พุทธญี่ปุ่น: การเปลี่ยนผ่าน สู่สีสันเคลือบคำสอนแห่งพระศาสดา’
เรื่อง: อภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์
พุทธไทย กระแสน้ำไหลกลับ
การตีความในความถูกต้องเหมาะสมของศาสนาพุทธในประเทศไทยนั้น ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นถี่ขึ้น บ่อยขึ้น และหนักหน่วงมากขึ้น แต่ทว่าไม่ได้มาในแบบมุมมองจารีตเท่านั้น เพราะถ้าเป็นเมื่อก่อนจะเห็นเฉพาะมุมมองในแบบปกป้องเสียส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเรื่องชาวต่างชาติกระทำการที่ไม่เหมาะสมกับพระพุทธรูปในประเทศไทย หรือแม้แต่ชาวตะวันตกนำเศียรพระไปเป็นเครื่องประดับตกแต่งบ้าน ซึ่งเป็นข่าวอยู่เนืองๆ
แต่วันนี้กลับเหมือนหนังคนละม้วน เพราะเนื้อหาในภาพยนตร์ซึ่งถูกระบุว่าทำให้ศาสนาเสียหายจนต้องตัดหรือห้ามฉาย กลับได้รับการต่อต้านจากผู้คนจำนวนไม่น้อยว่าเป็นภาพยนตร์และสะท้อนสังคมซึ่งไม่น่าจะเสียหายอะไร
ขณะเดียวกัน…ก่อนหน้านี้มีร้านขายขนมทำอาลัว หรือขนมหวาน โดยเลียนแบบพระเครื่องที่คนไทยเคารพบูชา ซึ่งครั้งนี้กระแสแบบจารีตถูกท้าทายจากการตีความของคนรุ่นใหม่ว่าไม่น่าจะเสียหาย เพราะเป็นศิลปะ เป็นเรื่องสมมุติ หรือแม้กระทั่งกล่าวแย้งด้วยว่า พระเครื่องไม่ได้เป็นสิ่งที่พุทธบัญญัติไว้
และกับกรณีที่ใกล้ที่สุด โดยถกเถียงกันมากที่สุดอีกครั้งหนึ่ง คือ การมี พส หรือ พระสงฆ์ชื่อดัง 2 รูป ออกไลฟ์สดแบบที่เอาเรื่องตลกนำ แล้วเอาคำสอนตาม ซึ่งว่ากันตามเนื้อผ้าแล้ว การใช้ช่องทางออนไลน์สมัยใหม่ และการเข้าถึงด้วยภาษาที่ง่ายนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเรื่องที่ดีเข้ากับยุคสมัย แต่การขอรับการสนับสนุนผ่านการโอนมายังบัญชีส่วนตัว พส เอง ในขณะไลฟ์สด และเนื้อหาที่เป็นคำสอนอันน้อยนิด เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันถึงความเหมาะสม
พุทธญี่ปุ่น กระแสน้ำไหลแรง
ผมเองในฐานะ ‘นักเดินทาง’ และมีความคุ้นเคยกับญี่ปุ่นเป็นพิเศษ จึงอยากขอบอกเล่าถึงปรากฏการณ์ของพระสงฆ์ในญี่ปุ่นว่า เขาเองก็เคยมีช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่ามันมีกระบวนการและขั้นตอนที่ไม่เหมือนกับบ้านเรา
ญี่ปุ่นเป็นพุทธในแบบมหายาน ที่เน้นการช่วยเหลือผู้คนและมองภาพใหญ่มากกว่า ขณะที่บ้านเรา คือ หีนยาน หรือ เถรวาท ซึ่งเน้นการหลุดพ้นในแง่ปัจเจกมากกว่า ซึ่งผมนั้นอาจไม่สามารถลงลึกไปกว่านี้ได้ เพราะเกรงว่าจะผิดพลาด แต่ที่มั่นใจ คือ พุทธในแบบบ้านเรานั้น หลักการจะเน้นที่ให้ใกล้เคียงกับพระธรรมวินัยมากที่สุด ตีความน้อยที่สุด และเหมือนเดิมมากที่สุด ส่วนในทางปฏิบัติจะเป็นอย่างไรคงต้องถกเถียงกันอีกนาน
กลับมาที่ญี่ปุ่น ซึ่งญี่ปุ่นเองเดิมก็มีความคิดความเชื่อที่หลากหลาย โดยส่วนใหญ่เป็นการสืบสานความเชื่อในแบบทั่วโลกที่เริ่มจากธรรมชาติ ภูตผี วิญญาณ และรับศาสนาพุทธมาจากทางอินเดีย ผ่านจีนอีกทอดหนึ่ง มาถึงตรงนี้เชื่อว่าหลายคนคงพอเห็นภาพแล้วว่า ญี่ปุ่นก็เหมือนกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ คือ นับถือทั้งสายพระและ สายผี เหมือนกับเวลาที่เราไปเที่ยวก็จะมีทั้งวัดและศาลเจ้านั่นเอง
สงคราม คือ ตัวเปลี่ยนผ่าน
ในช่วงก่อนสงครามโลก ความแข็งแรงของญี่ปุ่นอยู่ในขั้นสูงสุดอำนาจอยู่ภายใต้สมเด็จพระจักรพรรดิและกองกำลังทหารอย่างเต็มที่ซึ่งการที่จะทำให้อาณาจักรแดนอาทิตย์อุทัยแผ่ไพศาลได้มากขึ้นนั้นวิธีการสำคัญ คือการโน้มน้าวคนในชาติให้มีความมุ่งมั่น เด็ดเดี่ยวและกล้าหาญมากขึ้นภายใต้ชาตินิยมสุดโต่ง ซึ่งน่าจะไปถึงการสร้างแนวคิดแบบคลั่งชาติก็ว่าได้
กระนั้นจึงเป็นที่มาของการด้อยค่าศาสนาพุทธด้วยวิธีการต่างๆทั้งการลดทอนขนบธรรมเนียม ประเพณี และพิธีการ พิธีกรรมที่ไม่จำเป็น ซึ่งสำหรับพระสงฆ์ได้ถูกลดความศักดิ์สิทธิ์ โดยออกกฎใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องโกนหัว สามารถแต่งงานมีครอบครัวได้ รวมถึงการฉันเนื้อสัตว์ก็ไม่ได้เป็นข้อห้ามอีกต่อไป
ขณะเดียวกันก็เชิดชูลัทธิชินโต ที่เทิดทูนจิตวิญญาณของบรรพบุรุษมาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางใจแทนศาสนา โดยมีสมเด็จพระจักรพรรดิเป็นศูนย์รวมแห่งความศักดิ์สิทธิ์หนึ่งเดียว แล้วหล่อหลอมคนในชาติให้ร่วมต่อสู้เพื่อญี่ปุ่นในความหมายของชาติที่ยิ่งใหญ่ในฐานะลูกพระอาทิตย์ที่ต้องออกไปรบด้วยแนวคิดชินโตเพื่อรัฐและชินโตแห่งสงคราม
โดยเมื่อชินโตแห่งสงครามถึงขีดสุดในสมัยเมจิ ชินโตแห่งรัฐก็ได้ขยายอิทธิพลทั้งอำนาจและแนวคิดมากขึ้น จนเรียกได้ว่ามีการกวาดล้างความเป็นศาสนาพุทธในญี่ปุ่นแบบเกือบถอนราก ในปี 1870 ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน พระสงฆ์ได้กลายเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกำลังรบในสงครามแห่งแผ่นดินอาทิตย์อุทัย
พระโดยอาชีพ เป็นคำตอบ
หลังสงครามโลก ญี่ปุ่นไม่ได้อยู่ในฐานะผู้ชนะ ขณะที่ศาสนาพุทธได้ถูกทำให้หายไปจากลมหายใจของคนญี่ปุ่นเป็นเวลานาน พระสงฆ์ที่ยังคงเหลืออยู่หลังสงครามในบางนิกายก็ปรับตัวจนเป็นประชาชนธรรมดาที่ปฏิบัติธรรมมีครอบครัวบ้าง และยังทำพิธีกรรมบ้าง แต่ทั้งหมดไม่ได้เดินตามกรอบหรือแนวทางที่เคยถูกกำหนดไว้ในอดีตพระสงฆ์ในบริบทใหม่ของญี่ปุ่นหลายคนจึงกลายเป็นอาชีพ และกับบางคนหรือบางรูปอาจจะเรียกได้ว่าเป็น ‘พระสงฆ์พาร์ตไทม์’ ซึ่งแม้ว่าความศักดิ์สิทธิ์จะหายไป แต่สำหรับผมนั้น คุณค่า และความหมายยังคงมีอยู่
เพราะสิ่งที่ถูกกำหนดให้เป็นบทบาทของพระสงฆ์ โดยมุมมองของคนญี่ปุ่น คือ การเป็นผู้เผยแพร่คำสอนและผู้ทำพิธีกรรม ซึ่งจะทำสิ่งไหนมากน้อยกว่ากันนั้น ไม่มีกติกาใดๆ เป็นข้อกำหนด
วงดนตรีพระในแบบเทคโนที่ใช้ชื่อว่า ‘Tariki Echo’ เป็นหนึ่งในผลลัพธ์ของความพยายามในการฟื้นฟูพระศาสนา ซึ่งแน่นอนว่าถ้าหากมองในแบบบริบทของสังคมไทย ต้องถูกวิพากษ์ว่าไม่เหมาะสม เพราะเรื่องของการแสดงออก และวิธีการนำเสนอผ่านเครื่องมือทางดนตรีและแสงสีในแบบเร้าอารมณ์นั้น ไม่ใช่สิ่งที่คนไทยจะรับได้ ขณะที่ญี่ปุ่นนั้น เรียกได้ว่าเป็นการมองข้ามความเหมาะสมของรูปแบบ โดยเน้นไปที่ความพยายามจะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด
ซึ่งโจทย์ที่ถูกตั้งไว้ คือ ประชาชนอยู่ตรงไหน หลวงพี่จะเข้าไปยังสถานที่แห่งนั้น และในบางครั้งก็มีการจัดงาน โดยเป็นการ Collaboration กับการทำสมาธิท่ามกลางเสียงเพลงและเสียงสวดแบบเร้าใจอีกด้วย ผมเองได้มีโอกาสติดตามฟังเพลงและรับชมผ่านทาง YouTube รู้สึกว่าท่วงทำนองความมีจังหวะซ้ำๆ ของบทสวดนั้น แม้ว่าจะกระแทกไปบ้างแต่ก็ช่วยเรื่องสมาธิ และความจดจ่อได้ดีทีเดียว
ไม่แพ้กัน คือ ‘Tera Cafe’ แห่งกรุงโตเกียว ซึ่งถือกำเนิดขึ้นบนหลักการเดียวกัน คือ เมื่อคนเข้าวัดน้อยลง หรืออาจจะเรียกได้ว่ารู้จักวัดเฉพาะไปงานศพ ซึ่ง หลวงพ่อโซเคียว มิยูระ มองว่าน้อยเกินไป และทำให้ผู้คนห่างเหินกับคำสอน จึงได้ริเริ่มและดำเนินการเปิดคาเฟ่ที่มีบริการอาหารในแบบมังสวิรัติที่พระสงฆ์ฉันในแบบดั้งเดิม รวมถึงรายการอาหารสมัยใหม่ทั้งเมนูที่ทำจากเนื้อสัตว์ขนมหวาน และเครื่องดื่มตามยุคสมัย เรียกว่าไม่ได้เป็นแค่ร้านอาหารที่ดำเนินการโดยพระสงฆ์เท่านั้น เพราะคุณสามารถเข้ามาขอคำปรึกษาแลกเปลี่ยน พูดคุย สนทนาธรรมหรือร่วมกิจกรรมที่ทางร้านจัดขึ้นตามปฏิทินได้หมด
ผมเองนั้นเคยมาที่นี่ในปี 2018 ได้มีโอกาสเห็นภิกษุณีที่ดูเต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตา สนทนากับลูกค้าของร้านอย่างเป็นกันเอง ขณะที่ผมก็นั่งกินขนมหวานเหมือนลูกค้าอื่นๆ ที่ขอเข้ามาแอบสังเกตการณ์เท่านั้น
ที่ผมเล่าเรื่องราวของพระพุทธศาสนาในแบบที่ก้าวข้ามความศักดิ์สิทธิ์แบบไทยๆ โดยชี้ให้เห็นถึงก้าวย่างของการเปลี่ยนแปลงในญี่ปุ่นไปแล้วขอทิ้งท้ายสักนิดสำหรับคนไทยที่ชอบไปเที่ยวญี่ปุ่นเป็นปกติวิสัย หากมีโอกาสไปโตเกียวครั้งหน้า ถ้าอยากเห็นความยิ่งใหญ่ความพยายามในการให้ลัทธิชินโตก้าวขึ้นมานำศาสนาพุทธ จนกลายมาเป็นชินโตแห่งการเมือง และชินโตแห่งสงคราม ให้ไปที่ ‘ศาลเจ้ายาสุคุนิ’ สถานที่แห่งวีรชนทหารกล้าที่แทบทุกคนก่อนออกรบจะต้องมาสักการะโดยที่ไม่รู้ว่าชีวิตจะลงเอยอย่างไร ขณะเดียวกันที่นี่ก็เป็นที่สวนสนามของนักบินพลีชีพบนฝูงบินคามิกาเซะ โดยสามารถไปทำความรู้จักกับกำลังรบของญี่ปุ่นที่มิวเซียมซึ่งอยู่ติดกับศาลเจ้าได้ในคราวเดียวกัน
และสำหรับใครที่อยากไปย้อนอดีตของความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา ผมอยากจะแนะนำให้ไปที่ ‘คามากุระ’ ซึ่งพระพุทธศาสนาหลายนิกายได้เติบโต และงอกงามที่นี่อย่างแข็งแรง โดยยังคงมีวัดขนาดใหญ่มากมายในเมืองและ ท่ามกลางป่าสนในพื้นที่ต่างๆ
ซึ่งทั้งหมดขอแนะนำให้ท่านจบทริปด้วยการนมัสการพระใหญ่ ‘ไดบุสสึ’ ที่มีชื่อเสียงที่สุด พร้อมๆ กับซื้อของที่ระลึกที่เป็นรูปองค์พระ และนั่งรับประทานขนมหวานที่ร้าน ‘KANNON COFFEE kamakura’ แล้วท่านจะได้สัมผัสถึงความย้อนแย้ง และหลากหลายในการตีความเหมาะสมของพระพุทธ-ศาสนาในญี่ปุ่นที่ชวนให้เข้าถึงแก่น โดยผ่านการเลาะเปลือกซึ่งเต็มไปด้วยสีสันที่เคลือบคำสอนของพระศาสดาเอาไว้