Keep Moving Forward : ก้าวเดินไปข้างหน้า กับทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แห่งพรรคก้าวไกล
ในเวลานี้ อุณหภูมิทางการเมืองกำลังพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การ ‘ลงถนน’ ของกลุ่มนักเรียนนักศึกษา และประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการบริหารงานของรัฐบาล เริ่มตั้งข้อสงสัย และประกาศความต้องการที่จะส่งผลต่ออนาคต รวมถึงการผลักเพดานไปสู่ ‘เรื่องที่น่ากระอักกระอ่วนใจ’ ที่อาจจะก่อให้เกิดความน่าเสียวไส้ แม้มันจะถูกพูดถึงในที่แจ้งไปแล้วก็ตาม
การเมืองในสภาเองก็ร้อนแรงไม่แพ้กัน เมื่อปัญหาวิกฤติ COVID-19 เข้ามากระทบทั้งภาคเศรษฐกิจ สังคม และอนาคตที่ประเทศชาติจะเดินหน้าต่อไป แต่ดูเหมือนมันจะยังเป็นโจทย์ที่ยังไม่สามารถคลายล็อคได้ เหมือนต้องรับมือทั้งสองทาง กับปรากฏการณ์ที่ไม่อาจใช้วิธีการเดิมๆ เพื่อแก้ปัญหาตามบทเฉพาะกาลได้อีก
และในเวลาเช่นนี้เอง ที่บทบาทของหนึ่งในหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านอย่าง ทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แห่งพรรคก้าวไกล เริ่มเฉิดฉายและโดดเด่นขึ้นมา
เพราะแม้จะต้องตกกระไดพลอยโจนมารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคใหม่ด้วยความจำเป็นหลังพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ แต่เขาก็มีแนวทางของพรรคที่ชัดเจน และทาง GM Magazine ก็ได้รับเกียรติ ได้มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองของเขา ทั้งทางด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ จนถึงชีวิตประจำวันในฐานะ ‘คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว’ ที่เรียกร้องให้เขาต้องจัดสรรเวลาและสมาธิมากยิ่งกว่าที่เคย
จากการนำเสนอ ‘กระดุมห้าเม็ด’ ในฐานะสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ในวันนั้น สู่การเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล เขายังคงย้ำกับแนวคิดเดิมของตนเอง แก้ไขอย่างเป็นระบบ พิจารณาอย่างถี่ถ้วนรอบคอบ และหาทาง ‘คลายล็อค’ ประเทศให้เดินหน้าต่อไป แม้จะต้องแตะไปถึง ‘เรื่องที่น่ากระอักกระอ่วนใจ’ เขาก็ยืนยันว่าอาจจะเป็นสิ่งที่ต้องทำ
ในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ เราขอเชิญคุณผู้อ่าน ร่วมสัมผัสตัวตนของชายผู้แบกรับภาระที่ใหญ่หลวงในฐานะฝ่ายค้าน และไม่ว่าคุณจะรัก หรือเกลียดพรรคก้าวไกลด้วยเหตุผลใด เราขอให้คุณลองเปิดใจ เปิดมุมมอง และรับฟังเขาดูกันสักครั้ง
เพราะมันคือการสนทนาที่ถอดเอาสิ่งที่เป็น ‘เนื้อหา’ ที่เกี่ยวข้องกับพวกเราทุกคน ทั้งในวันนี้ และในภายภาคหน้า
-เมื่อตอนที่เดินเข้ามาที่สตูดิโอ เห็นติดโบว์สีขาวไว้ด้วย อันนี้คือตั้งใจไว้?
ใช่ครับ เป็นการแสดงออกว่าสนับสนุนเสรีภาพในการพูดคุยอย่างเสรี โดยไม่ได้ไปกำหนดที่อายุ วุฒิภาวะ ไม่ได้กำหนดที่อาชีพ เพศ ศาสนา คิดว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัยและมีความอดทนอดกลั้นในการแสดงออก และไม่ว่าจะทั้งการชูสามนิ้วหรือติดโบว์สีขาวของนักเรียนนักศึกษา ก็เป็นสิทธิในการแสดงออก ซึ่งเราพร้อมสนับสนุน ไม่ใช่แค่ทำไปเพื่อเรียกเอาคะแนนเสียง แต่เป็นการสนับสนุนเพื่อให้ตระหนักว่า สิทธิการพูดโดยเสรีเป็นรากของระบบประชาธิปไตยที่จะเดินหน้าต่อไปได้
-ถ้าสนับสนุนการเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษา แต่ทำไมถึงไม่ค่อยเห็นบทบาทของทางพรรคก้าวไกลที่ลงไปถนนมากนัก ไม่ว่าจะทั้งตัวคุณพิธาหัวหน้าพรรค หรือลูกพรรคเองก็ตาม?
อันนี้น่าจะไม่ใช่ข้อเท็จจริงนะครับ เพราะทางพรรคเราก็ลงไปอยู่ตลอด ในนามของ สส ในนามของกรรมาธิการ เพราะการเมืองไม่ได้เป็นเพียงแค่ในสภา การที่มีการเรียกร้องของพี่น้องประชาชนอย่างสันติก็เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาการเมืองเช่นเดียวกัน ดังนั้น เราก็มีทีมลงไป ไม่ต่างจากพรรคอื่นๆ รวมถึงติดตามทางอินเตอร์เนทและโซเชียลมีเดีย ถ้ามีใครที่ถูกคุกคาม ก็จะมีการไปช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย เพื่อให้หลักนิติธรรมและนิติรัฐที่มันบิดเบี้ยวกลับคืนมาเป็นปกติ ถ้าบอกว่าพรรคเราไม่ได้ลงไปเลย เดี๋ยวลูกพรรคผมน้อยใจแย่ นี่ก็ไปอยู่ สน ชนะสงครามถึงตีสี่ แล้วกลับมาประชุมพรรคต่อกันตอนเก้าโมงกันเลย (หัวเราะ) คือในจุดนี้ผมมองว่า มันคงไม่ได้เป็นการแข่งขันกันระหว่างพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่ในมุมมองของก้าวไกล เราลงไปตั้งแต่กรกฏาคม ถ้าถัดจากนั้นมีอะไรเกิดขึ้นเราก็จะไม่ทอดทิ้งประชาชนครับ
-พรรคก้าวไกลแตะเบรกตัวเองให้คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เล่นในบทบาทเชิงรุก ส่วนก้าวไกลจะดูสุขุมคัมภีรภาพ แบ่งบทบาทกันไว้แบบนี้รึเปล่า?
ในจุดนี้ผมมองว่า ในการพัฒนานักการเมืองของพรรคก้าวไกล ก็ไม่ได้ต้องมาแข่งขันกันระห่ำ ไม่ต้องแข่งกันว่าใครจะพูดหรือทำอะไร แต่ในสถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้ น้องๆ นักเรียนนักศึกษาอายุ 19 ปี อีกสิบปีผ่านไป ถ้ามองย้อนกลับไป เราก็จะพอนึกออกว่าพวกเขาผ่านอะไรมาบ้าง ถ้าเรามองประสบการณ์ทางการเมืองในหลายสิบปีที่ผ่านมา เราก็จะเห็นว่ามันมีสิ่งที่ผ่านมาอยู่โดยตลอด สิ่งที่ผมและพรรคพยายามจะทำ คือการ ‘ถอนฟืนออกจากกองไฟ’ และพยายามพาประเทศไทยเปลี่ยนผ่านการเมืองโดยไม่มีการเสียเลือดเนื้อ แน่นอนว่าผมคงไม่สามารถไปรับผิดชอบชีวิตใครได้ ถ้าใครคนนั้นอยากจะบู๊ อยากจะระห่ำ แต่จุดยืนของพรรคเราก็ยังคงชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแก้รัฐธรรมนูญ การที่สามารถพูดถึงความจริงที่ ‘กระอักกระอ่วนใจ’ ในยุคสมัยก่อนเกี่ยวกับสถาบันต่างๆ เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ซึ่งตรงนี้มันมีทางเลือกนะ ว่าจะผลักไสให้อยู่แต่เฉพาะโซเชียลมีเดียอย่างเดียว จะให้อยู่ในท้องถนนอย่างเดียว หรือจะให้เข้าสู่ระบอบสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ชัดเจนในการร่างกรอบกติกาว่าจะเป็นไปในแบบใด ซึ่งทั้งหมดทั้งมวล มันจะมีทั้งที่พูดได้ พูดไม่ได้ มีบางสิ่งที่สามารถปฏิบัติได้ทันที หรือบางอันที่ต้องรอดูท่าที แต่ทั้งนี้ ก็ยังต้องชัดเจนในจุดยืน พิจารณากันไปทีละข้อๆ ว่าจะมีสิ่งใดที่สามารถทำได้บ้าง
-คำว่า ‘ถอนฟืนจากกองไฟ’ หมายถึงการที่พรรคก้าวไกลไม่เข้าร่วมกับพรรคร่วมฝ่านค้านด้วยหรือไม่?
มันมองได้หลายมุมนะครับ เพราะมันเป็นสังคมเดียวกัน มันไม่ได้มีแต่เฉพาะ สส หรือพรรคร่วมฝ่ายค้าน แต่ถ้าเกิดการคุกคามประชาชนอันนี้คือคุณสุมฟืนสร้างความขัดแย้งแล้ว
-งั้นพักเรื่องถอนฟืนออกจากกองไฟก่อน คือภาพที่ปรากฏคือ พรรคก้าวไกลน่าจะไปให้สุด แต่ก็ถอนตัวออกมาจากการยื่นของตัวฝ่ายค้าน?
อันนี้ต้องบอกเล่าบริบทก่อน คือเราต้องการที่จะแก้รัฐธรรมนูญ และหมวดที่เราต้องการที่จะแก้ คือหมวด 256 ซึ่งเป็นกลอนที่ทำให้การแก้ไขในร่างอื่นๆ นั้นทำได้ยากมาก แล้วก็มีการโหวต สสร เข้าไปใหม่ เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่ลดความขัดแย้ง เพิ่มความเป็นธรรมให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ทั้งนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านมีเอกภาพไปในทางเดียวกันก็จริง แต่มีข้อที่สงวนไว้ในส่วนของพรรคก้าวไกล คือการมี สสร แต่ต้องห้ามแก้ หมวด 1 อันเป็นหมวดทั่วไป และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ อันเป็นหมวดที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งสิ่งที่เราไม่ไปร่วมยื่น เพราะเราต้องการให้ สสร เป็นพื้นที่ปลอดภัยทางการเมืองสุดท้ายที่มี แทนที่จะไปอยู่ในโซเชียลมีเดีย หรือตามการชุมนุมทั่วไป แต่ให้ สสร เป็นการเลือกตั้งตรง ให้เป็นจุดที่สามารถพูดคุยได้ ซึ่งมันจะโอเคกว่า ปลอดภัยกว่า มีวุฒิภาวะมีการควบคุม ส่วนข้อครหาของคนทั่วไป เกี่ยวกับการถอนเบรก นั้นไม่จริง เพราะเราต้องการเปิดพื้นที่ให้เต็มตั้งแต่หมวด 1 ถึงหมวด 16 ซึ่งเป็นจุดที่ต้องขอเน้นย้ำ เพราะพรรคเรายืนยันทั้งหมดสี่ครั้ง แต่ก็ยังมีคนเข้าใจผิด ด้วยสาเหตุสามข้อดังต่อไปนี้
หนึ่ง เราต้องการให้ สสร ไม่ใช่ทางตันของประเทศ คุณจะมาล็อค สสร มันจะกลายเป็นทางตันที่ทำให้ไปต่อไม่ได้ สอง การที่เราจะทำอย่างนี้ ไม่มีใครผูกขาดความคิดใครได้ ทุกคนสามารถถกเถียงพูดคุยกันได้อย่างมีวุฒิภาวะในพื้นที่ปลอดภัยและโปร่งใส สาม ถ้าคุณมองว่าพื้นที่ดังกล่าวนี้ มันจะกลายเป็นการเลยเถิด จาบจ้วง ต้องเรียนให้ทราบว่ามาตรา 255 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดชัดเจนว่า ระบอบการปกครองและรูปแบบการปกครองของประเทศนี้ ‘จะแก้ไม่ได้’ ดังนั้นมันมีขอบเขตแน่นอน ซึ่งถ้าไปกำหนดล็อคในส่วนของ สสร ต่อไปอีก มันก็จะยิ่งทำให้ทุกอย่างเดินหน้าได้ยากขึ้น ไม่ยืดหยุ่น และไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ ซึ่งผมก็จะพูดเรื่องนี้ต่อไป ตราบเท่าที่ยังมีคนที่ไม่เข้าใจ ให้เป็นการพูดถึงระบอบพระมหากษัตริย์อย่างมีวุฒิภาวะ อย่างไม่จาบจ้วง ไม่มีประทุษวาจา เพราะการล้มล้างระบอบพระมหากษัตริย์มันไม่มีอยู่จริงในประเทศไทย เพราะหลายครั้ง คนต้องการจะทำในสิ่งที่ ‘ง่าย’ แต่ความรู้สึกของยุคสมัย ต้องยอมรับแล้วว่ามันเปลี่ยนไป ซึ่งถ้าคุณต้องการกดมันไว้ ผมก็อยากจะถามว่า ทางเลือกอื่นของเรามันมีหรือไม่
-ทางคุณพิธาพูดอย่างสุขุมคัมภีรภาพ มีขั้นตอน แต่เท่าที่ทราบมาว่า ทางคุณธนาธร ก็ไปพูดอภิปรายเกี่ยวกับเรื่องเงินในส่วนต่างๆ อย่างตรงไปตรงมามากๆ มันทำให้ภาพของพรรคก้าวไกลกับคุณธนาธรในฐานะอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่มันซ้อนเหลื่อมกันอยู่หรือเปล่า?
ต้องเรียนให้ทราบอย่างนี้นะครับว่า ผมเองก็ไม่สามารถที่จะไปเปลี่ยนความคิดใครได้ และเป็นข้อเท็จจริงว่าผมเองก็เคยอยู่พรรคอนาคตใหม่ ดังนั้น มันมีจุดเริ่มเดียวกันนะ แต่ตอนนี้ เราไปด้วยพาหนะที่ต่างกัน เรื่องที่ใครจะมาบอกว่าเราต้องเดินไปแบบนี้ คุณเดินไปแบบนั้น มันไม่มี การเมืองไม่ใช่โรงละครครับ ไม่ใช่ใครจะเป็นบทบาทไหน แต่ผมคิดว่าสิ่งที่ผมทำ คือจุดยืนของผม ที่พอที่จะเป็นเสาหลักของสภา และให้สภาเป็นเสาหลักของการเมืองได้ แน่นอนว่าผมไม่ทราบว่าคุณธนาธรพูดคุยเรื่องอะไร แต่ที่ได้ยินมากับหูในช่วงที่เข้าห้องประชุมในเรื่องงบประมาณ มีการยกประเด็นเกี่ยวกับปฏิบัติการณ์ IO ว่าใช้เงินหลวง ซึ่งท่าน ผบทบ ก็ยอมรับว่า คุณธนาธรพูดถูกในจุดนี้ เพราะสถาบันทหารที่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองนั้นไม่ส่งผลดีต่อภาพรวม อีกอย่างที่พูดถึงคืองบนอกประมาณ พวกสนามมวย สนามม้า ที่ไม่ได้ใส่เข้ามาในส่วน 3.3 ล้านล้าน ก็ขอรายละเอียดให้ถูกต้อง
รวมถึงเรื่องของที่ดินของทางทหารประมาณ 6 ล้านไร่ ที่ไปอยู่ในส่วนราชพัสดุเท่าไหร่ แล้วจะคืนให้กับประชาชนได้เมื่อใด เพราะมันเป็นเรื่องของความมั่นคงเมื่อประมาณ 30 ถึง 40 ปีที่แล้ว ซึ่งท่าน ผบทบ ก็ให้การตอบรับอย่างดี ซึ่งนั่นเป็นบทบาทของคุณธนาธรในกรรมาธิการ รวมถึงลูกพรรคก้าวไกลที่นั่งอยู่ในกรรมาธิการด้วย โดยสรุป มันไม่ใช่ว่าใครจะบู๊หรือบุ๋นมากกว่ากัน แต่มันเป็นไปด้วยข้อบังคับของสภา เพื่อให้สภายังคงความศักดิ์สิทธิ์เอาไว้อยู่
-มันยังคงมีภาพของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และพรรณิกา วานิช ในการเดินไปข้างหน้าของพรรคก้าวไกลอยู่หรือไม่?
มันก็เป็นแค่ภาพน่ะครับ แต่ทุกวันนี้มีชัยธวัข มีวิโรจน์ และกรรมการพรรคทั้งหมดสิบคน ทุกอย่างที่เราจะพูด จะทำ เราทำงานกันเป็นทีม ประชุม สส แล้วประชุมคณะกรรมการในทุกจุด ว่าจะส่งใครลงเลือกตั้งเขตนี้ ถ้ามีเลือกตั้งซ่อมจะลงหรือไม่ลง
-พูดถึงเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมา รู้สึกอย่างไรบ้าง?
แพ้แต่ภูมิใจนะครับ (หัวเราะ) เราแพ้อย่างสมศักดิ์ศรี ผมไปเช่าอพาร์ทเมนต์ที่สมุทรปราการ นอนห้าทุ่มตื่นตีสี่ จนแม่ค้าเคหะบางพลีสี่ถึงกับบอกว่า คุณเป็น สส คนเดียวที่มาหาเสียงก่อนตลาดเปิด แล้วทุกเขตที่เราลงไปนั้น คะแนนมาหมด (รู้จุดที่ทำให้แพ้หรือไม่?) ถ้าให้ประเมินก็เพราะเป็นเขตเดิมของพลังประชารัฐของคุณกรุง ศรีวิไล แล้วก็มีบางเขตที่เป็น Swing Vote แต่จำนวนคะแนนไม่มาก ลงคะแนนได้ไม่เยอะ แต่ในจุดที่เราเน้นย้ำเกี่ยวกับการปรับปรุงเส้นทางการเดินรถนั้น เป็นจุดที่เราเน้นในมุมที่ต่างออกไป คนอื่นอาจจะมองว่าเป็นเรื่องของถนนหนทาง คลองสกปรก แต่เรามองว่าเป็นเรื่องของการกระจายอำนาจ เขต 4 สมุทรปราการ เขต 4 ฉะเชิงเทรา กับเขต 5 สมุทรปราการ ถ้าเราสามารถทำให้มันทำงานได้อย่างไร้รอยต่อ นั่นล่ะ จึงจะแก้ปัญหาได้ นี่คือสิ่งที่พรรคเรานำเสนอ ซึ่งพอพูดไปแบบนี้ ก็ดูเหมือนคนจะเข้าใจกันมากขึ้น แต่ด้วยเวลาที่น้อยเพียงแค่ 40 วัน รวมถึงตัวผมที่ต้องทำหน้าที่ในสภา ซึ่งนั่นก็เป็นบทเรียนที่จะถอดไปใช้ในโอกาสถัดไป แต่ก็ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ อย่างการทำการเมืองอย่างละเอียด การวิเคราะห์ในแต่ละพื้นที่ การวางแผนการเดิน ซึ่งตรงกับประสบการณ์ที่ผมเคยได้รับจากการทำงานการเมืองสมัยเรียนหนังสือที่ต่างประเทศ
-พูดถึงประสบการณ์ทำงานการเมืองที่เมืองนอกของคุณพิธา การทำการเมืองที่รัฐฟลอริด้านั้นค่อนข้างยากพอสมควร เพราะมีกลุ่มเชื้อสายสเปนค่อนข้างเยอะ และคุณพิธาทำงานให้กับจอร์จ บุช มันเป็นโจทย์ที่ท้าทายไม่น้อยว่าจะได้ใจกลุ่มนี้อย่างไร?
จากที่ผมไปเรียนทางด้านการเมืองโดยตรงที่ต่างประเทศ และทำงานการเมืองในครั้งนั้น ทำให้พบว่า ยุทธศาสตร์ระหว่างการเลือกตั้งทั่วไปและเลือกตั้งซ่อมนั้นไม่เหมือนกัน ต่างกันอย่างชัดเจน หนึ่งเสียงที่ไปเติมให้กับฝ่ายรัฐบาลกับหนึ่งเสียงที่ไปเติมให้ฝ่ายค้านก็ต่างกัน ต้องยอมรับว่ามันมีการเมือง ‘บ้านใหญ่’ อยู่ในนั้น ดังนั้น การที่จะไปจูงใจให้เขาเติมเสียงให้ฝ่ายค้าน มันยากกว่า แต่ก็สนุกกว่า ท้าทายกว่า ซึ่งถ้าวัดจากสถิติการเลือกตั้งซ่อมทั่วไปไม่ว่าจะประเทศใดนั้น การที่ฝ่ายค้านจะชนะคะแนนเสียงนั้นอยู่ที่อัตรา 1 ต่อ 10 ซึ่งมันน้อย มันสนุกกว่าการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งสำหรับพรรคก้าวไกล เชื่อว่าจะมีการเลือกตั้งซ่อมอีกหลายครั้ง ก็ต้องดูกันต่อไป
-คุณรังสิมันต์ โรม ออกมากล่าวว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามแก้ไขในหมวด 1 และหมวด 2 แม้แต่ตัวสถาบัน ไม่แน่ใจว่าทางพรรคปล่อยโดยเสรี หรือต้องมีการหารือกันก่อน
คุณโรม เป็นวิปภายในของพรรค และเป็นวิปนอกของฝ่ายค้าน ซึ่งเขารู้ว่าตัวเองกำลังพูดอะไรอยู่ ซึ่งมันก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง พอคนไปเสนอขึ้นไป ก็จะมีคนที่ไม่เห็นด้วย เหมือนเอากระจกมาวางไว้แล้วทำให้รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องแปลกที่จะเอามาพูดกันอย่างตรงไปตรงมา แต่ข้อเท็จจริงนั้น ถ้าไปเปิดดูรัฐธรรมนูญในช่วงเวลาต่างๆ จะพบว่ามีตัวอย่างให้เห็นมาโดยตลอด ดังนั้น การจะแก้เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยนั้น ไม่ได้เป็นการลบล้างหรือจาบจ้วงสถาบันแต่อย่างใด ซึ่งคุณโรมก็รู้ในจุดนี้ เพียงแต่ การที่จะมีคนเอาบางส่วนบางประโยคไปแปลความในทางเสียหาย มันก็มีความเป็นไปได้อีกเช่นกัน
-เจอบ่อยมั้ย กับการถูกเอาคำพูดไปตีความและนำเสนอในทางที่เป็นโทษต่อพรรคก้าวไกล?
มีครับ ผมจึงใช้คำว่า ‘ความจริงที่น่ากระอักกระอ่วนใจ’ ในการอภิปรายรอบที่แล้ว การป้ายสีได้ง่าย หรือการตีความที่ไม่ใช่เจตนาหลักของทางพรรคเรา
-ย้อนกลับมาที่เรื่อง ‘ถอนฟืนออกจากกองไฟ’ ในตอนนี้ ‘ฟืน’ ที่มีอยู่นั้น มีอะไรบ้าง?
อย่างแรกเลยคือรัฐธรรมนูญที่มันบิดเบี้ยว ผิดจากนิติรัฐ การคุกคามประชาชน รวมถึงท่าทีพูดอย่างทำอย่างจากทางภาครัฐ และความไม่โปร่งใสของกระบวนการยุติธรรม คือน้องๆ นักศึกษาเขาก็เห็น เขาก็รู้ อย่างที่สองคือวิกฤติทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน ซึ่งสิ่งที่ผมได้เคยพูดไป มันเริ่มจะออกผลอย่างช้าๆ ทั้งคนตกงาน 750000 คน งบประมาณ 3.3 ล้านล้าน ขาดดุล 2.7 ล้านล้าน ต้องกู้เพิ่มอีก 6 แสนล้าน แต่ตอนนี้รายได้ของรัฐตกไปเกือบ 10% ซึ่งเกิดจากนโยบายการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่อิงกับค่า GDP ที่ตกไป 5% ซึ่งมันไม่อิงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น รวมทั้งรัฐวิสาหกิจที่จะเก็บเงินได้น้อยลง เพราะเมื่อเศรษฐกิจหดตัว คุณจะคาดหวังว่าจะเก็บเงินได้เหมือนเดิมมันเป็นไปไม่ได้
ซึ่งในจุดนี้ มันทบรวมกันเป็นปัญหา และในการชุมนุมตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคมจนถึงวันที่ 18 สิงหาคม เริ่มมีน้องๆ จากกลุ่ม Landwatch พูดถึงเรื่องปัญหาที่ดิน มีกลุ่มน้องๆ ที่พูดถึงปัญหาสามชายแดนภาคใต้ มีการพูดถึงกลุ่มความหลากหลายทางเพศ มีการพูดถึงการทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย มีหลายวาระ หลายขนบ ประเพณี ซึ่งผมมองว่า มันจะยิ่งมากขึ้น การถอนฟืนออกจากกองไฟ ก็อาจจะด้วยการยุติพระราชกำหนดฉุกเฉินก็ดี หยุดการคุกคามประชาชนก็ดี สิ่งที่ผมมองว่าเป็นอะไรที่ไม่โอเคมากๆ คือการจับฮ็อคกี้ (นักร้องเพลงแร็พวง Rap Against Dictatorship) ต่อหน้าลูกและภรรยา มันเป็นวิธีการทหาร ซึ่งผมมองว่ามันไม่สมควรจริงๆ ซึ่งเมื่อเทียบกับที่ภาครัฐบอกว่า ‘พร้อม’ ที่จะรับฟัง แต่ไล่ล่ากันทีหลังแบบนี้ มันชวนให้ตั้งข้อสงสัยว่าคุณพร้อมจะฟังจริงอย่างที่ได้พูดเอาไว้รึเปล่า ซึ่งในตอนนี้ ผมคิดว่าการพูดก็สำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า คือการเปิดใจรับฟังอย่างมีวุฒิภาวะ อย่างมีความอดทนอดกลั้น อะไรที่เราเคยฟังแล้วไม่ถูกใจ ก็ต้องเพิ่มความเปิดกว้างในจิตใจกันบ้าง
-คำถามหนึ่งที่เราค่อนข้างกลัว แต่ไม่ถามก็คงจะไม่ได้ ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ มันจะสามารถพัฒนาไปสู่การ ‘รัฐประหาร’ ซ้ำอีกครั้งได้หรือไม่?
คำถามนี้มีพิธีกรหลายคนถามนักการเมืองตั้งแต่ก่อนปี 2549 ก็คิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ ก็เป็น ก่อนปี 2557 ก็อีกครั้ง ก็เกิดขึ้น มันเป็นสิ่งที่อยู่กับสังคมไทยมาโดยตลอด ซึ่งถ้าถามผม ผมก็เชื่อว่ามันมีโอกาสจะเกิดขึ้นอีก แม้ว่ากระบวนการเหล่านี้ จะเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ไม่เห็นหัวประชาชน ดึงอำนาจอธิปไตยมาอยู่ในมือตัวเองและกลุ่มคนไม่กี่คน ซึ่งเชื่อว่าประชาชนคงไม่อาจยอมรับกับมันได้อีกแล้ว แต่ถ้าถามว่ามันมีโอกาสจะเกิดได้หรือไม่ มันต้องหันมาพิจารณา ‘สภาพการณ์’ แวดล้อม ว่ามันจะเกิดขึ้นโดยใคร เพื่ออะไร ทางพรรคก็มีการหารือว่า ถ้ามันเกิดขึ้นจริง เราจะมีวิธีใดที่จะต่อต้านการรัฐประหารได้ดีกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา ทำยังไงถึงจะป้องกันไม่ให้มันเกิดซ้ำอีกครั้ง
-คุณพิธาเคยกล่าวเอาไว้ว่า การออกมาชุมนุมของนักเรียนนักศึกษา เป็น ‘ดอกผลแห่งความล้มเหลว’ ในการบริหารที่ผ่านๆ มา อะไรคือดอกผลนั้น?
ผมมองแบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา คิดถึงตอนที่เราเรียนมหาวิทยาลัย ผ่านวิกฤติอันหลากหลาย งานก็หายากเพราะวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 เราก็อดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมการเมืองมันแย่ได้ขนาดนี้ มันก็เป็นการสะสมความล้มเหลวของรุ่นเราที่ส่งต่อไปให้รุ่นเขาอยู่นะ ถ้าน้องๆ นักเรียนนักศึกษาอายิ 18-19 ปี ช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ต้องเจอรัฐประหารครั้งที่หนึ่ง เจอน้ำท่วม เจอรัฐประหาร เจอการตั้งนายกรัฐมนตรีในค่ายทหาร เจอปรากฏการณ์วิกฤติ COVID-19 ทุกอย่างมันดูไร้ความหวังเอามากๆ
หลายคนเองก็พยายามจะพูด แม้แต่ สส อาวุโสในสภาเองยังบอกกับผมว่า มันเป็นเรื่องของวัย มันเป็นช่องว่างถ่างออกระหว่างอายุที่ถูกเร่งโดยเทคโนโลยี ซึ่งผมว่ามันผิวเผินไป ผมก็อธิบายไปด้วยความสุภาพว่า มันไม่ใช่เท่านี้ครับ มันเป็นเรื่องของคนที่ ‘ต้องการจะมีความหวัง’ ต้องการจะมีอนาคต และมองว่า ‘เพดานของความสำเร็จ’ นั้น มันต่ำเกินไป เพราะเขาอาจจะไม่ได้หวังแค่เรียนจบหางานทำ แต่คาดหวังถึงเสรีภาพในการพูด การแสดงออก โดนกดให้ต่ำไป
-แต่ก็มีบางครอบครัวที่ส่งลูกไปเรียนเมืองนอก มีโอกาสที่มากกว่า แต่สำหรับคนที่ไม่อาจเข้าถึงโอกาสที่ว่านั้น จะเป็นอย่างไร?
นี่คือสิ่งที่น้องๆ นักศึกษาได้พูดเอาไว้ครับ ถ้าการศึกษาไทยมันดีอย่างที่ว่าไว้ ทำไมท่านๆ ถึงต้องส่งลูกไปเรียนเมืองนอก? ทำไมต้องไปเรียนนานาชาติ? และตอนนี้ อนาคตของพวกเขาถูกกำหนดด้วยนามสกุล ถูกกำหนดด้วยรหัสไปรษณีย์ ถ้าไปอยู่รหัสไปรษณีย์จังหวัดไกลๆ อาจจะไม่มีความหวังหรืออนาคตเลยก็เป็นได้ และความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยนั้นก็มีมากเป็นลำดับต้นๆ ทั้งรายได้ การเข้าถึงสิทธิ การถือครองสินทรัพย์ คือทุกอย่างมันไร้ความหวังจนไม่รู้จะหาทางไปต่อยังไงเลย
-ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจนั้นเป็นสิ่งที่มีความพยายามที่จะแก้กันมานาน เราจะแก้ไขมันอย่างไร เพราะมันมีทั้งความพยายามของภาษีมรดก ภาษีที่ดิน แต่สุดท้ายที่มันออกมามันแทบจะไม่ได้ผลในการแก้ไขในทางปฏิบัติเลย
ผมมองว่าส่วนนั้นเป็นเพียงแขนข้างนึง รายรับของทางรัฐ แต่อีกทางหนึ่งที่สามารถทำได้เลย คือการผ่าตัดงบประมาณรายจ่าย ในช่วงวิกฤติ COVID-19 นั้น วิกฤติแรงงานรุนแรงมาก มีแรงงาน 37 ล้านคน อยู่ในระบบสัก 10 ล้านคน มีความพยายามเยียวยาแต่มันก็ไม่ทั่วถึง มันมีสิ่งที่ต้องใช้งบประมาณมาถมช่องว่างทางสังคม ซึ่งผมก็หวังว่ากระทรวงแรงงานจะเป็นสิ่งที่ช่วยเหลือในยามนี้ แต่กลับกลายเป็นว่าได้งบประมาณน้อยลง ซึ่งในส่วนงบประมาณ 3.3 ล้านล้านนี้ ถ้าผมสามารถทำอะไรกับมันได้ ก็คงต้องถมช่องว่างทางสังคม ให้การเยียวยาเศรษฐกิจที่พึ่งพิงกับการท่องเที่ยวและการส่งออก เพราะแม้เราจะสยบ COVID-19 ได้ แต่ทั่วโลกนั้นยังอยู่ในภาวะวิกฤติอยู่ แต่ในความเป็นจริง มันกลับสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง ทางลูกพรรคผมยังไปค้านญัตติอนุมัติซื้อเรือดำน้ำกับรถถังสไตรเกอร์กันอยู่เลย
-แสดงว่าคนที่อาการร่อแร่ในตอนนี้ มีสิทธิที่จะตายถาวรในวันหน้า แล้วต้องใช้งบประมาณมาเยียวยา ซึ่งผิดหัวผิดหาง และถ้าจะเริ่มต้นในการฟื้นฟูแล้ว อะไรที่สามารถทำได้เร็วที่สุด?
ข้อแรกต้องยอมรับก่อนว่าเรามีงบประมาณที่ ‘เยอะพอ’ ก่อน พลเอกประยุทธ์นายกรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งมาหกปี สองพันกว่าวัน ใช้เงินไป 20 ล้านล้าน ลองคำนวณอย่างหยาบๆ ก็จะตกอยู่ที่วันละ 10000 ล้านบาท ซึ่งถ้าจะใช้งบประมาณในระยะสั้นให้ถูกต้องนั้น ชุดการแก้ไขปัญหาที่ออกมา มันหมดไปแล้ว แม้แต่การช่วยเหลือ SME ก็เป็นการช่วยเหลือกิจการ ‘ที่มีเครดิต’ กับธนาคารพาณิชย์ ถ้าเป็น SME ที่ไม่มีเครดิตคือตายเลยนะ ซึ่งผมมองว่ามันอาจจะต้องอัดฉีดตรงลงไปในคนที่กำลังจะถูกเลิกจ้างงาน 50% ของเงินเดือนไม่เกิน 9000 บาท แสนล้าน ฉีดลงไปเลย คือเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า SME มันมีเรื่องกระแสเงินสดหลายจุด ทั้งกระแสเงินหมุน เงินค่าดำเนินการ และเงินลงทุน ที่จะช่วยดอกเบี้ยของทางภาครัฐและธนาคารมันเป็นการช่วยแค่ส่วนเดียว คนทำกิจการก็รู้ว่ามันยังไม่มากพอที่จะทำให้เขาตัดสินใจจ้างงาน ทั้งคนใหม่และคนที่อยู่แต่เดิม ส่วนเรื่องของดอกเบี้ยที่มันปล่อยกู้ไม่ได้ เพราะ KPI ของธนาคารพาณิชย์ก็ยังคงใช้มาตรฐานเดิม ต้องไม่ติดลบ ไม่ติดตัวแดง ซึ่งในกรรมาธิการด้าน SME มาพูด ก็จะบอกอยู่เสมอว่ามันไม่ได้ เพราะบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ไม่มีงบเหลือแล้ว ซึ่งก็ผ่านการจ้ำจี้จ้ำไช จนท่านปรีดี ดาวฉาย ยอมปล่อยออกมา
อย่างที่สามคือเรื่องการท่องเที่ยว งบประมาณที่จะช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมนี้ ที่จะไม่ทำให้ป่าตองกลายเป็นป่าช้า ก็ยังไม่มีอะไรที่ชัดเจน นี่เป็นสามอย่างหลักที่เป็นระยะสั้น แต่เราต้องเริ่มคิดถึงระยะยาวได้แล้ว อย่างเช่นภูเก็ตที่เป็นรูรั่วทางเศรษฐกิจที่เยอะที่สุด ที่พึ่งพาการท่องเที่ยวถึง 90% ก็ต้องมาดูกันว่ายุทธศาสตร์ของภูเก็ตนั้นจะทำอย่างไร ผมยกตัวอย่างรัฐมนตรีสิงคโปร์ที่พูดไว้ในสภาว่า เราจะต้องยั่งยืนแล้วนะ จะโตเร็ว เอานักท่องเที่ยวจีนเข้ามาอย่างเดียวมันเป็นไปไม่ได้ เราอาจจะต้องจำกัดรายได้จากการท่องเที่ยว แล้วกระจายไปในภาคส่วนอื่นๆ บ้าง เพื่อให้มันเป็นเก้าอี้สี่ขา
-เรียกว่าอาจจะต้องปรับแนวคิดกันใหม่ แต่จะทำอย่างไร เมื่อธุรกิจท่องเที่ยวคือเงินง่าย ธุรกิจบริการคือเงินเร็ว?
นี่คือสิ่งที่ทำให้ประเทศถึงทางตันนั่นล่ะครับ เพราะถ้ามองไปที่ส่วนอื่นๆ ทั้งด้านการลงทุน ด้านเทคโนโลยี ภูมิภาคเราก็ไม่มีอะไรน่าดึงดูดอีกแล้ว รวมถึงการที่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ติดลบ 10% มันถึงปะทุขึ้นมากลายเป็นข้อเรียกร้องจากทุกภาคส่วน เพราะมันยังมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เลย จะไปปรับด้านการท่องเที่ยวให้เป็นแบบพรีเมียมก็ยังไม่มีงบ จะไปปรับภาคเศรษฐกิจโดย BOI แบบเดิมๆ มันก็ไม่ได้ ทุกอย่างมันกระจุกรวมกันไปหมด มันต้องกระจายออก ทั้งที่ดินเป็นกระดุมเม็ดแรก การเข้าถึงระบบธนาคารเป็นกระดุมเม็ดที่สอง การเพิ่มมูลค่าสินค้าเป็นเม็ดที่สาม จากที่ผมเคยอภิปรายเรื่องกระดุมห้าเม็ดนั้น ตอนนี้มันยิ่งชัดเจนขึ้นไปอีก เราต้องหันกลับมาพิจารณาความเป็นจริงว่าจุดแข็งของประเทศอยู่ที่ตรงไหน แต่ต้องยอมรับเลยนะครับว่า มันจะไม่ได้เป็นอะไรที่โรแมนติก ง่ายดายอย่างที่คิด ความจริงใจในการแก้ปัญหาเหล่านี้จึงต้องทำให้ถึงแก่นถึงราก
-ขอข้ามมาที่เรื่องของครอบครัวกันสักนิด จะเรียกว่าตกกระไดพลอยโจนรึเปล่าที่ต้องมาเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล แล้วการปรับสมดุลทำอย่างไร ในระยะเวลา 6 เดือน ชีวิตวุ่นวายกว่าเดิมหรือเปล่า?
วุ่นวายแต่อยู่ตัวครับ (หัวเราะ) ก็มีคนคอยช่วยด้วยในระดับหนึ่งครับ แต่สิ่งที่ผมมองว่าสำคัญกว่าการแบ่งเวลา คือการแบ่ง ‘สมาธิ’ การเลี้ยงลูกต้องอยู่ที่สมาธิที่เรามีให้เค้า คือเราอาจจะมีเวลาหนึ่งชั่วโมงก็จริง แต่เราเต็มที่ในจุดนี้ สำคัญกว่าการอยู่ด้วยกันนาน แต่สมาธิไปอยู่ที่อื่น แน่นอนว่ามันมีเรื่องของความเร็วช้าหนักเบา บางครั้งเราต้องเสียสละเรื่องงานเพื่อลูก บางครั้งเสียสละเรื่องลูกเพื่องาน แต่มันก็เป็นเรื่องชั่วคราว ส่วนตัวผมก็ลดเวลานอนลงหน่อยน่ะครับ (หัวเราะ)
-เวลา 24 ชั่วโมงต่อวัน แบ่งเวลาในแต่ละบทบาทอย่างไรบ้าง
การเป็นนักการเมืองมันเป็น 24 ชั่วโมงอยู่แล้วครับ บางครั้งก็จะมีคนโทรมาว่าเรื่องนี้จะทำอย่างไร ทำตัดสินใจยังไง ต้องลงพื้นที่ด้วย ส่วนลูก ด้วยวัย 4 ขวบในขณะนี้ ก็ต้องให้สมาธิเต็มที่เหมือนกัน บางทีตีสามตีสี่ลูกร้องไห้หิวนมผมก็ต้องลุกขึ้นมาชงให้กิน แล้วก็เปลี่ยนงานอดิเรกของตัวเองให้สอดคล้องกับลูกมากขึ้น ซึ่งผมมองว่านี่เป็นช่วงเวลาที่เหมาะครับ เพราะเชื่อว่าถ้าเขาอายุสัก 6 หรือ 7 ขวบ ก็คงไม่อยากจะมาวุ่นวายอะไรกับเราอีกแล้ว นี่คือเวลาที่เขาต้องการผม ผมก็ต้องใช้ให้คุ้มค่า เมื่อถึงเวลาที่เขาไม่ต้องการเรามากนัก เราจะได้เฝ้ามองเขาวิ่งไปข้างหน้าได้อย่างเต็มที่ มันเป็นเวลาทองของทั้งหน้าที่การงาน บ้านเมือง และลูกสาว เรื่องชีวิตส่วนตัวและสุขภาพก็ต้องยอมลงกันบ้าง
-ในฐานะที่ต้องทำหน้าที่ทั้งหัวหน้าพรรคก้าวไกล และคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว ยากหรือไม่?
ยากแต่อยู่ตัวครับ อย่างที่กล่าวไปครับ แต่ยังดีที่มีทีมคอยช่วยเหลือ ซึ่งผมมองว่า ผมไม่สามารถเลือกได้ว่าปัญหาอะไรจะเข้ามาในชีวิตของผม แต่ผมเลือกวิธีที่จะตอบสนองและจัดการกับปัญหาเหล่านั้นได้ ด้วยการบริหารเวลาให้ดีขึ้น จัดสรรคนที่เข้ามาช่วยเหลือ และยิ่งลูกสาวของผมมีผู้ใหญ่ที่เขาเชื่อใจได้มากขึ้นเท่าไหร่ ก็คิดว่าน่าจะทำให้เขาเข้มแข็งขึ้นไปในตัวด้วย อย่าง สส ในพรรคผมที่มีลูกอายุใกล้ๆ กัน ก็จะมีเพื่อนให้เล่นด้วยกัน คือผมเลี้ยงลูกค่อนข้างจะสบายๆ ปล่อยพอสมควร แต่ถ้าเขาต้องการผมเมื่อไหร่ ผมก็พร้อมจะไปเมื่อนั้นครับ
-ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่ว่าจะมาด้วยความบังเอิญ หรือความจำเป็น แต่เราได้เห็นวิสัยทัศน์ต่างๆ ในฐานะพรรค วางสิ่งที่เป็นเป้าหมาย สั้น กลาง ยาว ไว้อย่างไร และหวังจะพาพรรคไปสู่จุดไหน?
ในระยะสั้นก็อยากจะเป็นเสาหลักในสภา ทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชนได้อย่างเต็มที่ การผ่านกฎหมาย การตรวจสอบรัฐบาล สามข้อนี้ ยึดให้มั่น ทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียง ไม่ว่าคุณจะมีที่มาอย่างไร จะอยู่ในเพศสภาวะไหน อยู่ในภูมิภาคใด พรรคก้าวไกลคือ ‘คุณ’ สิ่งที่ทำให้พรรคก้าวไกลสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ เพราะสมาชิกพรรคก้าวไกลต่างผ่านการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ สู้เพื่อสิทธิแรงงาน สู้เพื่อสิ่งแวดล้อมมาก่อน บางคนเคยอยู่แฟลตการเคหะฯ เดียวกับคุณมาก่อน พวกเขาเข้าใจว่าพวกคุณต้องเผชิญหน้าและต่อสู้กับอะไร
อย่างที่สอง ระยะกลาง นโยบายของพรรคเดิมไม่ว่าจะเรื่องการเอาทหารออกจากระบบการเมือง การกระจายอำนาจ ลดระบบราชการรวมศูนย์ ซึ่งผมก็เข้าใจดี เพราะช่วงปี 2547-2548 ผมก็อยู่ทำเนียบ อยู่กระทรวงพาณิชย์ รู้ว่าจุดอ่อนของระบบราชการเป็นอย่างไร ซึ่งถ้าต้องมีการยุบสภา นโยบายใหม่จะทำอย่างไรให้สอดคล้องกับบริบททางสังคมในขณะนี้ได้
อย่างที่สาม ซึ่งเป็นระยะยาวมากที่สุด คือการส่งไม้ต่อให้กับคนรุ่นใหม่ ผมเชื่อว่าอายุของนักการเมือง มันจะลดลงทุกๆ ปี ส่วนตัวผมเองก็เคยคิดว่าจะอยู่อีกสักสิบปี แล้วไปเป็นอาจารย์ ไปทำสิ่งอื่นๆ ซึ่งก็ต้องคิดถึงเรื่องการสร้างคนให้ขึ้นมาแทนที่เราได้ ส่งต่อประเทศให้กับคนรุ่นใหม่ พัฒนาสมาชิกพรรคให้เป็นผู้ช่วย สส พัฒนาผู้ช่วย สส ให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรได้ เพราะไม่มีใครรู้ว่า อุบัติเหตุทางการเมืองจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ ซึ่งผมมองว่า สามเป้าหมาย สั้น กลาง ยาว ที่ตั้งมั่นเอาไว้ จะทำให้พรรคก้าวไกล หรือจะชื่ออะไรก็ตามแต่ เป็นสถาบันทางการเมืองที่ไม่ต้องขึ้นกับตัวบุคคล ไม่ต้องขึ้นกับธนาธร พรรณิกา ปิยบุตร ไม่ต้องขึ้นกับพิธา ชัยธวัช วิโรจน์ ให้เป็นพรรคการเมืองที่เป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมที่อยู่ในสภา
-สิ่งที่เป็นกังวล และไม่อยากเห็น ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองบนท้องถนนในมุมมองของคุณพิธา นับจากวันนี้ถัดไปคือสิ่งใด?
ผมย้ำว่า อุบัติเหตุจะไม่เกิด ถ้าคนที่ถือปืน ไม่หันปากกระบอกเข้าหาประชาชน อย่างอื่นมันยังพอรับกันได้ การพูดเสรีย่อมมีแรงต้านกลับมาเป็นเรื่องธรรมดา แต่ตราบใดที่มันไม่ได้ก้าวเข้าสู่ขอบเขตของประทุษวาจา หรือก่อให้เกิดความเป็น ‘ทวิลักษณ์’ แตกแยกทางสังคม อะไรที่ก่อให้เกิดความรุนแรง เกิดการยั่วยุให้ไปทำร้ายคนอื่น ผมมองว่ามันควรที่จะต้องมีวุฒิภาวะมากขึ้นในการพูดคุยกัน แต่ตราบใดที่ยังไม่มีพื้นที่สำหรับการพูดโดยเสรี ทุกอย่างมันก็มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นการพูดเพื่อการแตกแยกด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งมันต้องผ่านการพูดคุยและมีฉันทามติร่วมกัน ว่าอะไรที่รับได้ อะไรที่รับไม่ได้ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นสิ่งที่มีพลวัตรในตัวมันเอง กรอบของคนรุ่นหนึ่ง อาจจะไม่สามารถสวมทับเข้ากับกรอบของคนรุ่นใหม่ ก็ต้องยอมรับว่ามันคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง การจะไปกดทับ หวงห้าม หรือทำร้าย ก็เท่ากับว่าคุณได้ทำร้ายอนาคตของประเทศ ดังนั้น ถ้าคิดได้อย่างนี้แล้ว เราจะสามารถแยกแก่นออกจากกระพี้ แยกเนื้อหาออกจากน้ำ หาจุดร่วมที่เหมาะสม อนุโลมให้แก่กันได้