fbpx

ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า : สถาบันเพื่อการศึกษา และพัฒนา ‘ประชาธิปไตย’

ในโลกยุคปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า แนวทาง ‘ประชาธิปไตย’ เป็นรูปแบบการปกครองที่ถูกยอมรับในระดับสากล ในการแก้ไขปัญหา การปกครอง และการสร้างสังคมที่ทั่วถึงกันในบริบทที่หลากหลาย ทั้งเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ และวิถีชีวิตของประชาชน

แต่กระนั้นแล้ว สำหรับประเทศไทย วิวัฒนาการของประชาธิปไตยก็ยังคงมีส่วนที่สามารถปรับปรุง เรียนรู้ และแก้ไข เพื่อให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ที่ถาโถม และรวดเร็วในด้านต่างๆ ไม่นับรวมความขัดแย้งที่กำลังคุกรุ่นอยู่ในขณะนี้ ที่ไม่มีทีท่าว่าจะจบสิ้นลงไปได้ง่ายๆ และ ‘สถาบันพระปกเกล้า’ ก็เป็นอีกหนึ่งหน่วยวิชาการ ที่ยืนหยัดเพื่อทำการศึกษา วิจัย และพัฒนาแนวทางแห่ง ‘ประชาธิปไตย’ ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ อย่างแข็งขันโดยตลอดมา

GM ได้รับเกียรติอย่างสูง จาก ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ที่ได้มาร่วมพูดคุยถึงแนวทางในการบริหารงานสถาบัน รูปแบบการจัดการเรียนการสอน และเป้าประสงค์ที่สถาบันพร้อมจะมุ่งหน้าไป พร้อมบทสัมภาษณ์ ‘ผู้ร่วมเรียนในสถาบัน’ จากหลากหลายสายวิชาชีพ เพื่อไปสู่หนทางแห่ง ‘ประชาธิปไตย’ ที่ตอบสนองต่อยุคสมัยได้อย่างเท่าทัน   

GM:หน้าที่ของอาจารย์ในฐานะเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า

ศาสตราจารย์วุฒิสาร: ในประเด็นนี้ เราอาจจะต้องพูดกันถึงเรื่องของขอบเขตอำนาจหน้าที่ของสถาบัน ซึ่งผมในฐานะเลขาฯ ก็มีหน้าที่ดำเนินนโยบายให้เป็นไปตามแผนและยุทธศาสตร์ของสถาบัน ซึ่งก็คือพัฒนาระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยผ่านเครื่องมือของการศึกษาอบรมให้กับบุคลากร ไม่ว่าจะวงงานรัฐสภา ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน แต่อีกเรื่องที่ต้องดำเนินไปขนานกันและสำคัญไม่แพ้กัน คือการส่งเสริมองค์ความรู้ที่จะพัฒนาได้ทันกับบริบทที่เปลี่ยนไป ที่ครอบคลุมสามส่วนใหญ่คือ หนึ่ง ระบอบประชาธิปไตย สอง การบริหารภาครัฐ ที่มีระบบธรรมาภิบาล สาม ส่งเสริมให้สังคมมีข้อยุติโดยสันติวิธี สมานฉันท์ปรองดองกัน ซึ่งทั้งสามหลัก จะเป็นแกนที่เราใช้สำหรับการศึกษาวิจัยในหมวดต่างๆ

แต่ถ้าแบ่งรูปแบบการเรียนการสอน ก็จะแบ่งออกเป็นห้าหลักสูตรใหญ่ด้วยกัน คือหนึ่ง เรื่องการเมืองการปกครอง (ปปร.) สอง หลักสูตรการบริหารงานภาครัฐและมหาชน สาม หลักสูตรบริหารเศรษฐกิจสาธารณะ สี่ หลักสูตรบริหารท้องถิ่นที่ยั่งยืน โดยศึกษาจากกรณีตัวอย่างจากภาคประชาสังคมและภาคท้องถิ่นเป็นหลัก และสุดท้าย เสริมสร้างสังคมสันติสุข ซึ่งหลักสูตรนี้ เกิดขึ้นจากตอนที่มีปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และต่อเนื่องมาถึงความขัดแย้งทางด้านสังคมอื่นๆ ที่ตามมา ซึ่งจะดูในทุกมิติ ทั้งทรัพยากร วัฒนธรรม การจัดการพื้นที่ ซึ่งหลักสูตรนี้ จะใช้การดูงานลงพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การวิจัย

อีกงานหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คืองานส่งเสริมการวิจัยของรัฐสภา ซึ่งจะช่วยสนับสนุนระบบการทำงานของรัฐสภา ในการออกกฎหมาย รับฟังความคิดเห็นต่างๆ สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งเราทำงานร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฏร และสำนักงานวิชาการรัฐสภา เช่น การออกกฎหมายในบางครั้ง ก็ต้องมีความคิดเห็นเพิ่มเติม หรือการศึกษาวิจัยเพื่อตอบโจทย์หรือคำถามบางอย่าง เราก็พยายามในส่วนนี้

เรื่องถัดมาคือการสร้างและพัฒนาความเป็นพลเมือง ในจุดนี้เราก็พยายามทำในพื้นที่ระดับประชาชนทั่วไป และระดับเยาวชนในโรงเรียน ที่เราตั้งเป้าเอาไว้ว่า ถ้าประชาชนไทยมีสองระดับคือ ระดับตื่นรู้ (Concerned Citizen) ตระหนักรู้ปัญหาสังคมส่วนรวม และสอง ประชาชนที่กระตือรือร้น (Active Citizen) ที่คิดจะเข้าไปแก้ปัญหา เราก็ทำในจุดนี้ผ่านโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตย เช่น การรณรงค์การทำประชามติ การเลือกตั้งที่ยุติธรรม รวมถึงโครงการที่ทำร่วมกับโรงเรียนและตัวแทนโรงเรียน ในการแก้ไขปัญหาสาธารณะของพวกเขา

เรื่องสุดท้าย คือการดูแลพิพิธภัณฑ์พระปกเกล้าที่สะพานผ่านฟ้า และพัฒนาพระปกเกล้าศึกษา ซึ่งเราทำทั้งในส่วนเกียรติประวัติของรัชกาลที่ 7 รวมถึงวิวัฒนาการของระบอบประชาธิปไตย ไปจนถึงกำลังจะเปิดศูนย์เรียนรู้ประชาธิปไตย ที่พูดถึงคุณค่าหลักของระบอบประชาธิปไตย เพราะทุกวันนี้ ถ้าเราทำแค่เพียงเขียนกฎหมาย ร่างโครงสร้าง กำหนดแนวทางพรรคการเมือง ในขณะที่ประชาชนและคนในสังคมยังขาดความเชื่อพื้นฐานก็จะไม่สมบูรณ์ ซึ่งเราก็พยายามจะสนับสนุนและส่งเสริมในจุดนี้ให้มากขึ้น และในส่วนพระปกเกล้าศึกษา ก็จะเรียนรู้และวิจัยบริบทของสังคมของช่วงสมัยรัชกาลที่ 7 ที่แม้ว่าจะเป็นระยะเวลาที่ไม่นานนัก แต่ก็มีความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ

GM:ในบรรดางานวิจัยทั้งหลายของสถาบันพระปกเกล้า ได้เคยมีกรณีที่ถูกนำเอาไปปรับใช้ในภาคการเมืองและสังคมจริงๆ บ้างหรือไม่

ศาสตราจารย์วุฒิสาร: การเอาไปใช้ในที่นี้ ผมมองว่ามันแบ่งออกได้เป็นสองทาง คือหนึ่ง การเอาไปใช้เพื่อ ‘ขยายต่อ’ สำหรับการศึกษาหรือการอ้างอิง (Citation) ในวิทยานิพนธ์หรืองานวิจัยอื่นๆ ซึ่งจุดนี้ผมคิดว่ามีค่อนข้างมาก และถือว่าเป็นตัววัดมาตรฐานของสถาบันในทางหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งคือการนำเอาไป ‘อ้างอิง’ อันหมายถึง การกล่าวถึงบางส่วนจากงานวิจัย ที่ไม่ได้ถูกบันทึกทางวิชาการ ซึ่งในจุดนี้เราก็ทำบันทึกเอาไว้

แต่งานวิจัยที่ถูกนำไปใช้กับประเด็นทางสังคมและการเมืองของทางสถาบัน ก็ถือว่ามีไม่น้อย อย่างตอนปี 2554 งานวิจัยเรื่องวิธีสร้างความปรองดอง ที่ถูกเอาไปใช้และอ้างอิงกันเยอะพอสมควรเลยในช่วงนั้น

GM:มีความต้องการขั้นพื้นฐานที่ทางสถาบันพิจารณาสำหรับผู้ที่จะเข้ามาศึกษาในหลักสูตรบ้างหรือไม่

ศาสตราจารย์วุฒิสาร: มีครับ เนื่องด้วยว่าสถาบันพระปกเกล้าเป็นสถาบันแบบ ‘Non-degree’ คือไม่ได้เป็นหลักสูตรที่ได้รับใบปริญญา ความต้องการพื้นฐานเบื้องต้นก็คือจบปริญญาตรี ซึ่งไม่ต่างอะไรกับหลักสูตรอื่นๆ เช่น วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร เป็นต้น

GM:แต่ชื่อของสถาบันพระปกเกล้านั้นค่อนข้างเป็นที่รู้จักกว้างขวาง และมีคนต้องการเข้ามาศึกษาไม่น้อย อาจารย์คิดว่าด้วยเหตุผลใด

ศาสตราจารย์วุฒิสาร: ผมคิดว่าส่วนหนึ่งมาจากมาตรฐานของเนื้อหาและผู้สอน ต้องยอมรับอย่างหนึ่งคือ คนที่เข้ามาเรียน อย่างน้อยที่สุดคือต้องอยากได้ความรู้เพิ่มเติม และด้วยความที่หลักสูตรของเราไม่ใช่มหาวิทยาลัย เราจึงสามารถเชิญวิทยากรได้จากหลากหลายสายอาชีพ ซึ่งเราสถาบันเราสามารถเชิญคนที่มีความรู้ลึกและรู้จริงในเรื่องหนึ่งๆ มาบรรยายในการสอนได้ นี่ถือเป็นจุดแข็งของสถาบัน และที่สำคัญที่เราปฏิเสธไม่ได้เลยคือ หลายคนที่เข้ามาเรียนในหลักสูตรนี้ เพราะอยากทำความรู้จักกับผู้คนให้มากขึ้น ซึ่งเราก็ทำการปรับหลักสูตรให้มีความหลากหลาย อย่างหลักสูตร ปปร. ก็มีตัวแทนจาก สส. และ สว. รวมถึงตัวแทนจากรัฐวิสาหกิจและระดับผู้บริหารองค์กรเอกชน สื่อมวลชน มูลนิธิ สมาคม รวมกันเป็นองค์ประกอบที่เป็นข้อดีที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน

ซึ่งทั้งหมดนี้ จะสอดคล้องกับแนวทางของสถาบันที่ปฏิบัติกับผู้ที่เข้ามาเรียนในหลักสูตรตรงที่ เรามองทุกคนเป็นบุคลากรที่มีคุณค่า เพราะทุกคนที่เข้ามา ไม่ว่าจะจากระดับใดก็ตาม ไม่ใช่คนที่มาอย่างเปล่าๆ โดยไม่มีอะไรมาก่อน พวกเขามีความรู้ ประสบการณ์ ต้นทุน และศักยภาพมากมาย ซึ่งการพัฒนาหลักสูตรในรอบสี่ถึงห้าปีที่ผ่านมาก็เป็นไปในแนวทางเหล่านี้ เช่น โมเดล Wise Leadership พัฒนาผู้นำ หรือ SECI Model ที่พัฒนารังสรรค์ความรู้ร่วมกัน แชร์ประสบการณ์นอกเหนือจากในห้องเรียน แล้วก็อาจจะเป็นจุดที่เราไม่เหมือนที่อื่น หรืออย่างในหลักสูตร ปปร. เราได้เพิ่มเงื่อนไขว่า ถ้าจะงานวิจัย หรือศึกษาเรื่องใดก็ตาม จะต้องก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยเรากำหนดแนวทางเอาไว้คร่าวๆ ล่วงหน้า อย่างช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เรากำหนดเอาไว้ว่าเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ

GM:ในหลักสูตรของสถาบันพระปกเกล้า มีนักการเมืองที่ ‘น่าจะ’ เข้าใจการเมืองเข้ามาเรียนอยู่ไม่น้อย

ศาสตราจารย์วุฒิสาร: เอาเข้าจริงๆ ถ้านับสัดส่วนกันแล้ว ก็ไม่ถือว่าเยอะนะครับ สส. 12 คน สว. 18 คน รวมทั้งหมด 40 คน แน่นอนว่าไม่ใช่จำนวนที่มากนัก แต่เรามองในแง่ของความได้สัดส่วน คือมีภาคส่วนต่างๆ ให้หลากหลาย ทั้งเอกชน ข้าราชการ ภาคสังคม แต่ในเรื่องความรู้ทางการเมืองนั้น สิ่งที่จะถูกสร้างขึ้นมาใหม่ อย่างที่กล่าวไป มันไม่ได้เกิดขึ้นจากการเรียนในห้องแต่เพียงอย่างเดียว แต่การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อให้เกิดความแตกฉานในแนวทางประชาธิปไตยจึงเป็นเรื่องสำคัญ แน่นอนว่าต่อให้เป็นนักการเมือง ก็อาจจะไม่ได้รู้ไปเสียทุกเรื่อง แต่ความรู้ที่เกิดบนพื้นฐานของการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แบ่งปันซึ่งกันและกัน มันจะแสดงข้อดีของประชาธิปไตยคือการได้ความคิดเห็นต่างจากคนที่อยู่นอกวงการ ซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างสรรค์และความเข้าใจใหม่ๆ อย่างเช่น การที่ต่างฝ่ายต่างได้รับรู้ถึงแนวทาง และข้อจำกัด เป็นพื้นที่ที่ก่อให้เกิดความเข้าใจ แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และสร้างความรู้ใหม่ร่วมกัน

GM:บทบาทของสถาบันพระปกเกล้ากับบทบาทในการแก้ไขความขัดแย้งในสังคมในเชิงปฏิบัติ

ศาสตราจารย์วุฒิสาร: ในแง่นี้ เราทำทั้งแบบที่เปิดเผย และไม่เปิดเผยต่อสาธารณชน ทั้งเรื่องแนวทางการปรองดอง และเรื่องของกฎหมายจำนวนมาก รวมถึงกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า สถาบันพระปกเกล้าคือหนึ่งหน่วยวิชาการ แต่ข้อเสนอทั้งหลายจะถูกหยิบยกไปใช้หรือไม่ ขึ้นกับผู้มีอำนาจตัดสินใจ และคงความ ‘เป็นกลาง’ ของสถาบัน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ แม้แต่องค์ประกอบคณะกรรมการสถาบัน ก็ถูกออกแบบโครงสร้างมาเพื่อให้เกิดการถ่วงดุล รักษาดุลยภาพความเป็นกลางทางการเมือง เสนอความคิดเห็นทางวิชาการที่ปราศจากอคติ ซึ่งเรายืนยันว่าสถาบันได้ทำงานทั้งในส่วนวิชาการ และการส่งคนเข้าไปสนับสนุนในด้านต่างๆ มากพอสมควร

GM:ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้ามาหกปี เป็นวาระที่สอง ความภูมิใจของอาจารย์ที่มีเกี่ยวกับด้านวิชาการคือสิ่งใด ศาสตราจารย์วุฒิสาร: ผมคิดว่า ในด้านการบริหารหลักสูตร เสียงตอบรับนั้นเป็นไปในทางที่ดี มีหลายคนที่มีความต้องการจะมาศึกษากับทางสถาบัน แต่หลายคนก็เตือนกันไว้ก่อนว่า สถาบันพระปกเกล้าไม่ได้จบง่ายนะ ไม่ได้มาเล่นๆ เราเข้มข้นกับหลักสูตรและผลสัมฤทธิ์เอาไว้ค่อนข้างมาก ให้อยู่ในระดับ ‘KPI-DNA’ คือการประเมินผลในระดับวิธีคิด คือต้องมีความรู้ที่รังสรรค์ร่วมกัน มีการตระหนักต่อส่วนรวม ต้องมองว่าจะทำสิ่งใดที่จะตอบแทนกลับคืนสู่สังคมได้บ้าง และมีความซื่อตรงถูกต้อง ยืนหยัดในหน้าที่ของตนเอง ซึ่งทั้งสามแนวทาง เราทำไว้ให้กับผู้เรียน และย้อนกลับมาปรับปรุงแนวทางการเรียนการสอนและหลักสูตรของเราเองด้วย

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ