เสพงานศิลปะจากมุมมอง ความคิด การใช้ชีวิต ของคนทำงานศิลปะ กับ สุรพร เลิศวงศ์ไพฑูรย์ (Jekky Zoo)
คำกล่าวที่ว่า “ศิลปะไม่ได้สอนให้วาดรูปเป็น แต่สอนให้รู้จักการใช้ชีวิต” หนึ่งในวลีอมตะของท่านอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร และท่านยังได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งศิลปะร่วมสมัย ที่บรรดาคนในแวดวงศิลปะให้ความเคารพรักใคร่อย่างมาก โดยเฉพาะเด็กวังท่าพระ
และแน่นอนว่าคำกล่าวนี้ไม่เกินจริงเลยสักนิด เมื่อการใช้ชีวิตของเหล่าบรรดานักสร้างสรรค์งานศิลปะได้ถูกถ่ายทอดผ่านผลงานออกสู่สังคมมากมาย รวมถึงเขาคนนี้…คนที่ไม่เคยบอกว่าตัวเองคือศิลปิน แต่กลับเรียกตัวเองว่าคนทำงานศิลปะ สุรพร เลิศวงศ์ไพฑูรย์ หรือที่พี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ คนรู้จัก หรือลูกศิษย์ลูกหาเรียกเขาว่า Jekky Zoo
เส้นทางบนถนนสายศิลปะของผู้ชายคนนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่วัยเยาว์ เพราะคุณ Jekky Zoo เล่าให้ฟังว่า “ชอบการวาดรูปตั้งแต่เด็กๆ คิดว่าก็คงเหมือนเด็กทั่วๆไปนั่นแหละครับ ที่ธรรมชาติจะชอบขีดๆเขียนๆ แต่อาจจะต่างไปหน่อยที่เชอบจนวาดรูปเป็นนิสัย คือ คนอื่นๆ เลิกไปไปแล้ว แต่ผมไม่เลิก ก็วาดไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ประถม มัธยม แล้วก็ไปต่อวิทยาลัยช่างศิลป์ และต่อปริญญาตรีที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร“
และแม้ว่าหลังเรียนจบปริญญาตรีแล้ว เขาจะไม่ได้มุ่งไปสายงานศิลปะอย่างเต็มตัว แต่กลับพาตัวเองไปทำงานโฆษณาเป็น Art Director, Creative Director แต่เขาก็ยังคงวาดรูป และนำเอาความรู้ความถนัดทางศิลปะมาใช้ในงานอาชีพจนถึงทุกวันนี้ไม่ว่าจะด้านพาณิชย์ศิลป์ หรือด้าน Fine Art
อย่างที่กล่าวตั้งแต่เริ่มแรกว่าจุดเริ่มต้นสู่เส้นทางศิลปะของผู้ชายคนนี้เริ่มต้นตั้งแต่เด็กๆ แล้ว โดยที่เจ้าตัวบอกว่า “ก็ไม่รู้ว่ามายังไง เคยสงสัยเหมือนกันว่าทำไมเพื่อนแถวบ้านตอนเด็กๆ ที่วิ่งเล่นด้วยกันมีผมคนเดียวที่ชอบเขียนรูป คนอื่นไม่เห็นเขียนกันเลย คือก็เล่นทุกอย่างเหมือนเพื่อนๆ นะ แต่จะเอาสิ่งที่ชอบที่เล่นมาวาดเป็นรูปด้วย ชอบดูการ์ตูนก็วาดรูปตัวการ์ตูน มีลอกจากหนังสือการ์ตูนบ้างจากสิ่งพิมพ์บ้าง โตขึ้นมาหน่อยชอบฟังเพลงก็วาดภาพนักร้องนักดนตรีที่เท่ๆ วาดภาพวงที่ชอบ ช่วงบ้าเตะฟุตบอลก็เขียนรูปนักฟุตบอลดังๆ ผมว่าคงติดตัวมาเองตั้งแต่เกิดนั่นแหละ แล้วก็มีวันที่โชคดีได้เห็นรูปเขียนสีน้ำของรุ่นพี่ที่จบไปแล้วจากคุณครูท่านหนึ่งตอนมัธยมต้น ตอนนั้นรู้สึกทึ่งมาก ไม่เคยเห็นภาพวาดสีน้ำมาก่อน แล้ววันนั้นเองก็ได้รู้ว่ามีโรงเรียนที่เน้นวิชาศิลปะโดยเฉพาะคือ “วิทยาลัยช่างศิลป์” เหมือนเจอแสงสว่างเลย ตอนนั้นคิดว่าฉันจะต้องเรียนที่นี่ให้ได้ ฉันเจอที่ของฉันแล้ว ก็เลยไปสอบเข้าแล้วก็ดันติดเสียด้วย ซึ่งผมก็ไม่เคยไปติวที่ไหนกับเขา ทั้งๆ ที่มีสถานที่ติวเข้าช่างศิลป์โดยเฉพาะด้วย แต่ก็ไม่รู้ โดยที่ตัวเองก็อยู่กรุงเทพฯ แต่เพื่อนๆ ที่เป็นเด็กต่างจังหวัดที่สอบติดมาเรียนด้วยกันเขารู้กันหมด“
แต่เมื่อถามถึงประสบการณ์แรกในการทำงานสายศิลปะ คำตอบที่ได้ คือ “ตอบยาก เพราะถ้าหมายถึงการเขียนรูปก็เขียนตั้งแต่ยังเล็ก ประสบการณ์แรกก็คงเป็น “ความสุข“ มั้ง ไม่ได้คิดอะไร ไม่ต้องการโชว์ให้ใครดู ไม่มีใครชม เขียนเพราะอยากเขียนเพราะชอบ สิ่งนี้น่าจะเป็น ศิลปะบริสุทธิ์ (Fine Art) ของแท้เลย
“แต่ถ้าหมายถึงแบบอาชีพ มีการโชว์งานแสดงนิทรรศการ ก็ต้องบอกว่าการหยุดทำงานศิลปะแบบ Fine Art ไปสิบกว่าปีแล้วกลับมาเริ่มใหม่ ก็คือ ความไม่มั่นใจ นั่นแหละ เพราะมันร้างไปนานมาก ต้องรื้อฟื้นกันพอสมควร ไม่รู้ด้วยว่าวงการศิลปะเขาไปกันถึงไหนกันแล้ว ไม่มีใครรู้จัก Jekky Zoo เลยด้วย
ปี 2004 เป็นปีที่กลับมาหารากของตัวเอง เริ่มทำงานศิลปะแบบจริงจังอีกครั้ง กลับมาก็แสดงนิทรรศการเดี่ยวเลย (กล้ามาก) เป็นงาน Solo ครั้งแรกในชีวิต ซ่ามาก ก็ตื่นเต้นดีเพราะถือว่าคือหน้าใหม่ในวงการศิลปะ เขินๆ เหมือนกันนะ เป็นอะไรที่ เคยคุ้นแต่ไม่คุ้นเคย “
คุณ Jekky Zoo ยังพูดถึงมุมความคิดของศิลปะในความหมายแรกที่เริ่มต้นจนถึงวันนี้ ได้อย่างน่าสนใจว่า
“สำหรับผมศิลปะไม่เคยเปลี่ยนความหมายเลยจากวันที่เริ่มต้น ไม่ว่าคนทำงานศิลปะ วงการศิลปะจะเปลี่ยนไปยังไงหรือใครจะมองมันยังไง ศิลปะของผมคือความสุข คือสิ่งที่ผลักดันขับเคลื่อนชีวิตผมมาตลอด ตั้งแต่เด็กจนถึงตอนนี้“
แม้จะห่างหายจากการทำงานศิลปะไปนาน แต่เมื่อกลับมาทำงานศิลปะอีกครั้งความคุ้นเคยที่มีถึงจะไม่คล่องนักแต่เขากลับรู้สึกสนุกไร้ความกดดัน ซึ่งนั่นอาจเป็นเพราะเขาได้กลับมาทำงานที่รักและเป็นสัญชาตญาณของตัวเขาเอง
“ตอนที่กลับมาทำงานศิลปะอีกครั้งเมื่อปี 2004 ก็สนุกสิ ไม่กดดันนะ แต่ช่วงแรกอาจไม่คล่องนัก เพราะตั้งแต่จบจิตรกรรมฯ ก็ไปทำงานโฆษณา แล้วก็ไม่ได้ทำศิลปะ (Fine Art) แบบเป็นเรื่องเป็นราวจริงจังเลย ก็ทำไปตามสัญชาตญาณ
แน่นอนว่าในการทำงานศิลปะนั่นย่อมมีทั้งงานที่เกิดจากจิตวิญาณ และศิลปะที่ต้องสนองในเชิงพาณิชย์ การจัดการความต่าง สร้างความสมดุล ย่อมต้องเกิดขึ้น ซึ่งคุณ Jekky Zoo บอกเล่าถึงการรับมือว่า
“ถ้าถามเรื่องความต่างระหว่างศิลปะที่เกิดจากจิตวิญญาน กับที่ต้องสนองในเชิงพาณิชย์ ว่าต่างกันแค่ไหน ขอตีความว่า “ศิลปะที่เกิดจากจิตวิญญาน” คือ Fine Art (ศิลปะบริสุทธิ์) ละกันนะ ซึ่งปัจจุบันนี้แยกกันแทบไม่ออกแล้วนะ ศิลปินหรือคนทำงานศิลปะเองก็เก่งเรื่องการตลาดกันมาก รู้ว่าอะไรจะขายได้ขายไม่ได้ อะไรโดนไม่โดน ค้าขายงานกันเก่งๆ เยอะ รู้วิธีโปรโมทตัวเอง จนชักสงสัยจะเรียกว่าเชิงพาณิชย์ได้ไหม คือตอนทำก็ทำแบบตอบสนองตัวเองนั่นแหละ แต่ตอนคิดเรื่องขายก็คิดกันแบบเชิงพาณิชย์เลย
ส่วนที่ต้องสนองเชิงพาณิชย์เดี๋ยวนี้บริษัทต่างๆก็มีวิธีสร้างคอนเทนท์ให้สินค้าแล้วดึงเอางาน Fine Art มาใช้แบบเนียนๆ ด้วยการนำศิลปินมีชื่อมาทำงานโดยไม่ต้องเล่าเรื่องสินค้าหรือเกี่ยวข้องกับคุณสมบัติหรือคอนเซ็ปต์ของสินค้าเลยก็ยังได้ เพราะฉะนั้นตอนสร้างสรรค์ผลงานศิลปินก็ทำแบบตอบสนองตัวเองนั่นแหละ เพราะครีเอทีฟที่คิดงานให้เจ้าของสินค้าเขาคิดตั้งแต่เลือกศิลปินคนนั้นๆ แล้ว ว่าจะใช้งานยังไง เอาศิลปินเข้ามาเกี่ยวยังไง แล้วก็เป็นที่นิยมกันมานานแล้ว ศิลปินหลายๆ คนก็คุ้นเคยกับวิธีการแบบนี้แล้ว ศิลปินก็ต้องกินต้องใช้น่ะ
ส่วนตัวไม่เคยลำบากใจกับการสร้างความสมดุลในการสร้างงานศิลปะที่มีสปอนเซอร์เลย เพราะยังไม่เคยมีใครจ้าง ฮ่าๆๆ แต่เคยเป็นคนจัดงานนิทรรศการ Street Art ครั้งหนึ่ง โดยมีผู้ให้ทุน เขาก็ไม่ได้มายุ่งอะไรเลยปล่อยให้ทำไปตามอิสระ ตามคอนเซ็ปที่ผมคิดขึ้นมา ซึ่งก็ต่างกับการมีสปอนเซอร์ที่เป็นตราสินค้า“
และจากประสบการณ์การทำงานศิลปะที่ผ่านย่อมต้องการสิ่งที่สะท้อนความเป็นตัวเองอยู่ในงานนั่นๆ แต่สำหรับคนทำงานศิลปะคนนี้มีควมต่างออกไป
” คือ……ผมก็ไม่รู้นะว่าสะท้อนอะไรยังไงบ้าง ไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้เลย คงยังไม่เจอมั้ง ให้คิดตอนนี้ก็ตอบไม่ได้ด้วย เพราะงานก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ อยากทำอะไรก็ทำ เปลี่ยนรูปแบบเปลี่ยนเทคนิคไปเรื่อยๆ คิดว่ายังคงค้นหาอยู่นะ เหมือนเรียนศิลปะมาทั้งชีวิตจนถึงตอนนี้ก็กำลังเรียนอยู่…เอ๊ะ!!หรือว่ามันสะท้อนออกมาว่า “เราชอบเราสนุกกับการค้นหาอะไรใหม่ๆ ชอบทดลอง ชอบแก้ปัญหากับโจทย์“ หรือจริงๆ แล้วเราแค่ “ขี้เบื่อ“….ขอบคุณครับที่ถามให้คิด เดี๋ยวต้องไปนั่งคิดดูแล้วล่ะครับ สรุปคือศิลปะสะท้อนตัวตนในด้านไหนเหรอ….น่าจะสะท้อนด้านที่ “ยังไม่มีตัวตนมั้ง“ เพราะไม่เคยหา“
ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับทุกวงการ เพราะการเข้ามาของเทคโนโลยีโลก วงการศิลปะเองก็หนีไม่พ้น มีผลงานหลายชิ้นจากหลากหลายศิลปินถูกสร้างด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ในฐานะคนสร้างงานศิลปะคนหนึ่งเขากลับมองว่า “ยิ่งมีเทคโนโลยีเข้ามารองรับการทำงานศิลปะมากเท่าไรยิ่งดีสิ มันน่าตื่นตาตื่นใจออก รูปแบบการเสพงานก็เปลี่ยนไปแล้ว อยู่ในออนไลน์ก็มี อย่าง NFT ที่เป็นกระแสกันมาพักใหญ่ๆ ใครชอบทำ ชอบเสพแบบไหนก็เสพไป อยากเสพแบบเดิมๆ ก็มีงานดีๆให้ดูเยอะ ชอบแบบใหม่ๆ ก็หาดูกันไปครับ“
มาถึงตรงนี้ ได้เห็นมุมมอง ความคิด ที่ต้องบอกเลยว่าเป็นการมองและคิดบวกมากแต่เมื่อถามว่าถ้าไม่ได้เรียนหรือทำงานที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ อยากเรียนหรือทำงานด้านไหน เจ้าตัวยังคงยื่นยันว่าชีวิตถูกขับเคลื่อนด้วยงานศิลปะมาตลอด
“ถ้าไม่ได้เรียนศิลปะผมก็ไม่รู้ว่าป่านนี้ตัวเองจะไปทำอะไรอยู่ที่ไหนเหมือนกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คิดและก็บอกกับคนอื่นมาตลอด เพราะตั้งแต่เด็กเป็นคนที่เรียนห่วยมาก เหมือนเรียนไม่รู้เรื่อง มีเรื่องเดียวที่ผมไม่เคยทิ้งเลยคือการวาดรูป ถ้าผมเขียนรูปไม่เป็นผมก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่าตอนนี้ผมจะเป็นใครทำอะไรอยู่ นึกไม่ออกจริงๆ ก็อย่างที่บอกตอนต้นว่าชีวิตผมถูกขับเคลื่อนด้วยศิลปะเริ่มจากแบบไม่รู้ตัวเป็นไปเองตามธรรมชาติ หลังจากนั้นศิลปะทั้งผลักทั้งพาผมไปในทุกช่วงชีวิตจนถึงตอนนี้ เป็นโชคดีของผมแล้วแหละที่ชอบศิลปะ
ผมชอบศิลปะทุกสไตล์ที่เป็นงานดีๆ มีคุณค่า แต่ที่สำคัญคือ “เป็นศิลปะ” นะ ส่วนศิลปินที่ผมชอบแล้วก็ชื่นชมผลงานนี่มีเยอะมากกกๆ ตอนวัยรุ่นก็ชอบแบบหนึ่ง พอวัยเปลี่ยนความชอบก็หลากหลายไปตามประสบการณ์
แต่ไอดอลด้านงานศิลปะของผมคือท่าน “ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี” แล้วก็ “ธรรมชาติ“
และก่อนที่จะแยกย้ายไปเสพงานศิลปะกัน คุณ Jekky Zoo สุรพร เลิศวงศ์ไพฑูรย์ มีสิ่งที่อยากฝากไว้กับคลื่นลูกใหม่ในวงการศิลปะได้อย่างน่าชื่นชมและต้องแอบอมยิ้มว่า
“ผมก็ไม่ได้เป็นศิลปินเบอร์ใหญ่ชื่อดังนามอุโฆษ เป็นคนรักการทำงานศิลปะคนหนึ่ง ถ้าจะให้ฝากอะไรก็คง ฝากเนื้อฝากตัวด้วยนะครับ“