สัมภาษณ์ ‘ยูวาล ฮารารี’ ความท้าทายของมนุษย์ ผ่านหนังสือปรากฏการณ์ระดับโลก Sapiens
คงไม่เกินเลยนักที่จะบอกว่า หนังสือที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์ของมนุษย์ อย่างหนังสือ Sapiens: A Brief History of Humankind (ตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาฮีบรูในปี พ.ศ.2554) คือหนังสือที่เป็นปรากฏการณ์ระดับโลกที่มียอดขายทั่วโลกมากกว่า 8 ล้านเล่มแปลออกมาเป็นไทยโดยสำนักพิมพ์ยิปซี) เป็นหนังสือที่คนดังอย่าง บารัค โอบามา, บิลล์ เกตส์ และมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ต่างก็เคยหยิบมาอ่าน และในตอนนี้ริดลีย์ สก๊อตต์ โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ของฮอลลีวูด กำลังจะนำเนื้อหาในหนังสือ nonfiction เล่มนี้ให้กลายเป็นภาพยนตร์
หนังสือ Sapiens เขียนโดยนักวิชาการประวัติศาสตร์ชาวยิว-ยูวาล โนอาห์ ฮารารี(Yuval Noah Harari) ที่ตั้งใจให้หนังสือเล่มนี้บอกเล่าถึงประวัติศาสตร์โลกในอดีต ก่อนที่จะเขียนหนังสือเล่มต่อมา Homo Deus: A Brief History of Tomorrow (ตีพิมพ์ในปี พ.ศ.2559) จะพูดถึงเรื่องอนาคต ว่าเทคโนโลยีต่าง ๆ อย่างเช่น ปัญญาประดิษฐ์ จะมีอิทธิพลอย่างไรต่อการเมือง วัฒนธรรม และศาสนา
ช่วงเดือนกรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา “ยูวาล” ได้เดินทางมาที่สิงคโปร์ และได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนชาวไทยได้สัมภาษณ์เขา ซึ่งในวงสัมภาษณ์นี้ประกอบไปด้วย ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ผู้อำนวยการฝ่ายเผยแพร่วิทยาศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ผู้แปลหนังสือเล่มนี้ฉบับภาษาไทย, สิรนันท์ ห่อหุ้ม คอลัมนิสต์ด้านวรรณกรรมจากหนังสือพิมพ์มติชน และณัฐกร เวียงอินทร์ บรรณาธิการ GM Live ผู้เรียบเรียงบทสัมภาษณ์นี้
ตลอดระยะเวลาหนึ่งชั่วโมงที่ยูวาลสัมภาษณ์ นอกจากเราจะได้พูดคุยกันลึก ๆ ในเรื่อง เบื้องลึกการเขียนหนังสือ Sapiens, การทำสมาธิของตัวยูวาลผู้เขียนเองซึ่งมีผลกับงานเขียนค่อนข้างมาก, อดีตจะส่งผลต่อการเมือง วัฒนธรรม และศาสนา ในอนาคตได้อย่างไร ไปจนถึงความยากลำบากในช่วงแรกของการตีพิมพ์หนังสือซึ่งต้องใช้เวลาหลายปีในการทำให้สำนักพิมพ์ภาษาอังกฤษเปิดใจรับหนังสือเล่มนี้
ที่น่าสนใจคือ ผู้เขียนยังย้ำอยู่เสมอ ตลอดระยะเวลาที่ให้สัมภาษณ์ว่า สำนึกของการเชื่อมโยงผู้คนให้มองภาพรวมในระดับโลก(Global) เป็นสิ่งสำคัญมากในโลกยุคนี้ เพราะเรา(ในฐานะประเทศ) ไม่สามารถที่จะอยู่บนโลกใบนี้อย่างโดดเดี่ยวโดยที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภายนอกเลย วิกฤติเศรษฐกิจในจีน อาจจะทำให้คนอีกฝั่งโลกอย่าง อิสราเอลตกงานก็เป็นได้
นี่คือความสำคัญของการที่เราต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์โลกเพื่อตระหนักถึงความเชื่อมโยงในส่วนนี้…
อย่างน้อยที่สุดมันก็เชื่อมโยงให้คนไทยกลุ่มหนึ่งเดินทางมาสิงคโปร์เพื่อคุยกับนักเขียนชาวอิสราเอลที่หนังสือของเขาอย่าง Sapiens เริ่มต้นจากภาษาฮีบรู ก่อนจะเป็นภาษาอังกฤษ แล้วถูกแปลไปทั่วโลกมากกว่า 45 ภาษา ในแง่นี้ ผู้คนมากมายจากหลากหลายประเทศนั้นล้วนแล้วแต่ถูกเชื่อมโยงผ่านหนังสือที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์(มนุษย์)โลกเล่มนี้
และนี่คือ บทสัมภาษณ์กับสื่อไทยเป็นครั้งแรกของยูวาล โนอาห์ ฮารารี กับหนังสือแห่งยุคของเขา Sapiens: A Brief History of Humankind
GM Live: การทำสมาธิ มีผลต่องานเขียนของคุณอย่างไรบ้าง?
ยูวาล: ผมคิดว่ามันมีผลต่อผมอย่างมาก อย่างแรกเลย การทำสมาธิมาก ๆ ทำให้ผมสามารถโฟกัสกับงานได้มากกว่า และหากผมไม่สามารถโฟกัสในงานได้ มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเขียนหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของโลกขนาดยาวนี้ได้ เพราะว่าคุณจะมีเรื่องที่ทำให้วอกแวกอยู่ตลอดเวลา มันเป็นเรื่องสำคัญมากในการอ่านและการเขียน การพยายามที่จะโฟกัสการเขียนเรื่องประวัติศาสตร์ที่มีความยาว 500 หน้า ไม่ใช่งานง่าย ซึ่งการทำสมาธิช่วยทำให้ความคิดของผมแหลมคมและจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำครับ
และอีกเหตุผลหนึ่งที่ผมคิดว่าการทำสมาธิมีอิทธิพลต่อผม นั่นคือ การทำสมาธิของผมเรียกว่าการวิปัสนาในแบบพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท คล้ายกับการทำสมาธิของคนไทย ที่ให้ความสำคัญอย่างมากกับสิ่งที่เรียกว่า ศีล การทำสมาธิโดยไม่มีศีลกำกับจะไม่ได้ผล ผมคิดว่าการทำสมาธิแบบนี้มีผลต่อแนวทางในการเขียนของผม ยกตัวอย่างเช่น ส่วนที่ผมชอบ ในงานหนังสือของผม คือการพูดถึงเรื่องความทุกข์ ความสุข ในเล่มนี้พูดถึงความทุกข์และความสุขของสัตว์โลก ที่ไม่ใช่เฉพาะมนุษย์ แต่เป็นความทุกข์ความสุขของสัตว์อื่นๆ ด้วย เรื่องการวิปัสนาจึงมีอิทธิพลอย่างมากในการทำความเข้าใจในประเด็นนี้
GM Live: อะไรคือสิ่งที่คุณคิดว่าเราต้องรับผิดชอบ ต่อการเป็นนักเขียนแนวประวัติศาสตร์ ทั้งต่อตัวเอง อาชีพ สังคม และอนาคตของมนุษยชาติ?
ยูวาล: ผมคิดว่า สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องรับผิดชอบคือ การเขียนงานให้อยู่บนพื้นฐานขอบเขตความรู้ทางวิทยาศาสตร์ แต่เป็นความรู้ที่เผยแพร่สู่สาธารณะแล้วคนอ่านเข้าใจ เพราะว่า นักวิทยาศาสตร์ พวกเขาทำการวิจัย พวกเขาเขียนหนังสือ เขียนบทความ ซึ่งเป็นงานที่เข้าใจในแวดวงของพวกเขาเอง นักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งเขียนให้นักวิทยาศาสตร์อีกคนอ่าน มันเต็มไปด้วยภาษาที่มีความซับซ้อน ไม่มีใครอื่นที่สามารถเข้าใจได้
ประเด็นนี้มันสำคัญมาก ในการทำให้ความรู้เรื่องเหล่านี้เผยแพร่สู่สาธารณะ สู่คนทั่วไป นี่คือบทบาทของผม ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ หลายอย่างที่ผมเขียนในหนังสือเล่มนี้ ไม่ใช่การวิจัยของผม เวลาที่ผมเขียนถึงมนุษย์โบราณนีแอนเดอร์ทัล ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ แต่ผมอ่านงานของนักวิทยาศาสตร์ท่านอื่น และผมพยายามสื่อสารความรู้เหล่านี้ให้กับนักอ่านทั่วไปให้ชัดเจนเท่าที่จะเป็นไปได้ เมื่อคนพูดกับคนทั่วไป ความชัดเจนเป็นเรื่องที่สำคัญ นี่คือความรับผิดชอบของผมที่จะต้องแน่ใจว่า ผมเขียนงานที่ใช้ภาษาเรียบง่าย ชัดเจน ทำให้ผู้คนอ่านแล้วเข้าใจได้
สำหรับประสบการณ์ของผม ถ้าคุณไม่สามารถอธิบายบางอย่างด้วยภาษาที่เรียบง่าย ชัดเจนได้ นั่นอาจจะหมายความว่า คุณไม่เข้าใจเรื่องนั้นด้วยตัวของคุณเอง และในบางครั้ง คนที่ไม่เข้าใจบางอย่างอย่างชัดเจน พวกเขาจะซ่อนมันไว้ด้วยการใช้คำที่มันดูซับซ้อน ดังนั้น ผู้อ่านจึงคิดว่า โอว…มันต้องมีบางอย่างที่เราไม่ฉลาดพอที่จะเข้าใจมันแน่ ๆ แต่ความเป็นจริง มันซับซ้อนเพราะว่าผู้คนไม่เข้าใจว่าคุณพูดเรื่องอะไรต่างหากล่ะ
เพราะฉะนั้น ความรับผิดชอบในฐานะนักเขียนที่มีต่อคนอ่านของผมคือ ผมต้องมั่นใจว่าผมเข้าใจมันจริงๆ แล้วใช้ความพยายามอย่างที่สุดในการเขียนงานให้ชัดเจนที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และความรับผิดชอบที่มีต่อนักวิทยาศาสตร์ นั่นคือ ถ้าคุณไม่เข้าใจอะไรบางอย่าง ต้องพูดให้ชัดเจนว่า “คุณไม่รู้” บางครั้งที่คุณพบกับผู้เชี่ยวชาญทางด้านศาสนา เมื่อผู้คนไม่รู้เรื่องบางอย่าง พวกเขาจะประดิษฐ์ทฤษฎีขึ้นมาใหม่โดยไม่มีพื้นฐานมาจากอะไรเลย ไม่มีหลักฐาน ไม่มีการทดลอง พวกเขาแค่ประดิษฐ์อะไรบางอย่างขึ้นมาเพราะว่าพวกเขาไม่สามารถพูดออกมาว่า “พวกเขาไม่รู้” ได้
แต่สำหรับผม เมื่อคุณไม่รู้ ก็บอกให้ชัดเจนว่าไม่รู้ เหมือนกับตอนที่ผมเขียนหนังสือเล่มนี้ มีหลายเรื่องที่ผมบอกว่า ไม่รู้ ยกตัวอย่างเช่น ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง ทำไมในประวัติศาสตร์ของสังคมมนุษย์ ผู้ชายถึงมีอำนาจเหนือกว่าผู้หญิง ผู้หญิงอยู่ใต้บังคับบัญชาผู้ชายในทางการเมือง เศรษฐกิจ และกฎหมาย ทฤษฎีโดยทั่วไปที่คุณได้ยินจากผู้คน ก็คือว่าผู้หญิงมีความแข็งแรงทางร่างกายน้อยกว่าผู้ชาย ซึ่งมันไม่สมเหตุสมผล เพราะว่าในสังคมมนุษย์ โดยทั่วไป พลังอำนาจมันขึ้นอยู่กับทักษะทางสังคม(Social Skill) ไม่ใช่พลังอำนาจทางร่างกาย บ่อยครั้งไปที่เรามีนักการเมืองคนสำคัญ นักธุรกิจผู้ยิ่งใหญ่ ผู้นำทางศาสนา ไม่ได้มาจากมนุษย์ที่ร่างกายแข็งแรงที่สุด แต่มาจากคนที่อายุมากกว่า อายุ 50 60 70 ปี ผู้เขาเป็นคนปกครองเพราะมีทักษะทางสังคมระดับที่เหนือกว่า และสำหรับกรณีที่ว่า ทำไมผู้หญิงส่วนใหญ่ถึงอยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้ชาย? คำตอบคืออะไร เพราะในหลายกรณี ผู้หญิงมีทักษะทางสังคมที่ดีกว่าผู้ชาย ผู้หญิงเข้าใจมุมมองของคนอื่น มีความประนีประนอม สร้างพันธมิตร เพราะฉะนั้น คำตอบสำหรับคำถามนี้ก็คือ พวกเราไม่รู้เหมือนกันว่าเพราะอะไร ในปัจจุบัน ระดับของการวิจัยทางวิทยาศาสตร์นี่เป็นคำถามที่ใหญ่มาก มันโอเคที่เราจะพูดว่า เราไม่รู้คำตอบนี้ เป็นคำถามที่รอให้ผู้คนที่สนใจใคร่รู้ติดตามไปวิจัยและสืบสวนต่อไป นี่คือสิ่งที่ผมรับผิดชอบในฐานะนักเขียนที่มีต่อนักวิทยาศาสตร์
และสุดท้าย ผมพูดในสิ่งที่เกริ่นถึงเมื่อสักครู่ คือมุมมองที่มีต่อหลักจริยธรรม โดยเฉพาะเมื่อคุณเขียนงานทางประวัติศาสตร์ คุณไม่สามารถเขียนมันได้โดยปราศจากพื้นฐานทางจริยธรรม ศีลธรรม เพราะว่าทุกทางเลือกที่คุณสร้างขึ้นมา ในความเป็นจริงมันควรมีทางเลือกทางจริยธรรมขึ้นมาควบคู่ด้วย คุณสามารถออกแบบวัตถุประสงค์ในการเขียนได้ ออกแบบได้ว่าอะไรถูก อะไรผิดได้ อย่างเช่น เมื่อใดที่มีการปฏิวัติเกษตรกรรมเกิดขึ้น เมื่อใดที่มนุษย์เริ่มมีการเพาะปลูกในครัวเรือน? บางคนอาจจะบอกว่า เมื่อ 20,000 ปีที่แล้ว บางคนอาจจะพูดว่า 10,000 ปีที่แล้ว หรือบางคนอาจจะบอกว่า 5,000 ปีที่แล้ว คุณสามารถเดินไปหาหลักฐานได้ อาจจะไปหาหัวข้อวิจัยทางโบราณคดีเพื่อหาคำตอบที่ถูกต้องสำหรับประเด็นนี้
แต่คำถามของพวกเราก็คือ การออกแบบประเด็นที่จะเขียน นอกจากจะเป็นการหาคำตอบดังกล่าวแล้ว ควรจะมีประเด็นอื่นที่คุณสนใจหาคำตอบในมุมมองทางด้านจริยธรรมด้วย นี่คือประเด็นที่ชัดเจนที่สุดในการโฟกัสสิ่งที่จะเขียน โดยเฉพาะการเขียนประวัติศาสตร์โลกที่มีความยาว 500 หน้า ผมสามารถตัดสินใจว่าจะพูดถึงเรื่องนี้ แต่ผมจะไม่พูดถึงเรื่องนั้น นี่คือการตัดสินใจทางจริยธรรม ยกตัวอย่างเช่น เมื่อผมพูดถึงการปฏิวัติทางการเกษตรกรรม ผมจะออกแบบว่า นอกจากพูดถึงเรื่องความก้าวหน้าของมนุษย์แล้ว ผมจะพูดถึงว่าอะไรที่เกิดขึ้นกับสัตว์ต่างๆ บ้าง พูดถึงความเจ็บปวด ความทุกข์ของวัว ของไก่ จากการปฏิวัติทางการเกษตรกรรม บางคนอาจจะบอกว่าไม่ต้องเขียนเรื่องนี้ก็ได้ ผมควรจะพูดถึงแต่เรื่องมนุษย์อย่างเดียว แต่ผมเลือกที่จะมีตัวเลือกด้านจริยธรรมมาใช้ด้วย หากไม่มีมุมมองทางจริยธรรม คุณจะไม่สามารถเขียนหนังสือประวัติศาสตร์จริง ๆ ได้เลย
GM Live: นั่นหมายความว่าคุณมีประเด็นที่ต้องการเขียนถึงอยู่ในใจอยู่แล้วก่อนที่จะเริ่มลงมือเขียนใช่ไหม?
ยูวาล: ในมุมนี้ก็ใช่ งานเขียนของผมมักจะมีมุมมองทางจริยธรรม มีสองคำถามที่คุณต้องตอบเวลาที่คุณเขียนหนังสือประวัติศาสตร์ นั่นคือ อะไรคือเรื่องจริง? และอะไรคือเรื่องสำคัญ? อะไรคือเรื่องจริง คุณสามารถหาได้จากหลักฐานที่มี แต่วิธีตอบคำถามว่า อะไรคือเรื่องสำคัญ? คุณไม่สามารถเขียนหนังสือโดยปราศจากการคัดเลือกประเด็นว่า อะไรที่สำคัญหรืออะไรที่ไม่สำคัญ? อยากเช่น คุณจะออกแบบงานเขียนให้มีแต่เรื่องมนุษย์ หรือควรเขียนเรื่องที่เกิดกับสัตว์ด้วย หรือเราควรจะสนใจแต่เรื่องของกษัตริย์ ราชินี และจักรพรรดิ หรือควรจะเขียนเรื่องประชาชนธรรมดาไปด้วย สิ่งเหล่านี้คือคำถามในเชิงจริยธรรมที่คุณต้องตอบเวลาที่เขียนเรื่องประวัติศาสตร์
GM Live: คุณมีตัวชี้วัดอะไรที่บอกกับตัวเองไหม ว่าคุณมีข้อมูลเพียงพอที่จะหยุดอ่านหนังสือ แล้วเริ่มลงมือเขียนแล้ว?
ยูวาล: เป็นคำถามที่ดีครับ บ่อยครั้งที่ผมอ่านหนังสือหรือบทความมาได้ระยะหนึ่ง แล้วผมรู้สึกว่าไม่มีประเด็นอะไรใหม่และเหมือนผมจะเคยได้ยินเรื่องนี้มาแล้ว นี่คือตัวชี้วัดว่า โอเคแล้ว ผมเข้าใจประเด็นเพียงพอที่จะเขียนถึงมันแล้ว แน่นอนว่า เวลาคุณเขียนประวัติศาสตร์ทั่วๆ ไปอย่างที่ผมทำ คุณไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในหัวข้อเรื่องนั้นๆ คุณเพียงแต่เข้าถึงข้อมูลบางอย่างที่คุณเขียนได้มากกว่าเรื่องพื้นฐานที่ผิวเผิน ซึ่งนั่นอาจจะมีข้อผิดพลาดก็ได้ และเมื่อมีใครบางคนมองเห็นข้อผิดพลาดนี้ ผมรู้สึกไม่มีปัญหาในการพูดถึงข้อผิดพลาดดังกล่าวและแก้ไขให้มันถูกต้อง และคุณควรหยุดทำงานสักระยะ ทั้งๆ ที่คุณรู้ว่ายังคงมีหลายสิ่งหลายอย่างที่คุณไม่เข้าใจ แล้วกลับมาเขียนต่อ
GM Live: ประเด็นเรื่องเวลาเขียนหนังสือ มีข้อจำกัดไหม?
ยูวาล: ใช่ครับ ผมใช้เวลาสามปีในการเขียนหนังสือเล่มนี้ ผมอาจจะต้องใช้เวลามากกว่านี้ในการเริ่มต้นศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของจีนทั้งหมด แต่เมื่อผมต้องเขียนประวัติศาสตร์ของทั้งโลก คุณต้องตั้งข้อจำกัดด้านเวลาในการเขียนให้กับตัวคุณเอง
GM Live: อะไรที่ถือว่าเป็นประเด็นที่ใหม่ในหนังสือ Sapiens ที่คุณต้องการแนะนำผู้อ่าน?
ยูวาล: ผมคิดว่ามีสองความคิดที่สำคัญที่สุดในหนังสือ Sapiens อาจจะไม่ใช่ความคิดใหม่เสียทีเดียวแต่มันยังคงใหม่สำหรับงานเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์โลกโดยทั่วไป อย่างแรก คือ ผมให้ความสำคัญมาก ๆ ในเรื่องการจินตนาการถึงเรื่องแต่งในทางชาติพันธุ์วิทยา บ่อยครั้งที่นักวิทยาศาสตร์ให้ความสำคัญในการใช้เครื่องมือหาความรู้อย่างเช่น ภูมิศาสตร์ ประชากรศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ หรืออะไรทำนองนี้ และเนื้อหาหลักของหนังสือ Sapiens ที่พูดถึงพลังอำนาจของมนุษยชาติโดยใช้เครื่องมือเหล่านี้ร่วมกันในการหาความรู้ดังกล่าว ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของเรื่องจินตนาการ(Mythology) และเรื่องแต่ง(Fictional Story) อยู่เสมอ
ไม่เว้นแม้แต่เรื่องการเมือง ศาสนา เศรษฐกิจ มันต้องอาศัยการประนีประนอมของคนจำนวนมากที่เชื่อในเรื่องราวเดียวกัน และเรื่องราวนี้ โดยทั่วไปอยู่บนพื้นฐานของการใช้พลังอำนาจของมนุษย์ที่ใช้ในการขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ ที่ชัดเจนที่สุดก็กรณีศาสนา มีเรื่องราวของพระเจ้า คัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ หรืออะไรทำนองนี้ หรือเรื่อง ชาติ ก็เป็นเรื่องแต่งเช่นกัน เรื่องของชาติไม่ใช่ความจริงในเชิงภววิสัย(Objective Reality) แต่เป็นเรื่องราวที่ประดิษฐ์ขึ้นโดยมนุษย์ มันคงอยู่ตราบเท่าที่ผู้คนจำนวนมากเชื่อในเรื่องราวเดียวกัน นี่คือหนึ่งในความคิดที่ค่อนข้างใหม่สำหรับหนังสือ Sapiens
ความคิดหลักอีกอย่างในหนังสือเล่มนี้ คือการตั้งคำถามในเรื่อง ความสุขและความทุกข์ เพราะโดยทั่วไป เมื่อนักประวัติศาสตร์เขียนประวัติศาสตร์ พวกเขาจะสนใจกับคำถามในเรื่องพลังอำนาจ เลยกลายเป็นประวัติศาสตร์แห่งอำนาจที่พูดถึงเรื่องของ จักรพรรดิ หรือนักการเมือง อย่าง จูเลียส ซีซาร์, เจงกิส ข่าน หรือฮิตเลอร์ ว่าพวกเขาขึ้นสู่อำนาจได้อย่างไร? หรือพวกเขาบรรยายว่าองค์กรต่าง ๆ มีพลังอำนาจได้อย่างไร อย่างเช่น คริสตจักร เป็นต้น ในหนังสือของผม มันก็ใช่, ที่ประเด็นพลังอำนาจก็ยังสำคัญ แต่เรื่องของประวัติศาสตร์ มันไม่ได้มีแต่ประวัติศาสตร์ของอำนาจ มันยังเกี่ยวข้องกับคำถามต่อประเด็นความสุขและความทุกข์ ว่าอำนาจเข้าไปมีอิทธิพลกับเรื่องเหล่านี้ได้อย่างไร
ผมหมายถึง มีผู้คนจำนวนมากมีความคิดง่ายๆ ว่า ในเชิงปัจเจก ถ้าคุณมีอำนาจ คุณจะมีความสุขมากกว่า แต่มันไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป คนที่มีอำนาจมากที่สุดก็ไม่ใช่ว่าจะมีความสุขมากที่สุด ผมไม่คิดว่า โดนัลด์ ทรัมป์ หรือวลาร์ดีเมียร์ ปูติน คือบุคคลที่มีความสุขมากที่สุดในโลก ถึงแม้จะดูว่าเป็นเช่นนั้น(หัวเราะ) ในระดับภาพรวม มนุษยชาติคือกลุ่มที่มีอำนาจที่มากมายในช่วงเวลามากกว่าสองพันปีที่ผ่านมา พวกเรามีพลังอำนาจมากกว่าในยุคหิน แต่มันไม่ใช่เรื่องดีนักที่จะแปลความหมายเรื่อง อำนาจ ว่าเป็น ความสุข แล้วไม่ใช่จะมองว่าคนยุคนี้จะมีความสุขมากกว่าในอดีต ประเด็นนี้สำคัญสำหรับผมอย่างมากกับการเขียนหนังสือ Sapiens ในการเขียนเรื่องราวที่ซับซ้อน ที่ไม่ได้โฟกัสแต่การเกิดขึ้นของอำนาจในมนุษย์ แต่ต้องพูดถึงเรื่องความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างอำนาจ(power) และความสุข
GM Live: คุณมีความกังวลใจในการบอกเล่าประวัติศาสตร์ในรูปแบบนี้หรือไม่ อย่างไร?
ยูวาล: ผมไม่รู้จักทุกที่บนโลกนี้ ผมไม่รู้ว่าประเทศไทยเป็นอย่างไร แต่ผมก็รู้บางเรื่องในประเทศของผมอย่างอิสราเอล หรือหลายๆ ประเทศที่ผมเคยไป หนังสือเล่มนี้มันจึงโฟกัสไปที่ประวัติศาสตร์โลกที่ผู้คนเรียนที่โรงเรียน หรือที่คุณเห็นเสมอในโทรทัศน์ ข้อมูลมันจะเยอะเกินไปหากจะพูดถึงประวัติศาสตร์ชาติในระดับท้องถิ่นด้วย ผู้คนทั่วไปอาจจะเรียนรู้เพียงแค่ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมในประเทศของพวกเขาเองเท่านั้น แต่พวกเขาไม่ได้รู้ประวัติศาสตร์ในทุกเรื่องที่เหลือของมนุษยชาติ
ในโรงเรียนของประเทศอิสราเอล เราเรียนทั้งหมดเพียงแค่ประวัติศาสตร์ของอิสราเอล ประวัติศาสตร์ของคนยิว เราเรียนเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับผู้คนกลุ่มอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกับยิวกับอิสราเอล ดังนั้น เราจึงเรียนเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะมันเกี่ยวกับยิว แต่เราจะไม่เคยได้ยินอะไรในชั้นเรียนเกี่ยวกับเรื่องของสงครามในเอเชียตะวันออก เกี่ยวกับญี่ปุ่น สิงคโปร์ คือพอไม่ใช่เรื่องของยิว ก็ดูเหมือนจะไม่สำคัญเลย
และที่ไม่ต่างกัน เราเรียนเกี่ยวกับเรื่องจักรวรรดิโรมัน เพราะมันเกี่ยวข้องกับเรื่องที่อาณาจักรยิวถูกทำลาย แต่เราไม่ได้เรียนอะไรเกี่ยวกับอาณาจักรจีนเลย ผมคิดว่าเรื่องเหล่านี้ ถ้าเป็นในอดีต ก็สมเหตุสมผลนะครับ สำหรับผู้คนที่จะเริ่มเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์จากเรื่องราวของชาติตัวเอง เพราะมันเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของตนเอง แต่ในวันนี้ ที่เราเชื่อมโยงกับสังคมโลก และไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน เมืองไทย อิสราเอล หรือสิงคโปร์ ชีวิตของคุณ ส่วนหนึ่ง ชีวิตคุณก็จะถูกกำหนดจากสิ่งที่เกิดขึ้นที่อีกซีกโลกหนึ่งของคุณ อย่าง ถ้าเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในจีน ทุกคนจะมองเห็นมัน ผู้คนในอิสราเอลอาจจะตกงานเพราะวิกฤติเศรษฐกิจที่จีนนี้ ในวันข้างหน้า การที่ไม่รู้ประวัติศาสตร์โลกจึงอาจจะกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก
หนึ่งในเหตุผลที่ผมเขียนหนังสือของผม Sapiens นั่นก็เพราะว่า ช่วยให้ผู้คนทั่วโลกทำความเข้าใจกับประวัติศาสตร์โลกให้มากกว่านี้ และมันไม่ใช่ประวัติศาสตร์เฉพาะของแต่ละประเทศ แต่ละวัฒนธรรม
GM Live: คุณคิดว่าการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในแบบเดิมดังที่ว่ามา มันจะนำไปสู่ความเป็นชาตินิยมหรือไม่?
ยูวาล: ใช่ครับ มันไม่ได้มาจากเพียงแค่คุณเรียนประวัติศาสตร์ของตนเอง แต่มันมาจากการที่คุณเห็นโลกทั้งโลกหมุนรอบตัวและชาติของคุณเอง ถ้าคุณไปเรียนหนังสือเป็นเวลาสิบปี คุณเรียนแต่เพียงประวัติศาสตร์ของประเทศตนเอง คุณก็จะมีข้อสรุปอย่างชัดเจนว่าประเทศของคุณคือสิ่งสำคัญที่สุดในโลก เพราะเป็นเรื่องเดียวที่คุณพูดถึง ซึ่งนี่ล่ะที่จะทำให้ผู้คนมีมุมมองที่เป็นชาตินิยมด้วยการมองว่าชาติของเราสำคัญที่สุด และมันจะส่งผลกระทบอย่างชัดเจนกับมุมมองทางการเมืองที่พวกเขาจะสนใจแต่ผลประโยชน์ของชาติตัวเอง มันไม่มีอะไรผิดที่เราจะสนใจผลประโยชน์ของชาติ มันเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ปัญหาคือ เมื่อมองในระดับโลก มันจะกลายเป็นปัญหาเพราะปัญหาระดับโลกมันกระทบถึงชาติอื่น อย่างเช่น ปัญหาโลกร้อน อาจจะทำให้น้ำทะเลสูงขึ้น ซึ่งมันอาจจะไม่ใช่ข่าวดีสำหรับประเทศหมู่เกาะอย่างสิงคโปร์ (สถานที่ที่กำลังให้สัมภาษณ์) ก็ได้
พวกเราต้องทำอะไรเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน แต่พวกเราไม่สามารถที่จะทำอะไรได้เพียงในเฉพาะระดับชาติ ถึงแม้ว่ารัฐบาลสิงคโปร์จะออกแบบอุปกรณ์ที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกต้นเหตุของภาวะโลกร้อน แล้วกลายเป็นชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สุดในโลก แต่ถ้าคนอเมริกันหรือรัสเซียอยากจะไม่ทำอย่างเดียวกัน มันก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมแผ่นดินสิงคโปร์ได้ ดังนั้น หากเราไม่มีความร่วมมือกันในระดับโลก ก็ไม่สามารถจัดการกับปัญหาโลกร้อนได้
GM Live: ก่อนหน้านี้ที่คุณพูดถึงศาสนาพุทธ คุณคิดว่าศาสนาพุทธกับวิทยาศาสตร์เหมือนหรือต่างกันอย่างไร?
ยูวาล: ศาสนาพุทธมีการตีความแตกต่างกันในหลายแบบ ตามแต่ละนิกาย และผมได้ฝึกสมาธิในแบบพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่า วิปัสสนา แต่นับตั้งแต่ 2,500 ปีจากการปรากฏพระองค์ขึ้นมาของพระพุทธเจ้า ได้มีศาสนาพุทธเกิดขึ้นมาหลายนิกาย อย่างเช่น มหายาน เถรวาท เซน และผู้คนแต่ละนิกายมีความคิดที่แตกต่างกันเกี่ยวกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ บางที่อาจจะบอกว่า หากคุณสวดชื่อพระพุทธเจ้าซ้ำกันสองพันครั้งคุณจะเกิดใหม่ในชาติภพที่บริสุทธิ์ ผมไม่ได้เรียกตัวเองว่าชาวพุทธ เพราะเรื่องราวที่เกิดขึ้นในตำราศาสนา ผมไม่รู้ว่าใครแต่งขึ้น หรือพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ ผมไม่ทราบ
สิ่งที่ผมเรียนจากอาจารย์ คือ ศาสนาพุทธทำให้คุณมีประสบการณ์โดยตรงกับการปฏิบัติที่คุณสามารถเชื่อถือมันได้ด้วยตัวเอง การฝึกสมาธิอย่างแรกคือการกำหนดลมหายใจเข้าออก พอหายใจเข้า คุณจะรู้ว่าหายใจเข้า ลมหายใจออก คุณจะรู้ว่าลมหายใจออก นี่คือสิ่งที่คุณสามารถเชื่อถือได้ คุณไม่จำเป็นต้องเชื่อกูรูหรือคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ใด ๆ แต่นี่คือประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริงกับตัวคุณเอง และขณะที่คุณนั่งสมาธิในระดับลึก คุณจะได้ทำความรู้จักกับความจริงเกี่ยวกับจิต เกี่ยวกับตัวคุณเอง ยกตัวอย่างเช่น วิธีการการตัดความคิดที่จะทำให้เกิดทุกข์ ความทุกข์เป็นผลผลิตจากจิตเราเอง เกิดจากโลกภายนอก นี่คือปฏิกิริยาของจิตเราเอง เวลาที่เราเรียนรู้จากตำราหรืออาจารย์ เราอาจจะเชื่อหรือไม่เชื่อ แต่ถ้าคุณสร้างประสบการณ์ให้ตัวคุณเองด้วยการนั่งสมาธิวันละสี่ชั่วโมงต่อวัน สังเกตจิตของคุณ และคุณเข้าใจว่าจิตของคุณกำลังทำอะไรอยู่
มาดูจิตของเราเองทำงานอย่างไร อย่างเช่น ดูว่าเรากำลังนั่งสมาธิ ปิดตา เราอาจจะจำได้ว่าใครกำลังว่าเรา แล้วเราเริ่มโกรธ ทั้งร่างกายรู้สึกร้อนรุ่ม เสียใจ มีความโกรธ เครียดกับตัวเอง ทำไมเราจึงทำแบบนี้ แต่การทำสมาธิจะช่วยทำให้เราเข้าใจจิต ไม่ใช่เพราะว่าอาจารย์พูดเช่นนี้ แต่มาจากประสบการณ์ของเราเอง มาดูกันซิ ว่าเราเจ็บปวดได้อย่างไร
แต่ถ้าเป็นเรื่อง มีใครบอกว่า หลังจากที่คุณตาย คุณจะเกิดใหม่เป็นปิศาจ คุณจะเกิดเป็นกบ ถ้าคุณทำชั่ว นี่คือเรื่องที่ผมไม่สามารถมีประสบการณ์กับมันได้ ถ้าเราไม่มีประสบการณ์ตรงกับมัน เราไม่มีหลักฐานโดยตรงที่จะสามารถเชื่อเรื่องเหล่านี้ได้ ในประเด็นนี้ผมจะอยู่ฝั่งวิทยาศาสตร์
GM Live: แล้วสรุปว่า ศาสนาพุทธกับวิทยาศาสตร์เหมือนหรือต่างกันอย่างไร?
ยูวาล: ศาสนาพุทธนั้นมีส่วนที่แตกต่างกันหลายส่วนมากมายตามแต่ละนิกาย แตกต่างกันทั้งอาจารย์ เทคนิคการปฏิบัติธรรม บางส่วนของศาสนาพุทธก็สอดคล้องกันอย่างสมบูรณ์แบบกับวิทยาศาสตร์ ในหลาย ๆ ลักษณะ ศาสนาพุทธเลยดูเข้ากันดีกับวิทยาศาสตร์มากกว่าศาสนาอื่น ยกตัวอย่างเช่น กรณีศาสนาคริสต์หรือยูดาห์ จะเชื่ออย่างแรงกล้าในเรื่องตัวตน ในวิญญาณของแต่ละคนจะมีแก่นกลางที่ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นนิรันดร์ แต่สำหรับศาสนาพุทธ มันไม่ใช่ ไม่มีเรื่องตัวตน มันเป็นเพียงแค่กระบวนการการเปลี่ยนแปลง ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้ ไม่มีอะไรที่ไม่เปลี่ยนแปลง นี่คือสิ่งที่ใกล้เคียงกับวิทยาศาสตร์ในเรื่องชีววิทยาในวันนี้ คือไม่มีวิญญาณ ไม่มีตัวตนที่เที่ยงแท้ มีเพียงการเปลี่ยนแปลง และเมื่อเทียบกับคริสต์และยูดาห์ พวกเขาพูดว่าโลกมีอายุเพียงแค่ไม่กี่พันปีเพราะว่าเพิ่งถูกสร้างเมื่อห้าพันปีที่แล้ว แต่ศาสนาพุทธบอกว่าโลกนี้มีมานานหลายกัปหลายกัลป์(ระยะเวลาที่ยาวนานมาก) หลายพันล้านปี ซึ่งคล้ายกับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่
แต่ในอีกลักษณะหนึ่ง ศาสนาพุทธกับวิทยาศาสตร์ก็แตกต่างกัน ศาสนาพุทธแบบดั้งเดิมในหลายนิกาย เชื่อในชาติภพในอดีตและในอนาคต ซึ่งถูกเชื่อมโยงกันด้วยกรรม ซึ่งฟังดูไกลจากวิทยาศาสตร์เพราะไม่มีหลักฐานรองรับ เรื่องนี้ จะถูกหรือจะผิด ผมก็ไม่รู้ แต่นี่คือเรื่องที่ทำให้คอนเซ็ปต์ศาสนาพุทธและวิทยาศาสตร์แตกต่างกันอย่างมาก
GM Live: เรามาสู่ยุคของโรบอต ยุคของ AI (ปัญญาประดิษฐ์) คุณมีความเห็นอย่างไรต่อความสัมพันธ์ในอนาคตระหว่างมนุษย์และโรบอต ซึ่งคนหลายคนอาจจะกลัว หลายคนอาจจะสนับสนุน?
ยูวาล: มันก็เหมือนกับการปฏิวัติเทคโนโลยีครั้งใหญ่ที่เคยเป็นมานั่นล่ะครับ มันจะมีทั้งความเห็นที่เป็นบวกมาก ๆ และลบมาก ๆ ไม่มีการปฏิวัติครั้งใหญ่ครั้งไหนที่มีแต่ผลกระทบด้านลบหรือด้านบวกแต่อย่างเดียว ดังนั้น บางอย่างอาจจะดีก็ได้ อย่างถ้าคุณนึกถึงรถยนต์ที่ไร้คนขับ ทุกวันนี้ ทุกๆ ปี จะมีคนประมาณ 1.25 ล้านคนที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ทั่วโลก และสาเหตุหลักที่ใหญ่ที่สุดของอุบัติเหตุนี้คือความผิดพลาดของมนุษย์ อย่างเช่น การดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถ บางคนหลับขณะขับรถ จนทำให้เกิดอุบัติเหตุ ถ้าเราเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไร้คนขับ ก็จะมีคนประมาณล้านคนต่อปีที่ปลอดภัยจากอุบัติเหตุทางท้องถนน ซึ่งมันเป็นเรื่องที่มหัศจรรย์มาก ๆ แต่ในอีกมุมหนึ่ง มันอาจจะมีปัญหา และเป็นอันตรายกับตลาดแรงงานแน่นอน หากเราใช้รถยนต์ไร้คนขับ แล้วคนขับรถแท็กซี่ คนขับรถบรรทุก คนขับรถบัสทั้งหมดอาจจะไม่มีงานทำ
อาจจะมีอาชีพใหม่เกิดขึ้นมา แต่คนจำนวนมากจะปรับตัวได้ไหม อาจจะมีงานใหม่ที่ฐานการผลิตไม่ได้อยู่ในประเทศเดิมแล้ว ในศตวรรษที่ 20 ก่อนหน้านี้ มีการย้ายฐานการผลิตจากประเทศที่พัฒนาแล้วไปสู่ประเทศที่กำลังพัฒนา จากฐานการผลิตที่อเมริกา เยอรมนี สหราชอาณาจักร ย้ายมาที่ไทย เวียดนาม บังคลาเทศ แต่ในประเทศที่เศรษฐกิจกำลังพัฒนาจำนวนมาก ทำงานอยู่บนพื้นฐานการใช้แรงงานคนในราคาถูก ต้นทุนการผลิตในไทยถูกกว่าเยอรมนี ดังนั้นจึงสมเหตุสมผลแล้วที่ย้ายโรงงานจากเยอรมนีมาที่ไทย
แต่ตอนนี้ กำลังจะเกิดอะไรขึ้น? เมื่อมีการปฏิวัติเทคโนโลยี มีการใช้โรบอต AI เข้ามาทำงาน ผลก็คือ แรงงานราคาถูกจะไม่สำคัญอีกต่อไปแล้ว เราอาจจะได้เห็นโรงงานทั้งหมดย้ายกลับสู่เยอรมนีหรืออเมริกา เพราะเราไม่จำเป็นต้องมีคนทำงานอีกต่อไป เราต้องการแค่คนเขียนโค้ดคอมพิวเตอร์ แต่ฐานของคนทำงานมันอยู่ที่ซิลิคอนวัลเลย์ เราอาจจะเห็นสถานการณ์อย่าง ฐานการผลิต ในประเทศไทย เวียดนาม หรือบังคลาเทศ กำลังจะล่มสลาย แล้วผู้คนจำนวนมากไม่ได้รับการฝึกสอนทักษะสำหรับเศรษฐกิจใหม่ พวกเขาไม่รู้วิธีการเขียนโค้ดคอมพิวเตอร์ และมันจะทำให้เศรษฐกิจในประเทศที่ต้องพึ่งพาแรงงานราคาถูกนั้นล่มสลาย นี่จึงเป็นอันตรายที่ใหญ่หลวงมากครับ
มันจำเป็นต้องมีความร่วมมือระดับโลก และนโยบายใหม่ๆ ของรัฐบาลในการฝึกทักษะใหม่ให้กับผู้คน โดยเฉพาะกับในระบบการศึกษา เราควรสอนเด็กๆ ในโรงเรียนให้เรียนรู้ทักษะใหม่ อย่างเรื่องการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เราจำเป็นต้องคิดเรื่องพวกนี้อย่างใส่ใจในวันนี้ เพราะเด็กในวันนี้ จะเป็นแรงงานในตลาดแรงงานในอนาคตในศตวรรษที่ 21
GM Live: ตอนคุณเขียนหนังสือ Sapiens คุณได้จินตนาการไหมว่า หนังสือเล่มนี้จะมีผลกระทบอันใหญ่หลวงต่อโลกใบนี้? (ขายได้มากกว่า 8 ล้านเล่มทั่วโลก)
ยูวาล: ไม่ครับ ตอนแรก ที่จริงแล้วผมเขียนหนังสือเล่มนี้เป็นภาษาฮิบรู ตั้งใจจะขายเฉพาะในอิสราเอล แล้วก็คิดว่า ในอิสราเอลไม่น่าจะเป็นหนังสือขายดี น่าจะเป็นหนังสือขายในมหาวิทยาลัยมากกว่า แต่ต่อมากลายเป็นว่ามันประสบความสำเร็จอย่างมาก ผมคิดว่านั่นเป็นเพราะว่า ในหนังสือมันมีคำตอบที่ผู้คนอยากรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ซึ่งมันไม่ใช่แต่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น แต่มันเป็นประวัติศาสตร์โลก
แต่สำหรับการทำให้หนังสือได้รับการแปลเป็นภาษาอื่น มันยากมาก อย่างการแปลเป็นภาษาอังกฤษแล้วต่อมาถึงแปลจากการอังกฤษเป็นภาษาอื่นอีกที ช่วงเวลานั้นไม่มีสำนักพิมพ์ภาษาอังกฤษสำนักพิมพ์ไหนต้องการนำหนังสือเล่มนี้มาแปลเป็นเวลาหลายปีทีเดียวครับ ดังนั้น สามีของผม(my husband) ซึ่งเป็นผู้จัดการของผมด้วย มีความเชื่อมั่นในหนังสือเล่มนี้อย่างแรงกล้า บอกกับผมว่า หนังสือเล่มนี้จะเป็นปรากฏการณ์ที่น่าอัศจรรย์ แต่เราจำเป็นต้องหาสำนักพิมพ์ที่ถูกต้องให้ได้ เขาจึงตามหาตัวแทนสำนักพิมพ์ดี ๆ ที่สามารถตีพิมพ์หนังสือฉบับแปลภาษาอังกฤษให้ได้ แต่มีสำนักพิมพ์ภาษาอังกฤษมากมายที่ไม่เชื่อในหนังสือเล่มนี้ มีสำนักพิมพ์หนึ่งบอกกับเราว่า ถ้าจะขายคงขายได้เพียงสองพันเล่มเท่านั้น(หัวเราะ) แต่แล้วเราก็หาสำนักพิมพ์ที่ดีที่ตีพิมพ์งานเราฉบับภาษาอังกฤษได้ในที่สุด
เมื่อวานนี้(สัมภาษณ์ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2561) ผมได้รับอีเมล์ว่า ตอนนี้เฉพาะที่สหราชอาณาจักร ขายหนังสือเล่มนี้ไปแล้ว 2 ล้านเล่ม หลังจากความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สหราชอาณาจักร หลังจากนี้ ในการพิมพ์หนังสือแปลในภาษาอื่น ผมก็หวังว่าจะประสบความสำเร็จแบบนี้เช่นกัน
GM Live: แสดงว่าลึก ๆ คุณก็คาดหวังว่าหนังสือเล่มนี้ จะเป็นหนังสือขายดี?
ยูวาล: ผมมองว่า ในตอนแรกผมกะขายเฉพาะที่อิสราเอลนะ(หัวเราะ) นี่เลยกลายเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจอย่างมาก ที่มันกลายเป็นหนังสือขายดีทั่วโลก คือตอนนี้มีโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ของทางฝั่งฮอลลีวูด อย่าง ริดลีย์ สก็อตต์ ติดต่อมา อยากจะนำเนื้อหาจากหนังสือเล่มนี้มาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์แล้วครับ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาจะทำหนังออกมาแบบไหน เพราะผมถนัดแต่เขียนหนังสือ ไม่ได้ถนัดทำหนัง(หัวเราะ) พวกเรามารอดูกันดีกว่าว่าเขาจะทำเป็นหนังได้อย่างไร
GM Live: หลังจากที่คุณเขียนหนังสือ Sapiens แล้ว คุณเขียน Homo Deus: A Brief History of Tomorrow เป็นเล่มต่อมา ทั้งสองเล่มนี้มีวิธีคิดในการเขียนหนังสือต่างกันอย่างไร?
ยูวาล: แตกต่างกันค่อนข้างมากครับ หนังสือ Sapiens เป็นเรื่องของอดีต ส่วน Homo Deus เป็นเรื่องของอนาคต มันจึงมีมุมมองที่แตกต่างกันอย่างมากมาย ไม่มีใครรู้เกี่ยวกับอนาคต แต่ในอดีต คุณสามารถหาข้อมูลได้ด้วยการอ่านหนังสือเกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ทั้งสองเล่มนี้ก็มีความคิดที่เชื่อมโยงกันอยู่ อย่างเช่น เรื่องของการให้ความสำคัญกับประเด็นความทุกข์ความสุข เรื่องของพื้นฐานเนื้อหาที่มาจากเรื่องแต่ง(fiction) และเรื่องที่จินตนาการขึ้นมา(Mythology)
แต่เมื่อผมมองไปที่เรื่องอนาคตใน Homo Deus แม้ว่าจะมองเรื่องอย่าง AI(ปัญญาประดิษฐ์) หรือ พันธุวิศวกรรม เป็นแก่นกลางของเนื้อหา แต่ผมไม่ได้สนใจในลักษณะเชิงเทคนิคของสิ่งเหล่านี้ ผมไม่รู้เรื่องคอมพิวเตอร์ ไม่รู้เรื่องการเขียนโค้ดโปรแกรม แต่สิ่งที่ผมสนใจในอนาคตคือ เทคโนโลยีจะมีอิทธิพลอย่างไรต่อการเมือง วัฒนธรรม และศาสนา ผมจะนำประสบการณ์ของผมมาเขียนเรื่องราวเหล่านี้ นี่คือจุดเชื่อมโยงกันระหว่าง Sapiens และ Homo Deus
GM Live: มีแผนสำหรับหนังสือเล่มต่อไปอย่างไรบ้างครับ?
ยูวาล: หนังสือเล่มใหม่มีแผนจะออกมาเร็ว ๆ นี้ ชื่อว่า 21 Lessons for the 21st Century ผมเขียนหนังสือเล่มหนึ่งว่าด้วยเรื่องของอดีต เล่มหนึ่งว่าด้วยเรื่องของอนาคต คราวนี้เล่มที่สามจะเป็นเรื่องปัจจุบัน เรื่องของศตวรรษที่ 21 แล้วครับ ประเด็นที่เขียนจะเป็นเรื่องกระแสในปัจจุบัน อย่างเช่นเรื่อง โดนัลด์ ทรัมป์, สงครามการค้า, การก่อการร้ายอะไรทำนองนี้
GM Live: มีอะไรจะฝากบอกนักอ่านชาวไทยที่รอคอย Sapiens ฉบับแปลไทยบ้างไหมครับ?
ยูวาล: ผมมีความสุขมากครับสำหรับการมีหนังสือเล่มนี้ฉบับภาษาไทย ผมอยากจะบอกว่า ทุกวันนี้เราค้นพบว่าตัวเองอยู่ในสังคมที่เชื่อมถึงกันทั้งโลก ผมคิดว่า ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน ไทย อเมริกา เราจำเป็นต้องมีมุมมองที่เชื่อมต่อถึงกันในระดับโลกนี้ เพราะว่า ถ้าเราไม่สามารถเข้าใจโลกในทุกวันนี้ ถ้าเราไม่สามารถเข้าใจประเด็นใหญ่ ๆ ที่เขาโต้แย้งกันในยุคของเรา มันเป็นความคิดที่แย่มาก ที่ผู้คนจำนวนมากจะถูกทิ้งไว้ข้างหลังจากการโต้แย้งกันในเรื่องใหญ่ ๆ เกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ ภาวะโลกร้อน เรื่องอนาคตของมนุษยชาติเหล่านี้ เพราะว่าไม่มีใครที่อยู่นอกวงโต้แย้งนี้ แม้ว่าจะไม่มีใครถามคุณว่า คุณคิดอย่างไรกับเรื่องประเด็นถกเถียงที่ว่ามา? แต่คุณก็ยังคงได้รับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้น ดังนั้น มันจึงสำคัญกับทุกคนในการมีส่วนร่วมกับสิ่งเหล่านี้ เพราะมันคือสิ่งที่จะกำหนดอนาคตของทุกคนในวันข้างหน้า
นักเขียน : ณัฐกร เวียงอินทร์