นันทขว้าง สิรสุนทร of WORLD CUP 2014
วิพากษ์ดาร์กไซด์บอลโลก2014
โคจรมาครบรอบ 4 ปี ให้พวกเราได้มีอะไรทำร่วมกันอีกแล้ว กับหนึ่งในมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก ฟุตบอลโลก 2014 ณ ประเทศบราซิล
เมื่อประเทศที่เปรียบดั่งคู่หมั้นของลูกหนัง เพราะเคยได้แชมป์โลกมาแล้ว 5 สมัย เป็นชาติต้นตำรับความสวยงามในเกม รวมทั้งแฟนบอลแซมบ้า ที่ใครๆ ก็รู้ว่าพวกเขาคลั่งไคล้เอาเป็นเอาตายเพื่อทีมที่รักได้ขนาดไหน ได้มีโอกาสรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพจัดฟุตบอลโลกเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ทศวรรษ
หลายคนคิดว่ามันต้องมีอะไรพิเศษ ต้องมีอะไรให้เราเซอร์ไพรส์สุดๆ
แต่ทว่า…คราวนี้ GM ไม่แน่ใจว่ากระแสฟุตบอลโลก จะกลบทุกกระแสในสังคมโลกไปได้จนหมดมิดหรือเปล่า เจ้าลูกกลมๆ ที่กลิ้งไปมา โดยมี 22 คนวิ่งไล่กวดกัน 90 นาที จะยังมีมนต์ขลังตราตรึงคนทั้งโลกได้อยู่อีกไหม
ในเมื่อสังคมเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน ทำให้รูปแบบการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และไลฟ์-สไตล์ของผู้คนพลิกโฉมหน้าไปอย่างมากเมื่อเทียบกับ 4 ปีก่อน
ฟุตบอลโลกครั้งที่ดีที่สุดนั้นได้เตะกันไปแล้ว และจบกันไปหมดแล้ว ตั้งแต่ก่อนยุคสหัสวรรษ นักวิเคราะห์หลายคนพูดแบบนั้น และ เกี๊ยง-นันทขว้าง สิรสุนทร ก็มองคล้ายๆ กัน
เกี๊ยงเป็นนักสังเกตการณ์ทางสังคมตัวยง เชี่ยวชาญในป๊อปคัลเจอร์ทุกแขนง หลายคนชื่นชอบติดตามการวิจารณ์หนัง วิจารณ์ทีวี วิจารณ์การเมืองของเขา ในขณะที่หลายคนถึงขั้นเกลียดหน้าเขาก็มี ในฐานของแฟนผีแดง แมนฯ ยูไนเต็ด ที่ชอบชวนทะเลาะกับแฟนทีมอื่นอยู่เนืองๆ
แต่พอบอลโลกเวียนมาทีไร ทุกสายตาก็จะต้องหันกลับไปหาเกี๊ยงเสมอ ไม่ว่าจะเป็นสายตาแห่งความชื่นชมหรือความเกลียดชังก็ตาม เพราะทุกคนอยากรู้ว่าเขาจะมีคอมเมนต์เกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร
ฟังจากปากใคร ก็ไม่มันเท่าฟังจากปากเกี๊ยงหรอก เพราะความเห็นของเกี๊ยงนั้นตรงและแรง มันสร้างความปั่นป่วนให้กับคนฟังได้เสมอ
ประกอบกับบอลโลกคราวนี้ มีเรื่องราวไม่น่ารู้ ไม่น่ามอง ได้เกิดขึ้นมากมายก่อนศึกฟาดแข้งจะระเบิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ม็อบการลุกฮือขึ้นมาต่อต้านรัฐบาล จนถึงขั้นจลาจลไปแล้ว…อันนี้หมายถึงในหลายเมืองในประเทศบราซิลนะครับ ไม่ใช่ในบ้านเรา
ประเทศที่เป็นคู่หมั้นของลูกหนัง กลับสร้างรอยมลทินให้มหกรรมฟุตบอลโลกที่ตัวเองกำลังจะจัดเสียเอง ไม่มียุคสมัยไหนที่จะแปลกประหลาดเท่านี้อีกแล้ว
GM เชื่อว่าไม่มีฟุตบอลโลกครั้งใดที่จะสร้างความเซอร์ไพรส์ให้กับแฟนบอลได้เท่าครั้งนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องเกมในสนาม แต่มันเกี่ยวกับเรื่องราวมากมาย รายล้อมเกมลูกหนังคราวนี้เอาไว้
เราจึงมานั่งคุยเฮฮาและจริงจัง ตามประสาคนบ้าบอล กับเกี๊ยง-นันทขว้าง สิรสุนทร ไล่ยาวกระทั่งเหลี่ยมธุรกิจสรรสร้าง การเมือง สังคม วัฒนธรรม และปรัชญาชีวิต ที่รายล้อมรอบลูกกลมๆ นี้เอาไว้
IN
“ใครยิ่งเพี้ยน ยิ่งแปลกสุดอาจจะแจ้งเกิดได้เร็วสุด เพราะบอลโลกกับเทคโนโลยีมาเจอกัน เหตุการณ์ปากล้วยพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าคนดูบอลยุคใหม่ไม่ได้ต้องการเห็นโฆษณาแบบเดิมๆ “
GM : เราอยากเริ่มต้นที่ข่าวการประท้วงต่อต้านการจัดฟุตบอลโลกครั้งนี้ มันเกิดอะไรขึ้นกับคนบราซิลยุคนี้ การได้เป็นเจ้าภาพจัดบอลโลกไม่ใช่เรื่องน่ายินดีแล้วเหรอ
นันทขว้าง : โลกเราเปลี่ยนไปเยอะแล้ว แต่ถึงกระนั้น ผมไม่คิดว่าจะเกิดความวุ่นวายถึงขั้นบอลโลกต้องเลื่อน มันไม่เคยเกิดขึ้น งานหลายด้านได้ลุล่วงไปเยอะแล้ว ทั้งเรื่องสนาม เรื่องตั๋ว เรื่องที่พัก มันกระจายไปทั่วโลก นักท่องเที่ยวเตรียมเดินทางไปกันแล้ว ทั้งๆ ที่ค่าที่พักในบราซิลทั้งประเทศ โก่งราคาสูงขึ้น 300 เปอร์เซ็นต์ และถูกจองหมด แต่ผมคิดว่า ความไม่สมบูรณ์ในการจัดการแข่งขันน่าจะมีเยอะขึ้น เรื่องความสะดวกเล็กๆ น้อยๆ ตลอดจนถึงการให้ความร่วมมือของผู้คนในสังคม ปัญหาโจรลักเล็กขโมยน้อยจะเยอะมาก แต่แง่ดีของฟุตบอลโลกบราซิลก็มีอยู่มาก เนื่องจากชาติบราซิลเองมีความเป็น
อัตลักษณ์สูง ทั้งวัฒนธรรม แหล่งบันเทิง แฮ็งเอาต์ตลอด 24 ชั่วโมง มีคาร์นิวัล สถานที่เที่ยว ชายหาดอย่างโคปาคาบานา (Copacabana) ชายหาดที่เซ็กซี่ที่สุดอย่างอิปานีมา (Ipanema) ชายหาดพอสโต (Posto) ที่เป็นหาดสำหรับเกย์ หาดคนไปดูสาวๆ วัฒนธรรมเขาเยอะ สีสันนี้คงจะช่วยลบด้านมืด ด้านไม่สมบูรณ์ไปได้
ยิ่งบราซิลมีเป้าหมายที่ชัดเจน นั่นคือคว้าแชมป์โลกให้ได้ในบ้านตัวเอง หลังเป็นเจ้าภาพมาแล้วในปี 1950 แต่คราวนั้นเขาแพ้อุรุกวัยในรอบชิง จนเป็นเรื่องเล่าที่ว่ามีเด็กชายวัย 9 ขวบชื่อเปเล่ เห็นพ่อตัวเองร้องไห้เพราะทีมบราซิลแพ้ แล้วเด็กคนนั้นก็ปลอบใจพ่อว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวจะเป็นแชมป์โลกให้ดู จนตลอด 64 ปีให้หลัง บราซิลเป็นแชมป์โลกมาแล้ว 5 สมัย แต่พวกเขาไม่เคยได้แชมป์ในบ้าน นี่คือภารกิจสำคัญของชาติ ลองนึกภาพการเชียร์อย่างบ้าคลั่งของกองทัพสีเหลือง-เขียว โยกตามจังหวะแซมบ้าโห่ร้องในสนามสิ มันจะน่าตื่นเต้นขนาดไหน สีสันในครั้งนี้จะต่างจากแอฟริกาใต้มาก โอเค คราวทีแอฟริกาใต้ เขาได้ความสด ความดิบ ธรรมชาติสวย แต่เรื่องฟุตบอลมันยังไม่ใช่ ขณะที่บราซิลเปรียบเสมือนคู่หมั้นกับโลกลูกหนัง ทำไมเป็นคู่หมั้น ก็เพราะบราซิลคือแชมป์ฟุตบอลโลกมากครั้งที่สุด ฟุตบอลแบบพวกเขาอย่าง Ginga คือสไตล์ที่ทั่วโลกยกย่องว่าสวยงาม น่าติดตาม ใช้ทักษะทุกส่วนของร่างกาย ทำให้บราซิลกับฟุตบอลแทบจะแยกกันไม่ออก คือฟุตบอลถ้าไม่อังกฤษก็บราซิล นี่เอาแบบบ้าๆ ฮาร์ดคอร์
GM: บอลโลกคราวนี้จะน่าดูแค่ไหน ขนาดเจ้าภาพยังไม่ค่อยอยากจัดเลย
นันทขว้าง : มันคือส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ทั้งหมด พอถึงเวลาคิกออฟทุกอย่างจะเรียบร้อย สิ่งที่อยากให้ติดตาม เรื่องแรกคือเวิลด์คัพครั้งนี้เป็นฟุตบอลโลกของคนหนุ่ม ทีมทั้งหมดมี 32 ทีม แต่เกือบครึ่งใช้โค้ชที่ยังหนุ่ม อายุไม่มาก มันน่าสนุกนะ ปกติฟุตบอลโลกจะต้องเป็นโค้ชเก๋าๆ ประสบการณ์เพียบ แต่ครั้งนี้เราน่าจะได้เห็นเรื่องใหม่ๆ ไอเดียใหม่ๆ จากคนหนุ่ม นักเตะก็เหมือนกัน หลายทีมประกาศชื่อออกมา พวกซูเปอร์สตาร์ที่อายุมาก ที่ติดทีมเป็นประจำ คราวนี้ก็หลุดออกไปเยอะ นั่นสะท้อนให้เห็นว่าปีนี้เป็นปีของคนหนุ่มๆ คนใหม่ๆ ความคิดใหม่ๆ ศาสตร์ของฟุตบอลน่าจะเกิดอะไรที่ใหม่ขึ้น
เรื่องที่สองคือระบบการเล่น เทรนด์ฟุตบอลโลกตลอด 19 ครั้งที่ผ่านมา ระบบการเล่นของทีมที่ได้แชมป์โลก ไม่เหมือนกันแบบใช้ตายตัว Formation ค่อนข้างกระจายรูปแบบ ช่วงต้นของบอลโลก รูปแบบการเล่นคือ 2-3-5 คือกะจะมายิงกันแหลก แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทุกทีมได้เรียนรู้ว่าเกมรับเป็นสิ่งสำคัญ ตัวเลขกองหลังก็เพิ่มขึ้นๆ สรุปเอาเป็นว่า ที่ผ่านมาไม่มีสูตรไหนอยู่ได้ถาวร จึงน่าสนใจว่าปีนี้จะเป็นรูปแบบใด ที่น่าสนใจอีกอย่างคือทีมที่ได้แชมป์โลกจะเล่นระบบไหน เพราะมันจะมีทีมทำตาม อย่างน้อยก็ทดลองใช้ตามๆ กันสักพัก ถ้าไม่ได้ผลจริงก็ค่อยเลิก อย่างในบ้านเรา พอเห็นสเปนได้แชมป์โลก 4 ปีก่อน ดูสิโค้ชจากสเปนเต็มไทยเลย
นอกจากนี้ ที่น่ามองต่อไปคือ Dark Marketing การตลาดที่แอบแฝงอยู่ในบอลโลกคราวนี้ เมื่อไม่นานมานี้ มีเหตุการณ์ ดานี อัลวีส แบ็กขวาบาร์เซโลนากำลังจะเตะมุม แล้วโดนแฟนบอลของทีมบียาร์เรอัลขว้างกล้วยใส่ เพราะต้องการเหยียดผิว แต่อัลวีสแก้สถานการณ์ด้วยการหยิบกล้วยเข้าปาก ทำเอาคนสะใจทั้งโลก ตอนนี้ใครปากล้วยอีก แฟนบอลทั้งโลกจะเข้าข้างนักเตะ ด้วยความที่เหตุการณ์เกิดขึ้นฉับไว และข่าวสารสามารถแพร่กระจายไปวงกว้าง สิ่งที่ตามมาคือมาร์เก็ตติ้ง ทันที
TE
“ต่อให้คุณเล่นดีฉิบหาย แต่คุณเป็นได้แค่รองแชมป์โลก โลกแห่งฟุตบอลก็พร้อมจะลืมคุณทันที สมัยนี้ไม่มีใครจำคนแพ้หรอก First Loser, No Remember ใครจำได้บ้างว่า บาเยิร์นฯ นี่สุดยอดเลยนะครับ ได้ทริปเปิลรองแชมป์ในปี 1999ไม่มีใครชมหรอก”
ที่เกิดเรื่องของอัลวีส เอเย่นต์ของเนย์มาร์ เพื่อนร่วมชาติและร่วมทีมบาร์เซโลนา ก็ออกมาทำแคมเปญติดแฮชแท็ก #WeAreAllMonkey คือทุกคนกินกล้วยแล้วถ่ายรูปลงออนไลน์ มีคนเข้าไปดู 14 ล้าน
ถือเป็นมาร์เก็ตติ้งที่แรงมาก นั่นแปลว่าเอเยนซี่โฆษณา นายหน้านักเตะกำลังมองหาว่าพวกเขาจะทำการตลาดแบบใหม่อย่างไร จะเล่นอะไรกับนักเตะ และใช้สถานการณ์ใดได้บ้าง เหมือนก่อนหน้านี้
กองหน้าอย่าง นิคลาส เบนท์เนอร์ ยิงเข้าแล้วถอดกางเกงให้เห็นกางเกงใน แล้วมีข้อความเป็นโฆษณาแฝง เขาโดนปรับแต่คุ้มมากสำหรับกระแสที่ได้กลับมา มันน่าสนุกนะ ใครมันจะเล่นการตลาดแบบไหน อาจจะมีพวกโทรศัพท์มือถือถ่าย Selfie กัน เหมือนในงานออสการ์ที่ผ่านมา บางเจ้าอาจจ้างเมียนักฟุตบอลบางคนถ่ายรูปนักบอล
GM : แปลว่าเราอาจได้เห็นเรื่องเพี้ยนๆ กันมากขึ้น
นันทขว้าง : ใช่ๆ ใครยิ่งเพี้ยน ยิ่งแปลกสุดอาจจะแจ้งเกิดได้เร็วสุด เพราะบอลโลกกับเทคโนโลยีมาเจอกัน เหตุการณ์ปากล้วยพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าคนดูบอลยุคใหม่ไม่ได้ต้องการเห็นโฆษณาแบบเดิมๆ อีกต่อไป แต่เราต้องการสิ่งที่แปลกออกไป ใครทำอะไรตามขนบอาจจะเกิดยาก ปีนี้จะเป็นปีแห่งการตลาดเชิงทดลอง เป็นการโฆษณายุคใหม่ เพราะฟุตบอลโลกครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่โซเชียลมีเดียถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่ มีบทบาทสูงสุด จำได้ว่าเมื่อ 4 ปีก่อนก็มีเฟซบุ๊ค มีทวิตเตอร์แล้ว แต่มันยังไม่แพร่หลายและไม่ได้นำมาใช้งานกันกว้างแบบตอนนี้ มือถือหลายค่ายคงต้องจ้างนักบอล และเราคงได้เห็นการถ่าย Selfie กับแฟนบอล ถ่าย Groupfie กับเพื่อนนักเตะ แต่เรื่องแบบนี้ผมว่าเราอย่าไปซีเรียสดีกว่า อยากให้คุณเปิดใจสนุกไปกับมัน ดูว่าเป็นสีสัน อย่างโครงการ WeAreAllMonkey เป็นแนวคิดที่ดี ถึงแม้ว่าในที่สุด มันก็มีการตลาดเข้ามา แต่ผมว่าตัวกล้วยอาจจะเป็นทูตสันถวไมตรีสำหรับเรื่องการเหยียดผิวไปเลย อันนี้ต้องชมแฟนบอล แมนเชสเตอร์ ซิตี้ (แฟนผีอย่างนันทขว้าง เอ่ยชมแฟนแมนฯ ซิตี้ อย่างเต็มปากเต็มคำ) พวกเขาเอากล้วยมาเป็นสัญลักษณ์แห่งความสุขไปแล้ว คุณลองจับกล้วยหันด้านสิ มันคือรอยยิ้มชัดๆ
GM : หลายครั้งที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าเรื่องนอกสนามจะสนุกไม่แพ้เรื่องในสนามและเรื่องผลการแข่งขัน
นันทขว้าง : ถ้าคุณเป็นนักข่าวจะไปรายงานแค่ว่าทีมไหนชนะเท่าไร ใครยิงบ้าง แค่นี้มันไม่ได้แล้ว จริงๆ มันไม่ได้มาตั้งนานแล้ว เพราะฟุตบอลเปลี่ยนวิธีคิดของตัวเองให้คนดู มันเป็นไลฟ์สไตล์ไม่ใช่เกม มันก็มีนะพวกนักข่าว คอลัมนิสต์ที่เชยๆ เขียนได้แค่ผลของเกม บอลโลกก็คือสินค้าใหญ่ มันมีมุมเยอะให้เล่น แตกออกไป บิดเข้ามา สนุกจะตาย ผมสนุกกับการมองสิ่งที่อยู่รอบๆ บอลโลก มองบริบทที่ห่อหุ้มมันเอาไว้ อย่างที่เยอรมันปี 2006 แม้เจ้าภาพจะไม่ได้แชมป์ แพ้อิตาลีรอบรองชนะเลิศ แต่พวกเขาประสบความสำเร็จมาก ที่สามารถพาคนออกจากบ้านเพื่อเข้าชมเกมฟุตบอลในสนาม ความนิยม การจัดการแข่งขัน ประสบความสำเร็จมากในการบริหารการใช้รถใช้ถนน รถเต็มเมืองเลยนะ แต่ถ่ายออกเร็วมาก เรื่องพวกนี้น่าศึกษา ฟุตบอลโลกทำหน้าที่ทางสังคมในมุมอื่นไปด้วย มีอะไรให้เรามองเยอะ
GM : ในตอนนี้ที่เกิดสงครามกลางเมือง เกิดความขัดแย้งทางการเมืองในหลายประเทศทั่วโลก อีเวนท์ใหญ่ๆ อย่างนี้จะถูกดึงไปเกี่ยวไหม
นันทขว้าง : จะรอดเหรอ ผมว่าต้องมีคนไปถือป้ายเรียกร้องอะไรๆ ตั้งแต่วันแรกเลยล่ะ พวกประท้วงแบบนี้มีรอบสนามทุกครั้งอยู่แล้ว คราวนี้อาจจะมีเครื่องบินติดป้ายประท้วง (เขาหมายถึงครั้งที่แฟนบอลแมนฯ ยูไนเต็ด ขับเครื่องบินไปปล่อยป้ายเยาะเย้ยลิเวอร์พูลที่ไม่ได้แชมป์ เหนือสนามแอนฟีลด์) อย่าลืมว่าในอีเวนท์ระดับนี้ เราทำอะไรลงไป คนเห็นทั่วโลกนะ บางทีเราอาจจะเห็นบราซิลแฉบราซิล ก็เป็นเรื่องน่าติดตาม อยู่ที่ว่าเจ้าภาพจะจัดการคนในประเทศตัวเองได้แค่ไหน แต่ผมชอบประธานาธิบดีหญิงคนนี้นะ (Dilma Rousseff ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2010) เธอฉลาดในการตอบคำถาม มีครั้งหนึ่งนักข่าวถามเธอว่า ตอนนี้พระสันตะปาปาเป็นอาร์เจนไตน์ รู้สึกยังไงบ้าง? เธอตอบได้เจ๋งมาก ว่าหากโป๊ปเป็นอาร์เจนตินา พระเจ้าก็เป็นบราซิเลียน นักข่าวเงียบเลย
…การสนทนาแบบเลียบๆ เคียงๆ รอบมหกรรมฟุตบอลโลก เริ่มออกรสชาติมากยิ่งขึ้น เมื่อพวกเราค่อยๆ เขยิบประเด็นเข้าสู่เรื่องกลเกมในสนาม ตามประสาคอบอลตัวจริงคุยกัน
GM : สำหรับคนดูบอลและเล่นบอลด้วยอย่างคุณ มองว่ารูปแบบการเล่นในครั้งนี้จะออกมาแบบไหน
นันทขว้าง : ผมเพิ่งมาสังเกตในช่วง 5-6 ปีนี้ว่า บอลเน้นแทคติกเพื่อชัยชนะเท่านั้น แม้ทีมนั้นจะมีเทคนิคที่สูง เขาไม่สนใจความสวยงามอะไรพวกนั้น บอลโลกครั้งนี้ แทคติกจะไม่ต่างไปมากจากที่เห็นใบอลลีกหลายประเทศ ซาเบลล่า (กุนซือทีมชาติอาร์เจนตินา) ให้สัมภาษณ์ว่า บอลโลกที่บราซิลความฟิตของร่างกายคือตัวชี้ขาด แต่อย่าลืมว่ากลยุทธ์ก็สำคัญ ฉะนั้นแทคติกจะมีส่วนมาก อีกข้อคือทีมจากเอเชียจะเสียเปรียบมาก เพราะเวลาเตะของบราซิลคือเวลานอนของทีมจากเอเชีย ไม่ใช่เวลาเตะธรรมชาติ นาฬิกาชีวิตมันเปลี่ยนไม่ง่ายขนาดนั้น แต่ที่สุดแล้วนะ บอลแทคติกจะชนะบอลกำลัง เราได้เห็นแล้วจากยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก พรีเมียร์ลีก หรือว่าลีกชั้นนำทั่วยุโรป ปรัชญาที่ว่าครองบอลมากกว่ามีโอกาสชนะ เป็นเรื่องโกหก โชเซ มูรีนโย (ผู้จัดการทีมเชลซี ในปัจจุบัน) เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน
GM : ผมว่าสมัยเราเด็กๆ ฟุตบอลดูสนุกกว่านี้เยอะเลยนะ …นันทขว้างทอดถอนหายใจ กลอกตาเหมือนกับใช้ความคิดนึกย้อนกลับไปยังโลกแห่งอดีตที่งดงาม
นันทขว้าง : ในอดีตบอลคือเกมเพียวๆ ฝรั่งเขาก็มีคำว่า When Football was Football แต่ในมุมหนึ่งยุคสมัยมันก็สะท้อนออกมาในรูปแบบการเล่นจริงๆ นั่นแหละ ช่วงทศวรรษ 1970 เป็นยุคที่สังคมอิสระ บุปผาชน คิดทดลองทำกันอย่างสุดโต่ง ทั้งชีวิต ดนตรีศิลปะต่างๆ ฟุตบอลยุคนั้นก็อิสระเต็มที่ เล่นเกมบุก เอาชนะกันด้วยเกมรุก พอมาถึงทศวรรษ 1980 เกมยังเน้นไปในเกมรุก แต่เริ่มมีสูตรสำเร็จมาเพื่อทำลายตัวเก่ง ตัวทีเด็ดของทีมคู่แข่ง มาช่วง 1990 เป็นเรื่องของระบบการเล่นเต็มตัว ฮีโร่ลักษณะโชว์น้อยลงไปมาก เหมือนดนตรีพวกกีตาร์โซโล่ บทบาทไม่มีแบบ 70s ยุค 70s เขาเตะกันแบบ Pure Football ไม่เน้นแทคติกเพื่อทำลายคู่แข่ง นอกจากทีมนั้นมันมีตัวเก่งมากจริงๆ ก็ต้องไล่หวดกัน การเตะก็เหมือนความคิดแนวฮิปปี้ๆ หน่อย เล่นสวยงาม ที่ชัดที่สุดคือทีมฮอลแลนด์ รูปแบบการเล่นอิสระ สลับตำแหน่งกันไปมา เปิดเกมรุกอย่าง Total Football การพิสูจน์ว่าทีมไหนดีกว่า คือการเล่นเกมรุกเร้าใจ มีความสวยงามแข่งกัน
โดยส่วนตัวที่ไม่ชอบเลยคือบอลในยุคปัจจุบัน มันเต็มไปด้วยแทคติกเพื่อผลการแข่งขัน ทุกอย่างถูกกำหนด ยกย่องด้วยความสำเร็จแค่ชนะ ไม่มีใครจำผู้แพ้แม้จะเล่นดี 90 นาที ไม่มีแล้วบุกเป็นบ้าเป็นหลัง บุกจนไม่สนใจเรื่องแพ้ชนะ สวยงามไหม สวย แต่ไม่งาม เหมือนอาร์เซนอล ของ อาร์แซน เวนเกอร์ ไม่เหมือนความสมบูรณ์แบบอย่างฮอลแลนด์ยุค 70s แต่ที่น่าสงสาร ช้ำใจคือฟุตบอลแบบนี้ไปไม่ถึงแชมป์ ฮอลแลนด์เข้าชิงมา 3 ครั้ง แพ้หมด พวกที่ดูฟุตบอลแบบเน้นผลการแข่งขัน มองอย่างทุนนิยม ก็กลับมาเยาะเย้ย เป็นไง เล่นสวยงาม โลกจดจำ แล้วไหนล่ะ? แชมป์!! ไม่เหมือนอิตาลี ที่มีระบบชื่อ คาเตนัคโช่ (Catenaccio แปลอย่างบ้านๆ คือ ‘ตีหัวเข้าบ้าน’) เล่นเกมรับมันอย่างเดียว ดึง เตะตัดขา ล็อกคอ อุดแหลก แต่ที่น่ากลัวมากคือแม้จะเป็นทีมเล่นเกมรับเก่ง แต่อิตาลีมันได้แชมป์โลกไปแล้ว 4 สมัย แพ้แค่บราซิล 5 ครั้ง
GM : ทั้งๆ ที่ในคราวนี้ เรากลับมาจัดในบราซิลที่ได้ชื่อว่าเป็นถิ่นของฟุตบอลสวยงาม เกมยังจะน่าเบื่อแบบเดิมอีกเหรอ
นันทขว้าง : มันคนละเรื่องกัน ในเทศกาลละคร คุณสามารถแจ้งเกิดด้วยการแสดงดนตรีเปิดหมวกได้ ไม่ได้มีกฎว่า ที่นี่บราซิลนะ ต้องเล่นฟุตบอลให้สนุก คำว่าบราซิลมันคือสนุกสนานในบรรยากาศ สีสันแฟนบอล แต่ผมว่าเกมอาจจะเบื่อในบางนัดก็ได้ ฮอลแลนด์เจอสเปนเป็นบอลรุกทั้งคู่ แต่อาจจะเบื่อก็ได้ คู่ชิงบอลโลกครั้งที่แล้ว เจอกันนัดแรกของรอบแรก ไม่จำเป็นต้องผลีผลามบุกแหลก แต่อีกมุมหนึ่ง แม้จะเป็นบอลแทคติก แต่โค้ชสามารถทำแทคติกให้สนุกได้ โค้ชที่ดูเหมือนเงียบๆ แต่ผมชื่นชมมากที่สุดคนหนึ่งคือ กุส ฮิดดิงก์ ชาวฮอลแลนด์ เขาไปทำทีมเกาหลีใต้ (ร่วมเล่นฟุตบอลโลก 2002) ทำทีมออสเตรเลีย (ฟุตบอลโลก 2006) และทีมรัสเซีย (ฟุตบอลโลก 2010) เขาพาทั้ง 3 ทีมไปรอบสุดท้าย 3 ครั้ง ด้วยรูปแบบการเล่นที่ไม่เหมือนกันเลยสักครั้ง คนแบบนี้ถือว่าเก่ง ผู้จัดการทีมบางคนทำทีมได้ไม่หลากหลาย มีรูปแบบการเล่นเฉพาะตัวอยู่อย่างเดียว และสร้างนักเตะรับใช้ระบบ แต่ฮิดดิงก์ไม่ใช่ เขาปรับรูปแบบการเล่นไปตามศักยภาพของทีม ตามธรรมชาติผู้เล่นที่มีอยู่ แบบนี้ผมว่ามันก็ถือเป็น
การเล่นด้วยแทคติก
เกมฟุตบอลสมัยนี้เน้นผลแพ้ชนะมากเกินไป มันไม่มีแล้วล่ะ แบบความสวยงามนำหน้า ไม่ต้องฝันเลย เพราะแม้แต่ฮอลแลนด์กับบราซิล ที่เคยเล่นเกมบุกเป็นหลัก เมื่อก่อนพวกเขาเคยสนใจที่ไหน มิดฟิลด์ตัวรับเหรอ ตัวโฮลด์บอลเหรอ แต่มาเดี๋ยวนี้ แถมบางทีส่งตัวรับลงสนาม 2 คนเลยด้วยซ้ำ เริ่มรู้จักถ่วงเวลา พาบอลไปอู้ เพราะกูรู้แล้วว่าเล่นสวยงามมันไม่ได้แชมป์ จำได้ไหมล่ะ 4 ปีก่อน โยฮัน ไกรฟฟ์ ออกมาด่าว่าเขาผิดหวังมากกับฮอลแลนด์ชุดนั้น ที่เล่นบอลไม่ใช่ฮอลแลนด์ แต่เขาก็เจอพวกนักบอลออกมาสวนกลับ แล้วไงล่ะป๋า พวกกูเล่นไม่สวย แต่พวกกูเข้าชิงนะ แค่แพ้รอบชิง มันต่างจากยุค 80s ที่เราโตขึ้นมาแล้ว บริบททางสังคมเปลี่ยนไป การให้ค่ากับผู้ชนะ มันรุนแรงมากขึ้น เพียงแค่เป็นผู้ชนะ ต่อให้ยิงลูกล้ำหน้า หรือผิดกติกา โลกก็พร้อมจะอวยคุณ สปอนเซอร์โฆษณา แคมเปญต่างๆ จะเข้ามาหา แต่ในทางกลับกัน ต่อให้คุณเล่นดีฉิบหาย แต่คุณเป็นได้แค่รองแชมป์โลก โลกแห่งฟุตบอลก็พร้อมจะลืมคุณทันที สมัยนี้ไม่มีใครจำคนแพ้หรอก First Loser, No Remember ใครจำได้บ้างว่า บาเยิร์นฯ นี่สุดยอดเลยนะครับ ได้ทริปเปิลรองแชมป์ ในปี 1999 (หัวเราะ) ไม่มีใครชมหรอก แหม! คุณเก่งจังเลย ได้แค่รองแชมป์
“เราคงไม่ชอบฟุตบอลโลกที่ใสสะอาดเป็นเทพบุตร เหมือนคุณเขมชาติ ในละคร ‘อย่าลืมฉัน’ บอลโลกมันต้องมีผู้ร้าย มีพระเอก และแบดกายชนะกู๊ดกาย ถึงจะได้ลุ้นกันมัน “
GM : นั่นแปลว่ากีฬาไม่ได้ทำหน้าที่ของกีฬา คือให้รู้แพ้ ชนะ อภัย แต่มันไปทำหน้าที่ในด้านธุรกิจมากเกินไปใช่ไหม
…ตบมือฉาดใหญ่ เพราะถูกใจกับคำถาม คิดว่านี่แหละคือประเด็นหลักทั้งหมดทั้งมวลของการสัมภาษณ์กันในคราวนี้ เมื่อฟุตบอลเป็นมากกว่าฟุตบอล มันจึงมีความหมายซ่อนเร้นมากมาย ให้นักสังเกตการณ์ทางสังคมอย่างเขาได้ถอดรหัส
นันทขว้าง : มันเกินไปมานานแล้วไอ้น้อง!! ฟุตบอลได้เดินทางมาไกลเกินกว่าจะสอนเรื่องรู้แพ้ ชนะ อภัย สปิริต เจ้าของทีมอาจจะบอกว่ากีฬาคือรู้แพ้ชนะ แต่นอกสนาม พวกเขาเล่นการเมืองกันยิกๆ ผมว่าชื่อสโลแกน One World One Game หรือ Spirit กระทั่ง Enjoy the Games เป็นเพียงวาทกรรมของคนทำธุรกิจลูกหนังเท่านั้น ตอนนี้กีฬาไปไกลมาก ถูกห่อหุ้มด้วยผลประโยชน์ เดี๋ยวนี้มันกลายเป็นว่า พอมีนักฟุตบอลสักคนที่มีศีลธรรม วิ่งสะดุดขาล้มเอง แล้วไปบอกกรรมการว่าผมล้มเองครับ หรือยอมรับอะไรที่ทำให้ตัวเองเสียประโยชน์ มันจะกลายเป็นข่าวใหญ่โต เพราะอะไร เพราะมันเป็นเรื่องแปลกประหลาดไปแล้วไง สังคมเลยตื่นเต้นกันใหญ่ ยกย่องว่าทำไมคุณเป็นคนดีแบบนี้วะ ทั้งๆ ที่สิ่งที่ทำนี้ มันควรเป็นเรื่องปกติธรรมดาไม่ใช่เหรอ หากไปเปรียบเทียบกับเรื่องอื่น มันคือเรื่องมาตรฐานนะ เป็นสิ่งที่คุณควรทำอยู่แล้ว หกล้มเอง ก็ต้องยอมรับเอง
นิตยสาร GQ เล่มล่าสุด เพิ่งเขียนไว้ว่าบอลโลกครั้งนี้คือเวิลด์คัพครั้งสุดท้าย เขาหมายความว่า 2014 ที่บราซิล จะเป็นฟุตบอลโลกจริงๆ ครั้งสุดท้ายแล้ว ที่เหลือต่อจากนี้ไปมันก็เป็นแค่ Money Talk กันไปหมดแล้ว เจ้าภาพฟุตบอลโลกจะไม่ได้มาจากความพร้อมของทีมฟุตบอล หรือของวัฒนธรรมฟุตบอล แต่มันเป็นการดีลธุรกิจล้วนๆ พูดก็พูดเถอะนะ บอลโลกที่บราซิลปีนี้ น่าสนุกมากกว่าที่แอฟริกาใต้คราวที่แล้วเยอะเลย และนี่เรายังไม่ได้พูดไปถึงบอลโลกคราวต่อๆ ไป อย่างที่กาตาร์ ปี 2022 จะเป็นเจ้าภาพนะ มันจะไหวเหรอ อุณหภูมิเท่าไหร่ เป็นทะเลทราย มีอูฐเดิน ต่อให้เขาบอกว่าจะติดแอร์ทั้งสนามก็เถอะ แต่อากาศมันก็จะไม่เหมือนกับวิ่งในที่โล่ง นักฟุตบอลลงไปวิ่งในห้องแอร์ มันคงแปลกๆ แล้วออกมาจากสนามจะเป็นยังไง นี่ถ้าเทียบกับปัญหาที่บราซิลประท้วงกันตอนนี้ ผมว่าคราวที่กาตาร์จะน่าเป็นห่วงกว่าเยอะ ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจ 2 ประเทศนี้แตกต่างกันมากเลยนะ บราซิลนี่เงินแทบไม่มี ส่วนกาตาร์นี่เงินเต็มประเทศ
อีกอย่างหนึ่ง สิ่งที่ทำลายฟุตบอลโลกไป ก็คือเพาเวอร์ของโกลบอลแบรนด์มากมาย ทั้งทีมและแบรนด์ของพรีเมียร์ลีก ลาลีกา กัลโช่เซเรียอา ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ยิ่งมาตรฐานของฟุตบอลลีกสูงขึ้น ฟุตบอลโลกก็ยิ่งตื่นเต้นน้อยลง มีจุดขายตรง 4 ปีมีครั้ง แต่บอลยุคนี้สัปดาห์หนึ่งๆ เรามีฟุตบอลให้ดูกัน 30-40 คู่ เทียบกับสมัยพวกเรา
เป็นวัยรุ่นสิ เราต้องคอยดูเอฟเอคัพนัดชิงชนะเลิศอย่างใจจดใจจ่อ แฟนบอลไทยได้เห็นซูเปอร์สตาร์ทุกวันเลย แล้วเราจะตื่นเต้นมากขึ้นไหม หากเห็นนักเตะเหล่านี้เปลี่ยนเสื้อไปใส่ทีมชาติ โรบิน ฟาน เพอร์ซี่ ยิงเข้าในเสื้อทีมฮอลแลนด์ มันตื่นเต้นมากกว่าตอนยิงเข้าในเสื้อทีมแมนฯ ยูไนเต็ดไหม ในเมื่อเราเห็นเป็นประจำ ผมว่าพวกโกลบอลแบรนด์เหล่านี้แหละ ทำให้ฟุตบอลโลกไม่น่าสนใจเหมือนก่อน เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เคยพูดไว้เป็นวลีทองว่าเขาไม่ดูฟุตบอลโลก พูดถึงขนาดว่าไปหาหมอฟัน ไปนอนกรอฟันยังเสียวกว่าดูฟุตบอลโลกเยอะ ผมก็เห็นด้วยนะ หลังๆ ไม่ค่อยรู้สึกว่าเกมในฟุตบอลโลกมันสนุกเลย แต่บรรยากาศรอบๆ มันยังน่าติดตาม
GM : แต่เรื่อง Passion แรงจูงใจของผู้เล่น นี่พวกเขามาสู้เพื่อทีมชาติเลยนะ มันต้องสนุกกว่าตอนสู้เพื่อทีมสโมสรสิ
นันทขว้าง : แต่ทุกชาติ มันก็ไม่ได้มีซูเปอร์สตาร์พวกนั้นไง คุณลองไปดูทีมอย่างอัลจีเรียหรือบอสเนียฯ ในเกมของทีมพวกนี้ คุณจะดูใคร อย่างเกมบอสเนียเล่นกับอิหร่าน ผมเป็นคนชอบดูบอล ยังลังเลเลยว่านอนดีกว่ามั้ย ต่อให้เป็นคนชอบดูหนังด้วยนะ คือเคยดูหนังอิหร่านมาแล้วชอบหลายเรื่องเลย แต่จะดูเกมนั้นไหม และมันมีหลายคู่เลยนะที่เป็นแบบนี้ กานา คอสตาริกา ฮอนดูรัส ถ้าเจอกันเอง เรตติ้งจะเป็นอย่างไร
…เราสวนทันควัน ว่าทีมฮอนดูรัสเตะแล้วจะไม่สนุกได้อย่างไร เพราะว่าเกมของพวกเขาได้ถ่ายทอดทางช่อง 7 ครบ 3 เกมเลยนะครับ !!!
นันทขว้าง : (หัวเราะ) เราก็จะโชคดีได้ดูการถ่ายทอดเกมประมาณนี้กันครบเลย แต่ไม่เป็นไร ถึงแม้จะไม่มีซูเปอร์สตาร์ แต่ด้วยเรื่องปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก็อาจจะทำให้บางเกมน่าสนใจมากขึ้นสำหรับคนไทย ตอนนี้ก็อยากเห็นญี่ปุ่นเจอเกาหลีใต้ เพราะยังไงๆ สองทีมนี้ก็คงไม่มีใครยอมใคร เสียดายไม่มีมาเลเซียกับจีน หรือเวียดนามกับจีน หรือถ้าจะให้เร้าใจสุดๆ ก็รอบน็อกเอาต์ อเมริกาเจอรัสเซียไปเลยดีไหม ไหนๆ ทั้งคู่นี้ก็เอายูเครนมาเล่นสงครามเย็นกันอีกแล้ว
…ทันทีที่เขาโยงบอลโลกเข้ากับเรื่องการถ่ายทอดสด GM คิดว่าคราวนี้นี่คือประเด็นปัญหาสำคัญของการชม การเชียร์ และการหาโอกาสทางธุรกิจเข้ามาเชื่อมโยง เลยขอยิงคำถามขอความเห็นจากนันทขว้างสักหน่อย
GM : ในฐานะของคอมเมนเตเตอร์คิวทอง ตามหน้าจอทีวีและงานอีเวนท์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับฟุตบอล จะส่งผลต่อธุรกิจในบ้านเราอย่างไร
นันทขว้าง : เวลาต่างกันแถวๆ 10 ชั่วโมง แน่นอนว่าพวกคู่ตี 2 ตี 3 คนดูน้อยอยู่แล้วละ เว้นแต่เป็นบิ๊กแมตช์ ผิดกับครั้งที่ฟุตบอลโลกเตะตอนหัวค่ำ 2-3 ทุ่ม อันนั้นถึงแม้จะเป็นบอสเนียเจออิหร่าน เราก็ยังได้ดูกันครบ คือประเภทดูไปรีดผ้าไป หรือดูไปกินข้าวต้มไป อะไรแบบนั้น
GM : ยิ่งตอนนี้มีสถานการณ์ความไม่สงบในบ้านเรา พวกแก๊งดูบอลตามลานเบียร์ไม่หงายท้องกันหมดเหรอ
นันทขว้าง : หงายท้องสิ ด้วยเหตุผลสองอย่าง 1. การจัดงานที่ลานเบียร์และกลางแจ้ง จะโดนกระทบรุนแรงมากในครั้งนี้ นอกจากเรื่องการเมืองและเรื่องเวลาแล้ว ยังเจอเรื่องลิขสิทธิ์อีก เพราะอาร์เอสผู้ถือครองการถ่ายทอดสด เขาประกาศแล้วว่าเขามีสิทธิ์แค่ในทีวีนะ หากใครจะเอาไปจัดงานกลางแจ้งอะไรแบบนั้น เขาไม่เกี่ยวด้วย หากใครมาถ่ายภาพคุณจัดงานอีเวนท์แบบไม่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง มีหวังโดนกันแรง เสี่ยงมาก แต่ผมถามจริงๆ เถอะ บอลเตะตีสามตีสี่ ใครจะออกจากบ้านมาดู เขาก็ดูกล่องเอาที่บ้าน ใครจะออกตีสามบอกเมียที่นอนข้างๆ เดี๋ยวมานะคะที่รัก แล้วกลับมานอนต่อตีห้าเหรอ 2. เวลาที่เตะกันดึกขนาดนี้ เปิดสนามตีสาม น่าจะต่างคนต่างดูอยู่ในบ้านมากกว่า ยิ่งตอนนี้ AIS ประกาศถ่ายทอดผ่านมือถือทุกนัด แน่นอนดูจอเล็กมันไม่สนุกหรอก แต่มันดีกว่าหากต้องออกจากบ้านตีสาม ขับรถไปแถวรามฯ หรือเข้าไปในเมืองเพื่อดูบอล แถมมือถือเดี๋ยวนี้ก็พัฒนา มันเสียบออกจอทีวีบ้านได้เลย สบายกว่ากันเยอะ
GM : มีการวิเคราะห์กันว่าเรตติ้งฟุตบอลโลก 2 ครั้งหลังมานี้ ทั้งที่เยอรมันและแอฟริกาใต้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่สงสัยว่าทำไมค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดกลับเพิ่มขึ้นสวนทางกัน
นันทขว้าง : ผมว่ามันไม่ได้เกี่ยวข้องกันนะ ค่าลิขสิทธิ์นี่คือคุณยอมจ่ายไป โดยคาดว่าจะทำประโยชน์กับมันได้เท่าไร ก็ทุ่มเงินไปซื้อ อย่างบุนเดสลีกาหรือเจลีก มีคนดูไหมผมไม่รู้ แต่แกรมมี่ซื้อแล้ว บอลสเปนเตะตีสี่อย่างเงี้ยะ อาร์เอสก็ซื้อมา มันเหมือนกับว่าทุกคนต้องการมีพื้นที่ของตัวเอง ผลที่ตามมาก็คือมัน Overprize ขึ้นไปเรื่อยๆ พวกรายการใหญ่อย่างบอลโลก หรือฟุตบอลยูโร ที่ 4 ปีจึงจะเวียนมาที พวกนี้ยังพอทน พอจะมีเวลาวางแผนการตลาด แต่พวกพรีเมียร์ลีกนี่ผมว่าสุดๆ ไปเลย หมื่นกว่าล้านบาท มันไม่มีทางได้คืนใน 3 ปีอยู่แล้ว
GM : สิทธิ์ของผู้ชมล่ะ? คุณมีความคิดเห็นอย่างไรต่อกรณีที่ กสทช. ต้องเข้ามายุ่งเกี่ยว และออกกฎ Must Have Must Carry
นันทขว้าง : เอาแบบเป็นความคิดเห็นส่วนตัวล้วนๆ เลยนะ ไม่เข้าข้างใครทั้งนั้น แต่พูดตรงๆ ผมเห็นใจอาร์เอส ผมคิดว่าเมื่อ 8 ปีก่อนที่ลงทุนซื้อมา กสทช. ยังไม่มีเลย กฎพวกนี้ก็ยังไม่มีเลย นี่มันโลกธุรกิจน่ะ
เขาก็ Money Talk กันไปตั้งนานแล้ว เงินลงไปแล้ว ก็ย่อมอยากได้ผลตอบแทนคืนมา นี่เรื่องธรรมดานะ แม้ผมจะอยากดูบอลโลกฟรีๆ ผมอยากให้ทุกคนในโลกได้ดูบอลโลกฟรีๆ แต่การซื้อกล่องก็คือแนวทางที่แฟร์ๆ อย่าลืมว่าทศวรรษที่ผ่านมา ฟุตบอลมันกลิ้งไปกอดกับธุรกิจแล้ว เอาง่ายๆ ใครจะเชื่อว่าลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกจะราคาถึงหมื่นล้าน แน่นอนว่าธุรกิจมันทำลายฟุตบอลหมดแล้ว จิตวิญญาณมันไปหมดแล้ว ของฟรีไม่มีแล้ว ฟรีทุกอย่างไม่ได้ แต่เราก็ไม่สามารถไปโทษนักธุรกิจ ส่วนที่ว่าทำไมฟุตบอลโลกต้องอยู่ในข่าย Must Have เขาคงมองว่านี่เป็นมหรสพที่ยิ่งใหญ่ คนทั่วไปควรจะได้ชมเป็นสิทธิพื้นฐาน แต่คุณอย่าลืมว่ามันมีเรื่องสปอนเซอร์ มีการลงทุน การจ้างงาน ดังนั้น มันจึงไม่ฟรีอีกต่อไปแล้ว ในมุมของคนที่เขาไปจ่ายเงินซื้อมาแล้ว จะไปบังคับเขาตอนนี้ เอางี้ดีไหม ไปซื้อกลับมาจัดการเท่ากับเงินที่เขาลงทุน ซึ่ง กสทช. มีเหรอเป็นพันล้านน่ะ ไหนจะเรื่องเรตติ้งที่เจ้าของสิทธิ์ใหญ่คอยจับจ้องอยู่อีก
GM : คุณใช้คำว่า ‘มหรสพ’ แปลว่ามันเป็นของฟุ่มเฟือย เป็นความบันเทิง ไม่ใช่ของจำเป็นสิ
นันทขว้าง : จริงๆ มหรสพก็ไม่ใช่ของฟุ่มเฟือยนะ เป็นสิ่งประเทืองปัญญาได้สำหรับคนขาดสติ แต่อาจเป็นความบันเทิงที่ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายทางวัฒนธรรม มันไม่ใช่ดูฟรีแบบสมัยก่อน บอลโลกเป็นของยกเว้น บอลโลกไม่ใช่ลิเกหรือหนังกลางแปลง มันพันพัวกับเรื่องต่างๆ มากกว่าลิเก จนกลายเป็นสินค้าไฮเอนด์มีค่าใช้จ่าย ฟุตบอลมีพัฒนาไปไกล นักบอลอาจดังกว่าดาราหนัง ฟุตบอลหญิงของไทยไปบอลโลก ยังต้องไปเดินพรมแดงหนังนเรศวร คือทำงานกันต่อกันได้ในเชิงวัฒนธรรมป๊อป มันต้องมองแยกเป็นส่วนๆ เหมือนคนไทยเข้าสนามมวย ไม่ได้หมายความว่าพวกเขารักศิลปะมวยไทย อันนี้เข้าใจตรงกันนะ
GM : แล้วพวกงานสปอร์ตอีเวนท์ล่ะ อย่างเมื่อบอลโลกคราวที่แล้วเคยฮิตกันมาก
นันทขว้าง : มันขึ้นกับเวลาเตะด้วย บอลโลกบราซิลเตะตีสองถึงตีห้า เวลากระจายกันนะ ห้าทุ่มก็มี พวกงานอีเวนท์จะทำลำบาก เพราะถ้าไม่ถ่ายสด คนจะไปด้วยอะไร วิธีแก้คือทำอีเวนท์ให้แข็งแรงมากๆ อย่าลืมว่าตอนนี้การเมืองยังไม่นิ่งนะ มู้ดของการดูหนังดูบอลนอกบ้าน ผมว่าน่าจะมีน้อยมาก เพื่อนผมหลายคนที่บ้าบอลมากๆ ยังบอกว่า การนอนดูจากกล่องที่บ้านน่าจะเป็นเรื่องที่ดีที่สุด ถ้าไปดูบ้านเพื่อน จบตีห้า คุณจะทำตัวไม่ถูก จบตีห้าแล้วกลับบ้านไปนอนต่อสั้นๆ ก่อนไปทำงาน หรือไปออฟฟิศเลย แล้วไปนอนในรถ มันไม่โอเคทั้งสองอย่างเลย ถ้าคุณมีทางเลือกได้ว่าก็ตื่นมาตีสอง บอลจบตีสี่ ก็นอนต่อ…จบ
ที่ว่ามานี้ คือผมวัดจากความรู้สึกส่วนตัว และถามความเห็นจากคนใกล้ตัว แทบทุกคน รู้สึกแบบนี้หมด เราติดตาม แต่จะไม่ค่อยดู ยกเว้นแต่คู่ใหญ่ๆ ยิ่งเดี๋ยวนี้ยูทูบเป็นที่พึ่งที่สุดยอด มีสรุปผลการแข่งขันไฮไลท์สำคัญของแต่ละเกม คนจะดูถ่ายทอดสดแบบเต็มๆ เกมนั้นพร้อมจะน้อยลงนะ หากคุณผู้อ่านได้ติดตามข่าวเรื่องเรตติ้งการถ่ายทอดสดกีฬาระดับโลก ในระยะหลังๆ อย่างตอนโอลิมปิก 2012 ลอนดอนเกมส์ จะทราบว่ายอดผู้ชมในการถ่ายทอดสดช่วงเวลาจริงนั้นลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่กลับกัน ยอดผู้ชมผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ตที่เข้ามาดูย้อนหลังผ่านยูทูบ ซึ่งมีแชนแนลอย่างเป็นทางการของทัวร์นาเมนต์นั้นๆ กลับล้นทะลัก ขนาดเวลาอังกฤษยังไม่รอด ดังนั้น เวลาบราซิลก็น่าจะไม่รอดเหมือนกัน เวลาเป็นข้อจำกัดของผู้ชมหลายประเทศ ต่างจากช่องทางอินเตอร์เน็ต ที่เข้าถึงได้สะดวก นักบอลก็ต้องสู้กันไปกับอากาศที่บราซิล ฝรั่งบอกว่า Heat ต่างจากอเมริกาที่ Very Hot อากาศคงสำคัญในการเป็นผู้ชนะเหมือนกัน
GM : แปลว่าในคราวนี้ ทีมที่ได้เปรียบก็คงเป็นทีมจากอเมริกาใต้นั่นแหละ บราซิล อาร์เจนตินา ชิลี ใช่ไหม
นันทขว้าง : จริงๆ ในเดือนเดียวกัน ระหว่างอาร์เจนตินา บราซิลกับชิลี อาจเป็นคนละฤดูกาลนะ รู้สึกจะไม่ตรงกัน แต่ความเป็นอเมริกาใต้ ยังไงเขาก็ได้เปรียบ และจับตาดูชิลีดีๆ อาจจะเป็นม้ามืด บราซิลเป็นเต็งหนึ่ง ด้วยความคุ้นชิน และในหลายๆ องค์ประกอบ ทั้งเสียงเชียร์ ทั้งแพสชั่นจากนักบอล
GM: คราวนี้จะมีแชมป์โลกหน้าใหม่ไหม ถ้าจะให้จับตาม้ามืดสักทีม คุณมองไปที่ไหน
VI
“ที่ไม่ชอบเลยคือบอลในยุคปัจจุบัน มันเต็มไปด้วยแทคติกเพื่อผลการแข่งขัน ทุกอย่างถูกกำหนด ยกย่องด้วยความสำเร็จแค่ชนะ ไม่มีใครจำผู้แพ้แม้จะเล่นดี 90 นาที ไม่มีแล้วบุกเป็นบ้าเป็นหลัง บุกจนไม่สนใจเรื่องแพ้ชนะ สวยงามไหม สวย แต่ไม่งาม”
นันทขว้าง : ผมว่าด้วยความเป็นบอลโลก แม้จะเป็นบอลทัวร์นาเมนต์ แต่มันไม่เปิดทางให้ม้ามืดเป็นแชมป์ได้ พวกหน้าใหม่อาจจะทะลุสู่รอบรอง เข้าถึงรอบชิง แต่ที่สุดทีมเป็นแชมป์จะเป็นพวกแบรนด์เนม ก็คือทีมที่เคยได้ไปแล้ว คำถามนี้จึงขอฟันธง
– แชมป์บอลโลก 2014 คือทีมที่เคยได้ไปแล้ว ประกอบด้วย บราซิล 5 สมัย, อิตาลี 4 สมัย, เยอรมัน 3 สมัย, อาร์เจนตินาและอุรุกวัย 2 สมัย, ฝรั่งเศส สเปน อังกฤษ ชาติละ 1 สมัย
– ม้ามืดในครั้งนี้ผมยกให้ชิลี พวกเขามีแมตช์อุ่นเครื่องที่เยี่ยมมาก 2 ปีที่ผ่านมา ผลงานดูดี บวกกับความเคยชินในอากาศและภูมิภาค ชิลีคือม้ามืดที่น่าจับตา อาจจะไปได้ถึงรอบรองชนะเลิศ บางคนดูบอกม้ามืดยังไงก็ตกรอบ ผมว่าเขาเข้าใจไม่ถูก ม้ามืดคือเอาไว้สร้างสีสัน ถ้าเป็นแชมป์คือโบนัสก้อนโต
GM: ถามหาฟุตบอลโลกในดวงใจของนันทขว้าง คุณชอบครั้งไหนมากที่สุด
นันทขว้าง : ต้อง 1986 ที่เม็กซิโก มันมีครบทุกอย่าง มีการเล่นเวฟจากคนดูเป็นครั้งแรกด้วยนะ ซึ่งจริงๆ แล้วการเล่นเวฟของแฟนฟุตบอล ก็เอามาจากแฟนบาสเกตบอลในอเมริกานั่นแหละ แต่จำนวนคนมันเยอะกว่ากันมาก มันเลยสนุก ผมว่านั่นถือเป็นฟุตบอลโลกที่ดีที่สุดในชีวิตการดูบอล เป็นบอลโลกที่สมบูรณ์แบบในเชิงคอนเทนต์ มีเซอร์ไพรส์ให้ดูเยอะ มีจุดโทษ มีการต่อสู้ในสนามที่ดุเดือด ไหนจะกรณีความขัดแย้งแย่งเกาะฟอล์กแลนด์ ระหว่างอังกฤษกับอาร์เจนตินา เรารู้สึกว่ามันมีเทวากับซาตานในเกมเดียวกัน มีนักฟุตบอลที่สามารถเลี้ยงหลบ 5 คนเข้าไปยิง และก็มีคนที่เลี้ยงบอลหลบเยอะๆ แต่ดันยิงไม่เข้าสำคัญที่สุดคือ Hand of God จังหวะที่ ดิเอโก มาราโดนา ใช้มือปัดบอลข้ามหัวปีเตอร์ ชิลตัน เข้าไป นี่คือภาพจำที่แม่นยำที่สุดของผม และน่าจะเป็นภาพที่คนทั่วโลกมีอารมณ์ร่วมมากที่สุด ผมอาจจะไม่ปกติ ผมชอบบอลโลกที่มีผู้ร้ายมีพวกแบดบอย แม้ว่าที่สุดแล้วเทพบุตรจะชูถ้วย
GM: แต่หัตถ์ของพระเจ้า คือความไม่มีน้ำใจนักกีฬา และเป็นจุดเสื่อมที่สุดของฟุตบอลโลกมั้ย
นันทขว้าง : อาจจะใช่ ก่อนหน้า 1986 มีมั้ย ก็มี ตอนนี้มีมั้ย ก็มี อนาคตจะมีมั้ยจะมีเยอะครับ เพราะมันคือฟุตบอล ความรู้สึกผม ฟุตบอลโลกต้องมีเรื่องอะไร ‘เตี้ยๆ’ (หมายถึง ‘เหี้ยๆ’) แบบนี้ ในความจริงแล้ว เราคงไม่ชอบฟุตบอลโลกที่ใสสะอาดเป็นเทพบุตร เหมือนคุณเขมชาติ ในละคร อย่าลืมฉัน บอลโลกมันต้องมีผู้ร้าย มีพระเอก และแบดกายชนะกู๊ดกาย ถึงจะได้ลุ้นกันมัน ซึ่งจริงๆ แล้วผมขอถามคุณว่ามันมีกีฬาอะไรที่ใสสะอาดบ้างล่ะ ดูบอลไทยก็ได้ ทั้งเรื่องกรรมการ ทั้งเรื่องในและนอกสนาม มีอีกเพียบ ยิ่งตอนนี้มูลค่าฟุตบอลไทยสูงขึ้นมาก ลิขสิทธิ์ ถ่ายทอดสด โฆษณาหน้าอกเสื้อชุดแข่ง บางทีมตกทีมละ 40 ล้านบาท มันเป็นเรื่องธุรกิจไปหมด พฤติกรรมแฟนบอลบางทีมก็ไม่ไหว ผมรู้สึกว่าเรามีชีวิตอยู่ในสังคมแห่งความขัดแย้งมากเกินไป การเมือง สังคม และยังมีกีฬาอีก แต่ฟุตบอลในต่างประเทศที่เปลี่ยนวิธีคิดในการดูให้ผู้คนแล้ว ผมหวังว่าจะเกิดขึ้นกับบ้านเราเร็วๆ นี้
…เมื่อพูดถึงแวดวงฟุตบอลในบ้านเรา นันทขว้างขอให้เราออฟเรคคอร์ดเป็นระยะๆ มันมีเรื่องราวกอสซิปเยอะแยะมากมาย และคงต้องยอมรับแล้วล่ะว่า “คุณว่ามีกีฬาอะไรที่ไม่ดาร์กบ้าง” อย่างที่เขาว่าจริงๆ จนเราย้ายข้ามมายังประเด็นป๊อปคัลเจอร์ เพราะคิดว่าเขาน่าจะแฮปปี้ที่จะอธิบายปรากฏการณ์ใหม่ๆ ป๊อปๆ ทั้งของไทยและเทศมากกว่า
GM: อยากให้คุณมองบริบทรอบเกมลูกหนังของแต่ละยุคสมัยว่ามันมีอะไรน่าสนุกๆ และน่าจดจำบ้าง
นันทขว้าง : ฟุตบอลคือเอนเตอร์เทนเมนต์อินดัสตรีขนาดมหึมา ฟุตบอลโลกก็เปรียบเหมือนวงการฮอลลีวูดนั่นแหละ เพียงแต่จับกันคนละตลาด แต่เป้าหมายเดียวกัน คืออยู่ที่การจับอารมณ์ ความรู้สึกของคนดูเหมือนกัน ฟังก์ชันการทำงานเหมือนกันทุกประการ ต่างกันที่ฝ่ายหลังมีการเขียนบททุกอย่างแน่นเปรี๊ยะ กำหนดว่าใครทำอะไร ใครตายตอนไหน ใครพูดอะไร ในแต่ละปีๆ โรงงานฮอลลีวูดรู้ว่าพวกเขาจะทำอะไรออกมาขายคนทั้งโลก ปีนี้เขาทำหนังคนผิวสีเพราะประธานาธิบดียังเป็น บารัก โอบามา ในขณะที่ฟุตบอลมันเป็นเรื่อง
EW
ในแต่ละปีๆ โรงงานฮอลลีวูดรู้ว่าพวกเขาจะทำอะไรออกมาขายคนทั้งโลก ปีนี้เขาทำหนังคนผิวสี เพราะประธานาธิบดียังเป็น บารัก โอบามา ในขณะที่ฟุตบอลมันเป็นเรื่องความสด เราไม่รู้หรอกใครจะยิงเข้าตอนไหน ใครเอาหัวโขกใคร ในนัดชิงจะมีต่อยกันไหม
ความสด เราไม่รู้หรอกใครจะยิงเข้าตอนไหน ใครเอาหัวโขกใคร ในนัดชิงจะมีต่อยกันไหมหรือว่าจะมีนักเตะเอามือปัดบอลเข้าประตูอีกหรือเปล่า ด้วยเหตุผลนี้ BBC ของอังกฤษ หรือนิตยสาร Front เขาเลยเขียนบทความวิเคราะห์ไว้ชิ้นหนึ่ง บอกว่าฟุตบอลโลกเหนือกว่าฮอลลีวูด เพราะบอลโลกไม่มีสคริปต์
ฟุตบอลกับสังคมโลกเรา เดินจับมือคู่กันไป อย่างฟุตบอลโลกที่ผมชอบที่สุดคือปี 1986สภาพสังคมตอน 80s ก็สนุก มีป๊อปคัลเจอร์เยอะ อย่างเกมกดที่ฮิตๆ มีนักร้องที่มีคนรักและเกลียดมากๆ พอกันอย่าง มาดอนนา และเพลง Like a Virgin ชอบเพราะมันเป็นการเปิดสู่ยุคสมัยใหม่ในตอนนั้น แต่ทว่าคนอีกกลุ่มต่อต้านที่เธอโชว์ความเซ็กซี่ พวกหนังช่วงใกล้ๆ กันนั้นก็สนุก มีที่ได้ออสการ์ก็พวก คานธี, ET, Back to the Future เรามี The Last Emperor ด้วยนะ ทศวรรษ 1980 เป็นช่วงเวลาที่สนุก โลกเรายังไม่สุดโต่งเกินไป อย่างยุคหลังปีสองพันมา คนไม่ได้อยู่กับตัวเองมากอย่างนั้นอีกแล้ว บ้านเรายังมีภาพคุ้นตาอย่าง ลานไอซ์สเกต บันไดหน้าสยามเซ็นเตอร์ เทปพีค็อก แกรนด์เอ็กซ์ อำพล ลำพูน อัสนี-วสันต์ ไหนจะท่าลูบเป้าของ ไมเคิล แจ็กสัน ผมว่ามันเป็นช่วงเวลาที่สนุกน่าจดจำที่สุดอีกช่วงของมนุษยชาติ โลกเราสดใส ไม่ดิบๆ ห่ามๆ ขนาดยุค 70s นักฟุตบอลในตอนนี้คือเซเลบ รู้ว่าจะหาภาพไหนออกจอทีวี หันภาพมุมไหนออกกล้อง ให้คนดูได้ร้องกรี๊ดกร๊าด เหมือนคนดังที่พร้อมไปบริจาคให้บ้านพักคนชรา แต่ไม่ไปหรอก หากไม่มีกล้องไปถ่าย ได้ชื่อ ได้หน้า ธุรกิจฟุตบอลกำลังเอาเปรียบแฟนบอลหลายแง่มาก เอาง่ายๆ เลยนะเริ่มจากเรื่องของเสื้อเชียร์
…และแล้วนันทขว้างก็เริ่มต้นพราวด์ลี่พรีเซนต์ เสื้อฟุตบอลที่เขาหนีบติดตัวมาในวันนี้หลายตัว ด้วยสายตาปลาบปลื้มเป็นประกาย…
นันทขว้าง : โดยรวมๆ ผมผิดหวังมากกับเสื้อฟุตบอลโลกปีนี้ ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าผมซื้อมาหมดแล้ว ครบทุกทีม เสื้อที่ผมลุ่มหลงที่สุดในปีนี้คือทีมญี่ปุ่น ซื้อมาหลายตัวนะ แขนยาวแขนสั้น ซื้อหมด วิธีคิดในการดีไซน์เสื้อญี่ปุ่นเจ๋งมาก มีช็อคกิ้งพิงค์ข้างหลังและขลิบแขน ตรงหน้าอกแสดงอัตลักษณ์ด้วยแสงที่แผ่ออก 11 เส้น ตรงกับจำนวนนักบอลในทีม คือไม่มักง่ายเหมือนเสื้ออังกฤษ เสื้อฮอลแลนด์ หรือเสื้อห่วยๆ อย่างบราซิล แฟนบราซิลอย่างผมผิดหวังมากกับดีไซน์เสื้อเจ้าภาพฟุตบอลโลก อีกทีมที่สวยคือเยอรมัน หรือเกาหลีใต้ชุดเยือนก็สวยเรียบ ผมชอบเสื้อที่สะท้อนถึงตัวตนทีมนั้น คือมีเรื่องราวในเสื้อ บางคนบอกว่าเสื้อทีมเอาไว้ใส่ลงสนามก็พอแล้ว แต่จะบอกว่า เรื่องบางเรื่องเราต้องไม่มักง่ายเกินไป ขอพูดในฐานะคนเก็บสะสมเสื้อบอลมาตลอด มันสะท้อนเลยนะว่าแม้แต่ดีไซเนอร์เสื้อฟุตบอลโลกก็เปลี่ยนแปลงไปหมดแล้วตามยุคสมัย เราถูกกลืนจนไม่มีอัตลักษณ์เสื้อฟุตบอลทีมนั้นๆ ไปแล้ว เทียบกับสมัยยุค 70s 80s 90s แทบทุกตัวมีความเป็นตัวตน มีลวดลายซ่อนตามใยผ้า อัตลักษณ์ ตราต่างๆ จัดวางอย่างมีการออกแบบ ขณะที่ปัจจุบันถูกยึดติดกับรูปแบบแข็งๆ ของแบรนด์ อย่างฮอลแลนด์ โอเคแค่รู้ว่าสีส้มคือเอกลักษณ์ แต่นี่เอามาติดตรา ติด NIKE แล้วจบ!! มันสะท้อนอะไรออกมาบ้างมั้ย ไม่มีอะไรบอกเลยว่านี่คือความเป็นฮอลแลนด์
GM: การเป็นแฟนฟุตบอล แท้จริงแล้วให้อะไรกับชีวิตเรา มันไร้สาระเกินไปมั้ยกับการเฝ้าดูคนวิ่งไล่ลูกกลมๆ ชั่วโมงกว่าๆ
นันทขว้าง : แหม! ถ้าตอบแบบกวนๆ ก็ต้องบอกว่าแล้วผู้คนดูละครทีวีทำไม ก็เห็นมีแต่ตัวร้ายแย่งผัว ทำเสียงกรี๊ดๆ หรือคนไปดูคอนเสิร์ตทำไม ตัวโน้ตก็ซ้ำไปมาไม่กี่ตัวในเพลง แต่ทุกการดูมี Subliminal ที่ซ่อนอยู่ในจิตใจ อารมณ์ความรู้สึกแตกต่างกัน ฟุตบอลก็คือเอนเตอร์เทนผ่านเกมมิติที่ไปไกลกว่านั้นก็คือ การเป็น Winner และ Loser ที่ตอบสนองตัวเองจากโลกแห่งความจริงแฟนบอลบางคนไปสนาม ไม่ได้รักบอล แต่ชอบไปตะโกนด่าหยาบๆ เพื่อให้คนมองเขา รู้สึกถูกสนใจ คือคนสำคัญ เพราะชีวิตปกติเป็นคนตัวเล็กๆ ในสังคมที่ไหนสักแห่ง ถ้ามองมุมนี้เราก็จะเข้าใจได้ว่า แท้จริงแล้ว คนไม่ไปดูคอนเสิร์ต แต่แฟนๆ ไปดู Show หรือคนที่ติดละครทีวีซ้ำๆ งอมแงม ก็อาจกำลังถ่ายถอน หรือหาเพื่อนในอีกโลกหนึ่ง ละครเมียน้อยเมียหลวงฮิตตลอดกาล เพราะสังคมไทยเป็นสังคมแห่งเมียน้อยเมียหลวง คนเรามีเหตุผลดูฟุตบอลโลกมากมาย แม้ไม่ได้ไปเกี่ยวโดยตรง คือไม่มีทีมไทยเตะ อย่างน้อยเราก็อยู่ในโลกเดียวกัน อย่างน้อยเราเล่นกีฬาชนิดเดียวกัน เตะบอลเหมือนกัน ก็มาดูกันหน่อยสิว่าทีมที่เก่งที่สุดในโลกรอบ 4 ปีคือใคร หรือว่าอย่างน้อยที่สุด ก็ลองเชียร์ญี่ปุ่น เพราะถือว่าเขาเป็นตัวแทนเอเชีย เชียร์ตัวแทนเรา และก็เผื่อไปเชียร์อิหร่าน เกาหลีใต้ วัฒนธรรมป๊อปมันก็แบบนี้แหละ มันกว้างขวางไปทั่วโลก ผมชอบคำเชยๆ ที่ว่าฟุตบอลคือศาสนา จบแล้วก็จบ มีรอยยิ้ม ร้องห่มร้องไห้ไปกับมัน หากเปรียบกับวงการหนัง ที่มีคนไทยอย่างเจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) ได้รางวัลปาล์มทองคำ ประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติที่คานส์ มีดาราไทยไปโดดเด่นที่ฮอลลีวูดแต่ผมว่าฟุตบอลโลกน่าสนใจกว่า อย่างเจ้ยหรือเป็นเอก รัตนเรืองได้รางวัลมา ผมยินดีกับเขานะ แต่สำหรับคนไทย มันอาจไม่ฮือฮาเป็นข่าวใหญ่ประจำวันแบบฟุตบอล บอลโลกมันดังกันเป็นเดือนๆ ต่อให้ฟุตบอลถูกครอบงำด้วยธุรกิจมากขึ้นแค่ไหน แต่สำหรับผม ไม่มีอะไรทำลายฟุตบอลได้ เรื่องราวการแข่งขันในสนามคือเรื่องจริง ที่ไม่มีใครเขียนบทไปควบคุมได้เช่นกันกับความรักที่มีของแฟนบอลมันยิ่งใหญ่แข็งแรงมากจนทุนนิยมทำอะไรมันไม่ได้มากไปกว่านี้แล้ว ยกตัวอย่าง นิวคาสเซิล ยูไนเต็ดมีนายทุนเข้ามาใหม่ จะเปลี่ยนชื่อสนาม แฟนบอลออกมาประท้วงทั้งเมืองหากเปลี่ยนชื่อสนามกู กูไม่เข้าไปดูอีกต่อไป สุดท้ายเขาก็ต้องยอมใช้ชื่อเดิมดูอย่างลิเวอร์พูลสิ เขาไม่ได้แชมป์มานานมาก พอปีนี้ทำท่าว่าจะได้แชมป์มีคนไทยจำนวนสามพันคน ยอมควักเงินค่าตั๋วเป็นแสนบาท เพื่อซื้อตั๋วนัดสุดท้ายเข้าไปมีส่วนร่วม เพราะความรักที่เขามีต่อทีมนี้ ซึ่งจะว่ามันเกี่ยวอะไรกับเขาโดยตรงไหม ก็มีแค่ความรักเท่านั้นแหละ และผมนับถือพวกเขาที่ไป อย่างน้อย เขาแสดงตัวตนในระดับหนึ่งว่า เขารักทีมนี้มาก
GM: เวลาติดตามทวิตเตอร์ของคุณกับเพื่อนๆ เห็นมีแต่บลัฟกันไปมา เสียดสีเหน็บแนมกันไปมา ทำไมพวกแฟนบอลถึงชอบทำตัวแบบนี้
นันทขว้าง : การดูฟุตบอล ไม่ใช่การนั่งเย็บผ้าหรือถักโครเชต์ ไม่ใช่ไปนั่งปฏิบัติธรรม 7 วัน ฟุตบอลคือวัฒนธรรมแห่งการบลัฟ คนในทวีตที่เคยบอกว่า ทำไมต้องบลัฟกัน กัดจิกกัน คนที่ทวีตแบบนี้ไม่เคยรู้จักฟุตบอลจริงๆ ฟุตบอลจริงๆมันก็ต้องดาร์กๆ สะอาดบ้าง หม่นๆ บ้าง สุขๆ เจ็บๆ แต่ด้านดีก็มี ผมได้เพื่อนดีๆ จากการดูบอลมากมาย อย่างมีคนหนึ่งไปเจอที่เมืองนอกแล้วก็กลายเป็นเพื่อนซี้จนปัจจุบัน ตอนนั้นปี 2011 ผมไปฉลองแชมป์พรีเมียร์แมนฯ ยูฯ เขี่ยหงส์ตกบัลลังก์แล้ว เดินอยู่หน้าสนามมีคนไทยมาทัก หวัดดีครับพี่ ผมรู้จักพี่ ไอ้เราก็เออๆ เราไม่สำคัญหรอกมายังไงมาจากไหน เลยรู้ว่าชื่อ โก้-ชัยวัฒน์ สกุลญานนท์วิทยา คุยกันกินกาแฟ เฮฮา ไปซื้อของ สุดท้ายกลายเป็นเพื่อนรักกันจนวันนี้กลายเป็นเพื่อนที่ฟุตบอลให้มา และถูกจริตกัน ไปทริปเฟอร์กี้รีไทร์ด้วยกันรู้ว่าเราควรหมดเงินสักครึ่งแสนเพื่อบินไปโบกมือส่งเฟอร์กี้ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2013
GM: แล้วคุณได้ทำตามที่เฟอร์กี้สั่งเสียไว้หรือเปล่า ว่าให้ช่วยสนับสนุนคนที่มาแทน ซึ่งก็คือ เดวิด มอยส์
…เขาหัวเราะก๊าก เปลี่ยนอารมณ์ดราม่าซาบซึ้งจากคำถามก่อนหน้านี้ไปหมดสิ้น เพราะมันก็เป็นอย่างที่เรารู้ๆ กัน ว่าผลงาน เดวิด มอยส์ ตกต่ำติดดิน
นันทขว้าง : ก็ทำตามอยู่ได้แค่ปีนึง แต่ทีมเสือกได้ที่ 7 แหม! เฟอร์กี้ก็บอกขอให้ยืนเคียงข้างนะ Stand by Him (หัวเราะ) แต่นั่นเขาหมายถึงว่า เราอาจจะได้แค่ที่สองหรือที่สาม ก็ขอให้ใจเย็นๆ ไว้ก่อนนะ แต่นี่มันทำได้อันดับ 7 เฉยเลยแฟนแมนฯ ยูไนเต็ดทุกคนก็คงคิดเหมือนกัน สนับสนุนไม่ไหวว่ะ
GM : ความรัก มิตรภาพ และจิตวิญญาณร่วมกันของแฟนทีมจะทำให้ประเทศชาติขับเคลื่อนไปอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันไหม
นันทขว้าง : มันอยู่ที่การบริหาร การจัดการ แต่โอเค Nationalistic Marketingก็เป็นทางหนึ่งที่มักทำได้ ผมเข้าใจคำถามของคุณนะ คุณอาจจะคิดว่ามันเหมือนในหนังเรื่อง Invictus ที่ เนลสัน แมนเดลลา ใช้กีฬารักบี้เป็นกลวิธีในการรวมชาติกลับมาได้อีกครั้ง ฟุตบอลจะทำได้ขนาดนั้นไหม ผมว่าสมัยนี้คงทำไม่ได้ขนาดนั้น แต่มีพลังอยู่ คุณดูสิวันที่บอลหญิงไทยได้ไปบอลโลก เขาว่าเสื้อแดงเสื้อเหลืองดีใจในเว็บเดียวกันเลยนะ คำถามคุณมันอยู่ที่คนพูด จะพูดอย่างไร แต่ฟุตบอลเป็นอาวุธที่มีพลังแน่ๆ
GM: คนดูบอลและนักบอล ไม่ได้รู้สึกชาตินิยม หรือว่ารวมพลังกันเพื่อชาติ อะไรแบบนั้นเหรอ
นันทขว้าง : ผมว่าน้อยลงนะ ผมรู้สึกว่านักฟุตบอลหลายคนมีอารมณ์ร่วมมีความหิวกระหายทุ่มเท กับการเล่นให้สโมสรต้นสังกัดมากกว่า เพราะเขามีโอกาสประสบความสำเร็จในการแข่งขัน มากกว่า เก็บเงินได้มากกว่า ดีกว่าจะได้ติดทีมชาติ ต้องเสียเวลาไปซ้อม ไปเล่น แล้วก็ตกรอบแรกกลับมา อย่างในบ้านเรา ผมก็เชื่อว่ามีบางคน อยากติดทีมชาติน้อยกว่าจะไปเล่นกับทีมใหญ่ อย่างเมืองทอง บุรีรัมย์ ที่พร้อมจ่ายค่าเหนื่อยเขาเดือนละหลายแสนบาท ซึ่งเรื่องพวกนี้ก็เข้าใจได้นะ นักฟุตบอลมีลูกเมีย มีหลายปากท้องต้องดูแล หากไปเล่นทีมชาติ เงินก็ไม่ค่อยได้ แถมถ้าโชคร้ายขาหักพักหนึ่งเดือน ใครจะดูแลเขา ก็อย่างที่ว่าไว้ว่าความสำคัญของฟุตบอลโลกจะลดลง อย่างที่ GQ สรุปไว้ว่า Global Brandและ Business กำลังจะฆ่าฟุตบอลโลก สองสิ่งนี้จะทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง แต่คำว่าแชมป์โลก ยังคงเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจที่สุดในโลกลูกหนังนะ ผมเลยไม่แน่ใจว่านักเตะบางคนอย่าง คริสเตียโน โรนัลโด ที่มีข่าวว่าเจ็บๆ หากเขาต้องเลือกระหว่างการได้เล่นนัดชิงยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก กับไปเตะในฟุตบอลโลก เขาจะให้ความสำคัญรายการไหนก่อน
GM: สุดท้ายแล้ว ช่วยบอกเราทีว่าสังคมไทยจะได้อะไรจากฟุตบอลโลก 2014
นันทขว้าง : มันอยู่ที่คุณดูบอลโลกด้วยความหมายของอะไร ถ้าดูอย่างจริงจังคุณจะได้วิธีคิดในการทำทีม การบริหาร การตลาด ได้เรื่องราววัฒนธรรมร่วมสมัย ผมอาจจะอยากรู้ต่อหลังจากเชียร์อัลจีเรียว่า ตราสัญลักษณ์ที่หน้าอกเสื้ออัลจีเรีย คืออะไร เขียนว่าอะไร ความหมายแบบไหน ฟุตบอลโลกจะบอกคุณได้ หากแต่คุณดูฟุตบอลอย่างตื้นเขิน ก็ไม่มีอะไรนอกจากการพนัน ดูเอาอารมณ์ก็ได้อารมณ์ ดูเอาปัญญาอาจจะได้สติ แต่กล่าวอย่างที่สุดแล้ว ไม่มีใครผิด แล้วก็ขอว่าอย่ามาบอกว่าดูไว้เพื่อจะผลักดันให้ทีมไทยไปบอลโลก เรื่องแบบนี้ใครมาพูดก็ไม่ต้องไปเชื่อ ยกเว้นแต่ว่า FIFA จะเปลี่ยนกฎใหม่ ให้มีทีมเข้ารอบสุดท้ายได้ 100 ทีมนั่นแหละ