fbpx

จารุพรรณ กุลดิลก Woman in RED

ว่ากันว่า กุนซือเบื้องหลังนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทยมีอยู่หลายคน แต่ที่น่าจับตามองมีอยู่สองคน ทั้งสองคนมีชื่อพยางค์แรกว่า ‘จา’ คนหนึ่งเป็นผู้ชาย ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นผู้หญิง ฝ่ายชายจะเป็นใครนั้น-คุณคงคาดเดาได้ไม่ยาก, ส่วนอีกคนหนึ่ง-คุณไม่จำเป็นต้องคาดเดา เพราะ GM ชวนเธอมานั่งสนทนาให้คุณได้รู้จักอยู่ตรงนี้แล้วเธอคือ จารุพรรณ กุลดิลก

หลายคนคุ้นนามสกุลนี้จากชื่อ พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก ผู้เป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมของรัฐบาลชุดนี้ แน่นอน-นั่นคือบิดาของเธอ บางคนวิจารณ์ว่า การที่จารุพรรณมีรายชื่ออยู่ในปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 56 ซึ่งจัดว่าสูงพอสมควรนั้น-ส่วนหนึ่งเป็นอิทธิพลของบิดาไม่ว่าใครจะว่าอย่างไร GM เห็นว่าผู้หญิงคนนี้น่าสนใจ ไม่ใช่เพราะบิดาของเธอ ทั้งไม่ใช่เพียงเพราะเธอเป็นนักการเมืองและเป็นคนเสื้อแดงเต็มตัว

แต่ในอีกหลายมิติของชีวิต ผู้หญิงคนนี้ยังเป็นวิศวกร, เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ ที่สำคัญ, เธอสนใจมิติด้านจิตวิญญาณถึงขนาดปฏิบัติธรรม ภาวนา และเกือบบวชเป็นภิกษุณีที่หมู่บ้านพลัมในฝรั่งเศสตามสายการปฏิบัติของท่านติช นัท ฮันห์ มาแล้ว นอกจากนี้ ยังเคยเป็นสมาชิกกลุ่มจิตวิวัฒน์ ซึ่งมี ศ.นพ.ประเวศ วะสี เป็นหนึ่งในผู้นำกลุ่มและเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งศูนย์สันติวิธีร่วมกับ อ.โคทม อารียา ด้วย ยิ่งย้อนประวัติกลับไปก่อนหน้าจะยิ่งทึ่ง เพราะสมัยเรียนมหาวิทยาลัย เธอเก่งกาจขนาดคว้าแชมป์หมากรุกสากลของมหาวิทยาลัยมหิดล ควบคู่กับชนะเลิศกีตาร์โฟล์คซอง รางวัล Coke Music Award อันเป็นความใฝ่ฝันของวัยรุ่นจำนวนมากด้วยหลายมิติที่หลอมรวมอยู่ในตัว ทั้งวิทยาศาสตร์

จิตวิญญาณ ธรรมะ การเมือง ดนตรี ตรรกะ ประชาธิปไตย การต่อสู้ สันติวิธี และอะไรต่อมิอะไรอีกมาก ทำให้ GM อยากสนทนากับ Woman in RED คนนี้ ว่าจากวิทยาศาสตร์ เธอหันเหตัวเองเข้าสู่ธรรมะได้อย่างไร

และจากจิตวิวัฒน์กับสันติวิธี อะไรทำให้เธอกลายมาเป็นคนเสื้อแดง กระทั่งเปลี่ยนก้าวย่างจากนักการศึกษามาเป็นนักการเมืองเต็มตัวอย่างในปัจจุบันและที่สำคัญ เธอ ‘คิดเล่นเห็นต่าง’ อย่างไรกับสภาพการเมืองไทยในปัจจุบัน !GM ไม่ได้โฆษณาชวนเชื่อให้ใครหรือฝ่ายใด เราตระหนักดีว่า คนที่เล่นหมากรุกเก่งมักวางหมากของชีวิตได้เก่ง แต่ในขณะเดียวกัน เราก็เชื่อมั่นในเรื่องหนึ่งที่กลุ่มจิตวิวัฒน์นำเสนอเสมอมาด้วย เรื่องนั้นคือเรื่องของ ‘สุนทรียสนทนา’ กับการเปิดโอกาสให้ผู้คนได้พูดคุยกันอย่างสุนทรีย์ ไม่ว่าจะมีฐานคิดที่แตกต่างกันมากมายขนาดไหน มนุษย์พึงมีโอกาสได้ ‘นั่งลง’ เพื่อพูดคุยและรับฟังมุมมองของอีกฝ่ายและอีกฝ่ายได้เสมอเรายินดีที่พบว่าจารุพรรณก็เชื่อมั่นในเรื่องนี้, และจะยินดียิ่งขึ้น-หากพบว่าผู้อ่านของ GM ก็เชื่อมั่นในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน

ON POLITICS

GM : ถามจริงๆ ทำไมคนที่มีพื้นฐานเป็นนักวิทยาศาสตร์และสนใจเรื่องทางจิตวิญญาณอย่างคุณถึงตัดสินใจมาเป็นสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่านักการเมือง ซึ่งมักถูกมองโดยสายตาคนทั่วไปว่าเป็นคนเลว คนไม่ดี

จารุพรรณ : ดิฉันเข้ามาทำงานการเมืองเพราะอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนเห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพมาก โลกได้พัฒนาจากเกษตรกรรมมาสู่อุตสาหกรรม จนถึงการสื่อสาร ยุคต่อไปคือยุคของความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งช่วยแก้ไขปัญหาของโลกได้มาก เช่น วิกฤติอาหาร พลังงานสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ของโลกที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ถ้าเราร่วมมือร่วมใจกันสร้างระบบใหม่ที่ทำให้คนได้พัฒนาในเรื่องที่เราเป็นเลิศจริงๆ คนจะมีความสุขในการทำสิ่งที่ตัวเองถนัด

อยากเป็นนักการเมืองเพื่อสร้างความมั่นใจในทิศทางของประเทศงานการเมืองเป็นงานอาสาสมัคร ใครๆ ก็ทำได้ถ้ามีเหตุปัจจัยพร้อม การเมืองเป็นงานที่ทำเพื่อสังคมซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัว โดยส่วนตัวเห็นว่าเราอยู่บนพื้นฐานการเมืองของโลก ซึ่งหากไทยรักษาประชาธิปไตยมาได้จนถึงวันนี้ ก็สามารถก้าวไปสู่การเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำของโลกได้ ในต่างประเทศนักการเมืองได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่เข้ามาแก้ปัญหาของสังคมและช่วยเหลือประชาชน ที่หลายคนมองว่านักการเมืองเป็นคนไม่ดีก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มาเป็นนักการเมืองด้วย เพราะอยากล้างมนต์ดำข้อนี้ออกจากประเทศไทย ให้เห็นว่านักการเมืองไม่ได้เลวอย่างที่คิด

GM : เมื่อเข้ามาคลุกคลีกับแวดวงการเมืองจริงๆ แล้ว คุณพบว่านักการเมืองเลวจริงอย่างที่เขาว่ากันไหม

จารุพรรณ : นักการเมืองเป็นมนุษย์ มนุษย์ทุกคนก็มีทั้งดีและเลว ขึ้นกับเหตุปัจจัย แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่าตอนนี้มีคนรุ่นใหม่เข้ามาในวงการการเมืองเยอะขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับทั้งระบบ คนรุ่นใหม่ต้องการเห็นการเมืองที่สร้างสรรค์ นักการเมืองสามารถทำเรื่องสร้างสรรค์ได้จริงๆ ช่วยคนได้จริงๆ ไม่ใช่แค่ทำงานกันไปวันๆ

GM : ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์มหาศาล ซึ่งเป็นเหตุหนึ่งให้เกิดการคอร์รัปชั่น คนจึงมองว่านักการเมืองเป็นคนเลว ในฐานะเป็นคนรุ่นใหม่ เรื่องเหล่านี้จะแก้ได้อย่างไร

จารุพรรณ : ถ้าประชาชนตื่นตัวในการตรวจสอบนักการเมือง คอร์รัปชั่นก็จะน้อยลง เหมือนในต่างประเทศ ถ้าเอาเงินไปซื้อเสียง คนจะหัวเราะเลยเอามาให้ทำไม วันหนึ่งประเทศไทยจะเป็นอย่างนั้น คนจะหัวเราะใส่ว่าเอาเงินมาให้ทำไม ถ้าเรายกระดับชีวิตของคนขึ้นมาให้กินดีอยู่ดี คอร์รัปชั่นก็จะไม่มี ถ้าคนมีเงินเดือนพอใช้ มีศักดิ์ศรี มีการศึกษา มีปัจจัยสี่พร้อม ก็จะพัฒนาไปทั้งระบบ

GM : นักการเมืองรุ่นใหม่อย่างคุณ เมื่อต้องมาพบเจอกับนักการเมืองรุ่นเก่าที่ยังครอบงำวงการการเมืองอยู่ทั้งในและนอกพรรคเพื่อไทยเอง คุณมีความหนักใจไหม

จารุพรรณ : หนักใจเหมือนตอนเรียนปริญญาเอกเลย (หัวเราะ) พูดได้ว่าเป็นงานหิน แต่ก็ต้องทำไป พูดไปเรื่อยๆ เจอคนให้มาก คุยให้มาก สื่อสารให้เยอะ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน

GM : อะไรคือเรื่องที่คนรุ่นเก่าไม่เข้าใจ อยากให้ยกตัวอย่างให้ฟัง

จารุพรรณ : (นิ่งคิด) อย่างเช่นการให้อำนาจกับทหารมากเกินไปซึ่งเราเห็นว่าเป็นการส่งสัญญาณให้คุณค่าที่ผิด นี่พูดด้วยความเคารพนะคะ ดิฉันเองอยู่ในครอบครัวของตำรวจและทหาร เชื่อว่าทหารหลายท่านมีความรักประชาชน อยากเห็นประเทศไทยมีความเป็นเลิศ คนไทยมีความสุขกันถ้วนหน้า แต่ว่าเราต้องพูดกันให้ตรงกับปัญหาว่าประเทศจะเดินไปอย่างไร จะเอาประชาชนนำหน้า หรือยังจะใช้ผู้มีอำนาจนำหน้าเหมือนเดิม ดิฉันคิดว่าเราควรให้คนที่รู้จริงเข้าไปทำงานในพื้นที่ต่างๆ ให้เป็นคนที่เป็นตัวแทนของประชาชนจริงๆ ให้ประชาชนได้มีโอกาสเลือก จะผิดจะถูก จะได้เรียนรู้ เพราะฉะนั้น การที่จะเอาคนที่ถืออาวุธมาอยู่ในอำนาจในองค์กรต่างๆ เป็นสิ่งที่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากเป็นการให้คุณค่าที่ผิด ต้องเอาคนที่มีปัญญา คนมือเปล่า คนที่ไร้ซึ่งอาวุธยุทโธปกรณ์ขึ้นไปเป็นผู้นำ อันนี้ก็ต้องบอกไปเรื่อยๆ มีพื้นที่สื่อสารในพรรคก็ต้องบอก แต่ก็ต้องพูดกันต่อไป เนื่องจากเราเป็นประชาธิปไตย และมีเป้าหมายตรงกัน คืออยากเห็นประชาชนมีความสุขถ้วนหน้า แต่บางคนเชื่อว่าจะเร็วกว่าถ้าต้องใช้ผู้มีอำนาจที่มีอาวุธ แต่ส่วนตัวดิฉันไม่คิดอย่างนั้น เราต้องให้คนมือเปล่าเข้าไปทำหน้าที่นั้น

GM : คุณพูดเหมือนให้ความสำคัญกับการปฏิรูปกองทัพเป็นเรื่องแรก

จารุพรรณ : กองทัพถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาประเทศ สังเกตได้ว่าถ้ากองทัพส่งสัญญาณอะไรก็มักประสบความสำเร็จ ถ้ากองทัพส่งสัญญาณว่าประชาชนเป็นหัวใจสำคัญของประเทศ ก็จะประสบความสำเร็จเหมือนประเทศอื่นๆ กองทัพสหรัฐฯ กองทัพสวิสมีแสนยานุภาพมาก กองทัพเหล่านี้ให้ความสำคัญกับเจตจำนงของประชาชน เห็นว่าการเลือกตั้งสำคัญที่สุด ดังนั้นทหารจึงไม่เข้ามายุ่งกับการเมือง เราก็ได้แต่หวังว่ากองทัพไทยจะไม่เข้ามายุ่งกับการเมือง ส่วนการปฏิรูปกองทัพก็ต้องเกิดจากในกองทัพเอง สิ่งที่เราทำได้คือพูดให้ฟังทุกวันว่ากองทัพสมัยใหม่เป็นอย่างไร กองทัพจะช่วยไปเป็นครูของสังคมได้อย่างไร พยายามสะท้อนประสบการณ์ของคนบนโลกให้คนข้างในฟัง เชื่อว่าทหารก็มีหัวใจที่รักประชาชนเหมือนกัน

GM : นักคิดเสื้อแดงหลายคนมองว่าทหารเชื่อมโยงกับสถาบันกษัตริย์ค่อนข้างมาก ในช่วงที่ผ่านมามีข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันอยู่หลายอย่าง เรื่องหนึ่งคือการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือมาตรา 112 ที่มีกลุ่มนักคิดนักเขียนลงชื่อเรียกร้อง ในฐานะที่เป็นทั้งนักการเมืองและคนเสื้อแดง คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

จารุพรรณ : เนื่องจากเราเห็นสัญญาณบ่อยครั้งว่า กองทัพจะอ้างถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในการทำงานต่างๆ แต่ก็ต้องเรียนว่า ในฐานะเป็นครู เป็นนักวิทยาศาสตร์ การอ้างอิงถึงสิ่งใดในทางที่ผิดจะเป็นการทำลายสิ่งนั้น แม้แต่เวลาที่เราอ้างอิงงานวิจัยว่าใครทำอะไร เพื่ออะไร สิ่งนั้นจะถูกตรวจสอบมากที่สุด นี่เป็นการคิดแบบวิทยาศาสตร์ง่ายๆ ซึ่งเชื่อว่ากองทัพเข้าใจ ดังนั้น การอ้างอิงสถาบันฯ มากในขณะที่อาจไม่จำเป็นต้องอ้างอิงมากขนาดนั้น มักจะเป็นอันตรายต่อสิ่งที่เราปกป้องมากกว่า การออกมาพูดว่าจะไม่มีการปฏิรูปมาตรา 112 เลย โดยไม่มีเหตุไม่มีผลว่าทำไมไม่ให้ปฏิรูป จะทำให้คนยิ่งเกิดการตั้งคำถามว่าจะใช้ประโยชน์อะไรจากมาตรานี้หรือ มากกว่าที่จะเป็นการปกป้องสถาบันอย่างยั่งยืนจริง ถ้ากฎหมายไม่มีการพัฒนาตัวเองก็จะเป็นกฎหมายที่ตาย ฉันใดก็ฉันนั้น หากไม่มีการพัฒนาสิ่งใด สิ่งนั้นก็จะล้าหลังไป

GM : ว่ากันว่า คนที่เป็นเหมือนกุนซือใกล้ชิดกับคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีคนชื่อจาอยู่สองคน คนหนึ่งเป็นผู้ชาย ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นผู้หญิง คนที่เป็นผู้หญิงชื่อ จารุพรรณ กุลดิลก เรื่องนี้จริงไหม

จารุพรรณ : คนที่ให้คำปรึกษาคุณยิ่งลักษณ์มีเยอะมาก แล้วคุณยิ่งลักษณ์ก็นำมากลั่นกรองก่อนจะนำมาใช้ เรียกได้ว่าเป็น collective wisdom หรือเป็นปัญญาร่วม ดิฉันเชื่อว่า คนที่ให้คำปรึกษาเหล่านี้ก็ต้องฟังความต้องการมาจากประชาชนแล้วนำมาบอกต่ออีกที ทั้งหมดเป็นระบบแบบนี้ เมื่อได้ยินจากประชาชนแล้วนำมาบอกนายกฯ ดังนั้น กุนซือก็น่าจะเป็นประชาชนมากกว่า

GM : จริงๆ แล้วในฐานะผู้หญิงด้วยกัน คุณทำงานใกล้ชิดกับคุณยิ่งลักษณ์มากแค่ไหน

จารุพรรณ : เป็นบางเรื่อง เช่น เรื่องการปรองดองและเรื่องต่างประเทศ

GM : คนที่มีลักษณะเหมือนกันหรือมีเคมีตรงกันมักมีแรงดึงดูดซึ่งกันและกัน คิดว่าตัวคุณกับผู้หญิงที่ทำงานในพรรคเพื่อไทยและในกลุ่มเสื้อแดงที่เรียกได้ว่าเป็น ‘ตัวแม่’ ทั้งหลาย อาทิเช่น คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, คุณธิดา ถาวรเศรษฐ, คุณเดียร์-ขัตติยา สวัสดิผล หรือแม้แต่นักเขียนอย่าง คำ ผกา มีสิ่งใดที่เหมือนหรือคล้ายกันบ้างไหม

จารุพรรณ : บางทีเราอาจเป็นแรงบันดาลใจให้กันและกันก็ได้ (ยิ้ม) ลึกๆ แล้วแต่ละคนมีความต้องการให้สังคมพัฒนาไปถูกทิศถูกทาง ช่วยให้คนในสังคมมีความสุขมากขึ้น เมื่อเราพูดออกมาหรือใครต่อใครพูดออกมา ซึ่งตรงกัน มันจะทำให้พูดเรื่องนี้มากขึ้น เช่น อยากให้ประชาชนได้รับประโยชน์จริงๆ นะ เป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ เป็นคนรุ่นใหม่ พูดกันบ่อยๆ ซ้ำๆ มันจะเป็นพลังที่สำคัญได้ พากันไป ช่วยกันทำงานไป อย่างอาจารย์ธิดา คุณยิ่งลักษณ์ มีความเป็นแม่ มีความเป็นผู้หญิง คอยห่วงใยผู้คนอยู่แล้ว เราอาสาสมัครมาทำงานส่วนกลางก็ได้เห็นธรรมชาติ การดูแล การโอบอ้อมอารี ทำให้เห็นใจกัน เห็นผู้หญิงมาทำงานการเมืองเยอะๆ เห็นใจกันค่ะ รู้สึกร่วมกันว่าเราต้องช่วยกันดูแลให้บ้านเมืองเกิดความรุนแรงน้อยลง และพัฒนาไปอย่างสร้างสรรค์มากขึ้น

GM : ผู้หญิงทำงานการเมืองต่างจากผู้ชายอย่างไรบ้าง

จารุพรรณ : ผู้หญิงซอฟต์โดยธรรมชาติอยู่แล้ว พออ่อนโยนขึ้น ปัญหาจะลดทอนความรุนแรงลง ถือเป็นจังหวะที่ดีที่มีผู้หญิงเข้ามาทำงานการเมือง ทำให้ทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดี

โดยไม่มีการปะทะรุนแรงด้วยความเป็นหญิง แต่ในอนาคตความแตกต่างในเรื่องบทบาทการทำงานการเมืองของผู้หญิงกับผู้ชายจะเท่าเทียมกัน เพียงแต่ช่วงที่บ้านเรามีความรุนแรง ความเป็นหญิงกลับกลายเป็นข้อได้เปรียบ ทำให้สังคมก้าวผ่านความรุนแรงไปได้

GM : ในฐานะคนรุ่นใหม่ คุณมองบทบาทของคุณยิ่งลักษณ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีอย่างไร

จารุพรรณ : คุณยิ่งลักษณ์เป็นคนที่ทำงานหนัก ตั้งใจทำงานอย่างจริงจัง ถือว่าเราได้คนซึ่งจะสามารถบริหารจัดการสิ่งต่างๆ ให้ก้าวหน้าไปได้ ทุกคนเชื่อว่าสิ่งที่นายกฯ สัญญากับประชาชนจะเกิดขึ้นมาได้ เป็นความเชื่อมั่น

GM : ที่พูดกันว่า ‘ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ’ โดยเนื้อแท้แล้ว จากที่คุณร่วมงานด้วย คุณเห็นว่าคุณยิ่งลักษณ์ทำเองทั้งหมด หรือยังต้องคอยฟังคำสั่งจากพี่ชายอยู่

จารุพรรณ : คุณทักษิณก็เป็นคนที่มีปัญญามาก สามารถรวบรวมเอาความคิดของประชาชนมาสร้างเป็นวาทกรรมอธิบายเป็นข้อๆ ว่าจะทำให้เป็นรูปธรรมได้อย่างไร สิ่งใดที่พรรคการเมืองเห็นด้วยกับความคิดของประชาชนที่คุณทักษิณรวบรวมมาไว้ ก็จะนำมาใช้ และต้องไปถามซ้ำอีกครั้งด้วยว่าประชาชนยังต้องการอย่างนี้อยู่ไหม

GM : หลายคนยังสงสัยอยู่ว่า ตกลงคุณยิ่งลักษณ์มีความสามารถจริงไหม คุณจะยืนยันอย่างไร

จารุพรรณ : ถ้างานไหนที่มีคุณยิ่งลักษณ์นั่งอยู่ด้วย ทุกคนจะมั่นใจว่างานจะประสบความสำเร็จแน่นอน เพราะเป็นคนที่สามารถบริหารจัดการได้ มอบหมายงานให้กับคนที่มีความสามารถด้านนั้นจริงๆ และคุณยิ่งลักษณ์จะให้คำแนะนำว่าต้องทำอะไรก่อนหลัง จนกระทั่งสำเร็จ

GM : มีการพูดเรื่องการตรวจสอบรัฐบาลว่าทำงานได้ดีจริงไหม แต่เราจะมั่นใจได้อย่างไรกับกระบวนการตรวจสอบรัฐบาลนี้ เพราะที่ผ่านมาสมัยคุณทักษิณ กลไกการตรวจสอบต่างๆ ถูกทำให้อ่อนแอไปมากจนหลายคนเรียกว่าเป็นรัฐแบบ Police State สำหรับรัฐบาลนี้ ภาพจำภาพแรกคือการย้ายข้าราชการประจำ โดยเฉพาะตำรวจ ทำให้หลายคนหวนคิดถึง Police State อีกครั้งซึ่งกลไกการตรวจสอบทำงานได้ไม่สมบูรณ์

จารุพรรณ : ไม่ช้าไม่นานจะมีเสียงสะท้อนกลับมาค่ะ ถ้าหากการดำเนินการใดไม่ถูกใจประชาชนก็จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ออกมา โดยส่วนตัวเชื่อว่าประชาชนเป็นเจ้าของประเทศนี้ คนที่อาสาเข้ามาตรวจสอบผ่านสื่อต่างๆ ก็จะเสียงดังขึ้นเรื่อยๆ จะสร้างความสมดุลได้มากขึ้น ท้ายสุดตัวแทนของประชาชนก็ต้องฟังประชาชน ประชาชนตื่นตัวมากขึ้น คราวก่อนจะย้ายก็ย้ายไปไม่มีเสียงสะท้อน คราวนี้แหละถ้าย้ายมาแล้วไม่ถูกใจ และทำให้เจตจำนงของประชาชนเปลี่ยนแปลงไป รับรองว่าจะมีเสียงสะท้อนที่แรงขึ้น หนักขึ้น ไม่มีอำนาจอะไรเหนือประชาชนอยู่แล้ว

โดยส่วนตัวดิฉันเห็นว่าระบบสำคัญกว่าตัวบุคคลอยู่แล้ว ที่ผ่านมาในฐานะคนเสื้อแดง ถึงแม้จะเห็นกลุ่มอำนาจต่างๆ เช่น กรรมการสิทธิมนุษยชน, กกต., ปปช., สตง. หรือดีเอสไอ ที่เกิดขึ้นมาจากกลุ่มเครือข่ายของอำมาตย์เดิม ไม่ได้มีที่มาจากประชาชนหรือศาลรัฐธรรมนูญ เราก็ยังให้อยู่ในตำแหน่งต่อไปและต้องตรวจสอบต่อไป

สำหรับในเรื่องการย้ายข้าราชการประจำนั้น ดิฉันไม่เห็นด้วยกับการล้างบางอยากให้เน้นเรื่องการสร้างระบบมากกว่า รัฐบาลต้องทำให้เป็นมาตรฐานเดียว เช่นกันกับที่ประชาชนออกมาเรียกร้องส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการโยกย้ายตำแหน่งต่างๆ อย่างพร่ำเพรื่อ ในต่างประเทศจะไม่มีการทำแบบนี้ ตำรวจหรือคนในองค์กรต่างๆ จะอยู่ไปจนหมดวาระ เลย เพราะเขามีการทำงานแบบมืออาชีพที่การเมืองไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงได้ นี่พูดถึงในประเทศที่เจริญแล้วนะคะ จึงต้องสื่อสารเยอะๆ กับคนรุ่นเก่าที่มีความคิดเก่าๆ ว่า – ถ้าหวังดีกับประเทศจริงๆ ต้องมาช่วยกันสร้างระบบ

GM : หลายคนอาจติดกับภาพสมัยคุณทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ว่าเป็นนายกฯ แบบซีอีโอที่สั่งการลงไปแล้วทุกคนต้องทำตาม มีเสียงวิจารณ์ว่าไม่เป็นประชาธิปไตยมากเท่าไหร่ คราวนี้พอพูดกันว่าเป็นรัฐบาลประชาธิป-ไตยแล้ว คุณคิดว่าต้องฟังเสียงคนข้างล่างให้มากขึ้นไหม

จารุพรรณ : ต้องช้าลงกว่าเดิม คือเสียงสะท้อนเหล่านี้มีเยอะขึ้น ในพรรคเองก็สะท้อนกันเยอะ คิดว่าต้องช่วยกันมองในทุกๆ มุม ซึ่งก็จะเป็นเรื่องดี

GM : คุณได้พบกับคุณทักษิณบ้างไหม

จารุพรรณ : ช่วงนี้ไม่ได้เจอเลย

GM : ครั้งล่าสุดพบกันเมื่อไหร่

จารุพรรณ : นานแล้ว (นิ่งคิด) น่าจะประมาณ 7 เดือนที่แล้ว

GM : เมื่อพบกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ คุณว่าตัวตนคุณทักษิณเปลี่ยนแปลงไปบ้างไหมนับตั้งแต่สมัยที่เป็นนายกฯ ซีอีโอ จนมาถึงตอนนี้

จารุพรรณ : สภาพสังคมเปลี่ยนจะทำให้นักการเมืองเปลี่ยน คุณทักษิณเกิดมาเป็นนักการเมือง เป็นตัวแทนประชาชน ช่วงนั้นเราผ่านความเชื่องช้าในแบบรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร เราก็จะมีนายกฯ เชื่องช้า ทำให้เกิดนายกฯ แบบซีอีโอขึ้นมา แต่สังคมก็เรียนรู้ นายกฯ ท่านก็พร้อมที่จะปรับตามที่สังคมต้องการ ไม่ต้องห่วงค่ะ นักการเมืองที่มาจากประชาชนไม่มีอันตรายแน่นอน

GM : ในฐานะที่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ คุณคิดว่าวิธีคิดของคนไทย โดยเฉพาะนักการเมืองรุ่นเก่าๆ ไม่ว่าฝ่ายไหนก็ตาม มีความเป็นวิทยาศาสตร์หรือเป็นตรรกะมากน้อยแค่ไหน

จารุพรรณ : ถ้าคิดแบบวิทยาศาสตร์ต้องเรียนรู้จากความผิดพลาด แต่สิ่งที่ทำมาซ้ำๆ แล้วยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้แสดงว่าผิดพลาด เราไม่ต้องการแบบนั้นแล้ว การทำรัฐประหารเป็นความผิดพลาดของเมืองไทย เราควรให้ประชาชนได้เรียนรู้ระบอบประชาธิปไตยอย่างน้อย 8 ปี นี่เพิ่งได้ประชาธิปไตยมาไม่กี่เดือน ถ้าคิดแบบวิทยาศาสตร์จะง่าย เพราะอยู่บนหลักเหตุและผล ไม่ได้อยู่บนความรู้สึกกับตัวบุคคล ซึ่งถ้าคิดอย่างนั้นจะเกิดการกำจัดฝ่ายตรงข้าม แต่ระบอบประชาธิปไตยต้องไม่ต้องกำจัดใครเลย ซึ่งก็ไปตรงกับเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมของโลกด้วย นั่นคือความหลากหลายทางชีวภาพจะแก้ไขปัญหาของโลกนี้ได้ เพราะจะเกิดสมดุล เกิดการคานอำนาจกัน สิ่งแวดล้อมก็จะดีขึ้น การเมืองก็จะดีขึ้น จริงๆ แล้วเราไม่จำเป็นต้องทำลายแบคทีเรียหรือไวรัสบางตัว เพราะมันอาจเป็นยาในอนาคตก็ได้

GM : ในฐานะนักวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม คุณมองนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลอย่างไร ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่งชี้ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมอย่างมาก คุณคิดอย่างไรกับนโยบายทางสิ่งแวดล้อมและพลังงานของรัฐบาล

จารุพรรณ : นายกฯ มีความมุ่งหวังจะใช้พลังงานทางเลือกมาทดแทนพลังงานที่มีอยู่ ประเทศไทยสามารถผลักดันให้พลังงานทางเลือกเป็นเรื่องหลักได้ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และพรรคเพื่อไทยไม่ได้สานต่อนโยบายนิวเคลียร์ นี่เป็นจุดเปลี่ยนหนึ่งที่ต้องมานั่งศึกษากัน อย่างกระทรวงพลังงานก็พูดเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รัฐมนตรีพลังงานเป็นคนรุ่นใหม่ ก็จะคิดอยู่ตลอดว่ามีพลังงานทางเลือกอะไรอื่นๆ อีกที่จะไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม

แต่ก่อนอื่นประเทศต้องได้ประชาธิปไตยมาก่อน ไม่อย่างนั้นจะไม่ได้รับความร่วมมือจากใครเลย เมื่อเป็นประชาธิปไตย คนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น เขาจะเริ่มมีความรู้สึกรับผิดชอบต่อสังคม จะออกมาบอกให้รู้ว่า ชุมชนต้องการแก้ปัญหาต่างๆ อย่างไร เราอยากได้เสียงสะท้อนอย่างนี้ เช่น ชุมชนมีกี่ครัวเรือนสร้างโซลาร์เซลล์เพื่อใช้ในชุมชนได้ไหม ช่วยกันผลิตพลังงานรูปแบบอื่น

ได้ไหม เช่น พลังงานชีวภาพ เลี้ยงไก่เพื่อผลิตไบโอแก๊สได้ไหม ในตอนนี้คนส่วนใหญ่ยังสะท้อนให้เราฟังในเรื่องความเท่าเทียม สิทธิมนุษยชน หรือเรื่องปากเรื่องท้อง รัฐบาลก็มุ่งไปแก้เรื่องนั้น แต่ถ้ามีคนสะท้อนเรื่องสิ่งแวดล้อมให้รัฐบาลฟังมากขึ้น รัฐบาลก็จะให้ความสำคัญมากขึ้น

GM : นโยบายเศรษฐกิจของเพื่อไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์หนัก แม้แต่อาจารย์อัมมาร สยามวาลา ยังออกมาบอกว่าเป็นนโยบายที่ ‘ดีแต่โม้’ แล้วนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การถมทะเลเพื่อสร้างเมืองใหม่เพื่อป้องกันน้ำท่วมล่ะ มีสักแวบหนึ่งไหมที่คุณคิดว่าอาจกลายเป็นหนึ่งในนโยบายที่ดีแต่โม้ไปด้วย

จารุพรรณ : คิดว่าคำวิจารณ์เป็นครู (ยิ้ม) คนอื่นอาจโกรธอาจารย์อัมมารแต่ส่วนตัวรู้สึกว่าดีที่มีเสียงวิจารณ์อย่างนี้ออกมา ซึ่งมาจากความปรารถนาดีโปรเฟสเซอร์ในต่างประเทศว่าหนักกว่านี้เยอะ ว่าแบบเธอไม่มีอนาคตหรอก ถ้ามีคนวิจารณ์ว่ารัฐบาลนี้ไม่มีอนาคต มันก็ไม่ต่างจากครูที่มีความปรารถนาดี เราจะได้พัฒนาตัวเอง วันนี้เพื่อไทยต้องพิสูจน์ว่าไม่ได้ดีแต่โม้

ต้องทำให้เกิดขึ้นจริง คำวิจารณ์จึงจะหายไป ต้องแก้ไขด้วยการทำงาน ทำสิ่งที่สัญญากับประชาชนให้เป็นจริงให้ได้ ซึ่งโดยส่วนตัวเชื่อว่าเป็นจริงได้อย่างเรื่องค่าแรง 300 บาทนั้น ต้องบอกว่าไม่เยอะเลย เดือนๆ หนึ่งคนงานอาจได้ค่าจ้าง 6,000 บาทเท่านั้น เพราะบางที่จ้างงานแค่ 20 วัน การวิพากษ์วิจารณ์เป็นข้อดีของระบอบประชาธิปไตย ประชาชนอยากวิจารณ์อะไรก็ว่ามาเลย อย่าหลับใหล

ส่วนการถมทะเล เป็นเรื่องที่เมืองอัมสเตอร์ดัมทำขึ้นเพื่อป้องกันน้ำท่วม ถมแล้วมีภูมิทัศน์ที่สวยงามมากด้วย เราต้องทำให้ได้แบบนั้น ถ้าทำไม่ได้อย่างนั้นโดนประชาชนเอาตายแน่นอน เพราะคนที่มีชีวิตอยู่ริมทะเลจะได้รับผลกระทบ จะไม่ได้อยู่ริมทะเลแล้ว เราต้องเข้าไปดูแล

GM : แต่จะเทียบยุโรปกับเมืองไทยได้อย่างไร เพราะความหลากหลายทางชีวภาพของยุโรปกับเขตร้อนอย่างเมืองไทยไม่เหมือนกัน นักสิ่งแวดล้อมเป็นห่วงว่าการถมทะเลจะทำลายความหลากหลายทางชีวภาพเสียมากกว่า

จารุพรรณ : ความหลากหลายทางชีวภาพขึ้นกับหลายปัจจัย อุณหภูมิขนาดนี้ไม่น่าจะถูกทำลายให้ลดน้อยลงหรอกค่ะ แต่อย่างไรก็ตาม เสียงสะท้อนเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะจะไปช่วยสะท้อนให้รัฐบาลฟังด้วยว่า เราต้องศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังก่อนลงมือถมทะเล ต้องลงทุนศึกษาอย่างจริงจังก่อน ไม่ใช่ทำอะไรง่ายๆ เร็วๆ

GM : ทราบว่ามีทูตหลายประเทศโดยเฉพาะแถบยุโรปเชิญคุณเข้าพบ เพราะอะไรทูตประเทศเหล่านั้นจึงต้องการพบคุณ และเสียงสะท้อนจากทูตเหล่านั้นต่อการเมืองไทยหรือสังคมไทยเป็นอย่างไร

จารุพรรณ : งานด้านการทูตคือการสร้างสันติภาพ ทูตเหล่านั้นมีเป้าหมายตรงกับเราที่จะลดอาวุธสงคราม สร้างประชาธิปไตย ให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ถามว่าประเทศไทยให้ความร่วมมือกับคนทั้งโลกอย่างไรในการสร้างสันติภาพ เรายังจะจับคนเข้าคุกง่ายๆ กันอยู่หรือไม่ ยังจะปิดเว็บไซต์กันอย่างง่ายดายอยู่ไหม ยังจะเอามาตรา 112 มาเป็นข้ออ้างในการปิดปากคนหรือไม่ คนทั้งโลกกำลังจับจ้องประเทศไทยอยู่ เพราะไทยเป็นประตูสู่เอเชีย และเอเชียมีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาของโลก ถ้าไทยยังมีปัญหาความไม่สงบ โลกจะขาดโอกาสในการแก้ไขปัญหาหลักๆ เช่น ปัญหาอาหารและยา ที่ต้องการความร่วมมือทั้งทางทรัพยากรและจากผู้เชี่ยวชาญในแถบเอเชียและผู้รู้ทั่วโลก ทูตหลายประเทศสะท้อนมาว่า ไทยยังส่งสัญญาณที่ผิดอยู่บ้าง เช่น การแต่งตั้ง กสทช. ที่มีผู้ที่มีอำนาจทางการทหารอยู่ใน กสทช. ถึง 5 ที่นั่ง ซึ่งทั้งโลกเขาไม่ทำกัน การที่ทหารเข้าไปนั่งใน กสทช. มันจะเป็นปัญหา ทหารเป็นสัญลักษณ์ของผู้ที่ใช้อาวุธ จึงเป็นเหตุผลว่า นายพลทั้งหลายบนโลกนี้จะไม่เข้ามายุ่งกับองค์กรอิสระใดๆ เมื่อตัดสินใจเป็นทหารแล้วก็ต้องเป็นทหารมืออาชีพ อยู่กับอาวุธก็ต้องอยู่กับอาวุธไป ไม่ต้องมาทำงานในองค์กรอิสระ หรือหากจะทำเรื่องระบบการสื่อสารก็ต้องทำจากในกองทัพเอง

GM : การมีบิดาชื่อ พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก ซึ่งเป็นนักการเมืองที่มีเพาเวอร์พอสมควรในพรรคเพื่อไทย คือเป็นรองหัวหน้าพรรค ทำให้เกิดแรงเสียดทาน แรงต้าน หรือแรงส่งอย่างไรกับการทำงานการเมืองของคุณไหม

จารุพรรณ : มีคนเคยถามว่า การมีพ่อเป็นรองหัวหน้าพรรคทำให้ได้ประโยชน์ทางการเมืองหรือไม่ ทำให้ได้ปาร์ตี้ลิสต์ลำดับสูงหรือเปล่า ถ้าได้เห็นประวัติจะรู้เลยว่าไม่ได้เดินมา

เส้นทางเดียวกับคุณพ่อเลย เดินมาคนละเส้นทาง แล้วมาเจอกัน ความคิดมันคัดคานกันมาเยอะแล้วจนเดินด้วยกันได้ จึงไม่ใช่ว่าต่างคนต่างมาช่วยเหลือกันเพราะมีประโยชน์

ต่อกันเป็นเรื่องหลัก แต่เป็นเรื่องที่เห็นใจกัน เพราะทะเลาะกันมาเยอะแล้ว (ยิ้ม)

GM : มีเรื่องไหนที่เห็นเหมือน และเรื่องไหนที่เห็นต่างบ้าง

จารุพรรณ : ส่วนใหญ่จะเห็นต่างกันหมดเลย (ยิ้ม) มีแค่เรื่องประชาธิปไตยนี่แหละที่เห็นตรงกัน แล้วก็ทำให้เห็นใจกัน จุดที่มาเจอกันคือการไปสู้ร่วมกับคนเสื้อแดงด้วยกัน ทำให้เห็นตรงกันว่าประชาธิปไตยต้องเป็นของประชาชน แต่อย่างงานในกลุ่มจิตวิวัฒน์ คุณพ่อไม่เห็นด้วยโดยสิ้นเชิง คุณพ่อเห็นว่าสุขภาพจะดีได้ไม่จำเป็นต้องมานั่งใคร่ครวญอะไรให้มาก ผ่านการทำงานก็ได้ ท่านเป็นเจเนอเรชั่นซึ่งทุกข์ยากมาเยอะ เพิ่งหลุดมาจากสงคราม จึงเห็นว่าคนไม่จำเป็นต้องท้อแท้อะไรมาก ชีวิตมันเป็นอย่างนั้นเอง ถูกสอนด้วยประวัติศาสตร์โลก แต่เราเติบโตมาในยุคที่มีทรัพยากรให้เลือกสรรมากมาย แทบจะไม่ต้องเจอความทุกข์เหมือนยุคของท่าน เราจึงค่อนข้างอ่อนไหวกับความทุกข์มาก แต่คนในยุคคุณพ่อไม่เป็นแบบนี้ จึงคิดว่าไม่เห็นต้องไปนั่งสนใจเรื่องจิตวิญญาณ

GM : อะไรเป็น ‘จุดเปลี่ยน’ ที่ทำให้คุณมาเป็นคนเสื้อแดงเต็มตัว

จารุพรรณ : ในช่วงเหตุการณ์พันธมิตรล้อมทำเนียบรัฐบาล พ่อ (พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก)เป็นรองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง มีหน้าที่คุมม็อบ (หัวเราะ) เพราะคิดว่าจะมีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐบาลกับประชาชน ตอนนั้นเราอยู่ศูนย์สันติวิธี มหิดล มีหน้าที่อธิบายให้เจ้าหน้าที่ฟังว่านี่คือประชาชน ถึงแม้จะใส่เสื้อเหลืองแต่เขาคือประชาชน ความสำเร็จของเจ้าหน้าที่คือประชาชนปลอดภัย ไปเล่นตลกให้เจ้าหน้าที่ดู ให้ตำรวจคลายเครียด เป็นจิตวิวัฒน์ไหม (หัวเราะ) เล่นตลกให้ใจเย็นๆ บอกว่าที่เขาด่ามานี่เป็นแค่ยุทธวิธีทำให้เราโกรธ แล้วก็ไปพูดกับม็อบคล้ายๆ กัน คืออย่าใช้ความรุนแรงทุบตีเจ้าหน้าที่นะ

อย่ามองอีกฝ่ายว่าเป็นศัตรู ตอนนั้นอยู่ศูนย์สันติวิธี ช่วงที่มีเหตุการณ์ตากใบจำได้ไหมคะ ดิฉันไปเป็นตัวแทนมอบนกกระดาษให้นายกฯ ทักษิณด้วย (หัวเราะ) จากนั้นมหิดลเชิญให้ไปก่อตั้งศูนย์สันติวิธี เราก็เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งศูนย์สันติวิธีที่มีอาจารย์โคทม อารียา เป็นผู้อำนวยการและกรรมการของศูนย์ฯ หลังจากมอบนกให้นายกฯ ทักษิณ ก็ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงไปประมาณ 4 เดือน รัฐบาลจึงส่งคุณจาตุรนต์ ฉายแสง ไปทำ Public Hearing มีข้อเสนอมา 11 ข้อ ท้ายสุดข้อเสนอทั้งหมดถูกปฏิเสธ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ท้องถิ่นและชุมชนได้ใช้ภาษาถิ่นของตัวเอง ด้วยเหตุผลที่ว่าการแก้ปัญหาโดยปราศจากการทหารจะทำให้ปัญหายิ่งหนักขึ้น การให้สัญญาณแบบนี้จึงทำให้ปัญหาภาคใต้เกิดขึ้นต่อเนื่องมาเรื่อยๆ

พอเกิดม็อบเสื้อเหลืองขึ้น พ่อไปเป็นรองเลขาธิการฯ ในสมัยนายกรัฐมนตรีสมัคร (สุนทรเวช) ดูแลควบคุมม็อบอยู่ในทำเนียบ แต่เหตุการณ์รุนแรงมากขึ้น คิดว่าจะต้องปะทะกันแน่นอน หากผู้มีอำนาจส่งสัญญาณผิดอีกก็จะเกิดเหตุการณ์รุนแรง รัฐบาลจะกลายเป็นทรราชย์แน่นอน เป็นห่วง ก็เข้าไปช่วยอธิบาย หลังจากเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างตำรวจกับพันธมิตร ทางมหิดลจัดสุนทรียสนทนา ให้กลุ่มต่างๆ ที่ขัดแย้งกันได้มาพูดคุยกัน เราเป็นตัวแทนของตำรวจขึ้นพูดในเวทีนั้น ก็พูดว่าตำรวจโดนกระทำอะไรบ้าง ตอนนั้นร้องไห้พรั่งพรูออกมาว่าเห็นใจตำรวจเพราะ

โดนตี โดนแทง โดนด่าว่าร้าย โดนเหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตำรวจหญิง 4 คนแขนหัก แล้วพูดด้วยว่า สิทธิมนุษยชนจะช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งของบ้านเมืองได้ ไม่ใช่ไปเรียกทหารให้มาทำรัฐประหาร แล้วก็กดทับปัญหาไว้อย่างนั้น จนกระทั่งคุณสมบัติ บุญงามอนงค์ ได้เห็นก็บอกว่า นี่เธอน่ะแดงนะ (หัวเราะ) ถึงได้รู้ว่าตัวเองเป็นเสื้อแดง

หลังจากนั้น รัฐบาลในยุคนั้นไปจัดประชุมอาเซียน ซัมมิท ที่หัวหิน เราเครียดมากอยากไประบายออก เลยนัดอาจารย์อีกคนหนึ่งใส่เสื้อแดงที่มีข้อความ ‘ความจริงวันนี้’ ไปประท้วง ไปนั่งกินกาแฟในโรงแรมดุสิตธานี ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่ใส่เสื้อแดง มันคือสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงออกว่าเราไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล กลายเป็นว่าสายตาทุกคู่มองมาที่พวกเรากันหมด มองด้วยความตกใจ กลัว หวาดระแวง เข้าไปในโรงแรมเจอคุณสุเทพ (เทือกสุบรรณ) คนแรกเลย คุณสุเทพเดินเข้ามาถามคำถามแรกว่า เมื่อไหร่จะกลับ มากันเยอะไหม (หัวเราะ) เราก็บอกมาไม่เยอะหรอก

มานั่งดื่มกาแฟ ตอนหลังนักข่าวมาถามว่าเพราะอะไรถึงใส่เสื้อแดง เราก็บอกไปว่า เผอิญไม่ยอมรับรัฐบาลชุดนี้เลยต้องแสดงออก ตอนนั้นมีข่าวออกมาด้วยนะว่า สาวใหญ่เสื้อแดงไปประท้วงที่อาเซียนซัมมิท (หัวเราะ) จากนั้นทีวีช่องเสื้อแดงก็เชิญไปสัมภาษณ์ ไปขึ้นเวทีเสื้อแดง คนก็ตื่นเต้นว่ามีอาจารย์อยู่ในกลุ่มคนเสื้อแดงด้วย เวทีแรกที่ขึ้นพูดคือเวทีของคนเสื้อแดงที่จังหวัดจันทบุรี

GM : หลายคนมองว่า ภาพของคนเสื้อแดงพ่วงมากับการใช้ความรุนแรง เช่นหลายเหตุการณ์ที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อกระแสหลัก คุณอธิบายตัวเองอย่างไร ทั้งที่ก่อนหน้านั้นคุณบอกว่าเป็นนักสันติวิธี

จารุพรรณ : ความรุนแรงที่เห็นผ่านสื่อ จริงๆ ไม่ได้เป็นแบบนั้น หลายคนบอกว่าคนเสื้อแดงเป็นรากหญ้า ไม่มีความรู้ แต่พอไปคลุกคลีก็พบว่าคนเสื้อแดงก็มีคนที่มีความรู้ ไม่ได้เป็นคนยากจนไปเสียทั้งหมด คนที่เห็นความไม่ถูกต้องแล้วออกมาร่วมเคลื่อนไหวก็มีไม่น้อย ต้องไปเห็นด้วยตาตัวเองถึงจะรู้ว่าจริงๆ แล้วคนเสื้อแดงเป็นอย่างไร คิดว่าถ้าเราอยู่ในกลุ่มคนเสื้อแดงแล้วมีโอกาสช่วยให้การเคลื่อนไหวเป็นเรื่องสร้างสรรค์โดยไม่มีการใช้ความรุนแรง ก็ต้องทำ เพราะเช่นนั้นจะไม่มีใครทำ

GM : คนมักมองว่าคนเสื้อแดงวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นมากมาย แต่ไม่ค่อยวิพากษ์วิจารณ์หรือตรวจสอบตัวเองหรือพวกเดียวกันเอง ถ้าให้คุณวิพากษ์วิจารณ์การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงและรัฐบาล คุณจะบอกอย่างไร

จารุพรรณ : คนที่มาใส่เสื้อแดงคือคนทั่วไปที่มีการมีงานทำ เป็นคนที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่อยากให้ประชาชนมีโอกาสได้เป็นเจ้าของประเทศมากขึ้น แต่ตอนนี้เสื้อแดงลดบทบาท

ตัวเองลงไปเยอะ เพราะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว คนเสื้อแดงและคนทั่วไปก็ให้โอกาสรัฐบาลในการทำงานไประยะหนึ่งก่อน แน่นอนว่าจะต้องมีการตรวจสอบเพื่อสะท้อนปัญหาของรัฐบาล ผ่าน ส.ส. หรือแม้แต่มาส่งเสียงด้วยตัวเอง นี่เป็นพลังอันยิ่งใหญ่ ประชาชนจะจับตาดูว่า ส.ส. ทำได้อย่างที่พูดไว้หรือเปล่า ไม่อย่างนั้นก็จะไม่ได้รับโอกาสในครั้งหน้า เพราะเมื่อประชาชนตื่นขึ้นมาแล้วก็จะไม่มีวันหลับอีก

GM : คุณยังเชื่อในเรื่องสุนทรียสนทนาอยู่ไหม

จารุพรรณ : เชื่อค่ะ เชื่อในแง่การมาเผชิญหน้ากัน มนุษย์ต้องเผชิญหน้ากัน และเห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกัน แม้จะคิดต่าง แต่เมื่อได้เห็นความเป็นมนุษย์แล้วจะเข้าใจ คุยกันรู้เรื่องมากขึ้น เกิดสันติภาพมากขึ้น ต้องได้พูดคุยกัน เพราะถ้าไม่ได้พูดคุยกัน มันจะเข้าใจกันไปคนละอย่าง

GM : ถ้าอย่างนั้นคุณอยากพูดคุยกับคนชั้นกลางในกรุงเทพฯบางกลุ่มที่ถูกชาวเสื้อแดงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็น ‘สลิ่ม’ และเห็นว่ารัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลของคนเสื้อแดงอย่างไร

จารุพรรณ : คนกรุงเทพฯ เป็นกลุ่มคนที่มีศักยภาพมาก สามารถชี้นำให้ประเทศไปถูกทางได้ ถ้ามีใจอาสา แล้วมองว่าจริงๆ ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ต้องฟังประชาชน ถ้าเชื่อว่าการเมืองจะเปลี่ยนแปลงในทางสร้างสรรค์ได้ ก็อย่าไปยึดตัวบุคคล ยึดที่ระบบ มาช่วยกันสะท้อนว่า ถ้าวันนี้เรามีพื้นที่ให้สังคมได้เรียนรู้ร่วมกันมากๆ ชีวิตจะมีความสุขมากขึ้น ถ้าคนกรุงเทพฯ ไม่พอใจ คิดว่านี่เป็นรัฐบาลของเสื้อแดง ก็ขอให้สะท้อนออกมาว่าไม่พอใจในเรื่องใด เมื่อคนทั้งประเทศรู้สึกว่าเป็นเจ้าของประเทศ จะเกิดสำนึกอื่นๆ ในการรับผิดชอบมากขึ้น เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องพลังงาน แล้วจะมาช่วยกันดูแล รัฐบาลต้องเป็นรัฐบาลของคนทั้งประเทศอยู่แล้ว ไม่ใช่ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

GM : คุณพูดเรื่องการทำประเทศให้เป็นประชาธิปไตยบ่อยมาก คำว่าประชาธิปไตยที่คุณหมายถึงคืออะไร และหลังจากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลแล้ว ประเทศมีความเป็นประชาธิปไตยแตกต่างจากเดิมอย่างไร

จารุพรรณ : ประเทศจะเป็นประชา-ธิปไตยได้ต้องมีความต่อเนื่อง ไทยมีรัฐประหารมากที่สุดในโลก มีรัฐธรรมนูญมากที่สุดในโลก ช่วงที่เป็นประชาธิปไตยมีแค่สี่ห้าปีก็โดนสังหารตายไปแล้ว เราจึงยังไม่ได้เรียนรู้ว่าประชาธิปไตยจะพัฒนาไปอย่างไร หลังจากนี้ต้องไม่ให้เกิดการรัฐประหาร ถ้าได้ผ่านไปสัก 8 ปีประเทศไทยจะเรียนรู้อะไรขึ้นอีกเยอะ ตอนนี้เรากำลังหานักการเมืองที่พึงประสงค์ ตอบสนองเจตนารมณ์ของประชาชนได้อย่างแท้จริง ต้องให้ระบอบประชาธิปไตยยืนได้ด้วยตัวเองโดยไม่มีรัฐประหาร ประชาชนก็จะกล้าส่งเสียงในเรื่องที่ต้องการผ่านผู้แทนของพวกเขาปัญหาเรื่องนั้นๆ ก็จะคลี่คลายไปได้อย่างรวดเร็ว และต้องร่วมมือร่วมใจกัน

GM : จะร่วมมือร่วมใจกันอย่างไร ในเมื่อตอนนี้คนในสังคมแบ่งออกเป็น 2 ข้าง พูดได้ว่าแต่ละข้างก็อิงอยู่กับระบบอุปถัมภ์คนละแบบ จะทำอย่างไรให้พ้นไปจากระบบอุปถัมภ์ทั้งสองนี้ได้

จารุพรรณ : คงต้องอยู่อย่างนี้กันไปก่อน เรียนรู้กันไปก่อนว่าระบบเดิมจะแก้ไขปัญหาได้หรือเปล่า แต่ละข้างไม่จำเป็นต้องมาเป็นพวกเดียวกัน แต่ในอนาคตอาจมีระบบใหม่ที่ไม่ได้พึ่งโครงสร้างแบบเดิมก็ได้ แต่ถ้ามาจากเสียงส่วนใหญ่ ระบบจะพัฒนาไปได้เอง วันนี้ถ้าไม่มีใครมาคิดแทนให้ รับรองว่าจะมีเสียงสะท้อนที่สร้างสรรค์ออกมา มีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้น ทำให้ไทยพัฒนาอย่างยั่งยืนได้จริง

GM : ในช่วงที่การชุมนุมของคนเสื้อแดงเข้มข้น มีการพูดถึงเรื่องข้ามพ้นคุณทักษิณ แต่หลังจากเพื่อไทยมาเป็นรัฐบาลก็ประจักษ์ชัดว่านั่นไม่ได้เป็นจริง คุณอธิบายเรื่องนี้อย่างไร

จารุพรรณ : ตลอดเวลาที่ผ่านมา เราพยายามบอกว่าไม่ได้ข้ามพ้นใครไปสักคน ในฐานะที่เห็นว่าสติปัญญาท่านเหล่านั้นยังดีอยู่ ซึ่งมีการอธิบายออกมาเป็นเสียงสะท้อนจากประชาชน ตรวจสอบได้ สิ่งที่คุณทักษิณพูดก็มาจากการได้รับฟังจากประชาชน ผ่านวิธีคิดแบบคุณทักษิณแล้วก็ออกมาเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า เราไม่จำเป็นต้องทิ้งใครเลยสักคน

ยิ่งคนที่มีประโยชน์มากๆ กับประเทศ คำพูดของคุณทักษิณในเรื่องการบริหารจัดการประเทศถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ดี เรื่องไหนเห็นด้วยก็นำไปทำ เรื่องไหนไม่เห็นด้วยก็ไม่ทำ ดังนั้น มามองกันที่สติปัญญาดีกว่าว่าอันไหนมีประโยชน์กับประเทศ เราก็ใช้แบบนั้น หากฝ่ายค้านมีนโยบายที่เราคิดว่าดีมากต่อประชาชน เราก็เห็นด้วย

GM : ในฐานะคนเสื้อแดง คิดอย่างไรกับการขออภัยโทษให้คุณทักษิณ เพราะเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาก แม้ในหมู่นักคิดเสื้อแดงเอง

จารุพรรณ : สิ่งที่เสื้อแดงพูดมาโดยตลอดคือไม่ต้องการขออภัยโทษคุณทักษิณ แต่สิ่งที่เรียกร้องคือความยุติธรรมและความเป็นธรรม การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต้องไม่ได้เข้าโดยความกลัวว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม ตามหลักการแล้ว คนที่มาตัดสิน ไม่ว่าจะเป็นศาลหรือคนที่อยู่ในกระบวนการเป็นปฏิปักษ์กับเราหรือไม่ ถ้าเป็นปฏิปักษ์ก็ต้องเปลี่ยนบุคคลเหล่านั้น แต่ในเมื่อระบบในเมืองไทยไม่ได้เป็นอย่างนั้น ไม่สามารถเปลี่ยนคนที่เป็นปฏิปักษ์ออกจากการตัดสินตัวผู้ถูกกล่าวหาได้เลย กรณีคุณทักษิณเห็นชัด คุณทักษิณสะท้อนว่าขอเปลี่ยนผู้ตัดสิน ตามหลักสากลต้องให้ปลี่ยน แต่กลับไม่มีการเปลี่ยน จะเรียกว่าให้ความเป็นธรรมได้อย่างไร

GM : ไม่ใช่ว่า ทองแท้ต้องไม่กลัวการตรวจสอบหรอกหรือ

จารุพรรณ : ถ้าอย่างนั้นก็ต้องตรวจสอบกันทั้งระบบ ศาลเองก็ต้องได้รับการตรวจสอบด้วย ถ้ามีเสียงสะท้อนมาว่าศาลอาจไม่ให้ความเป็นธรรมได้ ระบบก็ต้องเปลี่ยน ขนาดคนที่สร้างคุณูปการอย่างยิ่งยังโดนขนาดนี้ ประชาชนคนธรรมดาจะโดนอย่างไรบ้าง สิทธิในการได้รับการประกันตัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน สิทธิในการที่จะไม่โดนจับเข้าคุกง่ายๆ เป็นสิ่งที่ไทยลอกมาจากประเทศอังกฤษ วันนี้เราลอกมาแต่ตัวบทกฎหมาย แต่วิธีปฏิบัติเราไม่ได้นำมาใช้ด้วย เราจับคนเข้าคุกกันได้ง่ายๆ ซึ่งทั่วโลกไม่ทำกัน

GM : เรื่องคดีความของคนเสื้อแดงนั้น มีหลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมพอเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลจึงไม่เลือกทำเป็นเรื่องแรก

จารุพรรณ : ทำค่ะ แต่ศาลยังไม่ให้ประกันตัว หรือว่ามีมูลค่าเงินที่ขอประกันสูงมากจนกระทั่งประกันไม่ได้ จริงๆ แล้วต้องขนาดนั้นไหม ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ต้องมีการประกันตัว ไม่ได้ถูกจับเลยด้วยซ้ำ ทุกอย่างอยู่ในดุลยพินิจของศาลหมด ซึ่งเราไม่รู้ว่าเป็นใครอย่างไร อยากให้กระบวนการยุติธรรมไทยทันสมัย รอไม่ได้แล้วแม้แต่หนึ่งวันกับคนที่ขาดอิสรภาพ การให้ทานอันยิ่งใหญ่คือการให้อิสรภาพกับเพื่อนมนุษย์ โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้ทำผิด หรือเป็นคดีทางการเมือง

GM : มีการพูดกันมากว่า คนเสื้อแดงคือเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ในทางปรัชญาการเมืองแล้ว dilemma หนึ่งของประชาธิปไตยคือเสียงส่วนใหญ่ เพราะการสนใจเฉพาะเสียงส่วนใหญ่จะก่อให้เกิดเผด็จการเสียงข้างมากขึ้น ในสังคมไทย บางคนอาจมองด้วยซ้ำว่าถ้ามีเสียงข้างมากแล้วก็ทำตามเสียงข้างมากไปโดยไม่ต้องสนใจเสียงข้างน้อย คุณมองอย่างไร

จารุพรรณ : ในการสร้างบ้าน เราต้องการเผด็จการเสียงข้างมากในการวางรากหรือสร้างตอม่อให้มั่นคง ผ่านยุคการวางรากฐานให้มั่นคง ประชาชนได้ถูกตอกเป็นพื้นฐานหัวใจสำคัญ เป็นตอม่อของบ้าน พอหมดยุคนั้น เราจะเริ่มเข้ามาดูในรายละเอียดมากขึ้นจะทำบ้านให้สวยได้อย่างไร เสียงส่วนน้อยก็จะถูกมองเห็นมากขึ้น แต่ในช่วง 4 ปีนี้ ขอให้เสียงข้างมากได้รับการสนับสนุนก่อน ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่มีที่ยืนในประเทศจะเป็นปัญหาหนัก และเราจะไม่มีวันสร้างบ้านร่วมกันได้แน่นอน ขอให้คนส่วนใหญ่ได้เป็นรากฐานของบ้านก่อน ให้เคารพการเลือกตั้ง ไม่มีการรัฐประหาร ไม่เอาคนส่วนน้อยมากำหนดในเรื่องสำคัญของประเทศ ทำเท่านี้ให้ได้ก่อน แล้วเสียงส่วนน้อยจะถูกมองมากขึ้น เพราะพอเป้าหมายร่วมสำเร็จไปแล้ว เสียงส่วนใหญ่ก็จะแตกเป็นคนกลุ่มน้อย เป็นกลุ่มความคิดของเขาเอง เช่น กลุ่มนายจ้าง กลุ่มลูกจ้าง กลุ่มสื่อ ซึ่งลุกขึ้นมาต่อสู้ในประเด็นของเขาเอง

GM : ถามจริงๆ คุณคิดว่าการรัฐประหารจะยังเกิดขึ้นได้อีกไหม

จารุพรรณ : โอกาสในการรัฐประหารน้อยมาก เนื่องจากประชาชนไม่ยอมให้มีรัฐประหารแน่นอน ต่างประเทศจับตาดูอย่างใกล้ชิดมากๆ แม้จะมีความคิดรัฐประหารแทรกซึมอยู่บ้าง แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดขึ้น เกิดรัฐประหารเมื่อไหร่ประชาชนพร้อมจะออกมาเคลื่อนไหวได้เสมอ ต้องออกมาขัดขวาง เพราะรัฐประหารคือการเป็นกบฏของแผ่นดิน ประชาชนทุกคนมีอำนาจในการต่อต้านรัฐประหารแล้วก็จัดการกับกบฏให้หมดไป

GM : พื้นฐานของคุณเป็นอย่างไร

จารุพรรณ : เป็นคนที่ชอบทำกิจกรรมมาตั้งแต่เด็กๆ ค่ะ สมัยเรียนที่โรงเรียนสาธิตเกษตรฯ ก็จะทำกิจกรรมเยอะมาก หลังจากนั้นสอบเทียบเข้ามหาวิทยาลัยเพื่อจะได้จบเร็วๆ ปรากฏว่าติดที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตอนนั้นเป็นยุครัฐบาลชาติชาย (ชุณหะวัณ) ที่ประกาศว่าประเทศไทยต้องการวิศวกรเพื่อก้าวสู่ยุคอุตสาหกรรม (นิกส์) ความที่เป็นนักกิจกรรมเลยได้ยินเรื่องนี้มา ถือเป็นอิทธิพลทางการเมืองที่ส่งผลให้อยากเป็นวิศวกรตามที่ชาติบ้านเมืองต้องการ (หัวเราะ) แต่เหตุผลที่เลือกเรียนวิศวะเพราะนิสัยส่วนตัวเป็นคนที่ชอบเรียนรู้เรื่องอะไรใหม่ๆ วิศวะน่าจะมีเรื่องใหม่ๆ ให้ได้เรียนรู้เยอะ จบปริญญาตรีก็ไปเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่ตัวเองเรียนจบมา แล้วไปเรียนต่อปริญญาโทด้านวิศวกรรมเคมี ที่มหาวิทยาลัยเบอร์-มิงแฮม ประเทศอังกฤษ แล้วเรียนต่อปริญญาเอกในสาขาวิศวกรรมและเทคโนโลยีอาหาร ที่เบอร์ลิน ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ เทคโนโลยี ประเทศเยอรมนี

เหตุผลที่สนใจด้านวิศวกรรมเคมีเพราะอยากนำความรู้ด้านนี้มาใช้พัฒนาพื้นฐานของประเทศไทยในด้านอาหารและชีวภาพ เพราะเป็นสาขาที่ศึกษาลึกลงไปว่า กระบวนการต่างๆ ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีประกอบขึ้นมาด้วยอะไรบ้าง ตอนเรียนปริญญาโททำงานเกี่ยวกับเรื่องอาหาร เพราะถ้าพูดถึงในเมืองไทย เรามีทรัพยากรมากมีความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นประเทศเกษตรกรรม จึงมีศักยภาพในการผลิตยาและอาหารให้อยู่ในระดับแนวหน้าของโลกได้ ส่วนความรู้ที่เรียนในระดับปริญญาเอกเน้นไปที่การออกแบบเครื่องไม้เครื่องมือที่จะนำมาใช้ผลิตอาหารให้มีคุณภาพ มีมาตรฐานและปลอดภัย คิดว่าความรู้ด้านนี้สามารถนำมาใช้ในบ้านเราได้

ตอนไปเรียนปริญญาเอกที่เยอรมนี รู้สึกตัวว่าเราเองเพิ่งมีการศึกษาเป็นเรื่องเป็นราวจากประเทศนี้ ตลอดช่วงที่เรียนในเมืองไทย เข้าใจได้ทันทีว่าทำไมเราไม่ค่อยตั้งใจเรียนสักเท่าไหร่ ถึงแม้จะฟลุคทำคะแนนได้ดีก็เถอะ ทำไมถึงสนใจกิจกรรมมากกว่าการเรียน เป็นเพราะว่าบ้านเราไม่ได้มีการทำให้การเรียนการสอนในห้องเรียนมันเร้าใจ เพื่อดึงดูดผู้เรียนเลย การศึกษาของเยอรมนีมีประวัติศาสตร์ ไม่ได้เรียนเฉพาะแค่บทเรียน แต่เรียนว่าใครได้สร้างอะไรออกมาบ้าง ทำให้เข้าใจวิธีคิดอย่างเป็นขั้นเป็นตอน จนกลายมาเป็นบทเรียนที่อยู่ตรงหน้าเรา เหมือนเป็นไม้ที่ถูกส่งต่อมาจากคนรุ่นก่อนยาวนานมาหลายร้อยปี มีการวิจัยมาเยอะมาก เร้าใจมาก บุคคลสำคัญท่านนี้เกิดแรงบันดาลใจอะไรหรือเกิดจุดเปลี่ยนอะไรขึ้นมาในชีวิต ถึงได้ค้นพบสิ่งนั้นสิ่งนี้ อย่างบางคนอกหักแล้วทำให้คิดเรื่องดีเอ็นเอออก (หัวเราะ) คือคนที่ได้รางวัลโนเบลเรื่องดีเอ็นเอเนี่ยแหละค่ะ วันๆ นั่งคิดถึงแต่แฟนวนเวียนในหัวสมอง จนปิ๊งออกมาเป็นเส้นสายโยงใย โปรเฟสเซอร์ที่นั่นเป็นเหมือนดารา เวลาไปบรรยายมีคนเข้าฟังเป็นพันคน

ในสังคมประชาธิปไตย คุณค่าพื้นฐานคือการให้ความสำคัญกับคน คนทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงแหล่งทรัพยากรและแหล่งความรู้อย่างเท่าเทียมกัน โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ จึงเอื้อให้คนได้พัฒนาตัวเองมากที่สุด ดิฉันว่านี่เป็นเสน่ห์ของสังคมประชาธิปไตย เขาเคารพความเป็นคน จึงมีสิทธิ์จะพัฒนาตัวเองได้ อย่างนักเรียนนักศึกษา พอต้องการมาแสวงหาความรู้ในสถานที่ต่างๆ เช่น พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด หรือศูนย์วิจัย เขาจะยินดีมากที่เราเข้าใช้บริการ เยอรมันยังมีทุนการศึกษามากมายหลายทุน ซึ่งทุนเหล่านี้มาจากคนเยอรมัน ส่วนใหญ่คนที่ไปเรียนที่เยอรมนีจะเรียนฟรี เพราะได้ทุน ยังเป็นหนี้คนเยอรมันอยู่เลย เพราะทุนที่ได้ตอนเรียนปริญญาเอกเป็นเงินภาษีของคนเยอรมัน (หัวเราะ) พอเรียนจบปริญญาเอกจึงตัดสินใจกลับมาเป็นอาจารย์ที่คณะวิศวะฯ มหิดลเหมือนเดิม

GM : จากพื้นฐานแบบวิศวะหรือวิทยาศาสตร์ ทำไมจึงมาทำงานกับกลุ่มจิตวิวัฒน์ได้

จารุพรรณ : ตอนเรียนปริญญาเอกมองเห็นสิ่งที่ยากที่สุดในชีวิต แล้วคิดว่าคงผ่านไปไม่ได้หรอก นั่นคือการเรียนของตัวเองนี่แหละ (หัวเราะ) ทำไมมันยากเหลือเกิน (เสียงสูง) เพราะสิ่งที่เราศึกษามันไม่เป็นไปตามที่คาดคิดไว้ ไม่มีทฤษฎีอะไรที่จะอธิบายได้เลย เลยหันหน้าเข้าหาวัด (ยิ้ม) ไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว ไปนั่งสงบจิตสงบใจ ทำสมาธิในวัดไทยที่กรุงเบอร์ลิน ก็ได้เจอกับพระอาจารย์ท่านหนึ่ง ชื่อหลวงปู่บุญฤทธิ์ ซึ่งท่านได้รับเชิญให้มาจำพรรษาที่วัดแห่งนี้ในปีนั้นเป็นปีแรกด้วย ท่านสอนให้เจริญสติ มองเข้าไปในความทุกข์ พอทำมากๆ เข้าก็มีกำลังใจ ก็ค่อยๆ ผ่านมาได้ สิ่งที่ได้ตอนเรียนปริญญาเอกคือความอดทน

อยู่กับความท้อแท้ หมดหวัง กลัวล้มเหลว เพราะตั้งแต่เล็กจนโตเรียนเก่งมาตลอด ไม่เคยเรียนแย่ พอมาเจอการเรียนยากๆ ก็เป็นงานหินสำหรับเรา ช่วงที่อยู่เยอรมนีได้พบกับคุณหมอประเวศ (วะสี) ตอนนั้นยังบ้าทำกิจกรรมอยู่ ก็เป็นผู้นำในการจัดประชุมวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และสังคม ได้เชิญอาจารย์หมอประเวศมาเป็นองค์ปาฐก ท่านคุยกับเราเห็นว่าสนใจการเจริญสติ กลับมาเมืองไทยเลยชวนไปอยู่กลุ่มจิตวิวัฒน์ ที่ศึกษาค้นคว้าในเรื่องจิตวิญญาณที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของมนุษย์ ตอนนั้นก็ทำงานเป็นอาจารย์ที่มหิดลควบคู่กับงานของกลุ่มจิตวิวัฒน์

GM : งานที่คุณทำในกลุ่มจิตวิวัฒน์คืออะไร

จารุพรรณ : หน้าที่หลักของจิตวิวัฒน์คือศึกษางานวิจัยจากทั่วโลกที่พูดถึงเรื่องสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับมิติทางจิตวิญญาณ เช่น ศึกษาเรื่องคนทั้งโลกกินยาโรคกระเพาะและยานอนหลับกันมาก แต่จริงๆ แล้ว สาเหตุหลักที่ทำให้คนกินยาสองชนิดนี้เกิดจากความเครียด สิ่งที่ช่วยแก้ความเครียดได้อาจไม่ใช่ยา แต่อยู่ที่ตัวเอง ก็นำงานวิจัยมาเผยแพร่เพื่อให้คนหันมาแก้ปัญหาที่ตัวเอง ไม่พึ่งยา หรือค้นคว้างานวิจัยในเรื่องที่ว่า มนุษย์จะอยู่กับสิ่งแวดล้อมอย่างไรที่จะทำให้เกิดสมดุล แล้วต่อมาก็ได้รับมอบหมายให้ไปทำหลักสูตรจิตตปัญญาศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อให้ในเมืองไทยมีการเรียนการสอนหลักสูตรนี้เหมือนกับในต่างประเทศ โดยรวมก็คือ จิตวิวัฒน์เน้นที่การรวบรวมข้อมูลจากทั่วโลก ว่ามีใครทำวิจัยในเรื่องวิทยา-ศาสตร์ในมิติทางจิตวิญญาณบ้าง แต่ไม่ใช่ล้ำหน้าไปจนหลุดโลก เป็นงานวิจัยที่นำมาประยุกต์ใช้ได้ พิสูจน์ได้ ตรวจสอบได้ทางวิทยาศาสตร์ เช่น คลื่นสมองมีผลต่อการเรียงผลึกของน้ำแข็ง ซึ่งอาจเป็นได้ เพราะตอนทำวิจัยมีสมาธิมากๆ ส่งผลให้สารเคมีหรือสิ่งที่เราทำวิจัยไม่เกิดความวุ่นวาย

ตอนนั้นไม่ได้คิดอยากเป็นนักการเมืองเลย อยากทำงานเป็นอาจารย์และช่วยแก้ไขปัญหาสังคมไปด้วย แถมทำงานจิตตปัญญาศึกษาสนุกมากเลยนะ เพราะเป็นงานที่หลุดออกไปจากในด้านบริหารที่เราเคยทำมา แต่พอเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน เราได้เห็นความคิดเก่าๆ ที่ล้าหลัง ซึ่งจะทำให้สังคมเดินถอยหลังกลับไป จะถูกล้อมด้วยกรอบเดิมๆ หนักเข้าไปอีก เราเห็นปัญหาของระบบอยู่แล้ว และรัฐประหารจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่หล่อเลี้ยงปัญหาของระบบเอาไว้ งานทั้งหมดที่เราและกลุ่มจิตวิวัฒน์ได้ช่วยกันปูไว้ มันจะไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้ แม้เนื้อหาจะดีอย่างไร แต่พอระบบไม่เอื้อ มันก็ไม่สำเร็จ

ส่วนตัวเชื่อว่า ไม่ว่าจะเก่งสักแค่ไหนถ้าอยู่ในระบบที่ฉ้อฉลก็จะต้องฉ้อฉลอยู่ดี สิ่งที่หล่อเลี้ยงระบบที่ฉ้อฉลคือการรัฐประหาร เพราะทำให้โครงสร้างการสั่งงานเป็นแนวดิ่งจากบนลงล่างอย่างเดียว จากคนส่วนน้อยที่อยู่ข้างบนลงมาหาคนทั้งหมดที่อยู่ด้านล่าง ทุกอย่างจะขับเคลื่อนช้า เพราะต้องรอคนส่วนน้อยด้านบน คนด้านล่างเลยไม่ตัดสินใจ แต่จะซิกแซกเพื่อให้ได้มาซึ่งงาน ทำให้ทั้งระบบเกิดการคอร์รัปชั่น ธรรมะบอกว่า การศรัทธาอย่างเดียว เคารพต่อคำสั่งอย่างเดียวไม่ทำให้เกิดปัญญา จะเกิดปัญญาได้ก็ต่อเมื่อไม่มีการกดทับ เพราะฉะนั้น คนที่ปฏิบัติธรรมแล้วยังสนับสนุนการรัฐประหารอยู่ ให้กลับมาถามตัวเองหน่อยว่า หนทางการปฏิบัติธรรมที่ยึดถือมามีความถูกต้องไหม

GM : มีผู้บอกว่า การปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องเฉพาะตน แล้วจะสอดรับกับการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร

จารุพรรณ : การปฏิบัติธรรมในนิกายเถรวาทเน้นในเรื่องการค้นหา เรียนรู้ และค้นพบด้วยตัวเอง แต่มหายานและวัชรยานเน้นการปฏิบัติธรรมที่ต้องเรียนรู้จากผู้อื่น เป็นคอมมูนิตี้ เป็นสังฆะ ไม่ได้เน้นปฏิบัติธรรมแบบส่วนตัว แต่จะพากันไปทั้งสังคม

GM : พูดได้ไหมว่ามหายานหรือวัชรยานมีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าเถรวาท

จารุพรรณ : ได้ คุยกับพระในนิกายมหายานท่านก็บอกแบบนี้เหมือนกันตอนที่สนใจธรรมะช่วงเรียนปริญญาเอก ไม่ได้อยากจะตัดขาดจากโลกหรืออยากนิพพานนะ ไม่รู้ว่านิพพานคืออะไรด้วยซ้ำ แต่เพราะธรรมะช่วยให้คลายกังวลได้จากทุกข์จากการเรียน ตอนนั้นถึงขนาดคิดจะบวชเป็นภิกษุณีหรือบวชชีเลยด้วยซ้ำ (หัวเราะ) เคยไปหมู่บ้านพลัม แล้วพระเห็นแววเลยชวนบวชเป็นภิกษุณี พอเรียนจบกลับมาเมืองไทย เห็นว่าบ้านเรามีปัญหาอะไรต่อมิอะไรเยอะมาก โดยเฉพาะปัญหาของระบบการบริหารบ้านเมือง ซึ่งเราช่วยแก้ไขได้ คิดทบทวนดูแล้วก็ไม่อยากไปมีความสุขอยู่คนเดียว เลยไม่ได้บวช

GM : เมื่อคุณมาเป็นเสื้อแดงเต็มตัว ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคยร่วมงานด้วยทั้งในกลุ่มจิตวิวัฒน์และกลุ่มสันติวิธี เช่น คุณหมอประเวศ วะสี อาจารย์โคทม อารียา อาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล มีเสียงสะท้อนอย่างไร

จารุพรรณ : เขาเข้าใจเรานะ หมอประเวศเข้าใจ ผู้หลักผู้ใหญ่อายุ 70-80 ในกลุ่มจิตวิวัฒน์ก็เข้าใจว่าเราเป็นคนอย่างไร มีความคิดความอ่านอย่างไร เข้าใจถึงเหตุผลที่เรามาร่วมงานกับกลุ่มคนเสื้อแดง และเป็นการสร้างความมั่นใจให้เขาด้วยว่า พอเรามาอยู่ในกลุ่มนี้แล้วจะไม่ทำให้คนในกลุ่มทำสิ่งที่ผิดพลาดอีก

GM : รู้สึกอย่างไรที่มีนักคิดนักเขียนเสื้อแดงจำนวนหนึ่ง วิพากษ์วิจารณ์หมอประเวศอย่างหนัก

จารุพรรณ : ก็เข้าใจได้ (หัวเราะ) ว่าหมอประเวศเป็นผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิด เมื่อเป็นคนที่มีความสำคัญขนาดนั้น ต้องได้รับการตรวจสอบ ใครก็ตามที่ขึ้นมามีอำนาจต้องได้รับการตรวจสอบเพื่อไม่ให้อำนาจนั้นฉ้อฉล และอยู่ได้อย่างสมดุลทั้งสังคม วันหนึ่งประชาชนมีอำนาจมาก ก็ต้องมีสิ่งที่ตรวจสอบประชาชนเหมือนกัน ยิ่งเราเคารพใคร ต้องยิ่งพูด

ความจริง ต้องให้ความจริงกับคนที่มอบความเคารพให้ ไม่ใช่ให้ความสุภาพอย่างเดียว การไม่ให้ความจริงก็เป็นเรื่องไม่สุภาพด้วย หมอประเวศก็ต้องยอมรับว่าท่านมีอิทธิพล

GM : คุณได้นำสิ่งที่เรียนรู้จากกลุ่มจิตวิวัฒน์มาใช้ในการทำงานการเมืองบ้างไหม

จารุพรรณ : จิตวิวัฒน์ทำให้เรารู้จักตัวเองจริงๆ ว่าแรงบันดาลใจของเราอยู่ตรงไหน ได้มาใคร่ครวญว่า จริงๆ แล้วปัญหาต่างๆ มีทางออก ถ้าสงบ มีสติ ไม่ตกอกตกใจกับปัญหานั้น ยิ่งถ้าได้อยู่ท่ามกลางคนที่มีสติเยอะๆ ยิ่งช่วยกันได้มาก จิตวิวัฒน์ช่วยอธิบายปรากฏการณ์ว่า หากมีกลุ่มคนจำนวนมากที่มีสติมาช่วยกันทำอะไร ก็ย่อมจะสำเร็จ

GM : ช่วงหลังๆ มีโอกาสได้ไปปฏิบัติธรรมหรือไปร่วมภาวนากับกลุ่มหมู่บ้านพลัมอยู่อีกไหม

จารุพรรณ : ไม่ค่ะ แต่คนในหมู่บ้านพลัมก็ยังส่งข่าวมาเรื่อยๆ เขายังติดตามการทำงานของเราอยู่ กลุ่มจิตวิวัฒน์ก็ยังติดตามดูผลงานของเราอยู่เหมือนกัน การที่มีคนสะท้อนเรื่องราวต่างๆ เป็นการเตือนสติให้เราโดยอัตโนมัติ เป้าหมายหลักของแต่ละคนคือการพ้นทุกข์ มาทำงานการเมืองก็ต้องคำนึงถึงเป้าหมายสำคัญคือทำให้คนมีความสุขมากขึ้น ถ้างานไหนมันไม่ทำให้คนในสังคมมีความสุข มันก็คงผิดทาง ประโยชน์ส่วนตัวจึงเข้ามาแทรกได้น้อยมาก

GM : คุณเคยเป็นแชมป์หมากรุกมาก่อน ว่ากันว่าการเมืองต้องวางหมากกันหลายชั้น การเล่นหมากรุกน่าจะช่วยคุณให้เล่นการเมืองได้เก่ง ?

จารุพรรณ : (ยิ้ม) เล่นหมากรุกสากลค่ะ กฎกติกาเลยค่อนข้างยืดหยุ่นกว่าหมากรุกไทย หมากรุกไทยซับซ้อนมาก หมากรุกสากลรวดเร็ว เปรียบเทียบกับการเมืองแล้ว

วิธีคิดแบบไทยและวิธีคิดแบบสากลก็ต่างกันเหมือนหมากรุก สิ่งที่ได้เรียนรู้จากหมากรุกคือเราเห็นภาพรวมทั้งระบบ ได้เห็นว่าไม่ว่าหมากเล็กหมากน้อยก็มีผลต่อความสำเร็จของทุกฝ่ายเช่นกัน ไม่ได้หมายความว่าใครมีอำนาจมากจะเป็นผู้กำหนดทั้งกระดาน แม้หมากรุกสากลจะให้อำนาจมากกับตัวที่เป็นควีน เดินได้ทุกตาเลย แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ชนะทั้งกระดาน เบี้ยเล็กๆ อาจเป็นเหตุปัจจัยให้ชนะก็ได้ ถ้าทำงานกันเป็นทีมที่ดี

GM : ทุกวันนี้ยังเล่นกีตาร์อยู่ไหม

จารุพรรณ : เล่นค่ะ นานๆ ที แต่ไม่ได้เล่นจริงจังแล้ว เปลี่ยนไปเล่นเปียโนแทน

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ