fbpx

ONE DAY WITH WANCHAI TAN

กว่า GM จะตีพิมพ์บทสัมภาษณ์นี้ คุณคงได้รู้กันถ้วนทั่วแล้วว่า เวลานี้ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เปลี่ยนสถานะจากบรรณาธิการนิตยสารสารคดีเป็นรองผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ทีวีไทยเป็นที่เรียบร้อย

เป็นที่รู้กันว่าวันชัย เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของนิตยสารสารคดี ตลอด 25 ปีของคนทำสารคดี เขาเป็นทั้งผู้สร้าง ผู้ทำ ผู้ฟูมฟัก จนสามารถฝ่าฝน ฝ่าแดด ยืนหยัดมาได้อย่างยาวนาน แทบจะเรียกได้ว่าเห็นนิตยสารสารคดีก็ต้องนึกถึงวันชัย วันดีคืนดี วันชัยก็ตัดสินใจลุกจากเก้าอี้ตัวเก่าที่นั่งมาจนนุ่มสบาย สู่เก้าอี้ตัวใหม่ซึ่งเชื่อว่าเจ้าตัวเองก็ยังไม่รู้ว่าจะสบายเหมือนตัวเก่าหรือเปล่า   วาระในการเปลี่ยนเก้าอี้ของวันชัย ทำให้เรากระหายอยากรู้ว่าอะไรอยู่เบื้องหลังการตัดสินใจในครั้งนี้   แล้ว อนาคตของนิตยสารสารคดีล่ะ อุดมการณ์ในการทำงาน ความมุ่งมั่นล่ะจะเปลี่ยนไปไหม      

GM จึงขอนัดคุยกับวันชัยในฐานะหน้าใหม่ในวงการโทรทัศน์ กับการทำงาน 1 เดือนที่ผ่านมา ว่าเป็นอย่างไร สายๆ ของวันหยุดต้นเดือนกุมภาพันธ์ เราเริ่มเรื่องด้วยน้ำเย็นคนละแก้ว คุยเรื่องจักรยาน ไอโฟน เล่นกับสุนัขของเขาพอให้คุ้นกลิ่น และถามคำถามสั้นๆ 3 ข้อที่เราอยากรู้จริงๆ

1. สื่อ ?

“ผมทำงานที่นี่มาเดือนนึงเหมือนทำมาสี่เดือน” วันชัยบอกกับเราถึงจังหวะชีวิตของเขาที่เปลี่ยนไป จากสื่อที่ทำงานรายเดือนมาเป็นที่ทำงานรายวัน ไม่สิ จริงๆ เราคงต้องบอกว่ารายชั่วโมงถึงจะถูก เขายกแก้วน้ำขึ้นจิบ ใบหน้าดูโรยลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับครั้งสุดท้ายที่เจอกัน

คงด้วยงานที่กำลังวุ่นวายและต้องการการปรับตัวเพื่อให้เข้าที่เข้าทาง

แม้ว่าร่างกายจะดูอ่อนโรยไปบ้าง แต่สิ่งที่เราได้รู้หลังจากเริ่มบทสนทนา นั่นคือผู้ชายคนนี้กำลังสนุกกับงานที่เขาทำ     

แล้วอะไรที่เขาคิดและอยากทำ อะไรบ้างที่เรากำลังจะเห็นในการเปลี่ยนแปลงจากทีวีไทย…     

GM : ตอนนี้คนดูอย่างเราเริ่มสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ เริ่มมีรายการใหม่ๆ ดูเหมือนทีวีไทยก็อยากหาอะไรใหม่ๆ ทำอยู่เหมือนกัน

วันชัย : โจทย์ที่เราคิดเพิ่มเติมเข้ามาก็คือ พยายามทำให้สถานีของเราเป็นสถานีของครอบครัว โดยเฉพาะช่วงเสาร์-อาทิตย์และช่วงเย็น ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กดูรายการอยู่แล้ว ถ้าเราสามารถทำรายการดีๆ ให้เด็กได้ดู มันก็ยังดีกว่าให้เด็กออกไปนอกบ้าน พ่อแม่จะได้รู้สึกว่าโทรทัศน์ก็ช่วยเลี้ยงลูกได้ เป้าหมายสูงสุดของเราคืออยากให้คุณภาพชีวิตของคนในครอบครัวดีขึ้น มีเวลาอยู่ด้วยกันผ่านรายการโทรทัศน์ที่ดี มีเสน่ห์ น่าดู อีกส่วนหนึ่งคืออยากทำให้สถานีของเราเป็นช่องทางของคนรุ่นใหม่ ให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจสื่อโทรทัศน์มากขึ้น ที่ผ่านมาเราก็ทำนะ แต่จะทำให้แข็งแรงขึ้น

เราจะเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสเข้ามาใช้เวลาของสถานี ดึงดูดให้เขารู้สึกว่าเราตอบสนองจินตนาการของพวกเขาได้ ไม่ว่าจะดนตรี ศิลปะ หนังสั้น เพื่อให้เขารู้สึกว่าอันนี้เป็นทีวีของคนรุ่นใหม่ เราก็เปิดพื้นที่ตรงนี้ให้ค่อนข้างเยอะ แต่ทำแล้วต้องมีคนดูด้วยนะ ไม่ใช่ทำมาแล้วไม่มีคนดู คือต้องได้คุณภาพแบบมืออาชีพ อนาคตยังอยากจะทำรายการแบบจัดหาหนังดีๆ ที่ได้รางวัล อย่างรางวัลจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ หรือหนังดีที่ไม่ใช่หนังกระแสหลัก อาจจะหาดูได้ยากหน่อยมาฉาย ซึ่งรายการแบบนี้แน่นอนว่าในสถานีอื่นๆ คงทำได้ยาก

GM : อะไรคือข้อเด่นและข้อด้อยของทีวีไทย

วันชัย : ข้อเด่นคือมันเป็นช่องสาธารณะ ฉะนั้นรายการมันก็จะมีแนวคิดอีกแบบในการเลือกเรื่องซึ่งเราคิดว่ามันเป็นประโยชน์ต่อคนดู เราคงไม่เลือกเพราะหวังเรตติ้งหรือว่าโฆษณาเท่านั้น โดยเฉพาะด้านงานข่าว ซึ่งเราพยายามทำข่าวที่ไม่ใช่แค่ what why หรือ where แต่ต้องตอบโจทย์ไปถึงระดับ how คือต้องทำให้ลึก มันอาจจะขายไม่ได้หรืออาจยาก แต่คิดว่าเราก็คงต้องทำ เพราะนั่นคือหน้าที่ของเรา และสำคัญที่สุดคือมันมีผลกระทบกับสังคม

อย่างที่เราทำข่าวเรื่องคนไทยพลัดถิ่น ที่เขาเดินขบวนมาที่รัฐสภา เราก็เป็นสถานีเดียวที่ทำรายการต่อเนื่องตั้งแต่พวกเขาเดินมาจากด่านสิงขรจนถึงรัฐสภา เพื่อให้เห็นว่าคนกลุ่มนี้ถูกละเลย จนสถานีอื่นๆ มาทำตามทีหลัง ซึ่งสุดท้ายมันเกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดการหารืออย่างจริงจังในระดับรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือคนเหล่านี้ อันนี้คือสิ่งที่แตกต่างจากสถานีโทรทัศน์ช่องอื่น ส่วนข้อด้อยของที่นี่ ก็ต้องยอมรับว่า ทีวีไทยเพิ่งทำมาได้ 3 ปี มาจากส่วนผสมที่หลากหลาย ทั้งคนที่อยู่ไอทีวีเดิมกับคนใหม่ที่เพิ่งเข้ามาก็มาจากหลายที่ จากกลุ่มต่างๆ เพราะฉะนั้นเมื่อคน 900 กว่าคนมาอยู่ด้วยกัน การจะผสมผสานให้ลงตัวเพื่อให้เป็นเนื้อเดียวกันก็ต้องใช้เวลา

GM : เรื่องเงินเป็นปัญหาใหญ่ไหม

วันชัย : ณ เวลานี้ตาม พ.ร.บ. เราสามารถใช้เงินได้ไม่เกิน 2 พันล้านบาท ตอนนี้มันก็ยังไม่เป็นปัญหาครับ แต่ในอนาคต เมื่อคู่แข่งเรามากขึ้น ช่องเคเบิลดาวเทียมที่เกิดขึ้นมา ต่างก็ต้องการคนทำงานฝีมือดีกันทั้งนั้น หากว่าสถานียังต้องการคนที่มีฝีมือเอาไว้ทำงานกับเรา ก็ต้องคิดกันแล้วว่าเราจะทำยังไง เพราะต้องยอมรับว่า พนักงานทุกคนที่ทำงาน ต่างก็หวังความก้าวหน้า หวังจะเห็นเงินเดือนของตัวเองขึ้นทุกปี ซึ่งเราก็ต้องไปดูว่า เราจะทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหนในอนาคต เช่นว่า เราจะหารายได้จากการขายข่าว หรือผลิตรายการสารคดีให้คนซื้อไป หรือเราอาจจะมีช่องเพิ่มก็ได้ เพราะจริงๆ แล้วบทบาทของทีวีไทยตามกฎหมายไม่ได้มีแค่สื่อโทรทัศน์เท่านั้น มันครอบคลุมถึงการกระจายสื่อทุกอย่าง ทั้งวิทยุ อินเตอร์เน็ต แต่ตอนนี้เราก็ต้องรอให้เรื่องของคณะกรรมการ กสทช. นั้นเสร็จสิ้นก่อน เราถึงจะดำเนินการอะไรได้มากกว่านี้ ณ เวลานี้ก็ต้องรอความชัดเจนแล้วก็ให้ฝ่ายกฎหมายศึกษาความเป็นไปได้หลายๆ ทางไว้ก่อน               

GM : เชื่อว่าคุณคงมีรายการที่อยากทำ

วันชัย : คิดไว้นานแล้วว่า อยากทำสารคดีที่นำเสนอเรื่องราวของคนในอุษาคเนย์ ผมว่าคนไทยเราไม่ค่อยรู้จักเพื่อนบ้านนะ ทุกวันนี้เรารู้จักคนในยุโรป คนในนิวยอร์ก ปารีส มากกว่ารู้จักชีวิตของเพื่อนบ้านเราเสียอีก หรือถ้าจะมีสารคดีเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนมากก็จะเป็นเรื่องท่องเที่ยวซะมาก อย่างไปเขมรก็ต้องทำเรื่องนครวัด ไปลาวก็เที่ยวหลวงพระบาง แต่ผมอยากจะทำสารคดีให้คนรู้จักเกี่ยวกับชีวิตของคนในประเทศ ว่าจริงๆ คนพม่าก็ไม่ได้น่าเกลียดน่าชังเหมือนรัฐบาลเขานะ คนใต้คนมุสลิมก็ไม่ได้เป็นคนดุอย่างที่เรารู้สึก อยากทำรายการให้คนดูรู้สึกว่าคนในประเทศเพื่อนบ้านเขาก็เป็นคน เขาน่าสนใจ เป็นคนน่ารัก มันก็จะทำให้คนมองโลกในแง่ดี ไม่ใช่พูดถึงเขมรก็เห็นแต่หน้าฮุนเซนอย่างเดียว นี่เป็นเหตุผลหนึ่งเลยนะที่ทำให้ผมอยากมาทำทีวีหรืออย่างรายการเด็ก ผมก็อยากทำ หากเราสามารถทำรายการอย่าง เซซามิสตรีทแบบไทยๆ ให้เด็กๆ ต้องรอดู ผมเชื่อว่าเราสามารถปลูกฝังเด็กให้มีพื้นฐานที่แข็งแรงผ่านสื่อโทรทัศน์ได้ คือเรากำลังจะช่วยพ่อแม่เลี้ยงลูก (หัวเราะ) ซึ่งถ้าเราทำได้มันก็ดีมาก มันจะเป็นการแก้ปัญหาสังคมในระยะยาวแบบหนึ่ง อนาคตทีวีไทยพยายามทำให้คนเห็นว่า เราเป็นสถานีโทรทัศน์ในระดับอาเซียน เมื่อภาพลักษณ์เราชัดเจน วันหนึ่งจะมีคนมาซื้อข่าวของเราหรือสารคดีที่เราทำเกี่ยวกับอาเซียน คนอินโดนีเซีย คนไทย คนมาเลเซียก็ดูรายการของเราได้

GM : แต่หลายๆ คนที่อยู่ในแวดวงของสื่อ มักมีปัญหาเรื่องคุณภาพของคนที่เข้าทำงาน คุณคิดว่าตอนนี้มันเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหนแล้ว

วันชัย : เด็กสมัยนี้อาจจะเก่งเรื่องเทคนิคนะ แต่ปัญหาที่คิดว่าเป็นทุกวงการ ก็คือเรื่องความรู้พื้นฐานที่เป็นความรู้จริงๆ ไม่ค่อยมี ผมไม่รู้ว่าทำไมระบบการศึกษาทุกวันนี้ถึงทำให้เราเชื่ออะไรกันง่ายๆ เด็กทุกวันนี้เขาไม่คิดจะตั้งคำถาม ใครพูดอะไรก็เชื่อฮิวโก้ (จุลจักร จักรพงษ์) เคยบอกผมว่า เขางงมากว่าทำไมคนไทยต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ คือ ‘เชื่อ’ กับ ‘ฟัง’ มันคนละคำกัน ซึ่งอันนี้น่าคิด เพราะนั่นแสดงว่าเรากำลังสอนให้ทุกคนเชื่อฟังทุกอย่าง เด็กห้ามสงสัย ไม่ต้องตั้งคำถาม นั่นจบเลยนะ เพราะการตั้งคำถามมันเป็นปัจจัยสำคัญในการแสวงหา นักคิดบางคนถึงกับบอกว่า บางทีคำถามดีๆ มีค่ามากกว่าคำตอบ เวลาเราถามแสดงว่าคนคนนั้นมีความสงสัย แปลว่าคนคนนั้นไม่เชื่ออะไรง่ายๆ แต่การที่เขาจะไม่เชื่ออะไรง่ายๆ แปลว่าเขาต้องฟังอะไรมาบางอย่าง เขาถึงไม่เชื่อ

ปัญหาคือโลกการศึกษาของไทยไม่ได้สอนให้คนเป็นคนช่างสงสัย ผมเจอคนรุ่นใหม่ๆ แบบ “ยังไงก็ได้พี่ พี่สั่งมาเหอะ”เยอะมาก แต่ไม่เคยมีใครถามผมเลยว่า ที่ผมสั่งนั่นน่ะถูกหรือเปล่า เอาแบบนี้จริงไหม บางทีไม่รู้เรื่องแต่ก็ทำตาม สุดท้ายก็ลงเอยว่า อย่าคิดมาก เขาสั่งอะไรมาก็ทำๆ ไป กลายเป็นนักเขียนที่ขาดความกระหาย เหมือนเขากำลังลืมกันไปแล้วว่า คนเขียน คนทำสารคดีหรือสื่ออย่างเราๆ คือคนที่อยู่ตรงกลางที่ต้องเอาข้อมูลมาย่อยให้คนบริโภค เราควรต้องมีความรู้อยู่พอสมควรนะ เพราะต้องรู้ว่าจะย่อยอะไร ทำอย่างไรให้มันง่ายและยังดูน่ากิน

GM : งั้นก็คงต้องปฏิรูปสื่อกันอีกรอบ ?

วันชัย : ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจว่าจะปฏิรูปทำไม ผมว่าปัญหาของสื่อตอนนี้ จริงๆ มันอยู่ที่ว่าสื่อกำลังพยายามหาสมดุลระหว่างอุดมคติกับการอยู่รอด เช่นสื่ออย่างหนังสือพิมพ์ ซึ่งเคยเป็นกระบอกเสียงของประชาชน ความภูมิใจของเขาก็คือการที่ได้เป็นปากเสียงให้ผู้ถูกกดขี่ แต่ตอนนี้สังคมเปลี่ยน สื่อจำนวนหนึ่งต้องดิ้นรนเพื่อการอยู่รอด เราก็จะเริ่มเห็นการปรับตัวอย่างเช่น เห็นนักการตลาด นักโฆษณาหรือคนดังมาเป็นบรรณาธิการนิตยสาร แต่ไม่เคยเข้าใจสื่อ ถามว่าผิดไหม ผมว่ามันก็ไม่ได้ผิด ถือเป็นเสรีภาพในการแสดงออก เพียงแต่สื่อสมัยก่อนที่เขาไม่ได้คิดถึงเรื่องธุรกิจมากนัก แต่ทุกวันนี้ข่าวมันทำเงินคำถามต่อมาคือว่า แล้วที่ทำอยู่มันตอบคำถามเดิมเชิงอุดมคติด้วยหรือเปล่า ซึ่งผมคิดว่าตอนนี้มันกลายพันธุ์ไปหมดแล้ว ทุกวันนี้สื่อไทยเริ่มเลือกข้าง มีธงในใจ และจะนำเสนอสิ่งที่ตัวเองเชื่อว่าอันนี้คือความถูกต้องประเด็นของการปฏิรูปสื่อข้อหนึ่งคือ สื่อต้องอย่าคิดว่าตัวเองสามารถชี้นำสังคมได้โดยที่ไม่พยายามแสวงหาความจริง และต้องยอมรับด้วยว่าความจริงนั้นเปลี่ยนได้ตลอด

GM : คุณคิดว่ากระบวนการความคิดของรัฐหรือผู้มีอำนาจในเรื่องของการใช้อำนาจ ‘ห้ามสื่อ’ จะขัดขวางการปฏิรูปสื่อในอนาคตหรือไม่

วันชัย : ถ้าขืนรัฐยังเป็นแบบนี้ ไม่ช้าก็เร็วรัฐบาลจะมีอำนาจน้อยลง ภาคประชาสังคมจะมีอำนาจ มีบทบาทมากขึ้น ยิ่งรัฐบาลทะเลาะกันมากเท่าไหร่ อำนาจของรัฐจะผ่องถ่ายมาที่ประชาสังคมมากขึ้น ถ้าข้าราชการไม่ปรับตัวในภาวะที่แรงเสียดทานมีสูงขึ้นเรื่อยๆ แบบนี้ อีกหน่อยเขาจะไม่สามารถมีอำนาจเบ็ดเสร็จได้แล้ว

GM : ถามคุณจริงๆ ถ้าหากเป็นสถานีโทรทัศน์ช่องอื่นมาชวนคุณคุณจะไปไหม

วันชัย : ก็ไม่ไป ไม่เห็นอยากไป เพราะงานที่สารคดีก็มีความสุขอยู่แล้ว แต่การที่มันเป็นทีวีสาธารณะ เราจึงคิดว่า เราน่าจะทำรายการที่มีประโยชน์กับสังคมได้ เรียกว่ามีโอกาสมากกว่าที่จะได้ทำอะไรที่มีประโยชน์ ไม่มีเงื่อนไขโฆษณา หรือการทำกำไรมาเป็นตัวกำหนด

GM : ฟังดูคล้ายๆ กับว่าคุณกำลังต่อต้านทุนนิยม

วันชัย : ไม่เลย! ชีวิตผมอยู่กับทุนนิยมมาโดยตลอด ผมอยู่กับนิตยสารสารคดี เราทำงานกับบริษัทเอเยนซี่ รู้จักเจ้าของกิจการเยอะแยะ มันก็คือธุรกิจอย่างหนึ่ง เพียงแต่การมาทำงานที่ทีวีไทย มันลดความกดดันในเรื่องพวกนี้ ไม่ต้องไปวิ่งวุ่นหาโฆษณา ก็เท่านั้นเอง

GM : แต่เราก็เห็นว่ามีตัวอย่างทีวีสาธารณะในต่างประเทศ ซึ่งประสบปัญหาชะตากรรมแบบไปไม่รอด อย่างในอเมริกาใต้หรือในสหรัฐอเมริกาเอง ทีวีสาธารณะก็อยู่อย่างยากลำบาก คุณห่วงเรื่องพวกนี้ไหม

วันชัย : จริงๆ มันไม่ใช่แค่ทีวีสาธารณะ ผมว่ามันเป็นแนวโน้มของอนาคต อีกหน่อยอินเตอร์เน็ตจะเป็นทุกอย่างของคนรุ่นใหม่ คือเรียกว่าแทบไม่เปิดโทรทัศน์ แต่ทีวีสาธารณะอย่างเราไม่ได้นำเสนอสิ่งที่คนส่วนใหญ่สนใจ แต่เราเสนอทางเลือกอื่นๆ ให้กับผู้ชม แน่นอนว่าเราไม่มีทางจะไปแข่งกับทีวีกระแสหลักได้ อย่างช่อง 3 ช่อง 7 แต่เราก็มีดีพอ และต้องรอการพิสูจน์ในอนาคตว่าวิธีการนำเสนอของเราจะน่าสนใจไหม คนดูจะดูเพราะไม่ใช่แค่สาระ แต่สนุก มีเสน่ห์ เชยหรือไม่เชย ผมคิดว่ามันมีความสำคัญมากกว่า

2. สาระ+คดี ?

เรื่องจากบ้านเก่ามาอยู่บ้านใหม่ นั่นเป็นอีกเรื่อง แต่เรื่องอดีตและความทรงจำก็เป็นเรื่องที่เราน่าจะถามถึง

20 ปีกับ 10 เดือนของการเป็นบรรณาธิการนิตยสารสารคดี นิตยสารที่อาจจะเรียกได้ว่า เป็นหนึ่งในสถาบันสื่อสารมวลชนของไทยไปแล้ว

มีความหลังมากมายที่เราอยากรู้ และดูเหมือนวันชัยก็มีหลากเรื่องราวที่อยากเล่าให้เราฟังนอกจากตัวหนังสือบนกระดาษ   

GM : ถามกันตรงๆ ไปเลยว่า ทำไมคุณคิดจะมาลาออกจากสารคดีตอนอายุ 50 มันช้าไปหรือเปล่าสำหรับการเริ่มงานใหม่

วันชัย : เพื่อนๆ มันบอกว่าผมซาดิสต์ (หัวเราะ) มาเปลี่ยนงานตอนแก่ตามปกติคนอายุ 50 นี่เขาน่าจะเริ่มเข้าเกียร์ถอยแล้ว ทำงานน้อยลง

มองหาลู่ทางรีไทร์แล้วก็เที่ยว แต่นี่มาเริ่มงานใหม่ซึ่งดูท่าทางว่าจะหนักกว่าเดิม (หัวเราะ)

บอกตามตรงว่าตอนแรกที่ตัดสินใจออก ผมก็ตั้งคำถามกับตัวเองตลอดว่า ที่ใหม่ที่กำลังจะไปอยู่มันเป็นงานที่ท้าทายเรามากว่า ประสบการณ์ของเราช่วยให้องค์กรของเขาดีขึ้นได้ยังไง ซึ่งเขาก็ดีอยู่แล้วนะ จริงๆ เขาเคยชวนผมมาตั้งแต่สองปีที่แล้ว ตอนนั้นก็ยังไม่คิดอะไรจริงจังเพราะเรายังอยากจะทำให้ผ่านงานครบ 25 ปีก่อน อยากทำให้ดีที่สุดกลางปีที่ผ่านมาเขาก็มาชวนอีก คราวนี้เอาแบบจริงจัง เพราะเขาเปิดรับสมัครตำแหน่งรองผู้อำนวยการ พรรคพวกที่อยู่ที่นั่นก็คะยั้นคะยอให้มา เขาว่าอยากได้ประสบการณ์ของเราที่ทำงานสารคดีมาตลอด 20 กว่าปีมาช่วยกัน คือมันก็เป็นสาระเดียวกันแต่แค่สื่อที่ใช้มันต่างกันเท่านั้น ก็ลองไปสมัคร ไปสัมภาษณ์ตามกระบวนการ มีกรรมการ บอกตามตรงว่าพอสัมภาษณ์เสร็จ ก็คิดว่าเขาคงไม่เอาหรอก เพราะเราก็มองอะไรต่างจากกรรมการหลายอย่าง แต่รู้สึกสนุก แต่ไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น เขาก็โทรฯ มาว่าเราผ่านการคัดเลือก

GM : พอรู้ว่าได้ คิดหนักไหม

วันชัย : มากสิ แต่ก็ยังไม่ตัดสินใจเพราะเราก็อยู่ในบ้านที่ปลอดภัย เป็นบ้านสร้างมากับมือ แล้วก็อยู่มานานมาก ไม่มีใครเขาออกกันหรอก ไปที่ใหม่ก็เหมือนกับเราไปเริ่มต้นใหม่ แล้วก็ไปคนเดียวด้วย นี่เป็นความรู้สึกเหมือนตอนที่เราจบ ม.6 รู้ว่าต้องไปจริงๆ แล้ว มันหวิวๆ อย่างนั้นเลย

GM : มันก็น่าอยู่ครับเพราะ ‘สารคดี’ ก็เสมือนแบรนด์ของคุณไปแล้ว พอไม่มีชื่อ ‘วันชัย’ เป็นบรรณาธิการบริหาร คิดไหมครับว่าสารคดีจะไปทางไหน

วันชัย : ผมพยายามมาตลอดที่จะทำนิตยสารให้เป็นนิตยสารที่คนซื้อจะซื้อเพราะเรื่องราว ไม่ใช่ซื้อเพราะใครเขียน เพราะฉะนั้นตัวตนของ

คนเขียนในหนังสือเล่มนี้จะไม่สูง หน้าบทบรรณาธิการซึ่งมีคนตามอ่านกันมากของเล่มอื่นๆ อาจจะมีลายเซ็น ไม่ก็รูป แต่ผมไม่เคยคิดจะทำ เพราะอยากให้คนอ่านชอบในตัวนิตยสารมากกว่าจะให้ความสำคัญว่าใครเป็นคนทำ แต่ผมก็ยังเขียนในเล่มอยู่ ยังเป็นบรรณาธิการที่ปรึกษาให้ เพียงแต่ว่าไม่รับเงินเดือน

GM : สำหรับนายทุนอย่างบริษัทวิริยะเอง เขาว่าอย่างไรบ้าง

วันชัย : ต้องบอกว่าคุณสุรพร ทองทิว เป็นนายทุนที่คงหาไม่ได้ในประเทศไทยอีกแล้ว เป็นนายทุนที่ไม่เข้ามายุ่งเกี่ยว มีแต่ให้กำลังใจ เคารพการตัดสินใจของทีมตลอด ผมก็ไปบอกตรงๆ คุณสุรพรบอกว่า หากทำในสิ่งที่ดีมีประโยชน์ ก็ทำ และยินดีด้วย แต่ถ้าหากว่าอยากกลับมา ก็มา ไม่มีปัญหา

GM : ความยากลำบากในการทำสารคดีตลอด 20 กว่าปี คืออะไร

วันชัย : ต้องยอมรับว่านิตยสารสารคดีไม่ใช่อะไรที่เป็นอันดับหนึ่ง พูดไปแล้วเราคือลูกเมียน้อยก็ว่าได้ ฉะนั้นเราต้องคิดตลอดเวลาว่า จะทำอย่างไรจะทำให้เขารู้สึกว่าอยากอ่านนิตยสารสารคดี มันเป็นโจทย์ที่เราทำมาตั้งแต่ปีแรกๆ จนปีที่ 25 มันก็ยังยากอยู่ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ทำอย่างไรให้งานของเราอยู่ถูกที่ถูกเวลา ยกตัวอย่าง หลายปีก่อนเราสนใจเรื่องราวของหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ท่านเป็นเจ้าเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาตั้งแต่ 70-80 ปีที่แล้ว เรารู้จักครอบครัวท่านมานานและสนใจในสิ่งที่ท่านทำมาก แต่คิดว่ายังไม่มีจังหวะที่จะนำเสนอเรื่องนี้กับผู้อ่าน เพราะช่วงเวลานั้น อยู่ในยุคของท่านนายกฯชาติชาย เศรษฐกิจยังดีอยู่ ไม่มีใครสนใจเรื่องพวกนี้ กระทั่งฟองสบู่แตก คนก็เริ่มรู้สึกโหยหาความพอเพียง เราก็ทำเรื่องนี้ขึ้นมาให้คนเห็นประวัติของหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ปรากฏว่าก็ขายหมดในเวลาอันรวดเร็วผมจะบอกน้องๆ เสมอว่า ทำนิตยสารอย่านำหน้าคนอ่าน อย่าเอาใจตลาดอย่างเดียว เราต้องเคียงข้างไปกับคนอ่าน ชี้นำความคิดบ้าง แต่อย่ามากไปนั่นคือหัวใจ  

GM : ดูเหมือนเงื่อนไขการตลาดก็เป็นเรื่องใหญ่ในการทำงานสารคดีเหมือนกัน

วันชัย : ผมไม่เคยปฏิเสธการตลาด เราไม่ได้แข่งกับตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่เรากำลังแข่งกับคนอื่น นิตยสารหลายเล่มที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เพราะว่าคนทำอยากจะทำอะไรก็ทำ ไม่ได้รู้สึกว่าคนอ่านต้องการอะไร อยากได้อะไร

GM : อย่างที่เรารู้กันว่า ทุกวันนี้นิตยสารสารคดี ยังเป็นของสะสมของนักอ่านอีกด้วย คุณพอจะทราบไหมว่ามีเล่มไหนที่จัดได้ว่าเป็นเล่มหายาก ราคาแพงของสารคดี

วันชัย : เท่าที่รู้น่าจะเป็นเล่มหน้าปก สืบ นาคะเสถียร เล่มแรก ในปี 33 ที่เป็นรูปของคุณสืบมีชายชราคนนึงเจิมหน้าผาก ในหมู่นักสะสมขายกันอยู่เล่มละ 1,000 กว่าบาท นี่ถ้าเป็นพระเครื่องก็ถือว่าเป็นพระเครื่องอันดับหนึ่ง (หัวเราะ)

GM : รู้สึกอย่างไรที่ชื่อ ‘สารคดี’ กลายเป็นสถาบันไปแล้ว

วันชัย : ภูมิใจนะ คืออย่างน้อยๆ ตลอดเวลาที่เราทำสารคดีมา 25 ปี สิ่งที่เราเขียนหลายร้อยเรื่อง หรือนิตยสารที่เราทำกว่า 250 เล่ม มันยังอยู่ อยู่ในชั้นหนังสือของคนทั่วไป ของสถาบันการศึกษา ซึ่งมันต่างจากนิตยสารเล่มอื่นที่หมดเดือนแล้วก็เอาไปชั่งกิโลขาย แต่ผมคิดว่าทุกวันนี้คนที่คิดจะโละสารคดีทิ้ง ต้องคิดหนักนะ อย่างน้อยๆ ก็จะเป็นฐานข้อมูลทางสังคม มันอาจจะไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด แต่ผมเชื่อว่าเราตรวจสอบพอสมควร และทำให้สื่ออื่นๆ เอาไปต่อยอดสิ่งที่เราทำได้

GM : มีครั้งไหนไหมที่ทำแล้วรู้สึกว่า ‘เฉียดตาย’ มากที่สุด

วันชัย : มีครั้งหนึ่ง ราวๆ สิบกว่าปีมาแล้ว พวกเราเข้าไปทำเรื่องการตัดไม้ที่แก่งเสือเต้น อุทยานแห่งชาติแม่เย็น จังหวัดแพร่ ก็ขับรถเข้าไปในป่ากับเพื่อน 2 คน เห็นช้างกำลังลากไม้เถื่อน เราก็ทำตัวเป็นพลเมืองดี ก็เลยไปตามเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็มากับเรา พวกเรามีปืนลูกซองอยู่ 2 กระบอก แต่มีกระสุนอยู่นัดเดียว (หัวเราะ) เราก็ตามรอยช้างไป เห็นรอยว่าข้ามห้วยไป ตอนที่เรากำลังจะข้าม ก็มีเสียงปืนเอ็ม 16 กราดมาจากอีกฝั่ง เหมือนยิงขู่เรามา เราก็ตกใจกลัวมาก แต่ก็พยายามวิ่งข้ามไปจนได้ ด้วยความบ้าระห่ำ ตอนนั้นคิดอยู่แค่ว่าต้องจับพวกมันให้ได้ ก็เลยไปล้อมเขาไว้จนเย็นเลยนะ ต่างคนก็ต่างคุมเชิงกัน แต่เราก็ยังไม่กล้าบุกเข้าไปเพราะไม่รู้ว่าจะโดนยิงสวนมาหรือเปล่า ก็รอจนมืดค่ำ จนเจ้าหน้าที่ป่าไม้บอกว่าเราถอยเหอะ ถ้าไม่ถอยเดี๋ยวพวกมันจะมาล้อมเราไว้อีกชั้น ก็จำเป็นต้องถอย เป็นประสบการณ์ครั้งแรกเลยที่รู้สึกว่าเกือบตายจริงๆ แต่จากนั้นก็จะมีอีกหลายครั้งในช่วงที่เราทำสารคดีเรื่องการตัดไม้ทำลายป่าอีกทีนึงก็ขับรถเข้าป่า ก็เห็นเกวียนลากไม้ซุง พวกเราก็จะไปตามตำรวจให้ไปด้วย ปรากฏว่าไกด์คนที่นำทางเขาบอกว่าไม่ได้หรอก เพราะว่าเจ้าของไม้พวกนี้ก็คือสารวัตรของที่นี่

GM : ยังมีเรื่องไหนที่รู้สึกว่าอยากทำ แต่ยังไม่ได้ทำบ้างไหม

วันชัย : เรื่องดอกมะลินะ ดอกมะลิมันสวย แล้วมันก็มีนัยยะแฝงอยู่มากในสังคมไทย คนไทยเอาไปใช้ในหลายกาละ ใช้ลอยแก้ว ร้อยพวงมาลัย แล้วมันก็เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวคน แต่ขณะเดียวกันมันก็มีฟอร์มาลินมาก แต่ที่ยังไม่ได้ทำเพราะยังคิดไม่เสร็จ คิดไม่จบว่ามันจะออกมาเป็นยังไง ก็เลยไม่ได้เริ่มทำซะที

GM : เสน่ห์อย่างหนึ่งของสารคดีก็คือมีความกล้าที่จะทำเรื่องที่ไม่มีใครทำ เหมือนกับว่าการทำงานสารคดีในประเทศนี้ต้องเสียสละมากหน่อย ในต่างประเทศสถานการณ์ของสื่อที่นำเสนอเรื่องหนักๆ แบบนี้ มีชะตากรรมอย่างเดียวกันไหม

วันชัย : ผมคิดว่าแตกต่างกัน ในต่างประเทศเขามีนิตยสารหลากหลาย ทั้งนิตยสารโป๊เปลือย นิตยสารชาวบ้านๆ นิตยสารแฟชั่น

เขามีหมด แต่เขาก็ขายได้ ถ้ามองตลาดหนังสือโดยรวมแล้ว หนังสือแนว non-fiction ขายดีกว่าพวกหนังสือแนว fiction เสียอีก ในขณะที่บ้านเราสัดส่วนมันต่างกันมาก ซึ่งมันก็เป็นตัวสะท้อนคุณภาพของคนในสังคมได้ระดับหนึ่งว่า ความสนใจเรื่องการอ่านนั้นยังน้อยและไม่หลากหลาย

GM : ถือว่าน่าเป็นห่วง

วันชัย : ถ้าวัดจากการแข่งขันทางเศรษฐกิจก็น่าเป็นห่วง เพราะโลกจะแข่งขันกันเรื่องคุณภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่ปริมาณ ฉะนั้นถ้าอยากอยู่ดี ต้องทำของดีออกมาขาย แต่จะทำของดีได้ยังไง ถ้าคนในชาติยังปากว่าตาขยิบกันอยู่อย่างนี้ เช่น เราบอกว่าเราจะเป็นครัวของโลก แต่วันนี้เราโดนสหภาพยุโรปห้ามนำเข้าผักจากประเทศของเรา นั่นขนาดเราตรวจสอบกันระดับหนึ่งแล้วนะยังโดนห้าม นี่มันเหมือนเราโดนตบหน้าเลยนะ แต่ดูเหมือนเราก็ยังไม่รู้สึก เพราะผักที่ขายอยู่ในประเทศเรา ก็ไม่เห็นมีหน่วยงานไหนออกมาบอกว่าห้ามขาย มีแต่เตือนกันไปมาสารเคมีต่างๆ ที่เขาห้ามกัน ก็มีขายก็ใช้กันในบ้านเมืองนี้เป็นเรื่องปกติ เป็นเมืองนอกเขาห้ามขายกันไปแล้ว มันสะท้อนว่าการให้ความสำคัญในเรื่องคนมันต่างกันมาก แล้วถามว่ารัฐบาลสนใจอะไรไหม

ผมคิดว่าถ้าตราบใดที่เรายังไม่ปรับตัวแล้วปล่อยให้มันเป็นแบบนี้ เราก็จะล้าหลังไปเรื่อยๆ ประเทศไทยต้องลงทุนกับคนมากขึ้น การวิจัยและพัฒนาก็ต้องมีมากขึ้น แต่ทุกวันนี้เราสนใจเรื่องพวกนี้น้อยมาก เอาง่ายๆ อย่างเรื่องคุณภาพของครู ประเทศญี่ปุ่น ค่าจ้างครูกับหมอพอๆ กันเลยนะ เพราะครูคือคนที่มาชี้ชะตาของประเทศในอนาคต แต่ไทยให้ความสำคัญกับครูเป็นอันดับท้ายๆ แล้วถามว่าจะเอาครูเหล่านี้ไปสอนเด็กให้มีคุณภาพได้อย่างไรเพื่อนผมคนหนึ่งทำโรงเรียนกวดวิชา เขาเล่าให้ฟังว่า ไม่นานมานี้กระทรวงศึกษาฯวัดมาตรฐานของครูฟิสิกส์ทั่วประเทศ 300 คน มีคนผ่านเกณฑ์ประมาณ 40 คนเอง นี่มันก็เป็นตัวชี้วัดได้อย่างหนึ่งถึงคุณภาพของครู แล้วเราก็มีการปฏิรูปมาโดยตลอด ผมก็ไม่เข้าใจนะว่าปฏิรูปอะไร เพราะยิ่งทำยิ่งแย่ การที่มีโรงเรียนกวดวิชามากขึ้น มันก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่าการเรียนการสอนในโรงเรียนมันห่วยแตกไอ้เรื่องพวกนี้ บอกได้เลยว่า ลึกๆ แล้วมันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมอยากทำงานโทรทัศน์ เพราะคิดว่าถ้าเราทำสื่อโทรทัศน์ได้ดี มันก็น่าจะเป็นสื่อการเรียนการสอนนอกห้องเรียนที่ดี ซึ่งคิดว่ามันน่าจะช่วยส่งเสริมสติปัญญาของคนในสังคมให้มันดีขึ้นได้ด้วย

GM :  คิดว่าการปฏิวัติสังคมแบบที่เราเห็นในหลายๆ ประเทศตอนนี้มันจะเกิดขึ้นในประเทศเราอีกครั้งไหม  

วันชัย : โดยส่วนตัวแล้วไม่เชื่อว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในบ้านเรา สังคมไทยมีความประนีประนอมสูง เราไม่ใช่พวกอาหรับหรือไอร์แลนด์ ที่ต้องสู้กันให้ตายกันไปข้างหนึ่ง เราอยู่ในดินแดนที่เป็นกันชนของแต่ละชนชาติมาโดยตลอด ทำให้เรามีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่ง คือปรับตัวเพื่อความอยู่รอดเก่งมาก คือจะให้เรามาตายเพื่ออุดมคติทางการเมืองอะไรบางอย่างซึ่งชาวบ้านเขาก็ไม่รู้ว่ามันมีอยู่จริงไหม ผมคิดว่าไม่ใช่วิสัยคนไทยผมอาจจะเห็นต่างจากคนอื่นนะ ผมคิดว่าคนไทยไม่ได้มีความเอาจริงเอาจังอะไรขนาดนั้น ก็อาจจะมีบ้างประปราย แต่ขนาดที่จะลุกฮือมาเป็นสงครามกลางเมือง ฆ่ากันตายเป็นหมื่นเป็นแสน ผมว่ายาก มันอาจใช้ได้กับที่อื่น แต่คิดว่ามันใช้ไม่ได้กับสังคมแบบไทยๆ เราก็คงอยู่กันไปแบบนี้ละ ค่อยๆ ปรับกันไปเรื่อยๆ อะไรที่มันล้าหลัง ไม่ยอมปรับปรุงมันก็จะค่อยๆ หายออกไปเอง ถ้าเกิดคุณไม่มีความรู้ คุณก็ต้องปรับตัวให้เป็นคนมีความรู้ถ้าสังคมขาดคนที่มีคุณภาพ คุณก็ต้องสร้างคนที่มีคุณภาพ ความเชื่อทางการเมืองที่มันแตกต่างกันตอนนี้ สุดท้ายมันก็ต้องปรับตัวเข้าหากัน เพื่อความอยู่รอดของคนในสังคม และผมเชื่อว่าคนไทยฉลาดเรื่องนี้ และสามารถปรับตัวแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้เก่งมาก

GM : ขอตัวอย่างได้ไหม

วันชัย : เช่น ตอนเกิดสึนามิ ฝรั่งทึ่งเรามากเลยนะ เขาบอกว่าพวกยูทำได้ยังไงที่ความช่วยเหลือมาจากทุกที่ เชียงรายก็มา แม่ฮ่องสอนก็มา มาถึงก็ตั้งโต๊ะผัดข้าวกันกลางถนน ช่วยกันเก็บศพบ้าง อะไรบ้าง แล้วก็มากันเยอะมากมายมหาศาล ฝรั่งเห็นนี่น้ำตาไหลเลย คือคนไทยด้นสดเก่ง แต่ทำต่อไหม ก็ไม่ พอเสร็จภารกิจก็กลับไปอยู่กันเหมือนเดิม ฉะนั้นผมก็เชื่อว่าประเทศเรามันต้องมีทางออกของมันเอง แต่ถ้าถามว่า จะเจริญรุ่งเรืองมากไหม ก็คงไม่ แต่ก็คงไม่แย่มากไปกว่านี้

3. สิ่งแวดล้อม ?

วันชัยเคยบอกกับเราว่า หากวันนี้เขาไม่ได้ทำนิตยสาร “ไม่แน่ว่าผมอาจจะไปเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ไปแล้ว”

ความใฝ่ฝันตั้งแต่วัยเด็กของเด็กชายวันชัยก็คือ อยากเรียนวนศาสตร์ รักชอบเดินป่า และสนใจใบไม้ใบหญ้ามาตลอดชีวิต ปัจจุบันนอกเหนือจากงานด้านสื่อสารมวลชนแล้ว เขายังดำรงตำแหน่งรองประธานมูลนิธิโลกสีเขียว เป็นนักเดินป่า และนักปั่นจักรยานตัวยงอีกด้วย   

GM : พูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม คุณเป็นคนหนึ่งที่มีจุดยืนเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน เลยอยากรู้ว่าในฐานะนักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม คุณคิดว่าโลกทุกวันนี้น่าเป็นห่วงมากอย่างที่เรากลัวๆ กันอยู่ไหม โดยเฉพาะเรื่องโลกร้อน

วันชัย : ปัญหาสิ่งแวดล้อมต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่ามันเป็นเรื่องของการสะสม กว่าที่มันจะสำแดงปัญหาออกมามันใช้เวลาสะสมเป็นเวลานาน กระทั่งวันหนึ่งที่มันไม่ไหวก็จะค่อยๆ ระเบิด และยากจะกลับไปเหมือนเดิม เรื่องปัญหาโลกร้อนก็เป็นแบบนั้น

GM : แม้เราเริ่มกันตอนนี้ก็ไม่มีทางทันแล้ว

วันชัย : ทุกวันนี้มนุษย์เองยังตกลงกันไม่ได้เลยว่าจะเอายังไง แค่ลด CO2 ก็ยังเกี่ยงกันจะแย่ จีน อินเดีย บราซิล ก็บอกว่าทำไมให้เขาลด ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนพวกเอ็ง (อเมริกาและยุโรป) ก็ทำมาตั้งเยอะ พอโลกมันแย่ ก็บอกให้หยุด ทั้งๆ ที่เพิ่งจะลืมตาอ้าปากได้ เอาเท่านี้ก็ทะเลาะกันไม่จบแล้ว ทุกคนมันก็มองผลประโยชน์ของประเทศตัวเองเป็นหลัก จริงๆ มันเป็นปัญหาใหญ่มาก แต่คนมักคิดไม่ถึง

ยกตัวอย่างง่ายๆ เลย ตอนนี้เทือกเขาหิมาลัย เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสายสำคัญ 7 สายในทวีปเอเชีย ทุกวันนี้ชั้นน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยละลายไปเรื่อยๆ ถ้าเกิดวันหนึ่ง มันไม่มีขึ้นมา นั่นหมายความว่า แม่น้ำ 7 สายนี้จะหายไปด้วย ถึงตอนนั้นคนเป็นร้อยล้านคนจะไม่มีน้ำกิน และมันก็ไม่ได้หมายความว่าถ้าวันนี้เราสามารถหยุดปล่อย CO2 ได้มันจะหยุดละลายนะ เพราะชั้นน้ำแข็งพวกนี้ใช้เวลาสะสมเป็นแสนปี แสดงว่ามันก็ต้องใช้เวลาอีกเป็นแสนปีในการสะสมให้มันขึ้นมาใหม่ ทำใจไว้เลยว่าอีกไม่นานมันส่งผลกระทบแน่นอน เพียงแต่ว่ามันจะช้าหรือเร็วแค่นั้น ทุกวันนี้หลายๆ เรื่องก็มาเคาะประตูถึงหน้าบ้านเราแล้ว เช่นว่า ไม่นานมานี้มีงานวิจัยออกมาว่า เชื้ออหิวาต์ที่หายไปอาจจะกลับมาใหม่ เพราะโลกอุ่นขึ้น ทำให้วงจรของเชื้อโรคมันเปลี่ยนไป ที่เคยเป็นเฉพาะฤดูร้อนอาจไม่ใช่แล้ว อาจเป็นทั้งปี แต่เราไม่สังเกต ฤดูกาลก็เริ่มเปลี่ยน ซึ่งส่งผลถึงพืชผลทางการเกษตร ตอนนี้ก็เริ่มมีปัญหาบ้างแล้ว

GM : มูลนิธิโลกสีเขียวได้พยายามทำอะไรบ้างเพื่อให้เกิดแรงกระเพื่อมในสังคม

วันชัย : สิ่งที่เรากำลังทำนะ ยังไม่ได้เริ่มอะไรมาก คือผลักดันเรื่องการใช้จักรยาน ซึ่งเรามองว่ามันเป็นทางออกของปัญหาทุกอย่าง ไม่ใช่แค่เรื่องโลกร้อน มันสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสุขภาพ วิกฤติพลังงาน คือมันจบเลยนะ อย่างในกรุงบรัสเซลส์ ตอนนี้คนหันมาใช้จักรยานกันประมาณร้อยละ 40สิ่งที่เกิดขึ้นคือลานจอดรถว่าง ไม่มีรถจอด รัฐเขาก็เริ่มเปลี่ยนอาคารจอดรถพวกนี้ให้กลายเป็นสวนสาธารณะเมื่อเร็วๆ นี้ผมมีโอกาสได้เจอผู้เชี่ยวชาญในการทำจักรยานจากกรุงลอนดอน เขาเล่าให้ผมฟังว่าเขากำลังเสนอกับเทศมนตรีของลอนดอนให้เห็นความสำคัญของจักรยาน เขายกตัวอย่างว่าภายใน 10 ปีข้างหน้า ประชากรในลอนดอนจะเพิ่มขึ้น 850,000 คน แล้วทำตัวเลือกให้เห็นว่าคุณจะแก้ปัญหาการจราจรจากคนที่เพิ่มมาเกือบ 1 ล้านคนได้ยังไง คุณสร้างทางด่วนคุณต้องใช้เงินเท่านี้ สร้างระบบขนส่งมวลชนใช้เงินขนาดนี้ ตัดถนนใหม่ใช้เท่านี้ แต่ถ้าคุณทำทางจักรยานเพิ่ม คุณใช้เงินเพียงเท่านี้ แล้วรณรงค์ควบคู่กับการบังคับใช้ทางกฎหมายทางอ้อม ให้ประชาชนหันมาใช้จักรยาน

ลอนดอนเริ่มต้นโครงการนี้ด้วยการเพิ่มค่าผ่านทางสำหรับรถยนต์ที่จะเข้าไปในเขตดาวน์ทาวน์ ผลที่ได้คือภายในไม่กี่วันที่รถหายไปเป็นหมื่นคัน แล้วเริ่มมีรถจักรยานเพิ่มเข้ามาแทนที่ อากาศดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งตอนนี้ทั่วโลกเริ่มยอมรับว่าจักรยานเป็นทางที่สามารถแก้ปัญหาได้ทุกอย่างจริงๆ และทำได้ง่าย ในเรื่องของสุขภาพ แน่นอนจักรยานช่วยให้คนได้ออกกำลังกาย คนแข็งแรงขึ้น รัฐประหยัดงบประมาณเรื่องสุขภาพลงไปได้มาก แต่บ้านเรายังมองเรื่องจักรยานเป็นการขี่เล่น ไม่ได้มองว่ามันเป็นทางเลือกหนึ่งในการเดินทาง แต่เมืองนอกไม่ใช่ จริงๆ โครงสร้างทางกายภาพของเมืองแก้ไขง่ายกว่าที่ลอนดอนอีก เพราะถนนหนทางกว้างกว่า สามารถทำได้

GM : แล้วเราควรเริ่มจากอะไร

วันชัย : อันดับแรกเลยคุณจะทำยังไงให้คนเชื่อได้ว่าการขี่จักรยานเป็นเรื่องปลอดภัย จริงๆ เคยมีการรณรงค์มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ว่า

ล้มเหลว ตอนนี้ก็มีความคิดจะเริ่มทำใหม่เพราะในช่วง 3-4 ปีมานี้มันสนใจ มีคนเริ่มขี่จักรยานเพิ่มขึ้นเยอะมาก ที่สารคดีมีคนขี่จักรยานประมาณ 10% เลยนะ ถือเป็นสัดส่วนที่สูง แต่สาเหตุที่ขี่อาจไม่ใช่เรื่องสิ่งแวดล้อมหรอก ส่วนหนึ่งก็มาจากคนระดับล่างต้องการประหยัดรายจ่าย น้ำมันมันแพงก็เลยหันมาขี่จักรยาน พอขี่ไปขี่มาก็เริ่มมันแล้วก็เริ่มชวนกันขี่มากขึ้น มากขึ้น ผมเองก็เริ่มสังเกตว่าเดี๋ยวนี้คนกรุงเทพฯ ก็ขี่จักรยานเยอะขึ้นนะ ตอนนี้ก็กำลังคุยกับทาง กทม. อยู่ว่าเราจะทำอะไรกันได้บ้าง

GM : มีโมเดลที่ประสบความสำเร็จไปแล้วบ้างหรือเปล่า

วันชัย : ล่าสุดก็ที่ลอนดอนนี่ละครับ ที่เริ่มไปแล้ว แต่แน่นอนว่ามันก็ต้องทำควบคู่กันไปกับอย่างอื่นด้วย เช่นทำระบบเชื่อมต่อขนส่งมวลชน หาวิธีให้คนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ต้องค่อยๆ ทำ ในไทยก็มีบางแห่งที่ทำแล้วได้ผลดี อย่างในอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย มีประชากรไม่กี่พันคน แต่คนขี่จักรยานถึง 20% เรื่องเริ่มจากหมอ 2 คนผัวเมีย รณรงค์ให้คนมาขี่จักรยาน ขี่ไปขี่มา คนทั้งเมืองก็เริ่มเห็นว่า เออ…อากาศก็ดี ขี่แล้วก็โอเคว่ะ ตอนนี้การขี่จักรยานในอำเภอด่านซ้ายกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วแล้วการขี่จักรยานมันเป็นทางออกที่ง่ายที่สุด ถูกที่สุด ไม่ซับซ้อนในการแก้ปัญหาทุกอย่าง คราวนี้ก็อยู่ที่ว่ารัฐบาลมีกึ๋นพอไหม จะยอมทนให้โดนด่าได้หรือเปล่า

GM : ในอนาคตอีกสัก 30 ปี ตอนนั้นโลกเราคงมีประชากรสัก 9 พันล้านคนได้ คุณคิดว่าโลกของเราจะเป็นอย่างไรถ้าเรายังใช้ชีวิตแบบนี้กันอยู่

วันชัย : 2012 ปีหน้าก็จบแล้วมั้ง (หัวเราะ) คือต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า นักวิทยาศาสตร์ทุกวันนี้มีความรู้ไม่พอที่จะทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ข้อมูลมันก็เปลี่ยนตลอด เราอาจจะมีข้อมูลที่พอใช้ทำนายสำหรับตอนนี้ แต่เดี๋ยวมันเปลี่ยน เพราะปัญหาโลกร้อนมันเป็นปัญหาที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อยู่ดีๆ มันก็มาแบบเฉียบพลัน จนเราไม่สามารถทำนายได้ด้วยความรู้ในตอนนี้ถามว่าเราสามารถบอกได้เลยไหมว่าอีก 30 ปีน้ำจะท่วมกรุงเทพฯ ผมก็เห็นมีอาจารย์จากจุฬาฯ ออกมาทำนายสร้างโมเดลต่างๆ แต่สุดท้าย เราก็ไม่รู้หรอกว่ามันจะถูกต้องหรือเปล่า มันไม่มีใครตอบได้ แต่มันก็เป็นการเตือนสติผู้คนว่า น้ำอาจจะท่วมถึงเท่านี้ เอาเข้าจริงๆ มันอาจจะยิ่งกว่านี้ก็ได้ ถ้าถามผมนะ ผมอาจจะมองเรื่องอื่นๆ ในแง่ดี แต่ในเรื่องสิ่งแวดล้อม ผมเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย ผมคิดว่าความรุนแรงอีกมากที่ยังไม่ปรากฏตัวให้เห็น มันจะต้องมีอะไรมากกว่านี้แน่นอน

ฮิวโก้  (จุลจักร จักรพงษ์) เคยบอกผมว่า เขางงมาก ว่าทำไมคนไทยต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ คือ ‘เชื่อ’ กับ ‘ฟัง’ มันคนละคำกัน ซึ่งอันนี้น่าคิด เพราะนั่นแสดงว่าเรากำลังสอนให้ทุกคนเชื่อฟังทุกอย่าง เด็กห้ามสงสัย ไม่ต้องตั้งคำถาม

ผมไม่เคยปฏิเสธการตลาด เราไม่ได้แข่งกับตัวเองเพียงอย่างเดียวแต่เรากำลังแข่งกับคนอื่นนิตยสารหลายเล่มที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเพราะว่าคนทำอยากจะทำอะไรก็ทำ  ไม่ได้รู้สึกว่าคนอ่านต้องการอะไรอยากได้อะไร

ปัญหาสิ่งแวดล้อมต้องเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องของการสะสม กว่าที่มันจะสำแดงปัญหาออกมา มันใช้เวลาสะสมเป็นเวลานาน  กระทั่งวันหนึ่งที่มันไม่ไหวก็จะค่อยๆ ระเบิด และยากจะกลับไปเหมือนเดิม เรื่องปัญหาโลกร้อนก็เป็นแบบนั้น

ที่สุดของสารคดี 25 ปีที่ผ่านมา สารคดี ทำ ‘สารคดี’ ออกมาหลายเรื่องด้วยกันที่น่าสนใจ และเราเชื่อว่า นี่จะเป็นเล่มที่นักสะสมต้องถามหา และน่าเก็บ100 ปี ภาพยนตร์ในประเทศไทย

เดือนสิงหาคม 2540

เป็นการรวบรวมข้อมูลที่น่าทึ่งอย่างมาก สามารถใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงได้เป็นอย่างดีสำหรับผู้ที่สนอกสนใจเรื่องศิลปะภาพยนตร์ในประเทศไทย รวบรวมความคิดเห็นของคนในแวดวงภาพยนตร์ได้อย่างน่าอ่าน น่าติดตาม โดยเฉพาะบทสัมภาษณ์ที่ออกจะ ‘เซอร์ไพรส์’ เราเล็กน้อยเพราะเป็นเรื่องราวของคุณชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีกับโลกภาพยนตร์ของท่าน ทว่าในเล่มนี้เปิดเรื่องด้วยบทบรรณาธิการที่ขึงขัง เรื่องการเสียชีวิตของ สืบ นาคะเสถียร และ สิริภัทร นันทะวงษ์ ซึ่งเลือกจบชีวิตตัวเองเพื่อให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ป่าไม้ และเป็นเรื่องน่าบังเอิญ ในอีกสามปีต่อมา นิตยสารสารคดีเล่มที่ว่ากันว่านักสะสมตามหามากที่สุด ก็คือเล่มที่ว่าด้วยเรื่องราวของ สืบ นาคะเสถียร      

10 ปี การจากไปของ สืบ นาคะเสถียร

เดือนสิงหาคม 2543

เป็นเล่มที่วันชัยบอกกับเราว่า ในตลาดหนังสือมือสอง สารคดีเล่มนี้แพงไม่น้อย น่าสังเกตว่าตรงมุมบนด้านขวาของนิตยสาร จะมีข้อความเขียนไว้ว่า ‘นิตยสารสำหรับครอบครัว’ พูดได้ว่าการให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัว เป็นความคิดเดียวกับการทำงานของวันชัย แม้กระทั่งวันที่เขาย้ายมาทำงานที่ทีวีไทย เล่มนี้ยังเป็นเล่มแรกที่นิตยสารสารคดีปรับราคาจาก 80 บาทเป็น 90 บาทด้วย

พูนศุข พนมยงค์  สตรีผู้ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น    

เดือนกรกฎาคม 2550

สารคดีเรื่องราวชีวประวัติของ พูนศุข พนมยงค์ ในเล่มนี้

เข้มข้นทรงพลังและเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ เป็นชีวประวัติที่ไม่เคยมีใครได้ใคร่รู้มากนัก ราวกับว่าไม่มีใครอยากจดจำเรื่องราวของเธอ นี่จึงไม่ใช่เพียงแค่บทความที่น่าอ่าน ทว่าเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจมากที่สุดเรื่องหนึ่งทีเดียว

24 วิถีเปลี่ยนโลกด้วยมือเรา

ครบรอบ 24 ปี มีนาคม 2551

เล่มนี้มีการแถมเมล็ดพืช บนหน้าปก นัยว่าเป็นการแสดงถึงความตั้งใจในการลดโลกร้อน และเปลี่ยนกระดาษปก ภายในเป็นเรื่องราว 24 วิถีที่น่าสนใจก็คือสำหรับการลดโลกร้อน เมื่อเรียงสารคดีอยู่บนชั้น หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มที่ ‘หนา’ ที่สุด นั่นคือมีจำนวน 234 หน้ารวมปกในรอบปีที่ 24 – ปีที่ 25 สารคดีเน้นเรื่องราวของสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในหัวข้อ กระทั่งในเล่มครบรอบ 25 ปี สารคดีก็ทำเรื่อง ‘รีไซเคิล เมื่อโลกนี้ไม่มีขยะ’

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ