fbpx

จะดีแค่ไหนถ้ารู้ก่อนว่าอนาคตประเทศไทยจะเป็นอย่างไร

เรื่อง: สันทัด โพธิสา

เคยถามตัวเองกันไหมว่า ในอนาคตข้างหน้าเราจะมีคุณภาพชีวิตอย่างไร เชื่อว่ามีหลายคนอยากที่จะรู้ และอยากได้ตำตอบ เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ในภาวะที่โลกมีเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีการเชื่อมต่อกันได้อย่างเสรี ภาวะการแข่งขันที่รุนแรงทางธุรกิจ เศรษฐกิจที่ยังไม่ความไม่แน่นอน ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จะส่งผลต่ออนาคตประเทศไทยอย่างไร??

วันนี้เรามีหน่วยงานหนึ่งที่เห็นถึงความสำคัญถึงการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นข้อมูลสำคัญในการวางแผนนโยบายสาธารณะ กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ให้กับหน่วยงานรวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้เห็นภาพอนาคตและเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศให้ดำเนินการพัฒนาอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มุ่งสนับสนุนการวิจัยโครงการประเทศไทยในอนาคตเพื่อวิเคราะห์รายละเอียดภาพของประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า ร่วมกับหน่วยงานและสถาบันวิจัยชั้นนำระดับประเทศ 8 หน่วยงาน วิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นแบบแผนทุกมิติ ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล, สถาบันพระปกเกล้า, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ, ราชบัณฑิตยสภา, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, มูลนิธิคลังสมอง วปอ. เพื่อสังคม และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การศึกษาวิเคราะห์ภาพอนาคตมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการวางแผนเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนารวมทั้งการตั้งรับกับสิ่งที่ไม่คาดหวัง เป็นที่มาของการศึกษาวิจัยเพื่อทำฉากทัศน์และภาพของประเทศไทยโดยกำหนดทุกช่วง 5 ปี ในอีก 20 ปีข้างหน้า มุ่งเน้นใน 10 มิติสำคัญ คือ

1. ประชากรและโครงสร้างสังคม
2. สังคม ชนบท ท้องถิ่น
3. การศึกษา
4. สิ่งแวดล้อมและพลังงาน
5. เศรษฐกิจ ผู้ประกอบการและอุตสาหกรรม
6. เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก เกษตรกรรมและการบริการ
7. วัฒนธรรมและภาษาไทย (อัตลักษณ์ความเป็นไทย)
8. การเมือง
9. บริบทโลก ปัจจัยคุกคามและความมั่นคงของประเทศ
10. คนและความเป็นเมือง โดยมิติต่างๆ จะมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

การพยากรณ์หรือคาดการณ์สถานการณ์เรื่องสำคัญที่จะเกิดขึ้น หากทราบว่าประชากรไทยในช่วงเวลา 5 ปี 10 ปี 15 ปี และ 20 ปี จะมีจำนวนเท่าไร มีผู้จะเข้าสู่วัยทำงานจำนวนเท่าไร จบการศึกษาด้านไหน ภาคการศึกษา/เอกชน สามารถคิดกลยุทธ์ในการดำเนินการกิจกรรมได้สอดรับกับสถานการณ์ การเตรียมตั้งรับของภาคอุตสาหกรรมจะสามารถนำไปวางแผนเพื่อใช้ประโยชน์ หรือแม้กระทั่งการวิเคราะห์สังคม สภาพสังคม จากข้อมูลการแต่งงาน การเลือกประเภทที่อยู่อาศัย การย้ายถิ่นฐาน การผลิตสินค้าสู่กลุ่มผู้บริโภค แนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภค เป็นต้น

การคาดการณ์อนาคตเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย เนื่องจากมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากมายทั้งภายในและภายนอก ผลลัพธ์และความแม่นยำเป็นสิ่งที่ท้าทาย ทีมวิจัยซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานวิจัยหลักของประเทศจาก 8 หน่วยงานจึงผนึกกำลังกัน อีกทั้งจะยังมีส่วนในการส่งเสริมการสร้างฐานความรู้ให้กับหลายภาคส่วนในการนำผลงานวิจัยชิ้นนี้ที่ร่วมกันทำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป เป็นข้อมูลที่ภาคประชาชน เอกชน ภาครัฐ จะสามารถเข้าถึงและนำไปใช้ต่อยอดกิจกรรมต่างๆ ต่อไปได้ ​’ประชากรและโครงสร้างสังคม’ กับ ‘คนและความเป็นเมือง เป็น 2 เรื่องสำคัญที่มีปัจจัยเกี่ยวข้องกับทุกมิติในอนาคต

‘ประชากรและโครงสร้างสังคม’

ปี 2523 ประเทศไทยมี 8.6 ล้านครัวเรือน สมาชิกในครอบครัวเฉลี่ย 5 คนต่อครัวเรือน
ปี 2562 ประเทศไทยมี 26.7 ล้านครัวเรือน สมาชิกในครอบครัวเฉลี่ย 2.5 คนต่อครัวเรือน

ในอีก 20 ปีข้างหน้า

 จะมีเด็กไทยกี่คนที่เติบโตมาในครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว? ทั้งแบบที่เป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยว และแม่เลี้ยงเดี่ยวครอบครัวข้ามรุ่น ซึ่งหมายถึงการเติบโตขึ้นมาด้วยการเลี้ยงดูของปู่ย่าตายาย ในขณะที่พ่อแม่อยู่ห่างไกล ไม่ว่าจะด้วยความจำเป็นด้านการทำมาหากิน หรือการหย่าร้าง ไม่ว่าจะเป็นในเขตเมือง หรือในเขตชนบท

(เกิดขึ้นแล้วในเยอรมนีเรียกว่า Schlüsselkind หรือเด็กที่ต้องมีกุญแจบ้านคล้องคอไว้เพื่อเข้าบ้านเอง และในประเทศจีนที่เรียกว่า Liúshǒu értóng เด็กเฝ้าบ้านกับปู่ย่าตายาย)

 แนวโน้มของเด็กที่ไม่ได้อยู่กันพร้อมหน้าพ่อ แม่ ลูก ในอนาคตจะเป็นอย่างไร

 สามีภรรยาวัยแรงงานของไทยกระจายตัวอยู่ที่ไหนบ้างในแผนที่ประเทศไทย อยู่ในเขตเมือง และเขตชนบทเท่าใด และจะมีคู่สมรสจำนวนเท่าใดที่มีความสัมพันธ์แบบที่ต้องอยู่คนละที่ (Living apart but together: LAT) ซึ่งมีความสำคัญต่อความยั่งยืนในความสัมพันธ์ และความพร้อมในการมีลูก การสร้างครอบครัว และการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตและงาน

(ในสังคมญี่ปุ่นมีเกิดขึ้นแล้วเรียกว่า Hikikomori อาการปฏิเสธการมีความสัมพันธ์ และสังคม)

 ประชากรวัยทำงานสร้างฐานะที่ไม่มีคู่สมรสทั้งโดยสมัครใจ และโดยโชคชะตา

จะมีผู้สูงอายุเท่าใดที่ไม่ได้อยู่กับลูกหลาน แต่ต้องอยู่กับคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่ญาติ เช่น คนรับจ้างดูแล ซึ่งแสดงเทรนด์ใหม่ของการอยู่อาศัยสังคมไทย 4.0 และจะมีผู้สูงอายุจำนวนมากน้อยแค่ไหนที่ได้อยู่อาศัยอบอุ่นแบบครอบครัวขยาย มีลูกและหลานคอยดูแล และมีอีกเท่าใดที่ต้องอยู่คนเดียว หรืออยู่ลำพังกับผู้สูงอายุด้วยกัน ในเขตเมือง ในเขตชนบท ที่มีโอกาสต้องเสียชีวิตอย่างเดี่ยวดาย (เกิดขึ้นแล้วในประเทศญี่ปุ่น เรียกว่า Kodokushi การตายอย่างโดดเดี่ยว) การพึ่งพาความก้าวหน้าเทคโนโลยี (Technological advancement) และทุนทางสังคม (Social capital) อื่นๆ เป็นตัวช่วยเสริม ในภาวะที่โครงสร้างครอบครัวจะพลิกผันไปมากกว่านี้

งานวิจัย ประเทศไทยในอนาคต ในมิติประชากรและโครงสร้างสังคม ตั้งเป้าที่จะคลี่ภาพรูปแบบการอยู่อาศัย-โครงสร้างครอบครัวไทย ต่อเนื่องจากข้อมูลการคาดประมาณประชากร พร้อมกับประเด็นที่จะสร้างความตระหนักให้สังคมไทยต้องเตรียมการเพื่อช่วยให้ครอบครัวไทยเป็นรากฐานในการผลิตและบ่มเพาะประชากรแห่งอนาคต สังคมหลากเจเนอเรชัน และพหุวัฒนธรรม การดูแล พึ่งพาอาศัยกัน ของคนทุกช่วงวัย เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางจิตใจของคนในสังคม เพื่อดูว่าความอยู่ดีมีสุขของคนไทยในอนาคต พร้อมที่จะรับมือกับ “ภาพฝัน” ของไทยในอีก 20 ปี ข้างหน้าหรือไม่ เพราะขณะนี้เราได้มองเห็นร่องรอยในสังคมไทยที่จะเกิดขึ้น ในอีก 20 ปีข้างหน้า ปรากฏการณ์เหล่านี้จะมากขึ้นหรือน้อยลงเราจะหาคำตอบมาให้เร็วๆนี้

คนและความเป็นเมือง

​’คนไทย 4.0′ ในอีก 20 ปีข้างหน้าจะเป็นคนเมืองตั้งแต่ครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน แม้กระทั่งคนที่ไม่ได้ตั้งถิ่นฐานในพื้นที่เมืองก็จะมีวิถีชีวิตแบบเมือง ทั้งในด้านการเกิด การอยู่อาศัย การทำงาน การเดินทาง การบริโภคสินค้าและการบริการ การติดต่อสื่อสาร การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และการตาย 

​ด้วยปรากฏการณ์ความเป็นเมืองและปัญหาการดำรงชีวิตในเมืองนับวันยิ่งมีขอบเขตที่กว้างขึ้น ซับซ้อนมากขึ้น และเปลี่ยนแปลงเร็วมากขึ้นกว่าเดิม การทำความเข้าใจในปรากฏการณ์และการกำหนดนโยบายสาธารณะที่เหมาะสม จึงต้องปรับกรอบแนวคิดและวิธีการตามไปด้วย

จากการกวาดสัญญาณ หรือการหาข้อมูลแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคตพบว่า มีสิ่งที่ขัดแย้งกันเอง และเป็นสิ่งที่ต้องคำนึง ในการมองทางเลือกของภาพอนาคต

1. คนอยู่อาศัยอยู่ในเมืองมากขึ้น ในขณะเดียวกัน เมืองเล็กถดถอยลง
2. คนอาศัยในแนวตั้งมากขึ้น ในขณะเดียวกัน พื้นที่เมืองก็ยังขยายออกไป
3. สัดส่วนผู้สูงอายุมากขึ้น ในขณะเดียวกัน คนอยู่คอนโดคนเดียวมากขึ้น
4. โครงข่ายรถไฟฟ้าขยายไปมาก ในขณะเดียวกัน จำนวนรถยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
5. คนทำงานตลอดเวลาและทุกที่ ในขณะเดียวกัน คนท่องเที่ยวมากขึ้น
6. ทางเลือกของปัจเจกมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ความเหนียวแน่นทางสังคมน้อยลง
7. คนเชื่อมต่อกันง่ายขึ้น ในขณะเดียวกัน ความเหงาเพิ่มมากขึ้น

โครงการวิจัย ‘คนเมือง 4.0’ จึงทดลองและประยุกต์ใช้แนวคิดและวิธีการด้านอนาคตศึกษาในการฉายภาพอนาคตทางเลือกของคนเมืองในประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า และค้นหาทางเลือกเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับอนาคตที่ไม่แน่นอน และเสนอแนวทางการพัฒนาเมืองที่นำไปสู่ภาพอนาคตที่พึงประสงค์ต่อไป

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ