fbpx

Population Disruption: อยู่อย่างไรในยุคสมัยที่ประชากร ‘ถูก Disrupt’

ดูเหมือนคำว่า Disruption จะกลายมาเป็นคำที่ถูกพูดถึงกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน…

ภายใต้ยุคสมัยที่ทุกสิ่งเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีต่างรุดหน้า ปฏิเสธไม่ได้ว่า ย่อมเกิด ‘ความท้าทายใหม่’ ที่เข้ามาในภาคส่วนต่างๆ อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง มีกลุ่มเก่าที่พร้อมล้มหายตายจาก และกลุ่มใหม่ที่พร้อมขึ้นมาต่อยอด เป็นกำลังสำคัญที่จะพัฒนาประเทศชาติต่อไปในอนาคต

ภาวะของการ Disrupt ทะลุทะลวงไปทุกซอกหลืบของโลก ไม่เว้นแม้แต่ ‘การ Disrupt ประชากร’ …

แต่การ Disrupt นั้น เป็นไปในรูปแบบใด? ส่งผลอย่างไรต่อภูมิทัศน์ของประชากรโดยภาพรวม? และมันกำลังนำไปสู่ผลลัพธ์แบบไหนในเวลาที่กำลังจะมาถึง? สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นคำถามสำคัญ เป็นที่มาของการเสวนา Thaipublica Forum 2020 ภายใต้หัวข้อ ‘เปิดมุมมองการใช้ชีวิตยุค Population Disruption’ ครั้งที่ 1 ณ ห้อง Victor Club 3 ชั้น 2 อาคาร FYI 1 เมื่อวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา ที่ช่วยให้เราเห็นภาพของการใช้ชีวิตในยุคที่การ Disrupt ส่งผลต่อประชากรอย่างมีนัยสำคัญ

เป็นความจริงประการหนึ่งว่า เราไม่อาจปฏิเสธการถูก Disrupt ไปได้ ทว่า การใช้ชีวิตอย่างรู้เท่าทันสถานการณ์ต่างหาก คือสิ่งที่น่าสนใจ และนี่คือเนื้อสาระที่สะท้อนจากงานเสวนาครั้งนี้…

-เมื่อประชากรหดหัว ภายใต้การ Disrupt

เป็นที่เข้าใจกันในเบื้องต้น ว่าทรัพยากรบุคคลหรือ Manpower ส่งผลอย่างยิ่งต่อการเดินหน้าของประเทศ หากแต่ภายใต้การ Disrupt ที่เกิดขึ้น กำลังส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อทรัพยากรดังกล่าว ซึ่ง ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม, อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. และที่ปรึกษาสถาบันกำเนิดวิทย์ หนึ่งในวิทยากรคนสำคัญ ได้เริ่มต้นปาฐกถาพิเศษภายใต้หัวข้อดังกล่าว

ดร.ไพรินทร์กล่าวถึงอัตราการเกิดในอดีต เปรียบเทียบกับอัตราการเกิดในปัจจุบัน ว่ามีจำนวนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนหนึ่งมีผลมาจากการแพทย์ที่ก้าวหน้า และนโยบายการควบคุมประชากร ซึ่งสถานการณ์ในประเทศไทยกำลังอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะต่ำกว่าอัตราที่จะ Break Even เพื่อความสมดุล และสำมะโนประชากรไทยจะไม่เพิ่มไปถึงระดับ 70 ล้านคน ซึ่งอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

-กับดักเชิงโครงสร้าง: สัญญาณอันตรายภายใต้การ Disrupt

ดร.ไพรินทร์ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เมื่อประชากรเกิดขึ้นในอัตราที่ลดลง งานด้านสาธารณสุขที่ดีขึ้น จำนวนผู้สูงอายุมีมากขึ้น นั่นส่งผลอย่างยิ่งต่อประชากรในวัยทำงาน ที่ต้องแบกรับภาระสำหรับประชากรในวัยเด็กและวัยเกษียณ เป็นลักษณะของการก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ ที่ประเทศต่างๆ ในยุโรป จีน รวมถึงญี่ปุ่น กำลังประสบปัญหาดังกล่าว

นอกเหนือจากการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าแล้ว สถานการณ์ของประเทศไทยยังตกสู่กับดักที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ วัยทำงานที่ลดลง และรายได้ต่อหัวในจำนวนที่น้อย ซึ่งธนาคารโลกถือว่าเป็นกับดักที่แย่ที่สุด แม้ว่าจำนวนประชากรที่น้อยจะส่งผลดีต่อการควบคุม แต่รายได้ต่ำจะส่งผลต่อวัยทำงานที่จะต้องแบกคนที่ไม่สามารถทำงานได้ในอัตราที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ ดร.ไพรินทร์ยังกล่าวถึงนโยบายที่ภาครัฐใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่น โครงการชิม ช็อป ใช้ โดยถือว่าเป็นการเร่งที่ไม่ส่งผลดีอย่างยั่งยืน เพราะไม่ได้ขับเคลื่อนภาคการผลิตและกำลังคนในวัยทำงานอย่างจริงจัง และกระเทือนไปถึงจีดีพีหรืออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่ง ดร.ไพรินทร์ได้นำเสนอแนวทางว่า อาจจะต้องขยายเวลาการเกษียณออกไป ซึ่งประเทศญี่ปุ่นก็เริ่มใช้มาตรการเหล่านี้แล้ว

-เทคโนโลยีกับความเป็นเมือง: หนึ่งทางรอดจากยุคสมัยของการ Disrupt

ความเป็นเมือง เป็นอีกหนึ่งผลกระทบจากยุคสมัยของการ Disrupt ทางประชากรอย่างจริงจัง เพราะเมื่อประชากรเกิดขึ้นน้อย การแสวงหาโอกาสและการทำงานย่อมกระจุกตัวอยู่ภายในเมือง ไปจนถึงการนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องพิจารณาอย่างจริงจัง ว่าเพียงพอหรือไม่ และดีพอหรือไม่ สำหรับยุคสมัยที่กำลังจะมาถึง

ดร.ไพรินทร์ได้ยกตัวอย่างของประเทศญี่ปุ่น ว่าการกระจายตัวของประชากรในเขตพื้นที่ต่างๆ นั้น เกิดขึ้นตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูง ซึ่งเป็นลักษณะที่ควรจะเกิดขึ้น และกำลังเกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน แต่ต้องไม่ลืมในส่วนของการออกแบบเมืองที่มีประสิทธิภาพและดีเพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตด้วย

ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท Siametrics Consulting จำกัด ผู้ให้บริการทางด้านข้อมูล Big Data ได้เสริม ดร.ไพรินทร์ เกี่ยวกับเรื่องของการจัดการเมืองและการดูแลประชากรได้อย่างน่าสนใจ ว่าเทคโนโลยี ช่วยให้เราสามารถรู้ได้ ว่าจะจัดการเมืองให้สอดคล้องกับคุณภาพชีวิตประชากรที่ดีได้อย่างไร รวมไปถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารภาพรวมของเมืองให้ดีขึ้นได้

-Generation Gap: เมื่อ Disrupt นำไปสู่วิวาทะจากรุ่นสู่รุ่น

ช่องว่างระหว่างรุ่นก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงอยู่เสมอๆ ภายใต้ยุคสมัยของการ Disrupt โดย ดร.ไพรินทร์ได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจ เพราะความสามารถในการทำงานของมนุษย์ เพิ่มขึ้นตามอายุ สวนทางกับความสามารถทางชีววิทยา ที่ถดถอยลงไป และความสามารถในการเรียนรู้ ก็ดูจะเร็วมากขึ้น ภายใต้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี นั่นตอกย้ำถึงช่องว่างระหว่างวัย และสะท้อนถึงภาพของการแบกรับที่วัยทำงานต้องเผชิญได้อย่างชัดเจน เพราะด้วยช่วงวัย 30-50 ปี ที่ยังสามารถทำงานได้ ความท้าทายของการข้ามต่อของช่วงอายุในเวลาภายภาคหน้าก็จะยิ่งชัดเจนมากยิ่งขึ้น

‘วิวาทะของการปะทะระหว่างรุ่น’ ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นเพราะแรงขับของคนแต่ละ Generation นั้นก็แตกต่างกัน โดยเฉพาะคนรุ่น ‘Generation Alpha’ ที่เกิดมาพร้อมกับทรัพยากรขั้นพื้นฐาน โดยจะมีความต้องการความภาคภูมิใจจากการทำงาน และตอบสนองต่ออุดมคติทางการเมือง ที่เป็นพื้นที่ในการแสดงออกถึงตัวตนของพวกเขา

-เรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อพิชิตการ Disrupt

ดร.ไพรินทร์ยังได้เสริมเกี่ยวกับหัวข้อที่แล้ว เกี่ยวกับการ Disrupt ที่ส่งผลต่อคนระหว่างรุ่น ว่าจะต้องก้าวไปสู่รูปแบบของการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้มากยิ่งขึ้น เพราะเด็กรุ่นใหม่นั้น ได้เรียนรู้อย่างรวดเร็วตั้งแต่แรกเกิด เป็น Digital Native ที่จะเข้ามาสู่สายงานที่จะตามมาในอนาคต ซึ่งมีทั้งความรวดเร็ว และซับซ้อนมากขึ้น โดยเน้นไปที่สามด้านสำคัญคือ Foundation Literacy, Competency และ Character ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดและค่านิยมของคนที่เกิดตามมาในศตวรรษที่ 21

อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน (South East Asia Center: SEAC) วิทยากรร่วม ได้เสริม ดร.ไพรินทร์ในจุดนี้ถึงเทรนด์ตลาดของโลกที่มุ่งเน้นในเรื่องของความเร็ว และการปรับใช้เทคโนโลยีที่มากขึ้น จึงต้องมีการเสริมรับกันทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อตอบสนองให้ทันต่อความต้องการของตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อ Generation Alpha เริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงาน และเป็นกำลังซื้อที่สำคัญในอนาคต

-อยู่อย่างยั่งยืนและมีสุขในยุค Disrupt

ท่ามกลางยุคสมัยที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้า อายุขัยของประชากรที่เพิ่มมากขึ้น คำถามเกี่ยวกับการอยู่อาศัยอย่างเป็นสุขและยั่งยืน ถูกให้ความสำคัญขึ้นมาอีกครั้งในปัจจุบัน ซึ่ง ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัย กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร อีกหนึ่งวิทยากรในงานสัมมนา ได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า การใส่ใจทางด้านสุขภาพและกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกันจะเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาและหยิบยกขึ้นมาพูดถึง โดยเฉพาะยุคสมัยแห่งการ Disrupt ที่กลุ่มคนในช่วงอายุ 40 ซึ่งเป็นวัยทำงาน จะมีความเครียดที่มากกว่า จากภาระหน้าที่ในการสร้างความมั่นคง แตกต่างจากวัยเกษียณอายุ 60 ที่ผ่านพ้นการทำงานหนักมาแล้ว และจำนวนจะยิ่งทวีเพิ่มมากขึ้น ในทิศทางที่ประเทศไทยจะเดินไปสู่สังคมสูงวัย

แต่สิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับกลุ่มคนวัย 60 ปีขึ้นไปที่จะต้องเผชิญ กลับไม่ใช่เรื่องของความแก่ แต่เป็นเรื่องของสุขภาพ โดยเฉพาะเมื่อกลุ่มคนวัยนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้น การใส่ใจต่อปัจจัยดังกล่าวคือสิ่งที่ไม่อาจมองข้ามไปได้

ในด้านการงาน ดร.ไพรินทร์ได้เสริมในจุดนี้ว่า ในอนาคต ที่กลุ่มคนสูงวัยมีจำนวนเพิ่มขึ้น อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในระบบของการทำงานบางอย่าง ซึ่งอาจจะมีการจ้างงานสองครั้ง ที่ที่ผู้สูงอายุยังคงมีบทบาทในตลาดแรงงาน ดังเช่นที่ประเทศญี่ปุ่นได้เริ่มต้นนำหน้าไปแล้ว

-ความท้าทายที่รอคอยอยู่ในภายภาคหน้า

การ Disrupt นั้นส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อภูมิทัศน์ทางด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านประชากร แนวคิดและค่านิยมแบบเก่า อาจจะพ้นสมัย และไม่สามารถนำมาใช้เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตภายภาคหน้า แต่มันก็เต็มไปด้วยโอกาสและความท้าทายที่รอคอยอยู่ ซึ่งขึ้นกับว่า เราจะรู้เท่าทัน และปรับตัวเพื่อพร้อมรับกับสิ่งต่างๆ เหล่านี้อย่างไร

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ