fbpx

อรุณ วัชระสวัสดิ์ “การ์ตูนการเมืองคือชีวิตของผม” “political Cartoon is my life”

เรื่อง : โตมร ศุขปรีชา
ภาพ : กิตตินันท์ จรรยางาม

ในห้วงยามแห่งความมืดมนอนธกาลเช่นนี้ สิ่งที่พอจะช่วยคืนความสุขให้เราได้บ้าง ในยามเช้าที่ท่วมท้นไปด้วยข่าวน่าเบื่อ ก็คงจะเหลือแต่เพียงเสียงหัวเราะหึๆ ในลำคอ ด้วยอารมณ์ขันขื่นๆ จากภาพการ์ตูนการเมืองบนหน้าหนังสือพิมพ์

ถึงแม้จะมีพื้นที่ใหญ่กว่าฝ่ามือเราเพียงเล็กน้อย แต่โดยความสำคัญของมันแล้ว การ์ตูนการเมืองนั้นโดดเด่นเป็นสง่า ดึงดูดคนอ่านให้เปิดไปหาเป็นสิ่งแรกๆ มันเผยให้เห็นท่าที จุดยืน คำวิพากษ์วิจารณ์ และคำแนะนำของหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นๆ ที่มีต่อผู้มีอำนาจในบ้านเมืองอารมณ์ขันขื่นๆ ต่อเรื่องราวเลวร้าย สำหรับผู้อ่านแล้ว มันคือประกายแสงสว่างให้เห็นความหวังและความฝัน มันคือเยื่อใยสุดท้ายและความรู้สึกปรารถนาดี เท่าที่เรายังคงมีเหลือให้กันและกัน


ในบ้านเมืองที่เต็มไปด้วยวิกฤติเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมแต่…อรุณ วัชระสวัสดิ์ กล่าวอย่างถ่อมตัวกับ GM ว่าผลงานในแต่ละวันของเขานั้น ไม่ได้ยิ่งใหญ่หรือสลักสำคัญอะไรหรอก


บ่ายวันฝนพรำ GM นั่งคุยกับเขาแบบชิลล์ๆ ถึงเรื่องราวมากมายก่อนที่จะมาเป็นการ์ตูนนิสต์ บทบาทการเป็นฝ่ายศิลปกรรมให้กับหนังสือการเมืองตั้งแต่ยุค 16 เรื่อยไปถึงบทเรียนที่เขาได้รับจากการทำงานมานานถึง 4 ทศวรรษ


บทสนทนาครั้งนี้แสนเรียบง่าย แต่น่าเพลิดเพลินเจริญใจยิ่ง เพราะเขาไม่ใช่นักวิชาการผู้รอบรู้ ไม่ใช่นักหนังสือพิมพ์ผู้มีอุดมการณ์แรงกล้า ไม่ใช่หัวหมู่ทะลวงฟัน นำหน้ามวลชนไปต่อสู้กับอำนาจที่ฉ้อฉล เขาเป็นนักเขียนการ์ตูนการเมืองที่ชอบนอนตื่นสาย อ่านข่าวรายวันและรู้เรื่องราวต่างๆ พอๆ กับเรา เขาจะนั่งวาดการ์ตูนไปจนเสร็จ แล้วก็เดินข้ามถนนไปออกรอบที่สนามกอล์ฟใกล้บ้าน ก่อนจะกลับมาเอนหลังจิบเบียร์ ฟังเพลงเบาๆ เลี้ยงหมาน่ารักสักตัว แล้วก็เข้านอนอย่างสบายใจ


อรุณทำงานในวงการนี้มา ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ยาวนานกว่า 4 ทศวรรษแล้ว ปั่นงานถี่ยิบทั้งแบบรายวันและรายสัปดาห์ ให้กับสื่อสิ่งพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย ทั้งเครือเนชั่นและเครือมติชน ที่ใครๆ ต่างก็รู้ว่ามีจุดยืนทางการเมืองแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว


ที่ผ่านมา ผู้อ่านของทั้งสองขั้ว ไม่ว่าจะเชียร์ประชาธิปัตย์หรือเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็นลิเบอรัลหรือคอนเซอร์เวทีฟ ไม่ว่าจะเชียร์ม็อบไหน หรือไม่เคยร่วมม็อบไหนเลยก็ตาม ต่างก็ต้องโดนปลายปากกาของอรุณ สะกิดแผลให้รู้สึกแสบๆ คันๆ โดยไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน


สิ่งที่ GM สนใจใคร่รู้ คือการที่ใครสักคนจะทนทำงานสักอย่างมายาวนานขนาดนี้ เขาเข้าถึงความจริง ความดี และความงาม ของโลกและชีวิตอย่างไรบ้าง


…ผมเป็นเพียงน้ำจิ้มถ้วยเล็กๆ…ผมเป็นแค่ตัวตลกประกอบฉากในโรงลิเก…ผมเป็นแค่ฝ่ายศิลป์…ทั้งหมดนั้นมันก็แค่การ์ตูนกรอบเล็กๆ วันนี้มันอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์ พรุ่งนี้มันกลายเป็นถุงกล้วยแขก และวันมะรืน มันจะไปอยู่ในถังขยะ…


หนุ่มใหญ่ร่างผอมบาง ผู้มีนิ้วเรียวยาวอย่างศิลปิน พูดจาด้วยความถ่อมตัวตลอดเวลา กล่าวตอบกับ GM แบบนี้ และนี่อาจจะเป็นแก่นแท้โลกและชีวิต ของการ์ตูนนิสต์การเมืองไทย ที่มีงานชุกและน่าทำความรู้จักมากที่สุดในวินาทีนี้

GM: สงสัยว่าคุณทำได้อย่างไร เขียนการ์ตูนการเมืองแบบรายวัน ให้ทั้งเครือเนชั่นและมติชน
อรุณ : ในวันธรรมดา ผมเขียนการ์ตูนวันละ 2 ชิ้น สำหรับลงในกรุงเทพธุรกิจและมติชนรายวัน ส่วนหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ ผมเขียนส่งมติชนสุดสัปดาห์ในวันจันทร์ และวันศุกร์เขียนส่งเนชั่น สำหรับฉบับเสาร์-อาทิตย์

GM: คุณนี่น่าจะเป็นคนเขียนการ์ตูนการเมืองเยอะที่สุดในโลกแล้วมั้งถ้าเป็นคอลัมนิสต์เขียนบทความ คงไม่มีใครเขียนเยอะขนาดนี้ได้
อรุณ : เขียนการ์ตูนน่าจะยากขึ้นไปอีกขั้นนึงนะ ผมว่า เพราะมันต้องคิดออกมาเป็นแก๊กตลก แต่ที่ยากที่สุด คือต้องไม่ให้ทั้งสองที่นี้เหมือนกันด้วยเพราะด้วยความที่เป็นเรื่องการเมืองเหมือนกันหมด แวดวงคนอ่านและคนทำหนังสือพิมพ์บ้านเราก็ไม่ได้กว้างขวางไปทั่วโลก คนอ่านคงไม่ชอบมั้ง ถ้าไปเปิดหนังสือพิมพ์แล้วเจอการ์ตูนที่คล้ายๆ กัน มาจากคนวาดคเดียวกัน บรรณาธิการก็ไม่ยอมด้วยล่ะ มติชนกับเนชั่นจะต่างกัน มติชนก็จับตลาดหนึ่ง คุณก็พอจะมองออกใช่ไหมว่าเป็นคนชอบแนวไหน กรุงเทพธุรกิจก็จะอีกแนว ส่วนพวกรายสัปดาห์ก็เช่นเดียวกัน ในฐานะคนวาดก็จะรู้ว่าต้องวาดให้เข้มขนาดไหนมุกขนาดไหน มองจากมุมไหนจึงจะเหมาะกับผู้อ่านเล่มใด

มติชนมีกลุ่มผู้อ่านที่มีพื้นฐานทางการเมืองสูง ผมสามารถหยิบจับประเด็นที่มีความซับซ้อนมากๆ มาเขียนการ์ตูนได้ ประเด็นที่ยังไม่กระจ่าง ยังเป็นเรื่องลึกๆ ลับๆ ในขณะที่คนอ่านกรุงเทพธุรกิจ จะเป็นกลุ่มคนที่สนใจกว้างๆ เพราะในนั้นมีประเด็นธุรกิจ เศรษฐกิจ รวมอยู่ด้วย คนอ่านก็จะไม่ใช่พวกคอการเมืองหนักๆ ส่วนใหญ่จะสนใจประเด็นทางเศรษฐกิจสังคมมากกว่า ส่วนมติชนสุดสัปดาห์ มันคือการรวบรวมประเด็นทั้งอาทิตย์ ว่า 7 วันนั้นมีเรื่องอะไรสนุกที่สุด ฮอตที่สุด เราก็เลือกออกมาทำ วาดเป็นรูปเดียวเลย แบบนี้เราต้องรู้ว่ามันต้องเป็นรูปที่ดูได้นานๆ ไม่ใช่จับเหตุการณ์เล็กๆ ที่ผ่านไปหมดแล้ว แต่ต้องเป็นรูปที่เสนอภาพรวมของทั้งอาทิตย์ ส่วนเนชั่นเสาร์-อาทิตย์ จะมีเรื่องต่างประเทศบ้างแล้วแต่เหตุการณ์

เอาง่ายๆ การทำงานของผม ก็เปรียบเหมือนคุณเปิดร้านอาหารรวดเดียว 4 ร้าน คุณก็ต้องรู้ว่าร้านนี้ควรขายก๋วยเตี๋ยวต้มยำ ร้านนี้ควรขายราดหน้า ร้านนี้ควรขายส้มตำไก่ย่าง และที่เหลืออีกร้านก็ขายแฮมเบอร์เกอร์ สำคัญคืออย่าเผลอล่ะ คือดูเหมือนว่างานเยอะนะ แต่ถ้าทำมานานขนาดนี้ คุณจะรู้ว่าจริงๆ ไม่เยอะหรอกครับ มันก็พอทำได้ทุกวัน ผมสามารถวาดวันหนึ่งเป็นสิบๆ รูปเลยก็ได้ ถ้าวันนั้นมีอารมณ์ที่จะทำ และผมทะลุ ทะลุหมายความว่าผมเก็ตเรื่องราวนั้นทั้งหมด มันโปร่ง มันโล่ง ผมก็เขียนออกมาในมุมมองต่างๆ ได้มากมาย บางวันถ้าโล่งถ้าทะลุจริงๆ เหมือนทุ่งหญ้าโดนฝน ดอกหญ้าแห่งความคิดจะบานเต็มไปหมด
ตัวลายเส้นไม่ต่างกัน แต่ก็พยายามจะให้มีความแตกต่างกันบ้าง ถ้าเรื่องเบาๆ ก็ลายเส้นเบาหน่อย คือผมไม่อยากให้ผลงานตัวเองซ้ำซากจำเจ คุณต้องรู้ว่าผมเขียนการ์ตูนมา 40กว่าปี มันคงน่าเบื่อนะถ้าจะทำแค่ให้งานเสร็จๆ ไป

ผมเรียนมาจากเพาะช่าง และมหาวิทยาลัยศิลปากร ผมเองก็มีความพยายามที่จะทำงานศิลปะไปด้วย ที่ทำงานเขียนการ์ตูนมาได้นานขนาดนี้ ก็เพราะตลอดเวลา ผมคิดเสมอว่ากำลังทำงานศิลปะ ทำไป ศึกษาไป พัฒนาตัวเองไป ปรับปรุงฝีมือไปเรื่อยๆ ก็เลยทำให้งานนี้ไม่น่าเบื่อ การ์ตูนก็เปลี่ยนแปลงไปไม่ซ้ำกัน บางวันก็เขียนสี บางวันก็มีแค่เส้นขาว-ดำ การทำงานจึงไม่น่าเบื่อ งานศิลปะของผมมีโจทย์คือข่าวเช้าขึ้นมา ผมจะคิดของมติชนก่อน เพราะรู้สึกว่ามันยากกว่า เกร็งกว่า กลัว เวทีน่ากลัว คนอ่านมติชนจะมีอารมณ์พลุ่งพล่าน และบางครั้งไอเดียสำหรับกรุงเทพธุรกิจ จะผุดขึ้นมาระหว่างที่วาดให้มติชน เหมือนเป็นไอเดียพ่วงกัน มันคืองานแก้ของมติชน พอคิดสำเร็จแล้ว ก็เป็นขั้นดำเนินการ ขั้นนี้ก็ง่ายแล้ว

GM: เวลาไปเที่ยวทำไง ชีวิตเหมือนถูกล่ามไปกับงานหรือเปล่า
อรุณ : ผมเพิ่งกลับบ้านที่สุราษฎร์มา 7 วัน ก็ไปนั่งเขียนริมทะเล เดี๋ยวนี้สบายมาก สเก็ตช์รูปเสร็จ ใช้กล้องไอโฟนถ่ายภาพ แล้วมันมีแอพฯ ที่เหมือนเครื่องสแกนเลยนะผมก็ส่งไฟล์เข้าแมคบุค แล้วก็ลงสีด้วยโฟโตช็อป ทำงานได้เหมือนกับอยู่บ้าน เสร็จก็ส่งโรงพิมพ์ได้เลย

GM: ถ้าไม่สบายเข้าโรงพยาบาลล่ะ
อรุณ : ไม่หยุด หยุดไม่ได้เลย เคยขอหยุดพักเพื่อไปเที่ยวสักพัก บรรณาธิการบอกว่าหยุดเลย ไปเลยไปพักผ่อนบ้าง แต่ต้องส่งงานทุกวันนะ…ผมก็ครับๆบางครั้งมีป่วยหนัก ต้องนอนโรงพยาบาลแหละที่หยุดไป มีอยู่ครั้งหนึ่ง ก็นอนเขียนบนเตียงโรงพยาบาล หยุดไม่ได้ผมเขียนตุนไว้ไม่ได้นะ ต้องเขียนใหม่ทุกวัน

GM: การ์ตูนแต่ละชิ้นที่วาดออกมา มันออกมาจากไหน
อรุณ : ผมรู้ตัวว่าผมเป็นคนที่คิดอะไรเป็นภาพ คิดเป็นภาพมานานมากแล้ว คือบางคนคิดเป็นกลอนใช่ไหมบางคนคิดเป็นคำพูด คิดเป็นตัวหนังสือ แต่สำหรับผมผมคิดเป็นภาพ ถ้าคุณได้มาคุยกับผมนานกว่านี้ คุณจะสังเกตได้ว่าเวลาผมเล่าอะไร ผมเล่าเป็นภาพ ยกตัวอย่างผ่านภาพ ไม่ใช่การพูดแบบคนปกติ มันเป็นสิ่งที่ถูกฝึกมาตั้งแต่เด็กๆ เพราะชีวิตนี้ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกแล้ว ว่าอยากเป็นนักเขียนการ์ตูน ส่วนมาเป็นการ์ตูนการเมืองตัดสินใจทีหลัง ตอนแรกๆ ก็ตามดูผลงานของ คุณประยูร จรรยาวงษ์ ดูงานของฝรั่ง มันก็เลยซึมลึก คิดอะไรเป็นภาพการ์ตูน เหมือนกับนักมวยไง นักมวยเก่งๆ เวลาขึ้นไปอยู่บนเวที… เออนี่! เห็นไหม? ผมกำลังเล่าเป็นภาพอีกแล้ว (หัวเราะ)… คือพวกนักมวยที่ฝึกหัดไปจนชิน ร่างกายจดจำท่าทางได้หมด สมองคิดอะไรเป็นมวยไปหมด พอขึ้นเวที ทุกอย่างก็จะเป็นอัตโนมัติไปเลย ไม่ต้องมัวคิดว่าจะต่อยอย่างไรใช่ไหม

สำหรับนักวาดการ์ตูนก็เหมือนกัน รูปที่วาดออกมาก็คือความรู้ที่สั่งสมมาทุกวันๆ จากข่าวสาร จากการอ่านหนังสือก็ดี ความรู้ทั้งมวลมันเหมือนเมฆก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งลอยอยู่บนท้องฟ้า มาถึงวันดีคืนดี ต่อเมื่อมีประจุไฟฟ้าคือข่าวแต่ละวันผ่านเข้ามาก็จะเกิดปฏิกิริยาบางอย่าง เปรี้ยงปร้างเป็นภาพการ์ตูนเหมือนฟ้าแลบฟ้าผ่า แรงบ้างค่อยบ้าง ก็ตามแต่ว่าก้อนเมฆแห่งปัญญาโดนกับประจุไฟฟ้าแห่งข่าวสารมากน้อยขนาดไหน

เพราะฉะนั้นการสั่งสมความรู้เพื่อให้ก้อนเมฆแห่งปัญญาโตมากๆจึงสำคัญ ถ้าคุณจะหัวโล่งๆ ไม่มีความรู้อะไรเลย แล้วจะมาวาดการ์ตูนช่องเดียว เพื่อสื่อสารออกไปให้คนอ่านเข้าใจจะยากมาก อย่างวันนี้ผมเขียนถึงคดีข่มขืนและฆ่าเด็กผู้หญิงบนรถไฟ ก็เขียนเป็นเรื่องทางรถไฟสายมรณะคุณก็ต้องรู้จักทางรถไฟสายมรณะมาก่อนใช่ไหม และคุณก็ต้องรู้ว่าคนอ่านก็รู้ด้วยเช่นกัน มันคือวัตถุดิบมากมายในตัวของเรา มันต้องมีเยอะพอที่จะวาดออกมาได้ทุกวัน เพื่อสื่อสารบางประเด็นได้ และที่โหดสุดคือการเขียนการ์ตูนการเมือง ไม่มีโจทย์ให้เอาไปทำการบ้าน คุณต้องทำตรงนั้น บัดนั้นเราไม่สามารถจะดูแค่ข้อมูลจากข่าวรายวัน เช่นรู้แค่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รู้ชื่อเด็กหญิงผู้เคราะห์ร้าย แล้วจะเอามาวาดเป็นการ์ตูน ทำแค่นี้มันยังไม่พอ นักวาดการ์ตูนรายวันไม่สามารถจะวาดเพียงภาพเด็กผู้หญิงนอนตายอยู่ข้างทางรถไฟ แบบนี้ผมเองก็จะไม่ทำเด็ดขาด ทำไม่ได้ มันง่ายเกินไป ไม่ได้ผ่านกระบวนการคิด เราไม่ได้บอกอะไรเพิ่มเข้าไปเลยมันก็กลายเป็นแค่ภาพประกอบเหตุการณ์ เหมือนอย่างคำสอนทางศาสนา ก็ต้องเล่าผ่านกระบวนการคิดบางอย่าง เพื่อให้เราจดจำและเข้าใจได้ง่าย เรื่องดอกบัวสี่เหล่าเป็นตัวอย่างหนึ่ง หลักๆ ท่านต้องการจะบอกว่าคนเรามีหลายระดับ เวลาจะไปสอนต้องใช้วิธีต่างกัน การเล่าก็ต้องผ่านการเปรียบเทียบกับดอกบัวสี่เหล่า เป็นภาพออกมาอย่างที่เราจดจำกัน วิธีคิดการ์ตูนก็ประมาณเดียวกัน

GM: มีบ้างไหม ที่บางวันการ์ตูนออกมาดี บางวันออกมาไม่ดี
อรุณ : ใช่ บางวันสนุก บางวันไม่สนุกเลย แต่ถึงอย่างไรการเขียนการ์ตูนทุกวัน วันละหลายฉบับ ก็เป็นอะไรที่ดีนะ เช่นวันนี้ไม่ดี ง่ายไป ผมก็ยังมีโอกาสแก้ตัวในวันต่อไป ชิ้นต่อไป ถ้าวันนี้ดี ผมเชื่อว่าทั้งผมและคนอ่านคงลืมของฉบับที่ไม่ค่อยดีของเมื่อวาน พูดง่ายๆ คือผมมีโอกาสแก้ตัวใหม่ได้ทุกวัน

GM: การคิดเป็นภาพ เล่าเรื่องด้วยภาพ ทำให้การ์ตูนมีเสน่ห์มากกว่าบทความหรือเปล่า
อรุณ : จริงเลย ผมคิดว่าการ์ตูนที่ดีที่สุด คือการ์ตูนที่มีแค่กรอบสี่เหลี่ยม รูปก็ไม่มี ตัวหนังสือก็ไม่มี แต่คนอ่านของเราจะเข้าใจตรงกับเรา ว่าเราต้องการจะสื่อสารเรื่องอะไรผมก็ไม่รู้ว่ามันเป็นไปได้หรือเปล่า สมมุติว่าวันดีคืนดี บ้านเมืองเรามืดมน ไม่ว่าจะด้วยเหตุการณ์อะไรก็แล้วแต่ ผมอยากจะถมสีดำลงไปทั้งกรอบเลยคือให้มืดเลย คนอ่านจะเข้าใจได้ว่า เออๆจริงด้วยว่ะ!

GM: คนอ่านอาจจะด่า ว่าวันนี้คุณขี้เกียจวาด
อรุณ : (หัวเราะ) ก็อาจจะแต่ผมเชื่อว่าคงมีคนเข้าใจแหละ เข้าใจๆ เราอย่าลืมว่าการ์ตูนมีเสน่ห์อยู่ตรงภาพ ผมจึงบอกว่าเราไม่จำเป็นต้องมีตัวหนังสือเลยก็ได้ และเราไม่จำเป็นจะต้องมีภาพเลยก็ได้เช่นกัน เพราะความว่างเปล่าคือภาพเช่นเดียวกัน ความมืดก็คือภาพ ไม่รู้ว่าเซนไปหรือเปล่า คือถ้าคนวาดกับคนอ่านเข้าใจได้ตรงกัน ขอแค่ว่าอะไรที่จำเป็นต้องมี ก็มี แค่นั้น วันนี้เราวาดตัวหนังสือเยอะดีไหม วันนี้เราไม่มีตัวหนังสือเลยได้ไหม ก็น่าจะได้ บางทีก็เกี่ยวกับความมั่นใจของคนวาดด้วยนะ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วผมมักจะไม่กลัว ถ้าเมื่อไรคนวาดการ์ตูนรู้สึกกลัวว่าคนอ่านจะไม่รู้เรื่องปุ๊บ เมื่อนั้นเขาจะบรรยายซะมากมาย แล้วการ์ตูนของคุณจะแข็งทันที มันเครียด มันไม่สนุกแล้ว เหมือนเป็นการยัดเยียดว่าคนอ่านจะต้องเข้าใจแบบนี้ๆ เป๊ะๆ บางทีการ์ตูนของเราต้องเปิดโอกาสให้คนอ่านคิดเองด้วย เอ๊ะ! วันนี้อรุณด่าเขาแรงเกินไปหรือเปล่า? ในขณะที่อีกคนคิดว่า เอ๊ะ! วันนี้อรุณเข้าข้างเขาทำไม? ศิลปะมันคือแบบนี้ มันต้องเปิดช่องให้คนดูงานได้ตีความ และนี่คือข้อได้เปรียบของนักเขียนการ์ตูน บางชิ้นดูเหมือนชม ในขณะที่ผมด่าเขานะและที่ผมเจอบ่อยมากคือไม่ว่าเขียนอย่างไรคนที่ถูกเขียนจะชอบ เพราะนักเขียนการ์ตูนจะไม่เขียนถึงใครบ่อยนักหรอก ถ้าคุณไม่เด่นดังจริงไม่ทางใดทางหนึ่งในตอนนั้น อย่างนี้แหละ บางท่านขนาดผมเขียนตำหนิ เขายังขต้นฉบับการ์ตูนไปใส่กรอบติดบ้านเลย แต่ต้องไม่ใช่ภาพหยาบๆ คายๆ นะ

GM: มีการ์ตูนชิ้นไหนของคุณที่แป้กบ้างไหม ชิ้นที่ไม่มีใครเข้าใจคุณเลย
อรุณ : ก็ต้องยอมรับว่าเราแต่ละคนเปิดรับข่าวสารไม่เท่ากัน วันนี้คุณอาจจะยังไม่ได้ดูข่าวการข่มขืนและฆ่าบนรถไฟ คุณก็จะอ่านการ์ตูนชิ้นนี้ไม่เข้าใจ คุณอาจจะบ่น อะไรของมึงวะ? ซึ่งผมไม่สนใจนะ เพราะผมคิดว่าอีกสักพักคุณก็จะเข้าใจได้เอง เมื่อได้ไปเปิดดูข่าวเรื่องนี้แล้ว คนที่ดูการ์ตูนการเมืองแล้วไม่เข้าใจ ก็คือ หนึ่ง, คุณไม่รู้เรื่องข่าวที่ผมเขียน สอง, คุณเป็นคนเครียด ไม่สนุก ไม่มีอารมณ์ขัน แบบนี้ช่วยไม่ได้ และผมก็จะไม่ชอบให้ใครมาถามนะ ว่าการ์ตูนวันนี้หมายถึงอะไร คำถามแบบนี้ผมไม่ชอบ คือไม่รู้ว่าจะต้องไปอธิบายอย่างไร ประมาณว่าคุณจะต้องมีความคิดความเห็นมากบ้างน้อยบ้างกับข่าวที่ผมเขียน พอคุณมาเห็นการ์ตูนแล้วคุณจะรู้สึกว่าผมคิดอะไร สะใจหรือไม่สะใจคุณ เพราะโดยส่วนใหญ่ การ์ตูนการเมืองก็เป็นการคิดแง่เดียว มุมเดียว แล้วคนอ่านก็เอาไปคิดต่อกันได้เอง เพราะคนวาดเองก็รู้แง่เดียว มุมเดียว จากมุมมองของผม คุณคิดดูเถอะ ว่าผมเรียนอะไรมาผมเรียนศิลปากรใช่ไหม แล้วต้องเขียนการ์ตูนล้อกฎหมายเลือกตั้ง การ์ตูนบ่นสภาพเศรษฐกิจ คุณคิดว่าผมรู้เรื่องพวกนี้ดีแค่ไหน? แล้วยังสถานการณ์สงครามในต่างประเทศอีก ผมก็แค่ติดตามอ่านข่าวรายวัน ผมก็รู้แค่นั้นรู้พอๆ กับพวกคุณนี่แหละ ฉะนั้น การ์ตูนบางชิ้นแค่ขำๆ อย่าคิดมาก

GM: คุณเคยกล่าวไว้ว่าการ์ตูนการเมืองในหนังสือพิมพ์ ก็เปรียบเป็นแค่น้ำจิ้มถ้วยหนึ่ง
อรุณ : ใช่, จะไปเอาอะไรกับมันมากมาย หนังสือพิมพ์ทั้งฉบับ เปรียบเหมือนโต๊ะจีนใหญ่ๆ มีหมู เห็ด เป็ด ไก่ ปลาอะไรเต็มโต๊ะ การ์ตูนก็เป็นน้ำจิ้มถ้วยหนึ่ง คุณจะกินอะไรก็เอาไปจิ้มสักหน่อย ถ้าจะกินอาหารให้หมดทั้งโต๊ะ โดยไม่มีน้ำจิ้มเลยก็ไม่ได้ใช่ไหม ไม่น่าอร่อย แต่ถ้าคุณหวังอะไรมากมายจากการ์ตูนการเมือง นั่นเปรียบกับว่าคุณกำลังซดน้ำจิ้มนะ คือหยิบทั้งถ้วยขึ้นมาซดเลย คุณไม่คิดจะกินเป็ดกินไก่เลยเหรอ ก็ไม่น่านะ ผมว่า

GM: ช่วงเดือนที่ผ่านมา คุณหยุดเขียนการ์ตูนไปพักใหญ่
อรุณ : 7 วัน ผมหยุดไป 7 วัน หลังจากการรัฐประหาร หยุดไปเพราะผมงง งงจริงๆ เขียนไม่ถูก เพราะคิดว่าคงต้องปรับแนวทางไหม เขียนตามความคิดปกติคงไม่ได้ ผมต้องเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนแนว ซึ่งมันกะทันหันจนผมปรับตัวปรับความคิดไม่ทัน มันเหมือนผมเดินกลางทุ่งตอนแดดเปรี้ยงๆ แล้วอยู่ดีๆ ฝนก็ตกลงมาอย่างหนัก ผมก็วิ่งหลบฝนเท่านั้นเองก็ผมไม่ได้พกร่มไว้นี่ครับ พรรคพวกก็บอกว่าเขียนอะไรเบาๆ ไปก่อนผมก็บอกว่าที่แล้วมาผมเบาสุดแล้วนะ อ้าว! ถ้างั้นเขียนอะไรตลกๆ ไปก่อนก็ได้ ผมก็บอกว่าที่เขียนมาตลกสุดแล้ว ตลกกว่านี้ไม่ได้แล้ว และอีกอย่างคงไม่สนุกนักนะ ที่เขียนไปแล้วต้องนอนฝันร้ายว่าชิ้นนั้นชิ้นนี้ จะทำให้ตัวเองและหนังสือที่เขียนลงเดือดร้อนหรือเปล่า เลยหยุด กะว่าให้ฝนฟ้าหายคะนองจะออกมาใหม่

GM: คุณเขียนการ์ตูนการเมืองมา 40 ปี ก็เคยผ่านสถานการณ์ปฏิวัติ รัฐประหาร อะไรแบบนี้มาบ่อยแล้ว
อรุณ : บ่อยจริงๆ นั่นแหละ ตั้งแต่ตุลาคม 2516-2519 อะไรต่อมิอะไร สารพัดเหตุการณ์ ผมเขียนการ์ตูนมาตลอด ไม่เคยหยุดเลยนะ แต่มาคราวนี้ต้องขอเข้ามุม เพราะไม่ไหวจริงๆ ขอหยุด ถ้าจะถามว่าทำไม ผมอธิบายไม่ถูก มันงงๆ และผมคงอายุมากแล้ว จึงมีความรู้สึกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาก ผมไม่เคยลงสมัครเลือกตั้ง ไม่เคยเข้าสังกัดพรรคการเมือง ไม่เคยไปร่วมอะไรกับใคร ไม่เคยเป็นอะไรของใครทั้งนั้น ตอนนกหวีดผมก็ไม่ไปตอนเสื้อแดงผมก็ไม่ไป ถ้าเป็นเวทีมวย ผมเป็นคนดูอยู่ข้างล่างตลอด จนมาถึงจุดที่ผมงงไปหมด ว่าถึงวันนี้ ผมปล่อยปละละเลยสังคมมากเกินไปหรือเปล่า สองจิตสองใจ ว่า เอ๊ะ! เราควรจะวางตัวอย่างไรในตอนนี้? เพื่อนๆ ก็ขึ้นไปบนเวทีกันก็หลายคนแล้ว แล้วทำไมผมไม่ขึ้น ผมไม่รักชาติหรือเปล่า ผมงงตัวเอง ผมดูการเมืองมาแยะ นั่งริงไซด์ทุกนัดด้วย เอางี้! คุณอายุขนาดนี้คงเคยดูมวยปล้ำฝรั่ง ที่เขาเอามาฉายในทีวีสมัยก่อน จำได้ไหมว่าตอนแรกๆ เราดูแล้วกลัวฉิบหาย หัวแตก เลือดนอง ทุ่มลงมาข้างล่างเวที แล้ววิ่งตามมาเอาเก้าอี้ฟาดๆ โอ้โห! อะไรวะ? แต่พอเวลาผ่านไปสักพักเราจึงค่อยๆ ได้รู้ความจริง ว่ามันโกหกทั้งนั้น มันเมกทั้งนั้น มันเตี๊ยมไว้แล้ว

GM: คือคุณจะบอกว่าการเมืองก็เปรียบเหมือนมวยปล้ำใช่ไหม
อรุณ : ก็คุณว่าใช่หรือเปล่าล่ะ? เบื้องหน้าที่เราดูอยู่ โอ้โห! เอาเก้าอี้ทุ่มกัน น่ากลัว เดี๋ยวนี้พอเราโตขึ้น เวลาดูมวยปล้ำ เราดูด้วยสายตาที่เปลี่ยนไปแล้ว เหลือแต่พวกเด็กๆ เท่านั้นที่ยังชอบดูกันอยู่ เพราะเขาอาจจะยังไม่รู้ว่ามันเตี๊ยมกัน การเมืองเราเป็นแบบนี้อยู่หรือเปล่า? คือเราในฐานะคนดู ก็เห็นๆ กันอยู่ว่ามันสู้กันฉิบหายอยู่ตรงหน้านี่แหละ แต่เบื้องหลังมันซูเอี๋ยกันไว้แล้ว จนสุดท้าย เมื่อเห็นอะไรมาเยอะๆ จะรู้ว่าไม่เห็นมีอะไรสำเร็จขึ้นมาสักเรื่อง พอฝ่ายนี้ชนะแล้ว เราดีใจเพราะเป็นกองเชียร์ฝ่ายนี้ แต่พอไปหลังเวทีอ้าว…มันเป็นเพื่อนกันนี่หว่า คุณงงเหมือนผมไหม ถ้าสังคมไทยเราผ่านการต่อสู้ที่ดุเดือดมามากมายขนาดนี้ ถ้าทั้งหมดมันเป็นเรื่องจริง ทำไมเรายังไม่ข้ามผ่านปัญหาต่างๆ ไปได้เสียที ถ้าเราสู้กันมาขนาดนี้ มันน่าจะนำไปสู่การพัฒนาอะไรมากมาย และมันน่าจะหาข้อสรุปร่วมกันได้ไปแล้ว สิ่งที่ผมคิดมาตลอดก็คือถ้าเราไปชอบเขา ไปเลื่อมใสเขา เราไปวาดการ์ตูนเชียร์เขา พูดง่ายๆ ก็คือเราไปเป็นพลทหารให้เขานี่แหละ แบบนี้ผมไม่ทำ ผมกลัวถูกหลอก เพราะถ้าสักวันหนึ่งได้รู้ขึ้นมา ว่ามันไม่จริงเลย


แต่ถึงแม้ผมจะไม่เชื่อนักการเมือง แต่ผมไม่เอาด้วยกับรัฐประหารไม่เอาเลย (เน้นเสียง) ไม่ว่าจะยังไง ทำออกมาดีหรือไม่ดี ผมไม่ชอบ ผมงงว่ามันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ทั้งที่ไม่มีใครต้องการให้เกิด แล้วตอนนี้ก็ยิ่งงงใหญ่ ว่า เอ๊ะ! ทุกอย่างมันก็เรียบร้อยดีนี่หว่า (หัวเราะ) คือตอนแรกเราก็คิดว่าจะมีการออกมาต่อต้านกันใหญ่โต อู้หู เยอะแน่ กูจะเอาหลังชนฝาสู้กับมัน

คุณจำได้ไหม? ช่วงก่อนหน้านั้น มันมีคำพูดประมาณนี้ออกมาเยอะจนถึงวันที่เกิดรัฐประหาร ผมก็คิดว่างานนี้ฉิบหายแน่ๆ ต้องสู้กันดุเดือดแน่ สถานการณ์จะหนักไปกว่าเดิมอีก ผมก็กลัวน่าดู ผมเองไม่ได้อยากให้เกิดการต่อสู้กันนะ ไม่อยากให้มีการนองเลือดอีก แต่ผมสงสัยว่าพวกคุณเคยพูดอะไรกันไว้วะ ตอนนั้นที่สู้ๆ กันน่ะ มันคืออะไร คุณพร้อมที่จะพลิกไปพลิกมา พลิกไป พลิกมา ผมคิดว่าคนที่มาส่วนหนึ่งก็จ้างวานมาจริง แต่ก็เชื่อว่าคนที่มาด้วยใจจริงๆ ด้วยความเชื่อของตัวเองจริงๆ กลุ่มนี้มีเยอะมากนะ เยอะในทั้งสองฝ่าย แต่พอสู้กันไปสู้กันมา ทำกันไปทำกันมา เขาบอกว่าเรียบร้อยแล้วครับ ทั้งๆ ที่คนเดินตามหลังยืนงงๆ ว่ามันเรียบร้อยตรงไหนวะ นี่แหละ มันเป็นหยั่งงี้ทุกครั้งครับท่านผู้นำ แล้วไง ถ้าคุณเจอเรื่องอะไรทำนองนี้บ่อยๆ อย่างที่ผมเห็นมาตลอด 40 ปี คุณคงรู้สึกเหมือนผม มันหลอกกันมาตลอด

GM: นั่นก็แปลว่าความสงบที่เราเห็นกันอยู่ตั้งแต่หลังรัฐประหารมานี้ ก็อาจจะไม่ใช่ของจริงเช่นกัน
อรุณ : ก็เป็นไปได้ แล้วก็กลับไปสู้กันเหมือนเดิมอีกไง ดังนั้นสิ่งที่ คสช. พยายามทำอยู่ตอนนี้ ก็คือการทำที่ทำแล้วไม่ให้มันย้อนกลับไปเป็นเหมือนเดิมอีก ผมเขียนการ์ตูนไว้รูปหนึ่ง เป็นภาพทหารก่อปราสาททรายไว้ที่ชายหาด ไม่ว่าจะปฏิวัติกันครั้งไหน สิ่งที่ทหารทำเตรียมไว้ ในที่สุดมันก็พังลง คลื่นซัดมาก็หายหมด เพราะมันเป็นปราสาททราย เขาทำสิ่งต่างๆ ไว้บนรากฐานที่เป็นทราย รีบๆ พอโดนคลื่นซัด มันก็พัง จนมาคราวนี้ เขาอาจจะเรียนรู้แล้ว เขาก่ออิฐ โบกปูนทับ โดยหวังว่ามันจะคงอยู่อย่างนั้นได้ ผมเองไม่อยากให้มันพังลงมาอีกหรอกนะ ไม่อยากให้เรากลับไปเป็นเหมือนเดิมอีก แล้วก็ต้องมีทหารอีกกลุ่มมาก่อกองทรายอีก คราวนี้ถ้าอยากจะตั้งอะไรก็ต้องตั้งให้อยู่นะ ไม่ใช่ตั้งแล้วพัง ตั้งแล้วพัง มันวนไปเรื่อยๆ ผมว่าเขากำลังก่ออิฐโบกปูน แต่ต้องไม่ลืมนะว่ามันอยู่บนหาดทรายที่มีคลื่นลม

GM: สถานการณ์ตอนนี้ คุณคิดว่าสามารถวาดการ์ตูนวิจารณ์ไปถึงระดับไหน คุณกลัวว่าจะโดนเรียกตัวไปพบเหมือนกับนักหนังสือพิมพ์คนอื่นๆ หรือเปล่า
อรุณ : ก็กลัวอยู่นะ ถ้าโดนเรียกไป คงสามารถอธิบายได้ ผมอธิบายได้ทุกอย่าง ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ตอนนี้ผมส่งให้บรรณาธิการพิจารณาก่อนทุกภาพ แล้วแต่ว่าเขาโอเคหรือเปล่า แรงเกินไปหรือเปล่า ผมไม่ใช่คนดื้อนะ ไม่ใช่ประเภทหัวรุนแรง ชอบทำตัวมีปัญหา และที่หยุดเขียนไป 7 วันก็เพราะแบบนี้แหละ คือไม่อยากทำตัวให้เป็นปัญหาของเพื่อนคนอื่น ถ้าผมเขียนไป เขาเกิดไม่เอา ผมก็ต้องกลับมาวาดใหม่ แบบนี้ก็แย่อีก จนถึงตอนนี้ เพื่อนๆ ที่หนังสือพิมพ์ก็โทรฯ มาแซว ว่าหยุดเขียนน่ะอันตรายกว่าเขียนต่อไปอีกนะ

“คุณอายุขนาดนี้คงเคยดูมวยปล้ำฝรั่ง ที่เขาเอามาฉายในทีวีสมัยก่อน จำได้ไหม ว่าตอนแรกๆ เราดูแล้วกลัวฉิบหาย หัวแตก เลือดนอง ทุ่มลงมาข้างล่างเวที แล้ววิ่งตามมาเอาเก้าอี้ฟาดๆ


โอ้โห!อะไรวะ? แต่พอเวลาผ่านไปสักพัก เราจึงค่อยๆ ได้รู้ความจริง ว่ามันโกหกทั้งนั้น มันเมกทั้งนั้น มันเตี๊ยมไว้แล้ว”

GM: ทำไมล่ะ
อรุณ : เอ็งประชดเขาอยู่เหรอ? (หัวเราะ) ผมก็ เฮ้ย! กูเองยังไม่ทันคิดตรงจุดนี้เลย เขาอาจจะคิดว่า โอ้โห! ไอ้นี่ต้องเป็นตัวหัวโจกแน่ๆ มันถึงหายตัวไป ซวยเลยผม เลยกลับมาเขียนดีกว่า

GM: ตอนนี้กลับมาเขียนการ์ตูนต่อ รู้สึกอย่างไร
อรุณ : ก็ยังรู้สึกกระป้อกระแป้นะ จนถึงวันนี้ ผมว่าผลงานออกมายังไม่ลงตัวเลย โชคดีการ์ตูนผมจะเขียนกว้างๆ ไม่เจาะตรงๆ ผมไม่เขียนจุดเล็กๆ ผมเขียนภาพกว้างๆ เช่น ผมไม่เขียนเด็กหญิงที่ตกเป็นเหยื่อคนเดียวผมเขียนถึงปัญหาในภาพรวมของการรถไฟไทย เปรียบเหมือนคนมาด่าคุณ ถ้าเขามายืนด่ากว้างๆ ด่าคนทั้งซอย คุณอาจจะไม่รู้สึกเดือดร้อนใช่ไหมแต่ถ้ามันมายืนด่าคุณ ที่หน้าบ้านคุณเลย นี่เดือดร้อนแน่ๆ อีกอย่างผมว่าคนเป็นสื่อมวลชนต้องมีเมตตา เราควรมีเมตตาต่อคนที่เราพาดพิงถึงเสมอ อันนี้คือสิ่งที่ผมได้เรียนรู้มาจาก ขรรค์ชัย บุนปาน เวลาวาดการ์ตูน ผมนึกถึงสิ่งนี้เสมอ นึกไปถึงลูกหลานของนักการเมืองที่ผมวาดการ์ตูนพวกเขา นึกถึงคนที่รักพวกเขา วาดให้พวกเขาเป็นหมูเป็นหมา หยาบช้า หน้าตาบูดเบี้ยว เขียนถ้อยคำด่าเขายับๆ เยินๆ ไม่รู้สิ ผมว่าต้องมีมารยาทบางอย่าง มันคือเมตตา ดังนั้น ถ้าคุณดูการ์ตูนผม ผมว่ามันไม่แรงหรอก คือประเด็นวิพากษ์-วิจารณ์น่ะแรง แต่ไม่ได้ใช้คำหยาบคาย หรือวาดคนให้เป็นตัวอะไรต่อมิอะไรแบบนั้น ผมไม่ทำ

GM: วิธีการอภิเชษฐ์การ์ตูนการเมือง คนอ่านควรเรียนรู้อะไรบ้าง
อรุณ : คอลัมน์การ์ตูนมีขนาดเท่านี้ (หยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมา เปรียบเทียบพื้นที่ให้ใหญ่กว่านั้นเล็กน้อย) แค่นี้เอง คุณลองคำนวณดูคร่าวๆ ว่าถ้ามันเป็นพื้นที่ของคอลัมนิสต์สักคน ที่เขาเขียนเป็นบทความตัวหนังสือ ถ้าให้คุณอ่านบทความชิ้นนี้ คุณว่าจะใช้เวลาเท่าไร

GM: สัก 3-4 นาทีได้
อรุณ : แล้วถ้ามันเป็นพื้นที่ของการ์ตูน ผมว่าคุณใช้เวลาอ่านมันแค่ 3-4 วินาทีเท่านั้น จริงไหม? แล้วคุณก็มาถามผม ว่าคุณไม่เข้าใจมัน ผมก็ต้องถามกลับว่า เอ้า! แค่ 3-4 วินาทีที่คุณกวาดตามองแบบผ่านๆ เองนะ คุณลองใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีกหน่อยได้ไหม อาจจะให้มันสัก 3-4 นาที ที่คุณใช้เวลากับการอ่านบทความบนพื้นที่ขนาดเท่ากัน ลองพิจารณาอย่างละเอียด
ทุกลายเส้น ทุกสีสัน ทุกตัวหนังสือในรายละเอียด คุณลองดูหน่อย คุณเข้าใจได้แน่ๆ เชื่อสิ และคุณก็ต้องติดตามข้อมูลข่าวสารอื่นๆ ไปพร้อมกันด้วยคุณก็ยิ่งเข้าใจได้มากยิ่งขึ้น ลงทุนหน่อยครับ ผมเองยังเป็นคนขายอาหารที่ล้างกระทะทุกวัน

GM: หมายความว่าอะไร ล้างกระทะทุกวัน
อรุณ : ก็ผมหยิบจับเรื่องราวสดใหม่ มาเขียนใหม่ทุกวัน ไม่มีแบบเอาเรื่องเก่ามาวนใช้ หรือของเดิมค้างในกระทะแล้วมาวนขายลูกค้า อย่างในหม้อต้มของผมก็ล้างแล้วคว่ำทุกวัน ไม่มีของค้างข้ามคืน ไม่ใช่ว่าผมขายกับข้าววันนี้แล้วเหลือ เออๆ เก็บไว้ต้มขายต่อวันพรุ่งนี้ ไม่ได้ อาหารร้านผมจึงเปลี่ยนรสชาติไปได้ทุกวัน วันนี้ผมอยากขายแกงเผ็ด ผมก็ทำแกงเผ็ดขาย วันนี้ผมอยากขายต้มจืด ก็ทำต้มจืดแต่ในชีวิตประจำวัน ผมเป็นคนตื่นสาย ชอบกินเบียร์ ชอบตีกอล์ฟถ้าเกิดโดนไปเก็บตัว คงอึดอัดมาก ผมชอบสบาย รู้ตัว เลยไม่ค่อยชอบเสี่ยง อีกอย่างสำนึกตัวเองอยู่ตลอดว่าไม่ใช่พระเอกนะ ไม่ใช่ตัวเดินเรื่องของเรื่องราวนี้ ถ้าเปรียบเป็นโรงลิเก เราก็แค่ตัวตลกเองนะ พวกตัวเอกก็รกันไปสิ ผมมันแค่ตัวตลก พอถึงฉาก ผมก็ออกมาแสดงตลกนิดหน่อยให้คนคลายเครียด ยิงมุกนิดหน่อย ให้คนดูสบายใจ พระเอกก็จีบนางเอกไป พระเอกก็รบกับผู้ร้ายไป ผมไม่ใช่พระเอก และไม่เคยคิดเลยนะว่าการ์ตูนการเมืองจะทำให้สังคมดีขึ้น ก็เหมือนกับตัวตลกลิเก เสริมๆ เขาไป ก็แค่นั้น การ์ตูนการเมืองคงไม่ยิ่งใหญ่มีกำลังขนาดนั้นมั้ง

GM: อาจจะเป็นไปได้ก็ได้ เพราะมีคำกล่าวว่าภาพเดียวแทนพันถ้อยคำ
อรุณ : ก็อาจจะเป็นไปได้ แต่เราก็คิดไว้แค่นั้นก่อนก็พอ ถ้าคิดว่าเรายิ่งใหญ่ เราสำคัญ โอ้โห! เหนื่อยนะ เหนื่อยมาก ถ้าเมื่อไรตัวตลกคิดว่าตัวเองเป็นพระเอก โรงลิเกนี้คงปั่นป่วน คุณคิดดูว่าถ้าน้ำจิ้มถ้วยใหญ่กว่าตัวไก่บนโต๊ะจีน แบบนี้ร้านเราพังแน่ๆ ผมคิดว่าแค่ให้คนกินโต๊ะจีนนี้กลับไป แล้วคุยกันว่าน้ำจิ้มร้านนี้อร่อยดีว่ะ แค่นั้นก็พอ หรือคนดูลิเกกลับไป แล้วคุยกันว่าลิเกโรงนี้ตลกสนุกดีนะ มันเป็นอะไรบางอย่างที่ต้องให้คนดูเขาตัดสินเอง ไม่ใช่เรื่องที่เราจะมาบอกเอง อ้างเองว่าเรายิ่งใหญ่ เก่งสุด สำคัญสุด

GM: ที่คุณบอกว่าตอนนี้พอทำงานได้ เพราะยังมีรูให้พอหายใจหายคอได้ แปลว่าการรัฐประหารครั้งนี้ก็ไม่ได้เลวร้ายนักใช่ไหม
อรุณ : ไม่ได้หมายความแบบนั้น แต่มันเหมือนคุณรักสิ่งหนึ่ง แล้วคุณรู้สึกผิดหวังกับมัน ผมรักประชาธิปไตยนะ ผมชอบรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง ระบอบการปกครองที่มั่นคง แต่ผมคิดว่าคงมีหลายคนเป็นแบบเดียวกับผม คือตอนจะด่า ด่านโยบายอะไรที่ไม่เข้าท่าเราก็คิดขึ้นมาว่า เอ๊ะ! ก็เขามาอย่างถูกต้อง หรือตอนจะชื่นชม ชมนโยบาย


ที่เห็นด้วย ก็คิดขึ้นมา เอ๊ะ! มีข่าวเข้าหูมาว่านโยบายนี้เปิดให้มันโกงนั่นนี่สารพัด พอเป็นแบบนี้ เราก็จะเจอคำถามว่า เอ้า!! ก็ปฏิวัติไปเลยดีไหมซึ่งพวกเราก็ไม่เอาอีก เพราะเราไม่ชอบอะไรที่มันไม่ถูกต้อง ไม่มาตามครรลอง ผมคิดว่าหลายคนรู้สึกอึดอัดแบบนี้ มันรู้สึกแบบ…เฮ้อ! (ทอดถอนหายใจ) ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาก็มีรัฐบาลสองแบบ คือรัฐบาประชาธิปไตยที่ทำงานได้ดี กับรัฐบาลประชาธิปไตยที่ทำงานได้ไม่ดี

GM: แต่เรายังไปไม่ถึงแบบนั้น
อรุณ : ใช่, เรายังไปไม่ถึง ก็เลยกลายเป็นว่า ถ้าคุณไม่เอารัฐบาลประชาธิปไตยที่ไม่ดี คุณก็ต้องยอมรับเผด็จการ แบบนี้ก็ทำใจลำบากเลยสิ จะรักทางนี้ก็ไม่ไหวเว้ย จะหันมารักทางนี้ก็ไม่ไหวเหมือนกันว่ะ ผมคิดว่าตอนนี้เรามาถึงจุดนี้กัน เพราะว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้มีผลประโยชน์ส่วนตัวกับทั้งสองทาง แต่ถ้าบางคนที่มีผลประโยชน์ส่วนตัวจากทางใดทางหนึ่ง แน่นอนว่าเขาก็จะยืนหยัดต่อสู้ในทางของตัวเองไป อย่างพวกนักการเมืองที่มีผลประโยชน์ใช่ไหม แต่อย่างผมเองไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัวใดๆ เลยไม่มีผลประโยชน์ถ้าเผด็จการมา ไม่มีผลประโยชน์ถ้าประชาธิปไตยมา ก็เลยกลายเป็นแบบนี้ ถ้าคุณตกอยู่ในสภาพแบบนี้ แล้วคุณอยู่บ้านเฉยๆ ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าคุณต้องทำงานเป็นสื่อมวลชน เป็นการ์ตูนนิสต์ที่ต้องแสดงทรรศนะทุกวันๆ เนี่ยะ…ก็จะเหมือนกับถูกบังคับให้เลือก ก็จะเป็นแบบนี้แหละ

GM: ฟังจากน้ำเสียงของคุณ ก็มีหลายจุดที่คุณไม่ชอบนักการเมือง
อรุณ : เอางี้นะ! ผมว่าคนส่วนมากอยากโกง… แต่ถามว่าทำไมเขาไม่โกง ไม่ทุจริต ผมเพิ่งกลับจากต่างจังหวัดมา ถามเพื่อนคนหนึ่งที่เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง รับงานมาจากราชการ ว่าทำไมเอ็งไม่โกง เขาตอบว่าเพราะกลัว ความหมายคือไม่ใช่ว่าเขาไม่อยากโกง เขาอยาก แต่เขากลัวจะถูกจับได้กลัวเสียชื่อเสียง ผมหันไปถามเพื่อนข้าราชการอีกคน ว่าทำไมเอ็งไม่โกงเขาตอบว่ากูโกงไม่เป็นว่ะ! (หัวเราะ) เพราะคนโกงนี่ต้องคิดลึกนะ ไม่ใช่แค่คิดตื้นๆ การโกงนี่ยาก ไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่ายๆ ทำกันได้ทุกคน ดังนั้น ผมว่าลึกๆ จริงๆ ถ้าโกงได้เราก็โกง เพราะเราเห็นๆ กันอยู่ว่าโกงมาได้ก็สบาย อยากรวย อยากสบาย แต่เรากลัว เราทำไม่เป็นกลับมาที่พวกนักการเมืองตามคำถามของคุณ ผมว่าเขาก็ไม่ต่างจากเราหรอก โอกาสต่างๆ เขามีไหม เขามีอำนาจ เขารู้วิธีโกง ข้าราชการคนหนึ่งทำงานมาตลอดชีวิต 30-40 ปี เงินเดือนสุดท้ายก่อนเกษียณเท่าไรก็รู้กันอยู่ แล้วลองไปดูชีวิตหลังเกษียณดูสิ คำนวณได้เลย ต่อให้ตลอดชีวิตการทำงานไม่ใช้เงินเลย ก็ยังไม่เท่าทรัพย์สินที่มีตอนนี้เลย คุณว่าไหม? คนแบบนี้มีเยอะไหม ผมเห็นหลายคน ทำไมมันรวยขนาดนี้ได้วะ

GM: บ้านคุณก็ใหญ่โต มีสระว่ายน้ำ มีสนามกว้างใหญ่ คุณร่ำรวยขนาดนี้ได้อย่างไร
อรุณ : ผมไม่ได้เขียนการ์ตูนอย่างเดียว ผมเคยทำงานอื่นๆ ร่วมกับการเขียนการ์ตูนมาหลายอย่างนะ เคยทำงานธนาคาร ทำงานกับบริษัทใหญ่ๆ หลายแห่ง แต่ส่วนใหญ่เป็นที่ปรึกษา ผมมีรายการทีวี มีบริษัททีวี อย่างตอนนี้รายการจดหมายเหตุกรุงศรี ผมก็ทำมานานเป็นสิบๆ ปีสวนยาง สวนมะพร้าว ทางบ้านผมก็พอมีนะ

GM: โอเคว่าคุณไม่ชอบรัฐประหาร คุณไม่ชอบนักการเมืองโกง และเท่าที่ทราบมา พวกพรรคประชาธิปัตย์ คุณก็ไม่ชอบด้วยเหมือนกัน ตกลงว่าคุณจะเอาอะไรกันแน่
อรุณ : ผมว่าพอพวกเรามาอยู่ในบ่วงของคำเรียกระบอบการปกครองอย่างที่เราบอกว่าถ้าเป็นแบบนี้คือประชาธิปไตย ถ้าเป็นแบบนี้คือเผด็จการ ดังนั้น พอเรามีรัฐบาลหนึ่งๆ ขึ้นมา เราก็จับเขามาใส่ไว้ในกระบอกของเรา หรือในคำเรียกที่ฝังหัวเรา มันจึงไม่มีอะไรที่อยู่ข้างๆ หรืออยู่ก้ำกึ่ง ครึ่งๆ กลางๆ ระหว่างคำเรียกนั้นเลย ผมว่าตอนนี้เรายังไม่ได้ไปทางไหนเลยไม่หัว ไม่หาง ตลอดเวลาที่ผ่านมา เราพยายามดึงให้ไปทางใดทางหนึ่งแต่ก็ยังไปไม่ถึงสักที มันอาจจะต้องมีอะไรสักอย่างที่ก้ำกึ่งแบบนี้


ผมคิดว่าในช่วงปลายๆ ของรัฐบาลที่แล้ว เราอยู่กันต่อไปแบบนั้นไม่ได้แล้ว มันต้องมาถึงทางเลือกว่าจะทำอะไรสักอย่าง จะเอาคุณสุเทพเทือกสุบรรณ หรือจะเอาทหาร แล้วในที่สุด มันก็ออกมาทางนี้ ผมว่าถ้าตอนนั้นสุเทพชนะ พอเขาเข้ามาได้ ก็ต้องทำอย่างที่ทหารทำตอนนี้เพราะมันต้องล้างบาง มันก็เหมือนๆ กันทั้งนั้น คุณเคยอ่านนิทานเรื่องลูกหมูสามตัวหรือเปล่า ถ้าคุณอยากจะอยู่รอดปลอดภัยต่อไปได้ คุณก็ต้องสร้างบ้านด้วยอิฐ เพราะถ้าสร้างด้วยกองฟาง หมาป่าจะกลับมาก็เป่าพังหมดบ้านที่สร้างด้วยอิฐแบบนี้น่ากลัวนะ ระบอบประชาธิปไตยจะกลับมายากแล้ว เพราะความกลัว ทำให้เขาสร้างบ้านด้วยอิฐ หนึ่ง, กว่าจะเสร็จก็ต้องใช้เวลานาน สอง, พอเสร็จแล้วก็จะอยู่กันไปได้อีกนาน สาม, คนอื่นมาใหม่จะปรับเปลี่ยนมันยาก ผมว่าทหารยุคนี้ฉลาดขึ้น เขามีบทเรียนเยอะจากคนรุ่นก่อน ถ้าเป็นผม ผมก็ทำแบบนี้ เป็นใครก็ต้องทำแบบนี้ คืออิฐ อิฐ อิฐ แล้วชาวบ้านอย่างเราก็จะอึดอัด อึดอัด อึดอัด

GM: อยู่ๆ ไป เราอาจจะคุ้นกับมัน
อรุณ : (หัวเราะ) ก็จะชินไปเอง เหมือนคนบ้านนอก เคยอยู่ท้องนาโล่งๆ พอย้ายบ้านมาอยู่บ้านตึก แรกๆ จะรู้สึกอึดอัด


GM: แต่บ้านตึกปลอดภัยดีนะ
อรุณ : คุณว่างั้นเหรอ!? แต่ถ้าเขาล็อกประตู คุณก็โดนขังไว้ หนีออกมาไม่ได้ ไม่เหมือนบ้านฟางบ้านไม้นะ แล้วนานๆ คุณจะชินกับมันไปเลยมันจะแน่น มันจะนาน พอปล่อยแล้วคุณจะไม่หลุดไปอีกเลย เที่ยวที่แล้วคงปล่อยเร็วไป มาเที่ยวนี้คุณสังเกตไหม คนที่ถูกเรียกไปรายงานตัวออกมาแล้วเรียบร้อยหมด

GM: เห็นมีหลายคนบอกว่าอาหารดี ที่อยู่ดี ทหารก็ดี
อรุณ : ผมกลัวมากตรงอันหลังสุดนี่แหละ ก่อนออกมาเขาคงถามน่ะ ที่นอนดีไหม ดีคร้าบ อาหารดีไหม ดีคร้าบ แล้วทหารล่ะ โอ้ว! ยิ่งดีเลยคร้าบถึงเวลาก็ปล่อยกลับ อยากกลับบ้านหรือยังครับ อยากกลับแล้วคร้าบ อ้าว! ทำไมไม่บอกตั้งแต่เมื่อวานล่ะครับ จะได้ปล่อยตั้งแต่เมื่อวาน (หัวเราะ) อันนี้เอาไปวาดเป็นมุกการ์ตูนได้นะ

GM: หรือว่าจริงๆ แล้ว คนเราชอบอยู่ภายใต้อำนาจมากกว่าที่ผ่านมาพวกเรามีเสรีมากเกินไป จึงมีแต่ความวุ่นวาย
อรุณ : ก็มีแวบหนึ่งที่ผมคิดเหมือนคุณ ผมเขียนการ์ตูนไว้ชิ้นหนึ่งเป็นภาพฝูงแกะ ซึ่งธรรมดาเขาจะใช้หมาต้อนแกะใช่ไหม แต่ผมวาดให้เป็นรถถังมาต้อนแกะ ต้อนเดินเข้าคอกไป ทุกคนเรียบร้อย สงบ ผมสงสัยว่าสังคมไทยเราแท้จริงแล้ว เราอาจจะต้องการแบบนี้ เราเป็นเหมือนลูกแกะที่บางทีก็เหมือนจะสู้ บางทีก็เหมือนจะยอม ซึ่งในที่สุด ก็แล้วแต่ว่าใครจะมาต้อนเราไปไหนก็ไป ผมเองเป็นคนที่ไม่ชอบทะเลาะกับใครเลยนะ เวลาไปคุยกับเพื่อนเสื้อเหลืองคุยไปหัวเราะกันไป เขาก็บอก อ้าว!…พี่อรุณนี่ก็เสื้อเหลืองเหมือนกันนี่นา บ้านผมอยู่สุราษฎร์ เหลืองทั้งจังหวัด พ่อแม่ผมเองนั่งดูทีวีช่องคุณสุเทพทั้งวัน ทั้งวันจริงๆ ครั้งล่าสุดที่กลับไปเยี่ยมบ้าน เขาก็ถามด้วยความเป็นห่วง ผมเขียนการ์ตูนแบบนี้จะเป็นอะไรไหม ที่ตลกมากพ่อแม่ผมเป็นห่วงผมทั้งๆ ที่แกไม่เคยดูการ์ตูนผมเลย ผมก็บอก โอ๊ย!ไม่มีอะไรหรอกน่าตราบใดที่เราไม่ได้ผลประโยชน์จากความเชื่อทางการเมืองของเรา เราก็อย่าไปเดือดเนื้อ-ร้อนใจกับการแสดงทรรศนะออกไป แต่ถ้าเมื่อไรเราได้ผลประโยชน์จากความเชื่อทางการเมือง นั่นแหละ เราจะเดือดร้อน พอเป็นแบบนี้แล้ว เรามีสิทธิที่จะเปลี่ยนแปลงความเชื่อได้ทันที ที่ได้รับรู้ข้อมูลอะไรใหม่ๆ ผมเป็นนั่น ผมเป็นนี่ มันง่ายที่จะเปลี่ยนความคิดเห็น

ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2516 มีบุคคลร่วมลงชื่อ 100 คน เพื่อเรียกร้องขอรัฐธรรมนูญ จากรัฐบาลเผด็จการของจอมพล ถนอม กิตติขจร ในรายชื่อ ประกอบด้วยบุคคลหลากหลายอาชีพ เช่น นักวิชาการ นักการเมือง นักคิด นักเขียน นิสิต นักศึกษา เป็นต้น จากนั้น บุคคลเหล่านี้ราว 20 คน นำโดย ธีรยุทธ บุญมี ได้เดินแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญตามสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ เช่น ประตูน้ำ สยามสแควร์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยอ้างถึงใจความในพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 7 ที่ส่งถึงรัฐบาลเกี่ยวกับสาเหตุที่ทรงสละราชสมบัติ แต่ทางตำรวจนครบาลจับได้เพียง 11 คน และจับทั้ง 11 คนนี้ขังไว้ที่โรงเรียนตำรวจนครบาลบางเขน และนำไปขังต่อที่เรือนจำกลางบางเขน พร้อมตั้งข้อหาร้ายแรงว่า เป็นคอมมิวนิสต์ / ข้อมูลจากวิกิพีเดีย

วิทยาสารปริทัศน์
วงวรรณกรรมเริ่มคึกคักขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ปี 2512 เมื่อผู้เขียนจบมหาวิทยาลัยตอนต้นปี 2512 ได้เข้าไปร่วมทำ ‘ชัยพฤกษ์ฉบับนักศึกษาประชาชนรายปักษ์’ ซึ่งมี อนุช อาภาภิรม เป็นบรรณาธิการ นิตยสารฉบับนี้เน้นการให้การศึกษาประชาชนในแขนงต่างๆ ได้รับความสำเร็จในด้านยอดขาย ขายได้ฉบับละหมื่นกว่าเล่ม ออกอยู่ได้ไม่ถึงปี ก็ถูกกระทรวงศึกษาธิการซึ่เป็นเจ้าของหัวหนังสือชัยพฤกษ์บีบ ทำให้ทางบริษัทเจ้าของผู้พิมพ์ผู้โฆษณาต้องยุติการทำ เปลี่ยนไปออก ‘วิทยาสารปริทัศน์’ แทน โดย สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ซึ่งออกจากสังคมศาสตร์ปริทัศน์มาเป็นบรรณาธิการ ..เสถียร จันทิมาธร, เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เคยไปทำงานอยู่ระยะหนึ่ง ชูเกียรติ อุทกะพันธ์ุ ก็มีส่วนปรับปรุงวิทยาสารอยู่มาก / ข้อมูลจากบทความ ‘วรรณกรรมช่วงก่อน 14 ตุลาคม’ โดย วิทยากร เชียงกูล

GM: แฟนการ์ตูนในมติชน จะยังคงติดตามการ์ตูนของคุณเหรอ ถ้าคุณไม่ได้มีจุดยืนทางการเมืองที่มั่นคง
อรุณ : ก็ผมเขียนถึงภาพรวม เขียนถึงหลักการที่ถูกต้อง ที่เราทะเลาะกันเยอะๆ เพราะเราไปจุกจิกกับตัวบุคคล การ์ตูนนิสต์ควรจะเขียนถึงหลักการกว้างๆ เอาหลักเข้าไปจับคน ไม่ใช่เอาคนมาจับหลัก ถ้าเมื่อไรเอาคนมาจับหลัก รับรองทะเลาะกัน ผมเองไม่สนใจคุณทักษิณผมก็รู้เรื่องราวของเขาเท่าที่คุณรู้นั่นแหละ นโยบายนั้นดี นโยบายนั้นเลว มีคดีอะไรบ้างคนอ่านผมก็คงจะเล่นผมยาก เพราะผมไม่ได้จี้ไปที่คุณทักษิณ ผมจี้ไปที่หลักการ

GM: เคยมีฟีดแบ็คแรงๆ จากคนอ่านบ้างไหม
อรุณ : ครั้งที่ผมเสียใจที่สุด ก็คือเรื่องจำนำข้าว ตอนที่คุณสุเทพพาม็อบชาวนาไปเรี่ยไรขอเงินบริจาค ผมไม่ได้ตั้งใจจะว่าชาวนาเลย แต่ผมดันไปเขียนเป็นรูปคนพาช้างมาเดินขอทานในเมือง แล้วมีชาวบ้านซื้อกล้วยให้กิน ผมมองในมุมที่ว่า คุณเอาช้างมาเป็นเครื่องมือหากินของคุณ เงินที่ได้มาก็ไม่พอสำหรับช้างหรอก แต่คุณทำให้เขากลายเป็นสัญลักษณ์ของความน่าสงสาร เพื่ออะไร ก็เพื่อตัวคุณเอง โอ้โห! คราวนั้นโดนด่าซะเละเลย เอาขึ้นเว็บแล้วเปิดให้คนมาคอมเมนต์ด่า มีคนด่าเป็นหมื่นคน หาว่าผมด่าชาวนา เปรียบชาวนาเป็นขอทาน ซึ่งจริงๆ แล้วผมตั้งใจจะว่าวิพากษ์วิจารณ์นักการเมือง ผมวาดการ์ตูนมาสี่สิบกว่าปี วิพากษ์วิจารณ์นักการเมืองมาตั้งแต่สมัย 14 ตุลาฯ ผมเสียใจมากที่โดนด่าในคราวเรื่องจำนำข้าว เพราะถูกโยงเข้าไปเกี่ยวกับชาวนา แต่ถ้าเป็นภาพที่ด่านักการเมืองนะ คนอ่านจะด่าผมแค่ไหน ผมก็ไม่เคยเสียใจ

GM: อยากให้เล่าถึงการวาดการ์ตูนการเมืองตั้งแต่สมัย 14 ตุลาฯ
อรุณ : ด้วยความที่ผมเองไม่คิดว่าตัวเองใหญ่โต หรือเป็นคนสำคัญอะไร ไม่เช่นนั้นก็คงหนีเข้าป่าไปเหมือนกับเพื่อนร่วมรุ่นตอนนั้น ตอนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ผมเป็น 1 ใน 100 คน ที่ลงชื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ซึ่งมันกลายเป็นเรื่องใหญ่มากเลยนะ แล้วหลังจากนั้น เพื่อนก็หนีเข้าป่ากัน เคยมีคนมาสะกิด เฮ้ย! อรุณ หนีได้แล้ว เมียผมกลัวจัด ก็รีบเอาหนังสือการเมืองไปโยนทิ้งหมด ตอนนั้นในบ้านมีเยอะ ความที่ผมทำปกหนังสือมากมายจึงมีหนังสือมากกะจะสะสมด้วย หนังสือน่ากลัวทุกเล่มเลยสมัยนั้น เพื่อนมันหนีเข้าป่าไป ผมก็งงๆ พวกมึงไปกันยังไงวะ? คือผมไม่ใช่พวกแนวหน้า และก็ไม่ได้มีเส้นสายอะไรจริงจัง ไม่รู้จักเลยสายไหนๆ แต่เพื่อนคนอื่นเขารู้ไง อย่างตอนนั้นผมทำงานที่สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช เป็นนิตยสารรายสัปดาห์ ชื่อว่า ‘วิทยาสาร’ มี อนุช อาภาภิรม เป็นบรรณาธิการ ในทีมก็มี คุณเสถียรจันทิมาธร คุณวิทยากร เชียงกูล และคุณเสกสรรค์ ประเสริฐกุล เห็นชื่อแต่ละคนแล้วน่ากลัวมั้ยล่ะ โดยมีผมเป็นฝ่ายศิลป์

GM: เพราะไม่ได้เป็นนักเขียน แต่เป็นฝ่ายศิลป์ใช่ไหม
อรุณ : (หัวเราะ) ก็มีส่วน จำได้ว่าทำงานกันอยู่แป๊บๆ อ้าว! เสกสรรค์ก็ขึ้นไปยืนปราศรัยเย้วๆ บนรถแล้ว ผมเองยังไม่รู้เรื่องอะไรด้วยเลย ส่วนหนึ่งก็เพราะความที่เป็นฝ่ายศิลป์อย่างที่คุณว่า คนอย่างผมเลยไม่ได้เป็นแม่ทัพเหมือนกับพวกนักเขียนเขา เราก็เป็นน้ำจิ้มแบบนี้มาตลอดชีวิต เหมือนเป็นพลทหารที่คอยสนับสนุนเขาอยู่ แต่คนอ่านหนังสือคงไม่รู้ ฝ่ายศิลป์นี่ต้องอ่านต้นฉบับทั้งหมด ทำปกทุกปก คือผู้อยู่เบื้องหลังนักเขียน เพราะแบบนี้เลยรู้สึกว่าพวกทหารยุคนั้นคงไม่มาอุ้มเราไปหรอกมั้ง เราแค่ฝ่ายศิลป์

GM: รู้สึกเสียดายวัยหนุ่มไหม ที่คุณอยู่แค่เบื้องหลัง ไม่ได้ออกไปโดดเด่นเหมือนเพื่อนร่วมรุ่น
อรุณ : ไม่เสียดายหรอก ผมขี้โรค ขี้กลัวด้วย ผมเป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากันมาตั้งแต่เด็กๆ ทำอะไรที่วุ่นๆ งงๆ มันจะเวียนหัว ต้องนอนพัก ออกไปสู้กับใครคงไม่ไหว

GM: ฝ่ายศิลป์เป็นทีมงานที่ได้เครดิตน้อยที่สุดมาตลอดใช่ไหม
อรุณ : โอว!… (อึ้งไปนาน) ที่คุณถามน่ะ ทำให้ผมนึกไปสมัยที่ผมหนุ่มๆ ตอนที่ทำงานให้กับสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ช่วงนั้นมีปฏิวัติไปแล้วผมตกงาน ก็ไปรับจ็อบทำพ็อกเก็ตบุ๊คให้ประพันธ์สาส์น เฮียชิวโทรศัพท์มาหา เฮ้! อรุณ เล่มต่อไปนะ คนเขียนคนนี้นะ ชื่อเรื่อง ‘ยิ้มด้วยปืน’ 15 ยกนะ พรุ่งนี้เอานะ (หัวเราะ) สมัยนั้นเราทำงานกันแบบนี้ แทบไม่ต้องอ่านเรื่องก่อน บางทีผมทำพ็อกเก็ตบุ๊ควันละ 5-6 เล่ม อ่านไม่ทันหรอก ก็ทำๆ ไป โดยไม่ได้คิดเรื่องเครดิตอะไรหรอก เมื่อเดดไลน์มันใกล้เข้ามา ก็ทำให้เราต้องลงมือทำให้เสร็จ และด้วยความที่เป็นนักเขียนการ์ตูนรายวัน ทำให้ผมเป็นคนไม่ซีเรียสนะ เพราะอย่างที่บอกแล้ว ว่าพรุ่งนี้เรามีสิทธิ์ที่จะแก้ตัวได้ทันที และเราก็รู้ว่าวันนี้มันอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์ พรุ่งนี้มันกลายเป็นถุงกล้วยแขก มะรืนนี้มันไปอยู่ในถังขยะ งานของผมไม่มีใครเอาไปใส่กรอบแขวนบนผนังหรอก ผมไม่ใช่พี่ช่วง มูลพินิจ ไม่ใช่พี่จักรพันธ์ุ โปษยกฤตดังนั้น อัตตาในรูปจึงน้อยเหลือเกิน ไม่เหมือนคุณเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์หรือพี่ถวัลย์ ดัชนี เขาวาดออกมาแต่ละรูป โอ้โห! มโหฬาร คนเขียนเสร็จแล้วคนกราบไหว้ อยู่ไปชั่วนาตาปี อยู่ต่อไปเป็นร้อยปี งานผมไม่ขนาดนั้น

GM: อิจฉาพวกเขาไหม
อรุณ : อิจฉาสิ แต่ผมทำแบบเขาไม่ได้ ก็ทำได้แค่นี้ ทำไม่ได้จริงๆ เคยมีเพื่อนมาถามว่าทำไมผมไม่เขียนรูปจิตรกรรมบ้าง ผมบอกว่าทำไม่ได้ ถ้าหากผมเขียนวันนี้ แล้วพรุ่งนี้ผมจะกลับมาเขียนต่อไม่ได้ เพราะผมจะหมกมุ่นอยู่กับว่า ผมจะต้องแก้ไขงานวันแรกอย่างไร คุณพอนึกออกไหม ผมเป็นคนจับจด ไม่สงบ ผมเคยเขียนรูปใหญ่ๆ วาดไปสักพักก็ไปนอน นอนตื่นขึ้นมา กลับมาดู เฮ้ย! อ้าว! ตรงนั้น ตรงนี้ ไม่ดี ไม่ดี เปลี่ยน เปลี่ยน

GM: แล้วตอนเรียนมหาวิทยาลัย คุณทำงานส่งอาจารย์ได้อย่างไร
อรุณ : ก็เลยเรียนไม่จบไง เพราะผมเพี้ยนแบบนี้ ทำไปสักพัก แก้แล้วแก้อีก ไม่จบไม่สิ้น ผมเรียนศิลปากรนาน 7 ปี ก็ยังไม่จบเลย ไม่ได้ดื้อนะแต่เพราะผมจับจด คิดมาก ไม่มั่นคง เวลาเขียนรูป ผมจะเขียนให้เสร็จๆแล้วก็ไปทำอย่างอื่นเลย ถึงบอกว่าผมเขียนการ์ตูนไว้ล่วงหน้าไม่ได้ และผมต้องล้างกระทะใหม่ทุกวัน เพราะไม่งั้นพอย้อนกลับมาดู ผมแก้อีกแล้วเคยมีคนมาถามว่าผมชอบการ์ตูนของตัวเองชิ้นไหนมากที่สุด ผมตอบว่าไม่ชอบการ์ตูนชิ้นไหนเลยที่เขียนมา…(นิ่งอึ้ง) เพราะผมย้อนกลับไปคิดถึงมัน แล้วผมจะแก้มันอีก ถ้าย้อนกลับไปได้ ผมจะไม่เขียนแบบนั้นผมจะเขียนแบบอื่น แต่การที่เป็นคนแบบนี้ ทำให้ผมรู้สึกว่าได้พัฒนาตัวเองขึ้นไปเรื่อยๆ นะ เพราะวันนี้ผมคิดอะไรได้ดีกว่าเมื่อวาน

ตั้งแต่เด็กนะ ก็ตั้งใจว่าจะเข้าเรียนเพาะช่าง ปีแรกมาสอบก็ไม่ติด เพราะผมไปเลือกสาขาวิจิตรศิลป์ ที่มีคู่แข่งเยอะ คะแนนสูงกว่า ผมว่างไปปีหนึ่ง แล้วก็ไปสอบใหม่ ได้เข้าเรียนในสาขาหัตถกรรม เขาก็สอนงานช่างสิบหมู่ ผมเรียนช่างทอ ย้อม แกะสลัก ลงรัก ปิดทอง เซรามิก เครื่องจักสาน ทำหัวโขน ผมทำเป็นหมด ได้อะไรมาเยอะ เดี๋ยวนี้เวลามองงานอะไรๆ ก็เข้าใจหมดว่ามันมาอย่างไร เวลาเห็นแหวน เห็นสร้อย เออๆ แบบนี้เราก็ทำเป็น

หลังจากนั้นก็ไปสอบศิลปากร ผมเรียนเพาะช่างแค่ 2 ปี คือเรียนไม่จบนะ เขาต้องเรียน 3 ปี สรุปคือชีวิตผมนี่เรียนไม่จบอะไรเลยสักอย่าง ตอนนั้นเข้าศิลปากรติดสาขาจิตรกรรม ถือว่าสุดยอดแล้วนะ รับแค่ 30 คน ผมติดหนึ่งในนั้นผมเป็นหัวหน้าคณะ เป็นประธานนักศึกษา เป็นนายกสโมสรอะไรต่อมิอะไร เพราะอะไรคุณรู้ไหม เพราะสมัยนั้นไม่มีตังค์เลย ต้องอาศัยตำแหน่งเหล่านี้ เพื่อจะได้นอนค้างที่มหา’ลัย (หัวเราะ) แต่ก็เรียนไม่จบ อย่างที่บอกนั่นแหละ ผมทำวิทยานิพนธ์ไม่ผ่าน ในสมัยนั้นนะ ถ้าคุณมีความตั้งใจจะทำงานเขียนการ์ตูน หรืออะไรที่เป็นพวกพาณิชยศิลป์ คุณไม่ควรไปเรียนศิลปากร สมัยนั้นเขาเหมือนเป็นพระวัดป่า เคร่งมาก ผมเหมือนพระแบบพุทธพาณิชย์มาเลย เข้าไปส่งงานอาจารย์ เขาบอกว่านี่มันการ์ตูน ไม่ใช่ไฟน์อาร์ต ก็จบ ผมเลยไม่จบ

นโมแห่งบ้านไม้ – อรุณ วัชระสวัสดิ์ สำนักพิมพ์ ดวงกมล ปี 2524 ได้รับคัดเลือกให้เป็นหนังสือดี 100 ชื่อเรื่องที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่าน โดยสำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ประกาศวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2543

GM: มันต่างกันอย่างไร
อรุณ : ก็เป็นคอมเมอร์เชียลอาร์ตไง เทียบไม่ได้กับไฟน์อาร์ต สมัยนั้นเคร่งมาก พวกเด็กไฟน์อาร์ตไม่ได้ออกมาทำปกหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คอย่างผมหรอก คุณไม่ได้เข้าเรียนเพื่อมาเขียนการ์ตูนรายวันแบบนี้ คุณต้องไปเป็นศิลปิน

GM: มันแยกออกเหรอว่าอันไหนคอมเมอร์เชียล อันไหนไฟน์อาร์ต
อรุณ : แยกออกสิ เหมือนคุณไปนั่งฟังพระเทศน์ ฟังไปสักพักคุณก็จะรู้แล้วว่านี่มาแนววัดป่า นี่มันลัทธิอื่น อีกอย่างผมเรียนไปทำงานไป เพราะพ่อผมไม่ค่อยมีตังค์ ก็ต้องดิ้นรนทำงานหารายได้ รับทำรูปประกอบ รูปการ์ตูนอะไรต่างๆ ก็เลยยิ่งกลายเป็นคอมเมอร์เชียลหนักขึ้นไปอีก เลยขี้เกียจเรียนทำงานสนุกกว่า

GM: มหาวิทยาลัยศิลปากรสร้างคนในยุคนั้นออกมาโดดเด่นหลายคน อย่าง ขรรค์ชัย บุนปาน สุวรรณี สุคนธา
อรุณ : เขาโดดเด่นก็จริง แต่ทุกคนที่คุณเอ่ยมาไม่มีใครโดดเด่นในสายที่เขาเรียนมา จริงมั้ย

GM: คุณอภิเชษฐ์งานวิจิตรศิลป์มากแค่ไหน เวลาไปเดินในมิวเซียมหรือแกลเลอรีต่างๆ
อรุณ : ผมเป็นคนดูรูปที่ฝีมือมากกว่าปัญญา ผม Appreciate กับรูปภาพที่ใช้ฝีมือในการวาด แต่ผมเข้าไม่ถึงภาพที่ต้องใช้ปัญญา คือพวกภาพที่แอ็บสแตรกต์มากๆ นี่ไม่เข้าใจ  เวลาดูภาพบางทีจะคิดอยู่ในใจ ผมไม่ปลื้ม ผมไม่อิ่มเวลาเสพ เดี๋ยวนี้ผมชอบดูรูปยุคเรเนซองส์ ภาพเขียนของฝรั่งยุคโบราณ มีเกลันเจโล แร็มบรันต์ ผมดูแล้วชอบ แต่ภาพสมัยใหม่ก็ดูได้ เพียงแค่ไม่ค่อยเข้าใจ
ผมจะบอกคุณอีกอย่าง ว่าความจริงแล้วผมตาบอดสี (หัวเราะ) ผมเล่นสนุกเกอร์ไม่ได้ ลูกแดง เขียว น้ำตาล สีในโทนนี้ผมเห็นแล้วจะงง สมัยก่อนเวลาเขียนรูปผมจึงใช้สีน้อยมาก แต่เดี๋ยวนี้เวลาทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ผมสบายเลย เพราะในโฟโตช็อปมันมีชื่อสีกำกับอยู่ เหลืองก็ Yellow แน่นอน ถ้าจะวาดการ์ตูนรูปทหารใส่ชุดเขียว ผมก็เลือกแถวๆ Green ธงของพนักงานรถไฟนี่ผมก็งง ถ้าเป็นแดงแจ๊ดๆ พื้นที่ใหญ่ๆ ผมจะดูโทนออกแล้ว ถ้าเล็กๆ มันจะตีกัน ผมแยกไม่ออก

GM: คุณรู้ได้อย่างไร ว่าชีวิตนี้อยากทำงานเป็นนักเขียนการ์ตูน
อรุณ : รู้ตั้งแต่หนุ่มๆ แล้ว ผมส่งการ์ตูนทางไปรษณีย์ไปที่สยามรัฐ ไปให้พี่สุจิตต์ วงษ์เทศ ไม่รู้จักเขา แค่เคยเห็นแวบๆ ในมหาวิทยาลัย ตอนนั้นเขาดังมาก เขาเรียนโบราณคดีตึกใกล้ๆ กัน เขาส่งจดหมายตอบกลับมาว่าให้ไปพบ สมัยนั้นยังไม่มีโทรศัพท์ใช้เลย ก็ไปเขียนให้เขาได้ 7 วัน พี่สุจิตต์พี่ขรรค์ชัย พี่เสถียร โดนไล่ออกยกทีม ผมไปทำงานอีกที เขาถามว่าน้องมาทำไม ผมบอกว่าส่งต้นฉบับ เขาบอกว่าไม่รับแล้ว เพราะทีมนั้นออกไปหมดแล้ว (หัวเราะ) อ้าวเฮ้ย!

พี่สุจิตต์ พี่ขรรค์ชัย พอออกมาก็ร่วมกันเปิดโรงพิมพ์พิฆเณศที่แพร่งสรรพศาสตร์ เขาก็นึกถึงผมขึ้นมา ก็เลยชวนผมไปทำงานเป็นฝ่ายศิลป์โรงพิมพ์ สมัยก่อนการเป็นฝ่ายศิลป์โรงพิมพ์ คือคุณต้องไปนอนที่โรงพิมพ์เลย คอยเฝ้าแท่น เพราะสมัยก่อนเทคโนโลยีการพิมพ์ยังไม่ใช่ออฟเซ็ท ยังต้องผสมสีกัน ผมทำงานกับพี่เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ ไม่มีใครรู้หรอกว่าผมตาบอดสี และผมก็ไม่บอกใคร ขืนบอกไปก็ตกงานสิ (หัวเราะ) ช่างแท่นก็ผสมสีมาให้ดู เท่านี้ได้ยัง เท่านี้ได้ยัง ผมก็บอก เข้มไปหน่อยครับ (หัวเราะ) วันดีคืนดี พี่เสถียรก็ไปอยู่ไทยวัฒนาพานิช ทำวิทยาสาร ทีนี้พอมาทำงานบริษัทใหญ่โต ผมก็เริ่มเสียคน ทำงานเพลิน ไม่อยากเรียนหนังสือแล้ว แค่ทำการบ้านส่ง เอาตัวรอดไปเทอมๆ จนเขามาเปิดหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ผมก็ย้ายมาเขียนการ์ตูนให้ที่นี่ ช่วงนี้ถือเป็นช่วงชีวิตที่สนุกมากนะ

อีกสักพัก คุณสุทธิชัย หยุ่น ก็มาเปิดหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ก็มาชวนผมไปเขียนการ์ตูนให้ ผมก็เลยทำงานให้สองขามาตั้งแต่นั้น ผมได้ความรู้เรื่องการเขียนการ์ตูนการเมืองมาจากคุณสุทธิชัย สมัยนั้นคนเขียนการ์ตูนยุคนั้นไม่มีโรงเรียน ไม่มีตำรา ไม่มีใครสอน ผมต้องซื้อบางกอกโพสต์ฉบับละหลายบาทต่อวัน เพื่อมาเปิดดูการ์ตูนฝรั่งอย่างเดียว อ่านไม่รู้เรื่องหรอก สมัยนั้นไม่มีอินเตอร์เน็ตที่เราจะเปิดดูได้ง่ายๆ หรือไม่งั้นก็ต้องรอดูการ์ตูนของคุณประยูร จรรยาวงษ์ แล้วก็วาดไปในแนวทางนั้นเหมือนกันหมด ใครๆ ในยุคนั้นก็วาดเหมือนคุณประยูรไปหมด คุณสุทธิชัยก็มาพูดกับผม เฮ้ย! อรุณ วาดแบบนี้ต่อไปไม่ได้หรอก แล้วเขาก็เอาการ์ตูนต่างประเทศแบบแผ่นโบรไมด์มาให้ผมดู แผ่นโบรไมด์พวกนี้ส่งขึ้นเครื่องบิน ข้ามน้ำข้ามทะเลมาเลยนะ พวกเอเยนซี่ขายการ์ตูนส่งมาให้หนังสือพิมพ์เลือกใหม่ทุกวันบางเรื่องคุณสุทธิชัยก็ซื้อมาลง บางเรื่องที่ไม่ซื้อ ก็เอาเศษที่เหลือมาให้ผมดูเฉยๆ ดูซะ อรุณ! พวกเมืองนอกเขาเขียนกันแบบนี้นะ

พอมติชนเกิดขึ้นมา แต่ผมไม่ได้เขียนการ์ตูนให้เขาตั้งแต่เริ่มต้น เพิ่งไปเขียนให้มติชนไม่กี่ปีมานี้เอง ไปเจอพี่ช้าง พี่ช้างก็ถามว่าลองมาเขียนดูไหม ผมกลับมาถามคุณสุทธิชัย คุณสุทธิชัยก็ถามว่าเอ็งจะแบ่งเรื่องกันยังไงวะไม่ให้เหมือนกันในแต่ละวัน ผมก็บอกว่าขอลองทำดูก่อนก็แล้วกัน ถ้าไม่ได้ก็ค่อยเลิก มันอาจจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อคนทำงานคนอื่นหรือเปล่าในวงการนี้มันก็มีคนอยู่แค่นี้เอง แต่สุดท้ายก็ทำได้ ก็ทำมาเรื่อย

อุปกรณ์ก็เป็นตัวทำให้เกิดสไตล์การ์ตูน สมัยคุณประยูร เขาต้องเขียนด้วยพู่กัน-หมึกดำ ลงบนกระดาษอาร์ตมัน เพราะยุคนั้นยังไม่มีปากการอตติ้งถ้าจะใช้ปากกา ก็คือคอแร้งจุ่มหมึกดำเท่านั้น ถ้าไม่เขียนลงกระดาษมันกล้องจะถ่ายไม่ติด ยุคนั้นเรามีแต่บล็อกตะกั่ว น่ากลัวมาก คุณร่างการ์ตูนมาเส้นเล็กๆ ยิบๆ กรดจะกัดหายหมดเลย มองไม่เห็นอะไรเลย จึงต้องวาดด้วยพู่กันเท่านั้นถึงจะเอาอยู่ ลายเส้นการ์ตูนของคุณประยูรและทุกคนในยุคนั้น ก็เลยเป็นแบบนั้น วอลต์ ดิสนีย์ ก็เหมือนกัน พวกเขาลงรายละเอียดไม่ได้ ถ้าต้องการรายละเอียด ต้องใช้เทคนิคอิทชิ่ง เหมือนกับภาพพิมพ์สมัยโบราณ แต่มันทำบล็อกได้แค่อันเดียว และมันช้ามาก จนกระทั่งมีรอตติ้งเข้ามาผมก็สามารถเขียนรายละเอียดเล็กๆ ได้ ต่อมาก็มีออฟเซ็ท ทำงานง่ายขึ้นมีรายละเอียดได้มากขึ้น

GM: เห็นนักวาดการ์ตูนสมัยนี้วาดด้วยเมาส์ปากกา
อรุณ : เมาส์ปากกาแบบนั้นผมวาดไม่เป็น มันให้ความรู้สึกแปลกๆ คือ เส้นของเราไปอยู่บนจอ แต่มือเราจับปากกาอยู่อีกที่หนึ่ง เขียนไม่ได้แบบนั้น แต่เด็กๆ สมัยนี้เขาใช้กัน และผลงานก็ออกมาดีด้วย ดีมาก ผมวาดลงบนกระดาษ ด้วยปากกาหมึกซึมสีดำ เพิ่งเปลี่ยนมาใช้ปากกายี่ห้อ Lamyเมื่อไม่นานนี้เอง หลงโง่อยู่นาน คือใช้คอแร้งและหมึกจิ้ม พอเปลี่ยนมาเป็นปากกาหมึกซึมก็ง่ายเลย แต่มันยังไม่ดีที่สุดนะ เพราะหมึกดำของมันยังไม่ดำพอ ไม่ดำลึกเหมือนหมึกอินเดียนอิงค์ที่ใช้กับปากกาคอแร้ง นั่นดำถึงใจจริงๆ แต่ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ พอเอาเข้าเครื่องสแกน เราปรับเส้นให้ดำขึ้นอีกได้ ผมชอบไปเดินร้านเครื่องเขียน ร้านสยามมาร์เก็ตติ้ง ผมเข้าประจำตั้งแต่สมัยที่ร้านอยู่ในสยามสแควร์ ผมคุ้นเคยมาก เพราะร้านอยู่ใกล้กับร้านดวงกมลของคุณสุข สูงสว่าง ลืมบอกไป ผมทำงานกับดวงกมลอยู่ช่วงหนึ่งนะ เริ่มเป็นฝ่ายศิลป์ให้กับ โลกหนังสือ ของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี และทำปกหนังสือตามสั่งของสำนักพิมพ์ และหนังสือเด็กมากมายตอนนั้นของผมก็ทำที่ดวงกมลนี่แหละ

GM: ในช่วงที่ผ่านมา สื่อเลือกข้างชัดเจน มติชนก็ข้างหนึ่ง เนชั่นก็ข้างหนึ่ง ไม่รู้ว่าคุณขรรค์ชัยกับคุณสุทธิชัยเขาทะเลาะกันอยู่หรือเปล่า และคุณทำงานให้กับทั้งสองข้างได้อย่างไร
อรุณ : คนเรานี่ถ้าได้มานั่งคุยกัน ได้เจอหน้าเจอตากัน เราไม่ทะเลาะกันหรอก ที่ทะเลาะกันนั่นก็เพราะไม่ได้เจอกันต่างหาก พอมาเจอกันความเป็นเพื่อนสำคัญกว่าความเป็นสี พวกนี้เขาไม่ทะเลาะกันหรอก เขาก็แค่ว่า เออๆ กูรู้ว่ามึงเป็นคนยังไง ทุกคนรู้ว่าเวลาเราทำงาน เราเขียนถึงอะไร เราไม่ได้เห็นด้วยกับสิ่งนั้นทั้งหมด เพียงแต่เรามีจุดยืนอยู่บนหลักการของฝ่ายใดมากกว่า แล้วเราก็ทำงานไปบนจุดยืนนั้นไป อย่างผมเองเชื่อว่าหลักการประชาธิปไตยย่อมดีกว่า พวกเผด็จการสำหรับผมก็ต้องเป็นอธรรมแน่นอน แล้วผมก็เขียนการ์ตูนไปตามนั้น

GM: คนอ่านเนชั่นก็ด่าคนอ่านมติชน คนอ่านมติชนก็ด่าคนอ่านเนชั่น
อรุณ : ก็การ์ตูนเรื่องชาวนาที่ผมโดนด่าเยอะๆ นั่นแหละ เพราะนักข่าวคนหนึ่งในเครือเนชั่นเอาไปโพสต์ในโซเชียลมีเดีย คือพวกผู้ใหญ่เขาก็ไม่ได้อะไรกันหรอก มีแต่พวกเด็กๆ อย่างเราที่มาทะเลาะกัน ผมก็ไปถามผู้ใหญ่คนหนึ่งในเนชั่น ว่าทำไมปล่อยให้เด็กของคุณมาทำแบบนี้กับผม เขาก็หัวเราะ บอกว่าไม่รู้ๆ อยากรู้ก็ไปถามมันเองสิ มันก็มีความคิดของมัน ผมก็เออๆ หัวเราะ ไม่ได้ว่าอะไร เราต่างคนต่างมีความคิด

GM: แล้วพวกเพื่อนเก่าของคุณในยุคตุลาฯ ที่บางคนก็ไม่ออกมาแสดงทรรศนะทางการเมืองอีกแล้ว บางคนก็เลือกยืนอยู่ข้างอนุรักษนิยม ดูเหมือนว่าแต่ละคนจะแยกไปคนละทิศละทาง
อรุณ : พูดตรงๆ นะ ผมเฉยๆ กับเพื่อนทุกคน ผมแค่คิดว่าพวกเขาเป็นคนมีความรู้เยอะ แต่ความคิดจริงๆ ในหัว อาจจะไม่ตรงกับความรู้คุณพอนึกภาพออกไหม เหมือนกับพระที่เทศน์เก่งๆ รู้ปาติโมกข์หมดอ่านพระไตรปิฎกหมด เอามาสอนพวกเราได้อย่างดี ผมนับถือท่านอย่างนั้น โดยที่ผมไม่สนใจหรอกว่าท่านแอบฉันข้าวเย็นหรือเปล่า สิ่งที่เขาเขียนนั้นเป็นทฤษฎี เป็นศาสตร์ เป็นวิชาที่เรียนกันมา แต่ความคิดจริงๆ เขาอาจจะไม่ตรงกัน เขาก็ต้องกด ข่ม ความคิดนั้นไว้ข้างใน

“ชีวิตคนเราก็เป็นเช่นนี้เอง มันเหมือนกับการยืนอยู่บนกระดานหก คุณก็ต้องเลี้ยงตัวเองไว้บนนั้น กดฝั่งนี้ก็ไปโผล่ฝั่งโน้น กดฝั่งโน้นก็มาโผล่ฝั่งนี้ อย่างตอนนี้ สมมุติว่าผมโคตรเห็นด้วยกับบางสิ่งที่เผด็จการทหารเข้ามาทำ แต่ผมก็เอามาเขียนถึงไม่ได้ จริงไหม”

สมมุติว่าลึกๆ ผมชอบเผด็จการฉิบหายเลยว่ะ แต่ผมเสือกวาดการ์ตูนต่อต้านเผด็จการมาตลอดชีวิต ผมหากินกับตรงนี้มานาน สร้างภาพพจน์ตรงนี้มานาน เพราะโดยหลักการแล้วมันถูกต้อง นั่นก็แปลว่าผมต้องกดความคิด ความรู้สึกชอบเผด็จการเอาไว้ให้ลึกที่สุด มันก็ขึ้นอยู่กับว่าผมจะกดได้ลึกแค่ไหน กดไว้ได้นานแค่ไหน บางทีกดตรงนี้ มันก็ไปโผล่อีกตรงหนึ่ง พอคนอ่านมาเห็นเข้า ก็มาติง อ้าว! ทำไมอรุณเปลี่ยนไปล่ะ ผมก็ต้องรีบวิ่งไปกดตรงนั้นกลับลงไปอีก ชีวิตคนเราก็เป็นเช่นนี้เอง มันเหมือนกับการยืนอยู่บนกระดานหก คุณก็ต้องเลี้ยงตัวเองไว้บนนั้น กดฝั่งนี้ก็ไปโผล่ฝั่งโน้นกดฝั่งโน้นก็มาโผล่ฝั่งนี้ อย่างตอนนี้ สมมุติว่าผมโคตรเห็นด้วยกับบางสิ่งที่เผด็จการทหารเข้ามาทำ แต่ผมก็เอามาเขียนถึงไม่ได้ จริงไหม

GM: แต่ด้วยความที่เป็นการ์ตูนนิสต์ คงจะเบากว่าพวกเพื่อนๆที่เป็นนักวิชาการ
อรุณ : ใช่, เบากว่าเยอะ พวกนักวิชาการนี่เขาต้องแบกหนักกว่า ภาระต้องแบก น่ากลัวนะชีวิตแบบนี้ เราจะเห็น เอ๊ะ! อาจารย์คนนี้ทำไมมันโผล่ความคิดแบบนี้ออกมาวะ มันเป็นสำนึกบางอย่างที่วูบขึ้นมา เพราะถูกกดไว้นาน คนเรามันไม่มีอะไรจริงแท้แน่นอนหรอก วันดีคืนดีได้ไปเห็นหลักฐานการทุจริตคอร์รัปชั่น อ้าว! ไอ้นี่มันเหี้ยนี่หว่า กูอุตส่าห์หลงเชียร์มันมาตั้งนาน แบบนี้กระดานหกก็กระดกแล้ว หรือบางคนมีผลประโยชน์อะไรเบื้องหลัง กระดานหกก็ยิ่งกระดกใหญ่

GM: สภาวะกระดานกระดกแบบนี้เกิดขึ้นกับคุณไหม
อรุณ : (นิ่งคิดอยู่นาน) ก็มีนะ เวลาเราไปใกล้ชิดกับนักการเมืองบางคนมากเกินไป รู้จักหรือสนิทกับเขาเป็นการส่วนตัว พอเขาเป็นใหญ่เป็นโต เราก็กระดกแล้ว ยิ่งพอเขาทำอะไรไม่ดี เราก็เขียนการ์ตูนถึงเขาได้ไม่แหลมคมอีกต่อไป ถ้าจะไม่เขียนเลยก็ไม่ได้ น่าเกลียด เพราะมันเป็นข่าวในกระแสแบบนี้ก็กระดกอีก จรรยาบรรณของสื่อก็คือจรรยาบรรณของการ์ตูนนิสต์ นอกเหนือจากนี้ แต่ละคนก็อาจจะยึดถือจรรยาบรรณส่วนตัว เช่น บางคนอาจจะเขียนด่าฝ่ายนี้ฝ่ายเดียวเลย หรือบางคนอาจจะยืนหยัดต่อสู้เพื่ออะไรบางอย่างตลอดมา

GM: อะไรคือจุดร่วมของการ์ตูนนิสต์การเมืองทั้งโลก
อรุณ : น่าจะเป็นอารมณ์ขัน แต่อาจจะไม่ใช่คำคำนี้เป๊ะๆ หรอกนะ เพราะคำว่า ‘อารมณ์ขัน’ นี่ผมเถียงกับเพื่อนบ่อยๆ คือเพื่อนบอกว่ามันคือความตลก ผมเถียงว่าไม่ใช่ตลก เพราะเรื่องบางเรื่องมันตลกไม่ได้ อย่างเด็กผู้หญิงถูกข่มขืนและฆ่าบนรถไฟ มันเขียนเป็นการ์ตูนตลกไม่ได้ มันคืออะไรบางอย่าง ที่ผมไม่รู้คำจำกัดความ มันเหมือนการเขียนกลอน คุณอ่านแล้วคุชอบมันมากเลย มันดีมาก มันมีอะไรบางอย่างที่คุณต้องมีอยู่ตลอดอาจจะเรียกว่าแซทไทร์หรือเปล่า ไม่แน่ใจ เสียดสีเหน็บแนม ?

GM: มีสูตรไหม
อรุณ : มีสูตรสิ สมัยก่อนจะเห็นชัด เช่น ติดเกาะ นึกอะไรไม่ออกก็ติดเกาะ เหมือนการ์ตูนตลกทั่วไป คุณเคยอ่านไหม หรือตกหน้าผา หรือโจรมุมตึก มันเป็นสูตรที่ใช้ได้ตลอดมา ถ้าเป็นการ์ตูนการเมืองก็มีสูตรเหมือนกัน เช่น โซ่ตรวนใหญ่ๆ ลูกตุ้มใหญ่ๆ หน้าผาก็มีใช้เยอะ อย่างภาพรถไฟไทยตกหน้าผา หรือบางทีก็เป็นนกพิราบ กรงนก

GM: คือถ้าวันไหนเราเห็นภาพพวกนี้ แปลว่าวันนั้นคุณคิดอะไรไม่ออก เลยใช้สูตรสำเร็จวาด
อรุณ : (หัวเราะ) ใช่ๆ หรือบางวันก็เป็นภาพคนตัวใหญ่นั่งทับคนตัวเล็ก มันก็คือการกดขี่ มันเป็นการสื่อสารสากลที่วาดแล้วทุกคนเข้าใจตรงกัน

GM: ถ้าจะสรุปว่า มันคือการขยายประเด็นให้ใหญ่โตเกินจริง เร้าอารมณ์ความรู้สึกให้พลุ่งพล่านเกินจริง ด้วยภาพสัญลักษณ์ใช่ไหม
อรุณ : ผมเข้าใจที่คุณถาม เราคงต้องย้อนกลับไปถึงประวัติศาสตร์สมัยก่อนพวกฝรั่งเขาใช้ภาพการ์ตูนในการโฆษณาชวนเชื่อนะ ใช้ทำใบปลิวในช่วงสงคราม ปลุกคนให้ฮึกเหิม รักชาติ ชาตินิยม หรือสมัยสงครามอินโดจีน ก็วาดการ์ตูนให้เราเป็นลูกแกะ มีฝรั่งเข้ามารุกราน มีญี่ปุ่นเข้ามารุกรานหรือย้อนไปตั้งแต่สมัยนาซีเลย การ์ตูนพวกนี้ถูกใช้ในการปลุกระดมประชาชน เพราะสมัยก่อน การเอารูปถ่ายมาทำเป็นบล็อกพิมพ์ใบปลิว มันยุ่งยากซับซ้อนกว่าการใช้รูปวาด การ์ตูนมันก็เลยเกินจริงตั้งแต่นั้นมา ภาพเกินจริงมันแรง มันปะทะ ดูพวกคอมมิวนิสต์จีนสมัยก่อน ก็เป็นรูปวาดทั้งนั้น สมัยจอมพล ป. เราก็รักชาติ รักชาติ ก็ใช้การ์ตูนเกินจริงทั้งนั้น พอเกิดหนังสือพิมพ์รายวัน การ์ตูนเกินจริงก็ตามเข้ามา เห็นปุ๊บมันต้องปะทะอารมณ์ การ์ตูนจะนิ่มๆ นิ่งๆ ไม่ได้ เราต้องทำให้อุณหภูมิสูงกว่าปกติ มันต่างจากตัวหนังสือ ในบทความหนึ่งๆ คุณต้องนั่งอ่านไปเรื่อยๆ จึงเกิดอารมณ์ แต่สำหรับการ์ตูน มันต้องสร้างอารมณ์ให้คุณก่อน คุณจึงจะมาเพ่งดูในรายละเอียด

GM: เท่ากับว่า คุณเป็นส่วนหนึ่งของอารมณ์ร้อนแรงทางการเมืองในเมืองไทย
อรุณ : ก็ต้องยอมรับ แต่ก็คงเป็นแค่ส่วนน้อยนิดส่วนหนึ่ง นักการเมืองคนนี้อาจจะไม่ใช่โสเภณีชั่วช้า นักการเมืองคนนี้อาจจะไม่ใช่ควายโง่เง่า อย่างที่พวกเราการ์ตูนนิสต์วาดกัน ผมคิดว่าจริงๆ การ์ตูนนิสต์ทุกคนอาจจะไม่ได้คิดแบบนั้นนะ แต่เขาต้องขยายมันขึ้นมาเพื่อสร้างอารมณ์ เหมือนการแสดงพื้นบ้าน อย่างลำตัดนี่ก็หยาบสุดๆ ทำไมต้องหยาบ เพราะมันเรียกคนได้มากกว่า ถ้าลำตัดสุภาพๆ ชาวบ้านไม่มาดู ต้องหยาบถึงจะมัน นั่งดูได้ทั้งคืน สิ่งเหล่านี้เราเคยชินกับการเสพ โดยที่เราก็รู้ว่ามันไม่ได้เลวร้ายถึงขนาดนั้น

GM: คุณมีความคิดเห็นอย่างไรกับการ์ตูนนิสต์เลือกข้าง ที่เขียนด่านักการเมืองฝ่ายตรงข้ามแรงๆ เปรียบเป็นโสเภณี เปรียบเป็นควาย
อรุณ : (ถอนหายใจ) ผมตั้งใจว่าจะไม่เขียนด่าแรงๆ แบบนั้นอยู่แล้ว แต่มานึกๆ ดูอีกที บางครั้งผมก็เริ่มงงกับตัวเอง เหมือนกับมันเกิดสงครามขึ้นมาแล้ว แต่คุณเอาแต่ส่องกล้องดู แล้วบอกชาวบ้านว่า เฮ้ยๆ เขารบกันแล้วนะ แค่นี้เอง เทียบกับเพื่อนๆ ของผม เขาตัดสินใจออกไปร่วมรบเลยเพื่อประเทศชาติในความคิดของเขา ผมไม่รู้หรอกว่าเขาทำถูกหรือผิดและผมก็ไม่รู้ว่าที่ผมทำถูกหรือผิด ผมไม่รู้หรอกว่าตัวเองถูกต้องกว่า รักชาติมากกว่า ผมว่าเราควรมีทางเลือกวิธีที่จะรักนะ ของใครของมัน

GM: เหมือนตอน 16-19 คุณไม่ได้เข้าป่า คุณรู้สึกไร้ค่าไหม
อรุณ : นั่นก็ด้วย แต่พวกเพื่อนๆ ที่เข้าป่าไป พอออกมาก็บอกผม ไอ้ฉิบหาย กูเข้าไปทำไมเนี่ยะ ไม่เห็นมีอะไรเลย บางคนนะบางคน อย่างผมเป็นคนสุราษฎร์ ทำไมผมไม่ไปช่วยคุณสุเทพล่ะ บ้านเราอยู่ใกล้กันแค่นี้ ทำไมต้องมาวาดการ์ตูนอยู่แบบนี้ อาจจะทำให้ครอบครัวเดือดร้อน และทำให้เพื่อนไม่ชอบขี้หน้าผมหรอก เมื่อเร็วๆ นี้ ผมไปนั่งกินข้าวที่เกาะแห่งหนึ่งใกล้บ้านที่สุราษฎร์ ซึ่งที่นั่นคนรู้จักผมน้อยมาก เพราะนานๆ ผมจะไปที ผมคนเดียวก้มหน้าก้มตากิน สักพักมีเสียงดุๆ มาจากทางข้างหลังว่า “ผมรู้นะว่าคุณคือใคร”

GM: หนาวเลยใช่มั้ย
อรุณ : (หัวเราะ) ยะเยือกเลยล่ะ แต่เขากระซิบต่อว่า “ผมชอบการ์ตูนคุณ หรอยอย่างแรง”

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ