fbpx

‘MOU กับการเมืองไทย: อีกย่างก้าวใหม่ของข้อตกลงเพื่อความมั่นคงและโปร่งใสด้านนโยบาย’

ในชั่วโมงนี้ เชื่อว่าสถานการณ์การเมืองและความเคลื่อนไหวเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลของ ‘พรรคก้าวไกล’ น่าจะอยู่ในความสนใจของผู้คนและประชาชนเป็นจำนวนมาก ด้วยจำนวนที่นั่งในสภาที่เพิ่มขึ้น และความพยายามที่จะได้มาซึ่งเสียงของสมาชิกวุฒิสภา เพื่อให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลอย่างราบรื่น ภายใต้รัฐบาลผสมจากหลากหลายพรรคเป็นประวัติการณ์

แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กับการที่รัฐบาลจะได้อีกกี่พรรค หรือได้มาอีกกี่เสียงนั้น คือความพยายามที่จะทำการ ‘ทำข้อตกลงร่วม’ หรือ ‘MOU’ ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ทางการเมืองของประเทศไทย แต่เป็นเครื่องมือที่ถูกใช้มาแล้วในหลากหลายนานาประเทศ ที่ชวนให้ทำความเข้าใจอย่างยิ่ง ถึงจุดประสงค์ ฟังก์ชัน และผลที่จะเกิดขึ้นภายใต้การลงนามนี้

MOU หรือ ‘Memorandum of Understanding’ ชื่อตรงตัว ‘ข้อตกลงทำความเข้าใจร่วมกัน’ เป็นลักษณะของการลงนามร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่ละฝ่ายภายใต้สถานการณ์หนึ่งๆ หรือข้อตกลงหนึ่งๆ ที่พึงปฏิบัติและยึดถือร่วมกัน เป็นลักษณะของข้อตกลงที่พบได้มากในแวดวงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา หรือการทำความตกลงระหว่างองค์กรเพื่อกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง

เช่นนั้น MOU มาเกี่ยวข้องกับทางการเมืองได้อย่างไร? ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า พรรคการเมือง ต่างพรรค ต่างมีอุดมการณ์และเป้าหมายต่อการบริหารประเทศที่แตกต่างกัน เมื่อมีวาระของการผสมผสานพรรคเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ความแตกต่างในบางส่วน อาจจะก่อให้เกิดปัญหาในด้านการบริหารงาน หรือการทำความเข้าใจในทิศทางที่จะก้าวไปข้างหน้าร่วมกัน หนังสือข้อตกลง MOU จึงเข้ามาช่วยอุดช่องโหว่ดังกล่าว เพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเมืองภายใต้ความต่างเหล่านั้น

การที่พรรคก้าวไกล เลือกใช้วิธีการนำเอา MOU มาเป็นเครื่องมือเพื่อกำหนดความเข้าใจร่วมกันนั้น ถือเป็นมิติใหม่ และเป็นครั้งแรกในทางการเมืองไทย ภายใต้รัฐบาลผสม ที่จะมีการกำหนดกรอบกติกา นโยบาย และแกนหลักการบริหารประเทศเอาไว้ให้ชัดเจนแต่เนิ่นๆ โดยให้เป็นความยินยอมพร้อมใจของทุกฝ่ายที่เข้ามาร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาลชุดนี้

อย่างไรก็ดี การกำหนด MOU นั้น ก็ต้องมีลักษณะที่ยืดหยุ่นและเป็นที่รับได้ของผู้ร่วมกำหนด นำเอาความแตกต่างเข้ามาคำนวณในสมการ และมองภาพใหญ่จนถึงภาพละเอียดให้ชัดเจน และต้องมีกรอบกำหนดเวลาที่สามารถวัดผลได้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน และอาจจะต้องมีการ ‘ปรับตัว’ เพิ่มนิด ลดหน่อย ในบางจุด เพื่อให้สามารถบรรลุได้ถึงข้อตกลงที่ทุกฝ่ายได้ลงนามร่วมกัน

การลงนาม MOU ของพรรคร่วมรัฐบาล จะมีขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ที่จะถึงนี้ จึงน่าจับตามองอย่างยิ่งว่า ภายใต้กลวิธีใหม่ ที่ประสานความเข้าใจที่แตกต่างกันให้อยู่ร่วมกันได้ จะสามารถนำพาประเทศไทยไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้นหรือไม่ นับว่าน่าติดตามอย่างยิ่ง

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ