เมื่อกรุงเทพจะคลาย ‘Lockdown’ ในภาวะที่ยังสุ่มเสี่ยงกับ COVID-19
มาถึงวันนี้ ก็เป็นเวลาเกือบเดือนแล้ว ที่กรุงเทพฯ ติดชะงักอยู่ในสภาวะ ‘Lockdown’ ในเชิงปฏิบัติ (แม้จะไม่ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการก็ตาม…) และเราก็คงจะได้เห็นแล้วว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทางสังคมและเศรษฐกิจนั้น มีมากแค่ไหน และร้ายแรงอย่างไร
แน่นอนว่าด้วยสิ่งที่เกิดขึ้น เสียงเรียกร้องจากหลายภาคส่วนเพื่อให้เกิดการ ‘คลาย’ ล็อคนี้ จึงเริ่มดังถี่ขึ้นตามมาเป็นลำดับ ก่อนที่สถานการณ์จะเลวร้ายมากไปกว่านี้
อันที่จริง สถานการณ์ Lockdown ปิดเมืองเพื่อตรวจสอบและจำกัดจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 นั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก ภายใต้สถานการณ์ที่ต้องตีวงให้แคบที่สุด เพื่อให้บุคลากรสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเชื้อร้ายไม่ลุกลามออกไป แต่ในทางกลับกัน ก็ต้องยอมรับด้วยว่า ผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจ ก็เป็น ‘ผลพลอยได้’ ที่ไม่มีใครอยากได้ ที่ตามมาอย่างช่วยไม่ได้ด้วยเช่นกัน
สำหรับประเทศไทย แม้จะไม่มีประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ แต่การ Lockdown ก็ดำเนินไปแล้วเกือบเดือน และเราก็ได้เห็นแล้วว่า ผลกระทบนั้น ขยายตัวเป็นวงกว้างมากแค่ไหน จากมาตรการเยียวยาที่ไม่ได้ประสิทธิภาพของภาครัฐ และทิศทางที่ไม่ชัดเจน ไปจนถึงข้อมูลทั้งจริงลวงปะปนกันอย่างแยกไม่ออก ผู้คนเริ่มอดอยาก และไร้ทางไป เป็นปฏิกิริยาช่วยเร่งให้การคลาย Lockdown นั้น เกิดขึ้นอย่างจริงจัง
แต่ในทางหนึ่ง เราพร้อมมากแค่ไหนสำหรับการคลาย Lockdown?
ต้องยอมรับว่า ความพร้อมของภาครัฐในการจัดการและควบคุมการแพร่ระบาด COVID-19 นั้น อยู่ในระดับที่จำกัดเป็นอย่างมาก แม้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มจะลดจำนวนลงในทุกครั้ง แต่นั่นก็มาจากจำนวนการตรวจที่ทำได้อย่างไม่ทั่วถึง เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า เมื่อการ Lockdown นั้นคลายตัวให้ประชาชนกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ การแพร่ระบาดครั้งใหญ่จะไม่ตามมาซ้ำเป็นระลอกที่สอง?
อีกทั้งความเสียหายภาคเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในรอบเดือนกว่าๆ ที่ผ่านมา ก็จำเป็นต้องได้รับการบูรณะเยียวยาอย่างยั่งยืนและบูรณาการ ให้ทั่วถึงครอบคลุมคนในทุกระดับ ซึ่งมันก็ผ่านการพิสูจน์ในช่วง Lockdown แล้วว่า ทำได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ และมีช่องโหว่ตกหล่นอยู่มากมายขนาดไหน
อนึ่ง ทางภาครัฐเริ่มมีดำริว่าจะขยายพระราชกำหนดการ Lockdown เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเดือน ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณา แต่เราก็อยากให้ลืมตามามองสิ่งที่เกิดขึ้น ‘จริงๆ’ ณ จุดนี้แล้วว่า ที่ผ่านมา การปิดเมืองนั้น ไม่ได้ช่วยให้เกิดผลในทางบวกกับใครๆ และเราก็ยืนอยู่บนทางสองแพร่ง ซึ่งไม่ว่าจะมองไปทิศใด ก็มีแต่เสียกับเสียด้วยกันแทบทั้งสิ้น
การคลาย Lockdown จะต้องเกิดขึ้น ไม่ช้าก็เร็ว แต่เรามี ‘ความพร้อม’ มากแค่ไหนสำหรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นถัดจากนี้ นี่เป็นสิ่งที่เราอยากจะฝากไปให้ถึงผู้เกี่ยวข้องได้พิจารณากันอย่างถี่ถ้วนดูสักครั้ง
เพราะแม้ว่า COVID-19 จะมีโอกาสที่จะตาย แต่การ ‘ไม่มีจะกิน’ การการปิดเมือง Lockdown โดยไม่มีมาตรการเยียวยารองรับที่ดีพอนั้น ถือเป็นวิธีการตายผ่อนส่งที่น่ากลัวไม่น้อยไปกว่ากันเลย