สุทธิชัย หยุ่น
POLITICAL & MEDIA LANESCAPE
ส่องภูมิทัศสื่อสารและการเมืองไทย
ณ ห้องประชุมในตึกสูงเด่นบนถนนบางนา-ตราด ที่เมื่อก่อนคนมักจะเรียกกันติดปากว่า ตึกเนชั่น ผู้บริหารระดับสูง 4 คน เคลียร์ทุกคิวเพื่อมานั่งคุยกับ GM เกี่ยวกับภารกิจใหญ่ครั้งใหม่ คือ ทีวีดิจิตอลที่พวกเขาเพิ่งไปประมูลมาได้ 2 ช่อง ในสนนราคากว่า 3,500 ล้านบาท และกำลังจะเริ่มออกอากาศในอีกไม่กี่วันนี้แล้ว
นอกจาก สุทธิชัย หยุ่น ในฐานะหัวเรือใหญ่แล้ว อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ในฐานะกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ เนชั่น แชนแนล เทพชัย หย่อง ผู้หวนคืนรังหลังกลับมาจากไทยพีบีเอส เขาจะมาคุมช่องข่าวใหม่ และ ดวงกมล โชตะนา ผู้ดูแลกรุงเทพธุรกิจทีวี และจะมาคุมช่องสาระบันเทิงใหม่
แน่นอนว่าไม่มีใครกล้าปฏิเสธความเป็นเบอร์หนึ่งในสายข่าวของเครือเนชั่น ที่พวกเขาแสดงให้เห็นมาตลอดว่านำหน้าคนอื่น ในการนำคอนเทนต์เดินทางข้ามสื่อ GM คอยจับตาดูเขาเสมอ เมื่อมีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นในวงการ ไม่ว่าจะเป็นมัลติมีเดีย เว็บไซต์ บล็อก ยูทูบ โซเชียลมีเดีย ฯลฯ
และอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นแพสชั่นของพวกเขา ที่เราได้เห็นมาตลอดสองทศวรรษ คือการดิ้นรนมาทำรายการทีวี มีที่สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง ช่องแล้วช่องเล่า รายการแล้วรายการเล่แพลตฟอร์มแล้วแพลตฟอร์มเล่า เรื่องราวความขัดแย้งทางผลประโยชน์และทางการเมืองมากมาย บันทึกเป็นตำนานแห่งการดิ้นรนของสื่อหนังสือพิมพ์ที่เก่าแก่กว่า 4 ทศวรรษ
การกระโดดมาทำทีวี 2 ช่องใหม่เอี่ยม บนแพลตฟอร์มใหม่เอี่ยม จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตาว่าพวกเขาจะสร้างตำนานอะไรอีก แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้น ท่ามกลางกระแสความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน เนชั่นเองก็ถูกครหามากมายในการทำหน้าที่สื่อ ความน่าเชื่อถือของเขาสั่นคลอนหรือไม่ ผลกำไรที่นักลงทุนเฝ้ารอคอยจะได้ตามเป้าหรือเปล่า อุดมการณ์ของนักข่าวยังอยู่กันครบหรือเปล่า
พวกเขาตอบตัวเองอย่างไร?
การแบกสัมภาระไว้มากมายบนบ่า ทั้งชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือนานกว่า 4 ทศวรรษ ผนวกกับภาระเงินลงทุนระดับสามพันกว่าล้าน แถมไว้ด้วยชีวิตของลูกน้องอีกหลายร้อย รวมๆ แล้วมันหนักหนาสาหัสแค่ไหน
สุทธิชัย หยุ่น และทีมผู้บริหารของเขาอีก 3 คน กำลังถูกท้าทาย และ GM ถามประเด็นเหล่านี้ไว้อย่างไม่มีตกหล่น
IN
GM: คุณประมูลทีวีดิจิตอลมาได้สองช่อง ในราคารวม 3,000 กว่าล้าน คุณและคนในเนชั่นคงต้องมีความพร้อมมากเลยสำหรับงานนี้
สุทธิชัย : ถ้าคุณยังจำได้ ตอนที่เราคุยกันครั้งก่อน ผมเคยเล่าถึงเรื่องที่ว่าให้ทุกคนในเนชั่นฝึกทำวิดีโอ จะเขียนบล็อก เขียนข่าว หรือทำอะไรก็แล้วแต่ เขาต้องถ่ายคลิปวิดีโออยู่แล้ว เพราะเราทุกคนรู้ว่าวันหนึ่งเราจะต้องทำฟรีทีวี เราจึงฝึกให้ทุกคนถ่ายทำ ว่าถ้าจะเล่าข่าวด้วยภาพและเสียง เราจะเล่ามันอย่างไร แล้วก็ส่งงานขึ้นไปในโซเชียลมีเดีย หรือไปออกในยูทูบ บางส่วนก็ตัดต่อแล้วออกอากาศในทีวีของเรา ที่เราเองก็ทำทีวีมาแล้วด้วย เราเตรียมบุคลากรแบบนี้มาตลอด 4-5 ปี พอเราประมูลได้ทีวีดิจิตอลมา ผมถึงประกาศว่าเราพร้อมที่สุดใประเทศไทย อันนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่องด้านข่าว เพราะเราเตรียมคนมาตลอด คุณเทพชัยก็มีประสบการณ์การทำงานทีวี ตั้งแต่ยุคที่เราทำช่องยูบีซี 8 สมัยนั้นคุณอดิศักดิ์ก็ช่วยทำมาด้วยกัน จนถึงสมัยที่เราไปเริ่มทำช่องไอทีวี คุณเทพชัยก็นำคนไปทำ หลังจากนั้นก็ไปอยู่ไทยพีบีเอส ทีมงานเรามีประสบการณ์กันมา ช่องกรุงเทพ-ธุรกิจทีวีเราก็ทำมานานปีกว่าแล้ว คืองานที่คุณดวงกมลดูอยู่ ได้ฝึกทำทีวีด้านข่าวเศรษฐกิจ ด้านเนื้อหาที่เกี่ยวกับคนรุ่นใหม่ เราถึงกล้าบอกว่าพร้อม การลงทุนเรื่องคน ด้านเครื่องมือ เราเริ่มมาก่อนหลายปีแล้ว เหมือนกับนักกีฬาได้ซ้อมวิ่งมาตลอด พอได้โอกาสก็วิ่งเต็มที่
อดิศักดิ์ : ก็มีคนบ่นเรื่องบุคลากรในวงการทีวี วงการสื่อมวลชน ว่าจะขาดแคลนครั้งใหญ่ เพราะบางช่องไม่ยอมสร้างคนเอง แต่พวกเราสร้างเอง ให้คนใหม่ๆ ได้ฝึกทำทีวี แต่ภขาดแคลนคนจะเกิดทันที จากการที่มีช่องเพิ่มมากขึ้น พวกช่องที่ทำธุรกิจอยู่เดิม จริงๆ แล้วเขาต้องสร้างคนขึ้นมาเองนะ แต่พวกรายที่มาใหม่ ผมว่าเขาจะซื้อคนอย่างเดียว แบบนี้ในเชิงธุรกิจไม่ใช่เรื่องดี ทำให้ตลาดปั่นป่วน ทุกคนจะมีต้นทุนด้านบุคลากรสูงเกินไป
GM: แล้วช่วงนี้เนชั่นสมองไหลออกไปเยอะไหม
เทพชัย : ไม่เยอะ กลางๆ ถือเป็นเรื่องปกติมากที่มีคนเข้าคนออก คนที่ออกไปก็ไม่มีผลกระทบมากนักสำหรับเรา ผมคิดว่าเนชั่นเป็นสถาบัน สิ่งที่สำคัญคือหลักการ หัวใจของการทำสื่อ สิ่งนี้ยังอยู่กับเนชั่น จริงๆ มันไม่แปลกเลยที่คนเนชั่นออกไป มันแสดงว่าเนชั่นต้องมีอะไรดีงั้นสิ จริงไหม? คนอื่นถึงมาดึงคนจากเนชั่นไป แต่ที่ดึงไปไม่ได้คือหัวใจของเรา หลักการทำงานต่างหากล่ะ สิ่งนี้จะยังอยู่กับเราตลอดไป
GM: วิธีคิดแบบสื่อสิ่งพิมพ์ แตกต่างจากวิธีคิดของสื่อทีวีไหม มันใช้ศิลปะแตกต่างกันในการนำเสนอเนื้อหาหรือเปล่า
อดิศักดิ์ : ผมว่าเรื่องนี้ ถ้าเป็นมุมมองของคนดูรายการทีวี คงไม่ไปรู้สึกอะไรเท่าไร เพราะคราวนี้ที่ประมูลกันมันมี 24 ช่อง เป็นช่องข่าวแค่ 7 ช่องเองนะ ที่เหลือเป็นวาไรตี้ ซึ่งคนในวงการทีวีแต่เดิมได้เอาไปทำ ส่วนเจ้าที่เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่ประมูลมาได้คราวนี้ จะว่าไปก็มีไม่กี่เจ้าเอง มีแค่เรา ไทยรัฐ เดลินิวส์ อมรินทร์ฯ
เทพชัย : จะว่าไปมันก็มีความท้าทายอยู่บ้าง แน่นอนว่าทีวีกับหนังสือพิมพ์ มีรูปแบบการเข้าถึงต่างกัน การมีพื้นฐานเป็นสิ่งพิมพ์มาก่อนเป็นเรื่องที่ดี เพราะธรรมชาติของสิ่งพิมพ์คือต้องการความลึก ต้องการรายละเอียดเยอะ ความท้าทายคือการแปลงความลึกเหล่านี้ออกมานำเสนอในทีวีให้ได้ เพราะเวลาในการนำเสนอแต่ละข่าวจำกัดมาก แค่ 1-2 นาที เนชั่น
นำหน้าคนอื่นไปเยอะ เพราะทำหนังสือพิมพ์มาก่อน แล้วมาทำทีวีก่อนเจ้าอื่น ทำโซเชียลมีเดียจริงจัง ได้เปรียบเพราะรู้วิธีการแปลงเนื้อหาจากสิ่งพิมพ์ไปเป็นสื่ออื่นๆ มาเป็นทีวี ให้น่าดู น่าสนใจ
ไอทีวี
กลุ่มสยามอินโฟเทนเมนท์ผู้ชนะการประมูล ดึงเครือเนชั่น คู่แข่งที่เข้าร่วมประมูลแต่ไม่ได้รับเลือก เข้าร่วมทุนด้วย หลังจากที่ผู้ร่วมทุนที่เป็นสื่อบางรายถอนตัวออกไป เริ่มออกอากาศอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 โดยวางนโยบายให้เป็นสถานีโทรทัศน์ที่ให้ความสำคัญกับรายการข่าว และสถานการณ์ปัจจุบัน ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2543 ได้ดึงกลุ่มชินคอร์ปเข้ามาถือหุ้นไอทีวีด้วยวงเงิน 1,600 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 39% จนกลายเป็นจุดกำเนิดของเหตุการณ์กบฏไอทีวี เมื่อมีข้อกล่าวหาว่าชินคอร์ปแทรกแซงฝ่ายผู้บริหาร ในการทำข่าวการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2544
Nation Channel
สถานีโทรทัศน์ซึ่งนำเสนอข่าวและรายการเชิงข่าวเป็นหลักแห่งแรกของประเทศไทย ออกอากาศครั้งแรกวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2543 ทางยูบีซี ช่อง 8 โดยมี อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ เป็นบรรณาธิการเนชั่นทีวี ต่อมาวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2546 ได้ย้ายการออกอากาศจากยูบีซี 8 โดยให้เหตุผลว่า มีอำนาจรัฐเข้าแทรกแซง ปัจจุบัน ได้ทำการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมไทยคม 5 ในระบบ C-Band และ Ku-Band
GM: ทริกอยู่ตรงไหน
เทพชัย : ทั้งหนังสือพิมพ์ ทั้งทีวี ก็คือการเล่าเรื่องนั่นแหละ แต่รูปแบบต่างกันหน่อย หนังสือพิมพ์ต้องมีรายละเอียด แต่ทีวีเป็นเรื่องของอิมเพรสชั่นมากกว่า สิ่งที่ปรากฏอยู่บนจอ สิ่งที่เราทำให้คนดูรู้สึกกับมัน รายละเอียดจึงไม่สำคัญเท่ากับการจับประเด็นเป็นเนื้อหาหลักของเรื่อง เหมือนพวกพ็อคเก็ตบุ๊คดังๆ เล่มหนึ่งหนา 700-800 หน้า พอเขาเอาไปสร้างเป็นหนัง มันเหลือแค่ชั่วโมงครึ่ง ความท้าทายก็อยู่ที่ว่าผู้กำกับจะสามารถดึงหัวใจของเรื่องมานำเสนอเป็นภาพได้อย่างไร จะเข้าถึงความเป็นจริงของเนื้อหามากแค่ไหน ความสำคัญอยู่ที่ดูแล้วต้อง
เพลินๆ ด้วย ต้องอินกับมัน ทริกคงอยู่ตรงนี้แหละ เหมือนกับหนัง ที่ต้องมีผู้กำกับดี มีดาราดี เล่าเรื่องให้สนุก
สุทธิชัย : สมัยช่วงที่พวกเราไปทำไอทีวี ตอนนั้นเราคือช่องข่าวช่องแรกที่ทุกคนต้องดูเลย เพราะเราแปลกใหม่กว่า เหนือกว่า สาเหตุเพราะเราเอาคนทำหนังสือพิมพ์ไปทำ เรามีข้อมูล มีประสบการณ์ มีแนววิเคราะห์ข่าว พอได้ขึ้นไปบนจอทีวี เราก็สามารถเสนอได้แบบคนข่าวตัวจริง ไอทีวีจึงกลายเป็นสถานีข่าวที่คนต้องดู สมัยนั้นถ้าจำกันได้ พวกช่อง 3 5 7 9 ยังเป็นข่าวแข็งๆ เป็นข่าวที่เหมือนพวกคนฝึกทำทีวีมาอย่างเดียว ไม่มีประสบการณ์แบบอื่น เช่น การสัมภาษณ์คน การไปทำข่าวที่เกิดเหตุ การเขียนบทวิเคราะห์ เขียนคอลัมน์ แบบนี้ยังไม่เคย
ผมว่าพวกคนทำหนังสือพิมพ์อย่างเรา แค่ไปฝึกฝนการขึ้นหน้าจอ พูดให้เป็นจังหวะจะโคน เราจะได้เปรียบกว่าทันที ตรงที่มีฐานข้อมูลและความลึก เลยกลายเป็นสิ่งที่คนเห็นว่า ข่าวทีวีเป็นอีกรูปแบบหนึ่งได้ ผมว่าการฝึกคนทำหนังสือพิมพ์ ให้ทำทีวีได้นี่เป็นเรื่องสุดยอดเลยนะ มีหลายแห่งฝึกคนทำหนังสือพิมพ์ให้ทำทีวี แต่เขาทำไม่สำเร็จ เพราะว่าคนหนังสือพิมพ์ไม่ยอมฝึก แต่เราเป็นค่ายเดียวที่ทำสำเร็จ ตอนใหม่ๆ ก็มีต่อต้านนะ เราก็เกลี้ยกล่อม อธิบายว่ามันดีอย่างไรสำหรับเขา 70-80% ก็ยอม จะเหลือก็แค่ 10-20% ที่ยังไม่ยอม แต่พอมาถึงจุดนี้ ที่ธุรกิจสิ่งพิมพ์เริ่มนิ่งแล้ว อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์มีปัญหาแล้ว เขาก็ต้องรู้ตัวแล้วว่ามันจำเป็นจริงๆ ช่วงนี้เราจึงสามารถโน้มน้าวคนทำสิ่งพิมพ์มาทำทีวีได้ง่ายขึ้น
เทพชัย : มี 2 ประเด็นในเรื่องการเปลี่ยนถ่ายคนทำสิ่งพิมพ์ให้มาทำทีวี ประเด็นแรกสำคัญมากเลย หัวหน้าใหญ่สุดต้องทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ของเราก็มีคุณสุทธิชัย และพวกคนเป็นบรรณาธิการข่าว ลงมาเล่นเอง จากหนังสือพิมพ์ เขาก็ลงมาเล่นโซเชียลมีเดียด้วย ประเด็นที่สอง เราเชื่อมั่นว่านักข่าวของเรา ยิ่งซีเนียร์มากเท่าไหร่ จะมีความผูกพันกับวิชาชีพสื่อ มีความเป็นสื่อเยอะมาก คนระดับซีเนียร์พวกนี้ จะรู้แล้วว่าการเป็นสื่อไม่ใช่แค่เขียนข่าวอย่างเดียว เขารู้แล้วว่าทีวีมีผลกระทบต่อสังคมสูงกว่า แน่นอนว่ามีคนอ่านงานเขียนของเขา แต่ขอถามว่า เขาเขียนบทความชิ้นหนึ่ง มีคนอ่านสักประมาณ 5 หมื่นเองนะ แต่พอมาทำทีวีแบบช่องฟรีทีวีแบบนี้ เขาจะมีคนดู 5 ล้านคน แบบนี้เขาก็ต้องรู้แล้วว่างานอย่างไหนจะมีคุณค่า มีผลกระทบมากกว่ากัน ผมคิดว่าช่องทางการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ ช่องทางทีวีมีอิมแพ็คต์สูงกว่า นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้กว้างกว่า หลายคนจึงกระโดดมาทำทีวีโดยไม่ต้องคิดเลย
GM: ยอดจำหน่ายสิ่งพิมพ์ลดลงขนาดนั้นเลยเหรอ พวกคุณขู่หรือเปล่า
สุทธิชัย : (หัวเราะ) ไม่ได้ขู่ เดี๋ยวให้คุณดวงกมลอธิบายดีกว่า ดวงกมล : สิ่งพิมพ์ตอนนี้ส่วนใหญ่ยอดขายลดลง เพราะมีสิ่งอื่นมาทดแทนเยอะ คนมีทางเลือกมากขึ้น และมันก็เป็นเพราะบางจังหวะของสภาพเศรษฐกิจด้วย ที่ผ่านมารายได้จากโฆษณายังเติบโตบ้าง แต่ในอัตราที่ลดลงแล้ว
GM: แต่จากรายงานประจำปี ระบุปีที่แล้วเนชั่นยังคงมีกำไรสุทธิ 200 กว่าล้านบาท
ดวงกมล : กำไรนั่นส่วนหนึ่งมาจากการลดค่าใช้จ่ายภายในเครือตลอดปี
ที่ผ่านมา ต้นทุนหลักของเนชั่นคือต้นทุนกระดาษ การพิมพ์ ดังนั้น เราจึงดูแลเรื่องการรับคืน รีเทิร์นต่างๆ ให้เข้มงวดมากขึ้น ถ้าคุณทำโรงพิมพ์ ทำหนังสือพิมพ์ จะรู้ว่าจุดนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เงินไหลออกไม่หยุด เพราะขายได้เท่าไร คุณก็ต้องจ่ายค่ารีเทิร์น คาดเดาไม่ได้ด้วยว่าหนังสือพิมพ์จะคืนกลับมาเท่าไร ดังนั้นต้องบริหารจัดการให้รัดกุม ค่าใช้จ่ายอื่นๆ อย่างเช่นค่าขนส่ง เราปรับเปลี่ยนวิธีการหลายอย่าง เช่น รถเติมน้ำมันก็หันไปเติมแก๊ส ในโปรดักชั่นไลน์ก็ควบคุมการสูญเสียต่างๆ อะไรที่ใช้จ่ายแล้วไม่คุ้ม ก็ต้องมารีวิวกันใหม่หมด บางทีลืมว่า
ทำไปด้วยเหตุผลอะไร กลับมาดูค่าใช้จ่ายบางอัน ไม่คุ้มก็ตัด ช่วงปีที่ผ่านมา เราต้องลงไปดูทุกไอเท็ม ทุกอย่างที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่าย การบริหารค่าใช้จ่ายเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนเรื่องธุรกิจใหม่ของเรา ทุกคนยอมรับว่าการลงทุนต้องใช้เงิน ถ้าจำเป็นก็ต้องลงทุน แต่เราลงทุนแบบเข้มงวดทุกไอเท็มเช่นกัน โดยการลดต้นทุนทั้งหมด เราพยายามไม่กระทบกับคน ปีที่แล้วกันงบไว้ในส่วนโบนัสพนักงาน เพราะเป็นส่วนสำคัญสำหรับสร้างขวัญและกำลังใจของพนักงาน
สุทธิชัย : เราใส่ไว้ก่อนเลยนะ ไม่ได้มาใส่ทีหลัง เราให้ปีละ 13 เดือนโดยเฉลี่ยอยู่แล้ว เราทำต่อเนื่องมา บอกทุกคนว่าถ้าปีนี้ได้ดีอีก ทุกคนก็จะได้ ในแง่ที่ต้องประหยัด ก็ประหยัดกันเต็มที่ แต่สวัสดิการก็ให้เต็มที่เช่นกัน นอกจากโบนัส ปีที่ผ่านมาก็ให้เป็นวอร์แรนท์กับพนักงาน พอเอ็กเซอร์ไซส์จากวอร์แรนท์เป็นหุ้นได้ในราคาบาทหนึ่ง เราเป็นสื่อเดียวที่ทำ ถ้าทำได้ เราจะทำตลอด เพราะผมคิดว่าคนทำข่าวต้องไม่กัดก้อนเกลือกิน ให้เห็นว่าเราทำงานร่วมกันเพื่อสร้างองค์กร ดิจิตอลทีวียิ่งเป็นเรื่องสำคัญ ทุกคนต้องทุ่มเทกับมัน
ดวงกมล : พนักงานก็โอเค ถึงแม้ว่าเราจะเข้มงวดในเรื่องค่าใช้จ่าย แต่ว่าเราก็ตอบแทนเขา พอปีนี้ต้องไปสู่ ทีวีดิจิตอล ก็ต้องปรับกำลังคน เราต้องทำงานหนักขึ้น
สุทธิชัย : คือเราไม่ต้องรอให้เกิดปัญหาเสียก่อน จริงไหม? เราไปเริ่มสิ่งใหม่ได้เลย สังเกตว่าเราจะทำก่อนเวลาเสมอ เราประมูลทีวีดิจิตอล ไม่ใช่เพราะว่าหนังสือพิมพ์กำลังจะมีปัญหาแล้ว เพราะเราเริ่มทำทีวีมาตั้งแต่ก่อนนั้นอีก สมัยนั้นคุณอดิศักดิ์กับผมไปทำทีวีช่อง 9 ตอนนั้นผมก็ไม่เคยทำทีวีมาก่อน แต่เขาชวนมาทำทีวี เพราะผมเป็นนักหนังสือพิมพ์ เราเป็นเจ้าแรที่ทำรายการสัมภาษณ์เลือกตั้งสัญจร เชิญนักการเมืองมาสัมภาษณ์ เราทั้งคู่ไม่เคยทำทีวี เรียนรู้จากของจริง ต้องเชิญใครบ้าง หน้าตาออกจอทีวีเป็นอย่างไร เนื้อหา วิธีตั้งคำถาม ทำแบบนักข่าวหนังสือพิมพ์เลย ไม่ได้เรียนวิชาทีวีกันมาเลย แต่เพราะไม่ได้เรียนมามั้ง เราจึงไม่ได้เลียนแบบคนอื่น เราถึงแปลกใหม่ หรืออย่างสมัยที่เราเริ่มทำวิทยุ ช่อง 92.5 เมกะเฮิรตซ์ ผมจัดรายการสดจากห้องข่าวเนชั่น ช่วงนั้นเป็นครั้งแรกที่มีการโฟนอินเข้าไปในรายการ คนฟังก็ตื่นเต้น เสียงอู้อี้มาก แต่คนฟังชอบ เรารายงานเหตุการณ์เพิ่งเกิดได้ไม่นาน เร็วกว่าหนังสือ-พิมพ์เสียอีก ถ้ามีคอนเทนต์ มีเนื้อหา มีสื่ออื่นเอาไปออกได้ เราก็ต้องทำเลย
เทพชัย : สถานการณ์บ้านเมืองทุกวันนี้ก็มีส่วน พัฒนาการของสื่อทำให้คนทำสื่อต้องรู้ตัวว่าอะไรที่ไปถึงคนได้มากที่สุด จะมีประโยชน์อะไร ถ้าเขียนบทความแล้วมีคนอ่านน้อยนิด เรารู้ว่าจากนี้ไป ช่องทางการสื่อสารสำคัญที่สุด
GM: อีกสักกี่ปี เครือเนชั่นจึงจะไม่มีกระดาษเหลืออยู่เลย
สุทธิชัย : ไม่รู้จริงๆ แต่ผมไม่อยากเห็นวันนั้นเลยนะ บอกตามตรงว่าที่เราทำทีวี เราทำเพื่อรักษาสิ่งพิมพ์เอาไว้นะ เพราะเราทำแบบนี้ สิ่งพิมพ์จึงจะอยู่รอดได้ ถ้าสมมุติว่าในอนาคต เราบริหารทุกสื่อให้อยู่กันครบ ทีวีจะมาช่วยเสริมโอกาสให้สิ่งพิมพ์อยู่รอดได้นานขึ้น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับคอนเทนต์ หลายส่วนโอนมาอยู่ที่ทีวีได้ ค่าใช้จ่ายสิ่งพิมพ์จะลดลง สิ่งพิมพ์จะอยู่กับเราได้นานขึ้น ผู้ลงโฆษณาในสิ่งพิมพ์ก็อาจจะสามารถไปลงในทีวีได้ เราขายใน Bundle เดียวกัน การมีฐานเป็นสิ่งพิมพ์ถือเป็นสิ่งจำเป็น เพียงแต่เราต้องควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายให้ดี รู้ว่าคนอ่านเป็นใคร ผมไม่อยากพยากรณ์หรอกว่าวันไหนจะไม่มีสิ่งพิมพ์
TE
GM: แล้วสื่อสิ่งพิมพ์เจ้าอื่นที่ประมูลทีวีดิจิตอลไม่ได้ หรือยังไม่ได้เริ่มทำทีวี จะเกิดอะไรขึ้นกับเขา
อดิศักดิ์ : ถ้าวิเคราะห์ผลการประมูล กลุ่มที่ได้ช่องมากที่สุดในคราวนี้ คือกลุ่มทุนสิ่งพิมพ์ ได้มาทั้งหมด 7 ช่อง เนชั่นได้ 2 ทีวีพูลได้ 2 ไทยรัฐ เดลินิวส์ อมรินทร์ฯ เจ้าละ 1 ส่วนคนที่เข้าประมูลแล้วไม่ได้ มีอยู่ 2 ราย คือ บางกอกโพสต์กับสยามสปอร์ตฯ ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้เข้าประมูล แต่เป็นหนังสือพิมพ์ในกระแสหลักอยู่ก็อย่างเช่น มติชน แต่เท่าที่ไล่ชื่อมาทั้งหมดก็ทำทีวีกันอยู่แล้ว ผมคิดว่าคนที่ประมูลแล้วแพ้ ก็ไม่ถึงขนาดว่าจะอยู่ไม่ได้ เพราะอุปสงค์ต่อคอนเทนต์จะสูงมาก ตามข้อกำหนดของ กสทช. กำหนดว่าต้องมีข่าวในผัง ถ้าไม่นับช่องข่าวนะ25% เป็นภาคบังคับ นั่นแปลว่าคนที่ประมูลมาได้ ยังไงก็ต้องหาคอนเทนต์ข่าวมาลง อย่างเช่นเราจะเห็นว่าบางกอก-โพสต์ประมูลไม่ได้ เขาก็ไปร่วมกับทีวีพูล ซึ่งทีวีพูลกลับประมูลได้ช่องข่าวไปด้วยซ้ำ ส่วนสยามสปอร์ตฯ เชี่ยวชาญเรื่องกีฬา ไม่มีใครสู้เขาได้อยู่แล้ว เมื่อประมูลไม่ได้ เขาก็ไม่กระทบอะไรมาก เพราะเขาเป็นเจ้าอยู่แล้ว เบอร์ 2 ตามมาแบบไม่เห็นฝุ่น แทบจะมีเขาอยู่เบอร์เดียว ก็ต้องมีคนต้องการคอนเทนต์รายการกีฬาจากเขาอยู่ดี เรื่องจึงยังไม่จบกันที่ผลการประมูล ไม่ใช่ว่าประมูลไม่ได้แล้วจะอยู่ไม่ได้ แล้วก็ไม่ใช่ว่าประมูลได้แล้วจะไปรอดนะ ประมูลได้อาจไปไม่รอดก็มี ผมว่าอาจจะมีคนที่ประมูลได้ ทำไป 1-2 ปี อาจให้คนอื่นมาทำแทนก็ได้
สุทธิชัย : เนชั่นเราต้องมี 2 ช่อง เพราะว่าเราเตรียมบุคลากรมาเต็มที่แล้ว ช่องเดียวไม่พอหรอก เรามีคนที่รอทำ 2 ช่อง บางคนว่าช่องละ 2 พันกว่าล้าน นี่มันแพงไปไหม ผมว่าถ้าเราทำให้ดีไปเลย อีกไม่กี่ปีก็คืนทุนแล้ว ผมมองสิ่งพิมพ์กับทีวีไปด้วยกัน ผลิตคนไปพร้อมๆ กัน คอนเทนต์แชร์กันได้อยู่แล้ว สมมุติคราวนี้ถ้าเราประมูลช่องไม่ได้เลย เราก็มียุทธศาสตร์เตรียมไว้แล้วนะ
อดิศักดิ์ : คือเราก็จะไปจอยกับทุกช่องเลย (หัวเราะ)
สุทธิชัย : ใช่, ก็ต้องทำแบบนั้นไป แต่ผมจะบอกให้ ว่าการไปอาศัยบ้านคนอื่นอยู่ ก็จะมีปัญหาอีกแบบหนึ่ง เราต้องขายโฆษณาแข่งกับเขา ตีกับเจ้าของบ้าน และอีกเหตุผลหนึ่ง ผมว่าถ้าเราไม่ได้ช่องมาเลย คนดีๆ เก่งๆ ของเราก็อาจจะไปอยู่ช่องอื่นกันหมด ผมคิดไว้หมด หนึ่ง, ต้องรักษาคน สอง, ต้องสร้างฐานจากสิ่งพิมพ์ของเรา ให้สาธารณะได้รับรู้ว่าเรามีสื่อครบถ้วนที่สุด เพราะใครมีครบถ้วนที่สุดจะไปทั้งสองทางได้ ดังนั้นจึงเป็นคำตอบ ทำไมเนชั่นต้องมี 2 ช่อง เหมือนเราปูห้องไว้เสร็จเรียบร้อยแล้ว บ้านต้องมี เช่าคนอื่นก็พออยู่ได้ แต่ไม่ได้ใช้ศักยภาพเต็มกำลัง
GM: การไปอยู่ช่องของคนอื่น ทำให้พวกคุณอึดอัดมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาใช่ไหม
อดิศักดิ์ : ผู้ชนะประมูลบางรายถึงกับมาพูดกับผมว่า อดิศักดิ์ นี่มันเหมือนประกาศอิสรภาพเลยนะ พวกคนที่เคยทำรายการทีวีมาก่อนจะรู้ พวกเราเคยหลุดผังกันมาแล้วทุกคน ไม่ว่าเวิร์คพอยท์ ทีวีพูล แม้กระทั่งแกรมมี่ อาร์เอส ก็มีประสบการณ์หลุดผังเหมือนกัน การเป็นเจ้าของช่อง แม้จะต้องแบกภาระเป็นพันล้าน แต่มันเหมือนเราได้ประกาศอิสรภาพ ไม่อย่างนั้นนะ ชะตาชีวิตเราก็เหมือนไปแขวนไว้กับคนอื่น พอเปลี่ยนผู้อำนวยการที พวกคนทำรายการก็ต้องวิ่งเข้าไปหาที คุกเข่าอ้อนวอน รู้สึกว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่มี แต่พอเป็นเจ้าของช่อง อย่างน้อยๆ ก็…เอาละ! อดทนกันหน่อย เหนื่อยกว่าเดิม แต่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเรายังอยู่ ศักดิ์ศรีของคนทำคอนเทนต์เป็นสิ่งสำคัญนะ
การประมูลทีวีดิจิตอล
หมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว
• บีอีซี-มัลติมีเดีย 666 ล้านบาท
• อสมท 660 ล้านบาท
• ไทยทีวี 648 ล้านบาท
หมวดหมู่ทั่วไปแบบ HD
• บีอีซี-มัลติมีเดีย 3,530 ล้านบาท
• บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง 3,460 ล้านบาท
• กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ 3,370 ล้านบาท
• ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ 3,360 ล้านบาท
• อสมท 3,340 ล้านบาท
• อมรินทร์ เทเลวิชั่น 3,320 ล้านบาท
• จีเอ็มเอ็ม เอชดี ดิจิทัล ทีวี 3,320 ล้านบาท
หมวดหมู่ทั่วไปแบบ SD
• ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด 2,355 ล้านบาท
• ทรู ดีทีที 2,315 ล้านบาท
• จีเอ็มเอ็ม เอสดี ดิจิทัล ทีวี 2,290 ล้านบาท
• บีอีซี-มัลติมีเดีย 2,275 ล้านบาท
• อาร์เอส. เทเลวิชั่น 2,265 ล้านบาท
• โมโน บรอดคาซท์ 2,250 ล้านบาท
• แบงคอก บิสสิเนส บรอดแคสติ้ง 2,200 ล้านบาท
หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ
• เอ็นบีซี เน็กซ์ วิชั่น 1,338 ล้านบาท
• วอยซ์ ทีวี 1,330 ล้านบาท
• ไทยทีวี จำกัด 1,328 ล้านบาท
• สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น 1,318 ล้านบาท
• ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค 1,316 ล้านบาท
• ดีเอ็น บรอดคาสท์ 1,310 ล้านบาท
• 3เอ. มาร์เก็ตติ้ง 1,298 ล้านบาท
“สมัยก่อน แนวโน้มของสื่อที่ดี ที่ประชาชนคาดหวังได้ พึ่งพาได้ คือต้องเป็นฝ่ายค้านรัฐบาล เป็นบาลานซ์ แต่ทุกวันนี้มันกลับกันทุกวันนี้ถ้าคุณจะเรียกตัวเองว่าเป็นลิเบอรัล คุณต้องโปรรัฐบาล นี่เป็นอะไรที่ผมว่ามันแปลกมาก”
GM: คนทำคอนเทนต์จะกลายมาเป็นคนคุมเกมนี้ใช่ไหม
อดิศักดิ์ : ไม่หรอก คนคุมเกมก็ต้องเป็น กสทช. อยู่ดีนั่นแหละ ก่อนประมูล หลังประมูล กสทช. คุมเกมได้หมดเลย จนเห็นไหมว่าพวกเราต้องไปเสียเงินให้เขาตั้ง 5 หมื่นกว่าล้าน คนจำนวนมากจะบอกว่าพวกเราบ้าหรือเปล่า โดน กสทช. ชักจูงให้เข้าไปกันถึงขนาดนี้ได้อย่างไร ซึ่งพอมาถึงตอนนี้ ต้องถือเป็นภารกิจของ กสทช. บ้างแล้วนะ ที่จะต้องนำพวกเรา 24 ช่อง
ให้อยู่รอดต่อไปให้ได้
GM: มันเป็นการแข่งขันเสรีไม่ใช่หรือ มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับฝีมือของใครของมันหรือ
อดิศักดิ์ : แน่นอน มันเป็นการแข่งขันเสรี แต่ กสทช. ต้องวางกติกาให้ชัดเจน ต้องทำให้การแข่งขันเท่าเทียม ตอนนี้ผมว่ายังไม่เท่าเทียมนะ เหมือนกับพวกเราตีตั๋วเข้าไปในสนามแข่งแล้ว แต่สนามแข่งแห่งนี้ยังไม่เท่าเทียม คือมีฟรีทีวีอยู่ก่อนแล้ว พวกเขาวิ่งนำหน้าเราไปไม่รู้เท่าไหร่ คุณต้องทำสนามแข่งขันให้เท่าเทียม เมื่อได้เงินก้อนแรกจากพวกเราไป 11,000 ล้าน ทั้ง 24 ช่องกัดฟันหาเงินมาให้ และเรามีคอมมิตเมนต์ว่าจะหาเงินมาจ่ายอีก 5 งวด อีก 5 ปีข้างหน้า ทุกวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ทุกช่องต้องจ่าย คุณมีเงินเยอะแล้ว ก็ต้องกระจายกล่องรับสัญญาณออกไปให้คนมีโอกาสเปิดเข้ามาดูได้เท่าๆ กัน จึงจะถือว่าสนามแข่งขันเท่าเทียมที่สุด นี่คือภารกิจของ กสทช. ถ้าผู้คนมีโอกาสเปิดดูช่องเราเท่าเทียมกันหมด แล้วถ้าช่องเราเจ๊ง แบบนี้เราก็จะว่า กสทช. ไม่ได้
GM: ตอนนี้คนตื่นเต้นไปหาซื้อกล่องกันแค่ไหน
สุทธิชัย : ผมไปไหนมาไหน ก็เห็นว่าผู้คนตื่นเต้นนะ ถามผมตลอดเลย เมื่อไหร่จะดูได้ จะเปิดดูอย่างไร
อดิศักดิ์ : ผมเชื่อว่า พอมี 24 ช่อง ผู้เล่นที่เป็นเจ้าของช่องใหม่ๆ ที่เดิมเคยอยู่ในช่อง 3 5 7 9 ที่สุดแล้ว เราต้องเอาคอนเทนต์ที่ดีที่สุดของเรามาทำที่ช่องเรา โดยเต็มศักยภาพ เต็มความสามารถของคนที่ประมูลช่องได้ สมัยก่อนเราต้องไปเช่าเวลา พอมีช่องเอง เราเต็มที่ คนไทยจะได้เห็นรายการโทรทัศน์ที่มีความหลากหลาย มีครีเอทีฟมากขึ้น มีนักแสดงที่หลากหลาย วาไรตี้ ข่าวก็มีหลากหลาย เหมือนการสร้างศูนย์การค้าใหญ่ๆ ที่ดึงดูดคนเข้ามาหมดเลย
ตามข้อกำหนดของ กสทช.
ปีที่ 1 ครอบคลุม 50%
ปีที่ 2 80%
ปีที่ 3 90%
ปีที่ 4 95%
โดยประมาณการว่าจำนวนครัวเรือนไทยทั้งหมดมีอยู่ด้วยกัน 22 ล้านครัวเรือน จะได้รับแจกคูปองเงินสด จาก กสทช. เพื่อนำไปใช้ในการซื้อกล่องรับสัญญาณ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะมีมูลค่าเท่าใด จากเดิมที่คาดว่าจะแจกคูปองมูลค่า 690 บาทต่อครัวเรือน
เทพชัย : แล้วดีไม่ดี พอแต่ละช่องเปิดตัว มันจะมีกระแสขึ้นมาพร้อมกันทั้ง 24 ช่อง จะมีผลกระทบต่อเคเบิลทีวีที่ต้องเสียตังค์ เพราะเรากำลังจะมีฟรีๆ 24 ช่อง เป็นช่องที่มีคุณภาพระดับพรีเมียม ทั้งข่าว ทั้งบันเทิง
อดิศักดิ์ : เอาแค่ 10 ช่องที่เจ๋งๆ ก็สร้างแรงกระตุ้นได้มโหฬารแล้ว
สุทธิชัย : สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน คือพฤติกรรมคนดูทีวี คือคนจะไม่เปิดช่องแช่ไว้เหมือนตอนนี้ ความเป็นช่องๆ แบบเดิมจะไม่มีแล้ว คนดูจะเปิดไปดูรายการที่ชอบ อย่างเช่นรายการข่าว พอเกิดเหตุการณ์ใหญ่ๆ เขาก็จะเข้ามาดูช่องเรา เพราะเขารู้ว่าให้รายละเอียดที่สุด วิจารณ์มากที่สุด พอถึงช่วงละคร เขาก็ค่อยเปิดกลับไปช่องเดิม ไม่เหมือนตอนนี้ที่คนดูจะเปิดช่อง 3 แช่ไว้ทั้งวัน เดี๋ยวข่าวก็มาแล้วมั้ง อะไรแบบนี้ แต่ต่อไปจะไม่ใช่ เขาต้องเปิดไปดูข่าวที่เขาต้องการ รายการละครก็เหมือนกัน วาไรตี้ก็ด้วย ไม่ต้องเปิดช่องแช่ไว้ การแข่งขันแฟร์ขึ้น มันอยู่ที่รายการคุณดีจริงหรือเปล่า อย่างตอนนี้นะ ผมว่าคนจะไม่ไปเปิดช่อง 3 5 7 9 เพราะมันไม่มีอะไรดูหลัง 2 ทุ่ม ถ้ามีทางเลือกอื่นๆ อย่างเช่นช่องข่าว จะเป็นการสร้างคนดูขึ้นมาอีกแบบหนึ่ง
GM: ความอยู่รอดของ 24 ช่อง ขึ้นอยู่กับอะไร ภายในอีก 3 ปี 5 ปีข้างหน้า จะมีช่องไหนเหลืออยู่บ้าง
อดิศักดิ์ : มันก็ขึ้นอยู่กับหลายอย่าง หนึ่ง, ผู้กำหนดกฎเกณฑ์ กรรมการ ถ้าทำสนามแข่งขันให้เท่าเทียมกันเร็ว โอกาสจะอยู่รอดก็มากขึ้น ทั้งหมด 24 ช่อง ก็อาจอยู่รอดได้ประมาณครึ่งหนึ่ง แทนที่จะเจ๊งเพราะคนดูน้อย เพราะพวกรายเก่าได้เปรียบอยู่แล้ว สอง, คอนเทนต์ คอนเทนต์ที่ดีมีในกลุ่มผู้ชนะประมูล ดีกว่าช่องเดิมด้วยซ้ำไป และสาม, เงินทุน ระยะแรกการแข่งขันสูง 2-3 ปีแรก Pricing War เกิดขึ้นแน่นอนตามธรรมชาติ ยิ่งใครคนไหนลดราคาเยอะ คนนั้นจะตายเร็วขึ้น คนที่รักษาคุณภาพตัวเองไว้ได้ก็จะได้ประโยชน์ สุดท้ายธรรมชาติจะคัดกรองให้เหลือพวกเราแค่จำนวนหนึ่ง มีคนมาถามผมเยอะว่า 24 ช่อง ใครจะอยู่รอดบ้าง ผมวิเคราะห์ให้ฟังอย่างนี้ดีกว่า เราแบ่งเป็น 3 ก้อน ก้อนละ 8 ช่อง ก้อนที่หนึ่งคืออยู่รอดได้ 8 ช่อง อาจจะไม่ได้กำไรเยอะ เหมือนช่อง 3 หรือ 7 ที่ได้อยู่ตอนนี้ ต่อมาก็อีก 8 ช่องถัดมา ไปต่อไม่ได้ รายได้ไม่พอกับรายจ่าย แต่เผอิญว่าเขาสายป่านยาว พ่อแม่รวย ว่างั้นเถอะ เงินเยอะ มีธุรกิจอื่นแบ็คอัพอยู่ ผมว่าช่วง 5 ปีแรกนี่เขาพออยู่ได้ พวกนี้เขาทำใจแล้ว เขารู้ว่าพอพ้น 5 ปีไป สนามเท่าเทียมกัน ค่อยรอตอนนั้น ส่วนที่เหลือ 8 ช่องสุดท้าย พวกที่สายป่านไม่พอ พ่อแม่ไม่รวย ขาดทุน 1-2 ปีแรกก็ไปแล้ว เปลี่ยนมือ ขายต่อ
GM: ตอนขายต่อ มูลค่าช่องจะแพงขึ้นไหม
อดิศักดิ์ : ไม่สิ ต้องถูกลงอีก เพราะเราจ่ายสัมปทานไปแล้วปีละ 2 ร้อยล้าน แต่ข้อดีคือ กสทช. ระบุไว้ว่าจะไม่เพิ่มจำนวนช่องในอีก 15 ปี ดังนั้น เราจะไม่มีคู่แข่งเพิ่ม เราจึงพอคำนวณอนาคตได้ คือมีแต่คู่แข่งในนี้แหละ ถ้าธุรกิจโฆษณาขยาย ราคาก็อาจจะดีขึ้นได้ เจ้าของรายไหนมีความสามารถในการผลิตคอนเทนต์ไม่พอ เลยแข่งขันต่อไม่ได้ ถ้าใครคนไหนมีทุน มองแล้วว่าตลาดใหญ่ขึ้นจริง คุ้มในการเข้าไปซื้อ นี่หมายถึง 8 ช่องสุดท้ายที่สายป่านไม่พอ คอนเทนต์ตัวเองไม่ดี จึงขาดทุน อยู่ไม่ได้
GM: เห็นว่าพวกคุณประมาณการรายได้ปีแรกไว้ 800 ล้านบาท มันจะได้ขนาดนั้นเลยเหรอ
สุทธิชัย : ได้สิ และถ้า 2 ช่องรวมกัน ก็ต้องเกินพันล้านแล้ว ที่ว่า 800 ล้านนั่น เราหมายถึงรายได้ช่องข่าวช่องเดียว
อดิศักดิ์ : ไม่เกินจริงเลยนะ เพราะปัจจุบัน เนชั่น แชนแนลมีรายได้ปีหนึ่งประมาณ 300 ล้านอยู่แล้ว ขนาดเป็นทีวีดาวเทียม และอีกตัวอย่างหนึ่ง ลองมองย้อนกลับไปสมัยก่อนตอนเราทำอยู่ช่อง 9 รายการข่าวข้นคนข่าว ตอนนั้นเราได้เวลามาแค่คืนละชั่วโมง เป็นไทม์แชริ่ง ไม่ได้เวลาทั้งหมด ได้แค่ 40% คืนหนึ่งได้ 4 นาทีจากช่อง 9 แต่เราเคยขายได้แล้วในราคาประมาณแสนแปดถึงสองแสน นั่นแค่วันละชั่วโมงเองนะ
สุทธิชัย : นี่ถ้าเรามีเวลา 24 ชั่วโมง แต่ทำไม่ถึง 800 ล้านก็แย่แล้ว
GM: นี่คือ สุทธิชัย หยุ่น ประกาศกร้าวใช่ไหม
สุทธิชัย : (หัวเราะ) คุณบันทึกลงไปได้เลย ว่าผมพูดไว้แบบนี้
อดิศักดิ์ : ลองดูเฉพาะรายการข่าว ตัวเลขที่พวกเราศึกษาไว้ มูลค่าโฆษณาเฉพาะรายการข่าว ช่อง 3 5 7 9 รวมกันประมาณ 15,000 ล้าน ถ้าเราดึงมาร์เก็ตแชร์มาได้ 5-7% ก็น่าจะได้ถึงแล้วละ เราตั้งเป้าเป็นเบอร์หนึ่งของสถานีข่าว แต่เราจะไม่หยุดแค่นั้น พูดถึงความเป็นองค์กรข่าว พูดชัดๆ คือ เราท้าชิงแชมป์ช่อง 3 เลยละ เอาง่ายๆ เลย ช่อง 3 มีรายได้ปีหนึ่งเฉพาะแค่รายการข่าวก็ 3-4 พันล้านเข้าไปแล้ว ตอนนี้สังคมไทยถูกกระแสโฆษณาชวนเชื่อ ว่าช่อง 3 เป็นช่องข่าว ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ เขาวางโพสิชั่นนิ่งตัวเองไว้แบบนั้น แต่ความเป็นจริงไม่ใช่ ถ้าเป็นช่องข่าว ต้องให้ข่าวมีความสำคัญมากกว่าอย่างอื่น ไม่ใช่ว่าพอมีข่าวด่วนมาในช่วงละคร แต่คุณไม่เคยยกผังเลย แบบนี้จะถือเป็นช่องข่าวได้อย่างไร
GM: สถานการณ์ทางการเมืองเป็นแบบนี้ ท่าทางว่าจะฉุดให้เศรษฐกิจซึมไปยาวๆ คุณจะไปเอาเงินค่าโฆษณามาจากไหน
อดิศักดิ์ : ก็ต้องสถานการณ์การเมืองแบบนี้สิ สถานีข่าวเรตติ้งจึงจะสูงขึ้น สังเกตดูได้ ช่วงเหตุการณ์ปกติ รายได้เราจะเฉยๆ แต่พอวิกฤติทีไร ของเราเรตติ้งสูงขึ้นทันที แต่ไม่ใช่ว่าทุกช่องข่าวจะได้อานิสงส์อย่างนี้นะ ต้องเฉพาะเบอร์ 1 เท่านั้น เกิดวิกฤติต่างๆ ในบ้านเมือง จะเป็นประโยชน์สำหรับเบอร์ 1 เสมอ
GM: แบบนี้ใจดำเกินไปหรือเปล่า คุณได้ผลประโยชน์ตอนที่เกิดสถานการณ์ร้ายๆ
สุทธิชัย : อ้าว! ก็เมื่อกี้คุณถามว่าสถานการณ์เลวร้าย สถานีเราจะอยู่ได้อย่างไร พอเราบอกว่าอยู่ได้ ก็บอกว่าเราใจดำอีก แบบนี้จะให้เราทำอย่างไร (หัวเราะ) คือไม่ใช่ว่าพวกผมชอบให้มีวิกฤตินะ แต่เรื่องแบบนี้พอเกิดขึ้นมา เราก็ต้องหาทางอยู่กับมัน ปรับตัว เนชั่นอยู่มาแบบนี้ 40 กว่าปี ผ่านทุกวิกฤติมาแล้ว และก็รอดมาได้ รอดอย่างดีด้วย แต่คุณต้องทำงานให้ดีด้วยไง ต้องรายงานข่าวตลอด ต้องทำหน้าที่ของคุณ ยิ่งเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ คนดูยิ่งคาดหวังจากสื่อสูงขึ้น ว่าต้องรายงานความจริง ต้องรายงานรวดเร็ว แน่นอนว่าเศรษฐกิจเป็นแบบนี้ โฆษณาอาจลดลงบ้าง แต่ยอดคนอ่านหนังสือพิมพ์ คนดูทีวีจะไม่ลดตาม และจะส่งผลต่อเรตติ้งของเราในระยะยาว
GM: เป็นธรรมชาติของคนเราใช่ไหม ที่ชอบดูอะไรอย่างนี้
สุทธิชัย : ใช่, เพราะคนชอบสะใจ โดยธรรมชาติคนชอบอยู่แล้ว แต่เราจะอาศัยแค่ความรู้สึกสะใจแค่นี้ไม่ได้ เราต้องหวังระยะยาวด้วย เมื่อบ้านเมืองเข้าสู่ช่วงเวลาปกติ เราก็หวังว่าต้องมีคนดูเยอะต่อเนื่องไป เวลาสงบคนก็ต้องเปิดมาหาเรา
อดิศักดิ์ : พอทีวีดิจิตอลเริ่มให้บริการตั้งแต่เมษายน ผมเดาว่าวิกฤติการเมืองคงยังไม่จบหรอก และในตอนนั้น ช่องเนชั่นเราจะเป็นทางเลือกที่สำคัญ เทียบกับช่อง 3 5 7 9 คนดูน่าจะตื่นตัวไปซื้อหากล่องมาดูทีวีดิจิตอล คนส่วนใหญ่ไม่ได้ติดจานดาวเทียม เราอาจได้ประโยชน์จากกระแสการตื่นตัวนี้
GM: สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก. ลายจุด เคยให้สัมภาษณ์กับ GM ไว้ ว่าการเมืองบ้านเรามีความเปลี่ยนแปลง เพราะการเกิดขึ้นของทีวีดาวเทียมได้แบ่งคนออกเป็น 2 ขั้วชัดเจน ทำให้ช่องทีวีเลือกข้างประสบความสำเร็จ และนำมาสู่สภาพการเมืองในตอนนี้
อดิศักดิ์ : แบบนั้นจะเรียกความสำเร็จไม่ได้หรอก เพราะมันเป็นเครื่องมือทางการเมืองในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่ได้เป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจ แต่เป็นเครื่องมือที่ประสบความสำเร็จ ในการทำให้เหตุการณ์การเมืองเปลี่ยนแปลงรวดเร็วรุนแรงกว่าในอดีตที่ผ่านมา คุณรู้ไหม ตอนนี้เรตติ้งช่องบลูสกายสูงกว่าทุกช่องในบรรดาทีวีดาวเทียมทั้งหมด เทียบกับช่องฟรีทีวีอย่างช่อง 5 หรือช่อง 9 บางช่วงสูงกว่าช่อง 3 ไปแล้วด้วยซ้ำ
VI
Partisan Press เป็นสื่อเฉพาะกลุ่ม มีวาระทางการเมืองที่จะนำพาประเทศไปสู่ระบอบอำนาจนิยมแบบฟาสซิสต์ อย่างเช่นที่เคยเกิดขึ้นในยุคนาซี และ มุสโสลินี…มีการใช้พลังของสื่อในการปั้นผู้นำของกลุ่มตนให้มีลักษณะ Cult Status
– สมชัย สุวรรณบรรณ : ผอ.ไทยพีบีเอส
สุทธิชัย : เดี๋ยวนี้ตอนหลังสองทุ่ม พอกำนันสุเทพขึ้นเวที บลูสกายก็มีเรตติ้งมากกว่าช่องละครหลังข่าวแล้วนะ นี่คือเหตุผลว่าทำไมเขาต้องพูดปราศรัยให้ปลุกเร้ารุนแรงขึ้นไปเรื่อยๆ อดิศักดิ์ : แต่พอเหตุการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ความนิยมก็ถดถอยลง ไม่เหมือนกับทีวีในฐานะที่เป็นสื่อมวลชนตามปกติ ที่ความนิยมไม่ได้หายไปไหน ทุกกลุ่มสามารถติดตามดูได้ต่อไป
GM: แปลว่าการวางตัวเป็นสื่อเลือกข้าง ไม่ดีกับธุรกิจใช่ไหม
เทพชัย : คนเราจะอยู่ในอารมณ์ทำสงครามกันตลอดเวลาไม่ได้หรอก Partisan Media แบบนี้ เหมาะกับสถานการณ์การเมืองเฉพาะหน้าแบบตอนนี้ ที่คนมีอารมณ์ยังร่วมอยู่ แต่พอสถานการณ์คลี่คลาย คนปกติๆ ก็อยากกลับไปรับรู้เรื่องต่างๆ ที่ปกติ
สุทธิชัย : มันเป็นลักษณะของกระบอกเสียง เราไม่ต้องการเป็นอย่างนั้น เพราะเราเป็นสื่อแบบมืออาชีพ จะไปเทียบกับ Partisan Media พวกนั้นไม่ได้ อย่างช่องเอเอสทีวี ช่วงหนึ่งคือกระบอกเสียงของพันธมิตรฯ คนเห็นต่างไม่มีทางได้มาออกช่องนี้หรอก หรือของบลูสกายตอนนี้ก็เป็นเหมือนกัน พวกช่องแดงก็เหมือนกัน เป็น Partisan Media ทุกสังคมมีแบบนี้ แต่เนชั่นเป็น Professional Media ดังนั้น หน้าที่เราคือการสะท้อนความจริงทั้งสองข้าง
GM: ในฐานะผู้บริหาร คุณอึดอัดไหมถ้ามีนักข่าวของคุณบางคน แสดงท่าทีทางการเมืองชัดๆ ในตอนนี้
สุทธิชัย : ผมว่านั่นเป็นเรื่องธรรมดามาก นั่นเป็นสิ่งที่เนชั่นเราเป็นมาตั้งแต่ยุคที่ทำหนังสือพิมพ์อย่างเดียวแล้ว นักข่าวทุกคนมีสิทธิคิด มีสิทธิที่จะมีความเห็นต่างกันไป อย่างสมัยเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ นักข่าวของเราหายเข้าป่าไป 10 กว่าคนเลยนะ ระดับซีเนียร์แล้วด้วย บรรณาธิการข่าวของเราเข้าป่าไปหมด (หัวเราะ) แบบนี้เป็นเรื่องธรรมดา แต่ในตอนนั้น บทนำของหนังสือพิมพ์เราเขียนลงไปไม่ได้ว่า เห็นด้วยกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ไม่มีเจ้าของหนังสือพิมพ์คนไหนในประเทศไทย ที่อยากจะให้มีความเห็นแตกแยกกันขนาดนี้ เจ้าของจะบอกแค่ว่า นอกจากพวกคุณจะเขียนอย่างนี้แล้ว พฤติกรรมส่วนตัวอื่นๆ ของคุณก็เชิญตามสบาย ถ้าคุณเชื่ออะไร พฤติกรรมอื่นๆ ก็ต้องเป็นอย่างนั้นด้วย การเป็น Journalist ย่อมมีความเห็นที่ต่างกัน พอสังคมมีความเห็นแตกแยก คนของเราย่อมมีความเห็นที่ไม่เหมือนกัน เพียงแต่เวลาทำงาน เรามีกฎร่วมกัน ว่าต้องเป็นโปรเฟสชั่นแนลเท่านั้นเอง
GM: ดูรายการสัมภาษณ์ทางช่องเนชั่น เห็นพิธีกรของคุณทะเลาะกับแขกรับเชิญที่เป็นนักวิชาการด้านกฎหมาย อยู่ๆ เขาก็ถอดไมค์ลุกเดินออกไปกลางรายการ
อดิศักดิ์ : ผมว่านั่นเป็นเรื่องของผู้ร่วมรายการมากกว่า พิธีกรเราไม่ได้ทำอะไร ซึ่งในอีก 2 วันต่อมา เขาก็โทรศัพท์เข้ามาเพื่อขอโทษเรา
GM: จากเหตุการณ์นี้ คนดูก็ด่าว่าเนชั่นเป็นทีวีสลิ่ม ทีวีแมลงสาบ
สุทธิชัย : ไม่เป็นไรๆ ธรรมดามาก (หัวเราะ)
ดวงกมล : แต่เราก็เปิดโอกาสให้ความเห็นทั้งสองข้างมาคุยกัน
สุทธิชัย : เดี๋ยวพออีกวัน มีคนอีกสีเสื้อมาออกช่องเรา คนอีกฝั่งก็ด่าเราเหมือนกัน
เทพชัย : ยิ่งสังคมมีความเห็นแตกแยกทางการเมืองแบบนี้ ก็ยิ่งจำเป็นที่สื่อต้องพยายามรักษาความเป็นมืออาชีพ รักษาหลักการในการทำงานให้มากที่สุด แน่นอนว่าเราคงทำ 100% ไม่ได้ในทุกครั้ง แต่ที่สำคัญ คือต้องพยายามอย่างที่สุด ให้ผู้ชมได้รับข้อมูลข่าวสารที่รอบด้าน สะท้อนความเป็นจริงมากที่สุด ซึ่งตรงนี้ก็แปลว่าเราต้องพร้อมรับความไม่พอใจของแต่ละฝ่าย เอาง่ายๆ ถ้าเราปล่อยเสียงคุณจตุพร พรหมพันธ์ุ สัก 10 วินาที ก็โดนคนโทรฯ มาด่าแล้ว หรือถ้าเราปล่อยเสียงอีกฝั่งหนึ่ง อย่างปล่อยเสียงคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ก็จะมีคนโทรฯ มาด่าเหมือนกัน มันก็มีอารมณ์ด้วยกันทั้งสองฝ่ายนั่นแหละ ซึ่งถ้าเรามองง่ายๆ ก็โอเคนี่นา การที่เราถูกทั้งสองฝ่ายด่า ก็แสดงว่าเรายังมีความเป็นกลาง แต่ว่าถ้าไม่ถูกด่าเลยจะดีที่สุด แต่มันก็เป็นไปไม่ได้หรอก
สุทธิชัย : มีเสียงชมอย่างเดียวไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาวะการเมืองอย่างนี้ เราก็ต้องเข้าใจว่าอารมณ์ของคน บางทีไม่มีเหตุผลเท่าไหร่แล้ว ฉะนั้นเราก็เฉยๆ เราจะไม่โกรธคนที่ด่าเราด้วยนะ เพราะเรารู้ว่ามันเกิดจากอารมณ์มากกว่าเหตุผล แล้วพอเรื่องจบแล้ว เขาก็คงเข้าใจเอง เพราะเราต้องอยู่ตรงนี้ไป
อีกนาน เราไม่ใช่อย่างบลูสกาย ที่ต้องระดมคน ต้องปลุกกระแสตลอดเวลา
เทพชัย : ตอนอยู่ไทยพีบีเอส จำได้ว่าก็มีสถานการณ์ คล้ายๆ แบบนี้ มีวันหนึ่งเราปล่อยเสียงคุณจตุพร พรหมพันธ์ุ ตอนนั้นสถานการณ์กำลังล่อแหลมเลย คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โทรฯ มาหาผมเองเลย นายกฯ ตอนนั้นน่ะนะ คุณเทพชัยทำไมปล่อยให้เขาพูดอย่างนี้ได้
สุทธิชัย : เหมือนกัน สมัยคุณทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ อยู่ เขาก็จะชอบให้คนโทรฯ มาว่าเราเสมอ ทำไมปล่อยเสียงให้ฝ่ายนั้นยาวๆ ขนาดนี้ ตอนนั้นเขาเป็นรัฐบาลไง และพวกเรากำลังทำอยู่ช่องยูบีซี 8 ด้วย เราก็โดนมาตลอดอยู่แล้ว ฉะนั้นเราเคยชินมากเลย แต่ไม่ใช่ดีใจที่โดนด่านะ (หัวเราะ) เราเข้าใจมากกว่า ว่าอยู่ในสถานการณ์ที่ทั้งสองฝ่ายจะคาดหวังว่าเราหันไปเป็นพวกเขา
GM: ในต่างประเทศ สถานีข่าวก็มีปัญหาแบ่งฝักแบ่งฝ่ายแบบนี้ไหม
สุทธิชัย : เยอะแยะ อย่าง Fox News ก็เป็นคอนเซอร์เวทีฟไปเลย แต่เขาได้เรตติ้งดี เขาก็เอา
GM: แล้วกับโมเดล Fox News คิดว่าเวิร์กกับเมืองไทยมั้ย เวิร์กกับทีวีดิจิตอลของเนชั่นไหม
สุทธิชัย : ไม่เวิร์กแน่ๆ เราไม่เอาแบบ Fox News หรอก เราจะเป็นแบบ CNN มากกว่า เพราะ CNN มีความพยายามเป็นกลางมากกว่า ให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสแสดงออก อย่าง Fox News นี่เรียกว่าเป็นช่องของพวกรีพับลิกันไปแล้ว
เทพชัย : ตั้งแต่หลังจากเหตุการณ์ 911 อเมริกาส่งกองทัพไปบุกอิรัก ตอนนั้นสื่อมวลชนก็แตกเป็น 2 ส่วนชัดเจน คือ ฝ่ายที่หนุน จอร์จ ดับเบิลยู. บุช เต็มที่ ก็มีอย่างพวก Fox News นั่นแหละ และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายลิเบอรัล อย่าง CNN ก็ถูกมองว่าเป็นลิเบอรัล แล้วคนอเมริกันเองก็แบ่งแยกเป็น 2 ส่วนเหมือนกัน ช่อง Fox News มันดังขึ้นมาตั้งแต่เหตุการณ์ช่วงนั้น ก็คือพิธีกรข่าวเขาใส่เข็มกลัดธงชาติอเมริกันบนอกเสื้อหราเลยนะ ซึ่งคนอเมริกันธรรมดา เขาจะไม่ติดธงชาติแบบนี้ Fox News ทุกคนติดธงชาติ แล้วก็จะพูดในเชิงหนุนบุช เห็นด้วยกับ
การปราบปรามการก่อการร้าย การใช้กำลัง
สุทธิชัย : เจ้าของคือ รูเพิร์ต เมอร์ด็อก เขากำหนดแนวทางสื่อเขาได้ เขาบอกว่าช่องของเขาต้องรีพับลิกัน ดังนั้น ข่าวก็ต้องเชียร์รีพับลิกัน แล้วถ้าพิธีกรยังไม่เชียร์รีพับลิกัน เขาก็เปลี่ยนคนเลย แต่ของเราไม่เป็นแบบนี้นะ นอกจากว่าคุณจะพูดหน้าจอมากเกินไป แต่ถ้าคุณทำหน้าที่บทบาทของคุณ แต่ส่วนตัวคุณคิดยังไง ก็อย่าทำให้เกินเหตุ ที่จะกลายเป็นว่าเป็นส่วนหนึ่งของพรรคนั้นหรือขบวนการนั้นก็แล้วกัน
GM: อย่าง กนก รัตน์วงศ์สกุล ตอนนี้ลาพักร้อนยาวเลยหรือเปล่า
สุทธิชัย : ก็แค่ช่วงนี้ ช่วงที่เขารู้สึกว่าจะต้องไปร่วมแสดงออก
อดิศักดิ์ : ผมก็คุยกับเขา ว่าถ้าในบางช่วงที่อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถจะคอนโทรลอารมณ์ปกติได้ ก็ขอให้บอกกันหน่อย แล้วจะให้หยุด ซึ่งของแบบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องการเมืองอย่างเดียวนะ เรื่องอื่นๆ คนอื่นๆ ด้วย ถ้าใครไม่พร้อม ไม่สบายใจอะไร มีเรื่องส่วนตัว อกหักมา เราก็ให้เขาหยุดไป อย่ามาแสดงออกอะไรหน้าจอ
GM: ถ้าจะวางตัวเป็นทีวีแนวคอนเซอร์เวทีฟ กับทีวีแนวลิเบอรัล แบบไหนจะดีกว่ากัน
สุทธิชัย : แน่นอนว่าเราก็ต้องลิเบอรัลมากกว่าเป็นคอนเซอร์เวทีฟ ในแง่ที่ว่าเราเปิดรับการปฏิรูป เช่น จะเปลี่ยนกติการัฐธรรมนูญให้มีลักษณะที่เปิดกว้างขึ้น เสรีขึ้น ของแบบนี้เราเห็นด้วยนะ เราไม่คิดว่าควรจะรักษาสภาพเก่าของประเทศไทยตลอดไป ความจริงถ้ามองย้อนกลับไปตั้งแต่สมัย 14 ตุลาฯ แล้ว เนชั่นกับหนังสือพิมพ์ยุคนั้นส่วนใหญ่ พวกเราก็มีส่วนสำคัญที่ออกมาสนับสนุนนักศึกษาในการเดินขบวนล้มรัฐบาลทหาร ฉะนั้น ผมว่าพวกเราเป็นแนวหน้าของความเปลี่ยนแปลงมาตลอด ช่วงนั้นเราเคยถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ด้วยซ้ำไป เพราะว่าเราเป็นเสรีนิยม แต่เราไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์นะ เพียงแค่เราฟังพรรคคอมมิวนิสต์พูด แล้วเราก็เอามาลงข่าว คือตอนนั้นเราต้องโจมตีเผด็จการทหารไง วิทยุปักกิ่งว่าอย่างไร เราก็เอามาลงข่าว ก็ต้องถือว่าเราเป็นแนวทางให้คนรุ่นใหม่ ความคิดใหม่ มาตลอดอยู่แล้ว จริงๆ แล้วผมว่าสังคมไทยทุกวันนี้ มันไม่มีเสื้อแดงเสื้อเหลืองหรอก มันเป็นวิธีคิดบางเรื่องเท่านั้นเอง แต่สังคมไทยเราชอบแปะป้ายกัน คุณพูดอะไรนิดเดียว อ้าว! ไอ้นี่เป็นแดงแล้ว ความจริงมันไม่ได้เกี่ยวกับแดงหรือเหลืองเลย เราไม่พยายามพูดคำว่าแดงหรือเหลือง แต่เราจะเปิดโอกาสให้คุณอธิบาย ว่าคุณคิดยังไงเรื่องนี้ เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย จบ อย่างเรื่องมาตรา 112 ไม่ใช่ว่าคนที่เห็นด้วยกับการแก้ไข 112 จะเป็นแดง ผมไม่เห็นด้วยนะ แต่ว่าพอพูดเรื่องนี้ปุ๊บ มึงแดงแล้ว
อดิศักดิ์ : ผมเขียนเรื่องนี้ไปนิดเดียว คนอ่านคอลัมน์ของผมเฉพาะวันนั้น บอกว่าผมเสื้อแดง คุณคิดว่าผมเป็นเสื้อแดงเหรอ (ชี้หน้าตัวเอง) แสดงว่าคุณไม่เคยอ่านคอลัมน์ผมมาก่อนหน้านี้ คือสังคมไทยไม่ได้ดูหลายๆ เรื่องมาประกอบกัน แต่ดู ณ เวลานั้น
GM: สื่อควรจะมีจิตวิญญาณที่เป็นลิเบอรัลอยู่แล้วใช่ไหม โดยธรรมชาติของคนอย่างพวกคุณ
สุทธิชัย : ควรจะเป็นแน่นอน ตั้งแต่สมัยก่อน แนวโน้มของสื่อที่ดี ที่ประชาชนคาดหวังได้ พึ่งพาได้ คือต้องเป็นฝ่ายค้านรัฐบาล เป็นบาลานซ์ แต่ทุกวันนี้มันกลับกันแล้ว ทุกวันนี้ถ้าคุณจะเรียกตัวเองว่าเป็นลิเบอรัล คุณต้องโปรรัฐบาล นี่เป็นอะไรที่ผมว่ามันแปลกมากเลยนะ
GM: มันเกิดอะไรขึ้น
สุทธิชัย : ก็เกิดความสับสนในสังคมไง เรื่องที่ถกเถียงกันมันมั่วไปหมด พูดง่ายๆ ว่าหลักคิดมันเปลี่ยนใหม่หมดเลย
อดิศักดิ์ : คือพอเราไปวิจารณ์รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง กลายเป็นว่าเราคือพวกคอนเซอร์เวทีฟ แต่ถ้าเราอยู่ข้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เรากลายเป็นลิเบอรัล นี่มันตลกแล้วนะ
สุทธิชัย : แต่ว่าไม่เป็นไร เราก็เข้าใจแหละ ว่ามันเป็นเรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองที่ต่างฝ่ายต่างปกป้อง เราต้องไม่หวั่นไหวในการทำหน้าที่สื่อของเราเอง เพราะเราไม่ได้ไปติดกับใคร ทุกวันนี้ พวก กปปส. เวลาเขาพูดบนเวที พูดถึงเนชั่นในแง่บวก เรายังคิดๆ เลย กรุณาอย่ามาอ้างเรามาก เพราะเราไม่ได้เป็นพวกคุณตลอดไปทุกเรื่องนะ ทุกวันนี้เรายังต้องถามสุเทพตลอด ว่าคุณมีโรดแมปยังไง คุณจะตั้งสภาประชาชนยังไง ผมยังไม่เห็นอะไรเลยนะ ฉะนั้น มันไม่ใช่ว่าเนชั่นจะเชียร์ข้างนี้ หรือไม่เชียร์ข้างนี้ มันอยู่ที่ว่าเหตุผลของคุณคืออะไร ซึ่งถ้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์บอกว่าจะมีสภาปฏิรูปเหมือนกัน แล้วเรายังไม่เห็นตัวตนเหมือนกัน เราไม่เห็นเนื้อหา เราก็บอกว่ามันไม่ใช่ปฏิรูปหรอก คุณอย่าพูดเลย นี่คือหลักคิดของเรามาตลอด 40 กว่าปี เอาที่เนื้อหา อย่าเอาป้ายมาแปะแล้วบอกว่าเราเป็นอะไร
EW
GM: การที่คุณแสดงบทบาทตัวเองออกไปในสาธารณะมานาน 40-50 ปี สิ่งที่แบกอยู่บนบ่า มันใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ยากขึ้นเรื่อยๆ มั้ย
สุทธิชัย : แน่นอนครับ แล้วคุณคิดว่าการที่พวกเราพยายามรักษาชื่อเสียง และพยายามไม่ทำสิ่งชั่วร้าย มันง่ายๆ เหรอ สิ่งเย้ายวนใจคุณว่ามีมั้ย มันมีมาตลอด 40 กว่าปี คุณไม่คิดว่าเคยมีนักการเมืองมาเสนอเงินเราเหรอ บอกว่าคุณทำอย่างนี้สิ คุณทำเป็นหลับตาข้างนึง คุณก็ได้เงินไปแล้ว พวกนี้มีมาเยอะแยะ แต่เราไม่ ข่าวคือข่าว มาบอกถ้าคุณลงข่าวนี้ จะตัดโฆษณา 2 หน้าที่เพิ่งจองเอาไว้ อะไรพวกนี้เราก็เจอมาหมดแล้ว แต่ถ้าผมโทรฯ ไปหาฝ่ายข่าว บอกว่าข่าวนี้อย่าลงเลย เขาจองโฆษณามา คุณนึกเหรอว่าคนข่าวเนชั่นเขาจะยังอยู่กับผม ไม่มีทาง หรือถ้ามีสักครั้งที่ผมเพียงแค่เดินไปบอกเขา ว่าข่าวนี้ถึงจริงก็ลงไม่ได้ เพราะเป็นเพื่อนผมนะ พวกคนเนชั่นก็ไม่อยู่เนชั่นแล้วครับ เพราะเขาเข้ามาที่นี่ ด้วยหลักการนี้ นี่ใช่ไหม คือสิ่งที่คุณบอกว่าผมต้องแบกมา 40 ปี ผมจะบอกว่าใช่ครับ ทุกข่าว ทุกพฤติกรรมของผม ถูกบันทึกไว้หมด แล้วคุณตรวจสอบได้หมด นี่คือข้อเท็จจริงที่ผมบอกเลย ว่าการเป็น Professional Journalism ชีวิตมันไม่ได้ง่าย แต่ถ้าเราบอกเป็น Partisan Journalism มันก็อาจจะง่าย คุณเปลี่ยนค่ายเมื่อไหร่ก็ได้
GM: ก็เมื่อก่อนคุณยังไม่ได้ทุ่มเงินไปประมูลทีวีมา 3,000 กว่าล้านบาท แถมตอนนี้คุณยังมีคอมมิตเมนต์กับนักลงทุนไว้มากมาย รายได้ช่องข่าวปีละ 800 ล้าน อะไรนั่น
สุทธิชัย : (หัวเราะ) คุณยังจำที่ผมพูดกับคุณเมื่อ 2 ปีก่อนได้ไหม ว่า Good Journalism Is Good Business แปลว่าถ้าคุณทำหนังสือพิมพ์ คุณทำอุดมการณ์ ทำหลักการให้ดี มันจะเป็นธุรกิจที่ดี ถ้าผมเริ่มเอนเอียงสิ ถ้าผมเริ่มรับเงินธุรกิจบางกลุ่ม สมมุติว่าผมไปรับเงินธุรกิจยักษ์ แล้วก็เขียนเชียร์เขาตลอด โฆษณาเข้ามาเลย รับปากว่าปีนี้จะให้ร้อยล้าน อีกไม่นานผมเจ๊งแน่ๆ ผมรู้เลย เพราะคนไม่เชื่อถือผมแล้ว อันดับแรกเลยคือคนที่จ่ายตังค์ผมนั่นแหละ มันจะเลิกเชื่อถือผมก่อนเลย เพราะมันรู้ว่ามันจ่ายตังค์ผม มันก็จะไปบอกคนอื่นต่อๆ กันไป เฮ้ย! สุทธิชัย หยุ่น น่ะเหรอ สบาย! ซื้อได้! มันเอา 50 ล้านเท่านั้นแหละ ถ้าเป็นแบบนี้ไป อีกไม่นาน คนก็ไม่อ่านผม ฉะนั้นยิ่งมีภาระอย่างนี้ยิ่งต้องรับผิดชอบ ยิ่งแสดงตัวออกไปสู่สังคม ว่าเราจะเป็น Professional Journalism เขาก็จับตาดูเราทุกรายการ ทุกประโยค
GM: ถึงแม้รายได้จะไม่ถึงเป้า 800 ล้านที่ตั้งเป้าไว้
สุทธิชัย : ก็ไม่เป็นไร สมมุติว่าเราตั้งไว้ 800 แล้วมีรายได้ไม่ถึง ด้วยเหตุผลที่เคร่งครัดต่อหน้าที่ แบบนี้เราตอบตัวเองได้
GM: แล้วตอบนักลงทุนยังไง
สุทธิชัย : ก็ตอบไปแบบเดียวกันนี้แหละ ว่าผมเชื่อว่ามีเพียงความน่าเชื่อถือเท่านั้นที่เป็นทรัพย์สินที่มีค่าของสื่อ
อดิศักดิ์ : สภาวะอย่างที่คุณถาม พวกเราเคยผ่านมาแล้วช่วงหนึ่ง สมัยรัฐบาลคุณทักษิณ ไม่มีเลยนะโฆษณาจากค่ายของเอไอเอส เป็นศูนย์เลย โฆษณาของหน่วยงานราชการด้วย แต่สมัยนี้ผมคิดว่า การที่จะทำอย่างนั้นทำไม่ได้ เพราะสื่อมันหลากหลาย คือไม่มีใครมีอิทธิพลแบบเด็ดขาดขนาดนั้นแล้ว
ดวงกมล : ตอนที่กลุ่มชินฯ ตัดโฆษณาเราตอนนั้น อาจจะรู้สึกว่าเป็นเม็ดเงินที่ใหญ่ แต่มันไม่ได้ส่งผลต่อบริษัทมากนัก จากการวิเคราะห์ก็คือ รายได้ของเรามีลักษณะกระจายตัว ผู้ลงโฆษณากับเรามีความหลากหลาย เรียกว่ามีการกระจายความเสี่ยง ฉะนั้นถ้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งตัดงบ หรือรัฐบาลตัดงบ เราก็ยังพออยู่ได้ เราไม่จำเป็นต้องทำอะไรที่เสียหลักการเพื่อที่จะได้เงิน
สุทธิชัย : เหตุการณ์ที่คุณอดิศักดิ์พูดถึง ฝ่ายขายมาหาเราแล้วก็บอกว่า คุณสุทธิชัย ชินฯ เขาตัดโฆษณาหมดเลย เราลงข่าวนี้ข่าวนั้น คุณทักษิณไม่พอใจ เราก็เอาเรื่องนี้เข้าที่ประชุม คุณเชื่อมั้ย ไม่มีใครในที่ประชุมบอกเลยว่า คุณสุทธิชัยไปหาคุณทักษิณหน่อยสิ เราแย่แล้ว คำพูดแบบนี้ไม่เคยมี ฝ่ายโฆษณาก็ไม่ นี่คือสิ่งที่ผมนับถือใจคนเนชั่นทุกคน สิ่งที่เราพูดกัน ก็มีแต่ว่าเราจะลดค่าใช้จ่ายเพื่อสู้กับตรงนี้ยังไง ผมคิดว่าคนลงโฆษณาเรา ก็ต้องรู้จักพวกเรา คาแร็กเตอร์ของเรา คนเนชั่นเป็นยังไง เขาย่อมรู้ ผมเชื่อว่าความน่าเชื่อถือตรงนี้ มีส่วนต่อการตัดสินใจลงโฆษณากับเรา ฉะนั้นผู้ลงโฆษณากับเรา ยักษ์ใหญ่ขนาดไหนก็ตามแต่ จะไม่คาดหวังว่าเราเขียนเชียร์นะ แต่เขาย่อมคาดหวังว่าเราแฟร์ ก็คือว่าถ้ามีข่าวไม่ดีเกี่ยวกับเขา เขามีสิทธิ์จะมาชี้แจงกับเราได้ แต่ไม่ได้เกี่ยวกับว่าคุณลงโฆษณากี่หน้านะ คนที่ไม่เคยลงโฆษณากับเราเลย ถ้ามาชี้แจง เราก็ต้องลง มันอยู่ที่ข้อเท็จจริงที่มี
GM: รายงานข่าวในเว็บไซต์ของสำนักข่าวอิศรา เขานับหน้าโฆษณาของสิ่งพิมพ์ต่างๆ แล้วก็พบว่างบโฆษณาของหน่วยงานราชการ กระจุกตัวอยู่กับหนังสือพิมพ์ที่เอนเอียงเข้าข้างรัฐบาล
สุทธิชัย : อ้าวเหรอ? แล้วมีชื่อของเราอยู่ในนั้นด้วยหรือเปล่า ผมเชื่อว่าไม่มีชื่อเนชั่นอยู่ในนั้นแน่ ของเราคือหน้าโฆษณามีการกระจายตัวปกติมาก ผมไม่รู้เบื้องหลังจริงๆ ว่าเป็นยังไง แต่ผมแค่ว่า ถ้าสื่อไหนใกล้ชิดกับรัฐบาลขนาดนั้น ถึงขั้นที่มีโฆษณาเป็นกอบเป็นกำผิดปกติ ผิดวิสัยการลงโฆษณาปกติ ผมก็ถือว่าสื่อนั้นกำลังตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง ที่จะเสียความน่าเชื่อถือต่อคนอ่านแน่นอน อันนี้เราระวังมาก
เทพชัย : ผมว่าที่มันสำคัญพอกัน คือไม่ใช่ตัวหน้าโฆษณาอย่างเดียว ตัวเนื้อหาของคุณด้วย ว่ามันทำหน้าที่แบบมืออาชีพหรือเปล่า บท บ.ก. คุณ ข่าวที่คุณรายงาน มันเข้าข้าง หรือมันถูกตีความได้ว่า อ๋อ…มิน่า มันได้โฆษณาเยอะขนาดนี้ เพราะเขียนเชียร์รัฐบาล ผมคิดว่าถ้าเกิดหน่วยงานราชการเทงบมาลงโฆษณากับเรา โดยไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหากับการทำงานใดๆ เลย มันก็ไม่มีอะไรเสียหายใช่มั้ย โดยไม่มีเงื่อนไขว่า ถ้าเราเทงบให้คุณ คุณต้องเชียร์เราหน่อยนะ อย่างนี้ผมคิดว่าเป็นเงื่อนไขที่สื่อที่ดีไม่ควรจะรับได้อยู่แล้ว
สุทธิชัย : สมมุติว่าอยู่ดีๆ ผมเห็นมีโฆษณาของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเข้ามามากเป็นพิเศษ ผมก็ถามทั้งฝ่ายขายทั้งฝ่ายข่าวอยู่แล้ว ว่ามันมีเหตุผลอะไร ใครไปเจอใครพูดอะไรหรือเปล่า แต่มันจะมีน้อยมาก เพราะมันไม่มี นอกจากว่าเราไปทำแคมเปญพิเศษ แล้วหน่วยงานนั้นชอบ ได้ผล แล้วก็มาลงโฆษณามากเป็นพิเศษ นั่นก็เป็นเหตุผลทางธุรกิจ ไม่เกี่ยวกับเรื่องเนื้อหา
“เราก็เข้าใจแหละ ว่ามันเป็นเรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองที่ต่างฝ่ายต่างปกป้อง เราต้องไม่หวั่นไหวในการทำหน้าที่สื่อของเราเอง เพราะเราไม่ได้ไปติดกับใคร”
GM: อาจจะต้องรอดูตอนพรรคเพื่อไทยลดความนิยมลง แล้วประชาธิปัตย์ได้เข้ามาเป็นรัฐบาล จะรอดูหน้าโฆษณาของเครือเนชั่นในตอนนั้น
สุทธิชัย : (หัวเราะ) ไม่เลย สมัยประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล เนชั่นก็ไม่เห็นได้ประโยชน์อะไรเป็นพิเศษเลย
อดิศักดิ์ : คือผมคิดว่าเรื่องโฆษณาหน่วยงานราชการ ของเราไม่เคยมีอะไรผิดปกติ คือเราก็มีเข้ามานะ เพราะว่าเรามีทีมขายที่รับผิดชอบโดยเฉพาะ เขาทำงานแบบปกติ ต้องไปดูพวกบางฉบับ ไม่มีทีมขายนะ แต่มีโฆษณาเข้ามากอย่างผิดปกติ มันคนละแบบกันนะ
GM: คุณสุทธิชัยมีความเห็นอย่างไร ที่เดี๋ยวนี้นักหนังสือพิมพ์รุ่นอาวุโส มีความคิดความเชื่อและลักษณะการทำงานที่แตกต่างกันไปมากๆ เลย
สุทธิชัย : เราก็ได้พบปะคุยกัน กินข้าวกันปกติ ต่างคนต่างก็เคารพในการตัดสินใจ ที่จะเดินไปในแนวทางไหน ก็ยังเคารพกันอยู่ในฐานะเป็นเพื่อนกัน แล้วจริงๆ เรื่องความคิดเห็นแตกต่างมันไม่ใช่เพิ่งเกิด สมัยเป็นหนุ่มๆ กินเหล้ากัน เจอกันบ่อยกว่านี้ ก็แตกต่างกันกว่านี้อีก ทะเลาะกันทุกเรื่อง ที่พึงจะวิเคราะห์วิจารณ์กันได้ ฉะนั้นมันไม่ใช่ว่าตอนนี้ความคิดเห็นแตกต่างไปจากแต่ก่อน แต่ความเป็นเพื่อนมันก็ยังมีอยู่ เพียงแต่ว่าพอต่างคนต่างมีธุระมาก มีหน้าที่มาก มันก็ไม่ได้ใกล้ชิดเหมือนแต่ก่อนที่จะรู้ซึ้งว่า แต่ละเรื่องนี่ตัดสินด้วยเหตุผลอะไร ก็ดูกว้างๆ
ภาพกว้างๆ ว่าอะไรเป็นอะไร ก็เข้าใจได้ทุกคนว่าทำไมเขาถึงทำอย่างนั้น
GM: ดูคุณจะมีกิจกรรมที่วุ่นวายที่สุด
สุทธิชัย : พอมีเทคโนโลยีใหม่มา มันทำให้ผมรู้สึกว่าควรจะเข้าใจมัน และองค์กรเราควรจะทันกับมัน แล้วในหลายๆ ครั้งก็ต้องก่อนหน้าเทคโนโลยีด้วยซ้ำไป เพื่อเราจะได้อยู่หน้าไปสัก 2-3 ก้าว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทำหนังสือพิมพ์รายวันธุรกิจก็ดี ทำทีวีก็ดี วิทยุข่าว ออนไลน์โซเชียลมีเดียก็ดี เราจะก้าวก่อนทิศทางของสื่อเล็กน้อย ก็ต้องเหนื่อยกว่าคนอื่น แต่ผมคิดว่านั่นคือสิ่งที่ทำให้เกิดความสร้างสรรค์ ตื่นเต้น แล้วก็ทำให้เรามองอนาคตชัดขึ้น แต่ก็ทำงานเหนื่อย เพราะว่าต้องติดตามอยู่ตลอดเวลา แล้วต้องถกเถียง หาทางออก ต้องโน้มน้าว ต้องมาตกผลึกกัน เพราะบางทีข้อมูลอาจจะไม่ตรงกันทีเดียว บางทีเราไปข้างหน้าหน่อย ก็จะมีเพื่อนร่วมงานบอกว่า ไปทำไม ไปเร็วไป เยอะไปหรือเปล่า เราจำเป็นจริงๆ หรือเปล่าที่ต้องทำ
เราก็ถอยมานิดนึง คุยกันก่อน แล้วค่อยก้าวไปอีกที ฉะนั้นส่วนตัวก็คิดว่านี่เป็นภารกิจที่จะต้องผลักดันองค์กรให้ไปข้างหน้า
GM: ทำไมคุณยังทนทำงานนี้อยู่ได้ กลับบ้านไปเคยเหนื่อยหรือเบื่อจนอยากจะเลิกไหม อย่าง Washington Post ยิ่งใหญ่ เก่าแก่ เขาก็ขายให้ Amazon ไป
สุทธิชัย : ก็มีคนมาแซวผมเรื่อยๆ ว่าจะขายมั้ย ผมไม่เคยคิดเรื่องขาย ผมคิดว่า
ถ้าผมจะชะลอลง หรือเกษียณ คนที่ทำงานปัจจุบันต้องรับช่วงต่อไปได้ เพราะ
จิตวิญญาณ วัฒนธรรม ความคิด เขาต่อเชื่อมกันได้ แต่อย่างของ Washington Post ของตระกูล Graham ที่ขายให้กับ Jeff Bezos วัฒนธรรมมันคนละเรื่องเลย มันจะไม่มีร่องรอยเหลืออยู่เลยในอีก 3 ปีข้างหน้า ฉะนั้นผมคิดว่ามันไม่ถูก ผมอาจจะคิดแบบตระกูล New York Times มากกว่า เขาไม่ขาย เขาบอกว่าจะเดินต่อไป
สร้างวัฒนธรรม New York Times ต้องอยู่ยงคงกระพัน ถ้าผมเห็นแก่ตัว ผมขายไป ก็อาจจะไม่ต้องคิดอะไรอีกเลยก็ได้ แต่ผมจะตอบตัวเองไม่ได้ เพราะว่ามันสลายหายไปเลย วัฒนธรรมอันนี้ สมมุติว่าจะขายใครก็ตามแต่ เขาอาจจะไม่ต้องการคนรุ่นนี้เลย เขาอาจจะไปเอาคนใหม่มาทำ ที่นี่ก็จะหมดเลย ถ้าเนชั่นขายไป พรุ่งนี้ก็กลายเป็นสื่อที่ทำกันอยู่ปกติทั่วไป แบบนี้คุณไม่ต้องมาซื้อเนชั่นก็ได้ คุณตั้งใหม่ก็ได้นี่ แต่ถ้าคุณจะซื้อเนชั่น คุณต้องเอาความเป็นเนชั่นไปให้เป็นประโยชน์ใช่ไหม แต่จะยากสำหรับคนที่คิดทางธุรกิจอย่างเดียว ที่จะซื้อเนชั่นแล้วไปรักษาให้เนชั่นเป็นแบบนี้
GM: Amazon ก่อตั้งมาแป๊บเดียว ก็สามารถซื้อ Washington Post ที่มีความเป็นมายาวนาน นี่แสดงว่าในยุคนี้ ความเป็นมาอันยาวนาน อย่างของเนชั่นที่อยู่มา 40 กว่าปี อาจจะไม่มีค่าอะไรเลย
สุทธิชัย : ไม่จริงหรอก ผมว่ามีค่า ไม่งั้นเขาก็ไม่ซื้อหรอก ก็ปล่อยให้ Washington Post เจ๊งไป เขาก็ตั้งเองดีกว่า แต่ว่าแบรนด์ล่ะ เพราะฉะนั้นที่เขาซื้อที่เขาจ่ายก็คือตัวแบรนด์ Washington Post ร้อยกว่าปีนี่แหละ ถ้าไม่ใช่ชื่อ Washington Post เขาก็ไม่ซื้อหรอก
GM: คุณสุทธิชัยบอกว่าทีวีดิจิตอลจะเป็นงานสุดท้ายที่จะทำ ถ้างานคราวนี้สำเร็จก็จะไปเที่ยวแล้ว มันต้องวัดความสำเร็จอย่างไร แล้วจะไปเที่ยวที่ไหน
สุทธิชัย : ผมว่าภายใน 2-3 ปีก็รู้แล้ว ผมว่ามันไปได้แน่ เพียงแต่ว่าจะช้าจะเร็ว คือถ้าเราปล่อยไปปกติ มันก็อาจจะใช้เวลาสัก 4-5 ปี อย่างเช่นไทยรัฐ เห็นบอกว่าจะคืนทุน 6 ปี แต่ผมคิดว่าไม่ได้หรอก สำหรับเนชั่น 6 ปียาวนานเกินไป เราต้องให้มันสั้นและเร็วกว่านั้น ฉะนั้นเราก็ตั้งเป้าเลยว่า 2-3 ปีนี้แหละ ต้องเห็นดำเห็นแดง และผมก็จะยังอยู่ เพื่อช่วยดันให้มันเกิด แล้วก็ขึ้นฝั่งได้เรียบร้อย
GM: แล้วคุณจะไปเที่ยวที่ไหน ล่องเรือยอชท์ทั่วโลกใช่ไหม
สุทธิชัย : มีที่ที่อยากจะเที่ยวอีกเยอะเลยชีวิตนี้ ที่ที่ผมไม่มีเวลาไปดู ทั้งในเอเชียและทั้งในอเมริกา ลูกสาวผมอยู่ที่อเมริกา ผมเคยไปอยู่กับเขาสองอาทิตย์ ก็ไม่เลว คิดว่าถ้าเราไปอยู่ได้นานกว่านี้ สัก 3 เดือนผมก็อยู่ได้ เขามีห้องสมุดที่น่าอ่านหนังสือมาก ที่นั่นเป็นเมืองเล็กๆ ที่น่ารัก มีมิวเซียม มีห้องสมุด ผมเดินเข้าไปห้องสมุดนะ ผมอยู่ที่นี่ได้ 3 วันเลย หนังสือก็ดี บรรยากาศก็ดี Wi-Fi ก็ดี หนังสือที่รออ่านอีกเป็นปึกๆ ยังไม่มีเวลาอ่าน อันนั้นคือชีวิตที่อยากจะเป็นในช่วงหลังจากนี้ แต่แน่นอนคำว่าหยุดทำคงไม่ได้หมายความว่าหยุดเลย ผมอาจจะเขียนหนังสืออยู่ อยากทำรายการทีวีบางรายการ ก็อาจจะยังทำอยู่ คงไม่สามารถกด Switch Off แล้วหยุดไปเลย คงไม่ใช่ แต่ว่าอยากทำอะไรอีกหลายอย่างที่ไม่มีเวลาทำ
GM: คุณน่าจะเขียนหนังสืออัตชีวประวัติของตัวเอง อย่างของ แคทเธอลีน เกรแฮม แห่ง Washington Post
สุทธิชัย : ผมอยากเขียน แต่คงไม่ใช่เรื่องราวในชีวิตตัวเอง แบบนั้นคนคงไม่อยากอ่านมั้ง ผมอยากเขียนเรื่องประสบการณ์การทำงานมากกว่า สิ่งที่พบเจอมา ที่จะเป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นหลังต่อไป