fbpx

รีวิว Klipsch : All Reference Series III 2018

Paul Klipsch ผู้ก่อตั้ง บริษัท Klipsch Speaker เมื่อราวปี พ.ศ. 2488 ว่ากันว่าเขาเป็นคนที่มีบุคลิกเฉพาะตัว

Paul Klipsch ผู้ก่อตั้ง บริษัท Klipsch Speaker เมื่อราวปี พ.ศ. 2488 ว่ากันว่าเขาเป็นคนที่มีบุคลิกเฉพาะตัว ถ้าสิ่งที่เขาต้องการ และคิดว่า ‘ใช่’ ในความคิดของเขา อะไรก็คงหยุดเขาไม่ได้

ตัวอย่างเช่น เขาสวมนาฬิกาข้อมือสามเรือนพร้อม ๆ กันเมื่อเดินทางออกไปนอกเมือง เพื่อที่ว่าเรือนหนึ่งบอกเวลาท้องถิ่น เรือนหนึ่งเวลาที่บ้านของเขา และอีกเรือนเอาไว้ดูเวลามาตรฐานของกรีนนิช ใครที่เห็นข้อมือของเขาคงต้องตั้งคำถามว่า พี่จะบ้าแล้วเหรอใส่นาฬิกาทีละ 3 เรือน แต่ถ้าได้คุยกับเขาก็อาจจะลดดีกรีความสงสัยลงได้

ลำโพง Klipsch ก็มีความแปลกประหลาดเช่นกัน จากผลิตภัณฑ์แรกของบริษัท Klipschorn บริษัทได้ให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพการทำงานของลำโพงที่ให้เอาต์พุตสูง ๆ โดยต้องทำให้มีการบิดเบือนต่ำ และให้ได้ช่วงไดนามิกของเสียงที่ออกมากว้างให้มาก ๆ ที่สุดเท่าที่จะทำได้

ทำให้เขาหันไปพัฒนาลำโพงฮอร์นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และแม้ว่าปัจจุบันนี้เทคโนโลยีการผลิตลำโพงทำให้มีลำโพงรุ่นอื่น ๆ อุบัติออกมามากมายก็ตามที Klipschorn AK5 ยังคงอยู่ในเส้นทางของ Audiophile ที่ราคาคู่ละ 2 แสนกว่าบาทต่อคู่ แม้ว่าจะมีการอัปเดตมาตลอด 70 กว่าปี

Klipsch ได้เริ่มต้นสายพันธุ์ลำโพง Reference Series ในช่วงเดียวกับตอนที่เปลี่ยนที่ตั้งของโรงงานมาอยู่ที่เมืองอินเดียนาโปลิส ในช่วงที่โลกเปลี่ยนเข้าสู่ยุค Y2K พอดี เรียกได้ว่านั่นเป็นช่วงเวลาที่ดีที่ Klipsch ได้เริ่มออก Reference Series เป็นรุ่นแรก ขอเรียกว่าเป็นรุ่นที่ 1 ก็แล้วกัน

ซึ่งถือว่าเป็นการเอาจริงเอาจังกับแนวทางของตัวเอง ทำให้เห็นลำโพงที่มีหน้าตาของเสียงความถี่สูง หรือทวีตเตอร์ทรงปากแตร หรือทรงฮอร์นที่ไม่เหมือนใครท้าชนกับลำโพงไฮเอนด์ทุกยี่ห้อ

ถัดมาอีก 10 ปี Klipsch ได้เปิดตัว Reference Series รุ่นที่ 2 ในปี 2010 เป็นช่วงเดียวกันกับที่ตลาดโฮมเธียเตอร์เริ่มเบ่งบาน เข้าทางกับการทำงาน ของลําโพงทวีตเตอร์ที่ Klipsch เรียกชื่อว่า Tractrix Horn สามารถรองรับ Dynamic Range สูง ๆ ของเสียง Sound Effect ได้อย่างไม่ยี่หระ

จนทำให้หลายคนแนะนำกันปากต่อปากลำโพงของ Klipsch Reference Series II จึงถูกแนะนำไปใช้ในระบบ Home Theater อย่างแพร่หลาย

มาถึงช่วงเวลานี้ (ปี 2018) Klipsch ได้ฤกษ์เปิดตัวแนะนำลำโพง Reference Series รุ่นที่ 3 ในงาน CES2018 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เราจึงได้เห็นหน้าตาของ Reference Series III ที่เปลี่ยนแปลงไปจากรุ่นที่ 2
ในหลาย ๆ มิติ

โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่า Klipsch พยายามสร้าง Klipsch Reference Series III ให้เป็นที่ถูกตาถูกใจของแฟนลำโพง Klipsch ส่วนใหญ่ที่อยู่ในระดับกลาง หรือไม่ก็เริ่มเล่นชุดโฮมเธียเตอร์เป็นชุดแรก เอาใจใส่กับเสียงในช่วงความถี่ต่ำของ Reference Series รุ่นใหม่นี้โดยปรับปรุงจากรุ่นเดิมให้ดีขึ้น หันไปปรับจูนท่อเรโซแนนซ์และเข้าไปดูแลโครงสร้างของตัวตู้ด้านในให้แข็งแรงมากขึ้น

นี่ก็อาจจะสรุปความเป็นมาเป็นไปคร่าว ๆ ของ Klipsch Reference Series ตั้งแต่รุ่นแรกจนถึงรุ่นที่ 3 ซึ่งก็เป็นลำโพงที่แปลกเหมือนกัน ตรงที่ถ้าใครรักเสียงลำโพงของ Klipsch แล้วก็จะรักเลย ส่วนใหญ่แล้วบอกว่ามันเป็นเสียงที่ออกมาจากลำโพงแบบไม่สังเคราะห์หาไม่ได้ง่าย ๆ จากลำโพงอื่นทั่ว ๆ ไป

ส่วนคนที่ไม่ชอบ ก็คงเพราะจากความจัดจ้าน จริงจัง ของลำโพงเสียงแหลมตัวเดียวกันนี่แหละ คือเสียงที่ออกมาจากลำโพงตัวเดียวกัน แต่มีคนที่แปลความหมายเป็นสองฝั่ง สองด้าน อันนี้ถ้าเอามาตั้งเป็นประเด็นก็คงจะเถียงกันไม่จบ ผู้ชายอย่างเรายังชอบผู้หญิงที่มีหน้าตาไม่ได้เหมือนกันไปหมดซะเมื่อไหร่ นับประสาอะไรกับเสียงของลำโพงที่จะชอบแตกต่างกันไม่ได้จริงไหม

Retro Design
ลำโพง 5 ตัวในสายผลิตภัณฑ์โฮมเธียเตอร์ Reference ของ Klipsch รุ่นใหม่ทั้งหมดนี้มีลำโพงความถี่สูงที่เรียกว่า Tractrix horn 90 ํx 90 ํ รุ่นปรับปรุงใหม่ทุกรุ่น ซึ่งเสริมด้วยวูฟเฟอร์แบบเดิมสำหรับความถี่ต่ำ (spun-copper IMG woofer) ส่วนเหตุผลของปากแตรที่ต้องเป็น 90×90 ก็เพื่อบังคับเสียงให้กระจายไปยังพื้นที่ที่คุณนั่งฟังได้มากกว่าการไปสะท้อนจากผนังด้านข้างของห้องแล้วเข้ามาสู่หู

และยังลดปัญหาการสะท้อนเสียงจากพื้น และฝ้าเพดานไปด้วยในตัว สำหรับการทดสอบของผมครั้งนี้ผมได้ลำโพงมา 4 รุ่นในชุดนี้ ได้แก่ RF-610F ลำโพงหลักตั้งพื้นที่มี Driver ขนาด 6 นิ้วครึ่งดอกเดียว

นี่ถือว่าเป็นลำโพงตั้งพื้นในรุ่น Reference Series ของ Klipsch ที่มี Driver ความถี่ต่ำน้อยที่สุดตั้งแต่ Klipsch ปล่อยลำโพง Series นี้ออกมา แต่ก็ไม่ใช่ Driver ที่เล็กที่สุดเพราะว่าก่อนหน้านี้ Klipsch ใช้ไดรเวอร์ขนาด 4.5 นิ้ว 2 ตัวสำหรับรุ่น R-24 F มาแล้ว ซึ่งถ้าเทียบราคาตอนเปิดตัวของมันก็เท่ากับรุ่น 2 ไดรเวอร์ 4.5 นิ้วใน Reference ซีรีส์รุ่นก่อนหน้านี้นี่แหละ แต่รุ่นใหม่นี้หนักกว่ารุ่นเดิมร่วม 5 กิโล!!

เรียกว่าโครงสร้างถ้าเทียบกับรุ่นเดิมแล้วน่าจะแข็งแรงกว่าเยอะ ถือว่ามาแทนที่แทนราคากันแบบว่ามีขบให้ข่มกันเล็กน้อย ส่วนลำโพง Center จะเป็นรุ่น RC-52C เป็นเซ็นเตอร์ที่ใช้วูฟเฟอร์ขนาด 5.25 นิ้ว 2 ตัว ซึ่งก็เทียบได้กับ R-25C รุ่นเดิมตรง ๆ แต่ผมก็อดแปลกใจไม่ได้ว่าทำไมลำโพง Center รุ่นใหม่ตัวนี้ถึงแอบมีลดน้ำหนักตัวให้น้อยกว่า Center รุ่นเดิมถึงเท่าตัว (รุ่นเดิมหนัก 6.73 กิโล)

RC-52C มีน้ำหนักที่ชั่งตามสเปคฯได้ 3.2 กิโลกรัม แต่ใน Reference Series III ของ Klipsch คราวนี้มีลำโพง Center รุ่นใหญ่ขึ้นมาให้เลือกอีกหนึ่งรุ่นที่มีราคาไม่ได้แตกต่างกันมาก ซึ่งก็อาจเป็นการตั้งคำถามว่ามันจะคุ้มกว่าไหมถ้าขยับไปเล่นรุ่นที่ใหญ่กว่า

ส่วนลำโพงเซอร์ราวนด์ในชุดนี้เป็นลำโพงวางหิ้งรุ่น R-41M ตัวเลขจะสลับกับรุ่นเดิมอย่าสับสนแต่ก็คงยังมีตัวอักษร ‘M’ ต่อท้ายแสดงว่ามันยังคงลักษณะของความเป็นมอนิเตอร์อยู่ น้ำหนักก็เท่ากับรุ่นเดิมเป๊ะ ด้วยราคาเปิดตัวที่เพิ่มขึ้นนิดหนึ่งประมาณหนึ่งพัน ความแตกต่างที่แฝงไว้ข้างในก็คือความถี่จุดตัดของ Crossover ต่ำลงกว่ารุ่นเดิมประมาณ 520Hz (R-14M มีจุดตัดอยู่ที่ 2,250Hz/R-41M มีจุดตัดอยู่ที่ 1,730Hz) โดยทั้งคู่ใช้วูฟเฟอร์ขนาด 4 นิ้วเหมือนกัน

โดยในรุ่นใหม่นี้มีตำแหน่งจุดยึดของ วูฟเฟอร์ถอยลึกลงไปนอกจากเรื่องความแน่นหนาในการยึดวูฟเฟอร์กับแผงหน้าลำโพงที่เพิ่มขึ้นแล้วผมยังคิดว่ามันน่าจะเกี่ยวกับเรื่องของเสียงความถี่ต่ำกับเสียงแหลมที่ย้ายจุดกำเนิดเสียงไปให้ใกล้เคียงกัน รอยต่อเสียงของไดรเวอร์ทั้ง 2 ตัวน่าจะดีขึ้นด้วย

ที่เสริมเข้ามาก็คือลำโพงตัวเล็ก ๆ ในชุด Reference Theater Pack อีกคู่หนึ่งนำมาใช้เป็นลำโพงแก้ขัดไปก่อนสำหรับแชนเนล Dolby Atmos ซึ่งใน Reference Series III นั้นก็มีอยู่ แต่เข้าใจว่าของเข้ามาไม่ทันเลยใช้ลำโพงตัวเล็กของชุดและ Reference Theater Pack ขัดตาทัพไปก่อน

ทั้งหมดทุกตัวมาในรูปแบบของ Single Wire คือขั้วต่อลำโพงคู่เดียว ซึ่งบางคนก็คงคิดว่าเพื่อเป็นการลดต้นทุนแต่ผมว่ามันง่ายดีกับการออกแบบครอสโอเวอร์ และการใช้งาน จุดเปลี่ยนที่ชัดเจนสำหรับ Reference เวอร์ชั่นใหม่ล่าสุดตัวนี้ก็คือท่อเรโซแนนซ์ที่ออกแบบทรงของท่อเป็นแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้าให้คล้ายกับ Reference Premier Series รุ่นพี่ที่แพงกว่า

นอกนั้นก็คงเป็นเรื่องของการออกแบบตะแกรงผ้าด้านหน้าที่เวลาดูดปิดด้วยแม่เหล็กเข้าไปแล้วมันนูนออกมาเป็นลำโพงออกแนวย้อนยุค อันนี้ผมไม่ขอออกความเห็นนะครับว่ามันสวยกว่ารุ่นเดิมไหมคงแล้วแต่คนชอบ

อีกเรื่องหนึ่งที่หลายคนคงต้องชอบแน่ ๆ คือลำโพง Reference Series III รุ่นนี้จะตกแต่งด้วยไวนิลลายไม้ที่มีผิวสัมผัสเหมือนไม้แท้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์คือถ้าเอามือลูบลงไปคุณจะรู้สึกถึงผิวสัมผัสที่มีความรู้สึกเหมือนลูบลงไปบนผิวไม้แท้ ๆ ได้ฟิลลิ่งความรู้สึกที่ดีมาก ๆ เช็ดได้ทำความสะอาดง่าย

แต่มันมีแค่สีดำสีเดียวซึ่งก็อาจจะเป็นเพราะว่าแผงไม้ด้านหน้าที่เอาไว้ยึดลำโพงเป็นแผงไม้อีกชิ้นที่เป็นสีเทาน่าจะเข้าคู่กับสีดำ จึงเป็นสีที่เข้ากับแผงหน้าตัวนี้ได้ดีที่สุด การออกแบบหน้าตาของ Klipsch Reference Series III นี้เลยออกไปละม้ายคล้ายคลึงกับกลุ่มลำโพง Heritage Series รุ่นดั้งเดิมของเขาเอง

ซึ่งเหมือนจะบ่งบอกว่า 70 กว่าปีของลำโพงยี่ห้อหนึ่งที่อยู่ยงคงกระพันมาถึงปัจจุบันนี้ไม่ใช่ใคร ๆ จะทำได้ง่าย ๆ การเปลี่ยนยุคสมัยจากอะนาล็อกเป็นดิจิทัลก็ไม่ทำให้คุณค่าของเสียงเพลงจากลำโพงของ Klipsch จางหายไปแม้แต่น้อยอะไรทำนองนั้น

เหลืออีก Channel หนึ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือลำโพง Subwoofer สำหรับ Reference Series ในรุ่นที่ 3 นี้ ถึงแม้ว่า Klipsch จะมีลำโพงซับวูฟเฟอร์ให้เลือกมากมายหลายขนาด หลายไซซ์ของห้อง Klipsch ก็ยังไม่หยุด ที่จะออกแบบลำโพงความถี่ต่ำสำหรับแชนเนล LFE ขึ้นมาใหม่ ทำราคาให้เหมาะสมกับ System ในชุด Reference Series ซึ่ง Klipsch ก็ออกแบบมา 2 รุ่น คือรุ่นที่ใช้ไดรเวอร์ 10 นิ้ว กับรุ่นที่ใช้ไดรเวอร์ 12 นิ้ว ที่เราได้มาคือ R-100SW ถ้าดูจากสเปคฯตัวเลขก็ไม่ต่างอะไรกับ R-10SW เลย

แต่ในใจผมก็แอบคิดว่าอยากให้ Klipsch แก้ไขบางอย่างของ R-10SW ให้ดีขึ้นอีกนิดก็พอแล้ว ซึ่งถ้ามันเป็นไปตามที่ผมคิดก็เป็นไปได้ว่า Klipsch ตั้งใจจะกวาดหมดสำหรับลำโพงซับวูฟเฟอร์ตั้งแต่ระดับราคาหมื่นกลาง ๆ ไปจนถึงหลักแสน

Setup
ผมจับคู่ลำโพง Klipsch Reference Series III ทั้งหมดกับ AV Receiver ของ NAD รุ่น T777 V3 ที่มี Dirac Live! เป็น Version ที่ติดมากับ AV Receiver เพื่อจัดการความถี่ต่ำตั้งแต่ 500Hz ลงมาในทุก ๆ แชนเนล ทำให้ความถี่ต่ำที่ออกมาจากลำโพงมีการชดเชยจากสภาพอะคูสติกของห้องที่ทำให้เสียงเบี่ยงเบนไป

เกือบทุกแชนเนลผมตั้งลำโพงไว้เป็น Small ทั้งหมดตัดความถี่ที่ 80Hz ทุกตัวยกเว้นลำโพง Reference Theater Pack ที่เอามาทำเป็นลำโพง Dolby Atmos ตัดเป็น 110Hz ไปลงที่ R-100SW ซึ่งเป็นซับวูฟเฟอร์ตัวเดียวที่เราใช้ในการทดสอบ

ผมเลือกเซตเป็นแบบ 5.1.2 โดยระบุค่าการเซตอัปของลำโพงใน T777 ว่าเป็น Dolby Atmos Enabled เป็นทางเลือกสำหรับคนที่ต้องการเซตระบบเสียงแบบ 3D สำหรับ AV Receiver สมัยนี้ เป็นที่ตั้งข้อสังเกตว่า Klipsch Reference Series III ในปี 2018 นี้ การตอบสนองความถี่สูงของลําโพงทวีตเตอร์ลดลงเหลือ 21KHz (ตัวเดิมตอบสนองที่ 24KHz)

ผมยังไม่มีโอกาสทราบเหตุผลและหลักการของ Klipsch ในการใช้ลำโพงทวีตเตอร์ตัวนี้ และพร้อมกับกระแสระบบเสียงใหม่ ๆ ที่ต้องการเสียงแบบ Direct Sound พร้อมกับจำนวนลำโพงที่เพิ่มขึ้น Klipsch Reference Series รุ่นใหม่นี้จึงตัดลำโพง Bi-Polar ออกไป โดยมีลำโพง R-41SA เป็นลักษณะของลำโพงให้เลือกใช้แทนลำโพง Ceiling ที่ต้องมีการติดตั้งบนเพดาน แต่ด้วยราคาของมันอาจจะทำให้ผู้ใช้ต้องคิดหนักสักหน่อยเท่านั้น

มีคนอาจจะสงสัยว่าการทดสอบมันจะเหมาะกับ AV Receiver ที่ราคาแพงกว่ามันเป็น 10 เท่าหรือเปล่า จริง ๆ ผมอยากจะพูดเรื่องนี้นานแล้วนะ ลำโพงประเภท Passive เกิดขึ้นมาจนถึงปัจจุบันนี้ก็นับเป็นร้อย ๆ ปีแล้ว มันต้องถูกพัฒนาเรื่อย ๆ ผมว่าดีขึ้นกว่าก่อนมาก ลำโพงในราคานี้สมควรที่จะถูกขับออกมาด้วยประสิทธิภาพของเครื่องเสียงที่คู่ควรกับตัวมัน จริง ๆ ก็มี AV Receiver หลาย ๆ ตัวที่อยากจะเอามาลองทดสอบดู แต่ถ้าทำแบบนั้นก็คงต้องหาลำโพงชุดนี้เอาไว้ในห้องฟังที่บ้านเพื่อฟังเองแล้วล่ะมั้ง

แต่หนึ่งในนั้นที่เอาหูเป็นประกันได้เลยว่ามันทำให้ Reference ชุดนี้ปล่อยของออกมาหมด นั่นก็คือ AV Receiver ที่เรียกว่า Theater Series เวอร์ชั่นที่ 3 ของ NAD นี่แหละ แล้วที่ผมเลือกตัวนี้ก็เพราะว่ามันมี Dirac Live! ที่นอกจากจะทำการคาริเบตเสียงแล้วยังแก้ไขปัญหาเรื่องรูมโหมดของห้องเพื่อทำให้ประสิทธิภาพเสียงออกมาได้อย่างเต็มที่ คือถ้าประสิทธิภาพของลำโพงไม่ดีมันก็ฟ้องจนฟังไม่ได้นั่นแหละ

Sit & Listen
มันหนีไม่พ้นสองทางเลือกที่เกี่ยวกับลำโพงรุ่นนี้ จนคุณอาจจะรัก หรือดูว่าหน้าตามันแปลกประหลาดกับลำโพงตัวนี้อย่างที่ผมเคยคุยกับหลายคนมาแล้ว

ความสมดุลของโทนเสียงทำให้เสียงของมันเหมือนมาอยู่ตรงหน้า ตามคู่มือบอกให้โทอินได้เล็กน้อย แต่สำหรับผมคิดว่าไม่ต้องโทอินใด ๆ ทั้งสิ้น แค่นี้มันก็มีชีวิตชีวามากกว่าลำโพงตัวอื่น ๆ ที่เคยสดับรับฟังมาแล้วล่ะ (ถ้านั่นคือสิ่งที่คุณค้นหาอยู่) Klipsch Reference Series III

มันจะทำให้หัวใจคุณเต้นระริกระรี้ เมื่อคุณชอบความคมชัด และความสำคัญของมิดเดิลเบสตอนบน และเสียงแหลมที่ออกไปในแนวแทงใจตรง ๆ ไม่พลิ้วไหวลากยาวแบบสุดติ่ง ไม่ต้องมานั่งสร้างสีสันอะไรให้เกินจริง นี่แหละคือสิ่งที่ถกเถียงกันมาตลอดว่า ถ้าเสียงแหลมแบบนี้มัน ‘ใช่’ แล้วเราจะรับมันได้ไหม

แผ่นคอนเสิร์ตแผ่นโปรดอย่าง Eagles Farewell I Live from Melbourne ที่ฟังมาไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ พอมาเล่นกับชุดนี้ผมว่าเสียงกลองของ Don Henley ในเพลง One of These Nights กับชุดนี้มันทรงพลังที่สุด

ผมเชื่อแล้วว่าลำโพงแบรนด์นี้มันต้องการแอมป์ที่รีดพลังมันออกมาได้อย่างไร้ความปรานี สิ่งที่มันจะตอบแทนกลับมาก็คือความหนักหน่วงรุนแรง ให้คุณไปถึงจุดสูงสุดของดนตรีโดยที่ไม่มีคำว่า ‘ออกมามั่ว ๆ’
เป็นอันขาด ความเป็นเซอร์ราวนด์ของชุดนี้จึงเน้นหนักไปที่รสชาติของดนตรีที่ซึมซับได้ทันที ไม่ต้องมานั่งอารัมภบทกันให้เยิ่นเย้อ

RF-610F ผสมผสานธรรมชาติของทวีตเตอร์ของมัน และวูฟเฟอร์ขนาดกำลังดี ช่วงความถี่ที่ครอบคลุมโดยทวีตเตอร์จะมีปลายแหลมขึ้นมาตามสไตล์ของ Klipsch แต่มันก็ Roll-Off เร็วแบบที่เรายังไม่มีเวลาชื่นชมมันสักเท่าไหร่ และหลังจากนั้นผมรู้สึกว่าเหมือนระบบประสาทหูฟังของผมคล้ายจะอิ่มตัว มันเหมือนอยู่ในช่วงที่งดงามของการแสดงดนตรีคอนเสิร์ต

พอนั่งฟังมันนาน ๆ เหมือนเราจะเก็บเกี่ยวความละเอียดของมันมากขึ้น ทั้งทวีตเตอร์ และวูฟเฟอร์ทุกตัวมีความรวดเร็ว และแม่นยำสมคำร่ำลือ

Klipsch หาวิธีทำให้ปริมาณและความเร็วของเสียงความถี่ต่ำ ชดเชยกับประสิทธิภาพของลำโพงฮอร์นมานานกว่า 70 ปี ก็มาหยุดที่วัสดุที่เรียกว่า SPUN COPPER CERAMETALLIC WOOFERS™ เป็นกึ่งกรวยโลหะที่มีความแข็งแรง แต่ก็มีน้ำหนักเบาด้วยโครงสร้างที่เป็นเซรามิก

ซึ่งเมื่อจับคู่กับลำโพงฮอร์นของเขาเอง มันอาจจะมีเพียงไดรเวอร์ตัวนี้เท่านั้นที่ทำได้แบบนี้ การรวมกันของความเร็ว และการเน้นช่วงเสียงกลางตอนบนทำให้ได้ความมหัศจรรย์สำหรับความละเอียดของรายละเอียดเสียง โดยเฉพาะเสียงจากลำโพง Center ของชุดนี้ RC-52C มันเป็นลำโพงเซ็นเตอร์ที่ฟังได้สบายกว่าลำโพงเซ็นเตอร์ของ Klipsch ที่ผ่าน ๆ มา กลับกลายเป็นเสียงไม่ขึ้นไปออกที่ทวีตเตอร์มากไป

R-52C ดูจากหน้าตาไม่ได้แตกต่างจากรุ่นเดิมมาก แต่น้ำหนักหายไปเกือบครึ่งเลย

บางช่วงที่มีเสียง Soundtrack จากลำโพงคู่หน้าเบา ๆ อยู่ด้านหลังเป็นแบ็กกราวนด์ถือว่าทำได้ดีมากทีเดียว แยกออกมาเป็นชั้นใครชั้นมัน

จากเรื่อง Terminator Genisys ฉากบู๊ตอนท้ายที่นางเอกขับรถบัสออกมาจากคลังอาวุธ ช่วงนี้ทำให้รู้ว่าลำโพง Reference Theater Pack ที่เอามาทำเป็นลำโพง Dolby Atmos แก้ขัดของเรายังไม่ค่อยเวิร์กเท่าไหร่ ในฉากนี้เจ้าหุ่นยนต์ T1000 ที่ต้องปีนขึ้นไปบนหลังคารถบัสเคยได้ยินเสียงที่ชัดเจนกว่านี้ และบางครั้งผมก็รู้สึกว่า RF-610F มันฉายแววความเป็นนักบู๊โดยไม่ต้องพึ่งพา LFE กันเลย หรือไม่มันก็ทำงานประสานกับ LFE ได้ยังเข้ากันเป็นปี่เป็นขลุ่ย

อย่างเสียงปืนลูกซองที่กระแทกลำโพงออกมาแต่ละครั้ง ผมไม่รู้สึกถึงความพร่า เบลอ ออกมาแบบเน้น ๆ เนื้อ ๆ กระชับ เสียงความถี่ต่ำที่ตามมาอาจจะไม่ก้อนใหญ่เท่าซับวูฟเฟอร์ 15 นิ้ว แต่รับรองว่ามันทำให้คุณต้องทึ่งกับ เสียง LFE ของซับวูฟเฟอร์ตัวนี้แน่ ๆ สำหรับคนที่มีห้องไม่ใหญ่มากประมาณไม่เกิน 5×4 ม. เชื่อว่าซับฯ ตัวนี้เอาอยู่ได้นะ

ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับซอฟต์แวร์การจัดการความถี่ต่ำของ AV Receiver แต่ละตัวด้วยนะครับว่าจะเก่งกาจขนาดไหน ถ้าลองให้ R-100SW ออกแรงอยู่คนเดียวก็คงต้องหาตำแหน่งวางซับฯ ตัวนี้กันหัวหมุนเลย ก่อนหน้าที่รู้ว่าจะได้ซับ 10 นิ้วเข้ามาในห้องทดสอบของเราผมเองยังหวั่น ๆ ว่ามันจะตอบสนองความบ้าระห่ำของผมได้ขนาดไหน

ต้องบอกว่ามันสอบผ่านแบบไม่ต้องลุ้น ขนาดตำแหน่งดีที่สุดของมันในห้องนี้วางอยู่ใกล้ ๆ จุดนั่งฟังผมยังไม่รู้สึกถึงเสียงความถี่ต่ำที่มันสร้างขึ้นมาเลยแม้แต่น้อย สำหรับผมแล้ว R-100SW ถือเป็นไฮไลต์ของ Klipsch Reference Series III ชุดนี้เลยทีเดียว

ขณะเดียวกันเราก็จับได้ถึงความรู้สึกของช่องว่างตัวโน้ตที่ทำให้คุณรู้สึกถึงเสียงแต่ละเสียงที่ออกมาได้อย่างไม่เบลอเหมือนกับลำโพงอื่นที่โดนเสียงสะท้อนจากห้องกันเข้ามากวน ไม่แปลกที่ทำให้เราจับการเคลื่อนที่ของเสียงที่เป็นทิศทางทำได้ดี อย่างฉากแรกในหนังเรื่อง Unbroken ลูกกระสุนกราดยิงเข้ามาในห้องเครื่องจากด้านหน้าไล่ไปทางด้านหลังเฉี่ยวผ่านหน้าไป มันดีแล้วนะ แต่ผมก็แอบคาดหวังว่ามันน่าจะทำได้ดีกว่านี้ถ้ามีเวลาอยู่กับมันได้มากกว่านี้อีกสักนิด

ผมเล่นบทโหดโดยใช้หนังบลูเรย์เรื่อง San Andreas คือถ้าผ่านเรื่องนี้ไปได้ หนัง Hollywood ทุกเรื่องก็ ‘ผ่าน’ เริ่มต้นในฉากแรกอาจจะเน้นเรื่องเสียงที่อยู่บนศีรษะเป็นหลัก ตรงนี้ถึงแม้ว่าในชุดนี้เราไม่ได้มีลำโพงที่อยู่เหนือหัวจริง ๆ แค่เอาลำโพงตัวเล็ก ๆ ไปวางไว้บนหิ้งด้านหน้าหลอกแอมป์ว่าเป็นลำโพง Dolby Atmos Enabled แต่ผมก็ยังได้ยินเสียงใบพัดของเฮลิคอปเตอร์ที่แหวกอากาศอยู่มุมทั้งซ้ายขวาของห้องดีกว่า Terminator เรื่องแรก

ในฉากนี้ที่ลุ้นอยู่ว่าพระเอกของเราจะทำภารกิจสำเร็จหรือไม่ ก็ไม่ชัดเท่าไหร่แต่ก็เท่านี้ถือว่าเยี่ยมแล้วสำหรับทรัพยากรที่เรามีแค่นี้ และเป็นอีกครั้งที่ต้องยกนิ้วให้ Subwoofer ตัวนี้ มันขาดแต่เพียงอย่างเดียวก็คือทำให้เก้าอี้เราสั่น ในฉากแผ่นดินไหวของเรื่องนี้ ถ้าเก้าอี้คุณสั่นเมื่อไหร่นั่นแหละถึงจะรู้จริงว่าความถี่ต่ำในหนังเรื่องนี้มันมีพลังงานขนาดไหน แต่ก็อนุโลมได้เพราะว่านี่มันแค่ซับวูฟเฟอร์ขนาด 10 นิ้ว จะคาดหวังให้มันสั่นแบบเอาเป็นเอาตาย ตอนแรกก็คาดว่าไม่มีค้างงอแงออกมาก็ดีแล้ว แต่นี่มีรู้สึกสั่นเล็ก ๆ ด้วยแหละ สุดยอด

Conclusion
ผลลัพธ์สุดท้ายของ Klipsch Reference Series III เนี่ยน่ะเหรอ ทุกอย่างประทับใจมาก แต่ความเป็นธรรมชาติทางด้านเสียงที่ไม่แคร์เรื่อง อะคูสติกแบบสิ้นเชิงเหล่านี้อาจทำให้เสียงที่ออกมาไม่ใช่จะทำให้ทุกคนที่ฟังมันชอบไปซะทั้งหมดโปรแกรม Dirac Live! LE ที่อยู่ใน NAD T777 มันจะจัดการช่วงความถี่ต่ำจนถึง 500Hz ให้ที่เหลือเป็นหน้าที่ของลำโพงทุกตัวที่จะถ่ายทอดเสียงออกมาตามสไตล์ของตัวเอง

แต่สำหรับคนที่ใช้ภาคขยายระดับอึด ๆ อย่างนี้ ก็อาจจะเหมาะกับ 6 นิ้ว 2 ตัวต่อข้างอย่าง R-620F ขึ้นไปก็เป็นได้ ถ้าต้องการให้แอมป์ขับสบายขึ้นโดยไม่ต้องเร่งวอลุ่มมาก มันเป็นลำโพงที่เข้าถึงได้ง่ายถ้ารักก็รักเลย เสียงตรงไปตรงมา โดยเฉพาะความถี่กลางขึ้นไปถึงสูงถือว่าเป็นช่วงความถี่

ที่วัดใจภาคขยายที่เอามาต่อพ่วงด้วยจริง ๆ ถ้ากำลังไม่ถึงก็จะกลายเป็นเจี๊ยวจ๊าวได้ มันจึงอาจจะไม่เหมาะกับ AV Receiver รุ่นเล็ก ๆ สักเท่าไหร่ แต่ถ้าเข้าคู่กับมันได้ละก็ อาจจะเป็นชุดลำโพงโฮมเธียเตอร์ชุดสุดท้าย
ที่คุณตกลงปลงใจใช้ชีวิตร่วมกับมัน ขนาดนั้นเลย

นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท ซาวนด์ รีพับลิค จำกัด
โทร. 0-2448-5489
ราคา RF-610F 24,900 บาท/คู่
          RC-52C 13,900 บาท/ตัว
          R-41M 12,900 บาท/คู่
          R-100SW 13,900 บาท/ตัว

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ