fbpx

New World, New Wealth โลกใหม่ นิยามความมั่งคั่งยุคใหม่ นวัตกรรมเทคโนโลยี และไดโนเสาร์

เรื่อง : สุชา

“คนรุ่นแรกสร้างมันขึ้นมา รุ่นที่สองเก็บรักษามันไว้ ส่วนรุ่นที่สาม…ถลุงมันซะ!”

ใครคนหนึ่งกล่าวถึงการส่งต่อความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่นไว้อย่างนั้น ซึ่งมันมีส่วนทั้งที่จริงและไม่จริงไม่เพียงแต่ในประเทศไทย แต่คนทั้งโลกกำลังประสบกับวาระเรื่องจำนวนผู้สูงวัยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากธนาคารโลกระบุว่า จำนวนผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป ภายในปี 2564 หรืออีกเพียงแค่ 1 ปี จะแตะระดับ 20% ของจำนวนประชากรทั้งโลก และในปี 2578 จะแตะระดับ 30% สถิติดังกล่าวกำลังบอกอะไรเรา?

  • การบริโภคนิยมที่บ้าคลั่งในทศวรรษที่ผ่านมา โดยคน Generation ก่อนหน้ากำลังจะหมดสิ้นไปตามอายุวัย แล้วถูกแทนที่โดยคนรุ่นใหม่ ซึ่งตอนนี้พวกเขากำลังเดินหน้าเพื่อยึดครองความมั่งคั่งต่อจากคนรุ่นปู่ย่าตาทวด และ/หรือรวบตึงความมั่งคั่งในรุ่นพ่อกับแม่มาด้วยทั้งหมด แต่จะถลุงหรือทำให้มันยิ่งมั่งคั่งมากขึ้นนี่สิ…น่าสนใจ
  • แน่นอน, คนทุกรุ่นต่างมีวิธีการเฉพาะของตัวเองเพื่อเสาะแสวงหาเงินทอง ความมั่งคั่ง แต่ทำไมคนรุ่นใหม่ถึงเข้าใกล้มันอย่างง่ายดาย แถมพวกเขายังหาเงินเก่งอีกต่างหาก และหามันด้วยวิธีการที่ต่างไปจากคนรุ่นก่อน
  • ย้อนระลึกความโชคดีหลังความโชคร้ายของ Gen B หรือเบบี้บูมเมอร์ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การมีอยู่ของทรัพยากรอันอุดมมีมากมายให้พวกเขาฉกฉวย ช่วงชิงทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะ ‘ที่ดิน’ มาเป็นของตัวเอง
  • ขณะที่รุ่นลูก ได้แก่ คน Gen X ได้รับผลพลอยได้จากการช่วงชิงดังกล่าว แต่โชคร้ายชะมัดที่หลายคนต้องประสบกับความยากลำบากผ่านความผันผวนของเศรษฐกิจระลอกแล้วระลอกเล่า โดยเฉพาะในยุคหนึ่งที่เศรษฐกิจโลกล้มครืนแบบระเนระนาด ศึกครั้งนั้นส่งผลแทบไม่ต่างจากคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ที่เคยผ่านยุคหลังสงคราม
  • ทว่าโชคชะตายังเข้าข้างคน Gen X ตรงที่พวกเขาดีดตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วงการขยายตัวทางเศรษฐกิจหลังภาวะถดถอย นั่นถือเป็นการกู้คืนความมั่งคั่งในคน Gen X
  • ขณะ Gen Y หรือ Millennials พวกเขาพบว่าการเดินทางผ่านช่วงวัยของตัวเองช่างเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม เช่น ค่าแรงที่ต่ำเตี้ย สภาพเศรษฐกิจที่ไม่แน่ไม่นอน ความท้าทายเหล่านี้เมื่อรวมเข้ากับสถานการณ์ทั่วไปอื่นๆ อาทิ สงครามและการก่อการร้าย นั่นทำให้ชาวมิลเลนเนียลส์ต้องปรับตัวในเรื่องการใช้จ่าย และมีทัศนคติต่อเรื่องการหารายได้และหนี้สินเปลี่ยนไป โดยผ่านบทเรียนจากคนรุ่นก่อน และเลือกที่จะไม่ใช้สูตรสำเร็จเดิม
  • และนั่นยังส่งผลต่อเนื่องถึงคน Gen Z (เกิดปี 2538 เป็นต้นไป) พวกเขาต้องการจะทำงานที่มีรายได้ดีและมั่นคง กับตระหนักถึงเรื่องการออมมากกว่าการใช้จ่าย ที่พวกเขาเองก็ยังมีไม่มากนักในตอนนี้ เห็นชัดจากคน Gen Z วางแผนชีวิตโดยคำนึงถึง…

75% ยินดีจะย้ายตัวเองไปยังเมืองหรือประเทศอื่นๆ เพื่อได้ทำงานที่ท้าทายกว่า

58% ยินดีทำงานเสริมตอนเย็นและวันหยุดสุดสัปดาห์

78% ให้ความสำคัญกับการฝึกงาน

77% หารายได้พิเศษผ่านงานอิสระ งานนอกเวลา หรือเบี้ยเลี้ยงอื่นๆ ที่ได้รับ

35% แม้ยังอยู่ในวัยเรียน แต่พวกเขากลับมีธุรกิจของตนเอง หรือกำลังวางแผนที่จะเริ่มธุรกิจในอนาคต

89% ของ Gen Z พวกเขาวางแผนเพื่ออนาคตทางการเงินไว้แล้ว

72% คิดคำนวณเรื่องค่าใช้จ่ายก่อนตัดสินใจซื้ออะไรก็ตาม

47% ใช้โทรศัพท์ค้นหาข้อมูล เพื่อตรวจสอบราคาและขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากครอบครัวหรือเพื่อน

66% วางแผนการเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยไว้ล่วงหน้า

มหาเศรษฐีอายุน้อยที่ร่ำรวยที่สุดในโลก

ทุกปีนิตยสาร FORBES จะวัดมูลค่าความมั่งคั่งของเหล่าเศรษฐีทั่วโลกเพื่อจัดอันดับมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุด ในปี 2019 ที่ผ่านมา ไม่น่าเชื่อว่าหลายคนในทำเนียบอยู่ในวัยไม่ถึง 40 ปี ที่สำคัญ…พวกเขาสร้างความมั่งคั่งขึ้นมากับมือตนเอง

Kylie Jenner

อายุ : 21 ปี
อันดับเศรษฐี : 2,057
มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ : 1 พันล้านเหรียญ
แหล่งความมั่งคั่ง : เครื่องสำอาง 
Kylie Cosmetics

เศรษฐีที่อายุน้อยที่สุดในโลกด้วยวัย 21 ปี เธอคือหนึ่งในตระกูล Kardashian อันโด่งดัง Jenner เก็บเงิน 250,000 เหรียญ จากการทำงานเป็นนางแบบมาสร้างกิจการเครื่องสำอางของตัวเองขึ้นในปี 2015 ประเดิมด้วยพาเลทลิปจำนวน 15,000 ชุด ในราคา 29 เหรียญต่อชุด ขายหมดภายใน 1 นาที ในปี 2018 เครื่องสำอาง Kylie Cosmetics ของเธอจำหน่ายไปได้รวม 360 ล้านเหรียญ ด้วยการบริหารงานแบบต้นทุนต่ำสุด แต่กลับทำยอดขายได้มหาศาล บริษัทของเธอจึงได้รับการประเมินมูลค่าไว้ที่ 900 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่ง Jenner เป็นผู้ครอบครองหุ้นทั้งหมด 100%

แม้มาจากครอบครัวที่ร่ำรวย แต่เคล็ดลับความสำเร็จของเธอคือชื่อเสียง ด้วยจำนวนผู้ติดตาม 177 ล้านคนจากทุกช่องทางโซเชียลมีเดียที่เธอมี ทำให้การโปรโมตเครื่องสำอางของตนเองไม่ใช่เรื่องยาก

John Collison และ Patrick Collison

อายุ : 28 และ 30 ปี
อันดับเศรษฐี : 1,116
มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ : คนละ 2.1 พันล้านเหรียญ
แหล่งความมั่งคั่ง : ซอฟต์แวร์ด้านการชำระเงิน Stripe

John และ Patrick สองพี่น้องชาวไอริชร่วมกันก่อตั้ง Stripe บริการชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งคู่ร่วมกันพัฒนา Stripe ระหว่างเรียนมหาวิทยาลัย MIT ใน Boston จากการปลุกปั้นอยู่นานหลายปี ในที่สุด Stripe เริ่มต้นจับลูกค้ารายใหญ่ได้ เช่น Visa, Apple Pay, Alibaba, Lyft, Facebook, Twitter ฯลฯเดือนกันยายน 2018 พวกเขาระดมทุนได้อีก 245 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งทำให้มูลค่าของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 20,250 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ นักลงทุนที่มีชื่อเสียงที่ร่วมเทเม็ดเงินให้กับ Stripe เช่น Elon Musk และ Peter Thiel

Evan Spiegel และ Bobby Murphy

อายุ : 28 และ 30 ปี
อันดับเศรษฐี : 1,116
มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ : คนละ 2.1 
พันล้านเหรียญ
แหล่งความมั่งคั่ง : แอปพลิเคชัน
โซเชียลมีเดีย Snapchat

Evan Spiegel และ Bobby Murphy ก่อตั้ง Snapchat ขึ้นในปี 2011 ในมหาวิทยาลัย Stanford โดย Murphy 
ซึ่งเป็นรุ่นพี่ของ Spiegel รับหน้าที่เป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี และเมื่อ Snap Inc. เข้าเทรดในตลาดหุ้น
New York เมื่อปี 2017 Spiegel ซึ่งอายุ 26 ปีในขณะนั้นจึงสร้างสถิติใหม่เป็นซีอีโอบริษัทจดทะเบียนที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์Snapchat เป็นแอปฯ ที่ให้ผู้ใช้สามารถส่งข้อความ รูปภาพ หรือวิดีโอที่จะหายไปภายใน 24 ชั่วโมง โดยมีลูกเล่นเป็นฟิลเตอร์ต่างๆ ปัจจุบันแอปฯ มีผู้ใช้ 191 ล้านคนต่อวัน โดยเป็นผู้ใช้วัย 18-34 ปี ช่วงที่ผ่านมา Snapchat ต้องต่อสู้กับยักษ์ใหญ่วงการโซเชียลมีเดียอย่าง Instagram ของ Facebook ที่เปิดฟีเจอร์คล้ายกันอย่าง Stories ขึ้นมา
Spiegel และ Murphy ยังคงมีหุ้นใน Snap Inc. คนละ18% และยังคงบริหารงานในบอร์ดคณะกรรมการ

Jihan Wu

อายุ : 33 ปี
อันดับเศรษฐี : 1,511
มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ : 
1.5 พันล้านเหรียญ
แหล่งความมั่งคั่ง : สกุลเงิน
คริปโต Bitmain

Jihan Wu คือผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอร่วมของยักษ์ใหญ่สกุลเงินคริปโตแห่งประเทศจีน Bitmain เขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกับ Micree Zhanซึ่งแท้จริงแล้ว Zhan คือขุนพลด้านเทคนิคของ Bitmain และถือหุ้นมากกว่าแต่ Zhan เก็บเนื้อเก็บตัวมากและไม่เป็นที่รู้จัก แม้กระทั่งประวัติการทำงานและการศึกษาใน LinkedIn ก็ไม่มีระบุ Micree Zhan คือ นักพัฒนาชิปวงจรเอซิค (ASIC หรือ Application-Specific Integrated Circuit) ที่ใช้กันมายาวนานในวงการเหมืองนักขุดเงินคริปโต และเป็นสิ่งสร้างชื่อให้กับ Bitmain บริษัทที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2013 ด้าน Wu นั้นเป็นหน้าตาของบริษัท เขาจบปริญญาตรี 2 ใบ สาขาจิตวิทยาและสาขาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Peking Bitmain วางแผนจะเปิดไอพีโอในตลาดตั้งแต่กลางปี 2018แต่ต้องชะลอแผนออกไปเนื่องจากค่าเงินบิตคอยน์ที่ร่วงลงกะทันหันซึ่งจะทำให้ตัวเลขทำกำไรของ Bitmain ไม่ดีพอในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น

Chris Wanstrath

อายุ : 33 ปี
อันดับเศรษฐี : 1,605
มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ : 1.4 พันล้านเหรียญ
แหล่งความมั่งคั่ง : แพลตฟอร์มสำหรับ
พัฒนาซอฟต์แวร์ GitHub

GitHub ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2008 โดย Chris Wanstrath เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง และเขาถือหุ้นสูงสุดในบริษัท GitHub นิยามตัวเองว่าเป็น Facebook สำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์นักพัฒนาฯ มากกว่า 22 ล้านคนใช้แพลตฟอร์มนี้ในการเชื่อมต่อพูดคุยกัน จนถึงร่วมทีมทำงานกันบนโปรเจกต์มากกว่า 60 ล้านชิ้น โดยสิ่งที่สร้างชื่อให้ GitHub มากที่สุดคือการเป็นสื่อกลางในการแบ่งปันโค้ดดิ้งระหว่างกัน ตั้งแต่นักพัฒนาฯ อิสระไปจนถึงนักพัฒนาฯ ในบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง General Electric แม้กระทั่ง NASA ยังลงซอร์สโค้ดสำหรับส่งยาน Apollo 11 ไปลงดวงจันทร์ไว้ใน GitHub ตั้งแต่ปลายปี 2015
ความโดดเด่นของ GitHub ทำให้ Microsoft เข้าซื้อกิจการไปเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2018 ด้วยมูลค่าซื้อขาย 7.5 พันล้านเหรียญ ส่งให้ Wanstrath เข้ามาติดในลิสต์มหาเศรษฐีโลก โดยปัจจุบัน Wanstrath ยังคงทำงานเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านเทคนิคให้กับ Microsoft ต่อไป

ขอบคุณข้อมูล : FORBES

ทำความรู้จักกลุ่ม New Wealth

กลุ่ม ‘Wealth’ ในที่นี้หมายถึงคนร่ำรวยที่มักมีภาพลักษณ์ติดอยู่กับความหรูหราจากทรัพย์สมบัติที่ได้รับสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น แต่ด้วยการเข้ามาของเทคโนโลยีและ Digital Disruption ได้เปลี่ยน Business Landscape ทั้งโลกไปโดยสิ้นเชิง ทำให้นิยาม ทัศนคติ และพฤติกรรมของคนร่ำรวยในยุคใหม่ต่างไปจากเดิม

ที่ผ่านมาทาง The 1 ได้มีการจัดทำ The 1 Insight โดยให้คำนิยามสำหรับกลุ่ม New Wealth ว่า ไม่ได้หมายถึงคนรุ่นใหม่ หรือคนอายุน้อย แต่หมายถึงพฤติกรรมของคนร่ำรวยยุคปัจจุบันที่ถูกดิจิทัลและเทคโนโลยีเข้ามาดิสรัป ทำให้มีทัศนคติและพฤติกรรมแตกต่างจากคนร่ำรวยสมัยก่อนอย่างสิ้นเชิง

โดยเฉพาะเครื่องแสดงสถานะที่จากเดิมวิถีของคนรวยเป็นเรื่อง ‘วัตถุนิยม’ อย่างกระเป๋าแบรนด์เนม หรือรถหรู ทว่าปัจจุบันที่คนสามารถซื้อทุกอย่างได้ในทุกเวลา เครื่องแสดงสถานะของคนกลุ่มนี้จึงเปลี่ยนไปจาก ‘ฉันมีอะไร’ หรือ ‘ฉันเป็นใคร’ มาเป็นการให้ความสำคัญกับความเป็นตัวของตัวเองที่มองว่า ‘ฉันมีคุณค่ากับอะไร’ หรือการให้คุณค่ากับตัวตนที่ต่างไปจากคนทั่วไป

จากข้อมูลสมาชิกกลุ่ม New Wealth ของ The 1 พบว่า ในปี 2019 คนกลุ่มนี้มีอายุน้อยกว่า 45 ปี มากถึง 47% โดยมีการใช้จ่ายสินค้าและบริการทุกๆ 5 วัน มากกว่าสมาชิกกลุ่มอื่นถึง 3.5 เท่า และมียอดใช้จ่ายเฉลี่ยที่สูงมากกว่าสมาชิกกลุ่มอื่นๆ 3 เท่า

นั่นหมายความว่า New Wealth เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพทั้งในเรื่องกำลังซื้อที่สูงและความถี่ในการจับจ่าย จึงไม่น่าแปลกใจที่คนกลุ่มนี้จะกลายเป็น Potential Customers ที่หลายแบรนด์ให้ความสำคัญและต้องการเข้าถึ

เจาะลึก 3 Insight กลุ่ม New Wealth

 ไม่ว่าคุณจะทำธุรกิจอะไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเรื่องหนึ่งที่สำคัญมาก คือการทำความเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าและผู้บริโภคแบบเชิงลึก หรือที่เราเรียกว่า Insight และนี่คือ 3 Insight ที่น่าสนใจของกลุ่ม New Wealth

Re-defining Luxury

เพื่อตอบโจทย์กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีกำลังซื้อสูง แบรนด์หรูต่างๆ ได้เริ่มสร้างไลน์สินค้าเสื้อผ้าให้มีความ Casual มากขึ้น ทำให้ง่ายต่อการใส่ทุกวัน และสร้างโอกาสในการ Mix & Match มากขึ้น นอกจากนี้แบรนด์ Luxury ยังเริ่มเข้ามาบนโลกโซเชียลมีเดีย ที่ไม่ได้ต้องการแค่สื่อสารให้ถึงลูกค้ากลุ่มนี้ที่ใช้เวลาส่วนใหญ่บนโลกออนไลน์ แต่ยังส่งผลดีในแง่ของ Brand Visibility ด้วย

More on Experience

ด้วยการที่กลุ่ม New Wealth ไม่ได้สนใจการให้ความสำคัญกับประสบการณ์ที่ได้รับจากการจับจ่ายที่ต้องมากกว่าและดีกว่ามาตรฐานเพียงสิ่งของหรือตัวเงินในบัญชี แต่เน้นไปที่ประสบการณ์ที่ได้รับจากการใช้เงิน ซึ่งพวกเขาพร้อมจ่ายทุประสบการณ์ที่ตอบโจทย์ แค่เป็นสิ่งที่ ‘มากกว่า’ และ ‘ดีกว่า’ แบบไม่จำกัดราคา เช่น การลงทุนไปกับตั๋วเครื่องบิน First Class, การรับประทานอาหาร Street Food ร้านดังๆ ในห้างฯ แบบไม่ต้องร้อน, การได้รับบริการเอ็กซ์คลูซีฟ เช่น วีไอพีเลานจ์, บริการผู้ช่วยช้อปปิ้ง, บริการ Omni Channel ที่ Personalized ตามความต้องการของแต่ละคน ฯลฯ

Smart Wealth

แม้กลุ่ม New Wealth จะมียอดใช้จ่ายสูง ทว่าก็มีการวางแผนใช้เงินอย่างคุ้มค่าเช่นกัน จากข้อมูลสมาชิก New Wealth ของ The 1 พบว่า ลูกค้ากลุ่มนี้จะมีบัตรเครดิตหลายใบ และพร้อมใช้ให้ตรงกับโปรโมชั่นที่มีอยู่ ณ ขณะนั้น ซึ่งข้อมูลที่น่าสนใจ คือ มี 9% เท่านั้นที่ใช้จ่ายเพียงเงินสด และ 63% มีบัตรเครดิตมากกว่า 4 ใบ โดยจะมีใบหลักที่ชอบใช้รูดเป็นพิเศษ แต่ก็พร้อมจะหยิบใบอื่นขึ้นมาทันทีหากบัตรใบนั้นคุ้มค่ากว่า

นอกจากนี้ New Wealth ยังเป็นกลุ่มที่ใช้บัตรเครดิตอย่างรอบคอบ เห็นได้จาก 4 ใน 5 ของลูกค้ากลุ่มนี้ที่รู้ว่าจะใช้บัตรเมื่อไร และใช้อย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด เช่น คนที่มีนิสัยชอบชำระหนี้บัตรเครดิตแบบเต็มจำนวนทุกเดือน ก็เลือกบัตรแบบมีคะแนนสะสมของรางวัลหรือรับส่วนลดเงินสดคืน หรือรับสิทธิประโยชน์อื่นตามที่ต้องการ

โดยสรุปแล้ว New Wealth ถือเป็นอีกกลุ่มที่น่าสนใจทั้งในเรื่องกำลังซื้อและความถี่ในการจับจ่ายที่สูงกว่ากลุ่มอื่น ดังนั้น การได้รู้พฤติกรรมและ Insight ของคนกลุ่มนี้ น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับแบรนด์และนักการตลาด เพื่อนำมากำหนดยุทธวิธีในการเข้าถึงผู้บริโภคที่น่าสนใจกลุ่มนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตามไปดูความหรูแฟ่แบบ New Wealth

ในเมื่อพวกเขาตั้งใจทำงานและบริหารการเงิน ก็ย่อมมีสิทธิที่จะจับจ่ายใช้สอย จะว่าฟุ่มเฟือยไหม คงแล้วแต่มุมมอง แต่สำหรับเหล่า New Wealth นี่ถือเป็นรางวัลของชีวิต

Re-defining Luxury

  • ก่อนอื่นต้องนิยามคำว่า ‘ลักชัวรี่’ ใหม่ เพราะเมื่อเทรนด์ความรวยเปลี่ยนไป ไลฟ์สไตล์และวัฒนธรรมความรวยก็เปลี่ยนตาม การให้ความสำคัญกับคำว่า ‘ลักชัวรี’ ของกลุ่ม New Wealth จึงแตกต่างจากเมื่อก่อนในหลากหลายแบบ

De-aging Luxury

  • เมื่อไฮเอนด์แบรนด์สลัดภาพความหรูหรา ปรับอายุให้เด็กลง ทั้งการดีไซน์ ช่องทางการสื่อสารกับลูกค้า และช่องทางการขายไปอยู่ในออนไลน์แพลตฟอร์ม เพื่อเข้าถึงกลุ่ม New Wealth ได้ง่ายขึ้น เช่น การนำแอนิเมชั่นเข้ามาใช้ในการโฆษณา การใช้อินฟลูเอนเซอร์ เป็นต้น

Luxury Goes Online

  • การไปต่อแถวที่แฟล็กชิปสโตร์ไม่ใช่คำตอบเพียงคำตอบเดียวอีกต่อไป เมื่อ Technology ผนวกกับ Brand Loyalty ที่สูงขึ้น ความสะดวกใจที่จะซื้อของแพงๆ ทางออนไลน์ก็มากขึ้นตามไปด้วย ยิ่งมี Omnichannel Platform ยกตัวอย่างเช่น Chat & Shop ที่เพียงสัมผัสหน้าจอ สินค้าจากแบรนด์โปรดก็มาเสิร์ฟถึงหน้าบ้าน และนี่แหละคือทางเลือกที่กำลังมาแรง

Niche is Chic

  • สินค้า Mass Luxury ไม่ดึงดูดกลุ่ม New Wealth อีกต่อไป ทุกไอเทมที่ใช้ต้องบอกความเป็นตัวตนและรสนิยมชัดเจน Niche Brand จึงขึ้นมาเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ

Healthy is Wealthy New Wealth

  • พร้อมใช้เงินและเวลาไปกับการสร้างเสริมสุขภาพที่ดี จนเกิดเป็นเทรนด์ รักสุขภาพสไตล์ลักชัวรี เช่น สปอร์ตแกดเจ็ต อาหารออร์แกนิก หรือการใช้บริการศูนย์สุขภาพแบบครบวงจร ฯลฯ

More on Experience

  • ใครว่าเงินซื้อประสบการณ์ไม่ได้ New Wealth จะซื้อให้ดู

Fine Food Everywhere

  • เพราะอาหารไม่ใช่แค่รสชาติ แต่ต้องบอกถึงรสนิยมและไลฟ์สไตล์ได้ด้วย New Wealth จึงให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารไม่แพ้เรื่องอื่น ไม่ว่าจะเป็นสตรีทฟู้ดร้านดังที่ต้องจองคิวข้ามปี ซึ่งตอนนี้ย้ายเข้ามาในห้างฯ ให้ได้ลิ้มรสกันแบบสะดวกสบายมากขึ้น รวมถึง Fine Dinning ประสบการณ์แปลกใหม่จากร้าน ‘มิชลินสตาร์’ หรือมื้อสุดเอ็กซ์คลูซีฟกับ Chef’s Table ชื่อดัง หรือ New Wealth ที่มีทักษะการทำอาหารอาจเลือกซื้อวัตถุดิบนำเข้าชั้นดีจาก Special Store มาทำเองที่บ้านก็ได้

Passionate Hobbyist

  • แพสชั่นมีอำนาจรุนแรงกับกลุ่ม New Wealth มาก ขอเพียงเป็นสิ่งที่บอกตัวตนพวกเขาได้ ก็พร้อมลงทุนทั้งเงินและเวลาเพื่อเพิ่มทักษะที่สนใจและหลงใหล ไม่ว่าจะเข้าคอร์สเรียนทำอาหารที่ Le Cordon Bleu หรือลงทุนกับอุปกรณ์ชงกาแฟเพื่อดื่มด่ำรสชาติกาแฟแก้วโปรด

Over-the-Expectation Services

  • คิดจะซื้อใจ New Wealth ต้องมอบบริการแบบ Personalize หรือ ทำการตลาดแบบรู้ใจ ซึ่งการจะสร้างสรรค์ประสบการณ์ระดับนี้ให้ลงตัว เทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลที่ทำให้เข้าใจไลฟ์สไตล์ลูกค้าแบบ 360 องศาเป็นหัวใจสำคัญ เพราะเมื่อมอบสินค้าและบริการเหมือนเข้าไปนั่งในใจลูกค้าได้แล้ว รับรองว่า New Wealth ไม่หนีไปไหนแน่นอ

Smart Wealth

  • ถึงจะมีอำนาจใช้จ่ายสูง แต่ New Wealth ไม่ใช่แค่ ‘ใช้เงินเก่ง’ แต่ต้อง ‘ใช้เงินเป็น’ ยอดรูดบัตรแต่ละเดือนสูงปรี๊ดก็จริง แต่คะแนนและพริวิลเลจที่ได้รับกลับมาจากการเป็นสมาชิกหรือบัตรเครดิตที่ร่วมรายการที่มากตามไปด้วย จนเรียกได้ว่าเป็นสกุลเงินใหม่ของคนยุคนี้ก็ว่าได้

Credit Card Centric

  • เพราะทุกคะแนน คือบันไดสู่ความคุ้มค่า New Wealth มักถือบัตรเครดิตหลายใบและเลือกใช้ใบที่คุ้มที่สุด โดยจะเลือกใช้ให้ตรงกับโปรโมชั่นและสิทธิพิเศษที่ดีที่สุด

Privilege Planning

  • วิถีคนรวยต้องใช้เงินให้เป็น เมื่อยอดใช้จ่ายสูง คะแนนสมาชิกก็ยิ่งสูงตามไปด้วย กลุ่มคนรวยยุคใหม่จึงเริ่มหันมาสนใจสิทธิประโยชน์จากการแลกคะแนนที่ตรงกับความต้องการของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ถึงจะเป็น New Wealth ก็ใช่ว่าจะไม่สนของเซลส์ เพราะขอแค่เป็นงานเซลส์แบบเอ็กซ์คลูซีฟ หรืองาน Pre-Sale สบายๆ ไม่ต้องแย่งของกับคนอื่น ก็ได้ใจไปเต็ม

New Wealthบริหารความมั่งคั่งกันอย่างไร

ความมั่งคั่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเงินเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงทรัพย์สินทั้งหมดที่มี และหนี้สินทั้งหมดที่ก่อไว้ ดังนั้น การบริหารความมั่งคั่ง คือการเพิ่มพูนทรัพย์สินสุทธิหลังหักหนี้สินภายใต้ความเสี่ยงที่คนกลุ่มนี้ยอมรับได้
และนี่เป็น 5 ข้อหลักในการบริหารความมั่งคั่งอย่างถูกวิธี ซึ่งไม่ใช่แต่กลุ่ม New Wealth เท่านั้น แต่หากใครสามารถทำได้ครบทุกข้อ อนาคตเศรษฐีน่าจะอยู่ไม่ไกล แต่ถ้าทำได้ไม่ครบ ขอเพียงทำสำเร็จในข้อใดข้อหนึ่งอย่างโดดเด่นก็น่าจะเพียงพอ

รายได้ รายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 15% ต่อปี และมีรายได้ทั้งแบบเหงื่อแลกเงิน (Active Income) และทรัพย์สินสร้างเงิน (Passive Income)
รายจ่าย รายจ่ายเพิ่มขึ้นช้ากว่ารายได้ และประเภทรายจ่ายควรเป็นรายจ่ายจำเป็นมากกว่ารายจ่ายฟุ่มเฟือย
ออมเงิน ออมเงินอย่างน้อย 30% ของรายได้ และอัตราการออมเพิ่มตามรายได้ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี
หนี้สิน หนี้สินทั้งหมดไม่เกิน 2 เท่าของทรัพย์สินทั้งหมด และประเภทหนี้สินควรเป็นหนี้สินเพื่อการลงทุนมากกว่าหนี้สินเพื่อการบริโภค
ลงทุน ลงทุนให้ทรัพย์สินที่มีได้รับผลตอบแทนมากกว่าเงินเฟ้อ และเงินลงทุนควรกระจายไปลงทุนหลายประเภทบนความเสี่ยงที่รับได้

เทคโนโลยีใหม่ช่วยให้เรา ‘มั่งคั่ง’

ไม่ต้องสงสัยเลยว่านวัตกรรมด้านเทคโนโลยีเป็นตัวแปรหลักในการขับเคลื่อนและสร้างความมั่งคั่งให้กลุ่ม New Wealth แน่นอน, เทคโนโลยีที่ว่า ต้องง่าย ต้องเร็ว และใช้เงินน้อย จึงจะตอบโจทย์คนกลุ่มนี้

ในช่วง 2-3 ปีนี้ FinTech เป็นคำที่คุ้นหูกับคนไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งฟินเทคนั้นมีความหมายที่กว้างมาก เพราะหมายถึงการนำเทคโนโลยีมาช่วยให้ระบบการเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงมีหลากหลายธุรกิจที่นำฟินเทคมาใช้ในการให้บริการลูกค้า โดยมีรูปแบบธุรกิจที่แตกต่างกันออกไป เช่น ระบบการชำระเงิน ประกันชีวิต การลงทุน การกู้ยืมเงิน การระดมทุน เป็นต้น

ในบรรดาแขนงของการนำฟินเทคไปใช้งานนั้น คำว่า Wealth Tech เป็นคำที่ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงหลัง WealthTech หมายถึงการนำ FinTech มาประยุกต์ใช้กับบริการด้านการบริหารความมั่งคั่ง โดยมีการแบ่งสายของ WealthTech ออกไปหลายสาขา แต่หลักๆ แล้วต้องมีคอนเซปต์ไม่หนีไปจากนี้มากนัก

  • เริ่มด้วยเงินลงทุนไม่สูงมาก WealthTech ออกมาตอบโจทย์ผู้ที่ไม่ได้มีเงินทุนเริ่มต้นสูงมากนัก เพราะถ้าต้องเริ่มด้วยเงินที่มากอาจทำให้นักลงทุนหน้าใหม่มองข้ามบริการไป และบางรายอาจพอใจกับการเริ่มต้นด้วยเงินไม่มากก่อนถึงตัดสินใจเพิ่มเงินลงทุน
  • เข้าถึงง่ายและจบในที่เดียว แทนที่จะต้องเดินทางไปที่สาขาธนาคารและใช้เอกสารกระดาษมากมายกับลายเซ็นหลายจุด นักลงทุนจะต้องใช้เพียงไม่กี่ขั้นตอนก็สามารถเปิดพอร์ตและเริ่มลงทุนผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันได้ทันที เพราะการเข้าถึงบริการที่ยากและซับซ้อนจะทำให้นักลงทุนหน้าใหม่ไม่สนใจที่จะเริ่มใช้บริการ
  • ค่าธรรมเนียมต่ำ แนวโน้มของธุรกิจ Wealth ในยุคดิจิทัล ค่าธรรมเนียมให้บริการจะต้องถูกลงเรื่อยๆ หรืออาจจะไม่มีค่าธรรมเนียมเลย เพราะหากตัดส่วนของต้นทุนที่เป็นบุคลากรทางการเงินที่มีเงินเดือนสูงออกไป และค่าใช้จ่ายในเรื่องของสาขา ค่าธรรมเนียมย่อมจะต้องถูกลง
  • ลงทุนให้อัตโนมัติ ที่ผ่านมาหากต้องการมีผู้ให้คำแนะนำการเงินการลงทุน และมีผู้นำเงินไปลงทุนให้อัตโนมัติจะต้องมีเงินลงทุนระดับล้านบาทขึ้นไป แต่ด้วยเทคโนโลยีทำให้ข้อจำกัดในอดีตหายไป คนที่มีเงินไม่มากนักก็มีสิทธิ์ได้รับบริการในมาตรฐานที่ไม่แพ้คนที่มีเงินเยอะ

นอกจากนี้ WealthTech ยังเป็นกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตสูงในช่วงที่ผ่านมา แม้อาจจะไม่เป็นที่พูดถึงมากนักหากเทียบกับสตาร์ทอัพกลุ่มอื่นๆ เพราะเรื่องของการลงทุนมันไม่ค่อยจะดู Sexy อยู่แล้ว ตรงกันข้าม ภาพออกจะไปทางดูเคร่งเครียดด้วยซ้ำ แต่อย่างน้อยก็มีสตาร์ทอัพสายนี้ที่สามารถไปถึงระดับ Unicorn ได้สำเร็จนั่นคือ Robinhood ซึ่งเป็นแอปฯ ที่สามารถเทรดหุ้นในตลาดสหรัฐฯ ได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม(แลกกับ Spread ราคาที่ห่าง)

เมื่อความมั่งคั่งยุคใหม่พุ่งชนไดโนเสาร์

ความมั่งคั่งยุคใหม่กำลังสร้างความสั่นสะเทือนให้กับคนรุ่นเก่า ในอดีตกว่าที่ใครสักคนจะไต่ระดับขึ้นมามีคำนำหน้าว่าเจ้าสัว พวกเขาต้องมีทั้งทรัพยากรและคอนเนคชัน ใช้เม็ดเงินมหาศาลในการลงทุน สร้างระบบ แต่สำหรับ New Wealth พวกมันไม่จำเป็นอีกต่อไป

การจัดตั้งบริษัทสามารถทำได้โดยง่าย แถมค่าใช้จ่ายน้อย การเข้าถึงลูกค้า New Wealth ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านตกแต่งสวยหรูให้ดูน่าเชื่อถือเลยด้วยซ้ำ บางคนใช้ชั้นลอยของตึกแถวที่บ้านเป็นสำนักงาน มีเพียงคอมพิวเตอร์และระบบการสื่อสารไร้สายที่มีประสิทธิภาพ เพียงแค่นั้นพวกเขาก็สามารถทำเงิน มีรายได้จากการทำธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์ ที่สำคัญยังขจรขจายสินค้าไปได้ทั่วโลก เพราะทุกคนในโลกเป็นลูกค้าเขาทั้งหมด

แน่นอน, การขยับเคลื่อนเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ทำให้พวกเขามีอิสระในเรื่องของเวลา ย่นระยะการเดินทาง และตัดภาระพะรุงพะรังยุ่งยาก น่าเบื่อหน่ายอย่างคนรุ่นก่อนไปได้แยะ และคงจะเร็วไปสักหน่อยถ้าบอกว่าธุรกิจของกลุ่ม New Wealth จะสามารถเติบโตและยั่งยืนเหมือนธุรกิจของคนรุ่นเก่า แต่มันมีแนวโน้มว่าพวกเขาจะมั่งคั่งกว่า แต่เหนื่อยน้อยกว่า

โดยเฉพาะในสังคมเอเชียอย่างไทยเรา รากเหง้ากับความเชื่อทางวัฒนธรรมยังเป็นส่วนสำคัญในความมั่งคั่งของคนกลุ่มนี้ การวางแผนอนาคต และตัดสินใจดำเนินการอะไรในบางเรื่อง พวกเขายังจำเป็นต้องคำนึงถึงครอบครัวและความเห็นชอบจากผู้หลักผู้ใหญ่ ซึ่งผู้ใหญ่เองในบางครั้งก็ยึดติดและยังเชื่อในวิถีทางความมั่งคั่งอย่างเดิม เช่น ต้องซื้อที่ดินไว้เยอะๆ ไม่กล้าเสี่ยงกับการลงทุนที่ฉาบฉวย ดังนั้น ระหว่างนิยามความมั่งคั่งยุคใหม่กับยุคเก่าจึงมีเส้นบางๆ ที่คอยรั้งและดึงไว้เสมอ ไม่มีใครผิด ไม่มีใครถูก

รายงานของ UBS/PwC Billionaires อธิบายไว้อย่างสมบูรณ์ถึงคุณค่าของวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลต่อการถ่ายโอนความมั่งคั่งในประเทศแถบเอเชีย พวกเขากล่าวว่า ‘ความคิดโบราณไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมอีกต่อไป’ นี่ทำเอาคนรุ่นเก่าผู้มั่งคั่งถึงกับสะดุ้ง!

ว่าแต่ความมั่งคั่งยุคใหม่จะไม่ฟังกลุ่มคนรุ่นเก่าเลยละหรือ ข้อสรุปที่ GM คิดว่าประนีประนอมมากที่สุดคือ ‘ความยืดหยุ่น’ ยืดหยุ่นทั้งต่อบุคคล ครอบครัว รวมถึงวัฒนธรรม ไม่มีใครอยากตกยุค หรือถูกผลักให้ตกโลก และสำหรับ New Wealth พวกเขาจะไม่ให้เครดิตความสำเร็จกับคนรุ่นก่อนหน้าเลยคงไม่ได้

ที่ผ่านมาจำนวนมหาเศรษฐีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีน มีการเติบโตอย่างทวีคูณนับจำนวนมหาเศรษฐีในภูมิภาคนี้ พบว่าพวกเขาเติบโตขึ้นเกือบหนึ่งในสาม หรือประมาณ 32%

รายงานของ Hurun Global Unicorn List 2019 ระบุว่า ปัจจุบันจีนมีสตาร์ทอัพยูนิคอร์น (สตาร์ทอัพที่มีมูลค่ากิจการสูงกว่า 1 พันล้านดอลลาร์) จำนวน 206 ราย ส่วนในสหรัฐอเมริกามีสตาร์ทอัพยูนิคอร์นจำนวน 203 ราย นั่นหมายความว่า สตาร์ทอัพยูนิคอร์นของจีนในปัจจุบัน มีจำนวนมากกว่าสหรัฐอเมริกาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

กลุ่ม New Wealth คงต้องขอบคุณนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและอีคอมเมิร์ซที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงสุดโดยเฉพาะในโซนเอเชีย ที่วันนี้หลายประเทศถูกจัดอันดับขึ้นไปอยู่หัวแถวของการปฏิวัติทางเทคโนโลยีใหม่ รายงานเดียวกันจาก UBS/PwC Billionaires คาดการณ์ว่าจะมีการโอนทรัพย์สินกว่า 3.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ภายในอีก 20 ปีข้างหน้า หรือเกือบ 40% ของความมั่งคั่งทั้งหมดในโลกปัจจุบันมายังโซนเอเชีย

หลายครอบครัวยังใหม่มากกับสถานะเศรษฐีหรือมหาเศรษฐี และนั่นคือเหตุผลที่ ‘ความยืดหยุ่น’ เป็นสิ่งจำเป็นในการวางแผนความมั่งคั่งในนิยามใหม่ เพราะมันจะช่วยให้ครอบครัว และกลุ่มคน New Wealth สามารถตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตได้อย่างมั่นใจภายใต้กรอบวัฒนธรรมเดิมที่ดีงาม 

ทำไมคนเอเชียจึงมั่งคั่ง

ความมั่งคั่งในคนเอเชียส่วนใหญ่มาจากการทำงานหนักและความเพียรประกอบกับครอบครัวต้องการโอนทรัพย์สมบัติของพวกเขาไปยังคนรุ่นต่อไป แต่ปัญหาคือ พวกเขาต้องการจะส่งต่อความมั่งคั่งนั้นในรูปของทรัพย์สิน และ/หรือในรูปแบบอุตสาหกรรม ซึ่งมันอาจไม่ตอบโจทย์สำหรับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการอิสระสูงในการใช้ชีวิต พวกเขาไม่ได้ต้องการหายใจเข้า-ทำงาน หายใจออก-ก็ยังทำงานอยู่

จากรายงานของ Asia Pacific Wealth Transfer Report ระบุว่า 64% ของคนรุ่นเก่ามีเงื่อนไขในการยกมรดกให้กับคนรุ่นลูกรุ่นหลาน เพื่อให้แน่ใจว่าสมบัติของพวกเขาจะถูกเก็บรักษาไว้โดยคนรุ่นต่อไป หลายคนกังวลว่าลูกหลานของพวกเขาอาจมองข้ามหลักการของครอบครัวโดยได้รับอิทธิพลขณะศึกษาหรือทำงานในต่างประเทศ เงื่อนไขที่ว่าส่วนมากคือการให้ความรู้และหลักการจำเป็นในการทำงานและบริหารธุรกิจ

51% ของผู้ตอบแบบสอบถามในรายงานฉบับเดียวกันยังกล่าวด้วยว่า พวกเขาตั้งใจที่จะยกทรัพย์สินและมรดกแก่ผู้สืบทอดในช่วงชีวิตของตนเอง กับยังอยากช่วยประคับประคอง พร่ำสอนถึงวิธีการบริหารความมั่งคั่งด้วยความรับผิดชอบ ก่อน New Wealth จะเข้ามาควบคุมทรัพย์สินทั้งหมดอย่างเบ็ดเสร็จ

ดังนั้นแล้ว คุณหรือใครที่กำลังตกอยู่ในสถานะต้องวางแผนในเรื่องการจัดการความมั่งคั่ง กับมีความจำเป็นต้องส่งไม้ต่อให้ความมั่งคั่งนั้นไปให้กับคนรุ่นใหม่ โปรดมั่นใจเถอะว่า พวกเขาจะไม่บริหารงานอย่างที่คนรุ่นเก่าเชื่อว่ามีความจำเป็น เพราะมันไม่ใช่คำตอบของโลกใหม่ ณ วันนี้

ทศวรรษที่ผ่านมาอาจเป็นช่วงเวลาแห่งการสร้างความมั่งคั่งที่อุดม-สมบูรณ์ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์ โลกใหม่ผลิตคนร่ำรวยจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แม้จะมีการหายตัวไปของผู้ประกอบการดอทคอมบ้าง แต่จำนวนของเศรษฐีและมหาเศรษฐีจะยังคงเพิ่มขึ้น

และมันจะเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ