คิดถึง วัฒน์ วรรลยางกูร คิดถึงเสรีภาพที่ยังเดินทางมาไม่ถึง
เรื่อง : วรพจน์ พันธุ์พงศ์
รัฐที่โง่เขลาและป่าเถื่อนพยายามทุกวิถีทางที่จะปิดปากประชาชนของตนเอง
รัฐที่โง่เขลาและป่าเถื่อนพยายามทุกวิถีทาง ที่จะชี้นิ้ว กำหนด กักขัง แม้กระทั่งทำให้คนทั้งคนสูญหาย
นอกจากไม่มีทางทำสำเร็จ ระวังธรรมชาติจะทวงคืน คุณฝืนโลกไม่ได้หรอก ผมจะบอกอะไรให้นะ คุณหยุดยั้งความเปลี่ยนแปลงไม่ได้
1
เย็นวันที่ 6 ตุลาคม 2519 วัฒน์ วรรลยางกูร นั่งรถไฟออกจากหัวลำโพง
ไปสองคนกับเพื่อนชื่อ ปริญญา อรรคนิตย์ สถานการณ์บ้านเมืองไม่ปกติ ต้องแยกกันนั่งคนละที่ คนตรวจตั๋วเดินมาแต่ละที ก็สะดุ้งกันที เพราะชุดกากีนั้นคล้ายตำรวจ
ปริญญาเป็นคนนครพนม ทำงานและกินนอนด้วยกันที่หนังสือพิมพ์ ‘อธิปัตย์’ คุยถูกคอ ชอบอ่านนิยายกำลังภายในทั้งคู่ และโชคดี เขามีเพื่อนเป็นครูประชาบาลอยู่ที่อำเภอส่องดาว เลยคิดว่าน่าจะช่วยพา ‘เข้าป่า’ ได้
ความคิดเรื่องเข้าป่ามาทีหลัง
แรกทีเดียววัฒน์พยายามหาที่หลบภัย แต่บ้านญาติมิตรสามแห่งในเมืองกรุงปฏิเสธ
“พวกพี่อย่ามาอยู่บ้านหนูเลย” คงไม่ได้รังเกียจ แต่บรรยากาศตอนนั้นน่ากลัว ยิ่งกับพวกนักศึกษา ไม่มีใครอยากเข้าใกล้ มันคล้ายพาตัวเองไปเสี่ยง ภาพการล้อมปราบแล้วเข่นฆ่าในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์น่าสะพรึงกลัว ใครจะคิดว่า ‘ขวา’ จะคลั่งได้ปานนั้น ใครจะคิดว่า ‘เขา’ จะโหดเหี้ยมเหนือมนุษย์มนา
กางเกงในตัว ผ้าขาวม้าผืน ในกระเป๋ามีเท่านั้น และต้องตัดสินใจจากเมืองสู่ดงดอนตอนนั้น เพราะทุกอย่างมืด ชีวิตวัฒน์เหมือนมวยไฟต์บังคับที่ไม่เหลือหนทางให้เลือก
เช้าที่อุดรธานี ลงรถไฟแล้วต่อรถเมล์สีส้ม มุ่งหน้าสู่ส่องดาว
พบเพื่อนครูท้องถิ่นแล้วเขาพาเดินเท้าเข้าป่า ใช้เวลาค่อนชั่วโมงก็ถึงหน่วยจรยุทธ์ของกองทัพปลดแอกประชาชน
“หมวดหนึ่งอยู่กันสามสิบคน ทหารจรยุทธ์ ใส่เสื้อขาดๆ สะพายอาก้า รองเท้าแตะ” เหมือนวัฒน์ไม่เคยลืมภาพเหล่านั้นเลย
“ดูแลเราดี ธรรมดาเขาไม่รับพวกนักศึกษา แต่พอเกิดเหตุการณ์ เลยรับ รับแบบยังไม่ไว้ใจ จะไปไหนก็ติดตามควบคุมตลอด กลัวเราจะเป็นพวกสปายสายลับ เข้าไปใหม่ๆ ไม่ได้อยู่กับที่ บางที่ไม่มีร่มไม้ ต้องอาศัยหลบเงาของต้นไม้ใหญ่ หลบไปเรื่อยๆ ตามเงาแดด ตอนนั้นยังไม่รับเราเป็นสหาย รอเช็กศูนย์กลางภาค ศูนย์กลางพรรค ส่งจดหมาย ซึ่งก็คือเดิน เขาเรียกหน่วยเมล์ ส่งทีใช้เวลาเป็นสิบวัน”
คนหนุ่ม อายุยี่สิบเอ็ด มีหนังสือของตัวเองแล้วสามเล่มคือนกพิราบสีขาว, กลั่นจากสายเลือด และตำบลช่อมะกอก พลังความคิดความสร้างสรรค์เหลือเฟือ พร้อมลุยงานหนัก กระดาษ ปากกา และชีวิตนักเขียนที่ควรจะอยู่กรุงก็ซัดเซพเนจรมาอยู่ป่า ชะตากรรมผู้คนมันเลี่ยงไม่พ้นจากชะตากรรมบ้านเมือง
คืนหนึ่ง ปลายเดือนตุลาคมปีนั้น มีงานพบปะกันระหว่างหน่วย รวมแล้วนับร้อยคน นักศึกษาคนอื่นๆ จัดแสดงละครจำลองเหตุการณ์ วัฒน์เขียนกลอนเล่าสิ่งที่เกิดขึ้น ‘จากลานโพธิ์ถึงภูพาน’
“สหายฟังแล้วร้องไห้ร้องห่ม เพราะพวกเขาโดนไล่ฆ่าล้อมปราบ ยุค ครูครอง จันดาวงศ์ ถูกประหาร หมู่บ้านแถบนั้นซึ่งเป็นแนวร่วมของครูก็พลอยถูกตามจับ ตามล่าถึงบ้าน เขาผ่านมาหมดแล้ว เคยเจอกับตัว เขาเลยเข้าใจเรามาก”
ต่อมา ‘จากลานโพธิ์ถึงภูพาน’ ถูกพัฒนาเป็นเพลง เพลงที่พูดความรู้สึกตรงๆ และทรงพลัง เรียกว่าถ้า ‘ค่าน้ำนม’ ของครูไพบูลย์ บุตรขัน เป็นสัญลักษณ์และสิ่งที่ขาดไม่ได้ เมื่อพูดถึงพระคุณแม่ งานเพลงของวัฒน์ชิ้นนี้ก็มีความหมายดุจเดียวกัน คือถึงวันที่ 6 ตุลาฯ เมื่อไร เราต่างได้ยิน ดินสอโดมธรรมศาสตร์เด่นสู้ศึก.. ก้องอึกทึกอยู่ในใจเจ็บปวด
2
วัฒน์เกิดปี 2498 ซึ่งสองปีถัดมาก็เกิดรัฐประหาร ชีวิตของเขาเวียนว่ายอยู่ในยุคสมัยเผด็จการ แน่ละ ความรักจึงเป็นรักระหว่างรบ
วัฒน์พบเจอสหายรุ่งโรจน์ครั้งแรกในงานวันรำลึกครบรอบหนึ่งปี เหตุการณ์ 6 ตุลา
เจอและหลงรัก ยิ่งหลังจากที่รู้ว่าเธอเป็นหนึ่งในนักศึกษาที่นอนคว่ำหน้าอยู่กลางสนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดนสะเก็ดระเบิด ถูกจับขังสามวันที่บางเขน ประกันตัวออกมาด้วยเงินสามหมื่น และหนีเข้าป่า
เขาชื่นชมเลือดนักสู้ของเธอ เธอชื่นชอบกวีสปิริตของเขา โดยเฉพาะบทเพลงซึ่งทำหน้าที่ยิ่งกว่าจดหมายเหตุแห่งวันมหาวิปโยค อันเป็นโศกนาฏกรรมของแผ่นดิน ทั้งสองอยู่คนละเขตงาน ใช้การติดต่อผ่านจดหมายที่เดินทางในความเร็วระดับการเคลื่อนตัวของหอยทาก และต้องเซ็นเซอร์ทุกครั้ง
การนัดพบเป็นสิ่งที่ต้องหาเหตุ หรืออ้างการเมือง พบในที่สาธารณะ คุยในที่สาธารณะ ยิ่งในความค่ำคืน ยิ่งคล้ายหวงห้าม พ่วงด้วยนโยบายสามช้าคือ มีความรักช้า แต่งงานช้า และมีลูกช้า กระนั้นวัฒน์บอกว่าเขาก็มี ‘วิชา’ ของเขา
กลางคืนบางทีนั่งคุยด้วยกัน เขาจะดับตะเกียง เธอผู้มั่นคงในกฎกติกาจะรีบจุด เขาดับ เธอจุด เขาดับ (และจับมือ) เธอจุด
แม้ตะเกียงแห่งความรักจะติดๆ ดับๆ แต่เขากับสหายรุ่งโรจน์ก็พัฒนาความสัมพันธ์เรื่อยมาจนเป็นคู่ผัวตัวเมีย มีบุตรธิดารวมสามคน คือ วนะ วสุ และวจนา
คนโตเป็นอาร์ติสต์และกวี คนกลางเป็นนักละครอิสระ และลูกสาวคนเดียวเป็นนักข่าว
สิ่งที่เขาภาคภูมิใจในลูกๆ ทุกคนคือความคิดเสรีนิยม และนั่นก็เป็นสิ่งที่เขาเสียใจ ที่แม่ของลูกมีเวลาอยู่ในโลกน้อยเกินไป ไม่ทันได้เห็น ไม่ทันได้ชื่นชมการเติบโตก้าวหน้าของคนหนุ่มสาวทั้งสาม
3
ปี 2550 วัฒน์ วรรลยางกูร ได้รับรางวัลศรีบูรพา เป็นนักเขียนคนที่ 19 ที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ
ปีถัดๆ มา สังคมจดจำเขาได้แม่นยำ ด้วยเป็นหนึ่งในนักเขียนจำนวนน้อยที่สวมเสื้อแดง
บนเวที ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เขาเดินสายบรรยายประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยเฉพาะหลังการฆ่ากลางเมืองปี 2553 บนเวที ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ใบหน้าวัฒน์ฉายความโกรธแค้น เสียงของเขาเป็นเสียงร้องทุกข์ วันแล้ววันเล่า เดือนแล้วเดือนเล่า เขาเดินสายบรรยายประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
รัฐประหาร 2557 คือจุดเปลี่ยน จุดแตกหัก วัฒน์เลือกโบกมือลามาตุภูมิ เข้าไปหลบขออาศัยอยู่ในกัมพูชา และลาว โดยมีคดีปักชนักกลางใจ ว่ากันตั้งแต่เรื่องการไม่ไปรายงานตัวกับ คสช., คดี ม.112 และไล่เลยไปถึง 116
โทษฐานที่ ‘พูด’ และ ‘เขียน’
“ผมไม่มีศัตรูที่เป็นตัวบุคคล ศัตรูของผมคือหน่วยงานรัฐ” วัฒน์แจงเรื่องคดีซึ่งมีอายุความ 15 ปี นับจากปี 2557 (ใครจะรับประกันได้ว่าพ้นจากนั้นแล้วกลับเข้ามา จะไม่โดนอีก)
บางส่วนของบ้านที่กาญจนบุรี เขาสร้างจากเงินค่าต้นฉบับหนังสือสารคดี ‘คีตกวีลูกทุ่ง ไพบูลย์ บุตรขัน’ และเช่นกัน, บ้านริมบึงที่ประเทศเพื่อนบ้าน เขาสร้างจากเงินค่าต้นฉบับหนังสือสารคดี ‘คีตกวีลูกทุ่ง ไพบูลย์ บุตรขัน’ อย่างที่รู้ ทั้งสองหลังล้วนเป็นอดีตที่นักเขียนเจ้าของบ้านก็จินตนาการลำบาก ว่าจะได้กลับไปอีกไหม กลับได้หรือเปล่า..
กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ‘ศรีบูรพา’ นักเขียน นักหนังสือพิมพ์คนสำคัญของไทยกลับบ้านไม่ได้ เสียชีวิตอยู่ที่ประเทศจีน
นักเขียนรางวัลศรีบูรพานาม วัฒน์ วรรลยางกูร ปัจจุบันพำนักอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส รอสถานะผู้ลี้ภัยถาวร
4
ไม่มีเส้น — เขาตอบพวกแมงลือ ที่กล่าวหาว่าใช้เส้นทักษิณบ้างละ เส้นธนาธรบ้างละ
เขายืนยันว่ามาตามขั้นตอนทุกอย่าง และฝรั่งเศสเป็นประเทศที่ให้เกียรติมนุษย์ ให้เกียรตินักเขียน ดูแลเป็นอย่างดี
ดูแลไม่ใช่ดูถูก
สถานะผู้ลี้ภัยชั่วคราวของวัฒน์สามารถอยู่ฝรั่งเศสได้หนึ่งปี ได้เงินเดือนๆ ละ 200 ยูโร มีบ้านให้อยู่ มีสวัสดิการรักษาพยาบาล ตั๋วรถเมล์ฟรี และมีคูปองให้ไปซื้อของที่ห้าง (เฉพาะอาหาร) ถ้าได้สถานะผู้ลี้ภัยถาวร จะสามารถอยู่ฝรั่งเศสได้สิบปี สิทธิเทียบเท่าพลเมืองซึ่งถ้าอายุครบ 65 ปี จะได้เบี้ยยังชีพเดือนละ 600 ยูโร
“ก็ได้ประมาณเงินเดือนศิลปินแห่งชาติของไทย” เขาหัวเราะในน้ำเสียงไอ้แผน แห่ง ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’
ในวัย 64 วัฒน์เริ่มต้นเรียนภาษาไปบ้างแล้ว เอาบทกวีบางชิ้นส่งครูไปบ้างแล้ว เช่น กล้วยหาย และ จากลานโพธิ์ถึงภูพาน (แปลกันหลายต่อ) หมายความว่าเสียงในภาษาไทย เสียงบ้านๆ แบบไอ้แผนกำลังปูช่องมองหาทางพากย์อินเตอร์ ทั้งงานเก่างานใหม่ ได้หรือไม่ได้ ยังไม่รู้ แต่เขาเดินหน้าไป เพราะเกิดมาเป็นนักเขียน ผู้อ่านอนุญาตให้เป็นนักเขียน ก็จะเขียนหนังสือสืบไป
วัฒน์คุย (เขื่อง) ว่ามีโต๊ะเขียนหนังสือแล้ว ตั้งอยู่ริมหน้าต่าง ซมเซซมซานทรมานมานาน จากนี้พร้อมจะทำงาน นั่นคือรื้อต้นฉบับที่สะสมมาระหว่างการเดินทางในฐานะคนไกลบ้าน ต้นฉบับสมุดยับยู่ยี่ที่สูงราวคืบ บวกกับอีกส่วนที่คิดที่เขียนขึ้นใหม่ ในแผ่นดินใหม่
นับตั้งแต่เครื่องบินร่อนลงปารีส เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา เขาบอกว่าโล่ง ไม่ต้องหลับๆ ตื่นๆ เกรงกลัวว่าใครจะมาทำร้าย ไวน์ขวดละ 80-90 บาท หาบริโภคได้ตลอดเวลา เท่าที่ร้านเปิด
“น่าสงสารคนไทย ที่แม้อยากจะดื่มเพื่อผ่อนคลายเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่มีทางเลือก ต้องกินเหล้าเบียร์เลวๆ และราคาแพง”
ในห้องที่มีอุณหภูมิ 5-6 องศายามนี้ คล้ายเขาพยายามจะลืมๆ เรื่องทางเมืองไทย (เขาบอกว่านอกจากต้นหมากเม่าที่ปลูกไว้สามต้น — เอาไว้ทำไวน์กิน ก็ไม่คิดถึงอะไร) ปากบอกว่าไม่คิดถึง แต่วันที่ 3 ตุลาคม 2562 วัฒน์เขียนบทกวีชื่อ ‘6 ตุลา อีกแล้ว’ บางวรรคว่าไว้แบบนี้
6 ตุลา รำลึกไปทำไม
อ่อนใจ โอ้อนาถ วาสนา
ทุกข์ซ้ำซากหลายสิบปีผ่านมา
วนทุกข์มิอาจเผชิญต้นเหตุทุกข์
ใครฆ่าเพื่อนคุณ คุณรู้ไหม
อือ.. รู้อยู่แก่ใจ แต่เจ่าจุก
พูดความจริงไม่ได้.. ต้องคิดคุก
ไม่สนุกนะ รำลึก 6 ตุลา
…
5
เช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เกิดเหตุการณ์ฆ่ากลางเมืองที่โหดเหี้ยมรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่ง
ตกเย็น นักเขียนหนุ่มคนหนึ่งจับรถไฟ ไปตายเอาดาบหน้า
ผ่านมา 43 ปี หน้าประวัติศาสตร์ยังขาดวิ่น รอการประกอบส่วน รอการปะติดปะต่อ โดยเฉพาะส่วนที่สำคัญ ส่วนหัวหน้า ส่วนหัวใจ.. ไม่ใช่นักเขียนหนุ่มคนนั้นคนเดียวที่ได้รับผลกระทบกระเทือนต่อชีวิต สืบเนื่องยาวนาน สืบเนื่องมากระทั่งวันนี้ ยังมีเหยื่ออีกนับสิบนับร้อย ยังมีคนในครอบครัว คนรัก ที่ได้รับแรงระเบิดและวิถีกระสุนนานารูปแบบ โดยทั้งสิ้นทั้งปวง ไม่เคยได้รับความเป็นธรรม ยิ่งไม่เคยได้รับการเฉลยความจริง
รัฐที่โง่เขลาและป่าเถื่อนไม่ยอมเป็นฝ่ายหยิบยื่นอยู่แล้ว
เสรีภาพไม่เคยเดินทางมาเอง
“มันไม่มา ก็ไปหามัน” วัฒน์ วรรลยางกูร ไม่ได้พูดหรอก ผมคิดขึ้นมาจากการมองชีวิตระหกระเหินของเขา มองอีกหลายสิบหลายร้อยรอยเท้าที่เราต่างต้องออกแรงเดิน
ปีศาจปากใหญ่มือยาวยังยืนเด่นเห็นตระหง่าน ไม่เดินก็โดนจับกิน
ไม่เดินก็ไม่มีวันหลุดออกจากกะลา.