Post Traumatic Stress Disorder: ภาพจำฝังใจ กับภัยร้ายที่คุกคาม
เรื่อง : Fullscape
ในปัจจุบัน ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ดูจะเป็นเรื่องยากท่ามกลางความรุนแรงที่ประดังเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย ยกตัวอย่างเหตุการณ์ความรุนแรงที่โคราช หรือการระบาดของเชื้อร้าย Covid-19 ถือเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สะท้อนเรื่องสวัสดิภาพที่ถูกคุกคาม รวมถึงการสร้างความตื่นตระหนกเสียขวัญให้แก่ผู้ที่ต้องประสบกับเหตุการณ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่เว้นแม้แต่คนดังระดับโลกอย่าง Lady GaGa, Shia LaBeouf, Zayn Malik หรือ Mick Jagger ที่ต่างเคยเจอ ‘ความเจ็บปวด’ ที่หยั่งรากฝังใจ ใช้เวลาอีกหลายนานกว่าจะข้ามผ่านมันไปได้ จนเป็นที่มาของคำว่า Post Traumatic Stress Disorder (PTSD) ที่สังคมกำลังพูดถึงกันในขณะนี้
Post Traumatic Stress Disorder คืออะไร? เป็นอาการร้ายแรงมากน้อยแค่ไหน? และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้ที่มีอาการดังกล่าวอย่างไร ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ควรทำความเข้าใจ เพราะเรื่องราวเหล่านี้ จัดว่าเป็น ‘ภัยร้าย’ ที่อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด
PTSD: ความสะเทือนใจที่มากกว่าความสูญเสีย
สภาวะจิตใจเป็นสิ่งที่เปราะบาง เมื่อมีเหตุร้ายแรงเข้ามากระทบกระเทือนอย่างฉับพลัน จะส่งผลให้ผู้ที่ประสบพบเจอกับเหตุการณ์ดังกล่าว มีอาการเครียดมากจนถึงขั้นทุกข์ทรมาน ไม่ว่าจะเป็นผู้รอดชีวิตจากภัยพิบัติต่างๆ, ผู้ประสบเหตุการณ์ก่อจลาจล ทหารผ่านศึก ผู้ที่ถูกทำร้ายทางด้านร่างกายหรือทางเพศ หรือเด็กที่อยู่ในบ้านที่เต็มไปด้วยความรุนแรง เป็นต้น
ในอาการเครียด จมอยู่กับความทุกข์ทรมานเหล่านั้น คือลักษณะของผู้ที่กำลังตกอยู่ในสภาวะ Post Traumatic Stress Disorder โดยมักจะถูกวินิจฉัยจนค้นพบได้เมื่อผ่านเหตุการณ์รุนแรงมาราวเดือนหนึ่ง ระยะดังกล่าวเรียกว่า ‘ระยะทำใจ’ (Acute Stress Disorder) ซึ่งอาการส่วนใหญ่ที่พบ มีดังต่อไปนี้
-ช็อคทางจิตใจ เงียบเฉย งง ขาดการตอบสนอง โดยอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นในวันแรกๆ หลังผ่านพ้นเหตุการณ์
-ตกใจและหวาดกลัว มีอาการตื่นตกใจได้ง่ายแม้จะเป็นเพียงเสียงเล็กๆ น้อยๆ ขาดสมาธิ ย้ำคิดย้ำทำ หรือร้องไห้อย่างไม่สามารถควบคุมได้
-มีความรู้สึกเหมือนอยู่ในเหตุการณ์นั้นๆ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับสิ่งเร้าที่เข้ามาตอบสนอง มีภาพย้อนจำฝังใจถึงเหตุการณ์ดังกล่าว และอาจมีอาการทางร่างกายเช่น ใจสั่น เหงื่อออกมาก
-มีความกลัวและหลีกเลี่ยงสถานที่หรือเหตุการณ์ที่ประสบเหตุ ตื่นกลัวต่อสิ่งเร้าในเหตุการณ์ เช่น มีความหวาดกลัวน้ำสำหรับผู้ประสบอุทกภัย หรือไม่กล้าชี้ตัวผู้ต้องหาสำหรับผู้ที่ถูกทำร้ายทางเพศ
อาการในระยะ Acute Stress Disorder สามารถดีขึ้นได้ภายในระยะเวลาหนึ่งเดือน แต่ถ้ายังคงมีอาการดังกล่าวซ้ำๆ จนกระทบต่อการใช้ชีวิต แพทย์จะวินิจฉัยว่าเข้าสู่ช่วงของการเป็น Post Traumatic Stress Disorder ในทันที โดยมีอัตราการเกิดของอาการเหล่านี้ที่ร้อยละ 15-40 ของผู้ประสบภัยร้ายแรงดังกล่าว
เมื่อก้าวล่วงสู่อาณาเขตแห่ง Post Traumatic Stress Disorder
สำหรับผู้ป่วยที่ถูกวินิจฉัยว่าเข้าข่ายเป็น PTSD นั้น มักจะมีอาการอื่นๆ ร่วมที่สามารถสังเกตได้ดังต่อไปนี้
-มีอาการซึมเศร้าอย่างหนัก ไม่ว่าจะซึมเศร้าจากการสูญเสีย มีพฤติกรรมที่คิดถึงการฆ่าตัวตาย
-มีอาการของโรคหวาดระแวงหรือ Phobias ที่เกี่ยวข้องกับเหตุร้าย และหลีกเลี่ยงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าวในทุกครั้งที่สามารถทำได้
-มีอาการวิตกกังวล เครียดและหงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ หรือหลับแล้วตื่นได้ยาก
-มีอาการของพฤติกรรมถดถอย (Regression) ที่ลงไปเป็นเด็กกว่าวัย อันเป็นกระบวนการ Coping Mechanism อย่างหนึ่ง เช่น ช่วยตัวเองไม่ได้ เรียกร้องเอาแต่ใจ กังวลต่อการพลัดพรากจากผู้ปกครอง
-มีการใช้ยาเสพติด สารกระตุ้น หรือสุราเพื่อลดอาการทางจิตใจและอารมณ์ จนก่อให้เกิดอาการเสพติด
การช่วยเหลือผู้ประสบสภาวะ PTSD
ผู้ที่กำลังตกอยู่ในสภาวะของอาการ Post Traumatic Stress Disorder ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับการช่วยเหลือในทันทีหลังประสบเหตุ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทางร่างกาย ก่อนที่จะประคับประคองฟื้นฟูเยียวยาจิตใจอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยแบ่งระยะการฟื้นฟูได้เป็น 3 ช่วงหลักด้วยกัน
-การช่วยเหลือในช่วง 24 ชั่วโมงแรก ให้จัดหาสถานที่ปลอดภัย เงียบสงบ รักษาอาการบาดเจ็บทางร่างกาย และจัดให้ผู้ประสบเหตุอยู่กับครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิด
-การป้องกันการซ้ำเติมทางจิตใจ (Retraumatization) เช่น งดการให้สัมภาษณ์ออกสื่อ การงดเว้นการรับข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติที่ประสบมา ไปจนถึงการพูดคุยโดยไม่มีผู้เชี่ยวชาญคอยช่วยเหลือ และการเสพข่าวลือที่ไม่มีการแก้ไข
-การปฐมพยาบาลทางด้านจิตใจ โดยรับฟังอย่างสงบ ไม่กระตุ้นให้เกิดการเวียนซ้ำของเหตุการณ์ ให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสภาวะดังกล่าว ไปจนถึงสอนวิธีคลายเครียดจากอาการด้วยตนเอง
ขั้นตอนเหล่านี้จัดเป็นช่วงที่มีความละเอียดอ่อนอย่างมาก และต้องกระทำควบคู่ไปกับการให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด และอาจจะต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนาน เนื่องเพราะเราไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่า ผู้ที่ประสบเหตุจะยังคงฝังใจกับเหตุการณ์ร้ายแรงนั้นๆ มากน้อยเพียงใด และเป็นอยู่อีกนานเท่าใด
การรักษาทางการแพทย์
ในกรณีที่ผู้ประสบเหตุมีอาการที่รุนแรงมากๆ อาจจะต้องได้รับการรักษาเช่นเดียวกับคนไข้ทางจิตเวชด้วยการใช้ยา เช่น ยาลดความเครียด (Antidepressants), การใช้ยาให้สงบอย่าง Psychostimulants หรือ Adrenergic Agonists ในกรณีเด็กสมาธิสั้น หรืออาจจะควบคู่ไปกับ Tricyclic Antidepressants ในกรณีที่เป็นขั้นร้ายแรง เป็นต้น
ทั้งนี้ การรักษาด้วยการใช้ยา ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ที่วินิจฉัย ว่าจะให้ยาตัวใด แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงปฏิเสธไม่ได้ คือการให้คำปรึกษา ซึ่งเป็นกระบวนการหลักที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น และมีอาการที่ทุเลาลง
‘ความรุนแรง’ อยู่รอบตัวเราทุกคน และการประสบภัยพิบัติก็เป็นเหตุที่ไม่มีใครคาดคิด แต่ชีวิตยังคงต้องดำเนินต่อไป การเยียวยาจิตใจของผู้ประสบเหตุและป่วยเป็น PTSD ด้วยความเข้าใจ ก็เพื่อให้แน่ใจว่า
พวกเขาเหล่านั้นจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติ ด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง พร้อมจะก้าวเดินต่อไป โดยไม่มีสิ่งใดตามมาหลอกหลอนจนไม่อาจมองถึงอนาคตภายภาคหน้าได้อีก