พาร์กินสันดีขึ้นได้…ใจต้องมา
ในห่วงเวลาที่เชื้อโควิด-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอยู่ขณะนี้ หลายหน่วยงานต่างทุ่มพละกำลังในการที่จะหยุดยั้งการแพร่ระบาด ลดทอนความสูญเสีย เพื่อให้สถานะการณ์กลับสู่ภาวะปกติ
แต่ในขณะที่ชาวโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ก็ยังมีอีกหลายโรคที่กำลังเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตโดยเฉพาะกับผู้สูงวัย หนึ่งในโรคนั้น คือ โรคพาร์กินสัน
และเนื่องจากวันนี้ …วันที่ 11 เมษายน ได้ถูกกำหนดให้เป็นวันพาร์กินสันโลก เลยต้องขอพักยกกับโรคโควิด -19
มาทำความรู้จักกับโรคพาร์กินสันกันสักนิด พร้อมแนวทางที่ช่วยให้อาการดีขึ้นเมื่อโรคนี้มาเยือน แม้จะไม่หายขาดแต่ดีขึ้นได้ กำลังใจต้องมี วินัยในการรักษาต้องเป๊ะ
พาร์กินสัน เป็นโรคความเสื่อมของระบบประสาทที่พบได้บ่อยรองจาก อัลไซเมอร์ เป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมของเซลล์ในสมองส่วนที่เรียกว่า basal ganglia ซึ่งส่งผลต่อการหลั่งสารสื่อประสาท dopamine ลดลง ทำให้เกิดอาการผิดปกติทางด้านการเคลื่อนไหว (Motor symptoms)
โดยผู้ป่วยจะมีอาการต่างๆ ที่แสดงออกอย่างเห็นได้ชัด เช่น
- เคลื่อนไหวช้า (Bradykinesia) มีจังหวะในการของการเคลื่อนไหวแคบลง เช่น การจังหวะการก้าวเดิน
- มีอาการสั่นที่มือหรือขาขณะอยู่เฉยๆ (Tremors at rest.)
- มีอาการแข็งเกร็ง (Stiffness or rigidity)
- มีปัญหาการทรงตัว (Postural instability)
ส่วนอาการผิดปกติด้านอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว (Non-motor symptoms) ได้แก่
- ท้องผูก ท้องอืด อาหารไม่ย่อย
- มีปัญหาในด้านการขับถ่ายปัสสาวะ
- วิตกกังวล ซึมเศร้า
- เห็นภาพหลอน
ซึ่งอาการเหล่านี้อาจจะค่อยๆ ปรากฏขึ้นมา เช่น การดมกลิ่นหรือรับรสอาหารเสียไป หรือท้องผูก โดยที่ผู้ป่วยไม่รู้ตัวและหาสาเหตุไม่ได้ ซึ่งกว่าจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคพาร์กินสัน ก็อาจทำให้ผู้ป่วยเป็นโรคนี้มาแล้วกว่า 5-10 ปี
เมื่อเป็นโรคพาร์กินสันกัน แล้ว จะรักษาอย่างไร
ปัจจุบันนี้การรักษาด้วยยาหรือการผ่าตัดนั้นยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่ชี้ชัดว่า สามารถรักษาให้หายขาดได้
แต่ในขณะเดียวกันก็ใช่ว่าจะหมดหนทาง เพราะการรักษาด้วยการ “ฟื้นฟูกายภาพบำบัด” เป็นการรักษาที่สำคัญทั้งในด้านการป้องกันและการรักษาที่ครอบคลุมในทุกด้าน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย เช่น ปัญหาการเคลื่อนไหว การกลืน การพูด การเขียน เป็นต้น
สำหรับปัญหาการเคลื่อนไหว การฟื้นฟูกายภาพบำบัดผู้ป่วยพาร์กินสันแบบเดิมๆ มักจะใช้การยืดคลายกล้ามเนื้อเพื่อลดอาการแข็งเกร็งและการฝึกเดิน โดยใช้ตัวกำกับที่เป็นปัจจัยภายนอก(External cue) เช่น ใช้แสง เส้นขีด เสียง เพื่อฝึกการเดิน เช่น ให้ผู้ป่วยที่มีอาการก้าวเดินลำบากฝึกก้าวตามเสียงที่เป็นจังหวะเป็นต้น แต่ทั้งนี้พบว่าเมื่อขาดตัวช่วย ตัวกำกับดังที่กล่าวมา ผู้ป่วยก็จะกลับมามีอาการเดินลำบากเหมือนเดิมอีก
ปัจจุบันมีการฟื้นฟูกายภาพบำบัดด้วยแนวคิดที่แตกต่างไปจากเดิม ชื่อ LSVT BIG ซึ่งเปรียบเสมือนการปฏิวัติด้านการฟื้นฟูผู้ป่วยพาร์กินสันก็ว่าได้ แล้ว LSVT BIG คืออะไร มาทำความรู้จักกันเลย
LSVT BIG เป็นการรักษาที่ต้นเหตุ คือ กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชื่อมต่อของเซลล์สมอง (Neuroplasticity) จากการเคลื่อนไหวในแบบฉบับเฉพาะ ของ LSVTBIG
ที่จริง LSVT BIG (ย่อมาจากคำว่า Lee Silverman Voice Treatment big ) ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย เพราะ มีการค้นพบและนำมาใช้กว่า 20 ปีแล้ว โดยช่วยผู้ป่วยพาร์กินสันในเรื่องการเคลื่อนไหวและการพูด คุณกิตติ สนใจจิตร์ เป็นนักกายภาพบำบัดคนแรกของไทยที่ได้รับการรับรองการรักษาด้วย LSVT big
ความสำคัญเน้นไปที่คำว่า big ซึ่งขอใช้ภาษาไทย ว่า “สุดๆ”
เพราะจะเน้นการเคลื่อนไหว(จังหวะ) โดยต้องให้ “สุดๆ” ในทุกการเคลื่อนไหว คือ ทําให้ผู้ป่วยพาร์กินสันเกิดการเรียนรู้ที่จะเคลื่อนไหวในแบบใหม่ ที่กว้างขึ้น ใหญ่ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลุก การนั่ง การยืนและการเดิน รวมถึงการทํากิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจําวัน
ซึ่งเป็นการทําให้เกิดการเรียนรู้ที่ตรงกันข้ามกับอาการของผู้ป่วยพาร์กินสันที่จะเคลื่อนไหวช้า และก้าวสั้น
โดยการเคลื่อนไหว “สุดๆ” และ ฝึกทำสม่ำเสมอ เป็น keyword ที่จะกระตุ้นการเกิด neuroplasticity.
โปรแกรม LSVT BIG เป็นการรักษาที่ออกแบบเฉพาะบุคคลและแบบตัวต่อตัว ทําการฝึกกับ certified physical therapist ครั้งละ 1 ชั่วโมง จํานวน 4 วัน ต่อสัปดาห์ รวมทั้งสิ้น 16 ครั้ง หรือ 1 เดือนที่ต้องฝึกอย่างเข้มข้นพร้อมทั้ง
ต้องออกกําลังกายที่บ้านทุกวันตามที่กําหนด
ผลที่ได้หลังจากหนึ่งเดือนที่ฝึกอย่างเข้มข้นแล้ว อาการที่ดีขึ้นของคนไข้จะคงอยู่ได้อีกหลายเดือน ไม่เหมือนกับการฝึกทั่วไปที่ต้องทำซ้ำตลอด
ทั้งนี้เพราะ LSVT BIG ไม่ได้เน้นฝึกแค่กล้ามเนื้อหรือการเดิน แต่มุ่งเน้นไปที่การปรับโปรแกรมในสมองให้ดีขึ้น ด้วยการฝึก เมื่อสมองที่ควบคุมการเคลื่อนไหวในผู้ป่วยดีขึ้นจากการฝึกเข้มข้น การเคลื่อนไหวของผู้ป่วยก็จะจดีและอยู่ได้นาน
ผลที่ตามมาเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการเคลื่อนไหว การทํากิจกรรมต่างๆ เช่น เดินได้เร็วขึ้น มีการพัฒนาการทรงตัวดีขึ้น ช่วยเพิ่มองศาการหมุนของลําตัว รวมถึงพัฒนาการทํากิจกรรมในชีวิตประจําวัน เช่น การเคลื่อนไหวบนเตียง การแต่งตัว การเข้าสังคมดีขึ้นตามลำดับ
การฝึกด้วยแบบแผนใหม่ๆ และทำซ้ำๆ อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยปรับโปรแกรมสมองของผู้ป่วยพาร์กินสันให้เกิดการเรียนรู้ ลดภาวะการสูญเสียสารสื่อประสาทโดปามีน และช่วยฟื้นฟูการเชื่อมต่อของเซลล์ประสาท ซึ่งตรงนี้สำคัญที่สุดและถือเป็นการปฎิวัติการฟื้นฟูกายภาพผู้ป่วยพาร์กินสัน
นอกจากนี้ ยังมีการฝึกการพูดสำหรับผู้ป่วย พาร์กินสัน โดยใช้แนวคิดเดียวกันกับ
LSVT BIG ในชื่อของ LSVT LOUD ซึ่งจะทำให้การพูด การออกเสียง ของผู้ป่วยดีขึ้นด้วย
ข้อมูล : แพทย์หญิง ปิยะนุช (วงษ์วานิช) รักพาณิชย์
ผู้อำนวยการแพทย์สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก
#GMLIve #Life #Parkinson #Parkinsonday #LSVTBIG #AHG