fbpx

เผยพฤติกรรมของหนูอวกาศที่นาซ่าส่งไปเพื่อศึกษาก่อนส่งมนุษย์ไปดาวอังคาร

นาซ่าทดลองส่งหนู 20 ตัวไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ใน ‘แหล่งอาศัยของสัตว์ฟันแทะแห่งนาซ่า’ ซึ่งการทดลองนี้นำโดย เอพริล รอนกา ของศูนย์วิจัยนาซ่าอาเมส เพื่อศึกษาว่าพฤติกรรมของพวกหนูจะเปลี่ยนไปอย่างไรในช่วงระยะเวลาที่ยาวนานของการเดินทางในอวกาศ

Reasons to Read

  • องค์การนาซ่ากำลังหาวิธีส่งมนุษย์ไปยังดาวอังคาร การทำความเข้าใจปฏิกิริยาของมนุษย์อวกาศต่อการใช้เวลานานในอวกาศจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง
  • หนูที่ถูกส่งไปยังอวกาศมีพฤติกรรมทั่วไปของสายพันธุ์อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งการกินอาหาร การทำความสะอาดขนด้วยตัวเอง การจับกลุ่มและการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
  • ภายใน 7-10 วัน หลังจากการปล่อยตัวสู่อวกาศ พบว่าหนูตัวเล็กจะเริ่มแสดงพฤติกรรมซ้ำๆ อย่างเห็นได้ชัด โดยการเคลื่อนที่ไปรอบๆ กรงด้วยความเร็ว

นาซ่าทดลองส่งหนู 20 ตัวไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ใน ‘แหล่งอาศัยของสัตว์ฟันแทะแห่งนาซ่า’ ซึ่งการทดลองนี้นำโดย เอพริล รอนกา (April Ronca) ของศูนย์วิจัยนาซ่าอาเมส (NASA Ames Research Center) เพื่อศึกษาว่าพฤติกรรมของพวกหนูจะเปลี่ยนไปอย่างไรในช่วงระยะเวลาที่ยาวนานของการเดินทางในอวกาศ

เนื่องจากขณะนี้องค์การนาซ่ากำลังหาวิธีส่งมนุษย์ไปยังดาวอังคาร การทำความเข้าใจปฏิกิริยาของมนุษย์อวกาศต่อการใช้เวลานานในอวกาศจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

ในการศึกษาที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร Scientific Reports เอพริล รอนกา และเพื่อนร่วมงานอธิบายว่า พวกเขาส่งหนูเพศเมียจำนวน 20 ตัว ไปที่สถานีอวกาศนานาชาติ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งมีอายุ 16 สัปดาห์ และอีกกลุ่มอายุ 32 สัปดาห์ ซึ่งหนูเหล่านี้จะถูกนำไปเปรียบเทียบกับกลุ่มหนูที่ถูกควบคุมอยู่ที่บนโลก

หนูที่ถูกส่งขึ้นไปยังอวกาศจะถูกเก็บไว้บนยานเป็นเวลา 17-18 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลานานเท่ากับการเดินทางในอวกาศของมนุษย์ และพวกมันจะถูกบันทึกภาพวิดีโอไว้เพื่อให้นักวิจัยสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมของพวกมันได้

ตลอดระยะเวลาของการทดลอง พบว่า หนูที่อยู่ในอวกาศมีพฤติกรรมตามปกติ ทั้งการกินอาหาร การแต่งขน การจับกลุ่มและการมีปฏิสัมพันธ์กับหนูตัวอื่นๆ นอกจากนี้ยังพบว่าหนูจะปรับตัวให้เข้ากับสภาวะไร้น้ำหนักได้อย่างรวดเร็ว เช่น การยึดตัวเองเข้ากับผนังด้วยขาหลังหรือหางแล้วยืดร่างกายออก ท่านี้คล้ายกับเวลาที่หนูบนพื้นโลกยืนด้วยขาหลังเพื่อสำรวจสิ่งรอบตัว

ทั้งนี้ ตลอดเวลาที่อยู่บนสถานีอวกาศ หนูได้สำรวจที่อยู่อาศัยทั้งหมดอย่างคล่องแคล่ว โดยในตอนท้ายของการศึกษาพบว่าพวกมันมีน้ำหนักตัวเกือบเท่ากับหนูที่อยู่บนพื้นโลก และขนของพวกมันก็อยู่ในสภาพที่ดีเยี่ยม ซึ่งทั้งสองอย่างถือว่าเป็นสัญญาณของสุขภาพที่ดี

อย่างไรก็ตาม หลังจาก 7-10 วัน กลุ่มหนูที่มีอายุน้อยก็เริ่มแสดงพฤติกรรมซ้ำๆ โดยพวกมันจะวิ่งรอบกรงด้วยความเร็ว ในช่วงแรกหนูจะเคลื่อนตัวโดยมีเส้นโคจรเป็นรูปไข่และขับเคลื่อนตัวเองด้วยการใช้ขาหลังถีบกับผนัง และไม่กี่วันต่อมาหนูหลายตัวก็เริ่มวิ่งรอบกรงแบบเดียวกันในเวลาเดียวกัน

ทีมนักวิทยาศาสตร์ของนาซ่าระบุว่า พฤติกรรมได้วิวัฒนาการกลายเป็นกิจกรรมกลุ่มที่ทำร่วมกัน ซึ่งพฤติกรรมแปลกๆ ของหนูในอวกาศเหล่านี้อาจสามารถอธิบายได้หลายอย่าง อาจเป็นได้ว่าหนูได้รับผลดีจากการออกกำลังกาย หรืออาจจะเป็นการตอบสนองต่อความเครียดหรือการเคลื่อนไหวนั้นกระตุ้นระบบสมดุลของร่างกาย หรือพวกมันอาจจะชอบความรู้สึกของการเคลื่อนไหวด้วยตนเอง (ในอวกาศ) ซึ่งต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจว่าทำไมหนูจึงเริ่มมีพฤติกรรมแบบนี้

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ