วสันต์ ภัยหลีกลี้ จาก BBC สู่ MCOT
วสันต์ ภัยหลีกลี้ เป็นคนอ่อนนอกแข็งใน แม้บุคลิกภายนอกดูเหมือนเป็นคนประนีประนอม แต่เมื่อพิจารณาจากประวัติชีวิตการทำงานแล้ว เขาเลือกที่จะแตกหักอย่างนุ่มนวลมากกว่าต่อกรแบบแข็งกร้าว เราจึงไม่เคยเห็นข่าวคราวความขัดแย้งกับองค์กรที่เขาเข้าไปทำงานด้วยในช่วงหลังปรากฏต่อสาธารณะ แม้บางกรณีเขาเลือกที่จะเดินจากมาเพื่อรักษาหลักการ มากกว่าจะอยู่เฝ้าห้องทำงานเพื่อรักษาตำแหน่ง 3 ปีกับโครงการวิทยุผู้จัดการเป็นการจากลาด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ 4 ปีกับช่อง 7 เป็นการจากลาตามธรรมดาโลก แต่ 2 ปี 7 เดือนที่ไอทีวีไม่อาจนับเป็นการจากลาในสถานการณ์ปกติ แม้เจ้าตัวจะไม่เคยเอื้อนเอ่ย แต่เป็นที่รู้กันในวงการข่าวว่า สาเหตุหลักมาจากการรายงานข่าวของสถานีโทรทัศน์แห่งนั้น ที่ไปกระทบกับธุรกิจหลักของผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างชินคอร์ปอย่างจัง คำสัญญาว่าจะให้อิสระจึงเป็นหมัน และการจากลาอีกครั้งของวสันต์ก็ถูกบันทึกไว้ในประวัติการทำงาน วสันต์กลับบ้านเก่าผู้จัดการในยุค ‘เปลี่ยนไป’ ในตำแหน่งโค้ชเพื่อฝึกซีอีโอคนใหม่ จิตตนาถ ลิ้มทอง-กุล ให้พร้อมสำหรับการขึ้นสังเวียนกุมบังเหียนธุรกิจต่อจากผู้พ่อ โดยมีหนังสือพิมพ์ผู้จัดการและเว็บไซต์ www.manager.co.th เป็นเรือธง แต่ในเวลาเพียง 1 ปี 7 เดือน วสันต์ในฐานะต้นหนก็ตัดสินใจสละเรืออีกครั้ง ด้วยเหตุผลว่าเสร็จสิ้นภารกิจแล้ว กระนั้นคอลัมนิสต์มติชนสุดสัปดาห์อย่างหนุ่มเมืองจันทน์กลับเรียกขานกรณีดังกล่าวว่า ‘ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น’
ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลกลใด วสันต์เลือกที่จะใช้ชีวิตการทำงานอย่างสงบ โดยเฉพาะเมื่อธงรบถูกชักขึ้นในยุคหลังรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ถูกปิด และ สนธิ ลิ้มทองกุล ประกาศสู้กับ ทักษิณ ชินวัตร โดยมีชีวิตและกิจการเป็นเดิมพัน นับเป็นการ ‘เปลี่ยนไป’ อีกครั้งของผู้จัดการ และเป็นการเปลี่ยนไปที่ไม่อาจจะกลับไปเหมือนเดิมได้อีกของทั้งกลุ่มผู้จัดการและของสังคมไทย รวมทั้งบุคคลผู้มีสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับองค์กรแห่งนั้น
วสันต์ปฏิเสธว่าเขาไม่ใช่คนวงใน แต่ไปชุมนุมในฐานะปัจเจกผู้ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ นอกจากเป้าใหญ่บ้านจันทร์ส่องหล้า กระสุนลูกปรายจากบ้านพระอาทิตย์ยังกระเด็นมาตกกระจายที่สี่แยก อ.ส.ม.ท. ช่วงเวลาต่อสู้กันข้ามปี มีการฟ้องร้องกันหลายคดีระหว่างกลุ่มบริษัทผู้จัดการกับบอร์ด อ.ส.ม.ท. (บางคน) จนทำให้ทั้งสององค์กรเกิดความร้าวฉาน ก่อนจุดเปลี่ยนจะมาถึงในคืนวันที่ 19 กันยายน 2549 เมื่อ มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ (อดีตผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท.) เปิดเทปผิดม้วน แทนที่จะเป็นเพลงมาร์ชและประกาศคณะปฏิวัติ นักประชาสัมพันธ์ผู้เจนจัดในการสร้างภาพ เดินเกมพลาดด้วยการเลือกข้างนายเก่า ทำให้เขาต้องกลายเป็นจำเลยสังคมร่วมกับนายตำรวจใหญ่บางคนที่แอบปิดโทรศัพท์หนีหน้าในคืนนั้นด้วยการกดดันอย่างหนักโดยเฉพาะจากซีกฟากผู้จัดการผ่านทางรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ของสนธิ ลิ้มทองกุล ในที่สุด มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ก็ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งก่อนจะทันได้ใช้ห้องทำงานใหม่ซึ่งตัวเองได้ปรับปรุงไว้ นับเป็นโศกนาฏกรรมแห่งยุคสมัยที่มีฉายให้ชมแต่เฉพาะในสายตานักสังเกตการณ์ ด้วยไม่อาจออกอากาศผ่านรายการใดของโมเดิร์นไนน์
ท่ามกลางแรงต้านของพนักงาน อ.ส.ม.ท. ต่อการเข้ามาของคนนอกโดยเฉพาะจากกลุ่มผู้จัดการ วสันต์ ภัยหลีกลี้ ยื่นใบสมัครเพื่อรับการคัดเลือกเป็นผู้อำนวยการคนใหม่ ด้วยวิสัยทัศน์ที่แถลงต่อคณะกรรมการบวกกับแรงสนับสนุนจากคอลัมนิสต์และสื่อมวลชนร่วมอาชีพ ในที่สุด วสันต์ ภัยหลีกลี้ ก็ได้รับเลือกให้เข้าดำรงตำแหน่งตามความคาดหมาย โดยสนธิ ลิ้มทองกุล ประกาศหนุนท้ายด้วยการสั่งห้ามบริษัทในเครือทั้งหมดยื่นของานจาก อ.ส.ม.ท. เพื่อให้ภาพลักษณ์ที่
ผูกติด ไม่กลายเป็นน้ำหนักที่วสันต์ต้องแบกรับไว้ในวันที่ก้าวเข้าสู่ห้องทำงานแห่งใหม่ วสันต์เป็นคนพูดน้อย ไม่ได้มีลักษณะของสื่อมวลชนฝีปากกล้าที่เมื่อเผชิญหน้ากับคำถามจะตอบกลับแบบฉับไว และเปิดเผยความในทุกเรื่องอย่างไม่เกรงใจใคร คำพูดของวสันต์จึงถนอมน้ำใจตัวบุคคลและองค์กรที่เขาเกี่ยวข้อง จนยากจะหาวาจาเชือดเฉือนอย่างที่พึงมีเมื่อนักข่าวใหญ่ให้สัมภาษณ์การอ่านคนอย่างวสันต์จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยความในใจล้วนถูกหุ้มห่อไว้อย่างมิดชิดการอ่านวสันต์จึงต้องอ่านจากอดีต อ่านจากเหตุผลการจากลา อ่านจากช่วงเวลาแห่งการตัดสินใจ และอ่านจากความนัยระหว่างบรรทัด ก็จะทำให้เห็นความเป็นไปและสิ่งที่กำลังจะเกิดกับ อ.ส.ม.ท. และตัวเขาได้ในอนาคต
GM : ช่วงต้นของชีวิต คุณทำงานที่มติชน ถ้าให้มองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ 30 ปีของมติชน คุณเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง
วสันต์ : มติชนเป็นสื่อที่น่าสนใจ ตอนที่มติชนเริ่มใหม่ๆ มีคนที่มีฝีไม้ลายมือ มีความคิด ความอ่านที่คล้ายคลึงกันมารวมกัน มาช่วยกันบุกเบิกอยู่เยอะ จากวันนั้นถึงวันนี้ ต้องถือว่ามติชนเป็นสถาบันหนึ่งที่มีคุณูปการกับสังคม ผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพป้อนให้กับวงการอยู่พอสมควร นอกจากเป็นสถาบันที่รับผิดชอบต่อผู้อ่าน มติชนยังดูแลพนักงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้คนทำงานมีหลักประกันเรื่องความมั่นคง มีโอกาสเติบโต หลายคนที่เริ่มงานรุ่นใกล้ๆ กันกับผม วันนี้เติบโตขึ้นมาเป็นผู้บริหาร มีส่วนในการบริหารบริษัท นี่สะท้อนให้เห็นถึงระบบและความเป็นสถาบัน ซึ่งผมคิดว่าน่าสนใจ
GM : ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มติชนเกิดมรสุม แกรมมี่พยายามจะเข้าไปเทกโอเวอร์ คุณมองปรากฏการณ์ช่วงนั้นอย่างไร
วสันต์ : จริงๆ ในฐานะคนที่อยู่ในวงการสื่อ รวมทั้งในฐานะศิษย์เก่ามติชน และที่สำคัญคือเป็นผู้อ่านมติชนเกือบทุกวันมาเป็นเวลานานนับสิบๆ ปี ผมคิดว่าหนังสือพิมพ์ไม่ได้เป็นเรื่องธุรกิจอย่างเดียว มันมีอะไรมากกว่าการผลิตวัตถุดิบชิ้นหนึ่งขึ้นมาแล้วขายไปในปริมาณมากๆ มันมีเนื้อหาสาระ มีจิตวิญญาณ มีอะไรหลายอย่างที่เราต้องให้ความสำคัญ หนังสือพิมพ์เป็นธุรกิจที่มีความผูกพันกับสังคม คนเติบโตมาพร้อมๆ กับหนังสือพิมพ์ เราอ่านหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นจนกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่ บางคนอาจอ่านมาตั้งแต่เด็กด้วยซ้ำ ดังนั้น หนังสือพิมพ์จึงเป็นสินค้าที่มีความเกี่ยวพันกับสังคมสูงมาก และต้องรับผิดชอบกับสังคม เพราะฉะนั้น มิติทางด้านธุรกิจอย่างเดียวไม่พอ มันต้องมีมิติทางสังคมด้วย ทีนี้ เหตุการณ์ในช่วงนั้น ผมมองว่าเหตุผลที่แกรมมี่เข้าไปคงมากกว่าเรื่องของธุรกิจธรรมดา เพราะถ้าพูดถึงเรื่องธุรกิจ มันมีธุรกิจอีกเยอะที่น่าสนใจหรือน่าจะสร้างผลกำไร คือน่าจะเข้าไปลงทุนหรือเทก-โอเวอร์มากกว่า เพราะฉะนั้น เหตุผลในการพยายามที่จะเข้าเทกโอเวอร์มติชนในครั้งนั้น ผมคิดว่ามีเหตุผลอื่นที่ไม่ได้แจกแจง ไม่ได้พูดกันตรงๆ รวมอยู่ด้วย
GM : เป็นเพราะส่วนผสมอย่างที่ว่าหรือเปล่าที่ทำให้การเข้าไปเทกโอเวอร์มติชนทำได้ยาก
วสันต์ : ผมคิดว่าถ้าเป็นธุรกิจธรรมดา การเปลี่ยนผู้บริหารอาจไม่ได้มีผลอะไรมาก แต่กับธุรกิจที่มีผู้อ่านผูกพันกับหนังสือ ผู้อ่านเป็นเจ้าของหนังสือด้วยในระดับหนึ่ง
การเปลี่ยนผู้บริหารหนังสือพิมพ์ ซึ่งถือว่าเป็นสื่อมวลชนและเป็นธุรกิจที่ต้องการความเป็นอิสระ ผมคิดว่าจุดนั้นทำให้คนตั้งคำถามและมีความเห็นต่าง มีความเห็นแย้ง และด้วยความรู้สึกหวงแหน ไม่อยากให้มติชนกลายเป็นหนังสือพิมพ์ที่คิดถึงแต่กำไร หรือมีมิติด้านความรับผิดชอบต่อสังคมลดลง หรือความเป็นอิสรเสรีขาดหายไป ทำให้คนอ่านลุกขึ้นมาปกป้อง ผมคิดว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นบทเรียนกับทุกๆ ฝ่าย กับคนทำหนังสือพิมพ์หรือคนทำสื่อ ก็ต้องพึงตระหนักว่าการที่เราทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชน ทำเพื่อผู้อ่าน ทำเพื่อสังคม เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ประชาชน ผู้อ่าน และสังคม จะเข้ามาเป็นเกราะกำบัง มาคอยโอบอุ้มคุ้มกันเราไว้
GM : คุณเคยทำงานทั้งที่มติชนและที่ผู้จัดการ บุคลิกของคนที่เป็นเจ้าของหรือผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ทั้งสองฉบับนี้ค่อนข้างโดดเด่น ถ้าเปรียบเทียบกันระหว่างคุณขรรค์ชัย บุนปาน และคุณสนธิ ลิ้มทองกุล คุณเห็นความเหมือนหรือความแตกต่างอะไรบ้าง
วสันต์ : ทั้งสองคนถือว่าเป็นคนเก่ง คุณสนธิขึ้นชื่อมากในแง่ที่ว่าเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ไกลและมีความสามารถสูง หลายอย่างคุณสนธิอาจมองเห็นก่อนคนอื่น และเริ่มลงมือทำก่อนคนอื่น แต่บางคนก็บอกว่าแกมาก่อนเวลา เพราะถึงแม้ว่าแนวโน้มหรือทิศทางภายหลังจะเป็นอย่างที่แกเห็น แต่บางครั้ง คนที่มาก่อนก็อาจเจ็บตัวก่อน มันแล้วแต่สถานการณ์ แต่คุณสนธิเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถสูงมาก หาคนจับได้ยาก
GM : เมื่อเทียบกับคุณขรรค์ชัย เป็นอย่างไร
วสันต์ : ต้องถือว่าทั้งสองท่านเป็นคนที่มีความสามารถมาก เป็นหลัก เป็นพี่ใหญ่ในวงการสื่อทั้งคู่ ไม่อย่างนั้นคงมาไม่ได้ถึงทุกวันนี้ บุคลิกอาจมีเหมือนกันบ้าง เช่น เรื่องใจใหญ่ คุณสนธิใจใหญ่มาก เป็นคนที่กล้าได้กล้าเสีย มีลักษณะที่เป็นนักเลงสูง คุณขรรค์ชัยก็เป็นคนใจใหญ่ เพื่อนฝูงเยอะ และมีลักษณะใจนักเลงเหมือนกัน
GM : นี่เป็นคุณสมบัติสำคัญของคนทำหนังสือพิมพ์ไทยหรือเปล่า
วสันต์ : ผมไม่รู้ แต่เป็นคุณสมบัติของคนที่เป็นพี่ใหญ่ เป็นหัวหน้าคน อย่างหนึ่งที่พูดได้ชัดๆ คือเป็นลักษณะของคนที่ต้องดูแลคนอยู่เยอะ คนที่ดูแลคน เมื่อใจใหญ่ ส่วนหนึ่งก็ได้ใจของคนที่ทำงานอยู่ด้วย หรือมีความกล้าได้กล้าเสีย คนแบบนี้ไม่ใช่ลักษณะของคนที่จะเลือกวิธีการบริหารจัดการแบบปกติมาใช้ ต้องถือว่าพิเศษ
GM : คุณอยู่มติชนกี่ปี
วสันต์ : 4 ปี ผมเรียนเอกหนังสือพิมพ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนเรียนจบนิดหน่อยได้มาเริ่มงานกับมติชนสมัยยังอยู่ที่ถนนเฟื่องนคร ใกล้วัดราชบพิธ เป็นช่วงเวลาที่ดี จริงๆ ต้องถือว่าเป็นช่วงปฐมวัยในชีวิตสื่อ ทำให้ผมมีโอกาสได้เรียนรู้ ศึกษา และหล่อหลอมในบางเรื่อง
GM : ตอนนั้นทำไมคุณตัดสินใจไปเรียนต่อ
วสันต์ : ผมรู้สึกว่าโลกมันกว้าง ถ้าเรายังทำงานต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่มีโอกาสถอยออกมา เราอาจเสียโอกาสที่จะได้เรียนรู้หรือเปิดหูเปิดตา ช่วงนั้นผมอยากไปเรียนรู้
ว่าประเทศทางตะวันตกเป็นอย่างไร อยากเรียนต่อปริญญาโท อยากฝึกฝนภาษาให้แข็งแรง เพราะภาษาเป็นทั้งหน้าต่างและเป็นทั้งขวากหนาม คือถ้าภาษาเราดี หน้าต่างที่จะเปิดไปสู่โลกกว้างหรือความรู้ต่างๆ จะเปิดกว้างขึ้น แต่ถ้าภาษาเป็นอุปสรรค มันทำให้โอกาสที่เราจะก้าวข้ามบางอย่างไปทำไม่ได้ ตอนนั้นผมคิดว่า โอเค ทำงานมาได้ 4 ปีแล้ว สมควรแก่เวลา อยากไปผจญภัย อยากไปเรียนรู้ทางโลก ทางวิชาการ ทางภาษามากขึ้น เลยตัดสินใจไป
GM : ตอนนั้นเลือกเรียนอะไร
วสันต์ : แรกๆ เรียนภาษาอังกฤษ แต่เนื่องจากไปด้วยทุนตัวเอง เลยไม่รู้ว่าจะอยู่ได้นานแค่ไหน ตอนนั้นตั้งเป้าว่าอย่างน้อยสัก 3 เดือน อย่างมากอาจจะประมาณ 3-4 ปี แต่สุดท้ายอยู่ที่อังกฤษถึง 7 ปี พออยู่ถึง 7 ปีก็คิดว่าสมควรแก่เวลา คือเรียนจบปริญญาโท ภาษาอังกฤษมีโอกาสเรียนโอกาสใช้ มีความคล่องแคล่วขึ้น ในขณะเดียวกันก็ได้ประสบการณ์ที่ไม่ได้คาดฝันมาก่อน คือได้ไปร่วมงานกับทาง BBC เป็นเวลา 4 ปี
GM : คุณเข้าไปทำอะไรที่ BBC
วสันต์ : ที่บอกไม่คาดฝันเพราะแต่เดิมภาษาอังกฤษเราไม่แข็งแรง และไม่ได้คิดฝันว่าจะมีโอกาสได้ร่วมงานกับ BBC เพราะเราทราบดีถึงเกียรติยศชื่อเสียงของ BBC
ในวงการสื่อของโลกว่าสูงส่ง เราก็ไม่ได้คาดคิดว่าจะมีโอกาสไปอยู่ตรงนั้น แต่เมื่อไปอยู่ที่โน่น ได้เรียนภาษา ได้ฝึกปรือด้านภาษาคล่องขึ้น และจุดหนึ่งที่อาจเป็นจุดแข็งของเราคือเราเติบโตมาทางสื่อ เรียนมาทางด้านนี้ มีประสบการณ์ทำหนังสือพิมพ์มา 4 ปี เมื่อสองอย่างประกอบกันทำให้มีโอกาสได้ไปสอบคัดเลือกพนักงานไม่เต็มเวลาของ BBC ภาคภาษาไทย ตอนสอบก็พยายามทำเต็มที่ ได้-ไม่ได้ไม่รู้ ปรากฏว่าได้พอสอบได้ ผมก็ทำงานเต็มที่ ช่วงที่ทำงานผมคิดว่าเราสนุกกับงานและได้เรียนรู้อะไรต่ออะไรมากมาย บางครั้งยังนึกสนุกๆ ว่า ดี มีคนจ้างให้เราต้องติดตามข่าวทุกวัน จ้างให้เราต้องเปิดดิกชันนารีตลอด คือผมจะไม่รู้สึกว่าพอแปลข่าวติดแล้วจะไม่มีกำลังใจ ตรงกันข้าม ผมรู้สึกสนุกและคิดว่ามีคนจ้างให้เราตามข่าว ทั้งที่จริงๆ เราก็สนใจติดตามอยู่แล้ว และมีคนจ้างให้เราได้ฝึกปรือภาษาไปเรื่อยๆ เพราะภาษาเป็นเรื่องของการใช้ ยิ่งใช้มากก็ได้กับตัวมาก ตอนนั้นผมเลยรู้สึกว่าโชคดี มีโอกาสที่ดี หลังจากทำงานเป็นพนักงานไม่เต็มเวลาอยู่สักพัก เขาก็เปิดรับพนักงานเต็มเวลา เลยมีโอกาสเข้าไปร่วมงาน ทำอยู่ที่นั่น 4 ปี
GM : 4 ปีที่ BBC สอนอะไรคุณบ้าง
วสันต์ : สอนเยอะ ที่สำคัญคือมีโอกาสทำงานในองค์กรที่ถือว่าเป็นองค์กรสื่อชั้นนำของโลก อย่างวิทยุ BBC ต้องถือว่าเป็นตักกสิลาของวิทยุโลก เป็นแม่แบบของสื่อ
ในหลายต่อหลายประเทศ และในแง่ความเป็นสื่อเสรี ต้องถือว่า BBC เป็นแม่แบบที่ดีในแง่ของสื่อที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และเป็นแม่แบบของสื่อสาธารณะ เพราะฉะนั้น เป็นโอกาสดีที่ได้เข้าไปอยู่ข้างใน ได้มีโอกาสเรียนรู้จากข้างใน มีคุณค่าหลายอย่างที่ BBC ให้ความสำคัญมาก เช่น ความรับผิดชอบของสื่อ เขาให้น้ำหนักความถูกต้องมากกว่าความเร็ว โดยทั่วไป สื่อต้องเสนอข่าวอย่างฉับไว ยิ่งการแข่งขันสูง ความเร็วยิ่งสำคัญ แต่ BBC บอกว่าระหว่างความเร็วกับความถูกต้อง ความถูกต้อง ต้องมาก่อน เขาจะเน้นเรื่องการตรวจสอบความถูกต้อง ดูว่าแหล่งข่าวจากที่ต่างๆ ให้ข่าวน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน เพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งที่นำเสนอไป
ถูกต้อง อีกสิ่งที่สำคัญมากคือความเป็นธรรม นำเสนอข่าวอย่างสมดุลโดยปราศจากอคติ ในคู่มือของ BBC จะพูดถึงเรื่องนี้อยู่บ่อยๆ
GM : เป็นธรรมกับเป็นกลางนี่ต่างกันไหม
วสันต์ : ผมว่าต่างกัน ผมคิดว่าความเป็นกลางไม่มี คำว่าเป็นกลางพูดยาก เพราะเวลาเราพูดว่าเป็นกลาง แปลว่าเราต้องเทียบกับอะไร เมื่อเราเทียบกับคนที่อยู่ซ้ายของเรา ถึงเราจะเป็นกลาง แต่ก็อาจอยู่ขวาของเขา ถ้าเราเทียบกับคนที่อยู่ขวาของเรา ถึงเราจะเป็นกลาง แต่ก็อาจอยู่ซ้ายของเขา และในความเป็นจริง ในทุกๆ เรื่อง ทุกๆ ประเด็น การอยู่ตรงกลางหรือเป็นกลางจริงๆ เป็นไปได้ยาก เพราะขึ้นอยู่กับว่ากลางของใคร กลางในสถานการณ์ไหน อย่างไร แต่ความเป็นธรรมคือไม่มีอคติ มีลักษณะเป็น objective นั่นคือไม่เอาตัวเรามาเป็นเกณฑ์อย่างเดียว เราต้องมองดูสิ่งรอบๆ ตัว เสนอข่าวให้รอบด้านและเป็นธรรม เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าคำอย่าง objective, unbiased หรือ fairness เป็นสิ่งสำคัญ ส่วนคำว่า neutral หรือเป็นกลาง ผมคิดว่ายากและไม่มีในโลกความเป็นจริง
และในฐานะคนทำสื่อเราต้องแยกให้ออก คือส่วนตัวเราจะมีความคิดความอ่านอย่างไรก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ในฐานะสื่อ เราต้องเป็นธรรม เราต้องเปิดโอกาส ต้องเสนอข่าวให้รอบด้าน ให้คนอ่าน คนดู คนฟังได้ตัดสินใจ ให้พวกเขาได้รับข่าวที่รอบด้านมากที่สุด โดยไม่ไปปิดกั้นหรือบิดเบือน เพราะผมคิดว่าในฐานะคนเฝ้าประตู (Gatekeeper) ถ้าเราไปปิดกั้นหรือบิดเบือน จะทำให้คนที่รับสาร คนที่เป็นผู้อ่าน ผู้ชม ผู้ฟัง เสียโอกาส และในความเป็นจริง ในฐานะคนเฝ้าประตู เราไม่สามารถเสนอข่าวทุกข่าวได้อยู่แล้ว เราต้องกรองมาแล้วระดับหนึ่ง ซึ่งในการกรองก็อาจมีความเห็นของเราอยู่บ้างแล้วเพราะเราเป็นคนกำหนดว่าอะไรสำคัญก่อนหลัง ถ้าเราเอาอคติของเราใส่เข้าไปอีก จะทำให้ผู้รับสารเสียโอกาสอย่างมาก เพราะฉะนั้น ในฐานะสื่อ เราต้องเปิดโอกาสให้มากที่สุด
GM : จาก BBC คุณกลับเมืองไทยมาทำโครงการวิทยุผู้จัดการใช่ไหม
วสันต์ : การทำงานที่ BBC ทำให้ได้ประสบการณ์ในการทำวิทยุ พอกลับมาจึงมีคนชวนไปเป็นผู้จัดรายการวิทยุอิสระ ไปจัดอยู่ที่สไมล์เรดิโอ ประมาณ 4-5 เดือน จากนั้นทางเครือผู้จัดการต้องการคนเข้ามาช่วย ให้มาดูแลรับผิดชอบฝ่ายข่าวของโครงการวิทยุผู้จัดการ ผมเลยเข้าไปจัดรายการเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน
GM : ได้เอาคุณค่าที่เรียนรู้มาจาก BBC มาใช้กับโครงการวิทยุผู้จัดการหรือวิทยุในประเทศไทยอย่างไร และคุณค่าที่ว่าปะทะกับความเป็นจริงในสังคมไทยอย่างไร
วสันต์ : ผมเอาความตั้งใจที่มีอยู่ คุณค่าที่ดี และสิ่งที่อยากเห็น มาพยายามทำให้โครงการวิทยุผู้จัดการเป็นโครงการที่ดีสำหรับผู้ฟัง ซึ่งต้องขอบคุณ ผอ.แสงชัย
สุนทรวัฒน์ ที่ให้โอกาสทำรายการวิทยุผู้จัดการผ่านคลื่นวิทยุ 97.5 เมกะเฮิรตซ์ และต้องขอบคุณคุณสนธิ ลิ้มทองกุลที่ให้โอกาส เพราะถ้ามองในแง่ของการลงทุนเชิงธุรกิจ ผมคิดว่ามีเหตุผลรองรับไม่มากนัก แต่ถ้ามองในแง่คุณูปการต่อสื่อวิทยุ ถึงโครงการวิทยุผู้จัดการอาจมีอายุไม่นานมากนัก ประมาณ 3 ปีเศษ แต่ผมคิดว่ามันได้สร้างอะไรขึ้นมาพอสมควร ตอนนั้นเราพยายามทำวิทยุผู้จัดการให้เป็นสไตล์เดียวกับ BBC เพียงแต่อาจไม่เข้มข้นเท่า เนื่องจากหลายอย่างประกอบกัน ยกตัวอย่างง่ายๆ สมัยทำอยู่ BBC มีงบประมาณให้ก้อนหนึ่ง คนทำงาน 10 คน แต่เวลาสำหรับออกอากาศมีเพียง 45 นาทีหรือ 1 ชั่วโมงต่อวัน ในขณะที่วิทยุผู้จัดการ เราได้โอกาสทำตลอด 24 ชั่วโมง คนอาจมีประมาณ 80-90 คน แต่งบประมาณน้อยกว่า เพราะฉะนั้น หลายอย่างจึงเจือจางกว่า แต่หลายอย่างเราก็พยายามทำให้ได้ตามมาตรฐาน
ในด้านของข่าว เราพยายามสร้างมาตรฐานที่ดี และรายการข่าวที่ทำตอนนั้นเป็นข่าวประกอบเสียง ไม่ใช่ข่าวในลักษณะที่มีพูดอะไรนิดหน่อยแล้วก็เปิดโฟนอิน
เข้ามาจากชาวบ้านเป็นส่วนใหญ่ หรือเป็นรายการที่ข่าวกับความเห็นปะปนกันจนแยกออกได้ยาก ตอนนั้นเราคิดว่ารายการข่าวต้องเป็นรายการที่มีสคริปต์ มีเสียงประกอบ มีความสด มีสัมภาษณ์สด มีรายงานพิเศษ มีอะไรต่างๆ เราทุ่มเททำงานและใส่ความพยายามเข้าไปเต็มที่แม้เวลาไม่เยอะ ประมาณ 2 ถึง 2 ชั่วโมงครึ่ง จริงๆ ในเชิงของวิชาชีพ เราพอใจกับงานที่ออกมา กับเสียงตอบรับที่มี แต่ในทางธุรกิจต้องบอกว่ามีปัญหา ประสบการณ์หนึ่งที่ได้รับคือ วิทยุเมืองไทยจากตอนนั้นถึงวันนี้ยังไม่เปลี่ยนมากนัก ไม่ว่าเราจะทำรายการสาระ รายการเพลง หรือรายการอะไรก็แล้วแต่ ค่าเช่าเท่ากันหมด แต่ผมคิดว่ามันควรมีความต่าง รายการที่ต้นทุนสูงควรเป็นอย่างหนึ่ง รายการที่ต้นทุนต่ำควรเป็นอย่างหนึ่ง รายการที่มีผลต่อสังคมควรเป็นอย่างหนึ่ง รายการที่อาจไม่ค่อยมีผลต่อสังคมในแง่บวกมากนักอาจเป็นอีกอย่างหนึ่ง
GM : จากวิทยุ ทำไมตอนนั้นตัดสินใจไปทำโทรทัศน์ต่อ
วสันต์ : อย่างที่บอก ในเชิงวิชาชีพ โครงการวิทยุผู้จัดการอาจประสบความสำเร็จอยู่ แต่ในเชิงของธุรกิจมีปัญหา โดยเฉพาะช่วงปี 2540 ที่ประเทศเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ คุณรุ่งมณี เมฆโสภณ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการโครง- การวิทยุผู้จัดการในตอนนั้น ประเมินด้วยเหตุผลทั้งปวงแล้วคิดว่าควรจะเลิกโครงการดีกว่าปล่อยให้ถึงวิกฤติแล้วต้องหยุด ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ผมคิดว่าอยากหาประสบการณ์ด้านอื่นๆ บ้าง และตอนที่ออกจากโครงการวิทยุผู้จัดการก็เป็นจังหวะประจวบเหมาะที่ทางช่อง 7 ต้องการคนเข้าไปช่วยบริหารฝ่ายข่าว ผมเลยเข้าไปช่วยคุณชาติเชื้อ กรรณสูต ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของช่อง 7 ในขณะนั้น โดยเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายข่าว ดูแลบริหารฝ่ายข่าว ทำงานอยู่ตรงนั้นประมาณ 4 ปี จากผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายข่าวในสมัยคุณชาติเชื้อ กรรณสูต ขึ้นมาเป็นรองผู้จัดการสมัยคุณสุรางค์ เปรมปรีดิ์จริงๆ ผมไม่ได้คิดมาก่อนว่าจะมีโอกาสทำงานด้านวิทยุหรือโทรทัศน์ ก่อนกลับจากอังกฤษ ผมขอไปดูงานที่เรดิโอโฟร์ซึ่งเป็นวิทยุ BBC ภายในประเทศที่ขึ้นชื่อมาก ขอเข้าไปดูรายการสถานการณ์ปัจจุบัน ดูแล้วสนุก รู้สึกว่าเป็นรายการที่น่าสนใจมาก แต่ไม่ได้คิดว่าวันหนึ่งจะต้องมาทำเอง หรือมีโอกาสไปดูรายการ Newsnight รายการ โทรทัศน์ของ BBC ตอนไปดูรู้สึกว่าเลือดสูบฉีด เขาทำงานกันหนักมาก มีการเตรียมตัวสูง เรียกว่าก่อนจะออกรายการในช่วงดึก เขาเตรียมการกันมาตลอด 24 ชั่วโมง และมีลักษณะเพอร์เฟ็กชั่นนิสต์ คือทุ่มเทความพยายามทั้งหมดใส่เข้าไป ดูเครียดมาก ผมอยู่กับเขาตั้งแต่เช้ามืดจนจบรายการ พอจบก็มีการประชุมสรุปรายการ เลิกประมาณเกือบเที่ยงคืน ผมบอกกับตัวเองว่าชาตินี้คงไม่ทำทีวี เพราะเครียดมาก และคิดว่าสุขภาพจิตคงไม่ดีแน่
แต่จับพลัดจับผลู พอมาทำวิทยุ ดูแลข่าววิทยุ วันดีคืนดีก็ได้รับการทาบทามให้เข้าไปช่วยที่ช่อง 7 ประสบ- การณ์ทีวีโดยตรงอาจไม่มี แต่ประสบการณ์ทางข่าวเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนี้ การทำวิทยุเหมือนกับเรามาครึ่งทางแล้ว คือมีเสียงประกอบและเป็นลักษณะของเรียลไทม์แบบทีวี แต่ทีวีนี่มากกว่าเพราะมีทั้งตัวเนื้อ ตัวเสียง และตัวภาพ เรียกว่าครบเครื่อง เป็นสื่อที่มีพลังมากกว่า เพราะฉะนั้น ผมถือว่าเป็นโอกาสดีที่ได้เข้าไปทำทีวี ช่วงนั้นได้เรียนรู้อะไรอีกมาก และถือเป็นพื้นฐานสำหรับการทำงานในช่วงต่อๆ มา ประสบการณ์ตอนอยู่ที่ช่อง 7 ทำให้ได้เรียนรู้งานข่าวโทรทัศน์ รวมทั้งงานโทรทัศน์โดยรวม ทั้งจากคุณชาติเชื้อ จากคุณสุรางค์ และจากเพื่อนร่วมงาน
GM : หลังจากช่อง 7 ไปอยู่ไอทีวีได้ยังไง
วสันต์ : ผมอยู่ช่อง 7 มาประมาณ 4 ปีก็รู้สึกอิ่มตัว อยากหาประสบการณ์ใหม่ๆ จึงลาออก โดยที่ยังไม่มีงานใหม่ ยังไม่รู้ว่าจะไปที่ไหน จะไปทำอะไรต่อ แต่มีความรู้สึกว่าช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่เรียนจบ ผมทำงานมาตลอด ยังไม่มีจังหวะพักเท่าไหร่ เลยคิดว่าถ้าต้องพักสักระยะหนึ่งสั้นๆ คงไม่เป็นไร แต่บังเอิญว่าช่วงที่ลาออกมาจากช่อง 7 เป็นช่วงที่ทางผู้บริหารของไอทีวีต้องการคนเข้าไปบริหารฝ่ายข่าว ผมเลยได้รับการทาบทามให้เข้าไปช่วย
GM : ทำไมถึงตัดสินใจเข้าไป เพราะไอทีวีช่วงนั้นค่อนข้างมีปัญหา เพิ่งถูกกลุ่มชินคอร์ปเข้าไปเทกโอเวอร์
วสันต์ : อาจเป็นเพราะผมเป็นคนมองโลกในแง่ดี คิดว่าปัญหาความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติ ในทุกที่ ทุกวงการ และจากการคุยกัน ผมได้รับการยืนยันว่าจะให้ความเป็นอิสระในการทำงาน ไม่แทรกแซง ก่อนเข้าไป ผมมีความหวังด้วยซ้ำว่าจะมีส่วนในการช่วยคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งต่างๆ และจะสามารถทำงานร่วมกันต่อไปข้างหน้าได้ เพราะผมคิดว่าความขัดแย้งในช่วงที่ผ่านมาก็เป็นเรื่องที่ผ่านมา ด้วยความที่ผมเป็นคนประนีประนอม รับฟังทุกฝ่าย ผมอาจช่วยให้สถานการณ์คลี่คลายไปได้ และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นก่อนเลือกตั้ง แต่ช่วงที่ผมเข้าไปเป็นช่วงหลังเลือกตั้ง ความขัดแย้งน่าจะบรรเทาเบาบางลง ผมคิดว่าการที่ผมเข้าไปบริหารฝ่ายข่าวอาจช่วยคลี่คลายสถานการณ์อะไรต่างๆ ได้บ้าง
GM : พอเข้าไปจริงๆ เป็นยังไง
วสันต์ : พอเข้าไปจริงๆ อย่างแรกสุดที่ไม่เหมือนกับที่คาดไว้ตอนแรกคือ ฝ่ายบริหารตัดสินใจที่จะแตกหัก คือเมื่อเราเข้าไปแล้ว ปรากฏว่าแทนที่จะประนีประนอมและเดินไปด้วยกัน ผู้บริหารเลือกที่จะแตกหัก เป็นคดีฟ้องร้องกบฏไอทีวีขึ้นมา ผลคือบริษัทแพ้คดี ณ ตอนนั้นผมคิดว่าเรื่องที่ผ่านมาผมไม่เข้าไปยุ่ง แต่ถ้าถามใจผม ผมอยากให้พูดคุยกัน อยากให้จบลงด้วยดี แต่เมื่อออกไปในรูปนั้น ผมก็ถือว่าที่ผ่านมาเราไม่เกี่ยว เพราะฉะนั้นเรื่องคดีความ ผมไม่เกี่ยวข้อง ผมจะดูเฉพาะปัจจุบันว่า โอเค เราทำอะไรได้บ้าง ตอนนั้นผมยังมีความหวังว่าการทำงานจะเป็นอิสระและเป็นมืออาชีพตามที่ตกลงกันไว้ ซึ่งก็ยอมรับว่าในช่วงที่เข้าไปได้รับโอกาสและสามารถทำตามที่พูดคุยกันได้น่าพอใจ
GM : แต่ไม่ได้ทั้งหมด ?
วสันต์ : ต้องถือว่าทางฝ่ายบริหารให้อิสระในการทำงานตามที่คุยกันไว้ การแทรกแซงจากฝ่ายบริหารหรือจากฝ่ายการเมืองในช่วงที่ผมอยู่ถือว่าน้อย ผมสามารถทำงานอย่างที่อยากทำได้ และคิดว่าได้พิสูจน์ตัวเองมาพอสมควรว่าในการทำงาน เรามีความเป็นอิสระและมีความเป็นมืออาชีพพอ จากวิกฤติศรัทธาไอทีวีในช่วงนั้น ช่วงหลังผมคิดว่าทีมงานพยายามสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนมา จนกระทั่งเป็นที่ยอมรับว่าข่าวช่วงที่เรานำเสนออยู่ในเกณฑ์ดีมีมาตรฐานสูง ผมพูดอยู่เสมอว่าเราต้องพิสูจน์กันที่หน้าจอ พิสูจน์กันที่ผลงาน ซึ่งผมคิดว่าผมทำได้ดีพอสมควร เป็นที่น่าพอใจ
GM : แต่เมื่อเวลาผ่านไป การเมืองเข้ามาแทรกแซงสื่อมากขึ้น ?
วสันต์ : ในช่วงแรกเขาค่อนข้างให้อิสระในการทำงานตามที่ตกลงกันไว้ เพราะฉะนั้นจึงไม่ค่อยมีปัญหา ถ้าจะมี ก็ผ่านมาทางอื่น คือเขารู้ว่าจุดยืนเราเป็น
ยังไง และรู้ว่าเรื่องแบบไหนที่เรารับไม่ได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ ก็กลับไปเป็นเรื่องของธุรกิจ ณ วันนั้น ถ้าพูดในแง่ของข่าว ผมว่าความเชื่อมั่นกลับคืนมาแล้ว ส่วนในแง่การบริหารจัดการ ถ้าดูจากผลงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรายได้ เรตติ้ง หรือการได้รับการยอมรับ ผมคิดว่าออกมาในทางบวก เพราะฉะนั้น เหตุผลที่ท้ายสุดไปด้วยกันไม่ได้ หรือเหตุผลที่เขาอยากเปลี่ยนคน ส่วนหนึ่งอาจมาจากการที่ตัวเราเองไม่อยากอยู่ต่อ มันถึงจุดที่เราคิดว่าเราพอแล้ว
เขาเองก็อาจคิดว่าอยากได้คนอื่น บางคนอาจวิเคราะห์ว่าเป็นเรื่องของการแทรกแซง แต่ผมมองโลกในแง่ดี พอถึงจุดที่เขาอยากเปลี่ยนคนและถึงจุดที่ผมคิดว่าพอ ก็จบ ง่ายๆ ตรงนั้น ผมไม่คิดมาก เพราะเวลาทำงาน ผมสนุกกับงานและผมมีหลักการของผม เมื่อผมอยู่ ผมทำเต็มที่ เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ไปด้วยกันไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร ต่างคนต่างไป
GM : คุณทำไอทีวีอยู่กี่ปี
วสันต์ : ประมาณ 2 ปี 7 เดือน ตอนที่ผมออกจากไอทีวีค่อนข้างปัจจุบันทันด่วนอยู่เหมือนกัน แม้จะคิดว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ช้าก็เร็วอาจมาถึง แต่ผมไม่เสียใจ เมื่อได้พูดคุยกัน ก็พร้อมที่จะออกมาด้วยดี ไม่มีปัญหา
GM : หลังออกมาจากไอทีวี ตั้งหลักยังไงต่อ
วสันต์ : จริงๆ ไม่ได้ตั้งหลักอะไร พอออกมา คิดว่าจะหยุดสักพักหนึ่ง เพราะรู้สึกว่าตอนออกจากช่อง 7 อยากพัก แต่ยังไม่ทันได้พักก็ไปทำที่ไอทีวีต่อ พอออกจากไอทีวีเลยคิดว่าอยากไปผจญภัย อยากเห็นโลกมากขึ้น ไปเปิดหูเปิดตา และรู้สึกว่าภาษาจีนในอนาคตคงสำคัญมาก เลยอยากไปเมืองจีน ไปเรียนภาษาจีน คิดว่าอย่างน้อยที่สุดก็ไปเที่ยว มากกว่านั้นก็ไปอยู่สักพักหนึ่ง จะได้ไปเห็นวัฒนธรรม เห็นชีวิต เห็นบ้านเมือง เห็นอะไรต่ออะไร ใจจริงๆ อยากไปแบบนั้น แต่ก็จับพลัดจับผลูอีกว่าเป็นช่วงที่ผู้จัดการกำลังมีการปรับใหญ่ และทางคุณสนธิขอให้มาช่วย
GM : คุณสนธิใช้คำพูดอะไรในการชวนกลับมาทำหนังสือพิมพ์
วสันต์ : ก็บอกว่ากำลังจะปรับหนังสือใหม่ อยากให้เข้ามาช่วยหน่อย สักระยะหนึ่ง เป็นพี่เลี้ยงให้คนรุ่นใหม่ที่จะขึ้นมาในวันข้างหน้า ให้มาช่วยบริหารจัดการ ดูหนังสือ- พิมพ์รายวัน ดูออนไลน์ ต้องถือว่าคุณสนธิให้เกียรติและไว้วางใจ ตัวผมเองไม่ได้คิดว่าวันหนึ่งต้องกลับมาทำหนังสือพิมพ์เพราะหายไปทำสื่ออื่นนานเกือบ 20 ปี จริงๆ ช่วงนั้นคิดอย่างเดียวว่าอยากไปพัก แต่เมื่อมีงานตรงหน้า ซึ่งอยู่ในสาขาที่เรารักเราชอบและสนุก มีจังหวะ มีโอกาส ก็ลองทำ
GM : คุณเข้าไปในผู้จัดการในยุคที่กำลังปรับปรุง มีงานเปิดตัวที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติ สิริกิติ์ วันนั้น คุณสนธิขึ้นปาฐกถากล่าวสรรเสริญคุณทักษิณชัดเจนมาก และพูดว่าสื่อมวลชนต่อจากนี้ไปต้องเลือกข้าง ทีนี้ คุณเพิ่งออกจากไอทีวีมา ปัญหาอย่างที่เรารู้ๆ กันคือมีการแทรกแซงจากข้างบนไม่ว่าจะมีหลักฐานหรือไม่ก็ตาม แล้ววันนั้นต้องขึ้นเวทีต่อจากคุณสนธิเพื่อแนะนำหนังสือพิมพ์และทีมงานทั้งหมด ความรู้สึกตรงนั้นเป็นยังไง
วสันต์ : จริงๆ ตอนนั้นคุณทักษิณก็มีข้อดีอยู่เยอะ เขาสร้างคุณูปการหลายอย่างพอสมควร แต่เขาก็มีข้ออ่อน ทีนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าใครจะเห็นแง่มุมไหนมากกว่ากัน ผมคิดว่าในวันนั้น คุณสนธิอาจเห็นแง่บวกของคุณทักษิณมาก ในขณะที่ภายหลังอาจเห็นในแง่ลบมากกว่า มันก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน แต่ละสถานการณ์
GM : ความรู้สึกในใจคุณเป็นยังไง ต้องขึ้นไปยืนอยู่ตรงนั้น
วสันต์ : จริงๆ ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรเท่าไหร่ เพราะจากที่คุยกัน คุณสนธิอยากให้ใช้ความเป็นมืออาชีพของเรามาช่วยทำหนังสือพิมพ์ผู้จัดการให้มีความหลากหลายมากขึ้น ที่ผ่านมาอาจเรียกได้ว่าหนักไปทางเศรษฐกิจการเมือง อาจจะดุดัน ชูธง ซีเรียส และวิเคราะห์เจาะลึก ในช่วงที่ผมเข้าไป บุคลิกของหนังสืออาจเปลี่ยนแปลงไปบ้าง มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งคุณสนธิอาจเห็นว่าบุคลิกผมกับบุคลิกหนังสือไปด้วยกัน ในวันนั้น โจทย์ของเราคือเราจะทำให้หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันเป็นแมสมากขึ้นและมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งในแง่ของเนื้อหา ประเภทข่าว เช่น มีข่าวสังคม ข่าวบันเทิง ข่าวกีฬาเข้ามา มีผู้จัดกวนที่แต่เดิมเป็นฉบับแทรกสัปดาห์ละครั้ง เปลี่ยนมามีทุกวัน มีข่าวสังคม สาธารณสุข คุณภาพชีวิต เป็นต้น ทิศทางนี้สอดคล้องกับสิ่งที่ผมคิด เพราะหลักการในการทำงานของผมคือเห็นความสำคัญของความรอบด้าน ความแตกต่าง และความหลากหลาย ผมพยายามเสนอข่าวให้เป็นมืออาชีพมากที่สุด พยายามทำหนังสือแบบที่เราอยากเห็นและตรงกับโจทย์ที่ได้รับ
GM : รอบนี้ ความเป็นมืออาชีพเผชิญกับความจริงอะไรบ้างในผู้จัดการ
วสันต์ : ผมไม่ค่อยมีปัญหา ช่วงที่อยู่ที่ผู้จัดการ ผมคิดว่าผมได้รับโอกาสที่ดีและได้ทำงานเต็มที่ พอถึงจังหวะที่ต้องออกมา ก็ถือว่าเราทำภารกิจของเราเสร็จแล้ว ถึงเวลาที่ต้องหาอย่างอื่นทำ
GM : คุณอยู่ผู้จัดการนานเท่าไหร่
วสันต์ : 1 ปีกับอีก 7-8 เดือน
GM : เรานั่งคุยถึงประวัติชีวิตและการทำงานของคุณในช่วงที่ผ่านมา พอมาถึงจุดที่เดินออกจากผู้จัดการ ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด คุณทบทวนตัวเองบ้างไหมว่าทำไมการยึดมั่นในหลักการและความเป็นมืออาชีพ ถึงส่งผลในการทำงานกับองค์กรสื่อต่างๆ ที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องหลากหลายมาก เป็นเพราะนี่คือปัญหาหลักๆ ของสื่อในประเทศไทย หรือเป็นปัญหาที่เกิดจากตัวเราเอง
วสันต์ : ไม่รู้สิ คงต้องให้คนอื่นวิเคราะห์ ผมคิดแต่ว่าผมเป็นคนทำงานสื่อ เป็นสื่อมวลชน และผมมีความสุขในการทำงาน ไม่ได้คิดแค่ว่าเป็นอาชีพได้เงินเดือน ผมทำเพราะมันมีคุณค่าทางจิตใจ เมื่อถึงจุดที่ต้องมีการเปลี่ยน แปลง ผมจึงไม่กลัว เพราะหนึ่ง, ผมไม่ได้มีภาระอะไรมาก ไม่มีลูก ไม่ต้องห่วงเรื่องต้องไปหาแป๊ะเจี๊ยะ ต้องไปวิ่งหาที่ฝากให้ลูกเรียน ต้องหาเงินหาทองส่งเขาเรียน หรือสะสมสมบัติไว้ให้เขา ชีวิตเราก็ชีวิตเรา ผมเลยไม่ค่อยห่วง สอง, ผมคิดว่าชีวิตคนเรามันสั้น ถ้าเรามีโอกาสได้ทำงานที่ทำให้เรามีความสุข และงานที่เราทำมีคุณค่าต่อสังคม ต่อจิตใจ มันเป็นอะไรที่ประเสริฐสุดแล้ว เพราะพูดกันตามตรง เรามีเวลาอยู่กับงานมากกว่าอะไรทั้งนั้น ถ้าเราทำงานโดยคิดถึงแต่ผลตอบแทนหรือรายได้ วันหนึ่งข้างหน้าค่อยไปหาความสุข ก็อาจเหมือนที่เขาบอกไว้ว่า เวลาอยากกิน ไม่มีกิน เวลาที่พอจะมีกิน ก็กินอะไรไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้น สำหรับผม เมื่อถึงจุดที่ต้องเปลี่ยน ผมจึงไม่รู้สึกแย่ เพราะที่ผ่านมาเราได้รับโอกาสที่ดี ได้ทำเต็มที่ ได้พยายามทำดีที่สุดแล้ว ไม่ได้ทำอะไรเสียหายหรือไม่ดี อาจมีคนถามว่า ทำไมเปลี่ยนงานบ่อย รู้สึกอะไรหรือเปล่า ผมไม่ได้รู้สึกอะไร เมื่อต้องเปลี่ยนหรือถึงเวลาเปลี่ยน ก็เปลี่ยน เท่านั้นเอง
GM : คนภายนอกอาจมองอุปนิสัยคุณว่าเป็นคนประนีประนอมกับหลายๆ เรื่อง ไม่ใช่คนแตกหัก แต่จริงๆ ในชีวิตมีอะไรที่ประนีประนอมไม่ได้บ้าง
วสันต์ : บุคลิกผมเป็นคนประนีประนอม เป็นคนอ่อน แต่บางอย่างผมก็ประนี-ประนอมไม่ได้ ในบางเรื่องเราต้องยืนให้มั่น และอย่างที่ผมบอก ชีวิตคนมันสั้น เราควรใช้ชีวิตให้ดีที่สุด จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจว่าทำไมวันนั้นไม่ทำอย่างโน้นอย่างนี้ ผมจึงพยายามทำให้ดีที่สุดในทุกๆ วัน บางคนถามว่าตั้งเป้าเรื่องโน้นเรื่องนี้ไหม ผมคิดว่าทำทุกวันให้ดี กับสถานการณ์ ณ วันนี้ ตรงนี้ ก็ทำไป พอถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยน ก็เปลี่ยน บางเรื่องยอมได้ก็ยอม แต่กับบางเรื่องที่ยอมไม่ได้
ก็ต้องยืนหยัด คนไม่เหมือนน้ำที่ลงไปในภาชนะไหนแล้วต้องเปลี่ยนรูปทรงไปตามภาชนะนั้น ไม่ใช่จิ้งจก หรือไม่ใช่ไม้หลักปักขี้เลนจะโยกไปทางไหนก็ได้
ผมคิดว่าคนเราต้องมีหลักการ มีจุดยืนที่แน่นอน ไม่อย่างนั้นจะไหลไปในทางต่ำ ต้องถือว่าผมเป็นคนรับฟัง เป็นคนประนีประนอม พยายามเข้าใจคน นึกถึงหัวอกเขาหัวอกเรา คิดว่าถ้าเราอยู่ในสถานะอย่างเขา ตกอยู่ในที่นั่งเดียวกับเขา
เราอาจคิดแบบนี้ ทำแบบนี้ก็ได้ แต่ในบางเรื่องก็ต้องดูว่าเราทำได้หรือไม่ ใจเราว่าอย่างไร
GM : ในช่วงที่คุณออกจากผู้จัดการเป็นช่วงที่การเมืองเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ไม่นานหลังจากนั้น คุณสนธิเริ่มทำรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ที่หอประชุมเล็ก ธรรมศาสตร์ ก่อนจะไปปักหลักที่สวนลุมพินี จนกลายมาเป็นการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในฐานะสื่อ คุณเข้าไปเกี่ยวข้องกับการชุมนุมครั้งนั้นอย่างไรบ้าง
วสันต์ : จริงๆ ตอนนั้นผมไม่ได้เป็นสื่อแล้ว ในแง่ที่ไม่ได้ทำหนังสือพิมพ์ วิทยุ หรือโทรทัศน์ พอออกจากผู้จัดการ คุณชาลอต โทณวณิก ชวนไปอยู่ที่บีบีทีวี โปรดักชั่น ซึ่งเป็นโปรดักชั่นเฮาส์ ผมเข้าไปดูเรื่องรายการ เรื่องงานอีเวนท์ เรื่องภาพยนตร์ ตอนแรกเป็นที่ปรึกษา ตอนหลังมีโอกาสได้บริหารองค์กรในเชิงธุรกิจ ในเชิงรายการ แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการรายงานข่าวหรือเรื่องสื่อโดยตรง
GM : แล้วได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการชุมนุมอย่างไรบ้างในฐานะวสันต์ ภัยหลีกลี้
วสันต์ : ในฐานะปัจเจกคนหนึ่ง เราก็มีความคิดความอ่าน เราเห็นความไม่ถูกต้อง เห็นความไม่เป็นธรรม เห็นสิ่งที่เรารับไม่ได้ เราก็ต้องถามตัวเองว่าเราจะอยู่เฉยหรือเราควรเข้าไปมีส่วนร่วมแค่ไหน อย่างไร ต้องยอมรับว่าช่วงนั้นผมไปร่วมอยู่บ่อยๆ เวลาที่มีการชุมนุม ไปรับฟัง ติดตาม และให้กำลังใจ
GM : ถือเป็นวงในคนหนึ่งได้ไหม
วสันต์ : ไม่ใช่
GM : ถ้าอย่างนั้นวงไหน วงกลางๆ หรือเปล่า
วสันต์ : (หัวเราะ) อาจเป็นคนคุ้นเคย แต่จริงๆ ผมไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นคนวงในหรือเป็นคนที่ไปเคลื่อนไหวอะไร มองว่าตัวเองเป็นปัจเจกคนหนึ่ง เป็นคนที่รักความเป็นธรรมคนหนึ่ง และในวันนั้น ต้องยอมรับว่าคุณทักษิณทำอะไรหลายอย่างที่ไม่ถูกต้อง หลังจากบริหารประเทศมาได้ระยะหนึ่ง มันชัดเจนว่าสิ่งที่เคยทำให้กับสังคม ให้กับประชาชน เปลี่ยนเป็นทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองเป็นส่วนใหญ่ ตรงนั้นมันชัดขึ้นๆ ในหลายต่อหลายเรื่อง ทั้งปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ปัญหาเรื่องส่วนตัว จนกระทั่งหลังสุด เรื่องการขายหุ้นชินคอร์ป 70,000 กว่าล้านแต่ไม่เสียภาษีสักบาท ผมคิดว่าไม่ต้องเป็นคนที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองมากก็พอมองออกว่าถูกผิดมันอยู่ตรงไหน
GM : เรานั่งคุยกันถึงช่วงชีวิตต่างๆ ของคุณ มันมีหลายช่วงที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับผู้จัดการ ตอนที่ทำโครงการวิทยุผู้จัดการ กลับมาเป็นบรรณาธิการผู้จัดการรายวัน และมีส่วนติดตามความเคลื่อนไหวในช่วงชุมนุมขับไล่คุณทักษิณ เมื่อประมวลภาพรวมๆ ทั้งหมด นี่เป็นเหตุผลหนึ่งหรือเปล่าที่คนมองว่าคุณมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้จัดการและเป็นคนของผู้จัดการที่ถูกส่งเข้ามาใน อ.ส.ม.ท.
วสันต์ : ผมไม่แน่ใจว่าคนที่มองคิดยังไง แต่ผมรู้ตัวผมเอง พอออกจากผู้จัดการ ผมไปอยู่กับบีบีทีวี โปรดักชั่น งานผมอยู่ตรงนั้นเป็นหลัก หลังจากนั้นมีโอกาสไปทำงานที่บริษัทแห่งหนึ่งเกี่ยวกับไอพีทีวี เพราะฉะนั้น พูดถึงในแง่งานก็ไม่ได้สัมพันธ์กัน และในเชิงของการเคลื่อนไหวก็ไม่ได้เกี่ยวข้อง เพียงแต่ในฐานะคนที่รักความเป็นธรรม ผมก็เข้าร่วมรับฟังเป็นครั้งคราวไป เพราะผมคิดว่าถ้าเราเห็นว่าอะไรไม่ถูกต้อง เราไม่ควรอยู่เฉย ทีนี้ ผมคิดว่าเรื่องนี้ต้องแยกออกเป็นเรื่องของความเห็นส่วนตัวกับเรื่องของงานในเรื่องของการทำงาน ผมทำงานสื่อมานาน เป็นมืออาชีพ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ไอทีวี มติชน หรือผู้จัดการ ผมคิดว่าความเป็นมืออาชีพเป็นสิ่งสำคัญ เราต้องเปิดโอกาสและต้องไม่มีอคติ ส่วนตัวเราจะคิดอย่างไรนั่นเรื่องหนึ่ง แต่เราต้องคิดถึงคนดู ต้องนึกถึงคนอ่าน ต้องนึกถึงคนฟัง ดังนั้น ตอนนั้นคนคิดยังไงผมไม่รู้ รู้แค่ว่าผมเป็นตัวของตัวเอง ผมมีหลักการและไม่ใช่นอมินีของใคร เพราะฉะนั้น ผมจึงไม่ค่อยห่วง เพราะคิดว่าทุกอย่างสามารถเอาความจริงใจ ความตั้งใจดี เจตนาที่ดี มาพูดกันได้ และผมคิดว่ามีคนในวงการหรือคนภายนอกที่รู้จักผมอยู่ไม่น้อย คงพอจะช่วยยืนยันในเรื่องนี้ได้
GM : มีจุดอะไรไหมที่ทำให้คุณตัดสินใจเข้ามาสมัครเพื่อรับตำแหน่งผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. เพราะจากการที่คุณผ่านงานมาหลากหลาย น่าจะพอประเมินได้ว่าต้องเจอกับอะไรบ้าง
วสันต์ : จริงๆ มีสองสามข้อ ข้อแรก, ผมคิดว่า อ.ส.ม.ท. เป็นองค์กรสื่อ หากเป็นรัฐวิสาหกิจทั่วไปผมคงไม่คิดเข้าไปทำ เพราะไม่ได้คิดว่าจะเป็นราชการ ไม่ได้คิดว่า
จะเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ เราโตมากับงานสื่อ จะนึกถึงแต่บริษัทเอกชน ทุกวันนี้ อ.ส.ม.ท. เป็นองค์กรสื่อที่เข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ มีความเป็นเอกชน ข้อสอง, อาจเป็นเพราะผมโชคดีที่มีโอกาสมากกว่าคนทำสื่อด้วยกันอีกหลายคน ในแง่ที่ว่าได้ผ่านงานสื่อมาหลายประเภทนอกจากทำหนังสือพิมพ์ ยังมีโอกาสได้ทำวิทยุ ทำโทรทัศน์ ทำเว็บไซต์ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับสื่อใหม่ๆ และนอกเหนือจากการทำงานในฐานะคนทำสื่อ ผมยังมีโอกาสได้ทำในซีกของฝ่ายบริหาร เป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายข่าว เป็นผู้จัดการฝ่ายข่าว และเป็นผู้อำนวยการฝ่ายข่าว มีโอกาสได้บริหารองค์กร ผมคิดว่าประสบการณ์ที่มีอยู่น่าจะเข้ากันกับ อ.ส.ม.ท.
อ.ส.ม.ท. เป็นองค์กรที่มีศักยภาพมาก มีทั้งวิทยุ โทรทัศน์ เว็บไซต์ และในอนาคต การแข่งขันต้องก้าวไปสู่สื่อใหม่ๆ ตอนนี้เรื่องของกฎหมายก็กำลังเปลี่ยน คือเป็นช่วงที่กำลังมีการเปลี่ยนผ่านทั้งในแง่กฎหมายและในแง่ของเทคโนโลยี จากการที่ผมได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้ด้านสื่อมา จึงอยากจะอาสาเข้ามาทำตรงนี้ เพราะคิดว่าประสบการณ์ที่ผมมีอยู่กับสิ่งที่เป็นภารกิจหลักขององค์กรน่าจะตรงกัน
อีกข้อหนึ่งคือ ถ้าเป็นในช่วงปกติที่ทุกอย่างมีการล็อกเอาไว้หมดแล้ว ก็คงไม่มีประโยชน์ที่จะมาสมัคร แต่ด้วยความเชื่อที่ว่า ถ้ารัฐบาลนี้ไม่ได้ลงทุน ไม่ได้คิดถอนทุนกับองค์กรสื่อ หรือไม่ได้คิดจะเข้ามาแทรกแซงเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง นี่อาจเป็นช่วงเวลาเดียวที่จะมีโอกาสอย่างนี้ และผมคิดว่าถ้าผมเข้ามา ผมต้องเป็นตัวของตัวเอง ต้องมีความอิสระ ต้องเป็นมืออาชีพ สิ่งเหล่านี้สะท้อนออกมาในวันที่ผมเสนอวิสัยทัศน์ว่าผมอยากเห็น อ.ส.ม.ท. เป็นองค์กรสื่อมืออาชีพ มีอิสระ แข่งขันได้ในทางธุรกิจ และมีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ใช่มีเฉพาะด้านธุรกิจ แต่ต้องมีด้านที่รับผิดชอบต่อสังคมด้วย เพราะเราสวมหมวก 2 ใบ ด้านหนึ่งเราเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ แต่อีกด้านหนึ่งเรามีความเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ด้วยเพราะฉะนั้น อาจเป็นเพราะส่วนประกอบต่างๆ ที่ลงตัวและจังหวะที่เหมาะสม ตอนนั้นผมไม่ได้ติดพันอยู่กับอะไรที่ไม่สามารถปลีกตัวออกมาได้ เลยลองสมัครดู ถามว่ามั่นใจไหม ผมก็มั่นใจตัวเองในระดับหนึ่งว่าเราผ่านประสบการณ์มาพอสมควร คนที่เขาไม่ได้มีประสบการณ์มาแบบนี้ เขายังสมัครได้ เราก็น่าจะลองสมัครดู และถ้ามีโอกาสได้เข้าไป สิ่งที่สั่งสมมาคงจะช่วยได้บ้างไม่มากก็น้อย ในแง่อื่นๆ ผมคิดว่าในเชิงการบริหารงานบุคคล การบริหารงานองค์กร หรือในเรื่องธุรกิจ ผมเองก็มีโอกาสได้เรียนรู้ในช่วงที่ผ่านมาพอสมควร
GM : ตอนนั้นได้ปรึกษาใครบ้างไหมในการสมัครตำแหน่งนี้
วสันต์ : จริงๆ มีหลายคนเชียร์และสนับสนุน ทั้งในวงการและนอกวงการ แต่ผมคิดว่าจุดใหญ่อยู่ที่เราว่าเราคิดยังไง เพราะหลักของผมคือ ถ้าเราไม่สนใจ ถ้าเราคิดว่าไม่โอเค เราก็ไม่ทำ ยุยังไงก็ไม่ขึ้น แต่เรื่องนี้ผมอยากลองดู และถ้าได้ ผมก็พร้อมที่จะทุ่มเททำงานหนัก ทำเต็มที่ คิดว่าประสบการณ์และผลงานที่ผ่านมาน่าจะเป็นตัวช่วยเสริม ในขณะเดียวกัน ผมไม่ได้คิดว่าทำงานตรงนี้เสร็จก็จบแค่นี้ วันหนึ่งข้างหน้าเราไม่รู้ว่าเราจะทำอะไร เพราะฉะนั้น คงไม่ใช่การเอาชื่อเสียงหรืออะไรมาทิ้งที่นี่ ดังนั้น ผมจึงค่อนข้างมั่นใจและไม่มีแรงกดดัน เพราะเรารู้ว่าเรามีจุดยืน มีหลักการของเราอยู่ และรู้จักตัวเองดี
GM : 4 ปีที่แล้ว GM ได้นั่งสัมภาษณ์คุณมิ่งขวัญในห้องนี้ ระหว่างที่สัมภาษณ์ จะพบว่ามีโทรศัพท์จากนักการเมืองเข้ามาโดยตลอด และบนโต๊ะก็จะมีคำขอจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อขอเรื่องโน้นเรื่องนี้ติดไว้เต็มไปหมด คุณเข้ามาตรงนี้ เผชิญกับคำขอเหล่านี้บ้างไหม และมีวิธีจัดการกับคำขอเหล่านี้ยังไง
วสันต์ : อาจเป็นเพราะคนรู้จักผม เลยไม่ค่อยขอ และผมคิดว่าเวลาทำงาน เราทำงานกันเป็นทีม อย่างเรื่องผังรายการ คนจะพูดเยอะว่า จัดผังรายการทีก็จะมีคนมาขอโน่นขอนี่ แต่ผมรู้สึกว่าไม่ได้มีใครมาขออะไรมากมาย
GM : แสดงว่ามีบ้าง
วสันต์ : อาจจะมีขอโอกาส เสนอรายการมาเพื่อพิจารณา ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา เราก็พิจารณาตามขั้นตอน มีการพิจารณาโดยคณะกรรมการผังรายการ มีการดูว่ารายการไหนเป็นประโยชน์กับองค์กร กับคนดู ผมคิดว่ามันต้องเป็นลักษณะ win-win คือดีทั้งกับผู้ผลิต กับองค์กร และกับผู้ชม เราจะพิจารณากันตรงนั้น และเรายึดถือผลประโยชน์ขององค์กรและผู้ชมเป็นตัวตั้ง ผมคิดว่าเมื่อเราให้ความเป็นธรรมกับทุกคนและเรามีหลักมีเกณฑ์ ทุกคนน่าจะเข้าใจ ในเรื่องอื่นๆ ก็เหมือนกัน ผมอาจโชคดีว่าคนพอรู้จักหรือคนอาจไม่รู้จัก เลยไม่ได้ขอ ไม่ค่อยมี สังเกตว่าโทรศัพท์ที่เข้ามาส่วนใหญ่เป็นเรื่องงาน
GM : สัปดาห์ก่อน อ่านข่าวที่คุณประกาศว่าจะพยายามรวบรวมสถานีวิทยุของ อ.ส.ม.ท. ในต่างจังหวัดกลับคืนมาเพื่อบริหารเอง ในอดีต ผอ.แสงชัยพยายามจะทำอย่างนั้น และราคาที่ต้องจ่ายคือชีวิตของคุณแสงชัยเอง คุณสันติ เศวตวิมล เขียนแสดงความห่วงใยไว้ว่า แสงชัย สุนทรวัฒน์ จ่ายไปขนาดนั้น หวังว่าวสันต์ ภัยหลีกลี้ จะหลีกลี้ภัยได้คุณมองจุดนี้ยังไง ในเรื่องอิทธิพลและกลุ่มผลประโยชน์ในต่างจังหวัด
วสันต์ : ผมมองโลกในแง่ดี จริงๆ เรื่องวิทยุ อ.ส.ม.ท. เป็นทิศทางและนโยบายมาตั้งแต่ผู้บริหารชุดที่แล้วว่าเราคงต้องเอาวิทยุมาบริหารจัดการเอง เนื่องจากเราต้องเตรียมความพร้อมทั้งบุคลากร เครื่องไม้เครื่องมือ และต้องเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต ไม่ว่าจะเกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบต่างๆ หรือเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป นี่จึงเป็นการสานต่อนโยบาย อย่างที่สอง, ทิศทางที่จะเดินไปตรงนั้นต้องถือว่าเป็นทิศทางที่ถูก จังหวะเวลาที่เราจะเดินไปก็เป็นจังหวะที่เราต้องมาดูว่าทำอย่างไรจึงจะเกิดผลประโยชน์สูงสุดกับองค์กร อย่างวิทยุในกรุงเทพฯ เราเอาคลื่นเอฟเอ็มกลับมาทำเอง 6 สถานี ต้องยอมรับว่าสร้างรายได้ขึ้นมามาก มากกว่าที่เราให้เช่าหลายเท่าตัวในส่วนของต่างจังหวัด วันนี้เราเอากลับมาทำแล้ว 14 คลื่น จาก 53 คลื่น ทิศทางคือเราจะเอากลับมาทำโดยเฉพาะในส่วนที่เราคิดว่า หนึ่ง, เรามีความพร้อมพอสมควรแล้ว สอง, โดยหลักการแล้ว เราน่าจะทำร่วมกับพันธมิตร แต่ถ้าสมมุติว่ามีใครได้สัมปทานไปแล้วไปให้เช่าต่อหรือไปแบ่งขายต่อ เราก็คิดว่าคงไม่สอดคล้องกับนโยบายของเรา ตรงนั้นเราคงต้องพิจารณา ส่วนกับพันธมิตรที่เคยทำมาด้วยกัน เติบโตมาด้วยกัน ถ้าเราทำร่วมกันแล้วจะได้ประโยชน์สูงสุดทั้งกับผู้ฟังและองค์กร เราก็เดินหน้าไปตรงนั้น แต่ทิศทางใหญ่คือเราคงต้องมานั่งดูว่าอันไหนเราทำเองได้ เพราะวันหนึ่งข้างหน้า ผมเชื่อว่าพันธมิตรของเราก็มีโอกาสเติบโตหรือมีโอกาสขยับขยายไปทำคลื่นของตัวเองได้เพราะฉะนั้น ทุกคนคงต้องเตรียมตัว และผมคิดว่าถ้าเราทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและตรงไปตรงมา ทุกอย่างอธิบายได้ ผมคิดว่าไม่มีอะไรที่จะต้องห่วง อะไรจะเกิดก็เกิด ไม่ต้องไปห่วงล่วงหน้า เพราะคนเราเวลาทุกข์ก็เพราะไปห่วงในเรื่องที่ไม่ควรห่วง ไปทุกข์ในเรื่องที่ไม่ควรทุกข์ ไปคิดล่วงหน้าเสียเยอะ ผมไม่ห่วง คิดว่าเราทำของเราให้ดีที่สุด
GM : หลังจากเข้ามานั่งทำงานที่ อ.ส.ม.ท. ได้สักระยะหนึ่ง ได้เห็นข้อมูลเห็นตัวเลขต่างๆ คุณคิดว่าอะไรคือหัวใจสำคัญที่สุดของการบริหารงานองค์กรอย่าง อ.ส.ม.ท.
วสันต์ : ผมว่าองค์กรสื่อ หัวใจสำคัญคือบุคลากรหรือคน ตอนนี้เรามีเครือข่ายกว้างขวาง มีเครื่องไม้เครื่องมือที่พร้อม แต่ตรงนั้นยังไม่สำคัญเท่ากับคน เพราะคนเป็นผู้ผลิตเนื้อหา คนเป็นผู้บริหารดูแลจัดการสิ่งที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือหรือคลื่น ดังนั้น ผมคิดว่าคนสำคัญมาก และในอนาคตสิ่งที่ผมคิดว่าสำคัญคือเนื้อหา ที่เขาพูดว่า Content is King เราต้องเตรียมตัวเพื่อจะมีเนื้อหาที่แข็งแรง ผมคิดว่าเรามีพื้นฐานที่ดีอยู่แล้ว ผมจึงอยากเข้ามามีส่วนในการสนับสนุนให้คนได้ทำงาน ทำให้เนื้อหาแข็งแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรายการข่าว รายการสาระ หรือรายการบันเทิง
GM : ทีนี้ คนก็ยังเป็นคนเดิม บุคลากรเป็นชุดเดิม ทีมที่ผลิตรายการให้ อ.ส.ม.ท. ก็เป็นชุดเดิม แต่เมื่อต้องการนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่องค์กร เราจะทำยังไงกับคนชุดเดิมเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เพราะทุกอย่างเหมือนเดิมหมด เพียงแต่มีเราเข้ามาเป็นผู้บริหาร
วสันต์ : ผมคิดว่าช่วงนี้ อ.ส.ม.ท. อยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน อ.ส.ม.ท. เพิ่งเข้าตลาด หลักทรัพย์ได้ประมาณ 3 ปี หลายอย่างกำลังปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เป็นช่วงเวลาที่มีการปรับปรุงในด้านต่างๆ เราให้ความสำคัญกับเรื่องคน ดูเรื่องการสร้างเสริมศักยภาพ การสร้างเสริมความรู้ในด้านต่างๆ รวมทั้งเรื่องการมีส่วนร่วมของ
พนักงาน ที่ชัดเจนคือเราคิดว่าการทำงานต้องทำกันเป็นทีม งานสื่อ งานการบริหารองค์กร ผมคิดว่าทุกคนมีความสำคัญ เราต้องทำงานแบบทีมเวิร์ก และต้องพยายามระดมศักยภาพของทุกคนออกมาให้เต็มที่ นอกจากนี้ ผมคิดว่าเราต้องกระจายความรับผิดชอบเรื่องการตัดสินใจออกไป ในระยะยาว การจัดการของเราต้องมีความเป็นเอกชนมากขึ้น ต้องกระจายอำนาจออกไป ไม่ใช่ทุกเรื่องต้องวิ่งมาที่กรรมการผู้จัดการใหญ่ เราควรมองภาพรวมหรือภาพกว้าง ทำตัวเป็นเหมือนโค้ชหรือเป็นเซ็นเตอร์ที่จะคอยแจกลูก ในขณะเดียวกันเราต้องมีศูนย์หน้า มีคนคอยทำประตู มีคนวิ่งขึ้นปีกขวา ปีกซ้าย ตรงนี้เป็นจุดที่ผมคิดว่าทำได้เลยช่วงนี้ ผมพยายามดูเรื่องของโครงสร้างการทำงาน ดูเรื่องการทำงานเป็นทีม ระดมความร่วมมือ กระจายความรับผิดชอบ และวางน้ำหนักของเรื่องต่างๆ ให้ดี ซึ่งผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญในช่วงนี้คือ หนึ่ง, ต้องทำให้ทิศทาง นโยบาย ภารกิจขององค์กรชัดเจนทั้งต่อภายในและภายนอก สอง, เนื่องจากระยะการเปลี่ยนผ่านในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับการใช้จ่ายภาครัฐลดน้อยลงมาก รายได้ของ อ.ส.ม.ท. ในไตรมาสแรก ช่วงก่อนที่ผมจะเข้ามาตกลงไปมาก ช่วงนี้จึงคิดว่าจะให้ความสำคัญกับเรื่องการสร้างรายได้กลับคืนมา ตอนนี้กำลังลงไปดูรายละเอียดด้านการตลาด และดูเรื่องของการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ของเรา ทั้งการปรับผังรายการใหม่ ปรับข่าว เสริมทีมการตลาด เสริมทีมขายเข้ามา เพื่อให้แข็งแรงขึ้น สร้างรายได้มากขึ้น ผมคิดว่าเราต้องดูสองอย่างควบคู่กันไป คือดูเนื้อหาในแง่ของความรับผิดชอบต่อผู้ชม ต่อสังคม และดูเนื้อหาในแง่ของผลิตภัณฑ์ที่เราจะสามารถนำไปขายได้ สามารถสร้างรายได้ขึ้นมา ดูแลผู้ถือหุ้นของเรา
GM : แล้วเราจะรักษาน้ำหนักหรือสมดุลระหว่างผู้ถือหุ้นกับผู้ชมหรือผู้เสียภาษียังไง
วสันต์ : ผมว่ารักษาสมดุลได้ ทั้งสองอย่างไปด้วยกันได้ ของดีต้องขายได้ ผมถึงคุยกันและสรุปออกมาว่า ช่วงโมเดิร์นไนน์ พลัส ที่เราปรับผังรายการตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นมา คอนเซ็ปต์คือ เราคิดดี ทำดี ดูดี คำว่าดูดีหมายความว่ารายการที่ออกไปต้องมีคุณภาพดีขึ้น น่าสนใจ มีผู้ชม ไม่ใช่แก่เนื้อหาแต่การนำเสนออ่อน หรือไม่ใช่ตั้งใจดีแต่ทำไปแล้วไม่มีคนดู
GM : อะไรคือมรดกที่คุณมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ทิ้งไว้ให้บ้าง นอกจากห้องทำงานใหม่
วสันต์ : ผมว่ามีผู้บริหารของ อ.ส.ม.ท. หลายท่านที่ได้แผ้วถางทางมา วันนี้ผมว่าเรามาไกลพอสมควรแล้ว เราก็คงเดินหน้าต่อ ไม่เดินกลับหลังแน่นอน หลัง ผอ.มิ่งขวัญออกไป ก่อนที่จะรู้ว่าใครเข้ามา อาจมีบางคนสนใจว่า อ.ส.ม.ท. จะกลับไปเป็นแดนสนธยาหรือเปล่า ผมมองว่าไม่เลย ไม่มีทางที่จะกลับไปเป็นแดนสนธยา เป็นผม ผมจะตอกฝาโลงด้วยซ้ำ เราเดินมาไกลพอสมควรแล้ว วันนี้ต้องเดินไปข้างหน้า สิ่งดีๆ ที่คนเก่าทำไว้ เราก็สานต่อ อันไหนต้องปรับปรุงแก้ไข ก็แก้กันไป
GM : ในเชิงทักษะ ผอ.มิ่งขวัญค่อนข้างเก่งในเรื่องการตลาดและธุรกิจ แต่คุณเติบโตมาจากสายข่าว แม้จะมีโอกาสบริหาร ก็เน้นไปในด้านการบริหารงานสายข่าว คุณจะปิดจุดอ่อนของคุณตรงนี้ยังไง
วสันต์ : ผมคิดว่าไม่มีใครเก่งทุกอย่าง สำหรับผม ผมก็ต้องพยายามนำจุดแข็งที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ในขณะเดียวกัน ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญคือ เราจะทำอย่างไรให้คนเก่งๆ มาช่วยกันทำงาน เพราะอย่างที่ผมบอก ในการทำงานต้องมีทีมเวิร์กที่ดี ไม่มีใครเก่งคนเดียว ถ้าเรารู้ว่าเราจะหาความรู้ได้จากที่ไหน นั่นแหละคือสุดยอดองค์ความรู้ คือความรู้ที่เรามีก็สำคัญ แต่ความรู้ที่ว่าเราจะไปหาความรู้หรือไปนำเอาความรู้หรือคนเก่งๆ จากที่ไหน ผมคิดว่าตรงนั้นสำคัญ ดังนั้น สำหรับผม เมื่อทำงานกันเป็นทีม เราหาคนที่เก่งทางด้านธุรกิจเข้ามาช่วยได้ เราหาคนที่เชี่ยวชาญด้านการตลาด หาคนที่เก่งทางด้านประชาสัมพันธ์มาช่วยได้ แต่ผมคิดว่าแก่นที่สำคัญที่สุดขององค์กรคือการเป็นสื่อ ซึ่งผมคิดว่าผมมีจุดแข็งในเรื่องของความเป็นสื่อ ผมก็พยายามใช้ตรงนี้ ในขณะเดียวกันก็คิดว่ายังมีคนอีกเยอะที่มีความรู้ความสามารถที่สามารถมาร่วมกันทำงานได้
GM : คุณให้สัมภาษณ์เรื่องสื่อดิจิตอลไว้ มุมมองของคุณที่มีต่อการก้าวเข้าสู่โลกดิจิตอลของ อ.ส.ม.ท. เป็นอย่างไร
วสันต์ : ผมคิดว่า อ.ส.ม.ท. วันนี้แข็งแรงในฐานะที่เป็น Network Provider ส่วนที่ผมอยากเสริมขึ้นมาคือการเป็น Content Provider คือการที่เราจะผลิตเนื้อหารายการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข่าว รายการสาระ รายการประเภทกึ่งสาระ ผมคิดว่าเราต้องมองดูว่าในอนาคต เราต้องแข่งขันบนเวทีไหนมากขึ้น และผมเชื่อว่าในยุคดิจิตอล เนื้อหาคือพระราชา เนื้อหาสามารถทำซ้ำ สามารถออกตามช่องทางต่างๆ ได้มากมาย และในอนาคตจะต่างจากช่วงที่ผ่านมา ช่วงที่ผ่านมา สื่อมีจำกัด ทีวี
มีไม่กี่ช่อง ช่องทางในการออกจำกัด แต่ในอนาคต ช่องทางจะไม่จำกัด การแข่งขันจะเปิดกว้างขึ้นอีกมาก ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดของการแข่งขันคือเนื้อหา ไม่ใช่ว่าคุณรู้จักใคร ไม่ใช่ว่าคุณมีอะไรให้ใครนอกจากนี้ ผมคิดว่าในยุคหน้าซึ่งเป็นยุคดิจิตอล การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงเร็วมาก และจะมีผลทั้งต่อองค์กร ต่อธุรกิจ และต่อคน ผมคิดว่าเราต้องพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงนั้น เราต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนการทำงานบางอย่างจากอนาล็อกไปสู่ดิจิตอล ขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมสื่อใหม่ๆ ที่จะเป็นสื่อดิจิตอลขึ้นมา เพราะบางครั้งการเริ่มก่อนหรือเข้าสู่สนามก่อนก็ได้เปรียบ ช่วงนี้ เราจึงกำลังศึกษาเรื่องดิจิตอลกันอยู่ และคงพยายามไปในทิศทางนั้น
GM : ในฐานะคนดู 1 ปีต่อจากนี้ไป เราคาดหวังว่าจะเห็นอะไรจาก อ.ส.ม.ท. ได้บ้าง
วสันต์ : ผมอยากเห็น อ.ส.ม.ท. เป็นองค์กรที่มีความเป็นมืออาชีพ ทั้งในแง่ของวิชาชีพและการบริหารจัดการหรือการทำธุรกิจ ใน 1 ปีข้างหน้า ผมเชื่อว่าทุกอย่างน่าจะไปในทิศทางที่ดีขึ้น และหวังว่าทุกอย่างจะอยู่ในสภาพที่ดีขึ้น องค์กรเข้มแข็งขึ้น ทั้งในเชิงโครงสร้าง บุคลากร ทีมงาน ทุกอย่าง
GM : เรามีโอกาสจะได้เห็นรายการโทรทัศน์ดีๆ ที่ไม่เคยได้เห็นในประเทศนี้ออกอากาศทางช่อง 9 ไหม
วสันต์ : เราคุยกันอยู่เป็นระยะๆ ว่าคงจะปรับรายการให้มีคุณภาพมากขึ้น ดีขึ้น ในขณะเดียวกันก็แข่งขันได้ในเชิงธุรกิจ
GM : หลังจากคุณเข้ามาทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการ มีการปรับผังรายการอะไรในภาพใหญ่ๆ
วสันต์ : เราปรับผังรายการโดยรวมมาตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม ซึ่งปรับทั้งหมดประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของผังรายการทั้งหมดของโมเดิร์นไนน์ ภายใต้คอนเซ็ปต์ คิดดี ทำดี ดูดี ในการปรับครั้งนี้ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งคือเรื่องข่าว เราเพิ่มสล็อตข่าวช่วงเสาร์-อาทิตย์เที่ยง เพิ่มสล็อตข่าวช่วงเย็น ข่าวเด่น 17.00 น. และมีรายการข่าวบันเทิง ไนน์เอนเตอร์เทน- เมนท์ สเปเชี่ยล ก่อนเข้าข่าวช่วงค่ำเสาร์-อาทิตย์ เราเพิ่มสล็อตข่าวขึ้นมา ให้ความสำคัญกับข่าวมากขึ้น และมีการปรับโฉมใหญ่รายการข่าวทั้งหมดตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนพิธีกร วางสล็อตแต่ละสล็อตให้ชัดเจนขึ้น เสริมผู้ประกาศที่มีภูมิหลังด้านข่าวที่แข็งแรงเข้ามา และวางเป้าไว้ว่าข่าวของเราต้องเข้มแข็งและแข็งแรง ทั้งในแง่เนื้อหา การนำเสนอ และผู้ประกาศข่าวเรามีการปรับและวางสล็อตในแต่ละช่วง อย่างช่วงเช้า เราได้คุณปลื้ม-ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล มาคู่กับคุณรุ่งนภา ชุมชัยเวทย์ ช่วงเที่ยงเป็นคุณโศภณ นวรัตนาพงศ์ คู่กับคุณเกวลิน กังวานธนวัต ช่วงเย็นเป็นคุณจำเริญ รัตนตั้งตระกูล ช่วงค่ำวันจันทร์-ศุกร์เป็นคุณกิตติ สิงหาปัด ช่วงค่ำเสาร์-อาทิตย์เป็นคุณอรวรรณ กริ่ม-วิรัตน์กุล ส่วนข่าวข้นคนข่าว เราเสริม ดร. การดี ปรีชานนท์ เข้าไป แต่ละช่วงเวลาจะมีตำแหน่งที่ชัดเจนขึ้น แข็งแรงขึ้นคอนเซ็ปต์ในการเปลี่ยนครั้งนี้ หนึ่ง, เราทำให้ความต่อเนื่องของรายการลื่นไหลได้ดีขึ้น ดูตั้งแต่ช่วงไพรม์ไทม์ตอนเช้า ก่อนเข้าข่าวเช้า เรามีโต๊ะข่าวกีฬาของสยามกีฬาที่ร่วมผลิตรายการกับเรา หลังข่าวเช้ามี โอ๊ย…กวน ซึ่งเป็นสิ่งละอันพันละน้อย เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับข่าว หลังจากนั้นมีรายการชีพจรโลกของคุณสุทธิชัย หยุ่น วิเคราะห์ข่าวต่างประเทศ นอกจากนั้นก็มีรายการสโมสรสุขภาพ มีรายการสบาย@ไนน์ คือเป็นแพ็คเกจที่ต่อเนื่องกัน ช่วงเย็นก็เหมือนกัน ตอนนี้มีรายการขำกลิ้ง ลิงกับหมา (รีรัน) ตามเสียงเรียกร้อง มีรายการทรู อะคาเดมี่ แฟนเทเชีย มีแดนสนธยา มีเกม
ทศกัณฐ์ แล้วจึงส่งเข้าข่าว หลังข่าวก็จะมีรายการต่อเนื่องกันไป นี่คือความต่อเนื่องของรายการขณะเดียวกัน เราจะดูความต่อเนื่องของสล็อตรายการในแนวราบด้วย คือเราจะขึงรายการ 5 วันเยอะขึ้น แทนที่จะเป็นรายการแยกแต่ละวัน อย่างรายการตาสว่างของคุณดู๋-สัญญา คุณากร โดยคอนเซ็ปต์คิดว่าจะเป็นรายการ 5 วัน แต่ดูแล้ว 4 วันกำลังลงตัวกว่า เลยเป็นวันอังคาร-ศุกร์ ช่วง 22.50-23.50 น. ส่วนคืนวันจันทร์มีรายการเป็นปลื้ม ช่วง 22.30-23.30 น. รายการเหล่านี้ได้เสียงตอบรับดีมาก อย่างรายการที่มีปลื้มกับดู๋เป็นพิธีกร กระแสตอบรับจากเอเยนซี่และคนดูดีมาก เรียกว่าโฆษณาเต็ม ซึ่งราคาโฆษณาตรงนี้ก็ปรับขึ้นตามภาวะ ตามการลงทุนที่เพิ่มเติมขึ้น ตามกระแสตอบรับที่มากขึ้น และตามค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น อย่างรายการของดู๋เป็นรายการสดทุกวัน เป็นรายการที่มีสีสัน มีเสน่ห์ น่าสนใจ ดูไม่หนักแต่ได้สาระ ได้ความรู้ ได้ติดตามเรื่องที่สำคัญ เรื่องที่คนอยากรู้ และเรื่องที่คนควรรู้
GM : คุณดึงตัวละครเด่นๆ แต่ละคนมาได้อย่างไร
วสันต์ : อย่างคุณดู๋ ต้องถือว่าเขาเป็นพิธีกรมือหนึ่งของประเทศ พอเราจะปรับผังรายการ เราก็คิดโจทย์กันก่อน แต่เดิมช่วง 5 ทุ่มเคยเป็นรายการประเภทฮาร์ดทอล์ก (Hard Talk) ซึ่งพิธีกรคนเดิม-คุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา สร้างพื้นที่ตรงนี้ได้แข็งแรง เรียกว่าเป็นพื้นที่ที่คนติดตามกันมาก หลังจากนั้น เราปรับมาเป็น 5 รายการแตกต่างกัน มี 5 พิธีกรหญิง แต่เมื่อมาวิเคราะห์ดูแล้ว อาจไม่เข้ากับช่วงเวลานัก เนื่องจากแต่เดิมช่วงเวลานี้มีแฟนประเภทฮาร์ดทอล์กอยู่ พอเปลี่ยนมาเป็นรายการ 5 พิธีกรหญิง โอกาสที่รายการจะติดมีน้อยกว่า เพราะความถี่ไม่มี และกลุ่มคนดูรายการประเภทฮาร์ดทอล์กจะเป็นผู้ชายเป็นหลัก และเป็นกลุ่มคนที่อยากได้ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ พอเราปรับเป็นรายการแยกกัน โอกาสเกิดมันช้า เราดูมาได้ประมาณ 6 เดือน คิดว่าคอนเซ็ปต์รายการควรเป็นรายการทอล์กมากกว่า แต่ถ้าเป็นฮาร์ดทอล์ก ผมคิดว่าสล็อตเวลาช่วง 5 ทุ่มดึกเกินไปสำหรับทอล์กหนักๆ เราต้องคิดว่าตอนนั้นคนใกล้เข้านอน ใกล้พักผ่อน ถ้ารายการหนักมาก บางทีมันหนักหัว คนเครียดมาทั้งวันแล้ว
ผมเลยคิดว่าเป็นไปได้ไหมที่เราจะมีรายการไลท์ทอล์ก (Light Talk) ซึ่งเสน่ห์ของมันอยู่ที่ความสด มีสีสัน และได้สาระความรู้ ได้รับการอัพเดท ได้รู้ในบางเรื่องที่เราอยากรู้แต่รายการข่าวอาจไม่ได้นำเสนอเพียงพอ และกว่ารายการลักษณะรายสัปดาห์จะเอามานำเสนอก็ช้าไปแล้ว เพราะฉะนั้น รายการไลท์ทอล์กน่าจะเป็นคำตอบ ช่วงประมาณ 22.50 น. พอคนดูดูจบ เบาๆ สบายๆ เข้านอนจะได้ไม่เครียดมาก เราคิดว่านี่น่าจะเป็นคอนเซ็ปต์ที่มาทดแทนเวลาช่วงนั้นได้และคิดว่าดู๋เป็นอะไรที่เพอร์เฟ็กต์ที่สุดสำหรับช่วงนี้ เราจึงคิดถึงดู๋ก่อนเพื่อน และหลังจากได้มีโอกาสคุยกัน ก็คิดตรงกัน ผมเองอยากเห็นรายการไลท์ทอล์กแบบนี้ อย่างในอเมริกาเขามีเจย์ เรย์โนลด์ มีโอปราห์ วินฟรีย์ รายการลักษณะนี้ใช้ความสามารถ ความรอบรู้ และเสน่ห์ของพิธีกร แต่สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือเรื่องความสดและเวที ถ้าเป็นรายการแบบรายสัปดาห์ กว่าจะได้ดูทีหนึ่งต้องรอ แต่รายการแบบนี้มีนัดกันทุกคืน
GM : ทีนี้ ตัวคุณสัญญาเองมีรายการอื่นๆ ในเวลาที่ค่อนข้างชนกับรายการใหม่ ซึ่งในที่สุด คุณสัญญาเลิกทำหมดเพื่อมาทำรายการตาสว่างที่ช่อง 9 คุณเอาอะไรไปโน้มน้าวคุณสัญญา
วสันต์ : ไม่ได้โน้มน้าว เป็นการคุยกันและคิดตรงกัน เราอยากเห็นรายการไลท์ทอล์ก ลักษณะนี้ และเราคิดว่าคุณสัญญาเหมาะสมกับรายการนี้มากที่สุด ไม่ได้ไปนึกในประเด็นอื่น จริงๆ คือ นึกตรงนี้ขึ้นมาปั๊บ เราปิ๊ง พอคุยกัน เขาก็ปิ๊ง เลยโอเค ไม่ได้นึกว่าจะมีอะไรต่อเนื่องมา ถ้าเป็นกรณีช่วงเช้า คุณปลื้มมาร่วมกับเรา แต่ก็เป็นช่วงที่เขาออกจากรายการเช้าของช่อง 3 มาแล้ว เราคิดว่าเขาเหมาะกับตรงนี้ คุยกันลงตัว ก็โอเค อย่างกรณีคุณดู๋ เราเริ่มคิดจากทางเราก่อน เราคิดว่าเขาเหมาะ พอได้คุยกับเขา เขาโอเค ก็จบ
GM : คุณสัญญาตอบว่าอย่างไรตอนที่รับปากมาทำที่ อ.ส.ม.ท.
วสันต์ : เขาสนใจ คิดว่าเป็นรายการที่ท้าทาย และคอนเซ็ปต์ตรงกัน
GM : รายการนี้ อ.ส.ม.ท. เป็นเจ้าภาพเอง ?
วสันต์ : เป็นรายการที่ร่วมกันผลิต เราคิดคอนเซ็ปต์ขึ้นมา คุยกัน เขาสนใจ อยากทำ เมื่อคิดตรงกันก็มาร่วมกันทำ
GM : การขายเวลาโฆษณาแบ่งกันอย่างไร มีหลักการอย่างไร
วสันต์ : เป็นลักษณะ Time Sharing คือร่วมกันผลิตแล้วแบ่งเวลาโฆษณากันขาย ช่วยกันขาย
GM : คล้ายๆ กับกรณีบริษัทไร่ส้มในอดีต ?
วสันต์ : ครับ ลักษณะจะเป็นการแบ่งเวลาขาย เป็นหลักปฏิบัติปกติของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ จริงๆ มันมีหลายประเภท ประเภทแรกเรียกว่าเช่าเวลา อันนั้นผู้ผลิต
มีรายการมาแล้วก็ขอเช่าเวลาไป ซึ่งเขาจะไปจัดแจงเรื่องการผลิตและเรื่องการขายเองทั้งหมด ประเภทที่ 2 คือแบบ Time Sharing คือร่วมกันผลิตและแบ่งเวลากัน มีการตกลงกติกาและต่างคนต่างขาย นอกจากนั้นก็มีประเภท Revenue Sharing คือเอาทุนของทั้งสองฝ่ายมารวมกัน ช่วยกันขาย แล้วค่อยมาหารกันตามสัดส่วน แต่ Time Sharing จะเป็นโมเดลหลักที่ใช้กันอยู่ตอนนี้
GM : กรณีคุณปลื้ม หลังออกจากช่อง 3 คุยกันยังไงถึงมาลงที่ช่วงเช้าได้
วสันต์ : จริงๆ ปลื้มเขาโดดเด่น เป็นคนหนุ่มไฟแรง เป็นดาวรุ่งใน พ.ศ. นี้ ผมคิดว่าจุดที่สำคัญที่สุดคือเขามีความรู้และถือว่าผ่านงานข่าวมาพอสมควร มีความรู้เรื่อง
ต่างประเทศ เศรษฐกิจ สนใจเรื่องข่าวสารบ้านเมือง มีความน่าเชื่อถือ และมีเสน่ห์ในตัว พอเขาออกจากช่อง 3 มา เราคิดว่าเขาเหมาะกับตรงนี้ แต่เราไม่ได้ไปดึงใครมา เมื่อเขาว่าง เราก็ทาบทามไป
GM : คุณปลื้มตอบรับยังไงตอนที่นั่งคุยกัน
วสันต์ : เขาสนใจ จะเรียกว่าโชคดีก็ได้ คือเราได้พูดคุย ได้ทาบทาม แล้วก็ได้รับการตอบรับ จริงๆ คุยกันง่ายมาก ไม่ได้มีพิธีรีตองอะไรมากมาย แค่บอกว่า เราจะมีรายการแบบนี้ คอนเซ็ปต์แบบนี้ สนใจไหม เขาสนใจ ได้คุย ได้แลกเปลี่ยนกันลงตัว ก็โอเค
GM : ตอนที่มาคุย คุณปลื้มขับนิสสัน ทีด้า มาหรือเปล่า
วสันต์ : (หัวเราะ) ยังครับ แต่เขาก็บอกว่าเขามีงานบางอย่างที่ติดพันอยู่ เราคุยแล้วก็โอเค คอนเซ็ปต์ของรายการเราเนื้อหาสาระของข่าวเป็นหลัก พิธีกรจะใช้ความสามารถส่วนตัวในการนำเสนอให้ลื่นไหล ให้น่าสนใจ ให้เป็นมิตร แต่เราไม่อยากให้ความเห็นกับข่าวมาปะปนกันจนแยกไม่ออก เราได้พูดกันชัดเจนถึงรูปแบบรายการและบทบาทในการเป็นพิธีกร อะไรที่เขาทำอยู่แล้วก็ไม่เป็นไร
GM : แต่ละคนมีข้อผูกพันไหมว่าต้องทำงานนานแค่ไหน
วสันต์ : จริงๆ ผมคิดว่าใจสำคัญ เมื่อคุยกัน คิดตรงกัน และมีใจให้ ไม่มีระยะเวลาจำกัด ผมมองว่าเป็นเรื่องยาว
GM : แล้วกรณีคุณกิตติ สิงหาปัด มาได้อย่างไร
วสันต์ : จริงๆ ในส่วนของผู้ประกาศข่าว ต้องถือว่าคุณกิตติโดดเด่นและตรงกับคอนเซ็ปต์ของเรา คือผู้ประกาศข่าวต้องมีภูมิหลังทางข่าวที่แข็งแรง เป็นคนข่าว มีความน่าเชื่อถือ เราอยากได้ผู้ประกาศข่าวมากกว่าคนมานั่งอ่านข่าว อยากให้คนรู้ว่าคนนี้เขามีความรู้จริง เรื่องที่เขานำเสนอเป็นเรื่องที่ทีมข่าวรวบรวมมานำเสนอ และคนนี้เป็นส่วนหนึ่งของทีม คุณกิตติมีภูมิหลังทางข่าวที่แข็งแรง เขาสามารถปรับและนำเสนอโดยทำให้คนเชื่อถือเชื่อมั่นได้ เราคิดว่าเขาตรงกับคอนเซ็ปต์ เมื่อตรงกับคอนเซ็ปต์ ได้พูดคุยกัน เขาคิดว่าโมเดิร์นไนน์ทีวีน่าจะเป็นเวทีที่เหมาะกับเขา เราคิดว่าเขาน่าจะเหมาะกับเรา เห็นตรงกัน ก็โอเค
GM : แต่ก่อนที่จะออกจากทีไอทีวี มีข่าวว่าคุณกิตติได้คุยกับหลายที่ ทำไมในที่สุดตัดสินใจเลือกโมเดิร์นไนน์ คุณเอาอะไรไปโน้มน้าวเขา
วสันต์ : จริงๆ ต้องถามกิตติเองว่าทำไมท้ายสุดเขาเลือกเรา แต่ผมเข้าใจว่าจุดใหญ่คือเรื่องงาน เนื่องจากทางโมเดิร์นไนน์มีทีมงานที่แข็งแรงและทำงานกันเป็นทีม เราพร้อมที่จะสนับสนุนตรงนี้ สอง, คือเรามีเวทีที่ต้องถือว่าเป็นช่วงไพรม์ไทม์ เป็นช่วงเวลาสำคัญคือข่าวภาคค่ำ จันทร์-ศุกร์ ในขณะเดียวกัน เราคิดว่าถ้าได้กิตติ
มาช่วยก็จะทำให้เราแข็งแรงขึ้นอีกเยอะ เนื่องจากเรามีฐานข่าวแต่ต้องการการนำเสนอที่แข็งแรงและเข้มแข็งขึ้น เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าเป็นเรื่องของงาน เรื่องของทีม เรื่องของสไตล์ เรื่องของข่าวเป็นหลัก ไม่ใช่เรื่องค่าตอบแทน เพราะถ้าเป็นเรื่องนั้น ผมคิดว่าเขาไปหาที่อื่นได้มากกว่านี้เยอะ
GM : ในกรณีคุณกิตติ ไม่ได้เป็น Time Sharing แบบคุณสัญญา แต่เป็นมืออาชีพมารับจ้างในการอ่านข่าว ?
วสันต์ : คุณกิตติเข้ามาทำงานกับเราเลย เป็นพนักงานสัญญาจ้าง แต่ถือว่าเขาเป็นพนักงานที่มีขีดความสามารถในเรื่องนี้ เราได้เขาเข้ามาเต็มตัว เป็นพนักงานที่นี่คนหนึ่ง
GM : คุณประเมินความเสี่ยงทางการเมืองอย่างไรบ้างที่ดึงคุณกิตติเข้ามา เพราะคุณสนธิ ลิ้มทองกุล วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในรายการว่า อ.ส.ม.ท. ทำไม่ถูก ทำไมเอาคนของระบอบทักษิณเข้ามา
วสันต์ : ผมมองเรื่องงานมากกว่า และมองว่าผู้ประกาศข่าวควรมีภูมิหลังทางข่าวที่แข็งแรงและอยู่ในสนามข่าวมาพอสมควร และต้องเป็นคนที่ได้รับความเชื่อถือ ซึ่งผมคิดว่าคุณกิตติมีคุณสมบัตินั้น และผมมองไปข้างหน้าว่าถ้าเราจะสร้างทีมให้เป็นมืออาชีพ ให้แข็งแรง ทั้งทีมข่าวและผู้ประกาศข่าว เราต้องปรับกันทั้งหมด
GM : แล้วประเมินความเสี่ยงยังไงหลังจากคุณสนธิวิจารณ์ขนาดนี้
วสันต์ : ผมคิดว่าเสียงวิจารณ์ต่างๆ ที่เข้ามาเราก็น้อมรับฟังในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นกระแสที่ชื่นชมหรือข้อติติง เรารับฟังทั้งหมด เพราะมันเป็นสิทธิของผู้ชมและคนในวงการต่างๆ ที่จะแสดงความคิดเห็น
GM : มันมีความจำเป็นไหมที่รายการโทรทัศน์ของเมืองไทยจะต้องใช้ตัวละครเด่นๆ เหล่านี้เพื่อสร้างเรตติ้งให้ติดในเวลาอันสั้น
วสันต์ : ผมว่ามีความจำเป็นอยู่ในแง่ของการทำงาน เหมือนกับเราจะทำอาหาร บางทีเรามีวัตถุดิบ มีเครื่องปรุงเรียบร้อย แต่การปรุงก็สำคัญ ว่าเราจะปรุงยังไงให้รสชาติออกมาถูกปาก ดีกับคนรับประทาน ที่สำคัญคือสิ่งที่เราปรุงต้องไม่เป็นพิษเป็นภัย ในด้านรสชาติเราคงไม่ได้ต้องการให้มันจัดจ้านอะไร แต่ต้องการให้กลมกล่อม ให้อร่อยถูกปากคน ในแง่ของข่าว ผมคิดว่าเนื้อหาสำคัญที่สุด ความน่าเชื่อถือและความถูกต้องสำคัญที่สุด แต่การนำเสนอก็มีความสำคัญอยู่เหมือนกัน ในแง่ที่ว่าทำอย่างไรเราจะเอาเนื้อหาที่มีอยู่ไปถึงผู้ชมให้ได้มากและให้ได้ดี
GM : ถ้าอย่างนั้น ในแง่เนื้อหามีการปรับอะไรบ้าง
วสันต์ : เราปรับกระบวนการทำงาน ปรับเนื้อหาที่นำเสนอออกไป ปรับการนำเสนอหน้าจอ ตั้งแต่ดนตรี ฉาก และกราฟิก เราปรับผู้ประกาศ ปรับการนำเสนอ อย่างข่าวภาคค่ำ เราคุยกันว่าถ้าเป็นข่าวใหญ่ควรจะเสนอใหญ่ และไม่ต้องไปเสียดายข่าวประจำวันมาก ข่าวประจำวันที่สำคัญเรานำเสนอ แต่ข่าวใหญ่เราควรให้พื้นที่เพิ่มขึ้น ควรมีรายงานสด มีการสัมภาษณ์สดมากขึ้น ควรมีรายงานพิเศษ มีสกู๊ปเสริมเข้ามา ให้คนดูเมื่อดูข่าวที่สำคัญ เขารู้สึกอิน ไม่ใช่รู้สึกว่าทุกข่าวได้รับความสำคัญในสัดส่วนที่ไม่ต่างกันมากนัก ผมคิดว่าเหมือนหนังสือพิมพ์ มันต้องมีข่าวพาดหัวและมีข่าวย่อยลงไป ข่าวบางข่าวยาว ข่าวบางข่าวสั้น ทีวีก็เหมือนกัน สมมุติเรามีเวลาอยู่ 1 ชั่วโมง 15 นาที หักโฆษณาออกไปแล้วเหลือเท่าไหร่ เราต้องมาดูว่าเราจะจัดสรรเวลาอย่างไร ผมอยากให้จัดสรรตามน้ำหนักข่าว ข่าวใหญ่เสนอให้ใหญ่ ข่าวเล็กเสนอเล็กลง ข่าวบางอย่างไม่ต้องเสนอก็ได้ และข่าวต้องถูกต้อง ตรงไปตรงมา ฉับไว และมีสีสันมากขึ้น
GM : เราจะมีโอกาสเห็นการเปลี่ยน แปลงลำดับของการเสนอข่าวในโมเดิร์นไนน์ไหม เพราะประเพณีในการนำเสนอข่าวของโทรทัศน์ไทยคือเรียงลำดับจากผู้มีอาวุโสสูงสุด ตามจินตนาการของสังคม
วสันต์ : ผมว่านั่นเป็นเรื่องในอดีต ถ้าจำกันได้ เมื่อ 20-30 ปีมาแล้ว ข่าวจะเริ่มเสนอจากผู้มีอำนาจในบ้านเมืองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายการเมือง หรือถ้าเป็นฝ่ายข้าราชการประจำ อาจเสนอข่าวจากปลัดกระทรวงเป็นต้นมา หรือผู้บัญชาการทหาร ไล่ลดหลั่นกันมา แต่ตอนนี้เราไม่ได้เรียงข่าวแบบนั้นแล้ว เราเรียงตามประเด็นข่าว สิ่งที่ผมอยากเห็นคือความแตกต่าง ผมไม่อยากเห็นข่าวทีวีเหมือนกันหมด นอกจากนั้น ไม่อยากให้มีแต่ข่าว Talking Head ที่เอาแต่ให้ความเห็น ผมอยากให้ข่าวมีมิติมากขึ้น มีสกู๊ป มีเรื่องที่ลึกขึ้น อะไรพวกนี้
GM : เราจะมีโอกาสได้เห็นบทบาทนักข่าวโทรทัศน์ อ.ส.ม.ท. ที่โดดเด่นมากขึ้นเหมือนนักข่าวในสถานีโทรทัศน์ต่างประเทศไหม
วสันต์ : ผมว่าเห็นแน่ อ.ส.ม.ท. มีสำนักข่าวไทยเป็นแกนหลัก สำนักข่าวไทยมีประวัติความเป็นมายาวนานและมีบุคลากร ผมคิดว่าถ้าเรามีเวที เขาได้ใช้ศักยภาพ เขาจะได้ฝึกฝนและพัฒนาไปเรื่อยๆ อย่างวันนี้เราจะเห็น พิษณุ แป้นวงศ์ รายงานมาจากทำเนียบรัฐบาล เราจะเห็น บุษยา อุ้ยเจริญ รายงานมาจากกรณีเกิดม็อบที่หน้าบ้าน พลเอกเปรม เราจะเห็นนักข่าวอีกหลายคนที่สามารถรายงานภาคสนามเข้ามาได้ มีหลายคนที่จะเป็นคลื่นลูกใหม่เกิดขึ้นมา ที่สำคัญคือเวที
GM : มันจะไปไกลได้ถึงระดับสากลหรือระดับนานาชาติไหม เรามีโอกาสได้เห็นนักข่าว อ.ส.ม.ท. รายงานจากกรุงแบกแดด ประเทศอิรักไหม
วสันต์ : เป็นไปได้ เพราะแนวคิดผมคือ ข่าวต่างประเทศเราต้องไม่รอสำนักข่าวต่างประเทศอย่างเดียว บางอย่างเราต้องออกไปทำเองบ้างถ้าเป็นข่าวสำคัญหรือข่าวใหญ่ อย่างสมัยก่อน ผมคิดว่าผมอยากส่งคนไปที่นิวยอร์กไปทำข่าว 9/11 ส่งคนไปที่เขมรทำข่าวเผาสถานทูต ส่งคนไปที่จอร์แดน ไปที่อิรักเพื่อทำข่าว ผมคิดว่าลักษณะแบบนี้คือการที่เราจะเป็นสถานีข่าว เราต้องทำข่าวเองให้มาก ข่าวในภูมิภาค ข่าวเพื่อนบ้านของเรา ไม่ว่าจะเป็นลาว เวียดนาม กัมพูชา หรือพม่า เป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นเรื่องที่เราควรรับรู้ ต้องส่งคนออกไป
GM : สถานีมีความพร้อมที่จะส่งนักข่าวไปประจำอยู่ตามจุดสำคัญๆ ของโลก เพื่อที่จะเปลี่ยนมุมมองของข่าวที่ถูกกำหนดโดยสำนักข่าวต่างประเทศ เราสามารถไปถึงจุดนั้นได้ไหม
วสันต์ : ถึงวันนี้ ผมคิดว่าการใช้สำนักข่าวต่างประเทศ ส่วนหนึ่งคือเราไม่ต้องไปลงทุนเอง เพราะเราไม่สามารถวางคนไว้ได้ครอบคลุมทั่วโลก สำนักข่าวพวกนี้จะมีข่าวให้เรา แต่ในบางกรณีเขาก็มีมุมมองของเขา เราเองก็ต้องมาดูว่าข่าวที่เราจะนำเสนอให้คนไทยดู ใส่มุมมองของเราเข้าไปด้วย ดูว่าคนไทยสนใจเรื่องอะไร เรื่องอะไรสำคัญสำหรับคนไทย เรื่องอะไรที่คนไทยอยากรู้ ไม่อย่างนั้นเราก็จะนำเสนอด้วยมุมมองของตะวันตกเยอะ เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าเราต้องมีคนออกไปทำข่าวเยอะขึ้น แต่ก็ต้องดูในเชิงของการลงทุน ในเชิงของผลตอบแทนด้วย
GM : ทุกวันนี้อะไรคือความท้าทายของการบริหารสถานีโทรทัศน์
วสันต์ : สำหรับผม ความท้าทายในการบริหาร อ.ส.ม.ท. คือ อ.ส.ม.ท. เป็นบริษัท เป็นองค์การสื่อสารมวลชนที่มีศักยภาพ มีสื่อในมืออยู่มาก ผมเองเติบโตมาด้านนี้
ถือเป็นคนสื่อคนหนึ่ง ทำงานด้านนี้มาตลอด ผมคิดว่า ความท้าทายคือทำอย่างไรที่จะทำให้ภารกิจขององค์การในเรื่องการสื่อสาร ทั้งสื่อสารในประเทศและสื่อสารไปยังต่างประเทศ ประสบความสำเร็จ ทำอย่างไรจะบริหารองค์กรสื่อให้ประสบความสำเร็จทั้งในแง่ต่อสาธารณชน ทั้งในแง่ต่อผู้ชมผู้ฟัง ทั้งในเชิงธุรกิจ และทำอย่างไรจะให้วันหนึ่งข้างหน้าคนทำงานสื่อมีโอกาสมากขึ้นที่จะเติบโตขึ้นมาบริหารองค์กรสื่อ
GM : คุณมองความท้าทายและการเผชิญหน้าของการถูกกดดันเรื่องกระแสเรตติ้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่อุตสาหกรรมโฆษณาใช้วัดความสำเร็จหรือล้มเหลวของสื่ออย่างไร ในฐานะผู้บริหารสถานี จะสามารถสร้างรายการดีๆ และหลุดรอดไปจากกรอบที่ว่าได้อย่างไร
วสันต์ : ผมคิดว่าเรามี 2 หมวก หมวกหนึ่งคือเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งต้องดูแลผู้ถือหุ้น ในขณะเดียวกันก็มีหมวกที่เป็นรัฐวิสาหกิจคือผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นรัฐอยู่
ผมคิดว่าองค์กรเรา ภารกิจหลักคือการสื่อสาร ซึ่งเป็นพันธกิจที่ผูกพันกับสังคม ผูกพันกับสาธารณะ เราไม่ใช่ธุรกิจที่ผลิต นับจำนวน อย่างเสื้อผ้า รองเท้า หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่เน้นเรื่องปริมาณ แต่ธุรกิจของเราเป็นธุรกิจที่เน้นคุณภาพ เน้นเนื้อหาสาระ เน้นในสิ่งที่บางทีเป็นนามธรรมดังนั้น ผมคิดว่าจากลักษณะพิเศษขององค์กร จากพันธกิจเหล่านี้ มันทำให้เวลาทำงาน เราจะนึกถึง 2 อย่างคู่กันไป จะนึกถึงว่าสิ่งที่เราทำเป็นประโยชน์กับผู้ชมผู้ฟัง กับสังคม เป็นประโยชน์ในเชิงธุรกิจ เราดูแลผู้ถือหุ้นเพียงพอไหม มันควบคู่กันไป อย่างที่ผมให้คอนเซ็ปต์โมเดิร์นไนน์ พลัสไว้ว่า คิดดี ทำดี และต้องดูดีด้วย คือไม่ใช่ทำแล้วเราโอเค แต่ในเชิงการผลิตไม่โอเค หรือในเชิงของการตอบรับไม่โอเค มันต้องไปด้วยกัน
GM : ดูดีนี่ใครดูดี
วสันต์ : ดูดีคือสิ่งที่เราเสนอไปดูดี
GM : ใครเป็นคนตัดสินว่ามันดูดี
วสันต์ : คงเป็นสาธารณชน ส่วนหนึ่งอาจดูได้จากกระแสที่เข้ามา อีกส่วนอาจดูจากงานวิจัยหรือสถิติที่มีการประเมิน
GM : แล้วถ้าเป็นรายการที่ทำแล้วกระแสตอบรับจากคนดูดี ทำแล้วดูดี แต่โฆษณาไม่ดีและทำให้ผลการดำเนินการไม่ดีหรือขาดทุน รายการแบบนี้มีโอกาสอยู่ได้ไหมในโมเดิร์นไนน์
วสันต์ : ผมว่าสองอย่างอยู่ด้วยกันได้ ผมยังเชื่อว่ารายการดีขายได้ และได้รับการตอบรับจากผู้ชม จากสาธารณชน อย่างรายการคุณพระช่วย รายการกบนอกกะลา หรือรายการคนค้นฅน รายการพวกนี้ไม่ได้จี๊ดจ๊าด ไม่ได้คอม-เมอร์เชียลจัด แต่เป็นรายการที่มีฐานอยู่บนเนื้อหาสาระที่ดี คอนเซ็ปต์เราคือทำรายการดี มีประโยชน์ ในขณะเดียวกันก็ได้รับการตอบรับดีด้วย สามรายการที่ยกตัวอย่างไปเป็นรายการที่ดีและมีกระแสตอบรับที่ดี
GM : ซึ่ง อ.ส.ม.ท. มักพูดถึงสามรายการ แค่นี้
วสันต์ : สามรายการนี้เป็นรายการที่อยู่ได้ ความจริงเรามีรายการดีๆ อีกเยอะ อย่างรายการแดนสนธยา รายการเมกะเคลเวอร์ที่เพิ่งจบไป ตอนนี้มีรายการ Beyond Tomorrow ฉลาดล้ำโลก พวกนี้เป็นรายการที่ดีทั้งนั้น หรือรายการชีพจรโลกซึ่งเป็นรายการวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศ รายการแบบนี้เราจะหาดูบนฟรีทีวีได้น้อย และเรายังมีรายการใหม่ๆ ดีๆ ที่จะลงอีกเยอะ เช่น รายการไอเดียเด็ด รายการแผ่นดินเดียวกัน รายการบ้านฉันบ้านเธอ คอนเซ็ปต์ของเราคือ สังคมอุดมปัญญา เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราอยากทำคือรายการที่เป็นประโยชน์กับสังคม ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์หรือวิทยุ ช่วยในเรื่องของการสร้างเสริมสังคมอุดมปัญญา หรือ Knowledge-based Society
GM : คุณมองถึงขนาดที่ว่าจะสามารถใช้โทรทัศน์เป็นเครื่องมือในการปฏิรูปสังคมได้ไหม
วสันต์ : เรื่องนั้นเป็นเรื่องใหญ่มาก ผมคิดแค่ว่าสื่อมีส่วน และผมอยากเห็นสื่อของ อ.ส.ม.ท. มีส่วน จะมีมากน้อยขนาดไหนคงแล้วแต่คนประเมิน แต่เราอยากมีส่วนที่จะทำให้สังคมดีขึ้น
GM : เป็นผู้นำในการปฏิรูปสังคมผ่านสื่อโทรทัศน์ได้ไหม
วสันต์ : ผมไม่กล้าพูดขนาดนั้น แต่เราอยากเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้สังคมไปในทิศทางที่ดีขึ้น ผมคิดว่ารายการบันเทิงเรามีได้ แต่อยากให้เป็นบันเทิงเชิงสร้างสรรค์ และอยากให้รายการต่างๆ เป็นรายการที่ดี ไม่มีพิษมีภัย เป็นรายการที่เด็กดูได้ผู้ใหญ่ดูดี ในเรื่องสื่อกับสังคม ผมคิดว่าสื่อสะท้อนสังคม สังคมสะท้อนสื่อ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมอยากเห็นมากกว่านั้นคือ สื่อพร้อมที่จะก้าวนำ พร้อมที่จะนำพาสังคมไปในทิศทางที่ดีขึ้น
GM : ที่ผ่านมา อ.ส.ม.ท. เติบโตโดยเป็นองค์กรภายใต้การกำกับของรัฐบาลมาตลอด เพราะฉะนั้น อ.ส.ม.ท. จะมีมายาคติในการเซ็นเซอร์ตัวเอง ถึงทุกวันนี้ ในวันที่คุณก้าวเข้ามาบริหาร อ.ส.ม.ท. ก้าวพ้นจากมายาคตินี้หรือยัง
วสันต์ : ผมคิดว่าวันนี้เราเป็นบริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เป็นบริษัทมหาชน เราต้องมีความรับผิดชอบอีกด้านหนึ่ง คือนอกเหนือจากด้านรัฐวิสาหกิจที่รัฐถือหุ้นใหญ่ ตอนนี้เราอยู่ในตลาด เราต้องรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นโดยเท่าเทียมกัน ไม่ว่ารายใหญ่รายเล็ก ดังนั้น โดยรวมคือ เรามีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น ในขณะเดียวกัน เราเป็นองค์กรสื่อ เรามีพันธกิจกับสังคม ต้องมีความรับผิดชอบกับสังคมด้วย ผมคิดว่าตรงนี้สำคัญ และการเป็นองค์กรสื่อสำหรับผมคือ ทำอย่างไรเราจึงจะเป็นมืออาชีพและนำเสนอข่าวสารข้อมูลอย่างเป็นมืออาชีพ ถูกต้อง ตรงไปตรงมา และปราศจากอคติ ผมอยากเห็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าโทรทัศน์หรือวิทยุมีเสรีภาพและกล้านำเสนอ แต่มีความรับผิดชอบ ต่อสังคมด้วย
GM : แล้วตอนนี้กล้าหรือยัง
วสันต์ : ผมคิดว่าเราอยู่ระหว่างปรับตัว น่าจะไปในทิศทางที่ดีขึ้น
GM : อะไรเป็นปัจจัยที่จะทำให้คนทำข่าวกล้าขึ้น หลังจากเราอยู่ในประวัติศาสตร์แห่งความกลัวมาตลอด
วสันต์ : ผมไม่ทราบว่าสมัยก่อนเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่ผมอยากเห็นคือ ทำอย่างไรเวลาที่เราพิจารณาข่าว เราจะพิจารณาได้อย่างตรงไปตรงมาและนำเสนออย่างตรงไปตรงมา ไม่อยากให้เกิดภาวะที่ว่าข่าวนี้เสนอไม่ได้เพราะคนคนนี้ เพราะเท่ากับเป็นการปิดหูปิดตาประชาชนและตัวเอง จริงๆ ผมคิดว่าการเซ็นเซอร์ตัวเองเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะการเซ็นเซอร์ใดๆ ก็ตามไม่สำคัญเท่าการเซ็นเซอร์ตัวเอง และเสรีภาพใดๆ ก็ไม่สำคัญเท่าเสรีภาพที่ปราศจากความกลัว แต่เราต้องยกระดับมาตรฐานขึ้นมาและต้องปฏิบัติเสมอหน้า
GM : ตอนนี้มองไปในวงการโทรทัศน์ไทยเป็นอย่างไรบ้าง
วสันต์ : น่าจะมีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้น ผมว่าขึ้นอยู่กับสองสามปัจจัย สังคมบ้านเรามีความหลากหลายขึ้น เติบโตขึ้น ประชาธิปไตยฝังรากลึกขึ้น นี่คือด้านหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็ขึ้นอยู่กับคนที่อยู่ในอำนาจว่าเป็นคนเปิดกว้างแค่ไหน รับได้กับความแตกต่าง แค่ไหน บางยุคบางสมัยผมคิดว่านักการเมืองหรือผู้อยู่ในอำนาจอาจทนไม่ได้ที่จะมีความเห็นต่าง ยุคนั้นสมัยนั้นการแทรกแซงคงมีมากโดยผู้มีอำนาจโดยตรงหรือโดยบริวารแวดล้อมต่างๆ การแทรกแซงอาจมาจากหลายทาง ซึ่งเมื่อบ่อยครั้งเข้าอาจทำให้เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเองขึ้น แต่ผมคิดว่าถ้าบรรยากาศเปิดกว้างขึ้น มันน่าจะไปในทิศทางที่ดีขึ้น
GM : แต่ทุกวันนี้ดูเหมือนสังคมไทยไม่ได้เดินไปสู่บรรยากาศที่เปิดกว้างขึ้น เราเผชิญหน้ากันเสร็จก็เกิดรัฐประหารขึ้นมา และจะบอกว่าตอนนี้เรามีเสรีภาพ เต็มที่ก็ไม่เชิงนัก
วสันต์ : คงไม่ใช่อย่างนั้น จริงๆ ผมคิดว่าขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจว่าใจกว้างแค่ไหน
GM : มันมีคนที่มีอำนาจแล้วใจกว้างอยู่หรือ
วสันต์ : ผมว่าอยู่ที่ผู้บริหาร เราคงไม่สามารถบอกได้ว่าคนใส่เครื่องแบบนี้ต้องเป็นแบบนี้ จะใจกว้างกว่าคนที่เปลือกนอกเป็นอีกแบบ ไม่เสมอไปครับ บางทีคนที่เปลือกนอกอาจดูเป็นประชาธิปไตยแต่เนื้อในอาจไม่ใช่ก็ได้ ผมคิดว่าเสรีภาพของสื่อในช่วงที่ผ่านมาถูกแทรกแซงเยอะมาก อันดับของเราตกต่ำจนน่าตกใจ แต่ผมยังเชื่อว่าตอนนี้เราน่าจะไปในทิศทางที่ดีขึ้น แน่นอน, หลายอย่างเราอาจได้รับผลกระทบ แต่โดยเปรียบเทียบ ผมคิดว่ามันน่าจะไปในทิศทางที่ดีขึ้น และเชื่อว่าหลังเลือกตั้งน่าจะดีขึ้นอีก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับคนที่อยู่ในอำนาจ ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมทั่วไปและคนทำงานด้วย
GM : พูดแบบนี้เหมือนเราเอาเสรีภาพของสื่อไปฝากไว้กับคนที่มีอำนาจ ถ้าอย่างนั้น องค์กรสื่อจะสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองได้อย่างไร เพราะคนมีอำนาจเปลี่ยนตลอด เราไม่มีทางรู้ว่าใครจะมา
วสันต์ : เราคงไม่ได้ไปฝากไว้กับใครคนใดคนหนึ่ง เพียงแต่บอกว่าในสภาพความเป็นจริง เสรีภาพในแต่ละสังคมมันมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับหลายส่วน ทั้งส่วนของอำนาจ ทั้งส่วนของสื่อเอง ภาคประชาชน การเติบโต ความเข้มแข็งของสังคม มันประกอบกันไปหมดว่าท้ายสุดจะออกมาได้แค่ไหนอย่างไร แต่ผมคิดว่าสำหรับ อ.ส.ม.ท. ในการทำงาน เราต้องมีอิสรภาพจากความกลัว เราต้องทำงานตรงไปตรงมา เราต้องเป็นมืออาชีพ และสิ่งหนึ่งที่จะช่วยคือข้อกำหนดจริยธรรม เราต้องกำกับดูแลกันเอง เราต้องมีคู่มือที่ชัดเจนที่จะทำตาม
“ผมคิดว่ายุคหน้าเป็นยุคดิจิตอล การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีจะเร็วมาก เราต้องพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงนั้น”
“อ.ส.ม.ท. อยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านเพิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ประมาณ 3 ปี เราอยู่ในช่วงเวลาปรับปรุงในด้านต่างๆ ทั้งเรื่องคน การเสริมสร้างความรู้ และการทำงานเป็นทีม”
“ในอนาคตสิ่งที่สำคัญคือ เนื้อหา ที่เขาพูดว่าContent is King ผมคิดว่า เรามีพื้นฐานที่ดีอยู่แล้ว แต่เราต้องเตรียมตัวที่จะมีเนื้อหาที่แข็งแรง”
“ผมคิดว่า คำอย่าง Objective, Unbiased หรือ Fairness เป็นสิ่งสำคัญส่วนคำว่า Neutral หรือเป็น กลาง ผมคิดว่ายากและไม่มีในโลกแห่งความเป็นจริง”
“ผมคิดว่าเสน่ห์ของรายการไลท์ทอล์ก (Light Talk)อยู่ที่ความสด มีสีสันและได้สาระความรู้อย่างในอเมริกาเขามี เจย์เรย์โนลด์ มี โอปราห์ วินฟรีย์”
“รายการที่มีคุณปลื้มกับคุณดู๋เป็นพิธีกรกระแสตอบรับจากเอเยนซี่และคนดูดีมากเรียกว่าโฆษณาเต็ม”
“ในการทำงานเราต้องมีอิสรภาพจากความกลัวเราต้องตรงไปตรงมาเราต้องเป็นมืออาชีพ”