fbpx

วศิน เฉลิมลาภ ON NEO LIBERALISM

บทสัมภาษณ์ ศศิน เฉลิมลาภ ในคราวนี้ เป็นเหมือนหนังภาคต่อจากบทสัมภาษณ์ในเล่มเดือนเมษายนที่ผ่านมา เมื่อ GM ได้ไปร่วมล้อมวงคุยกับนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมหลายท่าน โดยมีศศินร่วมเป็นหนึ่งอยู่ในนั้น

GM ได้ถามถึงความหวังและอนาคตของสิ่งแวดล้อม นักวิชาการท่านอื่นบอกเล่าถึงการใช้พลังงานทางเลือก นวัตกรรมของเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ รวมถึงนวัตกรรมทางสังคม การรวมพลังประชาชนผ่านสื่อใหม่ๆ ที่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสิ่งแวดล้อมและจิตสำนึกของผู้คนไปในทางที่ดีขึ้นวันนั้นศศินดูมีสีหน้าวิตกกังวล เขาบอกเล่าสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงอยู่หลายจุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ผืนป่าตะวันตก อันเป็นฐานที่มั่นสำคัญของเขาเอง พร้อมทั้งแสดงความเหน็ดเหนื่อยกับการทำหน้าที่ของตนเอง ในฐานะเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ว่ายังไม่สามารถทำงานอย่างได้ผลนักเขาเปรยขึ้นมาว่าศัตรูของนักสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป เมื่อคนรุ่นใหม่มีปรัชญาแบบใหม่ รูปแบบการสื่อสารแบบใหม่ และเขากำลังตามความเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ทันคอนเสิร์ตเพื่อสิ่งแวดล้อมที่เขาเคยจัดแล้วได้รับการตอบรับอย่างมากในสมัยก่อน พอมาวันนี้มันกลับดูเชยสิ้นดี เช่นเดียวกันกับเรื่องจิตสำนึกและคุณค่านามธรรมทั้งหลาย ดูเหมือนว่าจะไม่มีใครพูดถึงกันแล้วในยุคสมัยนี้ปรัชญาใหม่คืออะไร? … การสื่อสารใหม่คืออะไร? …GM มีโอกาสย้อนกลับมานั่งคุยกับเขาอย่างละเอียดอีกครั้ง หลังจากที่เขาเพิ่งหายเหน็ดเหนื่อยจากการเดินเท้า 13 วันเต็มๆ จากอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ มุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ เพื่อรณรงค์คัดค้านรายงาน EHIA เพื่อก่อสร้างเขื่อนแห่งใหม่คณคงได้ติดตามเรื่องราวการเดินเท้าที่แสนโด่งดังครั้งนี้ และพอรู้ถึงผลดีและผลร้ายของเขื่อนแม่วงก์กันมาบ้างแล้ว GM จึงอยากชวนศศินคุยในประเด็นสิ่งแวดล้อมที่กว้างและลึกกว่านั้นวันนี้ศศินดูมีสีหน้าปลอดโปร่ง และเปี่ยมด้วยพลังในการทำงานอนุรักษ์ของเขามากขึ้น และดูเหมือนเขาพร้อมแล้วที่จะตอบคำถามเหล่านั้นอย่างชัดเจน

GM: เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา คุณยังคุยกับ GM อยู่เลย ว่าคุณเป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมรุ่นเก่า ที่กำลังท้อถอยกับการสื่อสารกับคนรุ่นใหม่

ศศิน : ก็นี่แหละครับ ที่ผมหาหนทางอื่นในการสื่อสารไม่ได้แล้วจริงๆ เป็นอาการของคนสิ้นคิดก็ว่าได้ เลยต้องออกมาเดินเท้า เพราะการประท้วงด้วยวิธีเดินเท้าแบบนี้เป็นวิธีสากล ใครๆ ก็ทำกันมาตั้งนานแล้ว ตั้งแต่คานธีที่ประท้วงเรื่องเกลือ การเดินขบวนเป็นเรื่องปกติ การเดินประท้วงทำกันอยู่ตลอดเวลา ผมก็เลยลองเอามาทำตาม เพราะไม่รู้ว่าจะทำอะไรได้อีกแล้ว ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ผมใช้ความเป็นนักวิชาการที่ยังคงหลงเหลืออยู่บ้าง นั่งติดตามข้อมูลต่างๆ อ่านเอกสาร EHIA ลงพื้นที่ไปสำรวจน้ำ พวกเราทุกคนในมูลนิธิสืบฯ พยายามนำเสนอข้อมูลเหล่านี้ไปให้ผู้เกี่ยวข้อง ทำให้เรารู้เรื่องนี้ดีพอสมควร รายงานก็จะผ่านแล้ว เขื่อนก็จะต้องสร้างได้แน่ สถานการณ์

ทุกอย่างเร่งรัดเรามาทุกทาง ในขณะที่พวกเราก็พบความผิดปกติเยอะแยะในขั้นตอนต่างๆ เราไม่รู้จะทำอย่างไรก็ต้องแสดงออกโดยการเดินประท้วง

GM: วิธีเก่าแก่ที่สุดอย่างการเดิน กลับเปิดโอกาสให้ผู้คนในสังคมที่ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารใหม่ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมใช่ไหม

ศศิน : การเดินทางไกลๆ เป็นการทอดระยะเวลาการประท้วงออกไป เพื่อเปิดโอกาสให้คนเห็นมากขึ้น มันเป็นยุทธวิธีที่เราคิดกันไว้ ตอนแรกผมจะออกเดินจากกรุงเทพฯ กลับไปหาแม่วงก์ของผม ผมรักแม่วงก์ ผมจะไปหา เดินจากมูลนิธิสืบฯ ไปแวะ สผ. (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) ไปวางหรีดเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าผมไม่ไว้ใจคุณแล้วนะ คุณตายจากชีวิตผมไปแล้ว แล้วออกไปทางรังสิต หวังว่าตอนนั้นเราจะมีข่าวแล้ว ก็ค่อยๆ เดินไป ท่ามกลางแดดร้อนๆ จนไปถึงแม่วงก์ แล้วก็มีคนแนะนำ พี่วีรวัฒน์ ธีระประสาท แนะนำว่าทำไมเราเดินจากกรุงเทพฯ ไปแม่วงก์ล่ะ ถ้าไปถึงแม่วงก์ คุณจะต้องผ่านอำเภอลาดยาว ซึ่งมีกลุ่มคนที่สนับสนุนเขื่อน ในเวลาที่คุณกำลังบาดเจ็บที่สุด อ่อนแรงที่สุด และข้อมูลข่าวสารอาจจะร้อนแรงที่สุด คุณจะไปผ่านตรงนั้นได้อย่างไร นักข่าวจะตามไปช่วยคุณหรือเปล่า ทำไมไม่เดินจากแม่วงก์กลับมาถึงกรุงเทพฯ ล่ะ เพื่อค่อยๆ สะสมพลังจนกระทั่งมาถึงกรุงเทพฯ พอดี ผมก็อืมม์ๆ น่าคิดๆ การเดินมากรุงเทพฯ ทำให้คนกรุงเทพฯ รู้สึกไคลแมกซ์ในวันสุดท้ายได้

GM: วิธีการสื่อสารยุคเก่า คือการจัดคอนเสิร์ตแอ๊ด-หมู-ปู-หงา แต่ในทุกวันนี้ โซเชียลมีเดียมีความสำคัญกว่า และได้ผลมากกว่าแล้วใช่ไหม

ศศิน : ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเร็วมากนะ ผมคิดว่าในยุคนี้ต้องจับคนรุ่นใหม่ที่ใช้โซเชียลมีเดีย เพราะคนที่เคยไปร่วมคอนเสิร์ตหงา-หมู-ปู-แอ๊ด ของเราในสมัยก่อน คงไม่ได้อยู่ในโลกโซเชียลมีเดียตรงๆ อย่างที่เราใช้กันอยู่ โซเชียลมีเดียใช้ได้ผลดีตั้งแต่สมัยปี 2554 ที่ผมถ่ายคลิปเรื่องน้ำท่วมใส่ไว้ในยูทูบแล้วนะ ตอนนั้นผมยังใช้เครื่องแล็ปท็อปส่วนตัวอยู่เลย แต่มาวันนี้เปลี่ยนแล้ว เปลี่ยนไปอยู่บนมือหมดทุกอย่าง มือถือ สมาร์ทโฟน โดยเครื่องมือคือโซเชียลมีเดียเหมือนเดิม แต่ตรงตัวเครื่องของเรามันเปลี่ยนหมด สมัยก่อนต้องใช้นักร้องดังๆ ในการส่งข้อมูลข่าวสารไปสู่ผู้รับสาร เซเลบริตี้ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ เกิดความน่าสนใจขึ้น แต่เดี๋ยวนี้เป็นอะไรบางอย่างที่พวกเราทำกันได้เอง เพราะเราก็มีช่องทางในเฟซบุ๊ค ผมอาจจะได้เปรียบคนอื่น เพราะมีคนฟอลโลว์ผมอยู่เจ็ดหมื่น มีแฟนเพจอีกสองหมื่นห้า มีเพจของมูลนิธิสืบฯ มีทั้งทวิตเตอร์ อินสตาแกรม การแอพพลายไปบนมือถือ เดี๋ยวนี้ก็ไม่มีปัญหาอะไรแล้ว ระบบของมูลนิธิก็ทำได้ เรามีทีมที่ช่วยกันทำงานสื่อโซเชียลมีเดีย 2-3 คน ที่ทำงานนี้โดยเฉพาะ ทีมงานเราพร้อมที่จะทำงานกับโซเชียลมีเดีย โดยยุทธศาสตร์การเดินของผม ไม่ว่าสื่อหลักจะทำงานหรือไม่ทำงาน อย่างน้อยผมคิดว่าเราไม่แป้กแน่ (หัวเราะ) ถึงเขาไม่มาทำข่าวเรา เราก็ยังมีโซเชียลมีเดีย ที่สำคัญ พวกนักข่าวสายสิ่งแวดล้อม ความสัมพันธ์ของผม ของมูลนิธิสืบฯ กับเขาก็ยังมีคอนเนคชั่นที่ดี แม้ว่าทีวีช่องหลักจะไม่มาทำข่าวเลย แต่พวกหนังสือพิมพ์ก็ยังทำปกติ

GM: ระหว่างเดินอยู่ จิตใจพองฟูแค่ไหน น้ำตาไหลเลยหรือเปล่า

ศศิน : ไม่ๆ (หัวเราะ) ผมไม่ใช่คนต่อมน้ำตาตื้น …(นิ่งอึ้งไป)… ตลอดการเดินทาง ผมน้ำตาไหลครั้งเดียว วันนั้นพวกเราเกือบจะมาถึงกรุงเทพฯ แล้ว ฝนกำลังตก ผมเห็นอดีตผู้จัดการมูลนิธิสืบฯ คนที่ผมไม่เคยทำงานด้วย เราแค่รู้จักกันห่างๆ เขาอยู่มูลนิธิมายาวนาน เดินมาพร้อมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจกรรม ผมเห็นเขาเดินลงมาจากสะพานลอยวันที่ฝนตก เดินเข้ามากอดผม พวกเรากอดกันอยู่กลางสายฝน ผมน้ำตาไหล…(ยิ้ม) … คนเก่าแก่ที่อยู่มูลนิธินี้มายาวนาน เคยทำงานให้พี่สืบ พอเห็นคนรุ่นหลังออกมาเคลื่อนไหวก็ไม่ทิ้งกัน วันนั้นคือวันที่ผมน้ำตาไหลนะ

วันอื่นๆ ใจมันพอง วันที่เหนื่อยที่สุดแล้วมีเด็กราชภัฏนครสวรรค์ พวกเด็กวัยรุ่นเลยนะ เอาน้ำแดงใส่คูลเลอร์มาให้กิน แล้วก็ร่วมเดินไปด้วยกัน เวลาเห็นคนมาร่วมเยอะๆ ก็ไม่กลัวอะไรแล้ว อย่างวันแรกที่ออกเดิน ก้าวแรกที่เดินออกมาจากหน่วยพิทักษ์ป่าแม่เรวา อาจารย์ณรงค์ แรงกสิกร อายุ 61 ปี ที่เป็นเจ้าถิ่นอยู่แม่วงก์ ทำงานอนุรักษ์ป่า คัดค้านเขื่อนเหมือนกัน แกมายืนรอพวกเราตั้งแต่ตีสี่ รู้ว่าพวกเราจะออกเดินตรงจุดนี้ แกก็มาเดินเป็นเพื่อน พอมีมิตรที่เป็นเจ้าถิ่นมาเดินร่วมกับเรา ความไม่มั่นใจต่างๆ ที่จะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก็หายไปครึ่งหนึ่ง พอผ่านไปถึงตอนเที่ยง นักอนุรักษ์ที่เป็นเพื่อนเราที่นครสวรรค์ ชื่อ อดิศักดิ์ จันทวิชานุวงษ์ ก็มาเดินด้วย พอตกบ่ายวันนั้น หอการค้านครสวรรค์ พวกนักธุรกิจข้างในก็ตามคุณอดิศักดิ์มา พวกเขามาบอกผมสนับสนุนคุณนะ เอาดอกไม้มาให้ ระหว่างทางก็มีชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับเขื่อน เขาขายพวงมาลัยอยู่ ก็เอาพวงมาลัยมาให้ เขาพูดกับผมเรื่องน้ำเรื่องท่า ว่าถึงมีเขื่อน เขาก็ไม่ได้อะไร และก็มีหญิงสาวสวยคนหนึ่ง ขับรถป้ายแดงมาจอดขวางขบวน ผมไม่รู้ว่าใคร เธอเดินลงมาบอกว่า ให้กำลังใจเพราะรู้จากเฟซบุ๊ค ตั้งแต่วันแรกเลย เรารู้สึกว่าเราเดินถึงแน่ๆ ส่วนชาวบ้านที่สนับสนุนการสร้างเขื่อนก็มาคุยกับพวกเราด้วยเหมือนกัน เราไม่โต้เถียงอะไร เพราะรู้ๆ อยู่ว่าชุดข้อมูลคนละชุด เขาก็มาบอก คุณศศิน! ผมเอาเขื่อนนะ ก็เท่านั้นแหละ

GM: การทำงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มันเหนื่อยแค่ไหน ทำให้จิตใจห่อเหี่ยวท้อแท้แค่ไหน ถึงขนาดที่ทำให้คุณสืบ นาคะเสถียร ต้องฆ่าตัวตาย

ศศิน : คุณูปการของพี่สืบ ทำให้คนไทยหันมาสนใจประเด็นสิ่งแวดล้อมตั้งแต่วันนั้น ในยุคสมัยนั้น มันแน่นอนว่านักอนุรักษ์ต้องห่อเหี่ยว เพราะอะไร? เพราะไม่มีใครเลยในสังคมที่สนใจสิ่งที่เราทำ เพราะสมัยนั้นคนไทยเราไม่มีความรู้เลยด้วยซ้ำ ว่าต้องอนุรักษ์ธรรมชาติไปทำไม ชีวิตนักอนุรักษ์แบบนั้นต้องห่อเหี่ยวแน่ๆ ถึงแม้จะช่วยชีวิตสัตว์ป่าได้กี่ตัว อย่างในภาพถ่ายเก่าๆ ที่พี่สืบไปช่วยสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลาน เขาช่วยไว้ได้หลายพันตัว แต่ตามสถิติตัวเลขที่ประเมินกันคร่าวๆ แกบอกเองเลยว่านั่นคือช่วยมาได้ไม่เกิน 10% ที่เหลือก็ตายหมด ข้อมูลแบบนี้น่าห่อเหี่ยวใจไหม ชีวิตของพี่สืบจะว่าไป ก็เป็นความสำเร็จที่มีความไม่สำเร็จมาบดบัง สิ่งที่พี่สืบมีความสุขที่สุด คือการคัดค้านเขื่อนน้ำโจนได้สำเร็จ พอมารับผิดชอบเรื่องห้วยขาแข้ง มีแต่เรื่องราวที่พ่ายแพ้ แต่ผมก็เชื่อว่าเขาได้ทำเต็มที่ในชีวิตของเขาแล้ว และก็เกิดผลดีในระดับหนึ่งแล้ว ผลพจากวันนั้น ทำให้นักอนุรักษ์อย่างผม ไม่ได้อยู่ในสภาพโดดเดี่ยวอีกต่อไป เรามีเพื่อนมีมิตรตลอดเวลา มีขบวนการอนุรักษ์ที่เกิดขึ้นตามหลังคุณสืบมามากมาย แม้ว่าจะลดน้อยถอยลงไปบ้างในทุกวันนี้ แต่เราไม่ทิ้งกัน ผู้คนที่เคยทำงานกับมูลนิธิสืบฯ ตั้งแต่รุ่นก่อตั้ง แทบจะไม่เคยทำงานอะไรกับผมเลย ไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่าเขาพอใจกับการทำงานของพวกเราที่เป็นเด็กรุ่นหลังหรือเปล่า แต่พอมาถึงวันนี้ เขาก็รู้ว่าเราเหนื่อย ลูกน้องเก่าๆ ที่อาจมีความขัดแย้งกับผมแล้วลาออกไป เกือบทุกคนก็เห็นกลับมาร่วม

ในขบวนนี้ ไม่มีใครทิ้งประเด็นสิ่งแวดล้อม

นักอนุรักษ์รุ่นพี่ที่ผมแทบไม่เคยทำงานกับเขาเลย พี่จืด กลุ่มเด็กรักป่าสุรินทร์ ก็แจ้งมาแต่ก่อนเดินทางเฟซบุ๊คว่าจะมาด้วย 5 วัน อย่างพี่โชคดี ปรโลกานนท์ ทำงานอยู่ที่เขาแผงม้าจนกระทิงกลับมา เป็นนักอนุรักษ์ ระดับตำนาน ก็มาเดินด้วยถึง 5 วัน พร้อมทั้งบอกว่าผมรู้ว่าอาจารย์ศศินไม่มีประสบการณ์เท่าผมในการเดินแบบนี้ ผมจึงมาเดินเป็นเพื่อน เผื่อจะได้ให้คำแนะนำ นักสิ่งแวดล้อมอาวุโสที่เป็นนักวิชาการที่คนนับถือที่สุด คือ ศ.ดร. ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ก็มาคนเดียว นั่งแท็กซี่มาแล้วเดินตามขบวนอย่างเงียบๆ เพื่อแสดงออกให้เห็นว่าผมเห็นด้วยกับคุณ สนับสนุนคุณ ตลอดทาง 13 วันมีแต่บรรยากาศแบบนี้ ผมคอยเซอร์ไพรส์ตลอดว่าใครจะมา อย่างพี่หงา ผมไม่เซอร์ไพรส์เพราะเราสนิทกัน เรารู้จักกันระดับหนึ่ง เหมือนเพื่อนเหมือนมิตร แต่ผมกับน้าหมู-พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ เราคุยกันแค่ครั้งสองครั้ง ไม่สนิทสนมอะไรเลย ค่อนข้างห่างกันมาก น้าหมูเดินมาบอกว่าผมขอเดินด้วยนะ วันนี้วันเกิดผม ผมไม่อยากเพียงแค่กินเหล้าอยู่ที่บ้าน โน้ต-วัชรบูล ลี้สุวรรณ เป็นใคร ผมไม่รู้จัก เขามาเดินกับเราตั้ง 2-3 วัน

GM: ถ้าเทียบกับนักการเมืองที่หาเสียงทางโซเชียลมีเดีย อย่างคุณสุหฤท สยามวาลา ทำไมถึงไม่ประสบความสำเร็จในคะแนนเสียงเลือกตั้ง

ศศิน : ผมว่าตัวเลขที่เขาต้องการมันมากไป ในการเลือกตั้งระดับนั้น เขาต้องการล้านเสียง แต่สเกลของโซเชียลมีเดียมันไม่ถึงขนาดนั้น สเกลของโซเชียลมีเดียคือได้จำนวนคนประมาณงานที่หอศิลป์ กทม. ผมคาดหวังปริมาณคนในระดับนั้นอยู่แล้ว แต่ไม่ได้คิดว่าจะได้เท่าที่คาด เราวางแผนเรื่องสื่อไว้เยอะ ตอนแรกที่คิด ถ้าสื่อหลักทำงาน ทีวีช่อง 3 5 7 9 เห็นผมเป็นของแปลก เป็นไอ้บ้าคนหนึ่งที่เดินเท้ามา แล้วมันจะเป็นข่าวตรงที่ได้ลุ้นกัน ว่าจะมาถึงไม่ถึง ผมอาจจะมีข่าวบาดเจ็บ ข่าวป่วยกลางทาง ข่าวแบบนี้มันน่าจะมีให้คนติดตาม แต่ไม่ได้หมายความว่าแกล้งทำนะ (หัวเราะ) ตอนแรกก็คิดว่าคนคงให้ความสนใจจากสื่อหลักเป็นหลัก แต่ไม่เคยคิดเลยว่าจะมีการมาร่วมเดินกันแบบนี้เป็นขบวนใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

GM: คิดว่าเพราะอะไร ทำไมถึงมีข่าวน้อยนัก

ศศิน :  พูดตรงๆ เลยคือว่าข้อสันนิษฐานของเราที่กลัวๆ ก็อาจจะเป็นจริง คือเราเข้าสู่ยุคที่สื่อถูกครอบงำโดยรัฐแล้ว แต่หนังสือพิมพ์ยังไม่โดนเท่าไร เพราะยังพอเห็นว่ามาทำข่าวผม พวกสื่อทางเลือกที่เป็นกลุ่มทางการเมืองหน่อย อย่างเอเอสทีวี บลูสกาย สุวรรณภูมิ ช่องพวกนี้ก็ตามข่าวพวกเราตลอด เพราะเนื้อหาของเราเป็นอะไรที่ค่อนข้างปฏิเสธนโยบายรัฐบาลอยู่แล้ว บลูสกายนี่ชัดเจนเลยว่าเขาตามผม สถานีวิทยุเอฟเอ็มร้อยหนึ่ง บางวันก็จะตาม ทำให้ข่าวขยายออกไปไกล เพราะตอนนี้ความนิยมในสื่อทางเลือกพวกนี้ ก็ไม่ได้น้อยกว่าสื่อหลักเท่าไรแล้ว แต่ว่าคนทั่วไปที่ดูแค่ฟรีทีวี จะไม่ได้รับข่าวสารเรื่องนี้เลย มีแต่ช่องไทยพีบีเอส ซึ่งไม่น่าจะนับเป็นสื่อหลัก กลุ่มผู้ชม

ไทยพีบีเอสอาจจะยังไม่มากเท่าฟรีทีวีช่องอื่นๆ แต่เมื่อใดที่คนสนับสนุนผม เป็นแม่ค้าที่สะพานควาย อนุสาวรีย์ชัย หรือเป็นชาวบ้านในกรุงเทพฯ ที่เป็นแม่บ้านผู้เฝ้าดูรายการข่าวยามเช้า แบบนี้สิ ที่จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลง ผมอยากให้สื่อหลักทำงาน ผมไม่คิดเลยว่ามันจะน่าวังเวงขนาดนี้ ทั้งที่ทำใจไว้ระดับหนึ่งแล้ว

ช่วงหลังๆ มีคนเอาผมไปเปรียบกับม็อบยาง

ทางภาคใต้ ว่าการเดินแบบของผมมีอารยะมากกว่า ถือเป็นประท้วงแบบใหม่ ซึ่งผมไม่ได้ภูมิใจอะไรกับ

การเปรียบเทียบแบบนี้เลย เพราะถ้าผมเป็นคนกรีดยาง ผมก็ออกมาประท้วงเหมือนกัน แต่ผมไม่มีพวกมากพอจะออกมาปิดถนน ทำไมม็อบยางต้องปิดถนน เพราะเขาเล่นเฟซบุ๊คไม่ได้อย่างผม ปัญหาเขาก็พยายามนำเสนอออกมาโดยตลอด แต่ก็คงโดน

เหมือนผม คืออะไรที่ไม่เป็นผลดีต่อรัฐ สื่อหลักก็ไม่ไปเจาะอีกแล้ว ถ้าเขาแค่ออกมานั่งประท้วงข้างถนน หรือเดินไกลๆ เขาก็ไม่ได้รับความสนใจหรือไม่ได้รับการแก้ปัญหา เพราะสื่อหลักไม่เล่น เขาก็เลยต้องปิดถนน เพราะสื่อหลักจะได้ทำข่าวเรื่องปิดถนน

ถ้าสื่อหลักทำงาน ประเด็นในสังคมนี้มันจะได้ครบไง มันควรจะได้สร้างสติปัญญาให้สังคมนี้ได้เยอะเลย ชุดความจริงของผม บรรดาข้อมูลที่ผมเสนอ ก็ควรจะต้องโดนตรวจสอบด้วย ถ้าผมผิด ผมก็หนีหายไปจากวงการสิ่งแวดล้อม ก็จบแค่นั้น แล้วก็สร้างเขื่อนไปถ้ามันดีจริง ผมจึงเข้าใจม็อบยางเลยว่าทำไมต้องปิดถนน เพราะสื่อหลักไม่เล่น เขาต้องการให้คนมารับผิดชอบกับชุดความจริงของเขา ที่ราคายางตกต่ำจากสาเหตุอะไร

GM: รู้สึกอย่างไรที่ความเห็นของคุณ มักจะถูกโยงเข้าเรื่องการเมืองบ่อยๆ

ศศิน : ทุกเรื่องมันก็ต้องเกี่ยวกับการเมืองอยู่แล้ว แต่โดยส่วนตัว ผมไม่มีอะไรเกี่ยวกับการเมืองเป็นพิเศษ ผมเป็นนักสิ่งแวดล้อม ถามว่าในสมัยนี้น่ะ มีอะไรที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองบ้างไหม ในขณะที่เราไม่พอใจเรื่องเขื่อน ถามว่ามีมิติอื่นๆ แฝงอยู่ด้วยไหม อาจไม่ใช่แค่ผมคนเดียวในกระบวนการของสังคม หมายความว่า ในการตรวจสอบเรื่องสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลชุดนี้ ผมตั้งข้อกล่าวหาว่า พวกคุณทำให้กระบวนการตรวจสอบ การทำ EHIA หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ผมเคยให้ความเชื่อถืออย่าง สผ. กลายเป็นหน่วยงานที่ตกต่ำ ตกต่ำโดยใคร โดยการแทรกแซงของรองนายกฯ ที่ดู กบอ. (คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย) หรือเปล่า? ผมกล่าวเรื่องนี้มาตั้งแต่ก่อนออกเดิน การกล่าวเช่นนี้ถือเป็นการเมืองหรือเปล่า มันก็ใช่ ผมกล่าวถึงการใช้งบประมาณ 3.5 แสนล้าน ซึ่งผมไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในรูปแบบนี้ เพราะผมมีความรู้เรื่องน้ำ ผมมีข้อมูลแบบอื่นๆ แบบนี้ก็การเมืองด้วยหรือเปล่า

ผมไม่ได้โจมตีเพียงเพราะว่าเขาอยู่ฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง แต่ผมไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เขากำลังจะทำ ในระบอบประชาธิปไตย ผมเป็นเสียงข้างน้อย คุณเป็นรัฐบาล คุณมีอำนาจ คุณมีงบ คุณก็ทำไป แต่ผมต้องมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ ดังนั้น มันไม่มีอะไรที่ไม่เป็นการเมืองหรอก ผมไม่เคยปฏิเสธเลยว่าผมไม่ชอบนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ผมไม่เคยปฏิเสธว่าผมไม่เอาทักษิณ แต่ผมไม่มีอะไรกับพวกเพื่อนๆ ที่เป็นเสื้อแดงเลยนะ ผมเองก็ชอบซ้าย ผมเข้าใจการต่อสู้ทางชนชั้น ที่เขาเรียกร้องการกระจายรายได้ กระจายอำนาจ สิ่งที่เขาแสดงออกทางสัญลักษณ์ การสร้างวาทกรรมไพร่-อำมาตย์ วันนี้ผมไม่ได้มีเรื่องขัดแย้งอะไรกับเขา แต่ในใจผมเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยตรงจุดไหน นั่นเป็นเรื่องของผม ผมไม่ชอบคุณทักษิณ ผมก็เปิดเผยชัดเจน ผมไม่ชอบวิธีทำงาน ไม่ชอบระบบทุนนิยมเสรีในรูปของเสรีนิยมประชาธิปไตย ผมเห็นข้อเสียของมัน ผมออกมายืนฝ่ายตรงข้ามตลอดมาอยู่แล้ว ผมชอบธรรมชาตินิยม ซึ่งตรงกันข้ามกับประชานิยม ถ้าประเทศไทยมีพรรคกรีน ผมก็ต้องเลือกพรรคกรีน

GM: ทุนนิยมและเสรีนิยม ขัดแย้งกับธรรมชาตินิยมอย่างไร

ศศิน : ผมกำลังสนใจเรื่อง นีโอลิเบอรัลลิสม์ ซึ่งจริงๆ แล้วตอนนี้ผมไม่ค่อยเข้าใจมันชัดเจนเท่าไรนัก แต่เท่าที่รู้คือในแง่จิตวิญญาณ มันคือซาตาน มันคือเสรีนิยมโดยไม่มีอะไรกำกับดูแล มันคือการเปิดเสรีไปตามแรงกระตุ้นของความต้องการ มันคือการวัดผลด้วยตัวเลขการเจริญเติบโต ตัวเลข GDP ซึ่ง GDP ในทุกวันนี้จะถูกกระตุ้นด้วยอะไร เบสิกสุดๆ ก็คือความฟุ่มเฟือยของวิถีชีวิตของพวกเราใช่ไหม มันไม่ใช่เสรีนิยมเหมือนเสรีนิยมสมัยก่อน ที่เราเคยมีพวกฮิปปี้ บุปผาชนผมยาวๆ แสวงหาทางจิตวิญญาณ แต่มันเป็นเสรีนิยมในแง่นโบายของรัฐ ที่ใครๆ ก็สามารถเข้ามาแข่งขันอย่างเสรี เพื่อสร้างความมั่งคั่งจากฐานทรัพยากรธรรมชาติ ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างไม่มีข้อจำกัด มันทลายกำแพงของการเข้าถึงทรัพยากรเช่น ข้ออ้างเรื่องความเป็นชาติ ความเป็นท้องถิ่น ทุกวันนี้เรามีบรรษัทข้ามชาติเข้ามาตักตวงอะไรไปได้ง่ายๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ชาติของเรา ทองของเรา ทรัพยากรของเรา เราเคยคิดว่าจะเก็บรักษาไว้ให้ลูกหลาน แต่แนวคิดแบบใหม่ในยุคนี้มันไม่ใช่แล้วไง นีโอลิเบอรัลลิสม์คือทำอย่างไรให้ทุนทะลุทะลวงเข้ามาใช้งานเพื่อการเจริญเติบโตอย่างไม่จำกัด กระแสโลกาภิวัตน์ ไม่มีพรมแดนของชาติ ไม่มีกำแพงภาษี อย่างที่เราเห็นกันในเรื่อง FTA เรามีกระเทียมราคาถูกๆ จากประเทศจีนสามารถเข้ามาได้ เพราะเราสามารถทำกำไรสูงสุดจากกระเทียมจีน เราจึงไม่ต้องสนใจเกษตรกรไทยที่ปลูกกระเทียมแล้ว

เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมเคยไปช่วยทำงานอนุรักษ์เรื่องเหมืองถ่านหินที่อำเภอเวียงแหง ด้วยความที่ประเทศเรากำลังต้องการพลังงานไปตอบสนองการขยายตัวของเมือง เราก็ต้องไปขุดถ่านหินที่เวียงแหงมาใช้ ซึ่งจะต้องขุดทั้งตลาดเวียงแหงให้หายไปเลย คนที่นั่นก็ไม่ยอม พูดถึงเวียงแหง ใครๆ ก็คิดว่าเป็นชนบทห่างไกลใช่ไหม แต่เปล่าเลย เขาขับรถปิกอัพกันทุกบ้าน เขาปลูกกระเทียมกันทั้งหมู่บ้าน มีกระเทียมคุณภาพดีมาก ขายดีมาก ถ้าดูจากแผนที่ เขาเหมือนเป็นพื้นที่ชายแดน แต่ถ้าไปดูวิถีชีวิตจริงๆ ทำไมเศรษฐกิจเขาดีอย่างนี้ เศรษฐกิจดีอยู่แล้ว ทำไมต้องถูกตัดบ้านไป ตัดไร่กระเทียมออกไป เพื่อขุดถ่านหิน ตอนนั้นเป็นช่วงจังหวะเวลาเดียวกับเรื่อง FTA พอดี พอกระเทียมจีนเข้ามา ก็ทำลายเศรษฐกิจของคนที่เวียงแหงไปหมดเลย นี่คือนีโอลิเบอรัลลิสม์ใช่ไหม ตรงไหนต้นทุนถูกกว่า ตรงไหนมีประสิทธิภาพสูงกว่า เราก็ไปเอาจากตรงนั้น แต่พอตรงไหนหมดประโยชน์แล้วก็เอาไปทำเหมือง

อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ชายแดนไทย-พม่า เริ่มต้นมีการศึกษาโครงการเหมืองถ่านหินตั้งแต่ปี 2526 ฝ่ายเอ็นจีโอกล่าวหาว่าเป็นการดำเนินการโดยรัฐ และ กฟผ. อย่างเงียบๆ โดยที่ชาวบ้านคนในพื้นที่ไม่เคยรับรู้มาก่อนล่วงหน้าว่าจะเกิดผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนหรือไม่

ข้อมูลจากสำนักข่าวประชาไทhttp://prachatai.com/journal/2011/04/34184

GM: หลายสิบปีก่อน ศัตรูของนักอนุรักษ์คือพวกนักการเมืองและข้าราชการกินป่า แต่พอคุยถึงเรื่องอุดมการณ์และแนวความคิดใหม่ แบบนี้มันเป็นเรื่องนามธรรมที่แทรกซึมเข้าไปในจิตใจของคน

ศศิน : ใช่ๆ ผมยังคุยกับเพื่อนๆ เรื่องนี้กันอยู่เลย ตอนระหว่างที่เดินเท้ากัน มันคือเส้นทางที่พวกเราขับรถไป-กลับกันบ่อยๆ พวกเราขับรถผ่านเส้นทางนี้เป็นสิบๆ รอบแล้ว เพื่อการดูพื้นที่สร้างเขื่อนแม่วงก์ ผมก็คุยกับเพื่อนว่าเราขับรถกันแป๊บเดียวเองนะ แต่เวลามาเดินเท้ากัน ทำไมเราต้องเดินกันทั้งวันแบบนี้วะ (หัวเราะ) คือแท้จริงแล้วโลกของเราใหญ่โตมากเลยนะ ถ้าเราเดินเท้ากัน แค่อำเภอเดียว คุณเดินไม่ทั่วแล้ว โลกทั้งใบนี่เราอยู่กันไม่หมดหรอก มันใหญ่มาก แต่โลกมันหดลงเหลือเล็กนิดเดียว เมื่อเราขับรถไปๆ มาๆ ถ้าเป็นแบบนี้ คุณจะปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามสัญชาตญาณความอยากอย่างเดียวเลยเหรอ ต้องกินเยอะ ต้องใช้เยอะ ต้องมีความสุขเยอะ ต้องสะดวกสบายต้องเร็วกว่าคนอื่น ทำอะไรที่เด่นกว่าคนอื่นตลอด โดยใช้สัญชาตญาณ ไม่ต้องมีการกำกับโดยอะไรแล้ว แข่งขันไปก็ขุดทรัพยากรมาใช้มากขึ้น ก็ปล่อยไปตามที่ไม่มีคนสั่งสอน จะบอกว่าพ่อแม่ไม่สั่งสอนก็ได้นะ พ่อแม่ผมเคยสั่งสอนให้คนรุ่นผมประหยัด สมัยนี้ไม่มีแล้วไง คุณก็อยู่ไปตามแรงขับดัน ทุกคนก็ต้องอยู่ในวงจรของการแข่งขันที่เร็วขึ้นเรื่อยๆ

GM: แต่การขับรถช่วยทำให้คุณไปศึกษาพื้นที่สร้างเขื่อนได้รวดเร็วขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาเดิน

ศศิน : มันก็จริงที่เราไม่ต้องเสียเวลา แต่ถ้าสเกลเวลาของเราทุกคนเท่ากันทั้งโลกล่ะ คนเดินเหมือนกันทั้งโลก แบบนี้เราก็ไม่รู้สึกว่าเสียเวลาหรอก ดูคนสมัยโบราณสิ เขายังสามารถเดินทัพกันนาน 3 ปีเพื่อไปรบกับคนไม่รู้จักได้เลย เวลาเดินไกลๆ ผมได้คิดเรื่องอะไรพวกนี้เยอะมาก โลกกว้างใหญ่ โลกเพียงพอสำหรับทุกคน แต่ไม่พอสำหรับคนโลภคนเดียว คนโลภที่มีเครื่องมือ สมมุติคุณมีรถยนต์ ก็เดินทางไปถึงได้เร็วกว่ามาก เข้าถึงโอกาสได้มากกว่า เร็วกว่าคนอื่น

GM: เดี๋ยวนี้มีอะไรที่เร็วกว่ารถ เร็วกว่าเครื่องบินเสียอีก คือการสื่อสารบนฝ่ามือ อย่างที่คุณใช้ในการรณรงค์สิ่งแวดล้อม นั่นเร็วกว่าอะไรทั้งหมดที่ว่ามา

ศศิน : ก็ผมจะทำงานสื่อสาร ก็ต้องอยู่ในช่องทางเดียวกับกลุ่มเป้าหมายสิ ในเวลาปกติ ผมใช้ซัมซุงฮีโร่นะ จนกระทั่งวันที่จะออกเดินนี่แหละ ผมไปซื้อซัมซุงเมกามาใช้งาน มันออกมาใหม่ ราคาถูกกว่า เครื่องนี้หมื่นกว่าบาท ใช้ถ่ายรูป ใช้เล่นโซเชียลมีเดียได้ ถ้ารุ่นอื่นมีถูกกว่านี้ ผมก็จะซื้อมาใช้ แต่รุ่นถูกๆ ฟังก์ชันไม่ครบถ้วนที่จะใช้งานอย่างนี้ ถ้าให้ผมใช้โน้ตบุ๊คก็ได้ ผมก็ไปนั่งเล่น นั่งพิมพ์ตามศาลาพักริมทาง ซึ่งมันไม่ใช่ ไม่สะดวก เลยต้องไปซื้อสมาร์ทโฟนมาใช้

GM: คนในท้องถิ่นกำลังออกมาก่อม็อบเพื่อต้องการให้สร้างเขื่อน ในขณะที่คนเมืองที่ออกมาเรียกร้องอะไรมากมายผ่านสมาร์ทโฟนบนฝ่ามือ

ศศิน : วิธีคิดของคนกลุ่มนี้มี 2 หลักใหญ่ๆ คือ 1. คนส่วนใหญ่ต้องการ และ 2. คนพื้นที่ต้องการ คุณไม่ได้อยู่ในพื้นที่ จะมาพูดอะไรทำไม นี่คืออาวุธหลักของเขา และทำให้เราอยู่คนละโลกกัน

GM: มันแฟร์กว่าไหม ถ้าคิดแบบท้องถิ่นนิยม

ศศิน : ผมว่ามันไปพ้องกับนีโอลิเบอรัลลิสม์มากกว่า ทุกวันนี้ทุกคนพยายามเข้าสู่ทรัพยากร แต่อันนี้คืออุทยานแห่งชาติ มันเป็นของส่วนรวม ของสาธารณชน เวลาผมบอกออกไปว่ารักป่าแม่เรวา ผมก็จะโดนด่ากลับมาว่าเป็นชนชั้นกลางสีเขียวที่ไม่อยู่ในพื้นที่ ป่านี่มันกินได้ไหม? จะกินป่าหรือกินข้าว? ยกวาทกรรมทำนองนี้มาถล่มตลอดอยู่แล้ว บางทีก็จะมาด่า คุณไม่อยู่ในพื้นที่ คุณไม่รู้หรอก นักวิชาการพวกนี้มันไม่ลงพื้นที่ มันไม่รู้ข้อมูลจริง แต่ผมจะบอกให้นะ ผมและทีมงานในฐานะนักวิชาการ เราได้ไปลงพื้นที่ตลอด และผมถามว่าคนที่ลาดยาวน่ะ เคยไปแม่เรวาหรือเปล่า

GM: แต่ถ้าคิดแบบพวกอนุรักษนิยมทั้งหลาย ตอนนี้เริ่มโยงแล้วว่าแม่วงก์เป็นโครงการในพระราชดำริ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมหรือเปล่า

ศศิน : ตอนนี้ก็มีกระแสออกมา ว่าพวกไม่เอาเขื่อนคือพวกล้มเจ้า ผมไม่นึกเลยว่าจะมีเรื่องแบบนี้ออกมา มีเอกสารของกรมชลฯ อันหนึ่ง ผมเดาว่ากรมชลฯ คงกราบทูลว่าได้ทำงานอะไรไปบ้างแล้ว พอพระองค์มาตามงาน ก็เอามาบอกว่านี่เป็นโครงการพระราชดำริ เอกสารนี้ก็ถูกแชร์กันทั่วเฟซบุ๊ค ตอนนี้สถาบันถูกดึงลงมาเกี่ยวข้องกับทุกอย่าง กลายเป็นว่าเราเป็นพวกล้มเจ้า ผมก็นึกๆ นะ ว่าผมจะล้มเจ้าได้อย่างไร ผมอยู่ฝ่ายต่อต้านนโยบายรัฐบาลแท้ๆ คือเขาต้องการอันเฟรนด์จากเราไปทุกฝั่งเลย มันคือกระแสข่าวที่ต้องการทำให้ชนชั้นกลางเงิบ ซึ่งในที่สุด ถ้าเกิดมีใครสักคนบอกว่าต้องการเขื่อนนี้ โดยอ้างสถาบันว่าให้สร้างเขื่อน แบบนี้ก็แย่เลยนะ

GM: ถ้าไม่ได้สร้างเขื่อน แล้วสิ้นปีนี้มีน้ำท่วมอีกรอบ แบบนี้จะยิ่งแย่กว่าไหม

ศศิน : ช่วงนี้ฝนตกใต้นครสวรรค์ลงมา น้ำไหลลงแม่น้ำอยู่แล้ว ไม่ได้ไหลลงเขื่อน การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่เราทำกันอยู่ คือการไปยกระดับสองฝั่งแม่น้ำ กันไม่ให้น้ำออกจากแม่น้ำ การไปตั้งถนนให้สูงกว่า ให้น้ำไม่ออกมาที่ทุ่งนา ตอนนี้เราทำกันมาตั้งแต่นครสวรรค์ลงมาถึงกรุงเทพฯ นครสวรรค์ก็กั้นกำแพงไม่ให้น้ำออกจากเจ้าพระยา ไหลลงมาชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ลงมาแบบนี้หมด น้ำก็สะสมอยู่ในลำน้ำ จนกระทั่งมาสูงสุดที่กรุงเทพฯ จังหวัดที่อยู่ใต้นครสวรรค์ลงมา ก็ต้องทำกำแพงกั้นน้ำให้สูงแข่งขึ้นไปเรื่อยๆ น้ำก็จะสะสมพลังเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ตรงไหนที่กำแพงทำไม่ดีก็แตกโพละ คนที่จะต้องสู้กับมันหนักสุดคือคนกรุงเทพฯ นี่แหละ เพราะไม่มีจังหวัดไหนยอมให้น้ำเข้าทุ่ง พวกเรากำลังทำสิ่งที่ขัดกับธรรมชาติอย่างรุนแรง สู้กันไปก็แค่นั้นแหละ พอต้องสู้ คุณก็ได้ลุ้นกันทุกปี ก็มันดีนะ มีให้เสียวๆ ก็สนุกดี

ถ้ากรุงเทพฯ น้ำท่วมอีกในปีนี้ คงมีคนอ้างว่าเป็นเพราะไม่ได้สร้างเขื่อน นักการเมืองจึงใช้ข้อมูลผิดๆ เหล่านี้ได้ตลอด เขาได้พิสูจน์แล้วว่า 1. สังคมไม่มีความรู้ 2. คนมีความรู้ แม่งขี้กลัว ธุระไม่ใช่ 3. สื่อไม่เล่น อย่างล่าสุดที่มีน้ำท่วมที่เมืองจันทบุรี น้ำไหลลงจากเขาสระบาป นักการเมืองก็ออกมาด่า เห็นไหม ไอ้เอ็นจีโอไปอยู่ที่ไหน? ผมก็งง เฮ้ย! มันเกี่ยวกันตรงไหนวะ ผมทำงานอนุรักษ์ของผม ทำงานในหมู่บ้าน ในป่า ไปช่วยเขาอนุรักษ์ป่าที่ห้วยขาแข้ง ทำฝายชะลอน้ำ ผมทำงานของผมทุกวัน พอน้ำท่วมที่เมืองจันท์ ดันมาถามว่าเอ็นจีโอไปอยู่ไหน โดยหน้าที่ของเรา ตอนนี้คือต้องหาวิธีใหม่ๆ ในการสื่อสาร คนมันเป็นนีโอลิเบอรัล-ลิสม์กันหมดแล้วใช่ไหม แต่พ่อแม่เราสอนให้ประหยัด เรากลัวพระ เรามีศีลธรรมกำกับ แต่วันนี้ไม่มีอะไรกำกับเลย ผมเชื่อว่าที่สุดแล้ว พวกเราจะโดนธรรมชาติกำกับ ภัยธรรมชาติจะหยุดยั้งเรา มันจะทำให้เรากลัว เราจะโดนน้ำท่วมกำกับเอาไว้

กลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา น้ำป่าจากเขาสระบาปไหลลงมาท่วม 2 อำเภอของจังหวัดจันทบุรี ระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร

ข้อมูลจากไทยรัฐออนไลน์  http://www.thairath.co.th/content/region/357563

GM: ไม่หรอก เราก็จะสร้างกำแพงริมฝั่งเจ้าพระยาให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ

ศศิน : (หัวเราะ) ใช่ๆ ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป เราก็จะเป็นเจ้าโลกโดยสมบูรณ์แบบ เมื่อก่อนก็มีเหมือนกันนะ วิธีคิดแบบนี้ คือเราทุกคนปรารถนาทำนาให้มาก หาวิธีเอาชนะน้ำ หาน้ำมาใช้ปลูกข้าวทั้งปี ทุกคนมองเรื่องตัวเอง แต่สมัยก่อนเรายังมีเรื่องส่วนรวมมากพอสมควร ถ้าเป็นคนรุ่นใหม่ต้องหาว่าเขาสนใจอะไร ต้องสร้างสำนึกสาธารณะขึ้นมาใหม่

GM: จิตใจคนเราวิวัฒนาการไปเป็นเส้นตรง หรือว่าเราจะวนเวียนเป็นวัฏจักร

ศศิน : ไม่รู้เลยครับ ผมไม่เคยศึกษาเรื่องนี้เลย แต่ผมเกิดความรู้สึกอย่างหนึ่งขึ้นมา ตอนน้ำท่วมปี 2554 ทำไมคนไทยเราช่วยเหลือกันจังเลย นี่อาจจะเป็นคุณสมบัติเบื้องลึกของมนุษย์นะ คือเรายังรู้ผิดชอบชั่วดี ไม่ว่าจะมีคนสั่งสอนหรือเปล่า หรือเติบโตมาอย่างไร พอถูกกระตุ้นด้วยปัญหาร่วมกัน เรารับรู้กันได้ ทุกคนอยากมีน้ำใจต่อกัน เพราะความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ที่ดีที่สุดคือน้ำใจ ทุกคนรู้สึกได้ โดยเบสิกมนุษย์มีความรู้สึกรักกันได้ เอื้ออาทรต่อกันได้ มีความรู้สึกพองฟู ตื้นตันได้ เรื่องของจิตใจเราไม่ได้ขาดหายไปเสียทีเดียวหรอก เห็นได้จากที่ไปเดิน ทำไมไปกระทบใจคนรุ่นใหม่ได้ ที่บอกว่าเด็กรุ่นนี้เป็นคนอย่างนั้นเป็นคนอย่างนี้ ผมว่าไม่จริงไปเสียทั้งหมดหรอก เจ้าหน้าที่ผมที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่มาเดินกับผม คุณภาพก็ดี จิตใจไม่ได้เลวร้ายอะไร เขามีน้ำใจ

GM: พอการเดินทางสิ้นสุดลง ก็เริ่มมีคนในโซเชียลมีเดียวิพากษ์วิจารณ์พวกคุณแรงๆ ถึงเรื่องความดัดจริตเสแสร้งของนักอนุรักษ์และชนชั้นกลางในเมืองหลวง

ศศิน : ผมอยากรับฟัง เพราะพวกนี้คือคำเตือน ผมอ่านเว็บข่าวประชาไท พอๆ กับอ่านเว็บข่าวผู้จัดการ ผมชอบความงามของภูเขา ความยิ่งใหญ่ของทะเล แม้แต่ขึ้นทางด่วนแล้วเมฆสวย ผมก็รักมัน แม้แต่เห็นกระถางมีเมล็ดพืชขึ้นมา ผมก็แอบไปถ่ายรูปมัน ผมชอบธรรมชาติ แบบนี้เรียกว่าดัดจริตเสแสร้งหรือเปล่า แต่ผมไม่ใช่คนที่ไปนั่งช้างในสถานที่ท่องเที่ยวอะไรแบบนั้นนะ ผมชอบอะไรที่เกิดจากสมดุลธรรมชาติ ชอบปรากฏการณ์ของชีวิตจริงๆ

GM: ช่วยอธิบายความหมายคำว่าดัดจริตหน่อยสิครับ

ศศิน : (หัวเราะ) ก็เช่นว่า เวลาคุณต้องไปคุยกับผู้ใหญ่บ้านที่สนับสนุนการสร้างเขื่อน เขาถามคุณว่ากินป่าได้ไหม จะกินข้าวหรือจะกินป่า? อะไรทำนองนี้ ชนชั้นกลางต้องหาคำตอบมาอธิบายเขาให้ได้ ว่าเราอนุรักษ์เพื่ออะไร ถ้าจะขอยืมคำพูดของพี่จุ้ย-

ศุ บุญเลี้ยง เขาเคยพูดว่า “เราไม่ได้เกิดมาเพื่อจะกิน

ทุกอย่างไม่ใช่เหรอ” ผมว่านี่คือคำตอบนะ ขณะที่ชนชั้นกรรมาชีพเขาเดือดร้อน ไม่มีอะไรจะกินแล้ว เขามา

ถามเรา ว่าพวกมึงมานั่งโลกสวยกันอยู่ทำไม ในอีกด้านหนึ่ง ตัวผู้ใหญ่บ้านที่ไม่ได้กำลังเดือดร้อนอะไร คุณรวยจะตายห่าอยู่แล้วน่ะ ยังเสือกมาถามเราว่า

จะกินข้าวหรือกินป่า แบบนี้ใครดัดจริตกว่าใคร? คุณไม่สนใจโลกของความดี ความงาม ความจริงเลยเหรอ เรื่องคุณธรรม ความถูกต้อง ไม่สร้างระบอบนี้ให้กับ

ลูกหลานของคุณเลยเหรอ ต้องถามสำนึกแบบนั้น

กันแล้ว เราเป็นจอมยุทธ อารมณ์ประมาณพวกนักรบโบราณ ต้องอยู่แบบแมนๆ อย่าลืมว่าคนต้นแบบของผมคือ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ คนแรก

: หลายคนเริ่มตั้งคำถามกับอาจารย์

เสกสรรค์ เพราะเขาไม่มีบทบาทอะไรในการเมืองยุคปัจจุบัน

ศศิน : ผมโตไม่ทันอาจารย์เสก ในยุคที่เป็นผู้นำนักศึกษา หรือเป็นนักปฏิวัติ ผมมาทันตอนที่แกเริ่มแสวงหาทางจิตวิญญาณ ตอนปลีกตัวออกมาจากสังคม โดยอุปนิสัยส่วนตัวที่แกประกาศตัวเป็นนักรบ แกไม่ใช่นักรัฐศาสตร์ เป็นนักรบที่เข้าไปรบแล้วแพ้ แต่แกได้รบ กระบวนการทำสำคัญกว่าเป้าหมาย วิถีสำคัญกว่าเป้าหมาย คุณมีวิถีอย่างไรต่างหาก เป้าหมายเป็นเรื่องของ ‘แสงดาวแห่งศรัทธา’ แต่วิถีเป็นเรื่อง ‘มูซาชิ’ คุณมีวัตรปฏิบัติ วิธีปฏิบัติต่อคนรอบข้าง ต่อตัว ต่อโลกของคุณอย่างไรต่างหาก

GM: คุณเคยอกหักจากอุดมการณ์หรือสิ่งอะไรที่ยึดถือมาบ้างไหม

ศศิน : (นิ่งอยู่นาน) …ผมไม่แน่ใจเรื่องนั้น มันผ่านมานานพอที่ผมจะเล่าหรือยัง เอาแค่เรื่องง่ายๆ ก็แล้วกันนะ เช่น มุ่งหวังว่าวิทยานิพนธ์ของตัวเองจะเป็นที่ยอมรับ จะเป็นอันดับ 1 ของปริญญาโท ทุ่มเททำ แต่ปรากฏว่าด้วยความอ่อนชั้น แทบจะตก หวังไว้เยอะ ทำมานาน ผลงาน 5 ปีเต็ม จัดเต็ม ตอนพรีเซ้นต์ ตกม้าตายแอ้กเลย ผ่านไปได้ด้วยดี แต่ไม่ระบือลือลั่น กระจอกฉิบหาย วิทยานิพนธ์เกี่ยวกับข้อมูลธรณีวิทยาเพื่อการจัดการที่ดิน อะไรทำนองนั้นแหละ เราตั้งใจทำ หวังว่าจะเป็นต้นแบบของการจัดระบบข้อมูลเพื่อไปจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม ความจริงไม่มีอะไรเลย ย้อนกลับไปดู เนื้อหาก็งั้นๆ แต่ตอนนั้นก็หวังไว้เยอะ

GM: กับเรื่องชีวิตหรือการงานที่ลึกซึ้งกว่านั้นล่ะ

ศศิน : ก็มีชีวิตส่วนตัว ครั้งหนึ่งผมเคยแต่งงานกับผู้หญิงที่ผมไม่ได้รัก แต่ผมแสดงความรับผิดชอบต่อชีวิตของเธอมาตลอด ในที่สุดเราก็เลิกกัน มันเป็นบาดแผลในใจของผม ที่ไปทำร้ายหญิงสาวที่รักกันมานาน แต่ผมก็ต้องมีชีวิตครอบครัวอยู่ในความหม่นเศร้าอยู่ 10 ปี แบกรับภาระนั้นมา ผมเพิ่งเดินออกมาเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ตอนหนุ่มๆ คิดว่าเราเจ๋ง เรียนเก่ง มีความรู้ ทำงานดี พอไปพลาดเรื่องแต่งงาน ก็รู้เลยว่าเราก็คนธรรมดาคนหนึ่งที่มาพลาดเรื่องความรัก ความสัมพันธ์ มันน่าจะเป็นเบสิกที่สุดของมนุษย์แล้ว

ตั้งแต่มาอยู่ที่มูลนิธิสืบฯ ผมพยายามสั่งสมชัยชนะ ผมปกป้องเขื่อนแม่วงก์มาได้ 2-3 ครั้ง แต่ครั้งก่อนๆ ปัญหามันไม่หนักเท่านี้ ผมปกป้องถนนคลองลาน อุ้มผางมาครั้งหนึ่ง ปกป้องเหมืองแร่ในทุ่งใหญ่ฯ มาครั้งหนึ่ง ปกป้องอุโมงค์ผันน้ำมาครั้งหนึ่ง ปกป้องถนนอีก 2-3 เส้นที่กำลังจะตัดเข้าไปในป่า ปกป้องการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย ที่จะให้เช่าป่าเป็นรีสอร์ท ผมยังไม่ค่อยแพ้อะไรเท่าไร แต่ผมว่าคนเราต้องไม่หลงตัวเองนะ ผมแพ้อย่างอื่นมาเยอะ ทั้งเรื่องชีวิต ทั้งเรื่องอะไร เราก็แค่นั้นแหละ อย่าไปคิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่ ชีวิตเรามันกระจอก เราก็แค่คนธรรมดา

GM: ความล้มเหลวในเรื่องครอบครัว ทำให้คุณไม่เชื่อในอุดมคติของอะไรๆ หรือเปล่า

ศศิน : คือผมรู้ตัวตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ว่าไม่ได้รักเธอ ถามว่าผมยอมแพ้ไหม ผมก็สู้นะ สู้อยู่ตลอด ไม่ปล่อยให้ครอบครัวล้มเหลวไปง่ายๆ แต่ผมไม่มีลูก เพราะไม่ต้องการสร้างครอบครัวไปแบบนั้นอีก ดื้อเกินไปหรือเปล่าก็ไม่รู้ ทรยศต่อความรู้สึกลึกๆ ของตัวเอง

GM: ไม่อยากมีลูกเหรอ

ศศิน : ไม่อยาก เพราะผมเห็นแก่ตัวเกินไป ผมจัดการชีวิตคนอื่นไม่ได้ ผมไม่มีสัญชาตญาณแบบนั้นเลยนะ ผมรักอิสระ เห็นผมทำงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อโลก เพื่อคนนั้นคนนี้ รับผิดชอบเรื่องโน้นเรื่องนี้กับสังคมเยอะแยะ แต่ผมรู้ตัวว่าเลี้ยงลูกไม่ได้แน่ๆ ผมเลี้ยงลูกแบบที่แม่เลี้ยงผมมาไม่ได้ ผมกับแม่คนละมือ ความยิ่งใหญ่ของจิตใจ ของกระบวนการ ของที่เขาเลี้ยงผมมา

GM: แม่ของคุณเป็นนักอนุรักษ์ด้วยหรือเปล่า

ศศิน : ไม่ใช่ แม่เป็นครูใหญ่โรงเรียนประชาบาล เขาไม่ได้ต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ หรือเพื่อสิ่งแวดล้อมอะไรแบบนั้น แต่เขาเป็นผู้บริหารตั้งแต่สาวๆ เขายิ่งใหญ่อยู่ในอาณาจักรของเขาเอง คือในโรงเรียน ในท้องถิ่น มีคนนับถือทั้งอำเภอ แม่เลี้ยงพวกเรามาพี่น้อง 3 คน ดูแค่นี้ก็รู้แล้วว่าแม่เก่งกว่าผมแน่นอน ในบ้านผมซูฮกแม่กันทุกคน (หัวเราะ) ตอนนี้แม่อายุ 88 แล้ว แข็งแรงเกินมนุษย์มนา ทั้งที่มีไตข้างเดียวมา 40 กว่าปี แม่มีโรคประจำตัวจนต้องลาออกก่อนเกษียณอายุ 5 ปี แต่ทุกวันนี้ยังเขียนหนังสือได้ ยังคิดเลขเร็วกว่าผมอีก

GM: ไม่อยากส่งต่อความคิดไปถึงลูกหรือ

ศศิน : มันส่งกันไม่ได้หรอกมั้ง และก็ไม่จำเป็นต้องเป็นลูกเราด้วย เป็นใครก็ได้ ลูกเราอาจจะเป็นคนที่ทำให้เราผิดหวังมากที่สุดก็ได้ ไม่รู้สินะ ผมมีหลานๆ และผมเห็นมาตั้งแต่เกิดจนถึงโต ถามว่าได้หลานๆ ดั่งใจผมไหม ก็ไม่นะ (หัวเราะ) แต่ผมก็ยังรักเขา

GM: มันคือการให้ คือความรักอย่างไม่มีเงื่อนไข

ศศิน : ไม่ใช่แล้วมั้ง ผมเป็นคนทำงาน เมื่อทำงานแล้วก็ต้องมี Outcome ต้องมี Impact ต้องมีผลงานอะไรกลับมา ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นลูกเราไง ตลอดชีวิตที่ผมทำงานมา ผมมีรุ่นพี่ที่ทำค่าย ชีวิตเราอยู่อย่างนี้มาตลอด กระทั่งเป็นครู ผมก็มีลูกศิษย์ที่ผมรัก ผมตายวันนี้ก็ได้ พอตายไป มันไม่ใช่เรื่องของผมแล้ว แต่คนรุ่นเก่าๆ อย่างอาจารย์รตยา จันทรเทียร ท่านจะคิดต่างไปจากผม อาจารย์เคยบอกว่าถ้าตายไป ถ้าเป็นไปได้ อาจารย์จเป็นวิญญาณมาอยู่ที่ป่าตะวันตก เพื่อปกป้องป่า ตอนนี้อาจารย์อายุ 82 แล้วนะ เป็นประธานมูลนิธิสืบฯ อาจารย์ท่านพูดตลอดว่ารักป่า ส่วนผมนี่ไม่ใช่ ผมทำเต็มที่ตอนผมมีชีวิต ตอนผมรับเงินเดือน ตอนประกาศเป็นนักอนุรักษ์ แต่ถ้าเลิกแล้วก็แล้วกัน ตายแล้วก็แล้วกัน มันก็แค่ไม่มีผมแล้ว ตายแล้วตายเลย มันไม่ใช่เรื่อง แต่วันที่เรายังอยู่ ผมเต็มที่

GM: ถ้าไม่มีลูก เวลาเราทำงานอนุรักษ์โลก เราอนุรักษ์ไว้ให้ใคร

ศศิน : เฮ้ย! (หัวเราะ) อนุรักษ์โลกก็เพื่อโลกสิ อนุรักษ์เสือก็เพื่อเสือ เราต้องเป็นคนใจสัตว์ อนุรักษ์เสือเพื่อคุณค่าของชีวิตเสือ เรารักในความงามของธรรมชาติ ที่เป็นวงจรชีวิตขึ้นมา มีการไล่ล่า มีการอยู่รอด การเกิดเป็นชีวิตขึ้นมาแล้วมีสมดุลของมัน เพราะนี่คือวงจรความดี ความงาม ความจริง ผมรักภูเขา รักทะเล เรารู้สึกว่าเราต้องอาศัยมัน ก็แค่ทำมันให้อยู่ดีๆ ไม่มีอะไรมากกว่านั้นเลยนะ จะอนุรักษ์ไปให้ใคร ไม่เกี่ยวแล้วละ เพราะไม่มีมนุษย์คนไหนที่ผมผูกพัน บางทีลูกน้องเขียนคำขวัญโปสเตอร์มาให้ดู บอกว่าจะเก็บผืนป่านี้ไว้ให้ลูกหลาน ผมก็ว่าดีๆ ที่อุดมคตินั้นจะช่วยรักษาป่า แต่สำหรับผม มันเรื่องของคนรุ่นต่อไปแล้วละ ผมแค่คิดว่าเก็บๆ ไว้ก่อนน่ะ มันดีแน่ๆ มีประโยชน์กับคนอื่นแน่ๆ

GM: หลังจากเรื่องเขื่อนแม่วงก์ มีการย้อนกลับไปทำ EHIA อีกครั้ง คุณจะติดตามปัญหาสิ่งแวดล้อมเรื่องอะไรอีก อย่างเรื่องแผนบริหารจัดการน้ำ คุณมีความคิดเห็นอย่างไร

ศศิน : นั่นไม่ใช่หน้างานของผมหรอก หากมันไม่มายุ่งกับป่าตะวันตก ผมก็ไม่ไปยุ่งเลยก็ได้ แต่แหม! มันก็มีเรื่องที่อยากไปรบด้วยอยู่ลึกๆ นะ คือเราไม่เห็นด้วยเลย มันเป็นเรื่องที่ตรงกับบ้านผมที่อยุธยา ผมมาทำงานให้กับป่ตะวันตก ซึ่งมันไกลจากบ้านผม แต่เรื่องโครงการบริหารจัดการน้ำเพราะน้ำท่วมนี่คือที่บ้านผมเลยนะ บังเอิญคนมันเดือดร้อน ถ้าพอจะรู้อะไร ก็ต้องออกมาพูดบ้าง มันเป็นความหลังฝังใจ ว่าผมชอบทุ่งวังน้อย ทุ่งนครหลวง สมัยตอนที่ผมเกิดมามันยังสวย แม่น้ำป่าสักที่ผมเคยลงไปเล่นน้ำ ก็กลายเป็นนิคมอุตสาหกรรม กลายเป็นไซโล ไม่มีความงามใดๆ เหลืออยู่เลย มันห่วยแตกมาก เมืองโบราณอยุธยาที่สวยงามมาก กลายเป็นเมืองอะไรก็ไม่รู้ มีช้างที่พวกญี่ปุ่นชอบมาขี่กันเต็มไปหมด เมื่อก่อนมันเป็นเจดีย์เก่าๆ ที่มีหญ้าขึ้น แล้วผมไปวิ่งเล่น กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวกระจอกฉิบหาย ที่มีช้างบ้าบอเดินเต็มไปหมด นี่คือตัวอย่างที่เห็นๆ

โยงกลับมาถึงเรื่องน้ำ พอเจอน้ำท่วมไปเมื่อสองปีก่อน ผมกลับโคตรชอบเลยนะ มันจะได้กลับไปเป็นทุ่งเหมือนเดิม ธรรมชาติของอยุธยากลับมาอีกครั้งหนึ่ง ธรรมชาติกลับมาฟื้นฟูดิน พันธุ์ปลาได้ผสม ธรรมชาติแสดงให้เห็นว่ากูยังมีความสามารถที่จะควบคุมมึงได้ ผมนึกชอบในแวบหนึ่ง แต่ไม่ได้ดีใจกับความเสียหายของประเทศชาตินะ ไม่ได้ดีใจกับความเดือดร้อนนะครับ ผมแค่นึกโรแมนติกในแบบของผมไปพักหนึ่ง แต่พอน้ำลดปุ๊บ รัฐบาลบอกว่าสิ่งสำคัญคือนักลงทุน ที่ทุ่งวังน้อยบ้านผมนี่แหละ เริ่มจากตรงนั้นที่เขาจะปกป้องนิคมอุตสาหกรรม ผมก็เห็นด้วยที่นิคมอุตสาหกรรมไม่ควรน้ำท่วม แต่มันกลับลุกลามใหญ่โต ถึงขั้นมีงบ 3.5 แสนล้าน ไปทำเขื่อนที่มีปัญหา ไปขุแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหม่ เอาน้ำที่ท่วมอยุธยา ไหลไปท่วมแม่กลองแทน ตอนนี้เลยดูวุ่นวายไปหมด แล้วคลองรังสิตมันผิดอะไรวะ มีหน้าที่ระบายน้ำจากคลองวังน้อยมา คุณไปทำสุวรรณภูมิขวางไว้ คิดว่าคงมีนักธุรกิจที่ต้องการที่ดินแถวนั้น ตรงรังสิตกับตรงฟลัดเวย์ ทางตะวันออกไม่ต้องการใช้ระบบระบายน้ำนี้แล้ว ทุ่งวังน้อยก็ต้องรักษาไว้ กลายเป็นลามไปว่าพื้นที่เขตเศรษฐกิจ ที่จะไม่ให้น้ำท่วมมีอะไรบ้าง ขยายไปเรื่อยๆ

นี่คือสิ่งที่ผมต่อต้านอยู่เรื่อยๆ สิ่งนี้เป็นเชื้อโรคที่ผมมองเห็น เพราะผมเป็นนักดูกูเกิลกับภาพถ่ายทางอากาศ เชื้อโรคที่ผมเห็นได้ขยายออกไป ไม่มีธรรมชาติแล้ว ไม่มีน้ำท่วมควบคุมได้แล้ว กรุงเทพฯ ถึงวังน้อยไม่มีธรรมชาติ ไม่มีนิเวศเกษตรเลย กลายเป็นเมือง อยุธยาของผมถูกทำลายลงโดยวิธีนี้ ผมรู้ว่าคนส่วนใหญ่ หรือพวกนีโอลิเบอรัลลิสม์ เขาชอบแบบนี้อยู่แล้ว แล้วผมก็แกะรอยตามไป มันคือน้ำไม่ท่วม แล้วจะได้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทั้งหมดนี้

ต่อเนื่องมาจากทวายโปรเจ็กต์ เอาน้ำจากเจ้าพระยาที่อ้างว่าน้ำไม่ท่วมแล้ว เอาไปใช้ประโยชน์ในฝั่งลุ่มน้ำแม่กลอง คือเอาไปให้นิคมอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับทวาย ซึ่งผมดูภาพถ่ายทางอากาศที่ทวาย มันจะเป็นเมืองแบบไหน เมืองที่ขโมยน้ำเจ้าพระยาไปใช้ที่ตรงนั้น แล้วเอาน้ำไปถล่มแม่กลอง น้ำทะเลก็หนุนมาถึงอยุธยา บ้านผมไม่มีน้ำจะกิน กลายเป็นเมืองสกปรกมากขึ้นๆ เมืองใหญ่มากขึ้นๆ มีรถไฟฟ้าวิ่งกัน เป็นลอจิสติกส์สมบูรณ์แบบแบบสิงคโปร์ คือกูไม่อยากเห็นน่ะ มันเซ็ง! แต่ก็ต้องเห็น ใครจะชอบก็ชอบไปนะ นี่เป็นสิทธิ์ส่วนน้อยของผมที่จะแสดงออกว่าไม่ชอบ

GM: ลอจิสติกส์กลายเป็นปัญหาสำคัญของนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมใช่ไหม

ศศิน : ใช่ๆ เมื่อก่อนมันเป็นปัญหาเรื่องแหล่งทรัพยากร มีป่าไม้ มีทอง มีแหล่งปลูกข้าว มีน้ำมัน แต่ในวันนี้มันพัฒนาไปสู่จุดที่ว่าใครมีทำเล ใครมีความสามารถเชื่อมโยงการเดินทางขนส่ง จนมาถึงการเป็นฮับเรื่องการสื่อสาร การเป็นฮับทางธุรกิจทุกอย่าง อีกหน่อยแหล่งอาหารก็หมด ทะเลก็หมด แล้วมันจะตามมาด้วยอะไรล่ะ พอไม่มีอะไรเหลือแล้ว สุดท้ายก็ถมทะเลเพื่อสร้างที่ดิน เขาไปเห็นอะไรมา เขาก็จะทำตามนั้นทั้งหมด ลองนึกถึงเมืองเล็กๆ ที่เราไปขี่จักรยานกัน เดินข้ามถนนกันง่ายๆ นั่งคุยกันได้สงบสุข กลายเป็นเมืองที่มีสี่แยกใหญ่ เป็นฮับของความวุ่นวายของทั่วโลกที่มาลงทุนค้าขาย ใครจะชอบก็ชอบไปนะ แต่ผมไม่ชอบ และต้องให้คนรู้กันก่อน ว่ามี

ผลกระทบอย่างไรบ้าง ผมเซ็งเมื่อเห็นโครงการ 2.2 ล้านล้าน และ 3.5 แสนล้าน ที่ขับเคลื่อนไปด้วยแนวคิดนีโอลิเบอรัลลิสม์

พระราชกำหนดเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท เพื่อบริหารจัดการน้ำฯ

พระราชบัญญัติเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานฯ

อ่านรายละเอียดที่ สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า

พ.ร.ก.กู้เงินฯ 3.5 แสนล้านบาท อ้างเหตุผล “เร่งด่วน” – 1 ปี เบิกเงิน 1.2 หมื่นล้าน

เปิดร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท พร้อมกรอบการใช้เงินกว้างๆ

GM: ปัญหาดูเหมือนจะใหญ่โตและลุกลามไปเรื่อยๆ ครั้งต่อไปคุณอาจจะต้องวิ่ง

ศศิน : (หัวเราะ) ผมควรจะต้องหันไปเน้นทำในเชิงนโยบายบ้าง ซึ่งยังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ มันเป็นงานประสานกลไกที่ต้องเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างอำนาจ สร้างกลไกที่จะเอาเขื่อนแม่วงก์ออกไปโดยไม่ใช้กำลัง แต่หาทางออกโดยวิธีที่ทุกคนรับได้ แม้แต่คุณปลอดประสพเอง ไม่มีประโยชน์ที่จะไปทะเลาะกับคุณปลอด

GM: สังคมไทยชอบจับคู่ แบ่งข้าง ศศิน-ปลอด เสื้อเหลือง-เสื้อแดง นักอนุรักษ์-รัฐบาล

ศศิน : แต่ผมคิดว่าไม่ควรจะเป็นแบบนั้นนะ งานหลักจริงๆ ของผม คือเป็นคนจัดการความขัดแย้งมากกว่า เป็น Conflict Management คอยเป็น Facilitator จัดการความเปลี่ยนแปลง ทำตัวเองให้เป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ทุกฝ่าย ประสานงาน ประสานความขัดแย้ง ดูแลความขัดแย้งของชุมชนที่อยู่ในป่า ทำอย่างไรให้เขาไม่ทะเลาะกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ งานของนักอนุรักษ์มีหลายด้าน มันยังมีงานที่ไม่ต้องไปต่อสู้ หรือไปแข่งขัน งานของผมคือทำอย่างไรให้ชุมชนกับป่าไม้อยู่ด้วยกันได้ เกิดจากการจัดการอย่างมีส่วนร่วม ทำอย่างไรให้เกิดกระบวนการ Joint Management ประสานความร่วมมือ งานส่วนใหญ่ที่ทำคืองานเหล่านี้นะ ซึ่งมันไม่ค่อยเป็นข่าว แล้วคนส่วนใหญ่อาจจะไม่ค่อยมองเห็น

GM: เวลาคนข้างนอกมองเอ็นจีโอสิ่งแวดล้อม จะมองว่ามันเป็นพวกปลุกปั่นชาวบ้าน

ศศิน : (หัวเราะ) เอ็นจีโอส่วนใหญ่ทำงานประสานความร่วมมือนะ แต่ไม่ค่อยเป็นข่าว เช่น ผมทำงานเรื่องชุมชนคนรักป่า ทำให้เจ้าหน้าที่อนุรักษ์กับชาวบ้านอยู่ด้วยกันได้ ชาวบ้านอยู่ในอุทยานฯ ได้โดยไม่ต้องถูกไล่ แต่อย่างว่าเรื่องแบบนี้ สื่อไม่มาดูเลยว่ามันยิ่งใหญ่ขนาดไหน การทำงานแบบนี้ ต้องเดินป่าไกลกว่า เหนื่อยกว่ามาเดินตอนงานเขื่อนแม่วงก์เยอะ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย เราเอาชีวิตรอดอยู่ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรอยู่เป็นสิบวัน เดินไป-กลับ 300 กิโลฯบนเขาที่มีแต่สัตว์ป่า ทาก มีกะเหรี่ยงเคเอ็นยูด้วย แต่สื่อไม่สนใจ พอมาเดินบนถนนคนกลับสนใจ แต่คราวนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเราไม่ออกมาเดิน อาจจะไม่มีป่าให้กลับไปรักษาอีกเลยก็ได้

งานอนุรักษ์ไม่จำเป็นต้องทางใดทางหนึ่ง เลือกป่าไม่เลือกเขื่อน หรือเลือกเขื่อนไม่เลือกป่า มันเป็นเรื่องที่ Collabolate ได้ แต่ต้องมีเวทีให้มา Collabolate กัน เช่น ถ้าเราจะจัดการน้ำในพื้นที่เขตชลประทานแม่วงก์ จะทำอย่างไรบ้าง 1. สร้างเขื่อน 2. ทำอย่างอื่น ถ้าพื้นที่นี้ต้องการได้รับการจัดการน้ำ ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง เราก็เอาผู้เชี่ยวชาญไปรับฟังชาวบ้านก่อนว่าโจทย์คืออะไร นี่คือจุดเริ่มต้นของการมีส่วนร่วมแล้ว เสร็จแล้วไปตั้งวงในการมีส่วนร่วมอื่นๆ เช่น เอาผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านมาโยนความรู้ลงมา โอเคทำเขื่อนได้ แต่เสือจะกระทบนะ เอ็นจีโออย่างเราก็จะช่วยเอาผู้เชี่ยวชาญเรื่องเสือมาอธิบายให้ผู้เชี่ยวชาญเรื่องชลประทานฟัง ว่าทำไมต้องเก็บเสือไว้ ถ้า

ผู้เชี่ยวชาญชลประทานโอเคว่าต้องเก็บเสือไว้ งั้นเราเปลี่ยนมาเป็นโมเดลนี้นะ ผู้เชี่ยวชาญเสือรับได้ไหม มานั่งคุยกันดีๆ ในห้องแอร์ เอาแผนที่มากางแล้วคุยกันไป ไม่ได้คุยกันแบบดีเบท แต่คุยกันแบบปรึกษาหารือกัน ทำหน้าที่เป็น Facilitator จะช่วยรวมเอาความรู้มา แล้วก็หาทางออกร่วมกันทุกฝ่าย ไม่ใช่เอาคนแต่ละฝ่ายที่มีธงต่างกันมาทะเลาะกันแล้วหาใครก็ไม่รู้มา

ผมเองไม่ได้ค้านทุกเขื่อน เขื่อนที่สร้างไปแล้วมีใช้แล้วก็ใช้ไป ที่เหลือก็ท่วมบ้าง แล้งบ้าง ท่วมแค่เข่าเอง ยกเว้นว่าปีน้ำมาก 10 ปีมันมาที ดังนั้น ทางสายกลางคือคุณมีเขื่อนเท่าที่มีอยู่ ตรงไหนนาล่ม ก็ตามไปช่วยจ่ายค่าชดเชย คุณจ่ายค่าชดเชยแต่ละปี บางทีก็เท่ากับดอกเบี้ยของเงินกู้ 3.5 แสนล้านเท่านั้นเอง ในทางเศรษฐศาสตร์มันจบ จ่ายได้ คุณมีเขื่อนศรีนครินทร์ เขาแหลม ราชบุรีไม่ท่วมแล้ว เมืองกาญจน์ไม่ท่วมแล้ว เสียป่าไปแล้วก็เสียไป เขื่อนน้ำโจนอันตรายเพราะอยู่ในรอยเลื่อน ทำลายมรดกโลก ก็ไม่ไปสร้างมัน เขื่อนป่าสัก ภูมิพลฯ เจ้าพระยา ในทุกวันนี้มีปัญหาไหม มันก็มีปัญหาทั้งนั้นแหละ แต่มีประโยชน์ไหม ก็มีมาก ในวิถีชีวิตปัจจุบัน แต่ควรจะหยุดเขื่อนไหม ควรหยุดได้แล้ว

ตั้งแต่สมัยปี 2554 ที่ผมถ่ายคลิปเรื่องน้ำท่วมใส่ไว้ในยูทูบแล้วนะ ตอนนั้นผมยังใช้เครื่องแล็ปท็อปส่วนตัวอยู่เลย แต่มาวันนี้เปลี่ยนแล้ว เปลี่ยนไปอยู่บนมือหมดทุกอย่าง มือถือ สมาร์ทโฟน

นี่คือนีโอลิเบอรัลลิสม์ใช่ไหม ตรงไหนต้นทุนถูกกว่า มีประสิทธิภาพสูงกว่า เราก็ไปเอาจากตรงนั้น แต่พอหมดประโยชน์แล้วก็เอาไปทำเหมือง

มันไม่มีอะไรที่ไม่เป็นการเมืองหรอก ผมไม่เคยปฏิเสธเลยว่าผมไม่ชอบนายก-รัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ผมไม่เคยปฏิเสธว่าผมไม่เอาทักษิณ แต่ผมไม่มีอะไรกับพวกเพื่อนๆ ที่เป็นเสื้อแดงเลยนะ ผมเองก็ชอบซ้าย

ใครจะชอบก็ชอบไปนะ แต่ผมไม่ชอบ และต้องให้คนรู้กันก่อน ว่ามีผลกระทบอย่างไรบ้าง ผมเซ็งเมื่อเห็นโครงการ 2.2 ล้านล้าน และ 3.5 แสนล้าน ที่ขับเคลื่อนไปด้วยแนวคิดนีโอ-ลิเบอรัลลิสม์

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ