fbpx

noBitter ฟาร์มผักในเมืองแบบ Indoor Vertical Farm ปลอดภัยจากสารพิษ

noBitter คือ Mini Plant Factory โรงงานปลูกพืชขนาดเล็กใจกลางเมืองที่สามารถควบคุมปริมาณสารตกค้างในพืชได้ด้วยตัวเอง เป็นผลิตภัณฑ์ผักสดปลอดภัยและมีประโยชน์ต่อสุขภาพพร้อมกินและกำลังต่อยอดสู่นวัตกรรมสารสกัดที่ อยู่ในขั้นพัฒนาเพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพ โดยมี ดร.วิลาส ฉ่ำเลิศวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการนวัตกรรม ซึ่งเป็นผู้นำทัพพร้อมทีมงานช่วยกันสร้างพื้นที่ว่างให้มีคุณค่าต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น และเชื่อหรือไม่ว่า noBitter เริ่มต้นความรู้จากศูนย์สู่ปัจจุบันนี้ที่เรียกได้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านผักสดปลอดภัยจากฟาร์มแนวตั้ง ที่กำลังคิดค้นต่อยอดสินค้าและบริการไปไม่สิ้นสุด

“ตัวผมเองเริ่มจากไม่รู้อะไรเลย ศึกษาอ่านอินเทอร์เน็ต ดูยูทูป ไปงานแสดงสินค้าต่างๆ เก็บเกี่ยวความรู้มาเรื่อยๆ สนุกตรงที่เราเจอเรื่องที่เราไม่รู้ เหมือนโลกใหม่อีกใบ ซึ่งแตกต่างจากโลก Software Digital ที่ผมเคยรู้จัก แต่พอได้สัมผัสกับพืชพรรณธรรมชาติ ก็เป็นอีกโลกหนึ่งที่ได้ไปผ่อนคลาย แต่ในขณะเดียวกันก็พบจุดที่น่าสนใจ เพราะการที่ได้เริ่มอะไรก่อนคนอื่น สั่งสมประสบการณ์ตรงนี้ไปเรื่อยๆ วันหนึ่ง เรามี Know How มากพอและเป็นผู้เชี่ยวชาญที่สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีตรงนี้ให้คนอื่นต่อไปได้ แต่ถ้าวันนั้นมาถึงก็อาจจะเป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างหนึ่งเพราะนั่นแปลว่า เราเผชิญกับสภาวะโลกร้อนอย่างแท้จริง”

จากพื้นที่ว่างสู่การส่งมอบความปลอดภัย

จุดเริ่มต้นของ noBitter ในปี 2018 คือการใช้พื้นที่ว่างให้เกิดประโยชน์โดยการเอาเกษตรในร่มไปไว้ในตึกด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า Indoor Vertical Farm ทำให้สามารถปลูกพืชที่ไหนก็ได้ในเมืองและยังสร้างประโยชน์ต่อประเทศไทยมากกว่าแค่ใช้พื้นที่ว่างและทำฟาร์มผักแนวตั้ง 

“ผมและทีมงานเริ่มต้นแนวคิดการปลูกผักที่สยามสแควร์ซอย 2 ใน Co-working space ทีชื่อว่า Space @ Siam ซึ่งเป็นตึก 4 ชั้นที่นักเรียนนักศึกษาชอบไปติวหนังสือกัน ซึ่งชั้นบนสุด ห้องใต้หลังคา เดินขึ้นลำบาก เลยไม่ค่อยมีคนใช้ประโยชน์ เราเลยไปลองทำฟาร์มเนื่องจากมีพาร์ทเนอร์ในทีมเป็นหุ้นส่วนในพื้นที่ตรงนั้น โดยลงทุนตั้งต้น 1 ล้านบาท จากการซื้อระบบสำเร็จรูปมาติดตั้ง แต่ก็ไม่ได้ดั่งใจ เกิดปัญหาจุกจิกต่างๆ มากมาย สุดท้ายก็รื้อระบบ และออกแบบติดตั้งวิธีการทำฟาร์มใหม่ในแบบของเราเอง และได้จดอนุสิทธิบัตรในเวลาต่อมา 

โดยนอกเหนือจากการปลูกผักเคลขาย ผมมองว่าเราทำประโยชน์มากกว่านั้นในหลายๆ เรื่องครับ นั่นคือการส่งมอบอาหารปลอดภัยคุณค่าทางโภชนาการสูงให้กับผู้บริโภค ซึ่งสามารถแก้ปัญหาใหญ่ๆ       3 เรื่องในประเทศไทยครับ หนึ่ง คือ การแก้ปัญหาสารพิษตกค้างในผัก เพราะการปลูกแบบควบคุมสภาวะ หรือ Controlled-Environment Agriculture (CEA) ทำให้ไม่ต้องใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายกับมนุษย์ และยังสามารถดึงคุณค่าทางโภชนการจากผักออกมาได้สูงสุด สอง ลดการปนเปื้อนในการขนส่ง เนื่องจากเป็นฟาร์มในเมืองที่อยู่ใกล้ผู้บริโภค ทำให้ส่งตรงสินค้าจากฟาร์มถึงผู้บริโภคได้ทันทีไม่ต้องผ่านคนกลาง ไม่ต้องตัดผักทิ้งไว้รอขายตามร้าน ผักจากฟาร์มส่งถึงผู้บริโภคในวันรุ่งขึ้นหลังจากเก็บเกี่ยว และสุดท้าย ลดอาหารขยะ (Food waste) ที่เกิดจากปริมาณการขายและการซื้อไม่สัมพันธ์กัน เพราะมีการบริหารจัดการด้วยซอฟต์แวร์ในการสั่งซื้อ สามารถจองผักได้ล่วงหน้า ไม่จำเป็นต้องปลูกผักในปริมาณมากๆ เพื่อรอโดยที่ไม่รู้ว่าจะขายได้หรือไม่”

เปลี่ยนเพื่อตอบโจทย์

แม้จะเริ่มจากการใช้พื้นที่ว่างเพื่อมาทำฟาร์มแนวตั้งและมีสินค้าเป็นผักสดปลอดสารพิษที่ส่งขายผู้บริโภคโดยตรงทุกอย่างดูเหมือนจะไปได้สวยแต่วันนี้การค้นพบระหว่างทางอาจทำให้เป้าหมายของวันแรกกับวันนี้เปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม

“พวกเรามีสินค้าหลักคือ ผักเคล ครับ เพราะเป็นผักที่เหมาะมากในการปลูกในสภาวะควบคุม แล้วก็มีสินค้าแปรรูปจากผักเคลออกมาเป็นช่วงๆ เช่น ราเมนผักเคลรสโชยุและรสต้มยำ ผงโรยข้าวผักเคลผสมปลามากุโร เป็นต้น ตอนแรกก็คิดว่าสามารถเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตของเกษตรกรได้ แต่สุดท้ายผมพบว่า เราคิดผิด เราเป็นคนนอกอุตสาหกรรมที่ไม่ได้เข้าใจชาวบ้านทั่วๆ ไป ไม่มีใครอยากลงทุนมากๆ เพื่ออาหารปลอดภัยหรือความมั่นคงทางอาหารในประเทศนี้  ผมมองว่ายังเป็นคำพูดสวยหรูในอุดมคติครับ สาเหตุเพราะประเทศไทยเราเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ ปลูกพืชได้หลากหลาย มีทางเลือกมากมาย และหลายคนก็ไม่ได้สนใจเรื่องช่องว่างทางสังคม คนรวยมีโอกาสมากมายในการทำเรื่องต่างๆ คนจนไม่มีทางเลือกถึงมาปลูกผักปลูกหญ้าเลี้ยงชีพ และจะบอกให้เกษตรกรเลิกใช้ยาฆ่าแมลงมาปลูกแบบควบคุมสภาวะ เป็นไปไม่ได้ครับ เกษตรกรทั่วไปยังต้องใช้ยาฆ่าแมลงเพื่อให้ได้ผักสวยๆ ส่งเข้ามาขายในตลาด เป็นดีมานด์กับซัพพลายที่ตลาดทำให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ 

ผมคิดว่าเรายังต้องใช้เวลาอีกนานเพื่อให้ความรู้คนในอุตสาหกรรม หาแนวร่วมคนที่เป็นนักนวัตกรรมที่ใส่ใจในอาหารปลอดภัยจริงๆ สิ่งที่โฟกัสอยู่ในตอนนี้ คือเรากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากแค่การปลูกผักสดและแปรรูปขาย มาเป็นการสกัดสารสำคัญในพืช เพื่อทำเป็น Functional ingredient ให้กับอุตสาหกรรมอาหารต่อ ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของบริษัท ณ เวลานี้ครับ”

ปรับตัวเพื่อผ่านพ้น  

ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤติโควิด-19 สร้างผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบกับธุรกิจอีคอมเมิชสำหรับ noBitter ได้รับทั้งผลประโยชน์ต่อธุรกิจและได้รับผลกระทบเชิงลบเช่นเดียวกัน

“เมื่อตอนที่รัฐบาลสั่งปิดเมือง ปิดประเทศ ใครๆ ไปไหนไม่ได้ ลูกค้าหาเราเจอในอินเทอร์เนตและซื้อผักสดจากเราไปทำอาหารที่บ้าน ทุกคนมีความสุข ยอดขายเพิ่มแบบเหนือความคาดหมาย แต่พอปิดเมืองหลายระลอก ผู้คนเริ่มชิน และพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนจากความสนุกในการทำอาหาร ไปสู่ความต้องการความสะดวกสบายจากการสั่งอาหารปรุงเสร็จผ่านเดลิเวอรี่แอปพลิเคชันต่างๆ เราก็ต้องปรับตัวไปเรื่อยๆ ครับ

ช่วงนั้นเราก็ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เยอะมาก และใส่ความสนุกเข้าไปด้วย โดยการเอาชื่อเมืองต่างๆ มาใส่ในชื่อสินค้า เช่น Paris kale cheese croissant, Itaewon kale kimchi, Osaka kale cheese bun ฯลฯ ให้คนที่ไม่ได้ไปเที่ยวไหนได้รู้สึกว่าอย่างน้อยก็ได้กินของต่างประเทศ ซึ่งจริงๆ ผลิตในประเทศ โดย พาร์ทเนอร์ของเราทั้งหมดครับ แต่สุดท้ายเราก็ไม่ได้ทำต่อเพราะการบริหารสินค้าแปรรูปกับผักสดไม่เหมือนกัน แต่ละผลิตภัณฑ์ก็มีรายละเอียด ต้องบริหารจัดการเยอะมากครับ”

ชีวิตที่ไม่ขมจากผักที่ไม่ขม

สตาร์ทอัพทุกคนล้วนแต่มีความหวังดีอยากจะแก้ปัญหาต่างๆ ในสังคม อยากจะเปลี่ยนโลก เช่นเดียวกับ noBitter พวกเขาอยากสร้างชีวิตที่ไม่ขมจากผักที่ไม่ขมจากฟาร์มของพวกเขานั่นเอง แล้วจริงๆ สตาร์ทอัพสามารถเปลี่ยนโลกได้จริงอย่างที่ตั้งใจไว้หรือไม่ 

“เราต้องการปฏิวัติวงการเกษตรไทยด้วยความเชื่อที่ว่า เราสามารถมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ด้วยนวัตกรรมในวันนี้เราไม่อยากเห็นเกษตรกรยากจนชั่วชีวิต และต้องเจ็บตายเพราะยาฆ่าแมลงที่ใช้ในสวน เราไม่อยากเห็นคนในครอบครัวป่วย เพราะรับประทานพืชผักที่ปลูกแบบไม่ได้ใส่ใจในคุณค่าทางอาหาร แค่ต้องการให้ผลผลิตสวยๆ มีปริมาณมากๆ เราเลยต้องลงมือทำอะไรบางอย่าง ให้ผู้คนได้เห็นว่ามีอีกหลายวิธีในการส่งมอบอาหารปลอดภัยคุณค่าทางโภชนาการสูงให้กับทุกคนได้

แต่อย่างที่เราทราบกันดี ชีวิตคือความเปลี่ยนแปลงครับ เราต้องปรับตัวตลอดเวลา โดยเฉพาะในโลกปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงสูงมาก เราอาจจะล้มหลายครั้ง ร้องไห้ เสียใจกับสิ่งที่พยายามทำอยู่แล้วไม่เห็นผล แต่ทุกครั้งที่ล้ม ก็ขอให้แค่ลุกขึ้นยืนใหม่ ถ้าล้ม 7 ครั้งลุกให้ได้ 8  ครั้ง เพราะโอกาสเป็นของคนที่ไม่ยอมแพ้ครับ ขอให้สู้นะครับ” 

 

รายละเอียดเพิ่มเติม :

https://nobitter.life/

https://www.facebook.com/nobitterlife/

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ