‘แก้มลิงกลางกรุง ปอดใหม่ของคนเมือง’
สนามม้านางเลิ้ง…. พื้นที่เพื่อการสันทนาการที่ตั้งตะหง่าน ให้ความบันเทิงด้านม้าแข่งมานับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2459 ในพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่มาในวันนี้ หลังปิดฉากการแข่งขันรอบสุดท้ายในปี 2561 ก็ได้ถูกปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และกลายสภาพมาเป็น ‘อุทยานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช’ หรือที่เรียกกันอย่างสั้นๆ ว่า ‘อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ รัชกาลที่ 9’ GM Live ขอพาคุณไปรู้จักกับหนึ่งในโครงการพระราชดำริสำคัญ และ ‘ปอดใหม่ของคนกรุงเทพ’ กันในครั้งนี้

อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ รัชกาลที่ 9’ นี้ เกิดขึ้นจากพระราชดำริของ พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระราชินี ที่ตั้งพระราชหฤทัยเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเพื่อสืบสาน รักษา ต่อยอด แนวคิดกับองค์ความรู้ด้านป่าและน้ำ ที่เป็นแนวทางหลักในการออกแบบสวนแห่งนี้
อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ รัชกาลที่ 9 มีพื้นที่โดยสังเขปประมาณ 279 ไร่ เป็นที่ดินในพระปรมาภิไธย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเพื่อให้สร้างเป็นสวนสาธารณะ มีการวางโครงการและออกแบบมานับตั้งแต่ปี 2561 และได้แล้วเสร็จเปิดให้บริการบางส่วนแล้วในปีนี้ ถือได้ว่าเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ ในพื้นที่เขตกรุงเทพชั้นใน รองจากสวนลุมพินี และสวนเบญจกิตติ
แน่นอนว่า เมื่อเป็นสวนใหม่ที่สร้างขึ้น จึงยึดถือหลักการออกแบบในแนวทาง Modern Park ที่ครบพร้อมไปด้วยทัศนียภาพสะท้อนความเป็นเมืองสมัยใหม่ของกรุงเทพ และประโยชน์ใช้สอยในเรื่องป่าและน้ำอย่างเต็มที่
พื้นที่ที่น่าสนใจของอุทยานเฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่ 9 มีดังต่อไปนี้ ….

- สระน้ำรูปเลข 9: เป็นสระน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถมองเห็นเป็นเลข 9 ได้จากมุมสูง ทั้งยังเป็นพื้นที่รองรับน้ำตามแนวคิดแบบ ‘แก้มลิง’ ที่สามารถผันน้ำจากคลองเปรมประชากรที่อยู่ด้านนอกสวน
- สะพานไม้เจาะบากง: เป็นสะพานไม้ที่จำลองมาจากของจริงที่จังหวัดนราธิวาส อันเป็นสะพานที่รัชกาลที่ 9 เคยไปทรงงาน บริเวณสะพานมีท่าน้ำ น้ำตก และลำธารจำลองตามแบบป่าฝนเขตร้อน
- สะพานหยดน้ำพระทัย: สะพานที่สื่อให้เห็นพระราชหฤทัยที่หล่อเลี้ยงคนไทยมากว่า 70 ปีของรัชกาลที่ 9 มีความสวยงามเมื่อมองสะท้อนเงาจากแผ่นน้ำ
- พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 9: เป็นพระบรมรูปที่มีความสูง 7.7 เมตร ประดิษฐานอยู่กลางอุทยาน เพื่อให้รำลึกถึงน้ำพระทัยและพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 9
นอกจากนี้ภายในอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ รัชกาลที่ ๙ ยังสะท้อนแนวคิดหลักการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
มีการจัดสวนตกแต่งในลักษณะของป่าธรรมชาติ ปลูกไม้ที่มีความหมายและมีประโยชน์ อาทิ ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง, พืชกรองฝุ่น, ต้นไม้โตเร็วเพื่อสร้างร่มเงา, ต้นไม้ประจำจังหวัด, ไม้หายาก, พืชบำบัดน้ำ และกังหันน้ำชัยพัฒนา เพื่อสร้างระบบนิเวศที่สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน มีการประมาณการว่า จำนวนต้นไม้ภายในอุทยานนั้น มีจำนวนที่มากถึง 4500 ต้น ให้ความร่มรื่นและเป็นเงาร่มบังที่ดีสำหรับผู้ที่มาเยือนผ่านมาผ่านไป
ในขณะนี้ อุทยานเฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่ 9 ได้เปิดให้บริการและต้อนรับผู้มาเยือนแล้ว และเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์คที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะครบพร้อมไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ เป็นร่มเงาที่เหมาะกับกิจกรรมยามว่าง และเป็นหนึ่งในสวนสวยที่สืบสาน รักษา ต่อยอด แนวคิดและพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่สะท้อนว่า ใช้ได้ผลจริง ยั่งยืน และท้าทายกาลเวลาในด้านการออกแบบและการอนุรักษ์อย่างเต็มเปี่ยม
จึงไม่เป็นการเกินเลยนักถ้าจะกล่าวว่า อุทยานเฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่ 9 แห่งนี้ คือ ‘ปอดแห่งใหม่’ ของคนกรุงเทพ อย่างแท้จริง
