บทเรียนของอิรักและคิวบา ที่เวเนซุเอลาและชาติอื่นต้องรับรู้
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สหรัฐฯ ส่งกองกำลังเข้าไปแทรกแซงการเมืองประเทศอื่นๆ ในแต่ละครั้งก็ส่งผลที่แตกต่างกัน แต่สองบทเรียนที่สำคัญ และได้บทสรุปแล้วก็คือคิวบาและอิรัก นี่คือเรื่องจริงที่เคยเกิดขึ้นกับทั้งสองประเทศ ที่ไม่แน่ว่าเหตุการณ์ในอนาคตของเวเนซุเอลาอาจเหมือนหรือต่างจากนี้
Reasons to Read
- จากปัญหาเงินเฟ้อจนก่อให้เกิดความไม่สงบในประเทศเวเนซุเอลา ทำให้สหรัฐอเมริกาตัดสินใจเตรียมส่งกองกำลังทหาร 5,000 นาย เข้าประจำการ หาก นายนิโคลัส มาดูโร ไม่ลาออก ท่ามกลางกระแสของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปที่ผ่อนผันให้นายมาดูโรจัดการเลือกตั้งใหม่
- นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สหรัฐฯ ส่งกองกำลังเข้าไปแทรกแซงการเมืองประเทศอื่นๆ ในแต่ละครั้งก็ส่งผลที่แตกต่างกัน แต่สองบทเรียนที่สำคัญ และได้บทสรุปแล้วก็คือคิวบาและอิรัก นี่คือเรื่องจริงที่เคยเกิดขึ้นกับทั้งสองประเทศ ที่ไม่แน่ว่าเหตุการณ์ในอนาคตของเวเนซุเอลาอาจเหมือนหรือต่างจากนี้
หลังจาก นายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ รับอักษรสาส์นตราตั้งจาก นายคาร์ลอส อัลเฟรโด เวกชิโอ ก็เท่ากับว่าสหรัฐฯ ยอมรับบุคคลนี้เป็นอุปทูตคนใหม่ ที่สำคัญคือเป็นคนที่แต่งตั้งโดยผู้นำฝ่ายค้านของเวเนซุเอลา
ในขณะที่ จอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว ก็ทำเนียนโชว์ข้อความส่งทหาร 5,000 นาย สู่โคลอมเบีย ระหว่างอ่านแถลงการณ์มาตรการคว่ำบาตรเวเนซุเอลา ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากทั้งรัสเซียและจีน เหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก และแน่นอนว่าไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่สหรัฐฯ จะส่งทหารเข้าไปยุ่มย่ามกับกิจการภายในของประเทศอื่นๆ อย่างแน่นอน หากครั้งนี้เราจะมาย้อยนรอย กับสองบทเรียนจากสองประเทศ ที่ครั้งหนึ่งสหรัฐฯ เคยส่งทหารเข้าไปแทรกแซง
คิวบา
ผู้นำประเทศ : ฟิเดล คาสโตร
สถานะ : วีรบุรุษ
วิกฤตการณ์คิวบาเป็นเหตุการณ์ที่รวมความสำคัญหลายๆ อย่างเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งสงครามตัวแทน ช่วงเวลาที่โลกเฉียดสงครามนิวเคลียร์ รวมไปถึงการแทรกแซงเพื่อประชาธิปไตยที่แพ้ไม่เป็นท่าของสหรัฐฯ
เรื่องราวนี้เริ่มต้นขึ้นในปี 1960 หลังจากที่ นายฟุลเฮนซิโอ บาติสตา ผู้นำที่ผูกขาดอำนาจในคิวบามาเกือบ 10 ปี แถมมีความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐฯ ถูก นายฟิเดล คาสโตร ผู้นำกลุ่มปฎิวัติคิวบา โค่นล้มอำนาจลงได้ เขาผลักดันประเทศให้กลายเป็นคอมมิวนิสต์ ยึดกิจการต่างๆ ให้กลายมาเป็นของรัฐ ยึดแม้กระทั่งกิจการของกลุ่มทุนสหรัฐฯ
เมื่อเรื่องกลายเป็นแบบนี้ แถมคิวบาก็อยู่ห่างจากชายฝั่งไมอามีไปไม่เท่าไหร่ ดูแล้วเป็นภัยต่อสหรัฐฯแน่ๆ นายดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในขณะนั้น จึงจัดซ้อมกำลังพลพิเศษ หวังส่งไปสยบคาสโตร แต่บังเอิญหมดวาระเสียก่อน แต่กำลังพลที่ซ้อมก็ไม่เสียเปล่า ประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี ก็เข้ามารับไม้ต่อ ส่งทหารเข้าสู่คิวบาจนได้
วันที่ 15 เมษายน 1961 สหรัฐฯ เปิดฉากด้วยเครื่องบินทิ้งระเบิด ก่อนส่งทหาร 1,500 นายขึ้นฝั่งที่หาดฮิรอน (Playa Girón) เมื่อวันที่ 16 เมษายน 1961 ทางฝ่ายคิวบาที่ก็มีการเตรียมพร้อมอยู่แล้ว โดย ฟิเดล คาสโตร มาสั่งการรรบด้วยตัวเอง การสู้รบครั้งนี้กินเวลาประมาณ 3 วัน ในที่สุดฝ่ายคิวบาก็ได้รับชัยชนะขับไล่กองกำลังสหรัฐฯ ออกไปได้ หลังจากนั้นเหตุการณ์นี้ได้ชื่อว่า Bay of Pigs Invasion และ ฟิเดล คาสโตร ก็กลายเป็นวีรบุรุษของชาวคิวบา
ส่วนเสริม : หลังจากนั้นสงครามเย็นก็ร้อนระอุไม่สมชื่อ ด้วยสหรัฐฯ ส่งขีปนาวุธหัวรบนิวเคลียร์ไปตั้งที่อิตาลี เรียกว่าประชิดเขตปกครองโซเวียต ในขณะที่โซเวียตเองก็ขนมาไว้ที่คิวบาเช่นเดียวกัน อีกทั้งเตรียมส่งมาเพิ่มทางเรือ ประธานาธิบดีเคนเนดีก็ไม่รอช้า ส่งกองเรือรบมาสกัดเอาไว้ เรือของโซเวียตมาถึงแนวกั้นแล้ว แต่ก็เปลี่ยนใจในนาทีสุดท้าย ไม่ฝ่าแนวกั้นของกองเรือสหรัฐฯ ไม่อย่างนั้นละก็ เปิดฉากสงครามนิวเคลียร์แน่นอน เรียกได้ว่าครั้งนั้นโลกรอดพ้นมาได้แบบเส้นยาแดงผ่าแปดเลยทีเดียว
อิรัก
ผู้นำประเทศ : ซัดดัม ฮุสเซน
สถานะ : ถูกแขวนคอตาย เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2006
ครั้งหนึ่ง ซัดดัม ฮุสเซน เคยเป็นวีรบุรุษของชาวอิรัก ด้วยแนวคิดการปกครองแบบรวมชาติอาหรับ โดยไม่อ้างอิงกับหลักศาสนา จึงทำให้อิรักเป็นประเทศที่มีความเจริญ ประชาชนกินดีอยู่ดี แต่ก็มาพลาดตรงที่เหิมเกริมบุกคูเวตในสงครามอ่าวเปอร์เซีย นับจากนั้นมาเศรษฐกิจของอิรักก็แย่ลง แต่เขาก็ยังเป็นประธานาธิบดีที่คนรัก แม้จะมีคนชังก็ตาม
เรื่องราวอันเป็นชนวนให้สหรัฐฯ ส่งทหารเข้าไปแทรกแซงอิรักเริ่มต้นขึ้นในปี 2003 โดยเหตุการณ์ครั้งนี้มีชื่อว่า ‘สงครามอิรัก’ หรือ ‘ปฎิบัติการณ์เสรีภาพอิรัก’ โดยทางสหรัฐฯ นำโดยประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช และสหราชอาณาจักรโดย นายกรัฐมนตรี โทนี แบลร์ มีความเห็นพ้องต้องกันว่า มีแนวโน้มที่อิรักจะครอบครองอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศอื่นๆ (แม้จะมีข่าวลือหนาหูว่า ปฏิบัติการนี้เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำมันก็ตาม) กองทัพผสมระหว่างสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และโปแลนด์ จึงเกิดขึ้นเพื่อบุกอิรัก ในวันที่ 19 มีนาคม 2003
การปฎิบัติการณ์ครั้งนี้ของสหรัฐได้รับการคัดค้านจากนานาประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ฝรั่งเศส เยอรมนี นิวซีแลนด์ เพราะต่างก็เห็นว่าหลักฐานไม่เพียงพอที่จะบอกว่าอิรักครอบครองอาวุธร้ายแรงที่เป็นภัยขนาดนั้น รวมถึงประชาชนจำนวนมากที่รวมตัวเพื่อต่อต้านสงคราม จนได้รับการบันทึกลงกินเนสบุ๊กว่า การชุมนุมของประชาชนกว่าสามล้านคน ที่กรุงโรมระหว่างวันที่ 12-15 กุมภาพันธ์ 2006 เป็นการชุมนุมต่อต้านสงครามที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา
การสู้รบจบลงในวันที่ 9 เมษายน 2006 หลังกองกำลังผสมบุกยึดกรุงแบกแดดเมืองหลวงเอาไว้ได้ ในขณะที่การค้นหาตัวผู้นำที่หลบหนียังคงดำเนินต่อไป พร้อมๆ กับความวุ่นวายจากสารพัดกลุ่มในประเทศที่ก่อตัวขึ้น จนกระทั่งวันที่ 13 ธันวาคม ในปีเดียวกันจึงสามารถตามจับตัวซัดดัมได้
ในปี 2005 มีการออกรายงานแถลงผลการตรวจค้นอาวุธในอิรักว่า ไม่พบอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง! แต่ถึงกระนั้น ซัดดัม ฮุสเซน ก็ยังต้องโทษประหารจากคำตัดสินเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2006 จากคดีคดีสังหารหมู่ชาวชีอะห์ 148 คน ที่เมืองดูเญลเมื่อปี 1982
ส่วนเสริม : หลังจากกองกำลังผสมสามารถบุกยึดอิรัก และขจัดอำนาจที่อยู่มายาวนานของซัดดัมลงได้ แต่ก็มีการต่อสู้ระหว่างฝ่ายต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย จนความสงบไม่เคยเกิดขึ้นในอิรักอีกเลย ถึงขนาดที่กาชาดประกาศว่า สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในอิรักยังอยู่ในระดับวิกฤตที่สุดในโลกด้วย จนทหารสหรัฐฯ ยังต้องปฎิบัติการอยู่ในอิรักถึงปี 2011 จึงประกาศถอนกองกำลังออกทั้งหมด รวมถึงลดธงออกจากกรุงแบกแดด แต่การต่อสู้ก็ยังคงเกิดขึ้นจนถึงปัจจุบัน
เห็นได้ว่า ส่งไปสองครั้ง ผลก็ออกมาแตกต่างกัน ก็ไม่รู้ว่าครั้งนี้ที่พี่เขาเตรียมเอาไว้ 5,000 คน ผลจะออกมาอย่างไร นายมาดูโรจะมีอนาคตเป็นอย่างไร เงินเฟ้อของเวเนซุเอลาจะมีจุดสิ้นสุดอย่างไร และจะส่งผลอะไรกว้างขึ้นหรือเปล่า ก็เป็นสถานการณ์ที่เราต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดนักเขียน : พีริยา อากาศแจ้ง