์เธอร์และเหล่าอัศวิน สิ่งสำคัญที่สุดของโต๊ะกลมที่ว่านี้ก็คือ-ทุกคนเสมอภาคกัน แม้จะมีทั้งกษัตริย์และราชินีร่วมโต๊ะอยู่ด้วย แต่ทุกคนมีสิทธิที่จะ ‘ส่งเสียง’ ร้องบอกถึงปัญหาและวิธีแก้ปัญหาต่างๆ โดยไม่ต้องมากพิธีการหรือมากไปด้วยลดหลั่นแห่งเกียรติยศศักดิ์ศรีอะไร เนื่องเพราะทุกคนบนโต๊ะล้วน ‘เท่าเทียม’ กันGM จัด Round Table หรือ ‘เสวนาโต๊ะกลม’ ขึ้นในโอกาสครบรอบ26 ปี ด้วยสำนึกเดียวกับโต๊ะกลมแห่งกษัตริย์อาร์เธอร์ นั่นคือทุกคนบนโต๊ะมี ‘สิทธิ’ และ ‘เสียง’ ที่เท่าเทียมกันในการนำเสนอปัญหาและวิธีแก้ปัญหา โดยเราแบ่งโต๊ะกลมที่ว่านี้ออกเป็น 3 วง วงแรกคือวงของนักธุรกิจยักษ์ใหญ่ระดับประเทศ (และข้ามประเทศ) วงที่สองคือวงของนักธุรกิจและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ทั้งที่มีหัวใจสีเขียวและธุรกิจในโลกไซเบอร์ ส่วนวงที่สามคือวงของคนในแวดวงศิลปวัฒนธรรมแน่นอน, เราย่อมตระหนักดีว่า ‘โต๊ะกลม’ ที่จัดขึ้นเพียง 3 โต๊ะนั้นไม่พอเพียงแต่ประการใดสำหรับสังคมไทย เราเพียงหวังว่านี่จะเป็นการ ‘จุดประกาย’ ให้เกิด ‘การสนทนา’ ระหว่างคนกลุ่มต่างๆ มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เป็นการสนทนาที่ตระหนักโดยแท้ถึงการหยั่งลึกให้ถึงปัญหา เพื่อจะได้ร่วมกันมองหาหนทางที่จะก้าวเดินต่อไปข้างหน้าแต่ที่สำคัญที่สุด ต้องตระหนักถึงความเสมอภาคใน ‘เสียง’ ของ ‘คนอื่น’ ให้เหมือนโต๊ะกลมของกษัตริย์อาร์เธอร์ด้วยเพราะการรู้จัก ‘เคารพ’ กันและกัน แทนที่จะเอาแต่มัว ‘กลัว’ และ ‘เหยียด’ กันและกันนั้นต่างหาก,ที่จะช่วยให้เรามีศักยภาพได้อย่างแท้จริง !
Round Table FYI
ว่ากันว่า กำเนิดของ ‘โต๊ะกลม’ ในแบบที่ทรงความเสมอภาคกันนี้ แท้จริงมาจากความไม่เสมอภาค เพราะไม่มีอัศวินคนไหนอยากนั่งในตำแหน่งที่แลดู ‘ต่ำต้อย’ กว่า ดังนั้น กษัตริย์อาร์เธอร์จึงทรงคิดวิธีนั่งแบบโต๊ะกลมขึ้น เพื่อไม่ให้เหล่าอัศวินทะเลาะกันเรื่องที่
BIG TYCOONS
The NEWS เป็นสำนักข่าวที่เกิดจากการรวมตัวของ สันติ วิริยะรังสฤษฎ์ คอลัมนิสต์ชื่อดังแห่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ผู้ก่อตั้งวารสารการเงินธนาคาร และเป็นผู้ริเริ่มจัดงาน Money Expo เพื่อให้ความรู้เรื่องการเงินกับผู้คนในประเทศไทย กับ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม นักธุรกิจบันเทิงรายใหญ่ของประเทศแห่ง GMM Grammy ผู้ที่มีความสนใจงานด้านข่าวมาตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษา และกำลังจะนำพาเครือแกรมมี่เข้าสู่ธุรกิจโทรทัศน์ดาวเทียมผ่านการสร้างแพลตฟอร์มใหม่ในนาม GMM Z ในวาระก้าวเข้าสู่ปีที่ 27 ของนิตยสาร GM ซึ่งเป็นทั้งมิตรและพันธมิตรในวงการสื่อสารมวลชนของ The NEWS วงสนทนาว่าด้วยเรื่องอนาคตประเทศไทยจึงเกิดขึ้น นอกจาก สันติ วิริยะรังสฤษฎ์ จะเปิดตัวในฐานะคอลัมนิสต์ของ The NEWS แล้ว ไม่บ่อยครั้งนักที่ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม จะแสดงวิสัยทัศน์อย่างกว้างขวาง และพิเศษยิ่งขึ้น เมื่อเป็นการแลกเปลี่ยนทรรศนะแบบฉับพลันผ่านบทสนทนากับ วิกรม กรมดิษฐ์ แห่งกลุ่มอมตะ ผู้ดำเนินธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมรายใหญ่ของประเทศบทสนทนานี้ จึงเป็นมุมมองของผู้ที่อยู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อันเป็นฐานรากของภาคการผลิตที่แท้ของประเทศอย่าง วิกรม กรมดิษฐ์ เมื่อผนวกเข้ากับมุมมองของผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมบันเทิงและสื่อสารมวลชนครบวงจร ก็ทำให้การสนทนาครบถ้วนด้วยปัญญาทั้งด้าน Hard Power และ Soft Power อันเป็นสองภาคหลักที่ผลักดันการพัฒนาประเทศไทยทั้งหมดนี้ ดำเนินการสนทนาโดย ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา แห่งสำนักพิมพ์ OPEN BOOKS อดีตบรรณาธิการ GM ผู้ดำเนินรายการ ‘ตอบโจทย์’ และ ‘สยามวาระ’ ทางไทยพีบีเอส ซึ่งจะทำหน้าที่ร้อยเรื่องราวทั้งหมดเข้าด้วยกันและนี่คือของกำนัลในวาระสำคัญจาก GM
ว่าด้วยการเมืองและอำนาจ On Power and Politics
ภิญโญ : คุณวิกรมครับ ตกลงปัญหาหลักๆ ของประเทศไทยในมุมมองของคุณวิกรมมันมีอะไรบ้าง อยู่ตรงไหนบ้าง
วิกรม : ผมว่าประเทศไทยมีปัญหาแค่ข้อเดียว หมดทั้งประเทศนี่ ที่เรายุ่งยากกันมาอย่างนี้ ก็คือความเห็นแก่ตัวเท่านั้นเอง ถ้าเกิดคนไทยไม่เห็นแก่ตัว ประเทศจะไม่เป็นแบบนี้
ภิญโญ : ใครที่เห็นแก่ตัวครับ ทุกคนต่างบอกว่าฉันไม่ได้เห็นแก่ตัว ฉันเห็นแก่ประเทศชาติทั้งนั้นแหละ
วิกรม : ก็ไม่รู้แหละ วันนี้ใครที่รู้ว่าตัวเองมีประโยชน์ ไม่มีประโยชน์ คำว่าเห็นแก่ตัวหมายถึงทำอะไรก็แล้วแต่ที่อยู่ในเชิงที่เอาประโยชน์ใส่ตัวเอง มากกว่าคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม ถ้าเกิดให้ความสำคัญกับประโยชน์ทั้งสองด้านอย่างเท่าๆ กันจะไม่เรียกว่าเห็นแก่ตัว วันนี้ถามว่าทำไมญี่ปุ่นถึงไม่เป็นแบบเราล่ะ เยอรมนีทำไมถึงไม่เป็นแบบเราล่ะ ตอบง่ายๆ คือเขาไม่เห็นแก่ตัวเหมือนคนไทย นั่นคือประเด็นที่เกิดขึ้นในสังคมของเรา
ภิญโญ : เดี๋ยวจะกลับมาคุยว่าอะไรที่ทำให้คนไทยเห็นแก่ตัว เดี๋ยวต้องมาถกกับคุณวิกรมต่อ ขอเลี้ยวมาทางคุณไพบูลย์บ้างว่า คุณไพบูลย์เห็นด้วยกับคุณวิกรมหรือเปล่าว่าปัญหาของประเทศไทยวันนี้มันเกิดขึ้นเพราะคนไทยเห็นแก่ตัว หรือว่าประเทศไทยมีปัญหาหลักๆ ที่ยากกว่านั้น ลึกลับซับซ้อนกว่านั้น
ไพบูลย์ : ผมว่าเห็นแก่ตัวก็เป็นตัวภาษาของการบ่งบอกถึงเรื่องของการแย่งชิงอำนาจ มนุษย์เราเกิดมาพร้อมธรรมชาติอย่างหนึ่งคือการแย่งชิงกัน เต็มไปด้วยการชิงอำนาจ ปัญหาความขัดแย้งทั้งหมดเป็นเรื่องของอำนาจ ทรัพย์สมบัติ
วิกรม : ผลประโยชน์
ไพบูลย์ : อืมม์…ผลประโยชน์ ผมไม่คิดว่าเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้นนะ ทุกประเทศเป็นเหมือนกันหมด แล้วแต่ว่าจะมากน้อยต่างกันเท่านั้น เราอยู่ในระดับกลางๆ ไม่ถึงกับเข่นฆ่ากัน ก็พออาศัย
ภิญโญ : ทีนี้ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศที่เจริญแล้วแบบที่เราว่ากันมา มันมีวิธีการจัดสรรโครงสร้างทางอำนาจไม่ให้คนต้องมาทะเลาะแบะแว้งกันมากนัก คนไม่ต้องเห็นแก่ตัวมากนัก เพราะว่ากติกาในสังคมมันค่อนข้างยุติธรรม เมื่อกติกายุติธรรมก็คิดถึงคนส่วนใหญ่ได้ ไม่ต้องคิดถึงตัวเองเยอะ แต่หลายท่านก็บอกว่าประเทศไทยกติกามันไม่ค่อยชัดเจน ความยุติธรรมมันไม่มีอยู่จริง คนก็เลยต้องคิดถึงแต่ตัวเอง เพราะถ้าไม่คิดถึงตัวเองจะเอาตัว
ไม่รอดครับคุณวิกรม
วิกรม : ความโปร่งใส ความถูกต้อง ความมีมาตรฐาน ตรงนี้คือประเด็น ผมว่าถ้าเรามีมาตรฐาน อย่างเช่นเปาบุ้นจิ้น เห็นไหมครับ ทุกคนก็ยอมรับเพราะมีมาตรฐาน ถ้าเรามีมาตรฐานในการตัดสิน มีมาตรฐานในการบริหาร การยอมรับของคนก็จะดีขึ้น ปัญหาของสังคมก็จะน้อยลง ผมมองว่านั่นคือประเด็นที่ทำให้เราวุ่นวายยุ่งยากในหลายๆ เรื่องอย่างในทุกวันนี้ ชาวบ้านก็มองว่าประเทศเรามีความไม่เท่าเทียม มีความไม่โปร่งใส วันนี้เราเห็นว่ามีคนตั้งเยอะที่ทำผิดแล้วอาจไม่ได้รับผิด เหมือนอย่างที่ประเทศอื่นทำกัน
ภิญโญ : ตกลงมาตรฐานไม่มีหรือครับ ประเทศเรา
วิกรม : มี แต่วันนี้ก็หมายความว่าเราหย่อนยาน เป็นมุมมองของผมนะ วันนี้ทำไมคนไทยเราถึงหย่อนยาน ก็เพราะเงื่อนไข หลักการ หลักเกณฑ์ในการบริหารของเรามันเอื้อกัน มันช่วยเหลือกันในบางส่วนมากเกินไป
ภิญโญ : คุณไพบูลย์มองว่าประเทศไทยมีอยู่ไหมครับ มาตรฐานที่ว่านี้ แล้วมีการกระจายอำนาจเพื่อที่จะไม่ต้องให้คนตีกันไหม มีข้อตกลง มีข้อยุติไหม
ไพบูลย์ : มนุษยชาติเชื่อในเรื่องว่า วิธีการแก้ปัญหาเรื่องความขัดแย้งที่จะเดินไปสู่สงครามมักจะแก้ด้วยคำว่าประชาธิปไตย คือมีขั้นตอน มีกติกา มีมาตรฐานของมันอยู่ แต่ก็อย่างว่า ผมว่าทุกประเทศมันก็หนักเบาต่างกันไป หลักเกณฑ์สำคัญๆ ข้อหนึ่งคือว่า การมาอยู่ในอำนาจนี่ ไม่ควรอยู่นาน ถ้ามีช่วงเปลี่ยนผ่านอย่างสม่ำเสมอ เราจะเห็นว่าประเทศไหนที่ผู้บริหารประเทศหรือนักการเมืองอยู่ในอำนาจนานๆ มันเป็นสิ่งที่น่าห่วง เพราะเป็นการสั่งสมอำนาจ และไม่เป็นประชาธิปไตย ผมไม่อยากเข้าไปในรายละเอียด ว่ามันเป็นอะไรต่อมิอะไร คือเอาข้อแรกก่อนว่า ถ้าทุกคนที่เข้ามาทำงานด้านการเมืองมีการเปลี่ยนผ่าน หัวหน้าพรรคต้องเปลี่ยน ทุกอย่างต้องเปลี่ยน เหมือนกับการแบ่งปัน เมื่อมีการแบ่งปันกันปัญหาก็จะน้อยลง มนุษย์มีจิตใจตรงนี้ที่คุยกันมาสักครู่ ผมยังนึกอยู่ว่าอย่าไปสนใจเรื่องการเมืองมากเกินไป ชีวิตเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเมือง การเมืองเป็นส่วนนิดเดียวนะ ในประเทศนี้ เศรษฐกิจใหญ่กว่า สังคมใหญ่กว่า แต่สื่อมวลชนก็ไปเอาใจฮาร์ดคอร์ทางการเมือง แทนที่จะมาพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจ พูดถึงวิธีการทำงานอย่างไรเพื่อจะให้ทุกคนอิ่มหนำสำราญ พูดเรื่องปากท้อง แต่เราก็ไปพูดแต่เรื่องการเมืองเป็นหลัก
ภิญโญ : แต่คุณไพบูลย์ก็เปิดประเด็นไว้ว่ามันอยู่ที่เรื่องอำนาจ ถ้าพูดเรื่องอำนาจแล้วไม่พูดเรื่องอำนาจทางการเมือง อำนาจมันก็จะหายไปนะครับ
ไพบูลย์ : จริงๆ แล้วอำนาจทางการเมืองไม่ได้ทะลุทะลวงไปในทุกส่วน เศรษฐกิจก็ยังยั่งยืนได้แม้ว่าจะผ่านการเมืองอย่างเอะอะโวยวายข้างถนน
มาหลายปี จนเราชินแล้ว ช่วงแรกผมตื่นเต้นมาก แต่ต่อจากนั้นมาผมก็ชิน
ภิญโญ : ดูข่าวการเมืองทุกคืนเป็นไงครับ
ไพบูลย์ : เฉยๆ ไม่ซีเรียส
ภิญโญ : (หัวเราะ) แล้วคุณวิกรมล่ะ ดูข่าวการเมืองทุกคืนเป็นไงครับ
วิกรม : ผมไม่ค่อยดู
ภิญโญ : แล้วดูอะไรครับ เสพยังไงครับสื่อ
วิกรม : ส่วนใหญ่ผมจะดูพวก Discovery Channel, National Geographic Channel ดูช่องของต่างประเทศมากหน่อย แต่ของบ้านเราดูแล้วมันเหนื่อยนะ (หัวเราะ)
ไพบูลย์ : มันไม่มีอะไร เพราะไม่ได้คืบหน้าไปไหน ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร จิกกันไป จิกกันมา ผมเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่พวกเรา
ก็ชอบนะ ถึงอ่านข่าวหนังสือพิมพ์กันอย่างเมามัน ผมก็อ่าน สนุกดี แต่ไม่ได้ตื่นเต้นแล้ว
วิกรม : ผมว่าเป็นความบันเทิงอย่างหนึ่ง
ไพบูลย์ : อย่าไปเครียดก็แล้วกัน
ภิญโญ : กลับมาที่ประเด็นที่คุณไพบูลย์เปิดไว้ว่า ตกลงมันเป็นเรื่องของอำนาจที่ไม่จัดสรร ไม่แบ่งปัน เลยไม่ลงตัว แล้วคนที่อยู่ในอำนาจก็อยากอยู่นานๆ แต่พออยู่ไปนานๆ คนก็ไม่อยากให้อยู่นาน ต้องมีการไล่กันไป คุณวิกรมมองประเด็นเรื่องอำนาจ การสืบทอดอำนาจ และการอยู่ในอำนาจนานๆ อย่างไรครับ
วิกรม : มันเป็นนิสัย เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ถ้าเราได้ดีก็อยากได้ดีไปเรื่อยๆ หรือเราได้ประโยชน์ก็อยากผูกขาดประโยชน์นั้นไปเรื่อยๆ เป็นธรรมชาติของคนเรา ถ้าเราไม่ตั้งกฎเกณฑ์อย่างที่คุณไพบูลย์พูดเมื่อสักครู่ว่า ต้นไม้มันก็ต้องมีผลัดใบ สมบัติมันก็ต้องผลัดกันชม แต่ละหน้าที่ แต่ละความสามารถ ซึ่งนั่นเป็นกฎเกณฑ์ที่เขาตั้งกันขึ้นมา ถ้าเราปฏิบัติตามอย่างนั้นไป แล้วก็ว่าตามครรลองของความถูกต้อง ผมว่าก็โอเค แต่ประเด็นคือบางคนอาจจะคิดว่าต้องต่อเนื่อง หรืออาจต้องการมากกว่านั้น นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ภิญโญ : ทั้งสองท่านอยู่ในองค์กรธุรกิจ เป็นผู้นำธุรกิจกันทั้งคู่ มีอำนาจทั้งคู่ ไม่ใช่อำนาจทางการเมือง แต่เป็นอำนาจทางธุรกิจ เวลามีอำนาจจริงๆ มันชินไหมครับว่า เรามีอำนาจอยู่แล้ว เราก็ไม่ค่อยอยากจะปล่อยให้อำนาจหลุดมือไป
ไพบูลย์ : คำว่าอำนาจมันก็…ถ้าสำหรับคนที่รู้สึกว่ามันเป็นประโยชน์กับตัวเอง ก็แล้วแต่เขา แต่อำนาจเป็นของร้อนนะ อำนาจทำให้ร้อน มันไม่สนุกหรอก แต่มันเท่
ภิญโญ : มันร้อนแต่มันเท่ แล้วจะรักษาหรือกุมอำนาจไว้กับมืออย่างไรไม่ให้ลวกมือ
ไพบูลย์ : ผมว่าคนเราถ้าเพียงพอก็ไม่มีปัญหา อย่างที่ผมได้พูดไปแล้วว่า ถ้าผู้นำของแต่ละประเทศ เราจะสังเกตได้ว่าประเทศไหนเจริญหรือไม่เจริญ ศิวิไลซ์หรือไม่ศิวิไลซ์ ให้ดูที่ผู้นำประเทศว่ามีการเปลี่ยนผ่านไหม อเมริกา 4 ปี อย่างมากสองสมัย 8 ปี แล้วก็เปลี่ยน อังกฤษก็เหมือนกัน ตอนนี้เมืองจีนก็น่านับถือมาก 8 ปีเขาก็เปลี่ยน พอคนนี้จะมีอำนาจสูงสุดหรือมีอิทธิพลมากมายเขาก็ถอย แต่ถ้าเผื่อรัสเซีย ปูตินกลับมาอีก ผมก็ชักห่วงเขาแล้ว มันเป็นอย่างนี้เพราะอะไร เป็นการเปลี่ยนผ่าน เหมือนมีกติกาหลักคือผู้นำต้องยอมรับเงื่อนไขนี้ ก็จะง่ายขึ้น ผมเองก็ยังอยากเปลี่ยนผ่าน แต่ผมสนุกกับงาน ไม่ได้มีอำนาจ
ภิญโญ : คุณไพบูลย์บอกว่าตัวเองไม่มีอำนาจ ใครจะเชื่อครับ พวกแกรมมี่นั่งฟังอยู่นี่ฮากันหมด
ไพบูลย์ : ถ้าเผื่อมีความศรัทธาหรือความนับถือนี่อีกเรื่องหนึ่งนะ แต่นี่มันธุรกิจส่วนตัว เราสนุกกับงานจึงไปได้เรื่อยๆ แต่ไม่ได้แปลว่าอำนาจนั้นไปทำให้เกิดความเสียหายกับใคร หรือไปเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ของสาธารณะ ผมเกี่ยวพันในสมบัติส่วนตัว เพราะฉะนั้นจึงไม่เหมือนกัน แต่สมบัติของสาธารณะต้องเปลี่ยนผ่าน ไม่ควรยึดติด ควรมีระยะเวลา
ภิญโญ : เดี๋ยวจะมาคุยเรื่องส่วนตัวอีกที คุณวิกรมเวลาฟังคุณไพบูลย์พูดเรื่องหลักการ มันฟังดูดี แต่ว่าพอมาถึงเรื่องตัวเอง คุณไพบูลย์พูดว่าอำนาจมันเท่นะครับ พอเท่แต่เป็นของร้อน เอ๊ะ! มันบริษัทของฉันนี่ ก็ไม่อยากเปลี่ยนผ่าน อยากจับไว้ คุณวิกรมอยู่กับบริษัท อยู่กับกิจการขนาดใหญ่ยักษ์ อยู่กับอำนาจ จัดการกับอำนาจอย่างไร รู้สึกหวงแหนอำนาจในมือไหม
วิกรม : ตัวผมไม่ได้ดูแลเรื่องของการบริหารงานประจำวันมา 11 ปี เรามองว่า Put the right man on the right job. ก็ให้เขาไปทำกัน จริงๆ ผมไม่ได้เซ็นเช็คมาตั้งนาน น้าน นาน นานมากเลยนะ งานที่ผมทำอยู่ตอนนี้มีแค่อย่างเดียว คือทุก 2 อาทิตย์จะเข้ามาประชุม 1 ครั้ง หรือประชุมบอร์ดก็ 3 เดือนหรือ 4 เดือนครั้งหนึ่ง นั่นเป็นสิ่งที่ผมได้เข้าไปร่วมในการบริหาร หลักๆ ผมจะดูแลในเรื่องการวางแผน ในเชิงมองอนาคต แล้วเวลาที่เขามีปัญหาผมก็เข้าไป
ช่วยแก้ ผมใช้เวลาในการบริหารงานที่อมตะไม่ถึง 30%
ภิญโญ : 70% ที่เหลือทำอะไร
วิกรม : ทำงานส่วนตัว ผมเขียนหนังสือ ทำงานมูลนิธิ เร็วๆ นี้ก็จะเดินทางไปต่างประเทศด้วยรถบัส ซึ่งงวดนี้จะไป 6 เดือน แสดงว่าเราเริ่มหลุดออกจากงานประจำ แทนที่ 2 อาทิตย์จะมาบริษัทครั้งหนึ่ง ปีที่แล้วเราใช้เวลาเดินทางเกือบ 3 เดือน
ภิญโญ : ปีนี้ซัดซะ 6 เดือน
วิกรม : ใช่, อนาคตอาจเป็น 8 เดือนหรือเป็นปีก็ได้ มันเป็นการสะท้อนว่าผมไม่อยากเข้าไปอยู่ในส่วนของการบริหารงาน แต่ขณะเดียวกันผมก็อยู่ในฐานะผู้ถือหุ้น ในฐานะเป็นคนที่อาจมีประสบการณ์มากนิดหนึ่งในเรื่องการวางแผน ในเรื่องการมองไปอีกช็อตหนึ่ง ตรงนั้นเป็นงานที่ผมทำ
ภิญโญ : ยากไหมกับการถอยออกจากงานประจำ ถอยออกจากความคุ้นเคยที่ทำมาตลอด 20-30 ปี ในการสร้างอาณาจักรให้ใหญ่โต แล้ววันหนึ่งก็ถอยออกมาดู
วิกรม : มันเป็นการรู้จักตัวเองอย่างถูกต้อง ในมุมผมนะ ผมไม่ค่อยอยากจะไปทำในเรื่องของเศรษฐกิจ ผมว่าเรามีพอกิน แล้วมันก็เหลือใช้แล้วเลยหยุดอยู่แค่ตรงนั้น ผมชอบคำกล่าวหนึ่งของคนจีนเขาบอกว่า เราไม่ต้องไปทำอะไรมาก หรือแทบจะไม่ต้องทำอะไรเลยแล้วได้ผลประโยชน์ ผมว่าอันนั้นน่าจะ
ดีที่สุด ให้ชาวบ้านทำ เราก็ดูเขาทำ แล้วเราอยากให้เขาทำอะไรก็บอกเขาไป อย่างนั้นสนุกดี
ภิญโญ : นี่เป็นผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญนี่ครับ (หัวเราะ)
วิกรม : เราก็ถามตัวเองว่าต้องการอะไร ต้องการเศรษฐกิจ ต้องการความสำเร็จ ต้องการความภูมิใจ ถ้าเราได้มาซึ่งตรงนั้นแล้วผมว่ามันก็พอ แล้วเราก็ไปทำอย่างอื่นที่คิดว่าทำแล้วมันสนุก ผมจึงไปทำเรื่องส่วนตัว
ภิญโญ : กลับมาถามคุณไพบูลย์บ้างว่า คุณวิกรมบอกว่าเราถอยแล้ว-ท่านถอยหรือยัง
วิกรม : จริงๆ ผมไม่ได้ถอยเรื่องกำไร ผลประโยชน์ ผมยังมีหุ้นอยู่ แถมบางทีหุ้นก็เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ เสียด้วยซ้ำ เพราะบางครั้งมีเงินก็เอาไปซื้อหุ้นเพิ่ม
ภิญโญ : ธุรกิจก็ยังทำอยู่
วิกรม : ทำ
ภิญโญ : แต่เรื่องการจัดสรรเวลาให้กับงานเริ่มถอยแล้ว คุณไพบูลย์เคยให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่งว่าพออายุ 60 จะเกษียณ แล้วจะหามืออาชีพมาทำงานแทน แต่วันนี้ก็ยังกลับไปทำงานบริษัทเหมือนเดิม คนลือว่าทำหนักกว่าเดิมอีก
ไพบูลย์ : คืออย่างนี้ อำนาจในการบริหาร อำนาจในการจัดการ และการยึดติดกับอำนาจ ต้องเรียนอย่างนี้ว่าผมพยายามผ่องถ่ายอำนาจมาหลายปี ยิ่งเราเป็นเจ้าของกิจการเองและผู้ถือหุ้นใหญ่นี่ ผมก็อยากได้คนเก่งๆ มาทำงานโดยที่ผมไม่ต้องทำงาน
ภิญโญ : สูตรเดียวกันกับคุณวิกรมเลยนะครับ
ไพบูลย์ : แต่มันไม่ค่อยเหมือนกับประเทศชาติเสียทีเดียว แม้จะมียึดโยงกันอยู่ในบางเรื่อง ผมหมายถึงว่าถ้าผมสามารถหาคนมาแทนได้ เอาคนที่เก่งกว่าผมมาทำงาน มันก็จะได้ประโยชน์สูงสุดกับผม หนึ่ง, ผมไม่ต้องเหนื่อย เพราะไม่ต้องทำงาน มีคนเก่งกว่าที่บริษัทว่าจ้างเข้ามาดูแลแทน อันนั้นดีที่สุด แต่ผมบอกว่าที่ผมยังมีอำนาจอยู่ เป็นการเข้ามาปรึกษาหารือ แต่ในทางนิติกรรม ผมเป็นที่ปรึกษานะวันนี้ผมไม่มีอำนาจในการลงนามใดๆ ทั้งสิ้น เป็นกรรมการผู้ไม่มีอำนาจ ผมเข้าไปทำงานด้วยความสนุก ระบบของเอกชนก็คงพยายามที่จะหาคนเก่งให้มากที่สุด ให้มาทำงานแทนตัวเองให้ได้มากที่สุด แต่การทำงานทางการเมือง คนที่มีอำนาจจะมีอำนาจในการกำหนดรายได้หรือกำหนดผลประโยชน์ให้ตัวเองมากที่สุด มันไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น การบริหารงานทางการเมืองเลยยึดติดกับอำนาจ ส่วนเอกชนไม่ได้ยึดติดกับอำนาจ เพราะผมมีอำนาจอยู่ในบริษัทอยู่แล้ว ไม่ว่าผมจะปลดตัวเองออกจากนิติกรรมทางด้านกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น แต่ตราบใดที่ผมยังเป็นผู้ถือหุ้น คนก็ยังเกรงใจอยู่ แต่บทบาทการทำงานก็ผ่องถ่ายให้ได้มากที่สุด ถ้าตัวเองยังมีประโยชน์อยู่ก็คงเข้าไปช่วยเหลือ ถ้าสนุกและเพลิดเพลินอยู่นะ ใครบอกว่าผมทำงานหนัก ไม่จริง ผมกำลังสนุกกับมันอยู่
ภิญโญ : หน้ายังใสอยู่เลยครับ (หัวเราะ) ทีนี้ถ้าประเทศเป็นบริษัท ประชาชนทุกคนเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทแห่งนี้ ทำอย่างไรผู้ถือหุ้นถึงจะได้ผู้บริหารที่ดีที่สุด ที่จะมาทำงานให้กับประเทศ คุณไพบูลย์ดำเนินธุรกิจมาเกือบ 30 ปี ใช้วิธีไหนในการที่จะสร้างหรือดึงคนเก่งเข้าสู่การบริหารในจุดที่สมควร
ไพบูลย์ : ผมเคยคิดอย่างนี้นะครับ ผมเคยเปรียบเทียบว่า เอ๊ะ! บริษัทกับประเทศมันน่าจะคล้ายกัน แต่บางคนก็บอกว่ามันไม่เหมือนกันเลย แต่โอเค มันก็ไม่เหมือนกันอย่างที่ผมได้เรียนไปสักครู่ แต่ถ้าเผื่อจะเปรียบเทียบถึงจิตวิญญาณ มันมีความเหมือนกัน สมมุติผมถูกว่าจ้าง ได้รับความไว้วางใจจากผู้ถือหุ้นให้มาเป็นซีอีโอของประเทศไทย แล้วผมก็ทำงานให้กับผู้ถือหุ้นที่ไว้วางใจผม เพราะเขาว่าจ้างผม ยิ่งผมทำงานดีเขาก็ให้สิ่งตอบแทนที่ดี ผมก็เลยพยายามไปหาทีมงานที่ดีที่สุดเพื่อจะเข้ามาบริหาร มาทำให้ผู้ถือหุ้นของผมพอใจ ก็ทำให้มันดีที่สุด อย่างนั้นก็หมายความว่าผลตอบแทนของคนทำงานอย่างผมซึ่งเป็นมืออาชีพในฐานะซีอีโอกับคนที่ผมหามาคือคณะรัฐมนตรีหรือเจ้าหน้าที่พนักงานของรัฐทั้งหมด ข้าราชการทั้งหมด ถ้าทุกฝ่ายถูกว่าจ้างจากประชาชนมาในทางที่ดี ถ้าผมบริหารดี อันนั้นคงเป็นเรื่องที่ประชาชนจะตอบแทนให้เรา ถ้าอย่างนั้นแลดูเหมือนมีความสุข เพราะรู้ว่าเราจะมาโชว์ผลงาน 4 ปี 8 ปี หรือในระยะเวลาไหนก็ตามที่ไม่ถูกไล่ออกให้เสียชื่อวงศ์ตระกูล ผมว่าก็น่าจะทำไป แล้วได้รับผลตอบแทนประมาณหนึ่งที่มันพออยู่อาศัย สมน้ำสมเนื้อ ถ้าอย่างนี้ก็คงจะมีความสุขกันถ้วนหน้า
ภิญโญ : คุณวิกรมทำอย่างไรเราถึงจะได้คนดีๆ คนเก่งๆ ถ้าประเทศเป็นบริษัทแล้วเอาคนเหล่านี้มาบริหารประเทศ ประเทศจะพัฒนา เดินก้าวหน้าไปอย่างที่ทุกคนใฝ่ฝันกัน
วิกรม : การจะมองมนุษย์ก็ต้องมองถึงอดีตของเขานะ มองผลงาน มองวิสัยทัศน์ ถ้าเกิดใครมี 3-4 เงื่อนไขที่ว่านี้ อย่างน้อยๆ เราก็รู้ว่าเขาเป็นคนนิสัยอย่างไร มีผลงานอย่างไร มีความสามารถอย่างไร ผมว่าวันนี้คนไทยที่เก่งๆ มีเยอะ คนไทยเก่งระดับโลกมีเต็มไปหมดเลย
ภิญโญ : แล้วไปอยู่ที่ไหนกันหมด ทำไมไม่อยู่ในภาคการเมืองครับ หายไปไหนครับ
วิกรม : มันก็แล้วแต่ เมืองไทยมีคนเก่งๆ หลายคนนะ แต่เขาไม่อยากเข้าไปยุ่งกับการเมือง
ภิญโญ : คุณวิกรมครับ เคยมีคนชวนคุณวิกรมไปเล่นการเมืองหลายครั้ง เคยมีข่าวลือด้วยว่าถึงขนาดจะให้ไปเป็นรัฐมนตรีกระทรวงนั้นกระทรวงนี้ กระทั่งจะไปเป็นนายกฯ
วิกรม : (หัวเราะ) ไม่ถึงขนาดนั้น คนที่รู้จักตัวเรามากที่สุดคือตัวเรานะ เราก็รู้ว่าตัวเราเหมาะสมกับอะไร ชอบอะไร ชาวบ้านมองเราเขาก็คิดกับเราอีกแบบหนึ่ง แต่ตัวเรารู้จักตัวเราดีที่สุด ส่วนใหญ่ตอนนี้ผมไปอยู่แถวเขาใหญ่ อยู่เงียบๆ มา 11 ปีแล้ว เรารู้สึกว่านั่นคือชีวิตเรา คือตัวเรา แล้วตอนนี้ผมก็กำลังเดินทาง ไปมันเรื่อยๆ เหมือนนกที่บินไปไม่ยึดติดไม่ผูกติด แล้วก็ทำในสิ่งที่ผมคิดว่าน่าจะใช่ น่าจะดี
ภิญโญ : การเมืองไม่เล่นแน่นอน
วิกรม : ไม่เล่น
ภิญโญ : เราบอกอยากหาคนเก่ง แต่พอชวนเข้าการเมืองทุกคนบอกไม่เล่นๆ ชีวิตดีอยู่แล้ว แล้วอย่างนี้คนเก่งจะหาได้จากที่ไหนกันล่ะครับ
วิกรม : คนเก่งๆ มีเยอะ ที่จริงอย่างคุณไพบูลย์ก็เป็นคนเก่งคนหนึ่ง
ภิญโญ : คุณไพบูลย์จะเล่นการเมืองไหม
ไพบูลย์ : โอ้ว! ขอบคุณ
วิกรม : คุณไพบูลย์เป็นคนเก่งคนหนึ่งซึ่งมีความเชี่ยวชาญในเรื่องการบริหารจัดการ ยกตัวอย่างนะ ผมคิดว่าคุณไพบูลย์เป็นคนที่มีศักยภาพในการบริหารองค์กรที่มีคนเยอะๆ แล้วก็องค์กรที่มันยุ่งยากซึ่งต้องใช้ศิลปะในการบริหารจัดการ
ภิญโญ : ชมกันซึ่งๆ หน้าแบบนี้ เอาให้เขินเลยนะครับ
วิกรม : ไม่ๆ เท่าที่คุยกันมา เท่าที่เข้าใจ
ภิญโญ : แต่ว่าถ้าเล่นการเมืองจริงๆ หน้าตาแบบนี้ รูปร่างแบบนี้ แบบคุณไพบูลย์นี่จะรอดมั้ยครับ
วิกรม : ก็มีพื้นฐานไง คนที่จะทำงานการเมือง หนึ่ง, ต้องเป็นคนที่อดทน เกี่ยวข้องกับผู้คนเยอะ ผมนี่สันโดษ อยากจะทำอะไรเงียบๆ อยากจะไปเรื่อยๆ
ภิญโญ : คุณวิกรมขายหนังสือได้วันละหมื่นเล่มนี่สันโดษไหวเหรอครับ เข้าเซเว่น (อีเลฟเว่น) นอกจากขนมจีบซาลาเปาแล้ว ก็ต้องเจอหนังสือคุณวิกรมนี่แหละ
วิกรม : เรื่องขายของ ขายดีไม่ดีไม่มีปัญหาหรอก ขายวันละแสนเล่มก็ยิ่งแฮปปี้ใหญ่ แต่นิสัยเรามันก็เป็นอย่างที่ว่าไปแล้ว มันไม่เหมาะสมกับงานด้านการเมือง การทำงานการเมืองของบ้านเราอย่างน้อยเราเสียเวลาไป 50%
ภิญโญ : เสียไปกับอะไรครับ
วิกรม : เสียไปกับเรื่องที่ต้องเกี่ยวข้องกับผู้คน อีก 50% ถึงจะมีเวลามาทำเรื่องส่วนตัว มันใช้เวลาไปเยอะ เดี๋ยวคนนั้นแต่งงาน งานวัด งานบวช งานวันเกิดคนนั้นคนนี้ มันต้องวิ่ง วันๆ หนึ่งเกือบตายเลย ถ้าเจองานอย่างนั้นผมก็แย่นะ วันนี้เราก็อายุ 59 แล้ว ระยะเวลาที่เหลือ มันเหมือนเม็ดทรายที่ตกมา แต่ละเม็ดๆ มันก็ไม่กระเด้งกลับไปสักเม็ดหนึ่ง บางครั้งเรานึกว่ามันจะเหลือเยอะ แต่ความจริงมันเหลือไม่เยอะแล้ว ฉะนั้นก็ต้องมาเลือกทำในสิ่งที่เราอยากจะทำ อยากจะเป็น
ภิญโญ : คุณวิกรมบอกคุณไพบูลย์บริหารคนเก่ง ดูโหงวเฮ้งแล้วดี มีศักยภาพ ตกลงจะไปเล่นการเมืองไหมครับ
ไพบูลย์ : ผมว่าการเมืองคงมีธรรมชาติของมันอยู่ คือมันไม่เหมือนผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นก็ต้องมาประชุมที่บริษัทเรา แต่นี่เราต้องเดินไปหา มีกระบวนการต่างๆ ที่ซับซ้อนกว่า อย่างที่รู้กันมันมีผลประโยชน์มหาศาล ซึ่งส่วนนี้จะต่างจากธุรกิจโดยสิ้นเชิง เป็นเรื่องของการช่วงชิงอำนาจ เรื่องยศถาบรรดาศักดิ์
ภิญโญ : นี่เริ่มเป็นนักการเมืองแล้ว ถามแล้วตอบอ้อมไปอ้อมมา
ไพบูลย์ : ซึ่งยากครับ ผมไม่มีธรรมชาติแบบนั้นเลย
ภิญโญ : ถามจริงๆ เคยมีคนมาจีบไหมครับ
ไพบูลย์ : เคยมีคนมาล้อเล่น มาถามกันเล่นๆ ผมก็ตอบง่ายๆ ว่า คนตื่นสายมันไม่มีอนาคต ผมเป็นคนขี้เกียจ ตื่นสายมาก ใช้ชีวิตอาจจะไม่สันโดษนะ ใช้ชีวิตสบาย โอเค เราเป็นคนอยากเสนอความคิดความเห็น แต่เรารู้ตัวเองดีว่า ธรรมชาติมันไม่เป็นอย่างนั้น อย่างน้อยที่สุดก็หวังว่าคนที่ทำงานการเมืองน่าจะทำอะไรบ้าง ที่มันเรียบง่ายลง การเมืองตอนนี้มันสีสันมากไป ขอให้มันเรียบๆ หน่อย ให้นิ่งหน่อยน่าจะดีขึ้น
ภิญโญ : เราเริ่มเปิดฉากคุยกันเรื่องปัญหาของประเทศ คุยเรื่องอำนาจ การกระจายอำนาจ การสืบทอดอำนาจ คุยกันต่อเนื่องหลายประเด็น ถ้าย้อนกลับมาทั้งคุณวิกรมและคุณไพบูลย์ก็เสนอว่าต้องมีคนเก่งๆ คนดีๆ เข้าไปบริหารประเทศ เพื่อให้ผู้ถือหุ้นพอใจ แต่บางทีคนเก่งๆ คนดีๆ ก็ไม่อยากเข้าไป เพราะการเมืองมันเป็น 1, 2, 3, 4 ตามที่คุณไพบูลย์ไล่มา แล้วพอดูสถานการณ์จริง ทุกวันนี้ความขัดแย้งมันสูง ถ้ากางประเทศไทยออกมาดู แล้วเปรียบประหนึ่งเป็นบริษัทบริษัทหนึ่ง คุณวิกรมในฐานะผู้ถือหุ้น1 หุ้นในประเทศไทย เห็นบริษัทนี้เป็นอย่างไรในวันนี้
วิกรม : ผมว่าประเทศไทยมีโอกาสที่จะพัฒนาได้มาก ถ้าพิจารณาทั้งในเรื่องประวัติศาสตร์หรือภูมิศาสตร์ เราได้เปรียบคนอื่นเยอะที่สุดในภูมิภาคนี้ แล้วในส่วนของวัฒนธรรมเราก็ได้เปรียบคนอื่น วันนี้คนที่เข้ามาเมืองไทยเขารู้สึกนึกคิดกับคนไทยในแง่ดี ดีมากด้วย ตรงนี้ถือเป็นทรัพย์สินนะ ถ้าเกิดเรารู้จักใช้ทรัพย์สินตัวนี้อย่างถูกต้องและเป็นประโยชน์ ผมว่าประเทศไทยจะไปได้อีกไกล ไปได้อีกเยอะมากเลย
ภิญโญ : คุณไพบูลย์มองบริษัทประเทศไทยเป็นอย่างไรในวันนี้
ไพบูลย์ : เราเป็นประเทศที่มีเสน่ห์อย่างที่คุณวิกรมว่า เราอยู่ในภูมิประเทศที่ดี ภูมิอากาศที่ดี คนของเราก็มีเสน่ห์ การท่องเที่ยวด้วย อย่างผมไปต่างประเทศผมไม่เคยเจอใครที่ไม่ชอบประเทศไทยเลย ไม่น่าเชื่อนะ ปีนี้อาจเจอภัยธรรมชาติเหมือนปีที่แล้ว แต่ผมเชื่อว่าทั่วโลกก็เจอเหมือนกัน เมืองไทยเป็นประเทศที่ปลอดภัยที่สุดแล้ว ที่เป็นอยู่นี่ แม้การเมืองแลดูจะวุ่นวาย แต่ถามว่ามีอิทธิฤทธิ์มากมายไหม ผมว่าไม่นะ คิดดู เศรษฐกิจเราก็เติบโตไม่ได้มีปัญหาอะไร สังคมก็สงบประมาณหนึ่งก็ยังเป็นประเทศที่น่าอยู่ ผมมีความหวังสูง สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องดีก็คือในระหว่างที่มีความขัดแย้งทางการเมืองในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ผมว่ามันเสียบางอย่างไป แต่ก็ได้บางอย่างกลับมา นั่นคือสำนึกทางการเมือง ในการเรียกร้องข่าวการเมือง ซึ่งสมัยก่อนในแง่ทีวี ข่าวเป็นรายการที่ขายไม่ได้ แต่ใน 5-6 ปีนี้ ข่าวเป็นรายการทีวีที่ขายได้ดีมาก มีเรตติ้งสูง
ภิญโญ : นี่คือความเปลี่ยนแปลง
ไพบูลย์ : ใช่ความเปลี่ยนแปลง ข่าวกลายเป็นรายการทีวีที่มีคนนิยม
ภิญโญ : แสดงว่าคนตื่นตัวอย่างนั้นเหรอครับ คุณไพบูลย์กำลังพยายามจะบอกแบบนี้
ไพบูลย์ : ครับ ตื่นตัวจนกระทั่งผมคิดว่า คนเริ่มเรียนรู้คำว่าประชาธิปไตย เรียนรู้คำว่าการเมือง เรียนรู้ว่าการเมืองเกี่ยวข้องกับตัวเอง เรื่องการไปเลือกตั้ง การจะชอบพรรคนั้นพรรคนี้ผมไม่รู้สึกว่ามันแปลกอะไรมากมาย ที่ไหนก็เป็น ชอบคนนั้นชอบคนนี้ ชอบรีพับลิกันหรือเดโมแครตมันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ของบ้านเราสีสันอาจจะจัดจ้านไปหน่อย แต่ผมว่ามันยังปกติอยู่ คนมันพัฒนาขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่สนใจการเมืองเป็นเรื่องดี สนใจข่าวก็เป็นเรื่องดี จะได้รู้เท่าทัน จะได้มีส่วนร่วมในประเทศ ถ้าเรามี Sleeping Shareholder สิ มันถึงจะแย่กว่า
ภิญโญ : ตอนนี้ตื่นตัวกันหมดครับ ตื่นตัวอย่างรวดเร็วด้วย คุณไพบูลย์เปิดประเด็นเรื่องความเปลี่ยนแปลงทางสังคม การตื่นตัวทางการเมือง ข่าวกลายเป็นของขายได้ คุณวิกรมเดินทางไปต่างประเทศค่อนข้างมาก แล้วเร็วๆ นี้ก็จะไปเดินทางรอบใหญ่ใช้เวลาครึ่งค่อนปี เวลาไปเดินทางต่างประเทศเห็นความเปลี่ยนแปลงในประเทศเพื่อนบ้าน เห็นความเปลี่ยนแปลงในประเทศอื่น อะไรที่น่าสนใจ อะไรที่มีนัยสำคัญที่จะสะท้อนกลับมาสู่การดูสังคมไทยได้บ้าง
วิกรม : ผมว่ามันเป็นโอกาสนะ การที่เราได้ไปเห็น ไปเข้าใจ แล้วรู้ว่าเขามีอะไร เรามีอะไร ผมว่านั่นคือโอกาสที่จะทำให้เราได้คิด แล้วหยิบฉวยโอกาสตรงนั้นเข้ามาพัฒนาประเทศ ตลาดโลกใหญ่มาก ใหญ่กว่าเมืองไทยเยอะเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของประชากร เศรษฐกิจ การที่เราได้ไปเห็นว่าแต่ละประเทศ แต่ละวัฒนธรรม เขามีอะไร เขาขาดอะไร มันจะนำมาสู่การพัฒนาเพื่อจะไปเสริมซึ่งกันและกัน อันนั้นจะเป็นประโยชน์ เป็นสิ่งที่ผมชอบที่จะเดินทาง เราเดินทางไปกับรถ ค่ำไหนนอนนั่น ชอบที่ไหนก็อยู่นานหน่อย
ภิญโญ : เพิ่มวันได้
วิกรม : อืมม์…แล้วก็ไม่ต้องเข้าเช็กอินโรงแรม ทุกอย่างมันเช็กอินอยู่ในรถเรียบร้อยแล้ว เรามีที่นอน มีห้องน้ำ มีห้องครัว มีโต๊ะทำงาน มีอะไรต่อมิอะไรต่างๆ มันสะดวกสบาย ไปแล้วรู้สึกว่า ทุกวันตื่นลืมตาขึ้นมาปั๊บก็เห็นในสิ่งที่ต่าง เพราะทุกวันนี้เรานอนอยู่เตียงเดียว บ้านเดียว อยู่ในซอยตรงนี้ตรงนั้น มันเหมือนเดิม
ภิญโญ : ทำให้คิดอะไรไม่ค่อยออกเหรอครับ
วิกรม : คือความเห็นต่างมันย่อมทำให้เราเกิดปัญญา การที่มันสนุกก็ทำให้เราอยากคิด อยากทำ อยากเขียน ผมก็สนุกกับตรงนั้น และมันน่าจะสะท้อนกลับมาให้คนที่อยู่บ้านเราเห็นว่าเราไปเจออะไร เราคิดอะไร ก็ต้องเขียนเรื่องพวกนี้ลงไปในหนังสือ
ภิญโญ : คุณวิกรมครับ คอลัมนิสต์ใหญ่ของนิวยอร์กไทม์ ชื่อ ธอมัส ฟรีดแมน (Thomas Friedman) เขียนหนังสือขายดีมากชื่อ The World Is Flat แต่อาจจะขายดีสู้กับหนังสือของคุณวิกรมไม่ได้ เพราะดูแล้วของคุณวิกรมขายดีกว่า มีคนไปถามฟรีดแมนซึ่งเป็นคนอเมริกันว่า ถ้าเกิดสมมุติให้คุณเลือกอยู่ประเทศใดประเทศหนึ่งซึ่งไม่ใช่อเมริกาได้ จะเลือกไปอยู่ที่ไหน ฟรีดแมนตอบทันทีว่าไปอยู่ไต้หวัน เพราะว่าการพัฒนามันดีมาก เป็นประเทศที่ไม่มีทรัพยากร ไม่มีน้ำมัน ไม่มีอะไรเลย แต่มีเงินสำรองเป็นอันดับที่ 4 ของโลกได้ ถามคุณวิกรมบ้างว่า หากวันนี้ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย จะเลือกไปอยู่ประเทศไหนครับ
วิกรม : เดิมทีผมอยากไปอยู่ประเทศจีนนะ อยู่ตอนใต้ของจีนที่ยูนนาน มีเมืองเมืองหนึ่งชื่อ ลี่เจียง เป็นเมืองที่ผมเข้าไปพัฒนาเมื่อปี ค.ศ. 1993 ผมไปที่นั่นแล้วเจอชนเผ่าน่าซี อากาศที่นั่น อาหารที่นั่น น้ำ ภูมิประเทศ ผมชอบหมด ตัดสินใจตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่าอยากจะไปอยู่ที่นั่น เพราะตอนปี 1993 ลี่เจียงไม่มีอะไรเลย แล้วผมก็คิดว่าคนที่นั่นพร้อมที่จะไปกับผม ผมพูดอะไร เสนออะไร มีวิสัยทัศน์อย่างไร คนที่นั่นพร้อมไปหมดเลย โอ้โห! เรามีแขนขา มีทรัพยากร แล้วมันก็ใหญ่มาก ตอนนั้นตัดสินใจแล้วว่าจะไปอยู่ที่นั่น
ภิญโญ : แต่ทำไมไม่ได้ไป
วิกรม : เพราะวิกฤติเศรษฐกิจ ผมไปทำงานที่ยูนนาน มีพื้นที่ประมาณ 68,000 ตารางกิโลเมตร ผมร่วมกับกรมอนุรักษ์ธรรมชาติของอเมริกา
ส่งคนเป็นร้อยๆ คนเลยนะเข้าไป เราวางแผนหมดเงินไปตั้ง 5-6 ล้านเหรียญ จนวางผังมาได้ เป็นเมืองที่สวย เมืองที่ดี สงบ เป็นเมืองที่ผมชอบที่สุดเลย ตอนนั้นเลยอยากไปอยู่ที่นั่น
ภิญโญ : คุณไพบูลย์นอกจากประเทศไทย ถ้าเลือกได้อยากจะไปอยู่ประเทศไหน
ไพบูลย์ : (หัวเราะ) อยู่ที่นี่แหละ
ภิญโญ : อยู่บ้านคุณวิกรมนี่นะครับ
ไพบูลย์ : ภาษาที่ผมพูดได้ดีและก็ลึกซึ้ง ราบรื่น คือภาษาไทย ผมคิดอย่างปกติธรรมดาว่าถ้าไปอยู่ประเทศอื่น ผมคงพูดภาษาของประเทศนั้นๆ ไม่ได้ดี อีกอย่างผมเป็นคนติดเพื่อน
ภิญโญ : ชวนเพื่อนไปอยู่ด้วยก็ได้นะ
ไพบูลย์ : ก็ต้องชวนไปหลายคน เขาจะไปหรือเปล่าก็ไม่รู้ ผมคงอยู่แถวนี้ อยู่ประเทศไทยนี่แหละ ชาวบ้านเขายังอยากมาอยู่ที่เรา ผมว่าอยู่ที่นี่ก็ดีแล้ว ผมก็สร้างบ้านไว้ ผมเป็นนักสร้างบ้าน สร้างไว้หลายแห่งทั้งที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ หัวหิน เขาใหญ่ อะไรต่อมิอะไร บ้านแต่ละแห่งผมสร้างเองก็เลยชอบ เวลาไปอยู่ก็อยู่อย่างสบายใจ เวลาเราอยู่บ้านยังไงก็มีความสุขกว่าอยู่โรงแรมหรือไปอยู่ที่อื่น พาครอบครัวไปอยู่มีความสุขมาก ญาติมิตรก็อยู่แถวนี้
ภิญโญ : คุณวิกรมครับ มีคอลัมนิสต์อังกฤษคนหนึ่งเขาบอกว่าถ้าเอกชนบริหารประเทศแล้วมันมีประสิทธิ-ภาพอย่างที่เราคุยกันมาทั้งหมด ก็ลองให้เอกชนบริหารประเทศ ไม่ต้องมีนักการเมือง ไม่ต้องมีรัฐบาลจะได้ไหม ความคิดนี้เป็นอย่างไรครับ
วิกรม : ผมว่าได้เป็นบางส่วน อย่างตอนนี้ในสนามบินเราก็ให้เอกชนบริหาร ท่าเรือก็ให้เอกชนบริหาร ในส่วนที่เอกชนทำได้เขาก็ทำกันทั่วโลกครับ
ภิญโญ : ถ้าจะให้บริหารประเทศทั้งประเทศมันคงทำจริงไม่ได้ แต่ถ้าให้ลองสมมุติ
วิกรม : คงยาก ประเทศไม่เหมือนองค์กรหรือบริษัทเอกชน ซึ่งบริษัทก็เช่นกัน ต้องมีผู้นำ คนสุดท้ายที่จะตัดสินใจ มันเป็นรูปพีระมิดอยู่ คนตัดสินใจสูงสุดคนนั้นจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจ ต้องรับผิดชอบเหมือนผู้นำประเทศคนหนึ่ง ซึ่งต้องมี ส่วนจะมาตัดงาน แบ่งเค้กกัน แล้วบอกว่าทำตรงนี้เพื่อจะให้เกิดความกระชับ เพื่อจะไม่ให้ต้องมีภาระงบประมาณ Contact Out ไป ผมว่าทำได้
ภิญโญ : คุณไพบูลย์มองอย่างไรครับ แหม…เอกชนเก่งจริงๆ บริหารหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ อะไรก็สร้างความมั่งคั่งได้หมด มีประสิทธิภาพ สร้างงานดี
มีกำไร สู้กับต่างประเทศได้ด้วย อย่างนี้ให้เอกชนบริหารประเทศไปเลยไหม
ไพบูลย์ : ผมว่าเอกชนก็คือคนนะ มันขึ้นอยู่กับระบบ ความเก่งของคนไม่ว่าจะเป็นในภาครัฐหรือภาคเอกชนมีเหมือนๆ กัน เพียงแต่ว่าวัฒนธรรมองค์กรของเอกชนกับวัฒนธรรมองค์กรของรัฐมันไม่เหมือนกัน รัฐอาจมีเป้าหมายที่ซับซ้อนกว่า มากกว่า แต่ถ้าอยากให้เอกชนไปทำนะคุณวิกรม ก็น่าจะทำได้ เพราะเป็นเรื่องความคิดสร้างสรรค์ เรื่องการบริหารจัดการ การแบ่งปันผลประโยชน์ ถามว่ามันแตกต่างอะไรมากมาย มันก็ไม่แตกต่าง สมมุติว่าเอกชนไปบริหารราชการแผ่นดินหรือไปเป็นรัฐบาล เอกชนมีความคิดสร้างสรรค์ มีเรื่องการบริหารจัดการ และมีการแบ่งปันผลประโยชน์ ถ้ามองว่า 3 อย่างนี้เป็นตัวหลักมันก็คงเหมือนกัน ก็ทำได้ แต่ภาคเอกชนไม่มีทหาร ไม่มีตำรวจนะ ไม่มีการยิงกัน ไม่มีการจับกุม จะพัฒนาการศึกษา พัฒนาวัฒนธรรม พัฒนาการท่องเที่ยว พัฒนาอะไรก็ได้ แต่ทหารตำรวจจะงงนิดหนึ่งตรงนี้ เพราะจะต้องใช้หัวใจอีกอันหนึ่ง ตรงนี้ถ้านึกสนุกไปเรื่อยๆ ว่าอย่างนี้มันก็ยากเหมือนกันนะ อย่างนี้เราไม่คุ้น
ว่าด้วยยุทธศาสตร์และวิสัยทัศน์On Strategy and Vision
ภิญโญ : ที่เราคุยกันมาทั้งหมด ปูรากฐานปัญหาของประเทศมา บางคนก็บอกว่าหลายสิบปีที่ผ่านมาเวลาอยากจะแก้ปัญหาใหญ่ๆ ระดับประเทศมันแก้ไม่ได้สักทีหนึ่ง แต่ทั้งสองท่านเป็นผู้บุกเบิกในการทำธุรกิจ แล้วก็เข้าไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่ อย่างคุณไพบูลย์อยู่ในอุตสาหกรรมดนตรี แต่เดิมมีโครงสร้างมาแบบหนึ่ง วันหนึ่งเข้าไปเปลี่ยนแล้วสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมา คนก็บอกว่าวิธีคิดแบบนี้ถ้านำมาใช้กับการบริหารประเทศจะได้ผล แต่ในสถานการณ์จริงๆ คนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในระดับอุตสาหกรรมต้องเผชิญความยากลำบาก ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์มากมายขนาดไหน เช่นกรณีของแกรมมี่
ไพบูลย์ : เบื้องต้นถ้าคิดกันโดยหลักธรรมชาติของมันก็คือ Key to Success ของธุรกิจอย่างแกรมมี่ก็คือ เป็นบริษัทที่ทำเรื่องดนตรี ทำเรื่องศิลปะ เรื่องความบันเทิง ผมก็คิดไว้ว่าถ้าได้นักร้องที่ดีที่สุด ได้นักแต่งเพลงที่ดีที่สุด ได้นักการตลาดที่ดีที่สุดเพื่อมาเป็นโปรโมเตอร์ที่ดีที่สุด น่าจะประสบความสำเร็จ แต่ 3 องค์ประกอบนี้จะเข้ามาได้ต้องมีการแบ่งสรรปันส่วนในเชิงผลประโยชน์ที่ยุติธรรม ผมก็ไปใช้หลักของสากล ในเรื่องลิขสิทธิ์ สิทธิทางปัญญา ที่จะแบ่งปันให้ผู้คนที่เข้ามาทำงานกับผม ซึ่งก่อนหน้านั้นในวงการเพลงเมืองไทยไม่ค่อยเน้นเรื่องการแบ่งสรรปันส่วนในเรื่องผลประโยชน์ด้านลิขสิทธิ์ทางปัญญา ผมเลยเริ่มต้นด้วยเรื่องนี้ก่อน บริษัทของผมจึงเป็นบริษัทที่คนเก่งๆ คนดีๆ อยากเข้ามาทำงานด้วย ได้เปรียบตรงที่ว่าผมได้คนเก่งมาอยู่กับผม เลยมาคิดต่อว่าถ้าผมทำบริษัทของผมให้มี Goodwill มีการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างยุติธรรม โปร่งใส ก็น่าจะดึงดูดคนที่มีความสามารถให้อยากมาร่วมงานกับผมได้ เช่นนั้นแล้วบริษัทของผมก็จะประสบความสำเร็จต่อเนื่องไปได้ คนที่คิดจะเข้ามาทำงานในเส้นทางอาชีพที่ผมทำอยู่นี้ก็จะมาให้ผมเลือกก่อน ถ้าเกิดผมไม่โง่เกินไปนะ ผมเลือกคนที่เก่งที่ฉลาดได้ ก็ย่อมจะมีคนที่มีความสามารถเดินเข้ามาหา เท่ากับผมมีทรัพยากรที่ดีที่สุด คนอื่นก็จะแข่งกับผมยาก
ภิญโญ : คุณวิกรม ถ้าอย่างนั้น Key to Success ของอมตะอยู่ที่ไหนครับ
วิกรม : ผมว่าวิสัยทัศน์ แล้วก็เรื่องการบริหารจัดการ เรื่องของการตลาดด้วย ที่ทำให้อมตะเป็นอย่างทุกวันนี้ได้
ภิญโญ : วิสัยทัศน์ การบริหารจัดการ การตลาด ทั้งหมดนี้ใช้คนทำทั้งนั้น คุณไพบูลย์บอกว่าเลือกคนเก่งที่สุดเข้ามา จากนั้นหาระบบการบริหารจัดการที่ยุติธรรม ป่านนี้คนเก่งๆ มาอยู่แกรมมี่หมดแล้วมั้งครับ (หัวเราะทั้งวง)
ไพบูลย์ : คนเก่งมีเยอะ คนไทย 60 ล้านคน คุณวิกรมเขามีพี่น้องที่เก่งหมด ไม่ต้องไปหาคนอื่นเลย ใช้พี่น้องหมด
วิกรม : แต่สำหรับผม มีข้อกำหนดที่ว่า เราไม่ให้เกิน 2 คน ตอนนี้เพิ่มมาเป็นคนที่ 3 กำลังเข้ามาได้ไม่นาน ส่วนประเด็น Key to Success ของผมอยู่ที่การที่เรามองอะไรไกล นั่นก็คือการเลือกทำเล การที่เรามีระบบการบริหารที่ดี เช่นมีระบบที่เรียกว่า วิน/วิน คือระบบที่ไม่มีของเสียไหลออกจากนิคมเราเลย น้ำเสียก็ไม่มี ขยะก็ไม่มี นั่นขึ้นอยู่กับระบบการบริหารที่ดี ส่วนภาคเซอร์วิส คือการดูแลลูกค้าให้ดี มีการตลาดโดยวิธีที่ถูกต้อง ทั้งหมดเป็นพื้นฐานที่เราทำอยู่ในปัจจุบัน
ภิญโญ : ที่คุณวิกรมไล่มาทั้งหมดมันแพงนะครับ การจัดการสิ่งแวดล้อม จัดการของเสีย การป้องกันน้ำท่วม ทำไมถึงยอมจ่าย ในเมื่อหลายต่อหลายคนอาจบอกว่าต้องประหยัดต้นทุนไว้ดีกว่า จะได้ผลกำไรมากๆ
วิกรม : ระยะยาวมันคุ้มค่า 20 กว่าปีเยอะนะ เราทำถนนหนาเท่านี้ วันนี้ทำหนาขึ้นกว่าเดิมอีก เพราะตอนนั้นเห็นว่าถนนมันไม่ค่อยเสียเราก็ทำเผื่อไว้ การทำเผื่อไว้หรือการคิดอะไรเพื่อจะไม่ให้มันมีปัญหาตามมาภายหลัง ปรากฏว่าต้นทุนมันถูกกว่าที่มันมีปัญหา เป็นวิธีการคิดแบบหนึ่ง การคิดเผื่อยาวๆ ผมเลยตั้งชื่ออมตะไง เราคิดในเชิงของต้นทุน ถ้าอะไรก็แล้วแต่ที่เรายืดอายุให้ยาวๆ คิดต้นทุนต่อปีมันจะถูก ฉะนั้นปัญหาที่อมตะเจอจึงไม่ค่อยมี แม้กระทั่งน้ำท่วม เราขุดบ่อที่ใหญ่มากเลย ลึกมากเลย 35 เมตร สามารถบรรจุน้ำได้ 30 ล้านคิว พอเวลาฝนมันตกมา น้ำท่วม ผมก็เปิดออก…ให้น้ำไหลเข้าไป พื้นฐานการผลิตตรงนี้ รวมแล้วเกือบ 500 โรงงาน เรามีการวิจัยค้นคว้าเพื่อต่อยอดฐานการผลิต เรามีฐานด้านการศึกษาที่จะมาให้กับคน แล้วก็มีฐานต่อไปที่กำลังสร้างอยู่คือ ดาต้า เซ็นเตอร์ ทั้งหมดมันเป็นทอดๆ มา มันเอื้อกัน เราสร้างโรงไฟฟ้า 10 กว่าโรง เรามีแก๊สธรรมชาติ แก๊สอุตสาหกรรม เรากำลังสร้างสถานีแซทเทิลไลท์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้เพื่อจะมาช่วย ผมว่ามันเสริมๆ กันขึ้นมา ทำให้คนที่อยู่ในนี้ได้อานิสงส์
ภิญโญ : คุณวิกรมสร้างหมดเลยนะ ฐานการผลิต ฐานวิจัย ฐานการศึกษา คุณไพบูลย์มีตึกอยู่ตึกเดียวจะสู้เขาได้ไหม
ไพบูลย์ : ผมว่าวิสัยทัศน์คงคล้ายคลึงกัน อุดมการณ์คล้ายคลึงกันกับที่ผมทำ เบื้องต้นนอกจากเคารพสิทธิทางปัญญา เดิมทีเขาค่อนข้างที่จะซื้อขาดเป็นเพลงๆ หรือไม่ซื้อเลย เพราะมันเป็นการเพิ่มต้นทุน ผมเห็นว่าเป็นประโยชน์ หลักการสากลมันควรจะมีเหตุมีผล แกรมมี่คงทำคล้ายๆ ของคุณวิกรม ผมเป็นอินเฮาส์ โปรดักชั่น คนแต่งเพลงก็อยู่ในบริษัทเรา กินเงินเดือน นักร้อง การโปรโมต การทำมิวสิกวิดีโอ การทำคอนเสิร์ต การทำทุกสิ่งทุกอย่าง โรงงาน เราทำหมดเลย
ภิญโญ : คือคิดเป็นภาพใหญ่เลย
ไพบูลย์ : ซึ่งแม้แต่บริษัทข้ามชาติเข้ามาทำ เขาจะทำแค่มาสเตอร์เทป อย่างอื่นจ้าง Outsource ข้างนอกหมด ผมเป็นบริษัทเดียวที่ทุกอย่างอยู่ในอินเฮาส์หมด วันหนึ่งที่ธุรกิจดนตรีเสื่อมลงด้วยการถูกละเมิดลิขสิทธิ์มากขึ้น และมีปัญหาเรื่องเทปผีซีดีเถื่อน ผมจะกระเทือนน้อยที่สุด เพราะผมเป็น Total Music Business ทุกลิขสิทธิ์ ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในบริษัทเรา วันหนึ่งที่นำออกมาใช้ เมื่อไหร่ที่เป็น Physical หมายถึงแผ่นซีดี ผมมีลิขสิทธิ์ก็ทำได้ เช่นเป็นคาราโอเกะ หรือการดาวน์โหลดเราก็ทำได้ จะแสดงคอนเสิร์ต จะไปทำอะไรก็แล้วแต่ สิทธิมันสมบูรณ์อยู่ในบริษัทเดียว ซึ่งในโลกนี้ผมว่ามีอยู่น้อยมากที่จะเหมือนผม ดังนั้น ผมเลยไม่ค่อยกระเทือนต่อความถดถอยของรายได้ของธุรกิจ เพราะรายได้ของธุรกิจเพลงทั้งหมดมันมากขึ้น แต่บริษัทบิ๊กไฟว์ของโลก เมเจอร์ของโลก เขาไปอาศัยแค่การขายแผ่นอย่างเดียว คุณซื้อแต่ลิขสิทธิ์ของแผ่น แต่ลิขสิทธิ์อย่างอื่นคุณไปจ่ายหมด เขาไม่มีสิทธิมีรายได้ตรงนั้นเพิ่มขึ้นมา เมื่อคนซื้อแผ่นน้อยลง ลิขสิทธิ์อย่างอื่นมันไปอยู่ที่การดาวน์โหลด อยู่ที่ดิจิตอล บริษัทเหล่านี้ไม่มีสิทธิในสินทรัพย์เหล่านั้นเลย แต่แกรมมี่มีสินทรัพย์เหล่านั้นครบถ้วน ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันต่อๆ ไป เราเล่นคอนเสิร์ตได้หมด เราทำได้ทุกอย่าง เราก็สามารถอยู่ได้ เช่นเดียวกับของคุณวิกรม อำนาจในวันนั้นที่เราสร้างไว้พอวันนี้มันมีความครบถ้วนสมบูรณ์ แล้วเราก้าวต่อไปได้ ผมจึงก้าวไปสู่ธุรกิจทีวีดาวเทียม หรือไปด้านมีเดีย วิทยุ โทรทัศน์ ผมสามารถก้าวเดินต่อไปได้โดยตลอด เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันมีลิขสิทธิ์ มีการจัดสรรที่ถูกต้อง คนมีส่วนร่วมในบริษัท แล้วเราก็ไปด้วยกัน เป็นคอนเทนต์ โพรไวเดอร์ มันก็สามารถขยายได้
ภิญโญ : ทั้งสองท่านพูดประเด็นตรงกันว่าต้องมีการบริหารจัดการในเรื่องของคน เรื่องความรู้ สำคัญที่สุดคือการมีวิสัยทัศน์ ทีนี้คำถามสำคัญคือว่า แล้ววิสัยทัศน์มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร
วิกรม : เกิดมาจากตอนที่เราได้ไปเห็นโอกาส แล้วเข้าใจโอกาส หรือการที่เราได้ไปดู ไปพูดไปคุยกับคน ซึ่งนั่นก็จะทำให้วิสัยทัศน์เกิดขึ้น แน่นอนพื้นฐานของการมีวิสัยทัศน์ต้องเกิดจากการศึกษา ประสบการณ์ ถ้าไม่มีการศึกษา ไม่มีความรู้ วิสัยทัศน์มันงอกยากนะ ผมว่าต้องอาศัยตรงนี้ที่จะมองไป
ภิญโญ : คุณไพบูลย์ วิสัยทัศน์เกิดมาได้อย่างไรครับ
ไพบูลย์ : ผมว่าเกิดจากการสังเกตแล้วเราก็เฝ้าติดตาม บังเอิญผมได้ทำในสิ่งที่ชอบ เพราะฉะนั้นผมก็เริ่มต้นจากการหาตรรกะของความสำเร็จนั้นว่า Key to Success ของมันคืออะไร ไล่เรียงไป ทำอย่างไรถึงจะให้มันสำเร็จได้ ทำอย่างไรถึงจะไปดูดดึงสิ่งเหล่านี้มาได้ ก็เกิดจากการสังเกตอีกนั่นแหละ เกิดจากการคิด คนเราถ้าจะทำอะไรก็ต้องตั้งใจ ตั้งสมาธิในการคิด แล้วก็ไล่เรียงว่าจะทำอะไรบ้าง แต่ทั้งหลายทั้งปวง ผมว่าดวงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่รู้ว่ามันคืออะไรนะ แต่มันต้องมีทุกอย่างลงตัวกันพอดี
ภิญโญ : ถ้าอย่างนั้นดวงคืออะไรครับ ในนิยามของคุณไพบูลย์
ไพบูลย์ : ดวงคือกรรมดี
ภิญโญ : ดวงเป็นปัจจัยแค่ไหนในความสำเร็จของคุณวิกรม
วิกรม : พอดีผมไม่ค่อยคุ้นเคยกับเรื่องพวกนี้ ผมคุ้นเคยกับเรื่องที่ว่า เออ…เรามองอะไรเป็นโอกาส เราชอบทำไหม ผมไม่ค่อยมีความรู้เรื่องดวง
ไพบูลย์ : ผมก็ไม่มีความรู้ ผมไม่ได้เชื่อเรื่องดวงนะ สมัยก่อนที่ชีวิตผมเริ่มสำเร็จอย่างเล็กๆ อย่างถ้าเพื่อนผมมาบอกกับผมว่า เฮ้ย! คุณนี่เก่งกับเฮง ผมจะขมวดคิ้วเล็กน้อย ประมาณว่ากูเก่งอย่างเดียว เฮงไม่ค่อยมี
ภิญโญ : ไม่ค่อยเชื่อว่าเฮงเพราะใช้ฝีมือล้วนๆ
ไพบูลย์ : แต่พอเวลาผ่านไปนานๆ เริ่มรู้สึกว่า เออ…เราเป็นคนโชคดีนะ หลายอย่างที่มันมาสมพงศ์ ไม่ว่าจะเจอะเจอผู้คน เจอะเจอโอกาส โอเค เราเป็นคนเฝ้าติดตามโอกาสนั้น แต่มันก็มีอะไรบางอย่างที่เข้ามาพอดีกัน ผมไม่ถึงกับตั้งใจจะถ่อมตัวนะ ผมจึงบอกว่ามันคือกรรมดี แต่ผมก็ไม่ได้รู้เรื่องดวง บางทีหวนคิดกลับไปแล้วรู้สึกว่า เราโชคดีจัง
ภิญโญ : คุณไพบูลย์ตอนเช้าออกจากบ้านก้าวเท้าไหนครับ
ไพบูลย์ : ทุกเช้าผมไหว้พระตลอด ให้ตัวเองมีสติ คุมสติให้ได้ อันนั้นเป็นหลัก ก้าวเท้าซ้ายหรือขวานี่ไม่เกี่ยว
ภิญโญ : คุณวิกรมปัจจัยความสำเร็จ อย่างคนจีนบอกมีเก่งกับเฮง ช่วงหลังๆ นักธุรกิจใหญ่หลายคนบอกว่าเฮงล้วนๆ เลย คุณวิกรมตกลงเก่งหรือเฮงครับ
วิกรม : ผมไม่ค่อยเข้าใจและไม่ได้นึกถึงเรื่องพวกนี้นะ อาจเป็นเพราะพื้นฐานของเราที่ได้ร่ำเรียนมา จึงไม่ค่อยไปคิดถึงเรื่องพวกนั้น ทุกอย่างมาจากการวางแผน การคำนวณ ความตั้งใจ ว่าต้องควบคุมอย่างไร ให้มันอยู่ตรงไหน อะไรแบบนี้ ผมว่ามันเริ่มจากการวางโครงตรงนี้มากกว่า ในมุมมองของผมนะ อย่างอมตะเราวางโครงตั้งแต่ทีแรกเลยว่าต้องเป็น Zero Waste ก็ทำไปตามนโยบายที่วางไว้ ทุกอย่างจึงออกมาเป็นในรูปแบบที่ได้เห็นกันในปัจจุบัน
ภิญโญ : คือใช้องค์ความรู้เป็นหลัก
วิกรม : ต้องใช้แบบนั้นถ้าลูกค้าต้องการ เช่นลูกค้าต้องการความหนาแน่นของดินที่บดอัดแล้ว 90% คุณก็ต้องทำให้ได้ 90% ตามนั้น น้ำหนักที่มันจะนับได้ต่อตารางเมตรนี่ สมมุติ 30 ตัน เราก็จะต้องหาสถานที่ที่คัดเลือกมาแล้ว เพื่อเอาเข้าที่รับน้ำหนักได้ตามนั้น ซึ่งมันต้องเป็นกฎเกณฑ์ เป็นตัวเลขที่ต้องทำให้ได้อย่างนั้น
ภิญโญ : วิทยาศาสตร์ล้วนๆ
วิกรม : มันเป็นสเปค อีกอย่างหนึ่งทำงานกับพวกนี้ 85% ของบริษัทที่เป็นลูกค้าของเราเป็นบริษัทยักษ์ของโลกนะ ฉะนั้นเวลาเขาจะทำอะไรต้องมีกติกา น้ำต้องคุณภาพอย่างนี้ ดินก็ต้องเป็นอย่างนี้ มันเลยถูกล็อกด้วยตัวมันเอง
ภิญโญ : บิดพลิ้วจากนี้ไม่ได้เลยนะครับ
วิกรม : เป็นธรรมชาติของเขา เอนจิเนียร์พวกนี้ละเอียดมาก เราต้องทำให้ได้ตามนี้
ภิญโญ : ในขณะที่แกรมมี่ไม่มีสเปคแบบนี้เลย ไม่รู้ว่าทำหนังเรื่องหน้าออกไปจะประสบความสำเร็จหรือเปล่า ทำเพลงออกไปคนจะฟังไหม แล้วอยู่มาได้อย่างไรครับ มันไม่มีวิทยาศาสตร์ เป็นศิลปะล้วนๆ
ไพบูลย์ : อย่างงานของแกรมมี่เป็นคอมเมอร์เชียล อาร์ต เป็นศาสตร์และศิลป์ เพราะความเป็นศิลปะจึงไม่สามารถคำนวณเป็นตัวเลขได้ แต่มีประสบการณ์ของการกำหนดกฎเกณฑ์ว่า ถ้าประมาณนี้ ประมาณนั้นจะขายได้ วันนี้เราใช้รีเสิร์ชมาก ในการสำรวจความคิดความรู้สึกของประชาชนในการวัดเรตติ้ง ดี-ไม่ดี แต่ฮาว ทู อาจต้องใช้ศิลปะ เส้นทางในการก่อร่างสร้างตัวในเชิงธุรกิจ ในเรื่องของการนำศิลปะมาเป็นธุรกิจก็มีรูปแบบบางอย่าง หลายมหาวิทยาลัยก็สอนเป็นศาสตร์ ดังนั้น ผมว่ามันมี แต่อาจไม่เหมือนกับของคุณวิกรม ซึ่งค่อนข้างเป็นเอนจิเนียริ่ง เป็นเรื่องการคำนวณ หลักทางฟิสิกส์ แต่ของผมมันจะยุ่งยากเล็กน้อยตรงที่เป็นสองอย่างปนๆ กัน
ว่าด้วยการศึกษา On Education
ภิญโญ : ย้อนกลับไปที่เรื่ององค์ความรู้เรื่องการศึกษา รอบหลายปีที่ผ่านมามีการวิเคราะห์กันว่าคุณภาพการศึกษาไทยแย่ลง จริงๆ เด็กนักเรียนไทยใช้เวลาในโรงเรียนแต่ละวันสูงมาก ใช้ต้นทุนต่อนักเรียนแต่ละคนสูงมาก ทั้งสองท่านก็คงเห็นว่าส่งลูกเรียนหนังสือแต่ละคนกว่าจะเรียนจบมันแพงมาก แต่ในที่สุดเวลาวัดผลสอบออกมา ปรากฏว่าเด็กนักเรียนไทยสอบแข่งสู้กับเด็กประเทศอื่นไม่ได้ ถ้าได้คนไม่ดี ธุรกิจก็ดำเนินต่อไม่ได้ คุณไพบูลย์เจอปัญหาแบบนี้บ้างไหมครับ ในเรื่องของคน คุณภาพการศึกษา เคยเจอกับตัวเองบ้างไหมครับ
ไพบูลย์ : ผมเป็นคนที่ใกล้ชิดกับลูกนะ ตอนที่ลูกเล็กๆ เราก็มีติว มีช่วยสอนในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ช่วยทำการบ้าน รู้สึกกังวลอยู่เหมือนกันในเรื่องการศึกษา เรื่องตำราเรียนอะไรต่างๆ ผมไม่ค่อยเห็นด้วยว่าสอนไปทำไม ในเรื่องบางเรื่องนะ ผมอาจเป็นคนที่รู้น้อยก็ได้ อย่างบางทีสอนให้จำหน้าบันของวัดพระแก้ว อันนี้เรียกอะไร อันนั้นเรียกอะไร ผมก็คิดว่ามันคงจะมีประโยชน์ แต่นึกไม่ออกแล้วมันก็ยากมาก ผมคิดว่าเคยเรียนอะไรอย่างนี้มาแล้ว แต่ก็จำอะไรไม่ได้เลย ตอนนี้ก็ยังมีสิ่งเหล่านี้อยู่เยอะแยะ ผมว่าเราน่าจะเรียนเรื่องวิถีชีวิต วิธีคิดอะไรมากกว่า ตอนนั้นเลยย้ายลูกให้ไปเรียนโรงเรียนนานาชาติ ตำราเรียนก็ดูจะมีแบบแผนที่ชัดเจนขึ้น ในเรื่องการศึกษาผมไม่ได้คาดหวังอะไรมาก แต่ประเทศชาติต้องจริงจังกับการพัฒนาการศึกษา เพราะแน่นอนว่าทรัพยากรบุคคลเป็นทรัพยากรสำคัญหลักของทุกประเทศ ซึ่งจะต้องลงทุนกับตรงนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ตอนนี้เราก็ต้องมาดูว่าครูเก่งพอไหม เพราะตอนนี้ครูเยอะมาก ดูว่าบ้านเราตั้งใจทำเรื่องนี้กันหรือเปล่า มีตัวอย่างจากเมืองนอกเยอะแยะ พวกเราก็ไปเรียนเมืองนอกกันเยอะ จะทำหรือเปล่าเท่านั้น
ภิญโญ : คุณวิกรมครับ เรื่องการศึกษาซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศ
วิกรม : ผมว่าอยู่ที่ต้นแบบนะ ประเทศแต่ละประเทศที่ประสบความสำเร็จเขามีต้นแบบการศึกษาที่ดี เช่นลองมาดูมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก 10 มหาวิทยาลัย เรามาดูว่าอยู่ในกลุ่มประเทศไหน ใน 10 มหาวิทยาลัยท็อป 10 ของโลก รู้สึกว่าจะมี 7 แห่งเข้าไปแล้วที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา อันดับ 2 อยู่ที่อังกฤษ ส่วนหนึ่งอยู่ที่ฝรั่งเศส
ภิญโญ : ประเทศไทย ?
วิกรม : เราไม่ได้อยู่ในท็อป 10 ถ้าลองไปดูว่าทำไมประเทศเขาถึงมีมหาวิทยาลัยติดท็อป 10 ล่ะ แสดงว่าคุณภาพการศึกษาของเขา เขาสร้างคนมาดี ผมว่าเราควรมาเลือกดูว่าเราชอบโมเดลแบบไหน แล้วก็เอามหาวิทยาลัยนั่นแหละมาสร้างหลักสูตรให้กับประเทศเรา ตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงมหาวิทยาลัยเลย แล้วก็เทรนนิ่ง เดอะ เทรนเนอร์ คือ ฝึกครูขึ้นมา เอาหลักสูตรตรงนั้นมาสอน ตัวอย่างเช่น เอ๊ะ! ทำไมคนสิงคโปร์ถึงเก่ง ถึงทำงานได้ดี เพราะว่าสมัยก่อน ลีกวนยู เคยเรียนที่เคมบริดจ์นะ ซึ่งเคมบริดจ์เป็นแม่ของฮาร์วาร์ด เพราะอายุตั้ง 800 ปี เคมบริดจ์มีโมเดลที่ดี ประเทศสิงคโปร์ไม่ต้องไปคิดเลย
ภิญโญ : ไปเอาของเขามาเลย
วิกรม : 40 ปีก่อน เขาก็เชิญเคมบริดจ์มาที่สิงคโปร์ เพราะมองว่าเคมบริดจ์เป็นการศึกษาระบบอังกฤษ ใช้หลักสูตรของอังกฤษ เชิญเคมบริดจ์มาเขียนหลักสูตรให้สิงคโปร์เลย แต่ไม่ได้ขนมาทั้งชุด ต้องมีหลักสูตรที่อยู่บนพื้นฐานของคนสิงคโปร์ ดูว่าคนเอเชียเป็นอย่างนี้นะ แล้วก็ต้องเขียนหลักสูตรใหม่ให้เหมาะสมกับคนเอเชีย นี่คือข้อ 1 ส่วนข้อ 2 คือว่า เขาให้คนพวกนี้มาสร้างโรงเรียนครู เมื่อมีหลักสูตรแล้วก็ต้องสร้างคนสอนให้กับสิงคโปร์ ข้อ 3 ตั้งแต่สมัยนั้นจนถึงทุกวันนี้ นอกจากเคมบริดจ์จะมาเขียนหลักสูตรให้สิงคโปร์ แล้วยังมาเป็นที่ปรึกษา เพื่อมาอัพเกรดให้กับการศึกษาของสิงคโปร์ ทุกวันนี้คนสิงคโปร์ที่จะส่งลูกไปเรียนต่างประเทศจึงมีไม่เยอะ เพราะเขาคิดว่า เฮ้ย! เรียนอยู่ในประเทศของอั๊วเนี่ย มันได้สแตนดาร์ดเพราะเป็นโมเดลที่ถือเป็นท็อป 10 ของโลกเข้ามาวางระบบ คนสิงคโปร์ตอนนี้เขาเรียกว่าเป็นกล้วยหอม
ภิญโญ : หมายความว่าอะไรครับ
วิกรม : กล้วยหอมนี่พอปอกเปลือกปั๊บเนื้อข้างในขาวไง คนสิงคโปร์ทำไมเงินเดือนตอนนี้ถึงสูงกว่าคนไทย สูงกว่า 10 เท่าได้มั้ง เพราะเขาเป็น
กล้วยหอม คือมีผิวเหลือง พอปอกเปลือกจะเป็นสีขาว คนสิงคโปร์
ไปทำงานที่ไหนจึงมีประสิทธิภาพมาก เพราะการศึกษา ประเทศสิงคโปร์ก็ไม่ต้องยุ่งยาก ไปลงทุนอะไรตั้งเยอะแยะ วันนี้มันเหมือนโนว์ฮาว เหมือนที่คุณไพบูลย์เคยคุยให้ฟังว่า โนว์ฮาวของงานดีไซน์ เผอิญผมชอบศิลปะ ชอบงานฝีมือ ความละเอียดลออของคนญี่ปุ่น ตรงนั้นต่างหากที่เป็นโมเดลที่จะสร้างจะดีไซน์ขึ้นมา พอได้โมขึ้นมาปั๊บ ต่อไปสร้างระดับสเปคขึ้นมาเลย สเปคตรงนั้นจะเป็นบริษัทใครสร้างก็ไม่เป็นปัญหา เพราะมันมีโครงอยู่แล้ว นั่นคือโครงสร้างของการศึกษาที่จะต้องเปลี่ยนแปลง
ภิญโญ : คุณวิกรมเปิดประเด็นไว้น่าสนใจ เราควรจะซื้อกล้วยหอม
ไพบูลย์ : ของเรามีแตงโม สิงคโปร์มีกล้วยหอม (หัวเราะทั้งวง)
ภิญโญ : ทีนี้คุณไพบูลย์ซื้อลิขสิทธิ์ต่างประเทศมาหลายต่อหลายอย่าง เช่นลิขสิทธิ์กีฬา ลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ เป็นไปได้ไหมครับบริษัทไทยในอนาคตจะซื้อลิขสิทธิ์ด้านการศึกษา ลิขสิทธิ์มหาวิทยาลัย ซื้อหลักสูตรเคมบริดจ์ เทรนนิ่งครูขึ้นมาแล้วสร้างประเทศกันใหม่ด้วยการใช้วิธีแบบที่ลีกวนยูทำกับสิงคโปร์ ที่ใช้เคมบริดจ์เป็นต้นแบบ
ไพบูลย์ : ผมประทับใจที่คุณวิกรมพูดอย่างยิ่ง ฟังคุณวิกรมแล้วค่อนข้างเห็นด้วย 100% มันเป็นวิธีการที่แม้แต่ในเชิงศิลปะ เราก็ทำอย่างนั้นอยู่ คือการหา Reference ที่ดีที่สุด จะสร้างบ้านหรือสร้างอะไรต่อมิอะไรก็ตามจะต้องมีแบบอย่าง หรืออย่างคุณจะสร้างหนังก็มี Reference บางอย่าง เป็น มู้ด แอนด์ โทน ที่เราอยากจะให้มันออกมาเป็นอย่างไร ที่คุณวิกรมพูดมาเป็นเรื่องที่ทำให้มันเกิดการคืนสู่สามัญจริงๆ เป็นเรื่องง่าย ถ้ากระทรวงศึกษาได้ยินแล้วควรจะนำไปแตกได้ ว่าเอ๊ะ! เมืองไทยน่าจะเริ่มต้นกันอย่างนี้ใหม่ไหม เอาแบบอย่างที่ไหนมาสักแห่งหนึ่งแล้วนำมาพัฒนาการศึกษาของประเทศ ผมว่าองค์ความรู้ต่างๆ บนโลกนี้บางทีมันหยิบยืมมาใช้เพื่อการพัฒนาได้ ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับวิธีนี้ เชื่อว่าการซื้อลิขสิทธิ์เรื่องการศึกษามันมีเยอะมากเลย ผมพยายามทำอย่างนี้ในเรื่องเอนเตอร์เทนเมนท์ เอาความรู้เรื่องการศึกษามาบวกกับเรื่องบันเทิง ทำอย่างไรที่จะออกมาให้เด็กรับง่าย แต่สิ่งที่ผมคิดนี่มันจิ๊บจ๊อย สิ่งที่คุณวิกรมพูดถึงเมื่อกี้มันเป็นเรื่องของโครงสร้างใหญ่ทั้งหมด ถ้าเผื่อฝ่ายการศึกษาหรือฝ่ายรัฐบาลได้ยินแล้ว ผมว่าแค่นี้ก็จุดประกายให้นำไปทำอะไรต่อมิอะไรได้ ภายในระยะเวลาอันไม่ไกลนักประเทศไทยน่าจะมีการศึกษาที่ดีขึ้น
ภิญโญ : การศึกษามีต้นแบบ ซื้อได้ แต่ว่าที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีคนตัดสินใจว่าให้เดินหน้า คุยกันไปวันนี้ทุกคนหูผึ่ง แต่วันรุ่งขึ้นลืมกันหมด คุณวิกรมครับ ทำอย่างไรให้ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจมีความรับผิดชอบต่อการตัดสินใจเรื่องเหล่านี้ได้
วิกรม : เราต้องเรียนก่อนรู้นะ แล้วก็รู้ก่อนทำ วันนี้เราต้องมาเลือกว่า เอ๊ะ! เราชอบสายไหน ชอบสายระบบแบบอะไร อย่างญี่ปุ่น อังกฤษ หรืออเมริกา อะไรก็แล้วแต่ ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจโลกวันนี้ก่อน เพราะว่าวันนี้โลกเรามีประชากรกว่า 7 พันล้าน มีประเทศอยู่ประมาณ 200 ประเทศ ก็ต้องดูว่าประเทศไหนที่พัฒนา ทำไมคนมีวินัย มีคุณภาพ ตรงนั้นเป็นโจทย์ที่จะตอบให้เราเห็นว่ามันเหมาะสมกับเราไหม ถ้าเหมาะสมปั๊บไม่ต้องไปคิดเลย แล้วก็ไม่ต้องไปนั่งเทียนเขียนเองเพราะชาวบ้านเขาทำแล้ว เขาสร้างโมเดลขึ้นมาแล้ว เราก็ไปหยิบยืมเขามาทำแบบ G 2 G
ภิญโญ : รัฐบาลต่อรัฐบาล
วิกรม : เป็นรัฐบาลต่อรัฐบาล แต่ต้องยืมบนเงื่อนไขที่ว่า เฮ้ย! นี่เมืองไทยนะไม่ได้ไปลอกมาทุกอย่าง เราคือคนไทย ไม่ใช่ฝรั่ง ลีกวนยูพูดถูก ยืมมาบนพื้นฐานของความเป็นคนเอเชีย เอาโมเดลตรงนั้นมาปรับ การที่เอาคนมาเขียนหลักสูตรแล้วเทรนนิ่งคนสิงคโปร์ให้เป็นอาจารย์ มันถูกกว่าที่เราจะส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ ไปเช็กดูแบงก์ชาติดูสิว่าวันนี้เราส่งเงินไปปีหนึ่งกี่สตางค์ กับการที่บอกว่า เฮ้ย! เราเทรนให้คนไทยเป็นครูอังกฤษ ผมว่ามันไม่ยาก แต่ประเด็นคือว่าต้องมองภาพให้ได้ ภาพเต็มนี่มันไม่ยากอะไร ก็มองว่าในโลกนี้ มหาวิทยาลัยท็อป 10 อยู่ที่ไหน ทำไมประเทศนี้ถึงเป็นมหาอำนาจ อังกฤษมีประชากรเท่าไหร่ แต่วันนี้คนที่พูดภาษาอังกฤษมีอยู่ทั่วโลก เศรษฐกิจทุกอย่างต้องใช้ภาษาอังกฤษ ถามว่าทำไมอังกฤษถึงกลายเป็นประเทศที่พระอาทิตย์ไม่ตกดิน แสดงว่าคุณภาพของคนในประเทศเขามีอย่างมหาศาล เมื่อ 200 ปีที่แล้วเขาส่งคนอังกฤษแค่แสนคนไปคุมอินเดียที่มีอยู่ 400 ล้านคน แสดงว่าคนอังกฤษมีคุณภาพอย่างมหาศาล แล้วก็กินมาถึงพม่าด้วย เราลองส่งคนไทยสัก 10 ล้านคนให้ไปคุมแขกจะไหวไหม แต่ส่งคนอังกฤษไปแค่แสนคนเขาคุมอยู่ แสดงว่าการศึกษาของเขามีคุณภาพลีกวนยูมองว่าตรงนี้ใช้ได้ เราก็เอา 4.3 ล้านคนนี้แหละ ที่เป็นประชากรของสิงคโปร์ มาทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ผมว่าถ้าเรามองโลกในแบบนี้ แล้วเราก็คิดอย่างง่ายๆ ว่าจะสร้างหลักสูตร สร้างสคูล ให้เขาเป็นที่ปรึกษาตลอดว่าแต่ละปีจะปรับปรุงอย่างไรบ้าง ผมว่ามันจบ ไม่ต้องส่งนักเรียนไทยไปเรียนเมืองนอกแล้ว เสียเงิน ต้องหิ้วกระเป๋าไป แล้วพ่อแม่ก็ต้องไปคอยดูแลอีก ผมไม่มีลูกนะ แต่ผมบอกน้องของผมทุกคนว่าปริญญาตรีต้องเรียนที่ประเทศไทย เพราะอะไร เพราะต้องแข่งกันเข้าเรียน
ภิญโญ : ต้องสู้กันพอสมควรใช่ไหม
วิกรม : แน่นอน, วันนี้ถ้าส่งลูกไปเรียนเมืองนอกมันง่ายไป แล้วให้ไปเข้ามหาวิทยาลัยอะไรก็ได้ ผมอาจมองแบบบ้านนอกๆ ก็ได้นะ ผมชอบทรมานเด็กหรืออะไรก็ไม่ทราบ ตอนผมไปเรียนปริญญาตรีที่ต่างประเทศ มันไม่มีเพื่อน ผมไม่มีเพื่อนจริงๆ ผมคิดว่าลูกเราต้องมีเพื่อน เป็นเพื่อนที่ต้องเรียนกันมาตั้งแต่เด็กๆ แต่ถ้าเขาอยากจะเรียนต่อปริญญาโท ปริญญาเอก ก็ไม่ควรที่จะเรียนที่เมืองไทย เพราะเขาโตแล้ว สามารถที่จะไปเรียนรู้อะไรที่มันดีกว่าเมืองไทยเยอะ ผมชอบให้น้องๆ ของผมเรียนด้วยการกู้ คือกู้เงินมาเรียน เพื่อให้ต่อไปพวกเขาจะได้เอาเงินค่าเล่าเรียนเหล่านั้นไปคืน
ภิญโญ : ฝึกให้รับผิดชอบตั้งแต่เรียนอยู่
วิกรม : แต่ถ้าเขาเรียนได้เกรดเฉลี่ยเกิน 3.5 ผมให้ทองเขา มันก็เรียนได้ เด็กสมัยนี้เรียนเก่ง น้องๆ ก็เลยเรียนได้ดี ผมว่าอันนั้นเป็นความคิดแบบโบราณๆ แต่ถ้าทั้งประเทศเลยนี่ ผมว่าต้องการรูปแบบโมเดลที่ดีที่สุด
ภิญโญ : ฟังดูดี ยิ่งฟังยิ่งดี แต่ประเทศไทยไม่มีใครทำครับคุณไพบูลย์ คุณวิกรมทำอยู่คนเดียวครับ มันจะทำอย่างไรให้เกิดขึ้นได้จริงครับ คุณวิกรมก็มีวิสัยทัศน์ในการศึกษา แต่ถึงที่สุดเวลาจะโยนกลับไปที่ระบบราชการ โยนกลับไปที่กระทรวงการศึกษา ทุกอย่างจะหายเงียบไป
ไพบูลย์ : ผมฟังคนพูดเรื่องการศึกษามาหลายแบบ ก็พูดกันทีละเม็ด ทีละจุด แต่วันนี้ผมว่าผมประทับใจที่สุดนะ ที่คุณวิกรมพูด ถ้าพูดถึงเรื่องการศึกษา นี่คือวิสัยทัศน์ที่ง่าย เป็นแบบแผน คุณภิญโญน่าจะพูดจากันออกไป สื่อมวลชนหรือใครต่อใครด้วย เป็นหลักคิดที่เป็นแก่น สามารถที่จะเอาไปทำได้เลย ไม่ต้องพูดอะไรเพิ่มเติม ผมเห็นด้วยกับสิ่งที่คุณวิกรมพูด 100% เราก็ค่อยๆ ผลักดันกัน ทางรัฐบาลจะเอาไปทำอะไร รัฐบาลอาจเคยคิดอยู่แล้ว แต่อาจกำลังหาทางอยู่ บางงานคอนเซ็ปต์โอเค แต่งานที่จะไปคลี่คลาย ปัญหาก็จะเริ่มต้น บ้านสร้างเสร็จแล้วจะให้ไปรื้อบ้านตรงไหน มันไม่ง่าย ผมคิดว่าบางทีอาจมีคนคิดเรื่องพวกนี้ขึ้นมา แต่เวลาจะเอาไปปฏิบัติคงต้องใช้เวลา แต่ขอให้ยึดว่าเราจะไปแนวนี้นะ อย่างน้อยที่สุดให้มีหลักไว้ แล้วค่อยๆ ไป ผมเป็นคนชอบคิดอะไรที่มันไม่ซีเรียส ผมเห็นเถ้าแก่หลายคนซึ่งไม่ได้เรียนอะไรมากแต่ก็เจริญรุ่งเรืองได้อยู่ คนที่มาทำงานที่บริษัทของผมก็ไม่ได้อยู่ในมหาวิทยาลัยที่ดี ไม่ได้ไปเรียนถึงระดับดอกเตอร์ เพราะการศึกษาไม่ใช่ตัวชี้ขาดในเรื่องของความสามารถหรือความฉลาดของคน แต่อยู่ที่เจ้าตัวเองจะสังเกต จะศึกษา จะเพิ่มเติม บางทีภาคของการศึกษามันเป็นภาคบังคับจากพ่อแม่ จากภาครัฐ แต่ถ้าใจเขาไม่เล่น ไปเรียนถึงดอกเตอร์ออกมาทำงานก็ไม่มีอะไรแตกต่าง ผมไม่ถึงกับฝากผีฝากไข้ไว้กับเรื่องการศึกษา จนกระทั่งว่าใครสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้แสดงว่าแย่ ไม่ถึงขนาดนั้น หลายๆ ท่านที่เราคงรู้จัก ไม่ต้องเอ่ยชื่อ
หรอก ท่านก็ไม่ได้เรียนอะไรมากมาย แต่ด้วยความที่ท่านเป็นคนที่รักการเรียนโดยไม่ต้องไปเข้าโรงเรียนก็สามารถมีความรู้ได้ ฉะนั้นอย่าไปกังวลมากเกินไปเดี๋ยวจะเครียด
ภิญโญ : เรียนไม่เก่งไปสมัครงานแกรมมี่ได้ไหมครับ
ไพบูลย์ : ได้ครับ ผมแทบไม่ขอดูปริญญาเลย
ภิญโญ : แล้วดูอะไรครับเวลารับคนเข้าทำงาน
ไพบูลย์ : ดูจากการสัมภาษณ์ คุยกัน ทดสอบงานกัน ร้องเพลงก็ร้องเลย เขียนเพลงก็เขียนเลย ไม่ได้ถามว่าเรียนจบจากที่ไหนมา ทุกอย่างจะดูจากตัวอย่างงาน ให้เขาทำแล้วเอามาให้เราดู ปริญญาผมไม่เคยขอดูเลย
ภิญโญ : คุณวิกรมครับ เราคุยกันมาขนาดนี้ ถ้าอยากจะถามในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ในฐานะประชากรของประเทศไทย ในอนาคตการที่คนคนหนึ่ง ประชากรไทยคนหนึ่งจะอยู่ได้ จะแข่งขันได้ในเวทีโลก ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยแข่งขันได้ อยู่ในเวทีโลกได้ เราต้องทำอะไรบ้างกับประชากรคนนี้ครับ
วิกรม : การศึกษาถือว่าเป็นเสาเข็มของการที่เขาจะพัฒนาไปสู่โลกยุคดิจิตอล แต่อัจฉริยะนี่ มันเกิดมาจากคนที่ลุ่มหลงในสิ่งที่ตัวเองรัก ถึงจะเป็นอัจฉริยะ ผมว่าบางอย่างก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน ในหลักการ แน่นอนครับว่าหากประเทศมีการศึกษาที่ดี มีระบบที่ถูกต้อง มีมาตรฐานที่สัมผัสได้ ความมีระเบียบวินัย ความมีคุณภาพของประเทศนั้นจะสูง ผมขอยกตัวอย่างคนญี่ปุ่นว่าทำไมถึงมีประสิทธิภาพมากเหลือเกิน วันนี้ทำไมคนญี่ปุ่นถึงประสบความสำเร็จถัวเฉลี่ยต่อหัวแล้วสูงกว่าชาวบ้านเขา เพราะว่าโครงสร้างที่รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งมา รวมถึงโครงสร้างของการศึกษาที่ทุกคนจะต้องผ่าน มีการศึกษา มีการฝึก อะไรทุกอย่าง มันเป็นมาตรฐาน ฉะนั้นคนญี่ปุ่นถึงทำอะไรทุกอย่างได้เป็นระเบียบ มีวินัย และมีประสิทธิภาพ นั่นเป็นเหมือนเสาเข็มที่เราจะต้องดูว่าเราตอกลึก
แค่ไหน ก่อนที่จะไปสร้างตึก ผมให้ความสำคัญว่าทุกคนต้องเรียนก่อนรู้ แล้วก็รู้ก่อนทำ ส่วนที่จะทำเก่ง ทำอะไรต่อมิอะไรได้หรือไม่นั้น บางครั้งมันเป็นพรสวรรค์ของแต่ละคน บางคนบอกว่า โห! เรียนมาเยอะ เรียนมาอย่างเก่งเลย แต่พอถึงเวลาจริงไม่มีหัวคิด
สู้กับคนอื่นที่อาจเรียนมาน้อยกว่าไม่ได้ แต่พื้นฐานที่สุดคือต้องเรียนหนังสือ
ภิญโญ : ถ้าอย่างนั้นคุณไพบูลย์ครับ อะไรคือเสาเข็มที่สำคัญที่จะทำให้คนไทยคนหนึ่งสามารถแข่งขันกับโลก แข่งขันกับเพื่อนร่วมอาชีพ แข่งขันเพื่อจะทำให้ประเทศทั้งประเทศสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ในอนาคต
ไพบูลย์ : คนที่จะสู้อะไรต่ออะไรได้ต้องมีความมุ่งมั่น อย่างระบบการศึกษา ถ้าพูดถึงระบบโรงเรียนมันเป็นระบบหนึ่ง แต่คำว่าการศึกษามันสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิต บางคนไม่เคยอ่านหนังสือด้วยซ้ำ แต่เขาก็มีความรู้ได้ เรื่องการศึกษามันเป็นเรื่องของตัวตนของแต่ละคน ถ้าคนไทยมีความมุ่งมั่นอย่างคนญี่ปุ่นหรืออย่างคนหลายๆ ชาติที่เขาเจริญรุ่งเรือง มันอยู่ที่ความมุ่งมั่นว่าเขาจะให้ตัวเองพัฒนาไปทางไหน เขานึกเห็นภาพตัวเองว่าอยากเห็นตัวเองเป็นอะไร หลายๆ คนมีเป้าหมายในชีวิต แต่ถ้าคนที่ไม่มีเป้าหมายในชีวิตก็จะไม่มีทางเป็นอย่างนั้น อุดมการณ์ทางความคิดของคนไทยเป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝัง ให้สามารถที่จะตั้งหลัก ตั้งเสาเข็มของตัวเองได้ว่าฉันจะไปทางไหน จะเดินไปในเรื่องอะไร จะเป็นทหาร เป็นตำรวจ เป็นนักการเมือง เป็นพ่อค้า เป็นนักคิด นักเขียน หรือเป็นอะไรก็สุดแล้วแต่ หากมีความฝัน มีความตั้งใจ มีความมุ่งมั่น ก็น่าจะเดินไปสู่ความสำเร็จได้ ผมบอกกับลูกอย่างนี้ และผมก็มีอะไรเตือนพวกเขาซึ่งไม่ได้ซับซ้อนมาก ผมบอกว่าเริ่มต้น หนึ่ง, คือต้องมีความมุ่งมั่นก่อน ขั้นที่สอง, ต้องมีการวางแผน หรือตั้งสติ อย่างที่คุณวิกรมบอกว่าต้องศึกษาหรือเรียนรู้ก่อนทำ พอวางแผนเรียบร้อยแล้ว สาม, ต้องพยายามทำ พอพยายามทำแล้ว สี่, ต้องสม่ำเสมอ เพราะบางทีทำแป๊บๆ มันติด
นิดเดียวแล้วก็เลิก ก็จะไม่สำเร็จ ผมถามลูกว่าระหว่างความมุ่งมั่น การวางแผน และการทำอย่างสม่ำเสมอ ข้อไหนยากที่สุด เขาตอบถูกว่า ข้อทำอย่างสม่ำเสมอนี่แหละยากสุดความฮึดมันหายไป คนไทยต้องมีความฮึดได้ตลอดมันถึงจะสำเร็จ