มองอย่างมืออาชีพและเข้าใจ บริบทสังคมไทยกับ ‘ข่าวการเสียชีวิตของแตงโม’
เรื่อง: อภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์
สังคมไทยในชั่วโมงนี้ เชื่อว่าคงไม่มีข่าวไหนที่จะอยู่ในความสนใจ และอยู่ในกระแสของการรายงานได้เท่ากับ ข่าวการเสียชีวิตของ ‘แตงโม – นิดา พัชรวีระพงษ์’ ที่ยังไม่ถึงข้อสรุป แต่มีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง และเริ่มไปสู่ทิศทางที่น่าเป็นห่วงเข้าไปทุกขณะ
แน่นอนว่า แม้จะเป็นข่าวการเสียชีวิต แต่มันก็ชวนให้กลับมามองถึงบริบทสังคมไทย ที่มีต่อการเสพรับข่าว รวมถึงสื่อมวลชน ในการนำเสนอข่าว ซึ่ง อภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์ บรรณาธิการแห่ง GM Live ได้ขอเชิญชวนให้มาทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น และอาจจะ ‘ไม่ใหม่’ เหล่านี้ ในมุมมองอย่างมืออาชีพกันอีกครั้ง
1. Sex เพศ , Crime อาชญากรรม , ความรุนแรง Violence : เป็นสูตรสำเร็จที่เป็นกระแสความสนใจ
ซึ่งภาพรวมของสังคม : ถือว่าดีมากกว่าเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ เพราะแทบไม่มีภาพศพออกมาให้เห็น และ ไม่มีการซ้ำเติมผู้สูญเสีย ขอย้ำว่าดีกว่าหลายๆกรณีที่ผ่านมา ซึ่งตอนแรกเดาว่าคงจะมีภาพไม่น่าดู ผ่านทางออนไลน์หลุดออกมาเต็มไปหมด ซึ่งครั้งนี้ยังไม่เห็น ผมมองว่า สังคมเรียนรู้ได้แล้ว ซึ่งถ้าย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ภาพผู้เสียชีวิตจากข่าวที่มีผู้ติดตามมากๆ หรือ คนดังนั้นออกมาทุกมุมจริงๆ .. เอาหล่ะ แม้จะไม่มีภาพแต่ทว่า ความรุนแรง มันออกมาในมิติอื่นๆ
2.Rating & Repect ความนิยม และ ความเคารพในวิชาชีพ คือ ความขัดแย้งของการนำเสนอที่ ยังปรากฏให้เห็น
สำหรับสื่อมวลชน : ถือว่า ยากมาก ในการนำเสนอเรื่องนี้ เพราะ แม้ว่าจะไม่มีการแชร์ภาพจริงจากเหตุการณ์ แต่ภาพกราฟฟิกและการจำลองสถานการณ์ทั้งเรือ ทั้งลักษณะการปัสสาวะ ก็ยังคงมีความรุนแรงหลงเหลือ ในระดับมากน้อยแตกต่างกันออกไป ซึ่งสำหรับสื่ออาชีพก็ยากเหมือนกันครับว่าจะนำเสนออย่างไร แค่ไหน ให้พอดี
ถ้าหากตัดมิติที่ขยายความ แตงโม ว่าไปปัสสาวะหรือไม่ หรือ ชุดบอดี้สูทใช้ปัสสาวะได้ไหม ? ออกไป แล้ว … ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่สามารถจะตั้งคำถามถึงเงื่อนงำได้ ด้วยนิติเวช และ นิติวิทยาศาสตร์ ? ซึ่งดูเหมือนว่า ชิ้นงานในแบบสืบสวนสอบสวนที่มีคุณค่ากลับออกมาน้อยมากกว่าที่ควรจะเป็น
3.Public Interest & News Value
ความสนใจของสังคมถูกทำให้เป็นวาระข่าว มากกว่า คุณค่าของข่าวที่ควรจะขยายผล
ประชาชน : นั้นปักใจมากๆ ว่าผู้จัดการส่วนตัวของแตงโม มีส่วนรู้เห็นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และดูเหมือนว่าจะตกเป็นเป้าหมายมากที่สุด เพราะการสัมภาษณ์ ในโอกาสต่างๆ มีช่องว่างให้จับผิดมากที่สุด
ทั้งที่จริงๆ แล้ว คนอื่นที่เกี่ยวข้องก็น่าจะถูกตั้งคำถามเหมือนกัน บางคนน่าจะถูกตั้งคำถามมากกว่าเสียอีก .. แต่เพราะว่าพูดน้อย เลยไม่อยู่ในความสนใจ มันเลยไปลงที่ ผู้จัดการคนเดียว … กระแสที่เกิดขึ้นตอนนี้ เชื่อว่า สังคมอยากชี้คนผิดให้ได้เร็วที่สุด (เหมือนกรณีลุงวิศวะที่ไปในทางเดียวว่า อาชีวะที่ถูกลุงวิศวะยิงนั้น น่าจะเป็นคนผิดที่ไปล้อมรถเขา โดยที่ไม่รู้ว่าลุงสามารถออกจากภาวะคับขันได้ แต่ไม่ออก )
ท้ายที่สุดนี้ ในฐานะสื่อมวลชนขออย่าเพิ่งด่วนพิพากษา ไปตามกระแสเลยครับ .. เพราะการพยายามเรียกร้องให้คนตาย แต่ฆ่าคนเป็นมันคงไม่เป็นธรรมกับใคร
อยากให้โฟกัส ติดตาม การทำงานของเจ้าหน้าที่มากกว่า .. ว่าเขาจะทำอะไร ได้รวดเร็ว ถูกต้อง และ สมบูรณ์ หรือไม่ ?