fbpx

New Normal Effect!! ตลาดท่องเที่ยวไทยโจทย์ใหญ่หลังโควิด-19 เริ่มซา

ถึงตอนนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ดูจะเริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดี ซึ่งอาจจะทำให้หนึ่งในกิจกรรมที่หลายคนรอคอย อย่างการเดินทางท่องเที่ยว โดยเฉพาะในประเทศของเราเอง น่าจะค่อยๆ กลับคืนมาลีละน้อย 

อย่างไรเสีย ในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ ตลาดท่องเที่ยวอาจยังไม่พลิกกลับมาเป็นบวกได้ เนื่องจากยังมีปัจจัยลบหลายด้าน เช่น ความกังวลของนักท่องเที่ยว เพราะยังไม่มีวัคซีนป้องกันโควิด-19 รวมถึงผลกระทบจากความเชื่อมั่นต่อการมีงานทำ และกำลังซื้อที่อ่อนแอของประชาชน หลังกิจกรรมเศรษฐกิจส่วนใหญ่หยุดชะงัก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินว่า ตลาดไทยเที่ยวไทยในปี 2563 อาจหดตัวประมาณ 52.3% ถึง 46.4% โดยคาดว่าจะมีคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศราว 79.5-89.5 ล้านคน/ครั้ง ส่วนรายได้การท่องเที่ยวในประเทศน่าจะมีมูลค่า 4.85-5.45 แสนล้านบาท หดตัวราว 55.1% ถึง 49.4% จากปีก่อน 

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางภาพเชิงลบของตลาด ก็ยังมองโอกาสจากกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับบนได้ เพราะเชื่อว่ากลุ่มนี้จะฟื้นตัวและกลับมาท่องเที่ยวได้เร็วกว่ากลุ่มอื่นๆ

ฉะนั้นหลังโควิด-19 ซาลง บรรดาผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยว ก็น่าจะยังต้องเจอความท้าทายต่อไป โดยเฉพาะกับการปรับวิถีการดำเนินธุรกิจใหม่ (New Business Norms) จากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง เช่น 

ต้องปรับรูปแบบการให้บริการโดยคำนึงถึงระยะห่างทางสังคม 

ต้องปรับรูปแบบการจัดกิจกรรมการตลาดโดยใช้ช่องทางออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มเครือข่ายสังคมออนไลน์ 

ต้องร่วมเป็นพันธมิตรกับธุรกิจท่องเที่ยวหรือร้านค้าในชุมชน เพื่อลดต้นทุนและช่วยฟื้นธุรกิจท่องเที่ยวในชุมชนให้เข้มแข็งเร็วขึ้น 

นอกจากนี้ผู้ประกอบการควรต้องระวังเรื่องการบริหารจัดการสภาพคล่องในธุรกิจของตนให้ดีด้วย โดยเฉพาะในเรื่องของการควบคุมรายจ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในสต็อกสินค้า การจ้างงาน หรือการจัดกิจกรรมการตลาดที่อาจต้องพึ่งพาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยมากขึ้น

ด้านการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ก็ได้ให้มุมมองที่คล้ายกัน โดยมองว่า หลังจากจบโควิด-19 แล้ว อุตสาหกรรมท่องเที่ยวน่าจะปรับตัวไปสู่ New Normal หรือบรรทัดฐานใหม่ๆ ทั้งด้านความปลอดภัยและพฤติกรรมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ๆ ยกตัวอย่างเช่น 

ตลาดในประเทศ อาจจะมีแนวโน้มการเดินทางเป็นกลุ่มเล็กๆ และกลุ่มนักท่องเที่ยวน่าจะเน้นการขับรถเที่ยวเองมากขึ้น ผู้ประกอบการต้องมองแนวโน้มนี้ไว้

ส่วนตลาดต่างประเทศ อาจจะเห็นนักท่องเที่ยวแบบใหม่ที่เรียกว่า ‘Fit to Traveling’ (FTT) หรือ ฟิตก่อนเที่ยว คือ ต้องมี Health Digital Passport เพื่อโชว์ให้เห็นว่านักท่องเที่ยวคนนั้นๆ มีความพร้อมด้านสุขภาพ สามารถออกเดินทางได้ และในช่วง 14 วันก่อนออกเดินทาง ไม่ได้มีการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้เกิดความมั่นใจ นอกเหนือจากการถือพาสปอร์ตปกติ เป็นต้น

ที่มา:   KResearchCenter / การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

#GMLive #Vision #ท่องเที่ยวไทย #ททท #NewNormalEffect

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ