การเดินทางของการออกแบบสถาปัตยกรรมและความสุข
เรื่อง : สุกฤษฏิ์ บูรณสรรค์ ภาพ : พิชญุตม์ คชารักษ์
สำหรับอาคารบ้านเรือนและตึกเพื่อการใช้งาน คงไม่อาจปฏิเสธถึงบทบาทของ ‘สถาปนิก’ ไปได้ เพราะอาคารต่างๆ จะสามารถใช้งานได้ดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับแนวคิดเบื้องหลังในการออกแบบ และรวมถึง ‘ชีวิต’ ดังเช่นที่ หม่อมหลวงวรุตม์ วรวรรณ สถาปนิกเจ้าของสตูดิโอ Vin Varavarn Architects (VVA) ได้ทำ
หม่อมหลวงวรุตม์ วรวรรณ เป็นหลานชายของ หม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมสถาปนิกสยามฯ สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีทางด้านสถาปัตยกรรมภายใน จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ก่อนไปศึกษาต่อที่ Architectural Association School of Architecture (AA) ประเทศอังกฤษ มีโอกาสได้ทำงานอยู่ที่ต่างประเทศประมาณ 4 ปี ก่อนตัดสินใจกลับมาที่เมืองไทย และเปิดสตูดิโอขนาดเล็กเพื่อทำงานออกแบบสถาปัตยกรรมของตัวเอง
งานสถาปัตยกรรมของเขา คืองานออกแบบที่มีความร่วมสมัย นำเสนอแนวคิดที่เรียบง่ายแต่สร้างสรรค์ คำนึงถึงธรรมชาติ และการใช้วัสดุท้องถิ่น โครงการของสตูดิโอภายใต้การนำของเขามีทั้งอาคารที่พักอาศัย รีสอร์ต อาคารพาณิชย์ จนถึงงานสถาปัตยกรรมเพื่อสังคม ซึ่งได้รับรางวัลจากนานาชาติมากมายเป็นเครื่องการันตีถึงฝีมือและคุณภาพ นอกจากนี้ ยังได้รับเลือกจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ ให้เป็นหัวหน้าทีมภัณฑารักษ์ของ Thai Pavilion ในงาน Venice Architecture Biennale ครั้งที่ 16 ที่กรุงเวนิส ประเทศอิตาลี และได้รับเชิญไปบรรยายถึงผลงานออกแบบยังหลากหลายประเทศ
สำหรับแง่มุมในด้านความสำเร็จ เขามองว่ามันไม่ใช่จุดหมายปลายทาง แต่มันคือหลักไมล์แห่ง ‘การเดินทาง’ ที่เราทำบางสิ่งเพื่อค้นหาบางอย่างต่อไปเรื่อยๆ ด้วยความสุข และเพื่อสร้างความหมายให้กับชีวิต เพราะนอกเหนือจากงานออกแบบปกติ ยังให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับมูลนิธิต่างๆ เพื่อการออกแบบเพื่อผู้ด้อยโอกาสอยู่เสมอ เช่น อาคารเรียนต้านแผ่นดินไหวโรงเรียนบ้านฮ่องแฮ่ จังหวัดเชียงราย งานออกแบบบ้านให้คนไร้บ้านในสลัมคลองเตย และอีกหลายโครงการ โดยเฉพาะอาคารเรียนต้านแผ่นดินไหวที่โรงเรียนห้วยส้านยาววิทยา จังหวัดเชียงราย ที่ได้รับรางวัลระดับโลกมากมาย โดยเฉพาะรางวัล Grand Prize Winner of 8th International Biennial Barbara Cappochin Architecture Prize ซึ่งเขาเป็นคนเอเชียคนที่ 2 ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศนี้
ด้วยอายุของสตูดิโอที่ยาวนานถึง 15 ปี ผ่านการทำงานกับคนหลากหลายรุ่น ทำให้มีความเปิดกว้างทางความคิดและพร้อมเรียนรู้จากคนรุ่นใหม่อยู่ตลอดเวลา เพื่อนำมาปรับใช้กับการทำงาน และรับมือกับงานที่ท้าทายอยู่เสมอ
ในวันนี้ หม่อมหลวงวรุตม์ ยังคงเปิดรับกับทุกความท้าทาย ทั้งงานออกแบบสถาปัตยกรรม และในบทบาทของคุณพ่อลูกสาม ที่ลูกๆ ก็เริ่มมีความสนใจทางด้านออกแบบดังเช่นที่สายเลือดวรวรรณเป็นมาโดยตลอด เราอดถามเขาไม่ได้ว่าถ้าวันหนึ่งลูกอยากเป็นสถาปนิก จะมีอะไรที่อยากบอกหรือไม่
“ผมคงแค่อยากเห็นเขาได้ทำในสิ่งที่เขารักและมีความสุข และไม่ว่าอนาคตเขาจะเป็นอะไร อยากให้เขาได้นึกถึงและได้ช่วยเหลือคนอื่นในสังคมเมื่อมีโอกาส” หม่อมหลวงวรุตม์กล่าว ดังเช่นหลักคิดเกี่ยวกับชีวิต ที่ต้องออกแบบและหาสมดุลเพื่อให้เหมาะสม ทั้งหน้าที่การงานและความสุขเฉกเช่นนั้นเอง