fbpx

สองปีผ่านไป ทำไม ‘Metaverse’ จึงเป็นเพียงแค่ ‘คำ Buzzword’

‘คนทำการตลาด Metaverse ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน น่าจะไม่เคยเล่นเกมออนไลน์นะ ….’ นี่คือประโยคที่หล่นออกมาจากปากของคนรู้จักของผู้เขียน ในการพูดคุยสนทนาผ่านโปรแกรมแชท Discord ใน Session หนึ่ง ซึ่งมันเกิดขึ้นอย่างไม่ค่อยจะเป็นสาระมากนัก เป็นการวิสาสะอย่างสัพเพเหระทั่วๆ ไป ตามประสาคนคุ้นเคย ที่มักจะหยิบยกประเด็นอันหลากหลายขึ้นมาให้ได้ขบคิด พร้อมๆ กับผู้ร่วมวงในห้องอีกประมาณสี่ถึงห้าท่านในจังหวะนั้น

ถ้ามองโดยผาดเผินแล้ว มันออกจะเป็นคำกล่าวหาที่ค่อนข้างจะปักธงลงสรุปและปักใจเชื่อกันเกินไปสักนิด เมื่อกล่าวถึงสิ่งที่เป็น ‘นวัตกรรม’ ที่ดูจะได้รับความสนใจกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่งจากบรรดาบริษัทชื่อดังอันหลากหลาย เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้โลกแห่ง Virtual และ Augmented Reality ให้เกิดมิติใหม่ทางด้านการตลาด การค้าและพาณิชย์ จนถึงทะยานสู่ความเป็นไปได้ทางด้านงานวิจัยวิทยาศาสตร์และการแพทย์

เอาอย่างสั้นและง่าย มันจะดูน่าระทึกใจแค่ไหน ถ้าหากเราทุกคน สามารถติดต่อกับผู้คนทั่วโลก ที่อยู่ห่างออกไป เหมือนได้ไปอยู่ใกล้ๆ เพียงระยะเอื้อมถึง ด้วยนวัตกรรมแห่ง Metaverse อันเป็น ‘พื้นที่เสมือน’ ? …

แต่เมื่อมาพิจารณาจากการประยุกต์ใช้งาน สิ่งที่เกิดขึ้น และภาพที่ปรากฏหลังจากที่คำคำนี้ ได้กลายเป็นคำฮิตติดปากของเหล่าบริษัทเทคโนโลยีและการตลาดมาได้ประมาณเกือบสองปี มันก็ค่อนข้างจะชวนให้ตั้งคำถามและกังขาอยู่ไม่น้อย …

ว่า Metaverse แห่งอนาคตที่ว่านั้น หรือมันจะเป็นเพียงแค่ ‘คำลอยๆ’ ที่ผ่านมา และผ่านไป ก่อนจะถูกลืมไปอีกครั้งของการตลาด?

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า นิยามของ ‘Metaverse’ ในระดับสากลและโลกเทคโนโลยี คือพื้นที่ ‘เสมือน’ และ ‘กึ่งเสมือน’ ที่ถูกสรรสร้างขึ้นมาให้เป็นแดนกลางที่เปิดกว้างอย่างอิสระ ที่ไม่มีข้อจำกัดทางกายภาพ เป็นสนามเล่นแห่งดิจิตอลสมบูรณ์แบบที่ผู้ใช้งานสามารถสรรสร้างสิ่งต่างๆ ได้ตามแต่ที่ใจต้องการ ไม่ว่าจะเป็นห้องนั่งเล่นสำหรับการรวมกลุ่มของเพื่อนฝูง การสร้างแบบบ้านตัวอย่างสำหรับตลาดอสังหาริมทรัพย์ จนถึงการสร้างพื้นที่ฝึกหัดทักษะเฉพาะทางสำหรับงานที่มีความเสี่ยงเกินกว่าจะลงพื้นที่จริงให้ปลอดภัย

ที่กล่าวไปทั้งหมดนี้ คือ ‘อุดมคติ’ ของสิ่งที่ Metaverse สามารถเป็นได้ ภายใต้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการติดต่อสื่อสารโทรคมนาคมและอินเตอร์เนทที่ทั่วถึงฉับไว ภาพฝันที่เคยเกิดขึ้นในนวนิยายวิทยาศาสตร์ ก็อาจจะไปถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้

แต่ในทางปฏิบัติจริง Metaverse ภายใต้ข้อนิยามเดียวกันนั้น กลับเป็นความ ‘กำกวม’ อย่างถึงที่สุดเมื่อพิจารณาในรายละเอียด เปิดกว้างอย่างอิสระ แต่อิสระได้ถึงขอบเขตระดับใด? ขีดความสามารถและการอนุญาตในการสร้างสิ่งต่างๆ ในพื้นที่เสมือนที่ว่า ใครเป็นคนกำกับ และใครเป็นคนมอบสิทธิ์นั้น? และการจับจอง ‘พื้นที่’ ดังกล่าว จะกระทำโดยผ่านธุรกรรม หรือการจดจำนองในรูปแบบไหน? ความปลอดภัยอยู่ในขอบเขตที่รับได้หรือไม่? นี่ยังเป็นสิ่งที่ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนแม้เวลาจะเลยล่วงผ่านมานานเกือบสองปี

‘ก็โลกไซเบอร์มันไม่จำกัดอยู่แล้ว จะสร้างอะไรก็สร้างได้ ไม่เห็นต้องจับจองอะไรเลยนี่?’ คุณอาจจะคิดแบบนั้น แต่อย่าลืมว่า ถ้าการมีพื้นที่หนึ่งๆ สำหรับการตลาด ผลตอบรับที่บริษัทและห้างร้านต้องการ คือ ‘ผลประกอบการ’ ที่เพิ่มมากขึ้น และการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่มากขึ้น แล้วมันจะมีประโยชน์อะไร หากพวกเขามีพื้นที่หนึ่ง ที่สร้างอย่างละเมียด ปรับแต่งให้เหมาะสมกับกลุ่มตลาด แต่ไม่สามารถ ‘ส่งผ่าน’ พื้นที่ที่ว่า ไปยังเป้าหมายได้ มันก็ไม่ต่างอะไรกับการเปิดบ้านทิ้งร้างเอาไว้ ละลายเงินทิ้งไปเปล่าๆ

จากที่กล่าวไปข้างต้น มันก็จะวนกลับไปสู่ข้อสรุปที่น่าสนใจที่ว่า Metaverse แม้จะมีนิยามที่แปลกต่าง แต่ในการใช้งาน ก็แทบจะไม่ต่างอะไรกับพื้นที่เสมือนหรือ Social Media ที่มีอยู่แต่เดิม มีพื้นที่เฉพาะกลุ่ม มีกลุ่มบริษัทที่จับจองพื้นที่ขนาดใหญ่ และมีความ ‘Niche’ ที่เป็นเฉพาะ และยิ่งจะเฉพาะขึ้นไป เมื่อมันถูกปรุงแต่งประสบการณ์การใช้งานผ่านโลกเสมือน

และนั่น ทำให้เราได้เห็นอะไรที่ ‘แปลกๆ’ ออกมาจากบริษัทและกลุ่มต่างๆ ออกมาเป็นจำนวนมาก เพียงเชื่อว่า แค่สร้างพื้นที่เสมือนที่มีตัวละครอวตารของผู้ใช้งาน เดินเล่นไปมาได้ พูดคุยกับผู้ใช้งานคนอื่นผ่าน Chat Box มีป้ายโฆษณา แล้วรับชมการถ่ายทอดสด ก็ครบถ้วนตามหลัก ‘Metaverse’ ที่ดีและพึงเป็น

สารภาพจากใจจริง ผู้เขียนไม่ได้มีข้อคัดง้าง หรือขัดขวางความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เพราะส่วนตัวก็คิดว่า มันคงจะน่าตื่นเต้นดี ถ้าหากโลกก้าวล้ำไปถึงจุดที่เพียงแค่สวมอุปกรณ์ Virtual Reality แล้วสามารถไปเดินเล่นที่สะพานโกลเด้นเกท ชมวิหารนอร์ตเตรอะดามที่ปารีส หรือเดินในสวนเซนที่เกียวโต ใช่ …. มันคือความฝันของเหล่ายูนิคอร์นเทคฯ สตาร์ทอัพทั้งหลาย ในหัวใจที่เต็มไปด้วยความ Geek และเติบโตมากับนิยายวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น

แต่ในเมื่อสิ่งที่เกิดขึ้น ยังห่างไกลจากภาพฝันออกไป เกือบจะเป็นปีแสง คำกล่าวของคนรู้จักของผู้เขียนก็ผุดขึ้นมาอีกครั้ง…

‘คนทำการตลาด Metaverse ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน น่าจะไม่เคยเล่นเกมออนไลน์นะ…’

ลองพิจารณากันทีละข้อ เกมออนไลน์ขนาดใหญ่ (Massive Multiplayer Online Role Playing Game, MMORPG) มีพื้นที่เสมือนที่กว้างไพศาลอย่างไร้ขีดจำกัด มีตัวละครอวตารที่ผู้เล่นสามารถสร้างและปรับแต่งได้เต็มรูปแบบ มีกิจกรรมให้ทำตั้งแต่ยิงนกตกปลาจนถึงลงดันเจียน มีช่อง Chat Box มีกระดานซื้อขายไอเทม ที่อาจจะสานต่อไปถึงการแลกเปลี่ยนด้วยมูลค่าเงินจริงนอกเกม มีคอนเทนต์และอีเวนท์ที่กลุ่มผู้เล่นจัดทำเป็นครั้งคราว และมีการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนจากซีกโลก ที่คนจากเอเชีย ก็อาจจะร่วมปาร์ตี้กับคนจากโอเชียเนียหรืออเมริกาก็เป็นได้ ….

ดูทรงแล้วพวกเขาคงไม่เคยเล่นเกมออนไลน์จริงๆ นั่นล่ะ

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ