จากยอดข้าวสู่พรายฟอง ชวนละเลียดมองชีวิต กับ พงศ์ภัทร จีรังพิทักษ์กุล
พงศ์ภัทร จีรังพิทักษ์กุล
กรรมการผู้จัดการ บริษัท มีคอนซัลติ้งกรุ๊ป จํากัด
และผู้บริหารกลุ่มบริษัทในเครือมีกรุ๊ป
ในการเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตนั้น ต่างคน ก็ต่างรูปแบบ หลากหลายวิธีการและเรื่องราวที่ผ่านเข้ามา แต่สำหรับผม รสสัมผัสของพรายฟองเบียร์ กลับเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่เพราะเสพติดจนเมามาย แต่เป็นไปด้วยความจำเป็นทางการงาน แต่นอกเหนือจากนั้น มันยังได้ให้บทเรียนที่ล้ำค่าต่างๆ ตั้งแต่แรกดื่ม จนถึงปัจจุบัน ที่อยากจะนำมาเสนอให้ได้ทราบกัน จากความรู้สึกที่เกิดขึ้นจริง
ทักษะแรก มิตรภาพ
ยังจำครั้งแรกของการลองดื่มเบียร์กันได้หรือเปล่าครับ สำหรับผมมันเลือนลางมากแล้ว แต่จำได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่เริ่มชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย
จริงๆ กิจกรรมสานสัมพันธ์ในรั้วมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องดื่มประเภทเหล้ามากกว่าเบียร์ ซึ่งอาจจะด้วยความที่มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าหรือทำให้เมาได้เร็วกว่า แต่ในช่วงปีแรกของชีวิตเด็กมหา”ลัย ผมก็ยังโชคดีที่ได้มีโอกาสทดลองดื่มเบียร์บ้าง ในสมัยนั้นมีหลักๆ อยู่แค่ค่ายเดียว เพราะอีกค่ายเขาทำแต่เหล้าสีเหล้าขาวเป็นหลักอยู่
ในความทรงจำลางๆ ผมจำได้ว่าก็พอดื่มได้ ไม่ได้รู้สึกว่ารสชาติของเครื่องดื่มชนิดนี้มันขม แต่ก็ไม่ได้ดื่มมากมายเท่าไหร่ยกเว้นในโอกาสพิเศษ เช่น ไปร่วมงานอะไรบางอย่าง หรือ ช่วงอกหัก ไม่ว่าจะเป็นหักเราเองหรือเพื่อนเราหักก็ตาม ก็ทำให้ดื่มจนเมามายกันได้ทั้งกลุ่มชนิดไม่มีข้อยกเว้น
ช่วงแรกผมคิดว่าเบียร์เป็นเครื่องดื่มที่ดื่มง่าย ไม่มีขั้นตอนพิธีรีตองเยอะ แค่เปิดขวดรินใส่แก้วเติมน้ำแข็งก็ดื่มได้เลย หรือถ้าเป็นเบียร์กระป๋องก็ไม่ต้องการแก้วด้วยซ้ำ พอเริ่มกรึ่มๆกัน หลายๆเรื่องที่ไม่ค่อยอยากเล่าก็พูดกันออกมาง่ายขึ้นเยอะ เบียร์จึงเป็นเครื่องมือสร้างมิตรภาพในเวลาอันรวดเร็วในช่วงชีวิตนั้น
ทักษะที่สอง เติมเต็มช่องว่างระหว่างวัย
แต่ที่จำได้ชัดในความทรงจำคือครั้งแรกที่ขอดื่มเบียร์กับพ่อ ซึ่งจริงๆ ที่บ้านผมก็ไม่ได้ห้ามแต่ผมก็ไม่เคยดื่มต่อหน้าพ่อ-แม่จริงๆซักที วันนั้นเป็นวันที่ออกไปเที่ยวต่างจังหวัดกันทั้งครอบครัว และผมก็เอ่ยปากออกไปว่า “ขอดื่มด้วย” ซึ่งคุณพ่อก็ไม่ได้ติดขัดอะไร ดื่มไปคุยกันไปไม่ได้มีอะไรพิเศษ แต่หลังจากนั้นเวลาที่มีสังสรรค์กันในครอบครัวใหญ่ ก็เป็นเรื่องปกติสำหรับคนที่อยู่ในวัยเข้าเรียนมหาวิทยาลัย จะนั่งดื่มเบียร์ร่วมโต๊ะกับผู้ใหญ่ ผมว่าบางครั้งทำให้คนอีกรุ่นหนึ่งได้ทราบเรื่องในอดีตที่ไม่เคยรู้มาก่อน และนั้นจึงกลายมาเป็นเครื่องดื่มที่เติมเต็มช่องว่างระหว่าง generation ในครอบครัวแบบไม่ทันตั้งตัว
ทักษะที่สาม การดื่มมาพร้อมความรับผิดชอบ
หลังจากนั้น..ในภาพจำของผมคือตอนที่ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่อเมริกา มีอยู่ class หนึ่งที่อาจารย์บอกว่า “เราไปดื่มเบียร์ถกความเห็นกันข้างนอกดีกว่า” พวกเราก็เดินไป café ใกล้ๆ ที่มีโต๊ะใหญ่ๆให้นั่งล้อมวงกัน อาจารย์สั่งเบียร์เป็นแก้วมา หลายๆ คนใน class ก็สั่งเบียร์ด้วย ในขณะที่บางคนก็ดื่มกาแฟหรือช๊อคโกแลตไป ส่วนผมหลังจากหายงงก็สั่งเบียร์ตามกับเขาไปด้วยอีกหนึ่งแก้ว (ซึ่งตอนนั้นยังอ่านชื่อแก้วเบียร์ PINT ไม่ถูกเลย) ผมก็เลยได้เปิดโลกว่า อ้อ!! ถ้ามีความรับผิดชอบกันมากพอก็ดื่มเบียร์ขณะเรียนได้ด้วยนะ
ต้องเล่าก่อนว่าผมไปเรียนต่อเมืองเล็กๆ ชื่อว่า Berkeley ซึ่งเป็นเมืองที่มีผับเล็กๆ อยู่ในเมืองกว่าสิบแห่ง ถึงจะเล็กแต่ขอบอกเลยว่า แต่ละร้านมีเบียร์สดมากกว่ายี่สิบหัวให้เลือกดื่ม และบางร้านก็ทำเบียร์ของเขาเองด้วย เรียกว่า micro brewery พออยู่ไปสักพักก็เป็นเหมือนธรรมเนียมปฎิบัติที่จะมีนัดสังสรรค์กันในภาควิชา หรือในกลุ่มนักศึกษาต่างชาติตามโอกาส ซึ่งหลายๆครั้งก็ไปตามผับเล็กๆ เหล่านี้นี่แหละครับ ผมเลยได้เริ่มเรียนรู้ว่าเบียร์ไม่ได้มีแค่ลาเกอร์เหมือนที่บ้านเรานะ ตอนนั้นก็เริ่มสนใจเบียร์ประเภทต่างๆ และได้รู้ว่าการทำเบียร์เองที่บ้านหรือที่เรียกว่า home brew เป็นเรื่องที่ไม่ได้แปลกประหลาดอะไร ซึ่งที่จริงๆ ผมก็ลองศึกษาตำราวิธีทำ home brew ไปบ้าง แต่ติดข้อจำกัดทางด้านอุปกรณ์ สถานที่ และทุนทรัพย์ (ข้อนี้สำคัญสุด) ก็เลยยังไม่ได้ทดลองลงมือทำจริงๆสักที (แต่ถ้าจะมีใครเสนอทุนให้ผมยินดีรับนะครับ)
ทักษะที่สี่ มิตรภาพและสถาณการณ์เติมเต็มรสชาติ
และในช่วงเข้าสู่วัยทำงาน การดื่มที่ประทับในความทรงจำของผมอีกครั้งหนึ่งคือตอนที่ได้ไป road trip กันในวัย 30 กับเพื่อนสมัยเรียน ตอนนั้นขับรถลงใต้ไปสมุย-พะงัน กัน ตอนที่เอารถขึ้นเรือเฟอร์รี่เพื่อข้ามไปยังเกาะสมุย เป็นช่วงเวลาบ่ายที่อากาศดี ลมเย็นสบาย กำลังยืนข้างเรือดูวิวทะเลอยู่ดีๆ เพื่อนก็ยื่นเครื่องดื่มเย็นๆ มาให้หนึ่งกระป๋อง คงไม่ต้องบอกนะครับว่าคือเครื่องดื่มอะไร เครื่องดื่มก็เครื่องดื่มเดิมๆ แต่มิตรภาพและสถาณการณ์ทำให้มันเป็นรสชาติการดื่มดีที่สุดครั้งหนึ่งเลยทีเดียว
ทักษะที่ห้า ทดลอง ทดสอบ เปรียบเทียบ และมีส่วนรวมในความชอบเดียวกัน
และเมื่อเริ่มมีการอิมพอร์ตเบียร์เข้ามาในเมืองไทย และกระแสคราฟเบียร์ก็ตามมาในภายหลัง ทำให้สามารถทดลองดื่มชนิดแปลกๆ จากแท๊ปได้ ตอนนั้นสนุกกับการชิมชนิดใหม่ๆ มาก ประกอบกับเทคโนโลยีนำ 3G เข้ามาสู่มือถือทำให้การหาข้อมูลของต่างๆง่ายขึ้น เริ่มมีการชิมเพื่อเปรียบเทียบจากการแบ่งประเภทอย่างเป็นสากล เคยขอบาร์เทนเดอร์ชิมแท๊ปต่างๆ ที่เราเคยชิม ได้ทดลองสั่งมาดื่มโดยตั้งเป้าไว้ว่าวันนี้จะสั่งชนิดที่ยังไม่เคยลองเท่านั้น รวมถึงได้ลองหลับตาเลือกชนิดที่หน้าตาแปลกๆ จากในตู้แช่ ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่จะไม่ค่อยถูกปากก็ตาม แต่สนุกและที่สำคัญได้มิตรภาพในสังคมหรือเพื่อนร่วมงานที่มีความชื่นชอบในคราฟต์เบียร์เหมือนกัน
ทักษะสุดท้าย know who
ซึ่งถ้าถามผมในวันนี้ว่า….เบียร์ที่ดีที่สุดคือเบียร์อะไร ผมคงตอบว่า คือเบียร์ฟรี จะเป็นที่เราเลี้ยงเพื่อนหรือเพื่อนเลี้ยงเราก็ตามล้วนเป็นการดื่มเกิดจากมิตรภาพเหมือนกัน และมิตรภาพนั้นหลายๆ ครั้งก็ทำให้ได้ know who มาอย่างคาดไม่ถึง
แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าเบียร์ได้นำพาชีวิตผมไปเจอกับประสบการณ์ดีๆ หลากหลาย แต่ก็เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่หลายคนมองว่าคือต้นเหตุแห่งปัญหา แต่ถ้าผู้ดื่มมีความรับผิดชอบเพียงพอ ก็จะรู้ว่าการดื่มเครื่องดื่มทุกชนิดต้องใช้ศิลปะในการดื่มไม่ต่างกับการใช้ชีวิต และการดื่มยังสอนทักษะในแต่ละช่วงชีวิตให้เราอีกด้วยครับ