สตอรี่ที่มาจากการหวงแหนวิถีชีวิตของชุมชน สู่ สตอรี่ร้านกาแฟที่สร้างจากเรื่องเล่า
เรื่อง: อภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์
เมื่อวานนี้ผมมีโอกาสไปทิ้งตัวเองกับร้านชา ร้านกาแฟ รวมถึงร้านขนมปังที่อยู่ในย่านอารีย์ สำหรับผมแล้ว จังหวะการก้าวเดินของที่นี่ ดูคล้ายกับย่านนิมมานเหมินทร์ในเชียงใหม่ หรือ ประมาณย่านไดกังยามะ ของโตเกียว ที่เต็มไปด้วยร้านเล็ก ร้านน้อย ซึ่งแทรกตัวตามซอกหลืบ หรือยืนเด่นท่ามกลางอาคารบ้านเรือนของผู้คน
จะว่าไปแล้วเกือบทั้งหมดร้านรวงเหล่านี้มักมีที่มา หรือเรื่องเล่าที่เป็นสตอรี่ประกอบ เพื่อทำให้ความละมุนของสินค้าและบริการถูกขับออกมาให้เด่นตามประสาการเสพเรื่องราวของผู้คนในยุคนี้ ซึ่งก็เป็นเรื่องจริงบ้าง ปรุงแต่งบ้าง เพื่อทำให้คนอิน หรือซาบซึ้งก่อนที่จะกลืนกินอะไรสักอย่าง ที่เห็นข้างหน้าลงไปในท้อง

แต่ที่ญี่ปุ่นนั้น ผมรู้จักร้านกาแฟร้านหนึ่งที่มีสตอรี่ หรือเรื่องเล่าที่ไม่ได้แต่งขึ้นมาประกอบ แต่มาจากเรื่องจริงที่สะท้อนพลังของความเป็นชุมชนเมืองได้เป็นอย่างดี ร้านนี้มีชื่อว่า Kayaba Coffee

Kayaba Coffee มาจากชื่อผู้ก่อตั้ง คือ คายาบะ อิโนะสุเกะ ที่เปิดกิจการในปีโชวะที่ 13 หรือ ค.ศ. 1938 ที่นี่ใช้เวลาพิสูจน์ตัวเองไม่นานจนก็กลายเป็นขวัญใจของคนในชุมชนไทโต ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากย่านอูเอโนะ ในโตเกียว และยืนหนึ่งเป็นลมหายใจของผู้คนในย่านนี้อย่างต่อเนื่องกว่า 60 ปี จนเมื่อคุณคายาบะ อิโนะสุเกะ ต้องอำลาจากโลกไป

จากการที่ทายาทของเธอ ไม่ประสงค์จะรับมรดกต่อ Kayaba Coffee จึงได้กลายเป็นสมบัติของเทศบาล และ หลังจากปล่อยให้ที่นี่ทิ้งร้างมานานกว่า 3 ปี ทางการท้องถิ่นได้พิจารณาว่าจะปรับเปลี่ยนร้านกาแฟให้กลายเป็นที่จอดรถ และเรื่องไปเข้าหูชาวชุมชนที่รวมตัวกันในชื่อ กลุ่มผู้ค้นคว้าประวัติศาสตร์เมือง … พวกเขาได้ขอให้ทางเทศบาลยับยั้งการรื้อถอนอาคารที่มีประวัติศาสตร์คู่กับชุมชนอย่างแนบแน่นแห่งนี้ โดยยื่นข้อเสนอที่จะปลุกชีพร้านนี้ขึ้นมาใหม่ และให้ที่นี่ยังจะเป็นร้านกาแฟแห่งชุมชนแบบเดิม พร้อมๆ กับการสร้างโมเดลเพื่อให้ Kayaba อยู่ได้ด้วยตัวเองในระยะยาว โดยพวกเขามองว่าต้องเป็นวิสาหกิจชุมชนที่มีรายได้และเลี้ยงตัวเองจากกำไร

Kayaba Coffee กลับมาเปิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยคุณมุราคามิ และ ทีมงานรุ่นใหม่ ซึ่งโจทย์ที่เขาได้รับคือ ให้คงความเป็นร้านกาแฟแห่งชุมชนมากที่สุด ขณะเดียวกันต้องเลี้ยงตัวเองให้ได้ … ซึ่งไม่ง่าย เพราะ ความดั้งเดิมของร้าน คือ การให้บริการอาหารในสไตล์ตะวันตกยุคหลังสงคราม ที่เป็นอาหารพื้นๆ อย่างขนมปัง ที่เสริฟคู่กับกาแฟ โดยลูกค้าที่จะนำมาซึ่งรายได้ของร้านนี้ส่วนใหญ่อายุมาก และมีไม่มากนักแล้ว

จากการหารือกันของทีมงาน พวกเขาสรุปว่าจะไม่ปรับแนวคิดร้านเพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ หรือ แม้แต่เอาใจนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะพวกเขามองว่าการรักษาความเป็นร้านค้าแห่งชุมชน แม้จะดูหลุดกระแสไปบ้าง แต่ก็น่าจะมีเสน่ห์ที่ผู้คนอยากมาสัมผัสความเป็นของแท้ดั้งเดิม .. และพวกเขาเริ่มต้นคืนชีพร้านขึ้นมาใหม่ โดยยึดหลักการว่า ซ่อมแซมโดยไม่เปลี่ยนแปลง
หนึ่งปีให้หลัง .. สิ่งที่เกิดขึ้น คือ หน้าตาตัวอาคารสองชั้นของ Kayaba ที่ยังคงไม้ทั้งหลัง แต่แข็งแรงมากขึ้น .. เฟอร์นิเจอร์มีขนาดเล็กพอดีกับรูปร่างคนญี่ปุ่น เพียงแค่ถูกเปลี่ยนใหม่เฉพาะหนังหุ้มเบาะเท่านั้น โดยส่วนที่ถือได้ว่าเป็นไฮไลต์ที่สุดน่าจะหนีไม่พ้นที่นั่งบนชั้นสอง ซึ่งยังคงเป็นเสื่อทาทามิแบบเดิม .. โดยลูกค้าชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาสัมผัสส่วนใหญ่บอกว่า “เหมือนกับมายังบ้านคุณยายของพวกเขา” .. ขณะที่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาแวะเวียนเรื่อยๆ ต่างบอกเล่าความรู้สึกว่าได้สัมผัสกับความเป็นชุมชนเมืองของญี่ปุ่นในอดีตได้ลึกซึ้งมากขึ้น เพราะร้านนี้เปรียบเหมือนพิพิธภัณฑ์ที่ยังมีชีวิต

อ่านมาถึงตรงนี้แล้วหลายๆ ท่านคิดว่าเรื่องราวของที่นี่น่าจะจบลงที่ความนิยมและการอยู่ในกระแสของ Kayaba Coffee ที่มาจากเรื่องเล่าที่ผมได้บอกกล่าวไป … แต่ทว่า ประวัติของการกลับมาเปิดใหม่ที่เล่าไปนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งการกลับมาใหม่และมายืนหนึ่งอีกครั้งย่อมมีที่มาครับ
ว่ากันว่า า พระเจ้าอยู่ในรายละเอียด ญี่ปุ่นก็นับว่าเป็นเจ้าแห่งรายละเอียดเช่นเดียวกัน เพราะทุกองค์ประกอบที่คุณสัมผัสได้ในร้าน … ถ้าคุณถามพนักงาน เขาจะบอกกับคุณได้ว่าคือ อะไร และมีที่มาที่ไปอย่างไร ซึ่งแต่ละสิ่งฟังดูแล้วล้วนน่าพิสมัย เช่น

ตะเกียบที่ใช้ในร้านนั้นมาจากร้านไม้ไผ่มิโดริยะ ในย่านยานากะกินซ่า ที่ห่างออกไปไม่ไกล ซึ่งการเลือกตะเกียบที่นี่ไม่ได้มาจากการอุดหนุนชุมชนเท่านั้น แต่มาจากการทำเหลี่ยมของตะเกียบที่ไม่เหมือนใคร
ส่วน แฮมในแซนด์วิชนั้นเลือกโคชิซึกะแฮม ทำโดยร้านขายเนื้อในตลาด ที่มีรสสัมผัสพอดีซึ่งไม่เหมือนกับแฮมแบบอุตสาหกรรมที่ทำขายทั่วๆไป .. สำหรับวุ้นในการทำขนมก็เป็น อันมึทสึ มึทสึมาเมะ ที่ทำมือจากร้านซังโยโชคุฮิน ซึ่งเป็นร้านแผงลอยในชุมชนที่หารับประทานยากมากในปัจจุบัน .. ส่วน นม นั้น เป็นนมทาคานาชิซึ่งไม่ได้มีวางขายตามซุปเปอร์มาเก็ตทั่วไป แต่เป็นยี่ห้อที่ถูกเลือกใช้ในร้านมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ว่ากันว่านำมาทำเป็นกาแฟลาเต้อร่อยยิ่งนัก

เขียนมาเสียยืดยาว นอกเหนือจากการบอกเล่าเสน่ห์ชุมชนซึ่งมาจาก เรื่องเล่าแท้ๆ ที่ไม่ได้สรรค์สร้างขึ้นมาลอยๆ หรือปรุงแต่งมาครอบโดยหวังประโยชน์ทางธุรกิจแล้ว อยากจะบอกว่า ขอให้มาสัมผัสที่นี่จริงๆ ครับ อยากให้มาดื่มกาแฟรสชาติแบบที่คนญี่ปุ่นนิยม ซึ่งที่นี่ใช้เมล็ดของ HONO ROSTERIA หรือ ใช้เมล็ดกาแฟของ Kayaba ในการคั่ว หรือ ถ้าอยากรับประทานอาหารเช้าในยุคที่ญี่ปุ่นเห่อฝรั่งก็อยากจะให้มาลิ้มลองชุดอาหารเช้าที่มี แซนวิชผัก หรือแซนวิชไข่ หน้าตาธรรมดาในราคาไม่แพง
แล้วคุณจะรู้ซึ้งถึงสตอรี่ ที่ไม่ได้สตรอเบอรี่ขึ้นมา ซึ่งแก่นของมันมีคุณค่า และความหมายมากกว่าความฉาบฉวย เพียงเพื่อดึงดูดให้เข้าไปสัมผัสตามกระแสแห่งโซเชียล ที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
