fbpx

LGBTIQ++: จากอดีตบรรพกาล สู่การเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียม

นิยามเรื่องของ ‘เพศสภาพ’ เคยถูกเข้าใจ และกำกับเอาไว้ให้เป็นเพียง ‘ทวิลักษณ์’ ที่มีแค่สอง ไม่ชาย ก็ หญิง ทั้งบทบาท หน้าที่ รวมถึงพฤติกรรมที่ควรและพึงกระทำที่ชัดเจน หากผิดไปจากนี้ ถือว่าไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้อง เป็นบาปร้ายแรง จนถึงได้รับการเหยียดหยามต่อต้านทั้งจากวงสังคม ศาสนา การเมือง และเศรษฐกิจ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สยามประเทศ หรือ ประเทศไทย อันเป็นดินแดนที่ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียกว่า ‘จารีต’ ในระดับที่ฝังรากลึกอยู่ในระดับวัฒนธรรม…

แต่เช่นเดียวกับทุกความเปลี่ยนแปลงที่เดินทางผ่านเข้ามา เช่นเดียวกับทุกช่วงเวลาที่ต้องหมุนเวียน ค่านิยมและทัศนคติที่ล้าสมัย จะถูกท้าทายด้วยขบวนความคิดสมัยใหม่ ซึ่งเข้ามาปรับเปลี่ยนนิยามของสิ่งเก่า ให้ลบเลือนหายไป และเปิดช่องว่างให้กับความหลากหลายที่จะเข้ามา

และเรื่อง ‘เพศสภาพ’ ก็เป็นหนึ่งในความเคลื่อนไหวและเป็นที่จับตามองอยู่ในขณะนี้ หลังการผ่านร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต และการยื่นมติ พ.ร.บ สมรสเท่าเทียม ที่กำลังลุ้นว่าจะสามารถปรับใช้เป็นมาตรฐานใหม่ของสังคมไทยได้หรือไม่

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า สังคมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTIQ++( L (แอล) -Lesbian

 G (จี) – Gay (เกย์)   B (บี) – Bisexual (ไบเซ็กช่วล)  T (ที) – Transgender (ทรานเจนเดอร์)  I (ไอ) – Intersex (อินเตอร์เซ็กซ์)  และ  Q (คิว) – Queer (เควียร์) ) ไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมสยามมาก่อน แต่กลับถูกซุกซ่อน ถูกหวงห้าม และถูกพูดในที่รโหฐาน ห้ามเปิดและแพร่งพรายออกไป

GM Magazine ขอร่วมฉลอง ‘Pride Month’ เดือนแห่งความหลากหลายของกลุ่ม LGBTIQ++ ด้วยบทความที่ย้อนประวัติศาสตร์ ความเป็นมา และบทวิเคราะห์ทิศทางความหลากหลายทางเพศของสยามประเทศที่มีความเป็นไปได้กับสิ่งที่รอคอย เป็นความท้าทายอย่างไร้ที่สิ้นสุด ว่าจะต้องพบกับสิ่งใดบ้าง เพราะเส้นทางที่ถูกเขียนและกระซิบอย่างแผ่วเบาในวันวาน ได้ถูกขับขานขึ้นอย่างองอาจในวันนี้ แต่นี่ยังเป็นเพียง ‘ก้าวแรก’ บนหนทางอันยาวไกลเท่านั้น

จักรวาล LGBTIQ++ ในเมืองไทย

สายธารของจักรวาล LGBTIQ++ บนโลกใบนี้  ทั้งซีกโลกตะวันตกและตะวันออก ผ่านการต่อสู้ เรียกร้อง สร้างการยอมรับจากยุคต่างๆ มาจนถึงปัจจุบัน และที่เหมือนหรือคล้ายๆ กัน คือ ชุมชน “เลสเบี้ยน” จะถูกกล่าวถึงน้อยกว่า “เกย์” ซึ่งตามปกติแล้ว ไม่ว่าที่แห่งใดในโลก เรื่องราวของผู้หญิงล้วนได้รับการยอมรับน้อยกว่าผู้ชาย อีกทั้งมีบทบาทเป็นรองและเป็นเพียง “เพศที่สอง” ของสังคมในอดีตเท่านั้น  

เรื่องราวของ “หญิงรักหญิง” เป็นแค่ “บางชีวิต” ที่ซุกซ่อนอยู่ในประวัติศาสตร์เกย์ ทำให้เลสเบี้ยนในยุคแรกๆ นั้นแทบไม่มีตัวตนและไม่เป็นที่เปิดเผยมากนัก แม้ในยุคกรีกโบราณที่เปิดกว้างและให้ค่าของคู่รักชายรักชาย แต่การกล่าวถึงเรื่องหญิงรักหญิงก็เป็นเรื่องต้องห้าม

หมุดแรกในเมืองไทย คือการจัดงาน “วันแห่งความหลากหลายทางเพศ” ขึ้นครั้งแรก ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2008 (ตรงกับพ.ศ. 2551)  ซึ่งก่อนจะมี “วันนี้” ต้องย้อนกลับไป 2 ปีก่อนหน้าในช่วงปี  2006 (พ.ศ. 2549) มีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้พิจารณาถอนข้อความ “เป็นโรคจิตถาวร” ในใบสำคัญต่างๆ และใช้เวลานานถึง 5 ปี จนปี 2011 (พ.ศ. 2554) ศาลปกครองได้แก้ไขข้อความเป็น “ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด”

ในทางสากลได้ใช้เดือนมิถุนายนเป็น Pride Month ซึ่งกลุ่ม LGBTIQ++ ทั่วโลกนิยมจัดงานงานเฉลิมฉลองกัน เพื่อรำลึกถึงการจลาจล  “สโตนวอล”   ซึ่งเกิดขึ้นในเช้าตรู่เมื่อวันที่  28 มิถุนายน 1969 (พ.ศ.2512)   ณ กรีน        วิชวิลเลจ  รัฐแมนฮัตตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อการโจมตีของตำรวจนำไปสู่ความรุนแรงกับชุมชนเกย์และเลสเบี้ยน ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่า เหตุการณ์ดังกล่าวนั้นได้นำไปสู่การปลดแอกเกย์ และเป็นการต่อสู้ในยุคใหม่ของผู้มีความหลากหลายทางเพศในสหรัฐอเมริกา และหนึ่งปีหลังจากนั้นก็เกิดองค์กรที่ดำเนินกิจกรรมทั้งหลายเกี่ยวกับเกย์มากขึ้น รวมถึงในวันที่ 28 มิถุนายน 1970 (พ.ศ. 2513)  ได้จัดงานไพรด์พาเหรดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก

เมืองไทยเริ่มต้นเมื่อใด

ณ วันนี้ สังคม LGBTQ++ ในเมืองไทยได้รับการพูดถึงมากขึ้น มีเรื่องราวมากมายหลากแง่มุมที่ถูกนำเสนอผ่านหน้าสื่อหลักและ Social Media ทั้งในรูปแบบขององค์กรเอกชน อิสระ และกลุ่มไม่แสวงหาผลกำไร แม้แต่ในพรรคการเมืองบางพรรค เช่น ก้าวไกล ก็มีนโยบายสำหรับคนกลุ่มนี้  และถึงแม้ว่าจะมีการพูดถึงมากจนเหมือนกับสังคมเปิดกว้าง แต่ในความเป็นจริงยังถือว่ามีสิ่งที่ต้องต่อสู้กันอีกมาก ทั้งทางกฎหมาย (เช่น พ.ร.บ สมรสเท่าเทียม) จนถึงการยอมรับในเชิงสังคมและวัฒนธรรม

อย่างไรก็ดี เมืองไทยรู้จักเรื่องความหลากหลายทางเพศมาแต่โบราณ  ผ่านวรรณกรรมพุทธศาสนา และวรรณคดีบางเรื่อง รวมถึงพระภิกษุสงฆ์บางรูปถูกเล่าขานในพุทธศาสนาครั้นพุทธกาล และในบางแผ่นดิน ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา ก็มี “กฎมณเฑียรบาล” และ “กฎหมาย”  (อ่านจากล้อมกรอบ)

โลกยุคบุรพกาล ปลูกฝังค่านิยม ชาย-หญิงต้องคู่กัน เพื่อผลิตทายาทสืบทอดเผ่าพันธุ์ เป็นฟังก์ชันที่มีในระดับสันดาน ดังนั้น ในยุคแรก สังคมไทยเฉกเช่นเดียวกับทั่วโลก ที่ไม่ยอมรับพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกัน โดยถูกมองว่าเป็นเรื่องวิปลาส ผิดเพศ วิปริต เจ็บป่วย  เรื่องราวของชุมชนนี้ก็แค่เกิดขึ้น และอาจเอ่ยเพียงไม่กี่บรรทัดแล้วผ่านเลยไป ไม่ได้บันทึกไว้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวมากนัก  โดยในยุคสมบูรณาญาสิทธิราช ส่วนใหญ่จะกล่าวถึงชนชั้นสูง  ซึ่งมีคนไทยทั้งชายและหญิง รวมถึงชาวต่างชาติบางคนที่ทำงานในหน่วยราชการ ถูกเอ่ยถึงในหน้าประวัติศาสตร์  อาทิ

กฎมณเฑียรบาล มาตรา 124 ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสมัยอยุธยาตอนต้น :  มีข้อห้ามปรากฎในเอกสารโบราณ  “หากมีนางสนมกำนัลผู้ใด บังอาจละเมิดเล่นรักกันเฉกเช่นสามีภรรยาจะต้องลงโทษด้วยการเฆี่ยนด้วยลวดหนัง 50 ที และหากยังฝ่าฝืนมีการเล่นเพื่อนกันอีกให้จับมาสักคอด้วยถ้อยคำประฌามแล้วใส่ตรวนจองจำ และแห่ประจานรอบๆ เมืองให้อับอายเข็ดหลาบ” (รัชนีชล 2553)  และการมีกฎมณเฑียรบาลมา รองรับนี้ เท่ากับเป็นการชี้ให้เห็นว่า การเล่นเพื่อนได้เกิดขึ้นแล้วตั้งแต่โบราณ และบันทึกปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรสมัยต้นอยุธยา

บีบคอก่อนเผา “นายโยส เซาเต็น” สมัยพระเจ้าปราสาททอง  : จนในยุคของพระเจ้าปราสาททอง ช่วงปี 1634 (พ.ศ. 2177) มีบันทึกไว้ว่า นายโยส เซาเต็น อดีตเจ้าหน้าที่ฮอลันดา หัวหน้าสถานีการค้าดัตช์อีสต์อินเดีย ประจำกรุงศรีอยุธยา โดนรัฐบาลฮอลแลนด์ประหารชีวิตเผาทั้งเป็นที่ปัตตาเวีย เมื่อ11 กรกฎาคม ค.ศ.1644 เขาสารภาพว่า รับตัวอย่างการมีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันจากคนกรุงศรีอยุธยา ตลอด 7 ปี (ค.ศ.1637-1644)  ซึ่งทั้งหมดนี้ มีความสัมพันธ์กับชายถึง 19 คน และ 3 ใน 19 คนเป็นหัวหน้ากะลาสีเรือ, ทหาร และคนครึ่งพื้นเมืองชาวยุโรป  ทำให้ แอนโทนี่ ฟาน ดีเม็น ผู้ว่าราชการเมืองปัตตาเวีย ตัดสินให้บีบคอนายโยส เซาเต็นให้ตายก่อนนำไปเผา ส่วนคู่ขาทั้งสามคนถูกจับยัดใส่กระสอบแล้วนำไปถ่วงน้ำตามลำดับ นอกจากนี้ นายโยส เซาเต็น ยังได้บันทึกถึงความเจริญรุ่งเรืองของอยุธยาสมัยนั้นไว้ด้วย

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงออกกฎหมายที่พาดพิงถึงพฤติกรรมรักร่วมเพศ อย่างเช่น ประมวลกฎหมายลักษณะ ร.ศ. 127 มาตรา 124 ที่กล่าวว่า “ผู้ใดกระทำชำเราผิดธรรมดามนุษย์ ด้วยชายก็ดี หญิงก็ดี หรือกระทำชำเราด้วยสัตว์เดียรฉานก็ดี ท่านว่า มีความผิด ต้องระวางโทษติดคุกตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป จนถึง 3 ปี แลให้ปรับตั้งแต่ 50 บาทขึ้นไปถึง 500 บาท

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มีการถึงเรื่องราวของผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่นเดียวกับกระแสโลกและชาติต่างๆ ที่เริ่มพูดถึงความเข้มข้นในวิถีนี้ ผ่านข่าวสาร เรื่องราวในหน้าสื่อต่างๆ ตั้งแต่หนังสือพิมพ์ นิตยสาร จนมาถึงยุค Social Media ที่ขยายความเข้าใจ ว่าโลกแห่งเพศสภาพ ไม่ได้มีเพียงแค่สอง สาม หรือสี่ แต่ยังมีอีกมากมายในหลากหลายนิยาม

ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นชาติใด มักรวมและสร้างกลุ่มของตัวเองเพื่อพบปะสร้างสรรค์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีสาระบ้าง ไร้สาระบ้าง  ยิ่งในโลกที่การสื่อสารเชื่อมต่อ เพียงแค่คลิกเท่านั้น ทุกอย่างก็จะอยู่ตรงหน้า ยกตัวอย่างเรื่อง “ศัพท์แสลง” และศัพท์วิชาการบางตัว การขานเรียกก็อาจจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย วันนี้ ถ้ายังใช้ “พจนานุกรมเกย์” รุ่น “ฉันผู้ชายนะยะ” ต้องบอกว่า “เชยและล้าสมัย” เพราะศัพท์ประเภทนี้ เปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก

โดยเฉพาะยุคนี้ เกย์ เลสเบี้ยน คนข้ามเพศ สร้างโลกของกลุ่ม ผ่านบาร์และร้านอาหาร ร้านกาแฟ และต่อมาเริ่มมีการใช้ศัพท์บางตัว อย่างตะวันตก ใช้  บุทช์ (bucth) เรียก “เลสเบี้ยนที่มีลักษณะแบบชาย”  บ้านเรา เรียก ทอม ซึ่งมาจาก “ทอมบอย” ส่วนเลสเบี้ยนหญิง เรียก เฟม (Femme) ส่วนเราเรียก ดี้ มาจาก “เลดี้” ในอดีตสังคมไทย เรียก “กะเทย” เป็นการเรียกอย่างสากลว่า Hermaphrodite ใน ปี 2397  จากนั้นวงการแพทย์เริ่มใช้คำว่า Homosexual ในสมัยรัชกาลที่ 7 ซึ่งหมายถึง บุคคลที่มีพฤติแบบ “รักร่วมเพศ” สำหรับเกย์ เรียกว่า  เกย์คิง-ฝ่ายรุก, เกย์ควีน-ฝ่ายรับ

ในยุคประชาธิปไตย  เรื่องราว-พฤติกรรมของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศบางคนในอดีต สื่อมวลชนได้นำ “ศัพท์ตั้งต้น” มาใช้เรียกขานพฤติกรรมของคนที่มีพฤติกรรมเดียวกันในลำดับถัดไป และ “ศัพท์แสลง” โดยมาก เป็นศัพท์เชิงเหยียดที่ให้ค่าลบ ดังเช่นคดี “นายถั่วดำ” ซึ่งเป็นชื่อเล่นของ “นายการุณ ผาสุก” ได้ตกเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์รายวัน “ศรีกรุง” ฉบับประจำวันที่ 20 มิถุนายน 2478  ว่ามีพฤติกรรม ชอบสนิมสนมคบหาเด็กชายอายุ 10-16 ปี ไม่มีภรรยาเป็นตัวเป็นตน หลังไต่สวนพบว่า นายถั่วดำได้พาเด็กมาสำเร็จความใคร่ แล้วชักชวนให้บริการกับแขก ซึ่งเป็นเจ้าสัวคนจีนบ้าง เป็นจีนบ้าบ๋าบ้าง ใช้บ้านเปิดเป็นซ่อง โดยเจ้าบ้านได้เก็บค่าบริการจากผู้ซื้อบริการอย่างเดียวกับซ่องนางโลมทั้งหลาย และผลตรวจของแพทย์ระบุว่า เด็กทั้ง 2 คนมีแผลที่ช่องทวารหนัก

ศัพท์แสลงที่ใช้กันต่อมาว่า “ถั่วดำ” หรือ “อัดถั่วดำ” จึงเป็นศัพท์แสลงที่ใช้และรู้กันในความหมายว่า พฤติกรรมการร่วมเพศของกลุ่มชายรักชาย (เช่นเดียวกับ ว่า “ตุ๋ย” ก็เป็นศัพท์แสลงที่ใช้ในความหมายเดียวกัน จากข่าว “ผู้กองตุ๋ย” ในปี 2541) หรืออย่างศัพท์แสลงต่างๆอื่นๆ เช่น ตุ๊ด แต๋ว สายเหลือง ฉิ่งฉับ ฯลฯ ก็ล้วนแต่ให้ค่าเหยียดและลบทั้งสิ้น

หลัง พ.ศ. 2500 สังคมของคนที่มีบุคลิกหลายทางเพศได้รับการยอมรับมากขึ้น มีคนเก่งๆเข้ามาทำหน้าที่ต่างๆกันไป ในวงการบันเทิง บุคคลที่สร้างชื่อเสียงให้กับสถานีไทยโทรทัศน์ คือ เทิ่ง สติเฟื่อง (บรรยงค์ เสนารักษ์) ลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น เป็นทั้งนักโฆษณา, ผู้จัดละคร, นักแต่งเพลง เทิ่งใช้ศัพท์และสำนวนใหม่ๆ เพื่อเป็นกันเองคุ้นเคยกับผู้ชม

จนวันนี้ สังคม “ดูเหมือน” จะเปิดกว้าง เพราะเราเห็นบุคคลที่มีหลากหลายทางเพศ รับเอานิยามและแนวคิดเรื่องเพศจากสังคมตะวันตกเข้ามาในสังคมไทย และคำนิยามนั้น ก็ทำให้ความหลากหลายขยายตัวกันไปอีกมากมาย ดังที่เห็นอักษรใหม่ๆปรากฏพ่วงท้าย LGBTIQ ++

  • L (แอล)  -Lesbian (เลสเบี้ยน) หญิงรักหญิง
  • G (จี)      – Gay (เกย์) ชายรักชาย
  • B (บี)      – Bisexual (ไบเซ็กช่วล) บุคคลที่รักได้ทั้งสองเพศ
  • T (ที)      – Transgender (ทรานเจนเดอร์) บุคคลข้ามเพศ / หญิงข้ามเพศ (Transwoman), ชายข้ามเพศ (Transman)
  • I (ไอ)     – Intersex (อินเตอร์เซ็กซ์) บุคคลที่มีอวัยวะเพศกำกวม ไม่ชัดเจนว่าชายหรือหญิง หรือ                มีทั้ง 2 เพศในร่างกาย
  • Q (คิว)   – Queer (เควียร์)  บุคคลที่มีวิถีทางเพศเลื่อนไหล ปฏิเสธการรับอัตลักษณ์เดียวตลอดชีวิต

เชื่อเหลือเกินว่า ในอนาคตข้างหน้า ++ ต้องทำหน้าที่ต่อไป นั่นเพราะว่า เรื่องเพศของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน “ในความเหมือนมีความต่าง” และในความต่างก็อาจจะต่างกันไปอีกในรายละเอียด

 ความเคลื่อนไหวภาคประชาชนของกลุ่ม LGBTIQ++ ในปัจจุบัน

ในตอนนี้ ท่ามกลางการยอมรับของสังคมไทยที่มีต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือ LGBTIQ++ ที่มากขึ้นในระดับหนึ่ง ความเคลื่อนไหวเพื่อยกระดับความสัมพันธ์ในแง่กฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับคุณภาพชีวิตที่ดี ก็เป็นอีกหนึ่งย่างก้าวสำคัญที่ถูกกล่าวถึงกันในวงกว้าง ไม่ใช่แค่เพียงในประเทศไทย แต่รวมถึงประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

สำหรับประเทศไทย ความคืบหน้าล่าสุดที่เกิดขึ้น หลังการจัดงาน Pride Month เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คือการลงมติผ่านร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อสร้างความเสมอภาคทางเพศและความหลากหลายทางเพศ อันเป็นก้าวแรก ที่จะนำไปสู่การยื่นต่อสภา เพื่อประกบร่างพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม ที่ยังคงรอมติจากคณะรัฐมนตรีต่อไป

นี่ถือว่าเป็นความคืบหน้าที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะในอดีต กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ แม้จะใช้ชีวิตอยู่กินร่วมกันมานานหลายปี แต่สิทธิทางกฎหมายที่พึงมือในฐานะประชาชน เช่น สิทธิค่ารักษาพยาบาล สิทธิในการขอเลี้ยงดูบุตร จนถึงสิทธิในมรดก เป็นเรื่องที่ไม่สามารถกระทำได้ พระราชบัญญัติคู่ชีวิต ได้ปลดล็อคข้อจำกัดต่างๆ ทางกฎหมายดังต่อไปนี้

  • หน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน
  • อำนาจจัดการแทนผู้เสียหายในคดีอาญาเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา
  • สิทธิรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน
  • สิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม
  • สิทธิและหน้าที่ในการเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ หากอีกฝ่ายเป็นคนไร้ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
  • สิทธิเซ็นยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย
  • สิทธิจัดการศพ

เป็นที่น่าสังเกตและน่าลุ้นว่า ในความเคลื่อนไหวขั้นต่อไป ของพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม จะสามารถผ่านการรับวาระจากคณะรัฐมนตรีในสภา และก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยทั้งทางวัฒนธรรม และทางกฎหมายมากน้อยเพียงใด

แต่ในทางหนึ่ง กลุ่มบริษัทห้างร้าน องค์กรเอกชนหลายแห่ง ก็ให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเพิ่มมากขึ้น และไม่ได้เป็นเพียงแค่การเกาะกระแสแค่เพียงฉาบฉวย หากแต่ลงลึกถึงวัฒนธรรม แนวทางปฏิบัติ และการใส่ใจในระดับองค์กร เช่น การให้สิทธิวันลาทางการแพทย์ หรือการเพิ่มโอกาสความก้าวหน้าทางการงานที่มากขึ้น เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเป็นข่าวที่น่าสนใจ และเป็นนิมิตหมายที่ดีของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือ LGBTIQ++ แต่ในสภาพความเป็นจริงแล้ว ยังมีอีกหลายประเทศที่การต่อสู้เพื่อความเสมอภาคเท่าเทียมทางเพศ ยังคงเป็นเรื่องที่ยากลำบาก ถูกหวงห้าม รวมถึงมีการต่อต้านและมีบทลงโทษ

ตัวอย่างของสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดคืออัฟกานิสถาน ภายหลังจากที่กองกำลังตาลีบันเข้ายึดครองประเทศ ชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่ม LGBTIQ++ และสตรี ตกอยู่ในความหวาดกลัว ด้วยกฎหมายศาสนาและการใช้อำนาจของบุรุษเป็นใหญ่ การแสดงออกถึงความเป็นตัวเอง หรือการผิดกฎแม้เพียงนิด อาจจบด้วยชีวิตที่ดับสูญ

หรือในภูมิภาคเอเชียเองก็ไม่ได้ดีไปกว่ากัน กล่าวคือ ประเทศไทยค่อนข้างมีความก้าวหน้าในการเคลื่อนไหวและการแสดงออกของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศบรูไน ที่ลงโทษประหารสำหรับกลุ่มคนที่เป็นชายรักชาย, สิงคโปร์ที่มีกฎหมายลงโทษสำหรับการรักร่วมเพศเดียวกัน

แม้แต่ในประเทศที่มีความก้าวหน้า เช่นญี่ปุ่น กลุ่มคนที่ผู่มีความหลากหลายทางเพศ ถูกจัดเป็นประชากรที่แทบไม่ได้รับการยอมรับในสังคมการทำงานปกติ และเป็นได้แค่บทบาทตลกจำอวดในแวดวงบันเทิง เป็นเพียง ‘โอกามะ (Okama)’ หรือ ‘กะเทย’ ซึ่งเป็นคำแสลงแทนความเหยียดหยามของผู้คนที่มีต่อกลุ่มคนเหล่านี้

และสุดท้าย คือประเทศจีน ด้วยค่านิยมของการแต่งงาน มีครอบครัว มีลูกหลานสืบตระกูลเป็นฐานของวัฒนธรรม สังคมชายรักชาย หรือหญิงรักหญิง หรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ประสบปัญหาในการดำเนินชีวิตอย่างมาก และไม่ถูกยอมรับไม่ว่าจะในด้านในก็ตาม แม้ว่าจะมีนวนิยายสายวาย (Yaoi, Yuri) หรือสายรักเพศเดียวกัน แต่ก็เป็นเพียงเรื่องบันเทิงประโลมใจ แต่ในทางปฏิบัติ กลับแตกต่างกันราวฟ้ากับเหว

จะเห็นได้ว่า ความเคลื่อนไหวเพื่อความเสมอภาคของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือ LGBTIQ++ ยังมีระยะทางและอุปสรรคอยู่ไม่น้อยที่ต้องฝ่าฟัน แต่จะต้องค่อยๆ ดีขึ้น ท่ามกลางการยอมรับและความเข้าใจที่มากขึ้นตามเวลา

ย่างก้าวบนทางยาว ‘สีรุ้ง’

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า หนทางของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ยังคงมีอุปสรรค และความท้าทายใหม่ๆ ที่รอคอยอยู่ (ทั้งกับสังคมภายนอก จนถึงภายในกลุ่มด้วยกันเอง) และแม้ว่าร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตและสมรสเท่าเทียม จะเป็นเหมือนความคืบหน้าที่สำคัญ แต่นั้นยังไม่ใช่ปลายทางตอนจบที่ครบถ้วนสมบูรณ์

เพราะการต่อสู้นี้ ยังต้องไปอีกไกล… และไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่กี่ปี แต่ได้สะสมมาจากระยะเวลาที่ยาวนานกว่านั้น

แต่…อย่างน้อยที่สุด ก็ได้เริ่มก้าวเดินอย่างมีความคืบหน้า และมีความหวังแล้ว ทั้งในประเทศไทย หรือในประเทศอื่นๆ ที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ สามารถเปิดเผยตัวตน ใช้ชีวิต และดำรงสถานะได้อย่างเสมอหน้าเท่าเทียมกัน

สำหรับพวกเขา สิ่งที่ต้องการ ไม่ใช่แค่ขบวนพาเหรดธงสีรุ้ง ความสนุกสนาน แต่งตัวเฉิดฉาย แล้วก็จากไป เพราะเหล่านั้นเป็นเพียงสีสัน หาใช่สาระสำคัญไม่

แต่สีรุ้งบนธง Pride คือสิ่งบ่งบอกความหมายของความหลากหลาย ความภาคภูมิ และความไม่จำนนต่ออคติเก่าเก็บ ที่ถูกทับซ้อนให้พวกเขาต้องหลบซ่อน เป็นถนนที่คนทุกเพศสามารถเดินร่วมไปด้วยกัน

ขอให้ความหลากหลายจงมีชัย และหัวใจของผู้มีความหลากหลายทางเพศจงผลิบาน…

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ